ทำเล่นๆ แต่เป็นประจำดีกว่าทำจริงจังแต่ไม่ต่อเนื่อง

เวลาจะเริ่มทำอะไร ยังไม่ต้องตั้งเป้าหมายให้มันยิ่งใหญ่ เพราะเป้าหมายไม่ได้เปลี่ยนชีวิตเรา สิ่งที่จะเปลี่ยนชีวิตเราคือวิถีชีวิตหรือไลฟ์สไตล์ต่างหาก

การจริงจังเกินไปกับเรื่องบางเรื่อง บางทีมันก็ไปปลุกต่อม amygdala ที่ปิดกั้นความคิดเป็นเหตุเป็นผลและทำให้เราเข้าสู่โหมด fight or flight คือไม่สู้สุดใจก็หนีไปไกลสุดกู่

จึงไม่แปลกที่จะเห็นคนประกาศ new year’s resolutions แล้วทำจริงจังอยู่แค่ 1 เดือน (fight) จากนั้นก็หายหน้าหายตาไปเลย (flight)

ตั้งเป้าหมายเล็กๆ ลองทำเล่นๆ แต่ทำมันทุกวัน แล้วความเคยชินจะส่งผล กิจวัตรจะทำให้เราทำได้โดยอัตโนมัติโดยไม่ต้องพยายาม แล้วผลตอบแทนทบต้นจะเป็นเพื่อนเรา

ทำเล่นๆ แต่เป็นประจำดีกว่าทำจริงจังแต่ไม่ต่อเนื่องครับ

To Do List ของมะรืนนี้

ธรรมดาผมจะใช้แอป Todoist ในการจดงานทุกอย่าง

เมื่อเริ่มต้นวัน ผมก็จะเปิด Todoist เพื่อจะเลือก 3 MIT หรือ Most Important Tasks ขึ้นมาเขียนในสมุด นี่คืองานสามงานที่เราต้องพยายามให้เสร็จหรือสร้างความก้าวหน้าในวันนี้เพราะมันมี impact มากที่สุด

จากนั้นก็จะลิสต์งานอื่นๆ ที่ใช้เวลาไม่มากนัก อีกซัก 5-10 งาน โดยแบ่งเป็นงานที่ต้องทำที่โต๊ะและงานที่ไม่ต้องทำที่โต๊ะ

ปัญหาหนึ่งของวิธีการนี้ก็คือ พอมีงานแทรกระหว่างวัน งานที่เราวางแผนไว้มักจะไม่ได้ทำ

วิธีที่ช่วยบรรเทาปัญหานี้ได้ คือมี to do list ของอีกสองวันถัดไปรอไว้เลย

ถ้างานที่เข้ามาระหว่างวันมันไม่ได้ด่วนมากและไม่ได้สำคัญมาก แต่ก็อยากทำให้เสร็จภายในวันสองวันนี้ ผมก็จะไปเขียนใส่ to do list ของวันพรุ่งนี้หรือมะรืนนี้แทน

แน่นอนว่าวิธีนี้ไม่ได้เพอร์เฟ็กต์ งานบางอย่างที่เข้ามาก็ต้องทำทันทีจริงๆ แต่อย่างน้อยมันก็ช่วยสร้างโอกาสให้เราหยุดคิดมากขึ้นว่า งานนี้จำเป็นต้องทำตอนนี้จริงรึเปล่า

เพราะงานที่สำคัญสำหรับคนอื่น มันอาจไม่ได้สำคัญสำหรับเรา

มี to do list ของวันพรุ่งนี้และวันมะรืนเพื่อเป็นบัฟเฟอร์สำหรับงานที่รอได้

เราจะได้สะสางเรื่องสำคัญจริงๆ ของวันนี้ให้แล้วเสร็จตามที่ตั้งใจครับ

วางแผนรับมือกับตัวเราในอนาคต

ซุนวูว่าไว้ รู้เขารู้เรา รบร้อยครั้ง ชนะร้อยครั้ง

สาเหตุที่เราไปไม่ถึงเป้าหมาย เพราะเราไม่รู้เขาดีพอ

เขาในที่นี้คือตัวเราในอนาคต

ตัวเราตอนวางแผนกับตัวเราตอนเจอสถานการณ์จริงนั้นเป็นคนละคนกัน

ตัวเราตอนวางแผนจะรู้ว่าอะไรควร อะไรไม่ควร เราจึงตั้งเป้าหมายเสียดิบดีเพราะรู้ว่ามันจะนำพาสิ่งที่ดีมาให้

แต่ตัวเราตอนหน้างานนั้นมันไม่ได้สนใจอนาคต มันยึดความรู้สึก ณ ปัจจุบันเป็นหลัก

ยกตัวอย่างง่ายๆ สำหรับคนที่อยากออกไปวิ่ง

ตัวเราที่วางแผน: “พรุ่งนี้ชั้นจะตื่นตี 5 เพื่อออกไปวิ่ง”

ตัวเราตอนตื่นนอน: “ยังง่วงอยู่เลย ขอนอนต่ออีก 10 นาทีแล้วกัน”

ถ้าเรา “รู้เขา” ว่าตัวเราตอนตื่นนอนจะกดปุ่ม snooze แน่ๆ เราก็ควรจะวางแผนรับมือกับสถานการณ์นี้เอาไว้เลย เช่นเอามือถือไปไว้อีกฝั่งนึงของห้อง (ไม่ใช่วางไว้ข้างเตียง) ตอนที่นาฬิกาปลุกเราจึงต้องเดินไปกด ซึ่งอย่างน้อยมันน่าจะช่วยให้เราไม่นอนต่อได้

ตัวเราที่วางแผน: “วันนี้จะตั้งใจทำงานสามชิ้นนี้ให้เสร็จ!”

ตัวเราตอนเริ่มเบื่อๆ: “เข้า Facebook ดีกว่า”

ถ้ารู้เขาว่าเราชอบเข้า social media ระหว่างวัน ก็ลอง log out จาก social media ทุกอย่าง อย่างน้อยตอนกดเข้ามามันจะได้เกิดอาการชั่งใจบ้าง

ถ้ารู้ตัวว่าเอามือถือเข้าห้องน้ำแล้วจะไม่ได้อ่านหนังสือ ก็อย่าพกมือถือเข้าห้องน้ำ

ถ้ารู้ตัวว่าเล่นเน็ตตอนกลางคืนแล้วนอนดึกดื่นทุกที ก็ให้เสียบอุปกรณ์ทิ้งไว้นอกห้องนอน

ถ้ารู้ตัวว่ามีขนมอยู่ใกล้มือแล้วจะกินแล้วก็มาบ่นว่าตัวเองอ้วน ก็หาผลไม้ที่หยิบกินง่ายๆ มาไว้ใกล้มือแทน

ตัวเราในตอนนี้กับตัวเราในอนาคตคือคนละคนกัน

วางแผนรบกับตัวเราในอนาคตเอาไว้ให้ดี

แล้วโอกาสชนะจะมีมากกว่านี้ครับ

จงให้ในสิ่งที่เราไม่เคยได้

ผู้ใหญ่วัยเจ็บสิบกว่าท่านนึงเคยเล่าให้ผมฟังว่า เขามีเพื่อนที่สมัยเด็กเคยยากจนมาก ถึงขนาดที่แม่จะคลอดลูก ไปยืมเงินญาติกลับไม่มีใครให้ยืม

ความแร้นแค้นครั้งนั้นฝังใจเพื่อนคนนี้มาจนโต และแม้จะประสบความสำเร็จในโลกธุรกิจ เขาก็ไม่ยอมใช้เงิน ไม่เคยเลี้ยงข้าวเพื่อน กลายเป็นเศรษฐีขี้เหนียวเพราะไม่อยากกลับไปจนอีก

ส่วนผู้ใหญ่ที่ผมคุยด้วย ตอนเด็กๆ ก็เคยลำบากมากเหมือนกัน ตอนนั้นได้แต่คิดว่าถ้ามีคนยื่นมือมาช่วยเหลือก็คงจะดีไม่น้อย

มาถึงวันนี้ วันที่มีฐานะแล้ว เวลามีคนเดือดร้อนมาหา ผู้ใหญ่ท่านนี้จะพยายามช่วยเหลือเสมอ เพราะเข้าใจดีว่าการมีปัญหาทางการเงินนั้นมันทุกข์ใจแค่ไหน

ประสบการณ์ที่คล้ายคลึงกัน แต่ข้อสรุปกลับตรงกันข้าม

แล้วตัวเราเองล่ะ ประสบการณ์ที่เลวร้ายในอดีตมันส่งผลให้เราเป็นคนแบบไหน

มันทำให้เราเข้าใจความทุกข์ร้อนและเห็นใจคนอื่น หรือมันทำให้เรากลายเป็นคนที่เก็บงำความโกรธเคืองเอาไว้

แบบไหนที่มีประโยชน์กว่ากัน เราย่อมรู้ดี

Give more.
Give what you didn’t get.
Love more.
Drop the old story.

-Garry Shandling

เรื่องเก่ามันผ่านไปแล้ว

ตัวเราคนเก่าก็ผ่านไปแล้ว

จงให้ในสิ่งที่เราไม่เคยได้

เพราะมันอาจเป็นทางเดียวที่จะเยียวยาอดีต

และสร้างปัจจุบันที่มีสันติในจิตใจครับ

เด็กน้อยในใจเรา

ไม่แน่ใจว่าผู้อ่านเป็นหรือไม่ เมื่อเราอายุสามสิบปลายๆ หรือสี่สิบต้นๆ เรากลับรู้สึกว่าข้างในเราเด็กกว่านั้น

แม้หน้าตาจะมีริ้วรอย ผมเริ่มหงอกหรือร่อยหรอ ร่างกายไม่ได้ฟิตเหมือนแต่ก่อน แต่เรายังรู้สึกเหมือนคนอายุ 20 ต้นๆ อยู่เลย

บ่อยครั้งที่เรายังคิดแบบเด็กวัยรุ่นที่อยากนอนเล่นทั้งวันโดยไม่ทำอะไร อยากสนุกสนาน อยากปลดเปลื้องตนเองจากภาระและความคาดหวังทั้งปวง

ความรู้สึกข้างในของเราไม่ได้มีความเป็นผู้ใหญ่เท่ากับร่างกายและอายุ แต่ความรับผิดชอบและบริบททางสังคมมันบังคับให้เราต้องสวมบทบาทผู้ใหญ่อย่างเลี่ยงไม่ได้

แล้วก็ชวนคิดต่อไปว่าคนรุ่นพ่อรุ่นแม่เราที่อยู่ในวัยเกษียณก็อาจจะมีความรู้สึกคล้ายๆ กับเราได้เช่นกัน

นอกจาก “วัยรุ่น” แล้ว ผมยังค้นพบว่าข้างในเรายังมี “เด็กน้อย” อีกด้วย

เด็กน้อยที่อ่อนแอ ขี้กลัว และใจเสาะ

ผมมักจะเจอเด็กน้อยคนนี้เวลาซ้อมวิ่งระยะไกลเกิน 15 กิโลเมตร ที่สมองสั่งให้ไปต่อ แต่เด็กน้อยในใจเริ่มงอแง แม้เราจะใช้ความอยากเอาชนะเข้าข่มแต่เด็กน้อยคนนั้นก็ไม่เคยหายไปไหน

หรือบางครั้งเราก็อาจจะเจอเด็กน้อยในวันที่มีเรื่องราวมากระทบจิตใจแรงๆ จนเราเริ่มไม่เป็นตัวของตัวเอง เริ่มทำสิ่งที่ไร้เหตุผลและเป็นภาระของคนรอบข้าง

ผมคิดว่าสิ่งที่ต้องระลึกไว้ก็คืออย่าทำเป็นมองไม่เห็นเด็กน้อยคนนั้น เราควรยอมรับว่าเขาก็มีตัวตนอยู่และเป็นส่วนหนึ่งของเราเช่นกัน

โอบกอดเขาและบอกว่า “ไม่เป็นไรนะ” ให้เวลาเขาสักหน่อยและอย่าไปคาดคั้นอะไรจากเขามากเกินไป

ทำความรู้จักกับทั้งวัยรุ่นและเด็กน้อยในใจเราให้ดี

จะได้ไม่เผลอทำร้ายเขาโดยไม่รู้ตัวครับ