ปัญหาไม่ได้อยู่ที่เราเร็วไม่พอ ปัญหาอยู่ที่เราชะลอไม่เป็น

วันนี้เป็นวันแรกของการกลับมาทำงาน หลังจากได้หยุดกันฉ่ำๆ มาหลายวัน

ช่วงสงกรานต์ผมอยู่กรุงเทพ ขับรถไปไหนก็สบาย วันไหนเปิดแอร์นอนอยู่บ้านก็รู้สึกว่ามีเวลาว่างมากมายจนรู้สึกไม่ค่อยชิน

เมื่อได้อยู่เฉยๆ ก็เริ่มมองเห็นว่า บางทีปัญหาของใครหลายคน คือเราหลงลืมไปแล้วว่าการหยุดพักคืออะไร

เหตุการณ์ Crystal Pub ก่อนสงกรานต์เมื่อ 3 ปีที่แล้ว พนักงานออฟฟิศจำนวนไม่น้อยต้องทำงานที่บ้าน 100%

ไม่มีเส้นแบ่งระหว่างเวลางานกับเวลาส่วนตัว ออกไปไหนก็ไม่ได้ เลยอยู่แต่หน้าจอคอม สายตาจับจ้องกับข้อความที่เด้งเข้ามาและรู้สึกว่าต้องตอบทันที

ถ้าเราเป็นผู้จัดการหรือผู้บริหาร ตารางจะแน่นมาก ต้องวิ่งจากประชุมหนึ่งไปสู่อีกประชุมหนึ่งแทบทั้งวัน เวลากินข้าวเข้าห้องน้ำยังแทบจะหาไม่ได้

มนุษย์เราไม่ได้ถูกวิวัฒนาการเพื่อให้มานั่งหน้าจอคอมทั้งวัน การที่เราต้องมาเจอสภาพแบบนี้ตลอดหลายปีที่ผ่านมา อาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่คนเป็นโรคซึมเศร้ากันมากขึ้น


ในหนังสือ Outlive ของ Peter Attia สิ่งหนึ่งที่เขาเน้นย้ำมาก ก็คือการฝึกกล้ามเนื้อทั้งสองฝั่ง

Concentric loading หมายถึงการฝึกตอนกล้ามเนื้อหดตัว

Eccentric loading หมายถึงการฝึกตอนกล้ามเนื้อยืดตัว

เวลาเราออกกำลังกาย เรามักจะใส่ใจแต่ตอน concentric loading หรือตอนที่กล้ามเนื้อหดตัว และเราต้องออกแรง

เช่นถ้าเราวิดพื้น เราก็จะใส่ใจกับการดันตัวขึ้น ถ้าเราโหนบาร์เพื่อ pull up เราจะใส่ใจแต่ตอนดึงตัวขึ้นมา

แต่ eccentric loading ก็สำคัญไม่แพ้กัน นั่นคือขากลับที่เรา “ผ่อนแรง” ตอนวิดพื้นก็คือตอนที่เราค่อยๆ งอข้อศอกให้อกลงไปชิดพื้น ตอนโหนบาร์ก็คือตอนขาลง

ถ้าเดินขึ้นบันไดคือ concentric loading การเดินลงบันไดก็คือ eccentric loading

ถ้า Concentric loading คือการเหยียบคันเร่ง

Eccentric loading ก็คือการเหยียบเบรคนั่นเอง

ถ้าขาของเรามีกล้ามเนื้อเบรคที่แข็งแรง มันจะช่วยเราตอนเจอเหตุไม่คาดฝัน เช่นตอนเดินลงพื้นต่างระดับโดยไม่ทันตั้งตัว ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของ “การล้ม” ของผู้เฒ่าผู้แก่ที่เรากลัวกันนัก

วิธีการฝึกกล้ามเนื้อเบรค ก็คือให้ใส่ใจกับจังหวะ “ขาลง” ให้มากขึ้น

เช่นตอนเดินลงบันได ให้ก้าวลงด้วยท่าปกติ แต่จงใจทำให้ช้าลง ให้เท้าลอยอยู่ในอากาศแบบ slow motion แล้วนับในใจ 1-2-3 ก่อนจะที่เท้าจะสัมผัสพื้น

พอลองทำแล้วจะรู้เลยว่ายากกว่าที่คิด เพราะเป็นกล้ามเนื้อที่เราไม่เคยให้ความสำคัญ


โอกาสในการฝึกกล้ามเนื้อเบรคทางใจของเรานั้นมีทั้งวัน

ตอนเช้า ถ้าตื่นไปวิ่ง เตือนตัวเองว่าไม่จำเป็นต้องวิ่งเร็ว แต่วิ่งสบายๆ เพื่อที่เราจะได้รักการวิ่งและรู้สึกกอยากกลับมาวิ่งอีกในวันรุ่งขึ้น

ตอนกลางวัน แทนที่จะไล่ตอบข้อความในไลน์หรือในสแล็ค ก็ให้จัดเวลาได้พักเที่ยง กินข้าวแบบได้พูดคุยกับผู้คนและไม่เล่นมือถือ จะได้รับรู้รสชาติอาหารได้ดีกว่าที่เคย

ตอนกลางคืน เวลาดูซีรี่ส์ในเน็ตฟลิกซ์จบหนึ่งตอน แทนที่เราจะปล่อยให้ Play next episode ลองกลั้นใจกดปุ่มปิดทีวี

ตลอดทั้งวัน แทนที่จะตะโกนในใจว่า go go go!

เราควรกระซิบบอกตัวเองบ่อยๆ ว่า you can slow down.

เพราะหลายต่อหลายครั้ง ปัญหาไม่ได้อยู่ที่เราเร็วไม่พอ

ปัญหาอยู่ที่เราชะลอไม่เป็นครับ

Outlive ตอนที่ 8 – กินน้อย / ทำ IF แล้วสุขภาพดีจริงหรือ

สำหรับหนังสือ Outlive ที่เขียนโดย Peter Attia ถ้าจะมีหัวข้อไหนที่น่าจะโดนวิจารณ์เยอะที่สุดก็น่าจะเป็นเรื่องอาหารการกิน เพราะ Dr.Attia มองว่ามันไม่ได้สำคัญมากเท่ากับการออกกำลังกาย

Dr.Attia มองว่า หลายคนยึดติดเรื่อง “วิธีกินที่ถูกต้อง” มากเกินไป จนกลายเป็นกลุ่มเป็นก๊ก หรือแม้กระทั่งจนแทบจะกลายเป็นลัทธิ เช่น vegan, keto, low-carb, Atkins, IF (Intermittent Fasting) ต่างฝ่ายต่างก็มองว่าวิธีของกลุ่มตัวเองนั้นดีที่สุด

ตัว Dr.Attia นั้นก็เคยลองกินอาหารมาหลายวิธีแล้ว ตอนที่เขาเคยอ้วนมากๆ ก็ใช้วิธี Keto diet แล้วได้ผล เวลาอดอาหารก็อดจริงจัง เช่นดื่มน้ำอย่างเดียวเป็นเวลา 10 วัน และเขาก็เคยเชื่อว่าอาหารการกินนั้นสำคัญที่สุดสำหรับการดูแลสุขภาพ แต่ตอนนี้เขาไม่ได้เชื่อแบบนั้นแล้ว

หลังจากที่ได้ทำงานกับคนไข้มานับร้อยนับพันคน เขาก็ได้ค้นพบว่า มันไม่มี one size fits all เพราะร่างกายของแต่ละคนนั้นตอบสนองอาหารแต่ละประเภทต่างกันไป คนบางคนสามารถกินไขมันอิ่มตัวได้มากมายโดยที่ค่า LDL แทบจะไม่กระดิก ขณะที่คนบางคนกินเบคอนไม่เท่าไหร่ LDL ก็พุ่งกระฉูด

สิ่งที่ Dr.Attia เน้นย้ำมากที่สุด คือเราต้องกินโปรตีนให้พอ โดยเฉพาะตอนที่เราอายุเยอะขึ้น เพราะโปรตีนคือสิ่งที่จำเป็นสำหรับร่างกายในการสร้างมวลกล้ามเนื้อ และอย่างที่เคยกล่าวไปในบทก่อนๆ ว่า เมื่อเราแก่ตัวลงไป มวลกล้ามเนื้อเราจะหดหายลงไปมาก เมื่อไม่มีกล้ามเนื้อ เราก็จะบาดเจ็บได้ง่าย ล้มได้ง่าย ซึ่งทำให้เราไม่สามารถกลับมาออกกำลังกายได้ และนั่นจะเป็นวงจรอุบาทว์ที่พาให้สุขภาพเราเสื่อมทรุดลงเรื่อยๆ

มีหลายประเด็นที่ Dr.Attia กล่าวถึงแล้วน่าสนใจ และอาจจะทำให้เราต้องกลับมา ทบทวนความคิดใหม่สำหรับเรื่องความเชื่อด้านอาหารการกิน ผมขอหยิบยกมาแค่เพียงบางประเด็นที่น่าจะสอดคล้องกับบริบทคนไทยเป็นพิเศษนะครับ

======

ต้นกำเนิด Fasting แบบ 16/8

การควบคุมอาหารนั้นทำได้สามแบบ:

CR – Calaric Restriction ลดปริมาณให้น้อยลง

DR – Dietary Restrictions กินประเภทให้น้อยลง (เช่นไม่กินเนื้อ ไม่กินนม ไม่กินแป้ง)

TR – Time Restrictions กินภายใต้เวลาที่น้อยลง เช่นตั้งเป้าว่าวันนี้กินได้ช่วงกี่โมงถึงกี่โมง

ช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เรื่อง Intermittent Fasting หรือ IF ไอเอฟ นั้นเป็นที่นิยมในหมู่คนไทยขึ้นอย่างมาก

และการทำ IF ที่เราได้ยินกันประจำคือ 16/8 หมายความว่า ไม่กิน 16 ชั่วโมง และกินเพียง 8 ชั่วโมง เช่นตอนเช้าไม่กินข้าว แล้วเริ่มกินมื้อแรกตอนเที่ยง กินอีกมื้อตอนหนึ่งทุ่ม ดังนั้นช่วงเวลาที่เรากินข้าวคือ 12:00-20:00 (8 ชั่วโมง) แล้วตั้งแต่ 20:00 ถึงเที่ยงวันถัดไป 16 ชั่วโมงเราไม่กินอะไรเลย

หรือบางคนอาจจะกินข้าวเช้าตอน 8 โมง กินมื้อที่สองตอนบ่าย 3 แล้วไม่กินข้าวเย็น ดังนั้นช่วง 4 โมงเย็นถึง 8 โมงเช้า ก็เป็นช่วงที่ไม่ได้กินอะไรเป็นเวลา 16 ชั่วโมงเช่นกัน

ว่าแต่ว่าตัวเลข 16/8 มาจากไหนกัน?

จุดตั้งต้นของความเชื่อเรื่อง 16/8 Fasting มากจากการทดลองที่ทำกับหนู ที่พบว่าหนูที่ได้กินแค่ 8 ชั่วโมงจะมีสุขภาพที่แข็งแรงกว่า และมีน้ำหนักน้อยกว่าหนูที่ได้กินตลอดทั้งวัน แม้ว่าสุดท้ายแล้วจะกินอาหารชนิดเดียวกันในปริมาณเท่ากันในแต่ละวันก็ตาม

Reference ใน Outlive ชี้ไปที่งานวิจัยสองชิ้นนี้

The time-restricted mice gained less weight: Hatori et al. (2012)

A sixteen-hour fast for a mouse: Jensen et al. (2013)

งานวิจัยนี้จึงทำให้เกิดความเชื่อเรื่องการกินเพียงวันละ 8 ชั่วโมง ซึ่ง Dr.Attia เรียกว่าเป็น “fad” หรือแฟชั่นสมัยนิยมที่ไม่ยั่งยืน

คำวิจารณ์หลักของ Dr.Attia ก็คือ หนูทดลองนั้นมีอายุแค่ 2-3 ปี และถ้ามันขาดอาหารเพียงแค่ 48 ชั่วโมงมันก็เสียชีวิตแล้ว ดังนั้น การอดอาหาร 16 ชั่วโมงของหนูจึงมีค่าเท่ากับการอดอาหารหลายวันของมนุษย์

การเห็นว่าหนูอดอาหาร 16 ชั่วโมงแล้วมีประโยชน์ แล้วหยิบ 16 ชั่วโมงมาใช้โต้งๆ กับมนุษย์ จึงเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสมเพราะมันเทียบกันตรงๆ แบบนั้นไม่ได้

ในการทดลองของ Ethan Weiss ในปี 2020 ก็พบว่า เมื่อนำอาสาสมัคร 116 คน มาทำ 16/8 IF ก็ไม่พบประโยชน์เรื่องการลดน้ำหนักหรือตัววัดผลด้านสุขภาพอื่นๆ แต่อย่างใด

=======

กินน้อยลงแล้วอายุยืนจริงหรือ

อีกความเชื่อหนึ่งที่ Dr.Attia วิจารณ์ ก็คือกินน้อยลงแล้วจะอายุยืน

มีการทดลองครั้งใหญ่สองครั้งที่ทั้งคอนเฟิร์มและสร้างความสับสนให้กับชุดความคิดนี้

การทดลองแรกถูกตีพิมพ์ในปี 2009 ในวารสาร Journal

นักวิจัยที่ University of Wisconsin-Madison ติดตาม “ลิงวอก” หรือ Rhesus monkey 76 ตัวเป็นเวลา 20 ปี และพบว่า ลิงที่ได้รับอนุญาตให้กินน้อยกว่านั้นมีอายุที่ยืนยาวกว่าลิงที่กินได้ไม่จำกัด

ผลงานวิจัยนี้โด่งดังมาก The New York Times ถึงกับเอาข่าวนี้ขึ้นหน้าหนึ่ง โดยโปรยหัวว่า “Dieting Monkeys Offer Hope for Living Monkeys” ภาพประกอบเป็นลิง 2 ตัวชื่อ Cando กับ Owen

Canto อายุ 27 ปีแต่ยังดูหนุ่มแน่นแข็งแรงดี ขณะที่ Owen ที่แก่กว่าเพียงสองปีนั้นหย่อนยานและแก่หง่อม

Owen นั้นอยู่ใน control group คืออยากกินอะไรก็กินไปเลย

ส่วน Canto นั้น อยู่ในกลุ่มที่ “ลดอาหาร” คือได้กินอาหารน้อยกว่ากลุ่มคอนโทรลประมาณ 25%

กลุ่มที่ลดอาหารนั้นสุขภาพแข็งแรงกว่าอย่างชัดเจน นักวิจัยได้ข้อสรุปว่า “ข้อมูลชี้ให้เห็นว่าการลดประมาณอาหาร (caloric restriction) นั้นช่วยชะลอวัยในสัตว์ตระกูลไพรเมต (primate species หรือสัตว์ตระกูลวานร) ได้

อีกเพียง 3 ปีถัดมา ในปี 2012 The New York Times ก็ตีพิมพ์งานวิจัยอีกชิ้นหนึ่ง

แต่พาดหัวคราวนี้ต่างออกไป – “Severe Diet Doesn’t Prolong Life, at Least in Monkeys”

งานวิจัยนี้จัดทำโดย National Institute on Aging ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ National Institute of Health (NIH)

โดยงานวิจัยเริ่มตั้งแต่ช่วงปี 1980s และกระบวนการวิจัยก็คล้ายคลึงกับงานวิจัยของ Wisonsin มาก คือให้ลิงวอกกลุ่มนึงกินอาหารน้อยกว่าอีกกลุ่มนึงประมาณ 25% แต่ผลปรากฎว่าสุขภาพของลิงที่กินจุกับลิงที่กินน้อยกลับไม่ต่างกันเลย

เมื่อนักข่าวลองนำงานวิจัยนสองชิ้นนี้มาเปรียบเทียบดูก็พบข้อแตกต่างที่สำคัญ นั่นคือ “อาหาร” ที่ลิงกิน

ที่ Wisconsin ลิงได้กินอาหารกล่องที่ผ่านกระบวนการมา (highly processed food) ขณะที่ลิงของ NIH นั้น อาหารจะมีคุณภาพกว่าและมีปริมาณน้ำตาลน้อยกว่า โดยมีน้ำตาลแค่ 4% ในขณะที่อาหารของลิง Wisconsin มีน้ำตาลถึง 28.5%

ถ้าจะเทียบเคียงให้เห็นภาพ ลิง Wisconsin เหมือนได้กินแต่อาหาร junk food ขณะที่ลิงของ NIH นั้นกินแต่สลัดบาร์

ดังนั้น ถ้าคุณกินแต่ junk food การกินให้น้อยลงย่อมส่งผลดีต่อสุขภาพมากกว่าอยู่แล้ว

แต่นักวิจัยของ Wisconsin ก็ออกมาแก้ต่างว่า อาหารที่พวกเขาให้ลิงกินนั้น มีความคล้ายคลึงกับอาหารที่ชาวอเมริกันกินเป็นประจำหรือที่เรียกว่า SAD – Standard American Diet นั่นคืออาหารที่เป็น processed food

แต่ถ้าคุณกินอาหารที่ดีอยู่แล้ว การอดอาหารกลับไม่ได้มีผลเท่าต่ออายุที่ยืนยาวเท่าไหร่ ยกเว้นเพียงเรื่องเดียวคือการลดปริมาณอาหารลงนิดหน่อยอาจมีส่วนช่วยลดอัตราการเกิดมะเร็งได้ ในกลุ่มลิงที่กินน้อย ไม่ว่าจะที่ Wisconsin หรือของ NIH ต่างก็พบว่ามีโอกาสเป็นมะเร็งน้อยลง

Dr.Attia จึงสรุปว่า หากกินอาหารที่คุณภาพดีอยู่แล้ว การอดอาหารหรือหรือลดปริมาณอาหารอาจไม่ใช่สิ่งจำเป็น

และ Dr.Attia ก็มองด้วยว่าประโยชน์ที่ได้จากการลดสารอาหาร อาจจะไม่คุ้มกับสิ่งที่ต้องเสียไป นั่นคือมวลกล้ามเนื้อที่น้อยลง และระบบภูมิคุ้มกันที่อ่อนแอลง

ลิงในการทดลองถูกเลี้ยงอยู่ในพื้นที่ที่สะอาดและได้รับการฆ่าเชื้ออย่างสม่ำเสมอ แต่มนุษย์อย่างเราไม่ได้อยู่ในห้องปลอดเชื้อ เราต้องเจอเชื้อโรคและสิ่งสกปรกมากมาย ดังนั้นการรับประทานสารอาหารให้พอเพียงจึงจำเป็นอย่างยิ่งต่อการมีภูมิคุ้มกันที่แข็งแรงเพื่อต่อกรกับเชื้อโรคต่างๆ

=====

อาหารที่กินแล้วอายุยืน อาหารที่กินแล้วอายุสั้น

Dr.Attia บอกว่า ถ้าเห็นข่าวหรืองานวิจัยชิ้นไหนเคลมว่า อาหารชนิดนี้กินแล้วอายุยืน หรืออาหารชนิดไหนก่อโรค ให้ตั้งแง่ไว้ก่อน

เพราะอย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่า ร่างกายของแต่ละคนตอบสนองอาหารแต่ละชนิดไม่เหมือนกัน ดังนั้นเราไม่สามารถบอกได้โดยแน่ว่าอะไรจะดีหรือแย่กับเราบ้าง

งานวิจัยหลายชิ้น มักจะให้อาสาสมัครทำ food frequency questionnaire ที่ให้ระบุว่า กินอาหารแต่ละชนิดบ่อยแค่ไหนในเดือนที่ผ่านมา (ลองกูเกิ้ลตัว questionnaire ดูแล้วจะเห็นภาพ)

ซึ่งวิธีวิจัยแบบนี้มีจุดอ่อนมากมาย เพราะคนส่วนใหญ่จำไม่ได้หรอกว่าตัวเองกินอะไรไปบ้าง เอาแค่สามวันที่แล้วกินอะไรยังลำบาก แต่นี่กลับจะให้กรอกข้อมูลของพฤติกรรมการกินทั้งเดือน

ต่อมาก็คืองานวิจัยหลายชิ้นไม่ได้มีการคัดกรองกลุ่มตัวอย่าง

เราอาจเคยเห็นข่าวว่า การดื่มน้ำอัดลมแบบไดเอ็ท (ไร้น้ำตาล) นั้นมีความเชื่อมโยงกับไขมันในช่องท้อง ภาวะดื้ออินซูลิน และการเป็นโรคหัวใจ ข้อสรุปของงานวิจัยกลุ่มนี้คือบอกให้เลิกกินน้ำอัดลมไร้น้ำตาล

แต่สิ่งที่งานวิจัยลืมถามก็คือ คนกลุ่มไหนที่มีแนวโน้มจะดื่มน้ำอัดลมไร้น้ำตาล? คำตอบก็คือคนที่อ้วนอยู่แล้วหรือน้ำตาลในเลือดสูงอยู่แล้วนั่นเอง เพราะพวกเขากังวลเรื่องเหล่านี้ เขาจึงหันมาดื่มน้ำอัดลมไร้น้ำตาล

ดังนั้นน้ำอัดลมไร้น้ำตาล จึงไม่ใช่ต้นเหตุที่ก่อให้เกิดไขมันในช่องท้อง เพียงแต่คนที่มีไขมันในช่องท้องนั้นมีโอกาสมากกว่าคนปกติที่จะเลือกดื่มน้ำอัดลมไร้น้ำตาลต่างหาก

หรือเราคงเคยได้ยินว่า การดื่มแอลกอฮอลหรือดื่มไวน์ในปริมาณที่เหมาะสม จะช่วยให้อายุยืน

งานวิจัยแบบนี้ก็ตกเป็นเหยื่อของ healthy user bias คือคนที่อายุเยอะแล้ว แต่ยังดื่มเหล้าดื่มไวน์ไหวนั้นดื่มได้เพราะพวกเขายังแข็งแรงอยู่

เขาดื่มเพราะว่าเขาแข็งแรง ไม่ใช่แข็งแรงเพราะดื่ม ในขณะที่คนที่อายุเยอะแล้วและไม่ได้ดื่มแอลกฮอลก็อาจเป็นเพราะว่ามีปัญหาสุขภาพอื่นๆ ที่ทำให้ต้องเลี่ยงเครื่องดื่มเหล่านี้ หรือบางคนที่ไม่แข็งแรงบางคนก็เสียชีวิตไปนานแล้วเลยไม่ได้อยู่ในกลุ่มตัวอย่าง

หากเรานำงานวิจัยเหล่านี้มากางใหม่ แล้วตัดปัจจัยที่เกี่ยวข้องออก เช่นค่า BMI ฐานะทางการเงิน และการไม่สูบบุหรี่ เราก็จะพบว่าประโยชน์ที่ได้จากการดื่มแอลกอฮอลนั้นอันตรธานหายไปหมดเช่นกัน

ดังนั้น การบริโภคแอลกอฮอล ไม่ว่าจะในปริมาณแค่ไหน ก็ไม่สามารถเรียกได้ว่าดีต่อสุขภาพ

ในบทนี้เหมือนจะมีแค่อาหารชนิดเดียวที่ Dr.Attia ยอมรับว่าช่วยสร้างความแตกต่างได้จริงๆ โดยเฉพาะในกลุ่มคนที่เป็นโรคเบาหวานและโรคหัวใจ นั่นก็คือ Mediteranean diet โดยคนที่บริโภคน้ำมันมะกอกและถั่วนั้นจะมีโอกาสเป็นโรคหัวใจวายน้อยลง 28%-31%

=====

บทสรุปเรื่องการกินอาหาร

หนังสือ Outlive ไม่ค่อยเน้นมากนักว่าเราควรกินอะไร หรือไม่ควรกินอะไร หรือการ fasting ดีหรือไม่ดี คำตอบขึ้นอยู่กับว่าเราประสบสภาวะแบบไหนอยู่ และร่างกายของเราตอบสนองต่ออาหารต่างๆ แบบไหน

ถ้าเราเป็นคนที่มีน้ำตาลในเลือดสูง Dr.Attia แนะนำให้ทดลองใช้ Continuou Glucose Monitor (CGM) ซึ่งจะสามารถรายงานผลเป็นรายชั่วโมงได้เลยว่า อาการที่เรากินเข้าไปมีผลต่อค่าน้ำตาลในเลือดอย่างไรบ้าง เราจะได้เลือกอาหารที่เหมาะกับเรา

แต่สำหรับคนส่วนใหญ่ที่ไม่ได้มีปัญหาด้านสุขภาพ การกินอาหารที่คุณภาพดีในปริมาณที่เหมาะสมนั้นก็เพียงพอแล้ว แค่ต้องเมคชัวร์ว่าเราได้โปรตีนมากเพียงพอ โดย Dr.Attia แนะนำว่าแต่ละวันควรบริโภคโปรตีน 1.6 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ยกตัวอย่างเช่นถ้าคุณหนัก 60 กิโล ก็ควรบริโภคโปรตีนให้ 96 กรัมเป็นต้น

ส่วนอะไรที่เป็นแฟชั่น เช่นการ fasting / keto diet ก็ทดลองทำได้ แต่อย่าไปยึดมั่นถือมั่นกับมันมากนัก มันอาจจะช่วยให้เราแก้ปัญหาสุขภาพบางอย่างได้ แต่หากสุขภาพเรากลับมาแข็งแรงเป็นปกติ ก็ไม่จำเป็นต้องทำอะไรที่มันทรมานสังขารเกินความจำเป็นครับ


Outlive ตอนที่ 1: โรคเบาหวานและเหตุผลที่ Outlive เป็นหนังสือเปลี่ยนชีวิตประจำปี 2024

Outlive ตอนที่ 2: โรคหัวใจและความเข้าใจผิดเกี่ยวกับคอเลสเตอรอล

Outlive ตอนที่ 3: ความหวังของการรักษามะเร็งให้หายขาด

Outlive ตอนที่ 4: โรคอัลไซเมอร์

Outlive ตอนที่ 5: KPI ที่สำคัญที่สุดสำหรับอายุที่ยืนยาว

Outlive ตอนที่ 6: VO2 Max และความสับสนเกี่ยวกับ Zone 2 Training

Outlive ตอนที่ 7: Strength และ Stability มิติที่คนออกกำลังกายมองข้าม

Outlive ตอนที่ 8: กินน้อย / ทำ IF แล้วสุขภาพดีจริงหรือ

Outlive ตอนที่ 9: การนอนหลับและสุขภาพทางอารมณ์

สิ่งที่อยากบอกหลังเขียนบล็อกครบ 3,000 ตอน

เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 7 ธันวาคม 2566 ผมเขียนบทความลง Anontawong’s Musings ครบ 3,000 บทความ หลังจากเริ่มเขียนบล็อกแบบจริงจังมาเกือบ 9 ปี

เลยอยากจะบันทึกความรู้สึกไว้ตรงนี้ เช่นเดียวกับตอนที่เขียนครบ 1,000 บทความ (7 ตุลาคม 2017) และ 2,000 บทความ (18 สิงหาคม 2020) ครับ

.

1.นี่คือการเล่นเกมยาว

แต่ก่อน ผมจะเขียนบทความลงบล็อกที่เป็นเว็บไซต์คือ anontawong.com แล้วค่อยแชร์ลิงค์จากบล็อกมาลงในเฟซบุ๊คเพจ Anontawong’s Musings ซึ่งหมายความว่าผู้ติดตามเพจต้องคลิกไปที่ลิงค์เพื่อเข้าไปอ่านในบล็อก ไม่ได้อ่านจากโพสต์ในเฟซบุ๊ค

เหตุผลที่ผมทำอย่างนั้นเพราะว่าอยากจะสร้างทราฟฟิคไปที่บล็อกของตัวเอง ซึ่งวิธีการแบบนี้จะทำให้ Facebook page followers ไม่โตเท่ากับการเขียนบทความลงในเพจตรงๆ

แต่พอคิดได้ว่านี่คือการเล่นเกมยาว ไม่มีความจำเป็นต้องเร่งสร้างทราฟฟิคไปที่บล็อก สิ่งที่สำคัญกว่าคือให้คนอ่านเข้าถึงบทความของเราได้โดยง่าย ผมจึงเขียนบทความลงทั้งในบล็อกและในเพจ ซึ่งทำให้เพจโตเร็วขึ้น ผมสร้างเพจนี้มา 9 ปี มีคนติดตาม 8 หมื่นคน กว่าจะได้ 4 หมื่นคนแรกต้องใช้เวลา 7 ปี แต่ 4 หมื่นคนหลังใช้เวลาแค่ 2 ปี

ผมตั้งใจจะเขียนบล็อกไปอีก 20-30 ปี จึงไม่มีความจำเป็นต้องรีบร้อน และไม่ควรกลัวที่จะทดลอง เพราะถ้าลองสัก 6 เดือนหรือ 1 ปีแล้วไม่เวิร์คก็แค่เปลี่ยนไปลองวิธีอื่นเท่านั้นเอง

.

2.นิทานที่หายไป

สิ่งหนึ่งที่หายไปในปีที่ผ่านมา คือนิทานวันศุกร์ เพราะผมเริ่มรู้สึกว่านิทานที่ดีและเหมาะกับบล็อกนี้หายากขึ้นทุกที ใช้เวลาเฟ้นหานิทานนานกว่าการเขียนบทความเองเสียอีก พักหลังก็เลยหยุดนิทานวันศุกร์ไป แต่สัญญาว่าถ้าเจอนิทานดีๆ อีกจะนำมาลงในบล็อกนี้อย่างแน่นอน

.

3.ไม่ต้องออกบทความทุกวันก็ได้

เมื่อเกือบ 3 ปีที่แล้ว ผมขอเข้าพบอาจารย์ที่เคารพท่านหนึ่ง เรานั่งคุยกันหลายชั่วโมงจนถึงสี่ทุ่ม ตอนที่ผมลาอาจารย์กลับบ้าน อาจารย์ให้คำแนะนำว่า ผมไม่จำเป็นต้องปล่อยบทความใหม่ทุกวันก็ได้ รอให้ได้บทความที่เรามั่นใจว่าทีเด็ดก่อนแล้วค่อยปล่อย

ผมยังจำคำแนะนำนั้นได้จนถึงตอนนี้ แต่ระหว่างทางผมก็ยังเขียนบทความเกือบทุกวันอยู่ดี

หนึ่ง เพราะรู้สึกว่าถ้าหยุดปล่อยบทความ ก็อาจจะหยุดเขียนและอาจสูญเสียสิ่งที่เคยสั่งสมมา

สอง ผมไม่อาจรู้ได้เลยว่าบทความไหนจะมีคนชอบเยอะหรือน้อย บางบทความเรามั่นใจมาก ตั้งใจมากแต่ก็แป๊ก บางบทความเราไม่ได้ลงแรงเท่าไหร่ ไม่ได้รู้สึกว่าพิเศษอะไรแต่กลับมีคนชอบเยอะ

ช่วง 4 เดือนที่ผ่านมานี้เองที่ผมเริ่มปล่อยวางความรู้สึกว่าต้องออกบทความทุกวันได้ หนึ่งเพราะรู้สึกว่าการต้องปล่อยบทความทุกวันมันตึงกับชีวิตเกินไปหน่อย สองคือผมรู้สึกว่าการเขียนบล็อกอย่างสม่ำเสมอมาเกือบ 9 ปีควรจะมอบความมั่นใจให้ตัวเองได้แล้วว่าความเป็นบล็อกเกอร์ของเราคงไม่หายไปไหนแม้ว่าจะไม่ได้เขียนในบางวัน และสามคือผมอยากมีเวลาให้ครอบครัวมากขึ้นในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ ดังนั้นจำนวนบทความจึงลดจากเดือนละประมาณ 30 ตอน เหลือเดือนละประมาณ 15-20 ตอน

.

4.เขียนโดยไม่ต้องฝืน

Morgan Housel ผู้เขียนหนังสือ The Psychology of Money บอกว่าเวลาที่เราบ่นว่าเรามี writer’s block นั้น จริงๆ เป็นเพราะว่า main idea ของเราไม่ได้เรื่องต่างหาก

ถ้าตัวไอเดียหลักของเราดีพอ การเขียนบทความจะไม่ยาก ดังนั้นเขาจึงไม่เคยกดดันตัวเองให้ต้องสร้างงานออกมา เขาจะรอให้มีไอเดียก่อนแล้วค่อยเขียน และถ้ารู้สึกว่าเขียนไม่ออก ก็จะปิดคอมแล้วไปหาอย่างอื่นทำ

ผมเห็นด้วยว่าเวลาเราเขียนบทความสักบทหนึ่ง เราเขียนเสร็จไปอย่างน้อย 60%-70% ตั้งแต่ในหัวแล้ว ที่เหลืออีก 30%-40% ค่อยมาจัดการตอนอยู่หน้าคอม ถ้ามานั่งหน้าจอคอมแล้วค่อยคิดว่าจะเขียนอะไร คงไม่ได้บทความที่ดีเท่าไหร่นัก

จากนี้ไปผมอาจจะเขียนบทความน้อยลง แต่น่าจะมีความสุขกับการเขียนมากขึ้นเพราะไม่ต้องคาดคั้นกับตัวเอง

.

5.ทางหนีทีไล่ในวันที่เฟซบุ๊คไม่อยู่

เมื่อ 3 ปีที่แล้ว (ตอนที่ผมเขียนบทความครบ 2,000 ตอน) Facebook ยังยิ่งใหญ่และดูไม่น่าจะมีใครโค่นลงได้ แต่ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาม้ามืดอย่าง TikTok ก็ทำให้อาณาจักรของเฟซบุ๊คต้องสั่นคลอน

แม้ยุคทองของเฟซบุ๊คน่าจะผ่านพ้นไปแล้ว แต่ช่องทางการปล่อยบทความของผมและบล็อกเกอร์อีกหลายๆ คนยังพึ่งเฟซบุ๊คเป็นช่องทางหลัก ถึงวันหนึ่งถ้าเฟซบุ๊คไม่อยู่ เหล่าครีเอเตอร์คงลำบากเหมือนกัน

แพลตฟอร์มหนึ่งที่คิดว่าน่าจะยังไม่จากไปไหนง่ายๆ คือ WordPress ซึ่งเป็นหลังบ้านของเว็บไซต์ประมาณ 800 ล้านเว็บรวมถึงบล็อกของผมด้วย ดังนั้นถ้าใครอยากจะเพิ่มอีกหนึ่งช่องทางในการติดตามบล็อกนี้ ก็สามารถเข้าไปที่ anontawong.com แล้วกรอกอีเมลได้เลย (ตอนนี้มี 1,896 subscribers) ส่วนใครที่สนใจช่องทางอื่นเช่น Blockdit/Instagram/LINE/Twitter ก็เข้าไปกดติดตามได้ทาง linktr.ee/anontawong ครับ

.

6.หาที่ทางของเราให้เจอ

มีเพื่อนผมคนหนึ่งชื่อแดง เคยมาเข้า Writing Workshop กับผม และเปิดเพจ Daisyinspire ตอนปลายปี 2017 เพื่อเขียนบทความเกี่ยวกับเรื่องดีงามในชีวิตอย่างสม่ำเสมอ

แม้ช่วง 2 ปีแรกยังไม่มีคนติดตามมากนัก แต่แดงก็ไม่หยุดเขียนและผลิตบทความออกมามากกว่า 300 บทความ

จุดเปลี่ยนก็คือตอนที่แดงเริ่มทำคอนเทนท์เกี่ยวกับเรื่องการดูแลสุขภาพตามแนวทางแพทย์แผนไทย และเริ่มทำวีดีโอลง YouTube จนมีผู้ติดตามมากขึ้นเรื่อยๆ

ปัจจุบันช่อง “Healthy Daisy สุขภาพดีไปด้วยกัน” ของหมอแดงมีคนติดตาม 227,000 คน มีวีดีโอเกือบ 400 คลิป มียอดวิวรวมแล้วเกิน 10 ล้านวิว

Creator นั้นมีได้หลายแบบ ตอนแรกเราอาจไม่รู้ว่าเราเหมาะกับหัวข้อแบบใดและควรใช้ช่องทางไหน แต่ถ้าเราไม่หยุดทดลองและไม่ล้มเลิกที่จะแบ่งปันสิ่งดีๆ การเดินทางครั้งนี้อาจพาเราไปในที่ที่คาดไม่ถึง

.

7.แรงขับเคลื่อนของกันและกัน

บล็อก Anontawong’s Musings จะเกิดขึ้นและยืนหยัดมาถึง 9 ปีไม่ได้เลยหากไม่มีเพื่อนร่วมทาง

ทั้งคนที่เป็นฮีโร่ของผมอย่างพี่จิก ประภาส ชลศรานนท์ ที่ผมติดตามตั้งแต่มติชนวันอาทิตย์หน้า 14 อาจารย์เสกสรรค์ ประเสริฐกุลที่ผมน่าจะได้อ่านหนังสือของเขาครบทุกเล่ม พี่ภิญโญ ไตรสุริยธรรมาที่มีความเข้มข้นในคำพูดและตัวอักษรอย่างไม่มีใครเหมือน รวมถึงพี่เอ๋ นิ้วกลม ที่ผมอ่านหนังสือโตเกียวไม่มีขาจบระหว่างนั่งเครื่องบินไปเที่ยวญี่ปุ่นครั้งแรกเมื่อปี 2011

พี่บอย วิสูตร กับ พี่แท็ป รวิศ ที่เขียนหนังสือมองไกลบนไหล่ยักษ์ และ คิดจะไปดวงจันทร์อย่าหยุดแค่ปากซอย ที่จุดประกายให้ผมเริ่มเขียนบล็อกอย่างจริงจังในวันขึ้นปีใหม่ปี 2015

เอ็ม Khajochi บล็อกเกอร์รุ่นแรกๆ ที่เคยมาเปิดคอร์สสอนทำบล็อกให้ผมและเพื่อนๆ สมัยทำงานอยู่รอยเตอร์ พี่ปิ๊ก Trick of the Trade ที่ให้โอกาสผมได้พิมพ์หนังสือเล่มแรก คุณบิว วิศวกรรีพอร์ต ที่ทำ content เรื่อง Excel ได้สนุกสนานและมีประโยชน์มาก

คุณวิศ วิเคราะห์บอลจริงจัง ที่เขียนหนังสือเหมือนซีดานเตะบอล อาจารย์นภดล Nopadol’s Story ที่เป็นแบบอย่างของความมีวินัยและการแบ่งปัน พี่โจ้ แห่งเพจเขียนไว้ให้เธอที่มีเรื่องเล่ามากมายจากหลากหลายวงการ

มีอีกหลายท่านที่คงไม่อาจกล่าวถึงได้หมด แต่ถ้าคุณเป็นคนสร้างคอนเทนท์ด้วยตัวหนังสือและผมเคยได้อ่านงานของคุณ ขอให้รู้ว่าผมรู้สึกขอบคุณคุณอยู่นะครับ

มีอีกสองกลุ่มที่ลืมไม่ได้ หนึ่งคือภรรยาและลูกๆ ที่เป็นกำลังใจและสารตั้งต้นของหลายบทความที่ผมรักมากที่สุด สองคือคุณผู้อ่านที่ติดตามและช่วยเผยแพร่บทความ แม้ว่าผมจะไม่ค่อยตอบคอมเมนท์แต่ผมอ่านทุกเมนท์ครับ

อย่างที่บอกตอนต้นว่านี่คือเกมยาว ขอบคุณที่ร่วมเดินทางกันมาถึงตอนที่ 3,000 และหวังว่าจะร่วมเดินทางด้วยกันจนถึงตอนที่ 4,000 นะครับ

ห้องตัวอย่างที่ไม่แต่งนั้นเล็กนิดเดียว

ห้องตัวอย่างที่ไม่แต่งนั้นเล็กนิดเดียว

ใครที่เคยคิดซื้อบ้านหรือซื้อคอนโด สิ่งหนึ่งที่ขาดไม่ได้คือการเข้าชมห้องตัวอย่าง

คนที่ออกแบบห้องก็เก่งเหลือเกิน เลือกที่จะจัดวางเฟอร์นิเจอร์ต่างๆ ได้อย่างลงตัว รสนิยมก็เลิศหรูดูดี เห็นแล้วเราก็จินตนาการไปต่างๆ นานาว่าถ้าเราได้มาอยู่ในห้องแบบนี้ชีวิตเราจะดีแค่ไหน

แล้วพอเซลส์พาเราไปดูห้องเปล่า เรามักจะรู้สึกว่าทำไมห้องดูเล็กจัง

นับเป็นความย้อนแย้งอย่างหนึ่ง ที่ห้องที่มีของวางอยู่กลับดูใหญ่กว่าห้องโล่งๆ

หรือที่จริงแล้วความรู้สึกว่าเล็กหรือใหญ่ไม่ได้ขึ้นอยู่กับ “ขนาด” เท่ากับ “ความเป็นไปได้”

เมื่อมีของวางอยู่ในห้อง เราจะมองเห็นฟังก์ชั่นต่างๆ ที่ห้องนี้จะทำให้เราได้ เราจึงรู้สึกว่าห้องมันใหญ่ ไม่เหมือนกับในห้องเปล่าที่วาดภาพได้ยากกว่า

ผมว่าห้องตัวอย่างเป็นอุปมาอุปไมยที่ดีของชีวิต

เพราะชีวิตเราเอาที่จริงก็ไม่มีอะไร ทำงานหาเงินวนไป หลายคนที่เคยผ่านช่วงเวลาเบื่อๆ อยากๆ มีรูทีนซ้ำๆ ทุกวันก็อาจเคยถามตัวเองว่า “ตกลงชีวิตเรามีเพียงเท่านี้เองหรือ?”

เมื่อความเป็นไปได้ต่ำ ชีวิตก็เลยดูเล็กและคับแคบ

แล้วเราจะเพิ่มความเป็นไปได้ในชีวิตได้อย่างไร

ผมว่าหนึ่งคือทักษะที่เรามี และสองคือกิจกรรมที่เราทำ

ถ้าเราไม่เพิ่มทักษะอะไรให้ตัวเองเลย และไม่เปลี่ยนกิจกรรมใดๆ ในชีวิต สิ่งที่เราเจอและทำได้ในแต่ละวันย่อมซ้ำซาก

ทักษะอาจเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาสั่งสมและเรียนรู้ แต่กิจกรรมนั้นเราแทบจะเปลี่ยนได้ทันที

ในหนังสือ What I Wish I Knew When I Was 20 ของ Teena Silig แนะนำไว้ว่าให้ไล่เรียงกิจวัตรแต่ละวันของเรา แล้วลอง “เขย่า” มันดู

เช่นถ้าเคยไปทำงานด้วยเส้นทางนี้ ก็ลองเปลี่ยนเป็นเส้นทางหรือเดินทางด้วยวิธีอื่น หรือถ้าเคยออกกำลังกายด้วยการวิ่ง ก็ลองเปลี่ยนเป็นเดินหรือแม้กระทั่งไม่ออกกำลังกายดู

ผมเคยอ่านหนังสือตอนก่อนนอน สองวันมานี้ลองเปลี่ยนมาอ่านตอนเช้าก็รู้สึกว่าได้ฟีลไปอีกแบบ

เพราะกิจวัตรหรือนิสัยบางอย่างเราอยู่กับมันมานานจนอาจเกิดความยึดติด ว่าแบบนี้ดีที่สุดแล้ว ว่าแบบนี้แหละคือตัวเรา

เมื่อพาตัวเองออกจากความเคยชิน ก็จะได้เห็นอะไรที่ไม่เคยเห็น ได้รู้สึกอะไรที่ไม่เคยรู้สึก

ห้องตัวอย่างมันดูใหญ่และน่าอยู่เพราะเต็มไปด้วยความเป็นไปได้

ชีวิตของเราจะกว้างใหญ่และน่าอยู่ หากเราเพิ่มความเป็นไปได้ให้กับมันครับ

อยากมีเวลามากขึ้นให้ออกกำลังกาย

อยากมีเวลามากขึ้นให้ออกกำลังกาย

เรื่องนี้มองได้ในสามประเด็น

ประเด็นที่หนึ่ง อายุเราจะยืนยาวขึ้น

ศูนย์วิจัยสุขภาพแห่งชาติของไต้หวัน ติดตามคนจำนวน 410,000 คนเป็นเวลา 8 ปี ผลการวิจัยชี้ว่าการออกกำลังกายวันละ 15 นาที ลดอัตราการเสียชีวิตได้ 14% ทำให้คนอายุยืนขึ้นโดยเฉลี่ย 1,002 วันหรือประมาณ 3 ปี

ถ้าคำนวณแบบซื่อๆ ออกกำลังกายวันละ 15 นาที ปีละ 365 วัน เป็นเวลา 8 ปี -> 15*365*8 = 43,800 นาที

1 ชั่วโมงมี 60 นาที หนึ่งวันมี 24 ชั่วโมง หรือ 24*60 = 1,440 นาที

ดังนั้น 43,800 นาทีจึงเท่ากับ 43,800/1,440 = 30.4 วัน

ออกกำลังกายไปทั้งหมด 30.4 วัน แต่อายุยืนยาวขึ้น 1,002 วัน

ROI ของการออกกำลังกายวันละ 15 นาทีจึงสูงถึง 1002/30.4 = 33 เท่าหรือ 3300%

.

ประเด็นที่สอง เราจะป่วยน้อยลง

เมื่อเราป่วย เราก็จะทำงานหรือออกไปเที่ยวไหนไม่ได้ไปอย่างน้อยครึ่งวัน หรือบางทีก็หลายวันติดกัน

ถ้าเราออกกำลังกาย เราก็จะแข็งแรงขึ้น ช่วยลดโอกาสที่เราจะป่วย และเพิ่มเวลาที่เราจะได้ใช้ชีวิต

.

ประเด็นที่สาม เราจะมี “พลังงานดี” ล้นเหลือ

สำหรับคนที่อยาก productive สิ่งที่สำคัญไม่น้อยกว่า time management คือ energy management

เวลาออกกำลังกาย เราจะหัวสมองปลอดโปร่ง พลังงานดี และมีสมาธิ

ภายในเวลาที่เท่ากัน ถ้าพลังงานเราดี เราจะสามารถจัดการสิ่งต่างๆ ให้ลุล่วง (และหลีกเลี่ยงการกระทบกระทั่ง) ได้มากกว่าตอนที่พลังงานเราไม่ดี

เมื่อ Energy เราสูง จึงเท่ากับเรา “ยืดเวลา” ให้ยาวขึ้นได้ราวกับการเล่นกลของไอน์สไตน์

อยากมีเวลามากขึ้นให้ออกกำลังกายครับ


ขอบคุณเนื้อหาของประเด็นแรกจากหนังสือ สกิลขั้นเทพของนักบริหารเวลาที่รู้ใจสมอง ชิอน คาบาซาวะ เขียน พนิดา กวยรักษา แปล สำนักพิมพ์อมรินทร์ How to