จากภารโรงสู่พันล้าน – ชายผู้พลิกวงการ Love Hotels ในเกาหลีใต้

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว CFO ของบริษัทที่ผมทำงานอยู่ได้ส่งบทความที่น่าสนใจมาให้อ่าน เลยขอนำมาถ่ายทอดในบล็อกนี้นะครับ

  • Lee Su-jin สูญเสียพ่อแม่ไปตั้งแต่วัยเด็ก ชีวิตจึงระหกระเหเร่ร่อนไปอาศัยอยู่กับญาติคนโน้นคนนี้ตลอด
  • พออายุได้ 23 ปี Lee Su-jin ได้งานเป็นคนทำความสะอาดใน Love Hotel แห่งหนึ่ง และทำให้เขามีรายได้ที่แน่นอนและมีที่พักอาศัยเป็นหลักแหล่งเสียที
  • Love Hotel นั้นมีสถานะคล้ายๆ กับโรงแรมม่านรูดในบ้านเรา คือเป็นโรงแรมราคาถูก ที่ใช้สำหรับการปฏิบัติภารกิจของคู่รัก คู่กิ๊ก หรือคู่ที่พบกันตามสถานบันเทิงและสถานบริการ
  • ธุรกิจ Love Hotels นั้นเริ่มต้นในญี่ปุ่น และมาเฟื่องฟูในเกาหลีใต้ช่วงปลายยุค 80’s ที่คนเกาหลีมีความเปิดกว้างเรื่องทางเพศมากขึ้น
  • แต่หลังจากนั้น ธุรกิจนี้ก็อยู่ในช่วงขาลงมาโดยตลอด เนื่องจากชื่อเสียงที่ไม่ดี เพราะมักเกี่ยวพันกับธุรกิจสีเทาและการคบชู้
  • ในปี 2004 เกาหลีใต้ออกกฎหมายห้ามการค้าประเวณี แถมประเทศก็มีปัญหาความขัดแย้งกับจีนจนส่งผลให้นักท่องเที่ยวชาวจีนลดลงไปมาก ทั้งสองปัจจัยนี้ทำให้อนาคตของ Love Hotels ในเกาหลีนั้นริบหรี่ยิ่งกว่าเดิม
  • แต่ Lee Su-jin มองว่าวิกฤตนี้คือโอกาส การได้ทำงานอยู่ในวงการนี้มายาวนานทำให้เขาสร้างเครือข่ายกับคนขายกระดาษทิชชู่และผ้าขนหนูรวมถึงจึงเจ้าของโรงแรม Love Hotels นับหมื่นคน
  • ในปี 2005 ลีได้ทำให้คอนเน็คชั่นเหล่านี้กลายเป็นเว็บไซต์ Yanolja ให้คนเข้ามารีวิวและจองห้องใน Love Hotel ได้ โดยลีโน้มน้าวเจ้าของโรงแรมให้ยอมโพสต์รูปห้อง ซึ่งเป็นสิ่งที่แปลกใหม่เพราะโดยธรรมเนียมแล้วโรงแรมม่านรูดไม่เคยทำอะไรโจ่งแจ้งแบบนี้
  • Yanolja แปลว่า “Hey Let’s Play” – มาสนุกกันเถอะ!
  • Lee Su-jin มองว่าถ้าธุรกิจ Love Hotels ยังพึ่งพาลูกค้ากลุ่มเดิม ก็เท่ากับรอวันล่มสลาย ลีเลยอยากปรับภาพลักษณ์ของ Love Hotels เพื่อเจาะกลุ่มเป้าหมายใหม่ อันได้แต่คู่รักวัยรุ่นและนักท่องเที่ยวที่ต้องการสถานที่พักผ่อนเพียงไม่กี่ชั่วโมง (short stays)
  • Yanolja จึงมีบริการให้คำปรึกษากับ Love Hotels ทั้งหลายว่าจะตกแต่งยังไงถึงจะดึงดูดลูกค้ากลุ่มนี้ได้ มีการอบรมวิธีป้องกันไม่ให้ใครมาติดตั้ง webcam ไว้ในห้อง (เพื่อไม่ให้เกิดการแบล็คเมล) รวมถึงการใช้เทคโนโลยีเพื่อให้ตอบโจทย์ลูกค้าที่ต้องการความเป็นส่วนตัวด้วย เช่นเช็คอิน-เช็คเอาท์ได้ด้วยตัวเอง และสั่งของมาที่ห้องโดยมีหุ่นยนต์นำมาส่ง
  • ในเกาหลีนั้นคนหนุ่มสาวส่วนใหญ่จะยังอาศัยอยู่ที่บ้านพ่อแม่จนกว่าจะแต่งงาน การจะชวนเพื่อนสาวหรือเพื่อนชายมาที่ห้องไม่ใช่เรื่องสะดวก ดังนั้น Love Hotels จึงตอบโจทย์เป็นอย่างยิ่ง โดย Yanolja บอกว่าโดยเฉลี่ยแล้ว ลูกค้าหนึ่งคนจะจองโรงแรมผ่าน Yanolja ถึงเดือนละ 3 ครั้ง
  • ปี 2011 Yanolja เปิดตัวแอปพลิเคชันบนมือถือ และมียอดดาวน์โหลดครบ 10 ล้านครั้งไปเมื่อปี 2018
  • Yanolja ระดมทุนมาแล้วทั้งหมด 1.9 พันล้านเหรียญสหรัฐ (66,000 ล้านบาท) โดยผู้ที่เชื่อมั่นและลงทุนกับ Yanolja นั้นก็อาทิเช่น SoftBank (ลงทุนใน TikTok, Uber, Slack), GIC หรือกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติสิงคโปร์ และ Booking Holdings เจ้าของ Booking และ Agoda
  • นั่นทำให้โรงแรมในแอปของ Yanolja ขึ้นไปลิสต์อยู่ใน Agoda และโรงแรมในลิสต์ของ Agoda ก็ขึ้นไปลิสต์อยู่ใน Yanolja เช่นกัน
  • แม้จะมีคู่แข่งอย่าง Airbnb ก็ไม่ใช่ปัญหาเท่าไหร่นัก เพราะคนเกาหลีส่วนใหญ่ไม่ค่อย comfortable ที่จะให้ชาวต่างชาติมาพักที่บ้านของตัวเอง ดังนั้น Love Hotels ของ Yanolja จึงตอบโจทย์นักท่องเที่ยวที่งบไม่เยอะได้เป็นอย่างดี
  • นอกจากรายได้จากค่าส่วนแบ่งในการจองโรงแรมแล้ว Yanolja ยังมีรายได้จากธุรกิจด้าน transportation และ cloud computing ที่ช่วยยกระดับโรงแรมที่อยู่บนแพลตฟอร์มของ Yanolja โดยรายได้จากธุรกิจ cloud นั้นนับเป็น 1 ใน 5 ของรายได้ทั้งหมด
  • Yanolja มีมูลค่าเกิน 1 พันล้านเหรียญสหรัฐในปี 2019 และนับเป็น “ยูนิคอร์น” ตัวที่ 8 ของเกาหลีใต้
  • ส่วนการระดมทุนครั้งล่าสุดเมื่อเดือนกรกฎาคมปี 2021 SoftBank ยอมลงเงินถึง 1.7 พันล้านเหรียญ โดยตรามูลค่าของ Yanolja ไว้ที่ 6.7 พันล้านเหรียญ
  • เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา Yanolja มีการเปิดเผยรายงานผลประกอบการประจำไตรมาสเป็นครั้งแรก เพราะบริษัทต้องการเตรียมตัวที่จะ IPO โดยมีรายได้แตะ 1 แสนล้านวอน หรือ 2,700 ล้านบาท
  • และรายงานนี้เป็นครั้งแรกที่มีการเปิดเผยต่อสาธารณะว่า Lee Su-jin ผู้ก่อตั้ง Yanolja นั้นถือหุ้นอยู่ 16.54% ส่วนภรรยาและลูกสาวอีกสองคนของเขาก็ถือหุ้นอยู่ 5.18% Forbes จึงประมาณการว่ามูลค่าทรัพย์สินของครอบครัวนี้สูงถึง 2 พันล้านเหรียญสหรัฐ
  • หากการ IPO ครั้งนี้สำเร็จ จากภารโรงวัย 23 ในโรงแรมม่านรูด Lee Su-jin ในวัย 44 ปีก็จะกลายเป็นมหาเศรษฐีระดับพันล้าน(เหรียญ)
  • เป็นเรื่องราวที่น่าทึ่งและน่าศึกษาเป็นอย่างยิ่ง

ขอบคุณข้อมูลจาก Forbes: Ex-Janitor Becomes A Billionaire, Pandemic Recovery Boosts His Korean Travel Superapp