ความฝันของหัวหน้าคือการมีลูกทีมที่เขาพึ่งพาได้

ความฝันของหัวหน้าคือการมีลูกทีมที่เขาพึ่งพาได้

เคยมีคนสัมภาษณ์ “พี่อ้น” วรรณิภา ภักดีบุตร CEO ของโอสภสภา ว่า Leadership คืออะไร

พี่อ้นตอบว่ามันคือการ “Getting things done through others and with others.”

คนที่ทำงานเสร็จได้ด้วยตัวคนเดียว เราจะเรียกว่า “IC” หรือ Individual Contributor

แต่เมื่อได้ชื่อว่าเป็นหัวหน้าแล้ว เราไม่อาจจบงานได้ด้วยตัวคนเดียว เราต้องพึ่งคนอื่นเพื่อให้งานทั้งหลายสำเร็จลุล่วง

หนึ่งในความทุกข์ใจที่สุดของหัวหน้า ก็คือเมื่อเรามอบหมายงานไปแล้วเราไม่รู้ว่ามันจะออกมาอย่างที่เราหวังไว้รึเปล่า

  • ลูกน้องเห็นข้อความของเรารึยัง
  • ถ้าเห็นแล้ว ได้อ่านละเอียดรึเปล่า
  • ถ้าอ่านแล้ว เข้าใจอย่างที่เราอยากให้เขาเข้าใจรึเปล่า
  • เขาให้ความสำคัญกับงานนี้เท่ากับเรามั้ย
  • เขาเริ่มทำงานที่เรามอบหมายแล้วหรือยัง หรือว่าลืมไปแล้ว
  • เขาติดปัญหาตรงไหนรึเปล่า และถ้าติดเขาจะกล้ามาถามเรามั้ย
  • งานที่ผลิตออกมาจะตอบโจทย์และตรงใจเรารึเปล่า

นี่คือความกังวลที่หัวหน้าทุกคนมี เป็นเหมือน infinite loops ที่วนอยู่ในหัว ยิ่งสั่งงานเยอะ loops ก็ยิ่งเยอะ ผมจึงเคยเขียนเอาไว้ว่าลูกน้องที่ดีต้องช่วย close the loop ให้หัวหน้า

เพราะถ้าหัวหน้าสั่งงานแล้วลูกน้องหายไปเลย หรือเคยส่งงานมาแล้วต้องแก้เยอะมาก ลูกน้องแบบนี้จะทำให้หัวหน้ากังวลได้ไม่มีที่สิ้นสุด

ในมุมกลับกัน ลูกน้องที่หัวหน้าโปรดปราน คือลูกน้องที่สั่งงานไปแล้วหัวหน้าแน่ใจว่าจะได้งานออกมาดีแน่นอน

ในฐานะหัวหน้าคนหนึ่ง สิ่งที่จะประเมินได้ว่าเราสร้างทีมได้ดีพอหรือยัง ก็คือการดูว่าเรามีลูกทีมที่พึ่งพาได้มากน้อยเพียงใด

ถ้ายังมีลูกทีมที่พึ่งพาไม่ค่อยได้อยู่หลายคน หัวหน้าก็จะเหนื่อย ก็จะกังวล ก็ยังต้องลงไปทำงานเองอยู่บ่อยๆ

แต่ถ้าทั้งทีมเต็มไปด้วยคนที่พึ่งพาได้ ชีวิตของหัวหน้าจะดีมาก เพราะเขาจะได้เอาเวลาไปทำในสิ่งที่มีคุณค่าสูงขึ้น เช่นการคิดเป้าหมายและ strategy ให้กับทีม รวมถึงเรื่องการแก้ไขเรื่องพื้นฐานเพื่อให้ทีมทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ใครที่รู้ตัวว่าเราเป็นคนที่พึ่งพาได้ ขอให้รู้ไว้ว่าหัวหน้ากำลังรู้สึกขอบคุณเราอยู่ – แม้จะไม่ได้บอกเราตรงๆ ก็ตาม

เพราะความฝันของหัวหน้าคือการมีลูกทีมที่เขาพึ่งพาได้ครับ

ชีวิตเป็นดั่งสายน้ำ

(เคล็ดวิชาชีวิตจากพี่อ้น IMET MAX ตอนที่ 2)

(อ่านตอนที่ 1 ได้ในบทความ “วัยสี่สิบกว่าคือนาทีทอง – เคล็ดวิชาชีวิตจากพี่อ้น IMET MAX ตอนที่ 1″)

ในการพบปะกันครั้งที่สองเมื่อปลายเดือนพฤษภาคม เราเจอกันที่ร้านศรีตราด ซอยสุขุมวิท 33 ร้านนี้จองยากและคนแน่น ต้องขอบคุณ “พี่แจง” เลขาพี่อ้นที่ช่วยเป็นธุระให้

เมนูในวันนี้ได้แก่ออเดิร์ฟรวม น้ำพริกปูไข่ ปลาเห็ดโคนทอดขมิ้น แกงมัสมั่นไก่ทุเรียน หมูสับปลาเค็มตราด ต่อด้วยของหวานอย่างวุ้นลูกสำรองราดกะทิสด สาคูมะพร้าวอ่อนน้ำตาลอ้อย และข้าวเหนียวเปียกแดงน้ำตาลอ้อย

รอบนี้เราคุยกันลึกขึ้นและนานขึ้น อยู่ด้วยกันเกือบสี่ชั่วโมง

นี่คือเนื้อหาสาระจากบางส่วนที่ผมสามารถนำมาเล่าสู่กันฟังในบล็อกนี้ได้ครับ

.

1. สงบศึกกับตัวเอง

ความเดิมจากตอนที่แล้ว พี่อ้นแนะนำให้พวกเราทำไปลองทำแบบทดสอบ StrengthsFinder รวมถึงให้ผู้เชี่ยวชาญด้านนี้ชื่อแอนดรูว์ช่วยอธิบายให้เราฟังด้วย ซึ่งทั้งเอ็ม อ้อ และผมก็ได้ทำแบบทดสอบและคุยกับแอนดรูว์มาเรียบร้อย

StrengthsFinder คือแบบทดสอบที่บ่งบอกว่าเราโดดเด่นในด้านใดในธีมทั้งหมด 34 ธีม

Top 5 ของผมได้แก่ Relator, Connectedness, Empathy, Learner และ Responsibility

ส่วน Bottom 5 ของผมได้แก่ Command, Competition, Woo, Restorative, และ Significance

หลักการของ StrengthsFinder ก็คือเราควรใช้จุดแข็งของตัวเองเยอะๆ เพราะมันคือสิ่งที่เราจะทำได้ดีกว่าคนอื่นโดยไม่ต้องออกแรงมากนัก

ส่วนเรื่องที่เราไม่เก่ง เราก็อย่าไปฝืน ถ้าผมไม่ชอบออกคำสั่งหรือแข่งขันกับใคร ผมควรจะหาคนที่เด่นในด้านนี้มาช่วยปิดจุดอ่อนเหล่านี้แทน

“เอ็ม” ที่เป็น mentee กลุ่มเดียวกับผม บอกว่าหลังจากทำ StrengthsFinder แล้วเขาเปลี่ยนวิธีการทำงานไปโดยสิ้นเชิง

เอ็มเป็น CEO ของ Arincare ซึ่งทำ POS ให้ร้านขายยา ซึ่งโดยภาพจำของ CEO ต้องพูดเก่ง สื่อสารคล่อง และ inspire คนเยอะๆ แต่เอ็มรู้สึกว่าที่ผ่านมาเขาต้องฝืนตัวเองมาก พอได้ทำแบบทดสอบถึงเห็นว่าธีม Communication ของเอ็มอยู่เกือบที่สุดท้าย

จุดแข็งของเอ็ม 5 ข้อคือ Deliberative, Learner, Focus, Input, Analytical และมี Relator เป็นอันดับที่ 6

เมื่อรู้ว่าจุดแข็งของตัวเองคือการสร้างความสัมพันธ์ ความไตร่ตรองและการเรียนรู้ เอ็มจึงลองพูดให้น้อยและฟังให้มาก เพียงปรับตรงนี้แค่นิดเดียว ปรากฎว่าเอ็มได้ผลลัพธ์ที่ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด และไม่ใช่แค่ความสัมพันธ์กับน้องที่ดีขึ้น แต่ความสัมพันธ์ที่มีกับตัวเองก็ดีขึ้นด้วยเช่นกัน

พี่อ้นบอกว่า เมื่อเรามีอายุ เราจะอยากทำความรู้จักกับตัวเอง แล้วจะพบว่าหลายๆ อย่างเราเปลี่ยนไม่ได้ ความสุขจึงมาจากการยอมรับในสิ่งที่เราเป็น จากการ make peace กับตัวเองว่าเราไม่จำเป็นต้องเก่งไปเสียทุกเรื่อง

“เราสามารถชื่นชมคนอื่นได้ โดยที่ไม่ต้องอยากเป็นเหมือนเขา”

.

2. เส้นที่จะไม่ยอมข้าม

เราถามพี่อ้นว่า อะไรคือคุณสมบัติสำคัญที่ทำให้พี่อ้นเติบโตในหน้าที่การงานมาจนถึงจุดนี้

พี่อ้นตอบว่าน่าจะเป็นเรื่อง delivery หรือการส่งมอบงานตามที่ตกลงกันไว้

พี่อ้นไม่ใช่คนเอาใจนาย เป็นคนที่มีเส้นค่อนข้างชัดเจนว่าอะไรที่ทำได้ อะไรที่ทำไม่ได้

พี่อ้นจึงไม่ใช่คนประเภท ‘do whatever it takes’ หรือทำอะไรก็ตามเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุดอย่างที่คนอื่นคาดหวัง

พี่อ้นรู้ว่าตัวเองไม่ได้เหมาะกับธุรกิจบางอย่างที่ต้องแข่งขันกันรุนแรง พร้อมที่จะฆ่าคู่แข่งและทำกำไรให้มากที่สุด ถ้าไปอยู่ในธุรกิจประเภทนี้พี่อ้นคิดว่าตัวเองคงทำได้ไม่ดี

อะไรที่เป็นสีเทา อะไรที่ขัดกับหลักการของตนพี่อ้นจึงไม่ยอม compromise โดยเด็ดขาด

“ไม่อยากกลับมาบ้านแล้วเสียใจ” พี่อ้นกล่าว

.

3. แพ้บ้างก็ได้

หนึ่งในกลุ่มพวกเราปรึกษาพี่อ้นเรื่อง career path ว่าจะเอาอย่างไรต่อ ถ้าจะลองไปทำในสิ่งที่ตัวเองไม่มีประสบการณ์หรือไม่แน่ใจว่าจะชอบหรือเปล่า ก็เกรงว่าจะทำได้ไม่ดี

พี่อ้นบอกว่า โปรไฟล์อย่างพี่อ้นนี่น่าจะเป็นคนสุดท้ายที่ได้เป็น CEO (ใน StrengthsFinder ธีม significance และ command ของพี่อ้นอยู่รั้งท้าย)

“ถ้าพี่เป็น CEO ได้ ทำไมพวกคุณจะเป็นไม่ได้”

พี่อ้นบอกว่าบางทีเราก็ต้องกล้ากระโดดไปหาสิ่งที่เราไม่รู้จักหรือไม่แน่ใจ

พวกเราก็ถามต่อว่า แล้วถ้ามันไม่เวิร์คล่ะ?

“So what?” พี่อ้นตอบ

ก่อนจะตัดสินใจมาทำงานที่โอสถสภา พี่อ้นเผื่อใจไว้เหมือนกันว่าอาจไม่ประสบความสำเร็จเพราะมันต่างกับ Unilever มาก แต่ก็คิดว่าถ้าล้มเหลวก็ไม่เป็นไร ก็แค่พักสัก 3-4 เดือนแล้วค่อยหางานใหม่

หากเราคิดเผื่อไปเลยว่าถ้า next step มันไม่เวิร์คแล้วเราจะทำอะไรต่อ เราก็จะมีความกลัวน้อยลง

พี่อ้นบอกว่าเกมชีวิตมันมีวิธีเล่นอยู่สองแบบ คือ Play To Win กับ Play Not To Lose

ถ้าเรา Play Not To Lose แล้วบอกตัวเองว่า “แพ้ไม่ได้” เราจะเครียด เราจะกลัว เราจะระวังตัวมากจนเกินไป

แต่ถ้าเราคิดว่า “แพ้แล้ว so what?” ตัวเราจะเบา เราจะมีความคิดสร้างสรรค์และมีพลังงานที่ดีกว่า และเราจะกล้า Play To Win

.

4. วิธีรับมือแม่

หนึ่งในกลุ่มพวกเราขอคำปรึกษาพี่อ้น ว่าเวลาคุยกับแม่แล้วมักจะหงุดหงิด เพราะแม่เป็นคนมีไอเดียเยอะ ชอบโทรมาหาแล้วถามว่าทำไมไม่ทำอย่างนั้น-ไม่ทำอย่างนี้ ซึ่งบางเรื่องก็เคยบอกไปแล้วแต่แม่ก็ยังพูดซ้ำเรื่องเดิม แถมบางคำพูดที่ออกมาจากปากแม่ก็ทำให้ไม่สบายใจ จนบางครั้งรู้สึกไม่อยากรับสายแม่

พี่อ้นถามกลับว่า รู้สึกอย่างนี้มาตั้งแต่เด็กหรือไม่ เจ้าตัวตอบว่าไม่ เพิ่งจะมาเป็นช่วง 8-9 ปีที่ผ่านมา

พี่อ้นก็เลยเล่าประสบการณ์ของตัวเองให้ฟัง ว่าแม่พี่อ้นวัย 92 ปีก็ชอบโทรมาบ่นเหมือนกัน เช่นแม่ครัวที่บ้านทำกับข้าวเค็มไป หรือใช้จานชามไม่เข้าชุด พอพี่อ้นบอกว่าจะซื้อให้ใหม่ แม่ก็ไม่เอาเพราะสิ้นเปลือง

ไม่ว่าจะเป็นปัญหาอะไร พอพี่อ้นเสนอทางออก แม่พี่อ้นมักจะเถียงกลับเสมอ จนลูกสาวพี่อ้นยังเปรยว่า “คุณยายนี่บางทีก็ย้อนแย้งเนอะ”

พี่อ้นต้องใช้เวลานานมากกว่าจะเข้าใจว่าจริงๆ แล้วแม่ไม่ได้ต้องการทางออก แม่โทรมาหาพี่อ้นเพราะคิดถึงเฉยๆ

แถมคนอายุขนาดนี้แล้วมันมีเรื่องเหลือให้คุยไม่มาก จึงมักคุยได้แค่เรื่องเดิมๆ หรือพูดอะไรไปเรื่อยเปื่อยโดยไม่คิดอะไร แต่บังเอิญคำบางคำดันมากระทบใจและเราเก็บมาคิดมาก

“อย่ามองเขาเหมือนที่เรามองตัวเอง” พี่อ้นบอก

พี่อ้นแนะนำว่า ในฐานะลูก เรามีหน้าที่แค่รับฟังและไม่ต้องแนะนำอะไร แค่แม่ได้คุยจนหายคิดถึงเขาก็จะแฮปปี้แล้ววางสายไปเอง

.

5. ชีวิตเป็นดั่งสายน้ำ

เราถามพี่อ้นว่า พี่อ้นนับถือใครเป็นครูหรือเป็นไอดอลบ้าง

พี่อ้นนึกอยู่นาน ก่อนจะตอบว่าไม่ได้มีใครที่ยึดเป็นบุคคลต้นแบบ แต่จะนับถือเป็นเรื่องๆ ไป เช่นหัวหน้าคนนี้เก่งเรื่องนี้ หัวหน้าอีกคนก็เด่นอีกเรื่องหนึ่ง ส่วนพ่อพี่อ้นก็เป็นคนปลูกฝังเรื่อง core values ต่างๆ เช่นการไม่เอาเปรียบใครและการมีวินัยทางการเงิน

ส่วนอีกคนที่พี่อ้นนับถือก็คือคุณยาย

คุณยายเป็นคนเลี้ยงพี่อ้นมาตั้งแต่เด็ก พี่อ้นจึงผูกพันกับคุณยายมาก

คุณยายของพี่อ้นเพิ่งเสียไปเมื่อ 2 ปีที่แล้ว สิริอายุรวม 108 ปี นั่นหมายความว่าคุณยายเกิดสมัยปลายรัชกาลที่ 5 – ต้นรัชกาลที่ 6!

คุณยายชอบเล่าความหลังครั้งเก่าให้พี่อ้นฟัง ว่าเคยทำธุรกิจล่องเรือไปขายของถึงสุราษฎร์ธานี ตอนนั้นมีเรือสองลำ แต่ปรากฎว่าเกิดเหตุทำให้เรือล่มทั้งคู่จนต้องเลิกทำธุรกิจนี้ไป จากนั้นจึงเริ่มทำงานรับเหมาก่อสร้าง

สมัยนั้นยังไม่มีธนาคาร เงินที่ได้มาก็จึงเก็บไว้ในบ้านทั้งหมด แต่ปรากฎว่าบ้านไฟไหม้ ต้องเริ่มทุกอย่างจากศูนย์อีกครั้ง

ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 คุณตาของพี่อ้นก็ถูกทหารญี่ปุ่นจับเข้าค่ายกักกัน คุณยายต้องไปลอบพาตัวหนีออกมา

ชีวิตคุณยายฟันฝ่าวิกฤติมาหลายครั้ง แต่ก็ยังอยู่มาได้ถึง 108 ปี คุณยายจึงสอนพี่อ้นเสมอว่า

“ชีวิตเป็นดั่งสายน้ำ มันจะหาทางไปต่อได้เสมอ”


Reflection

การทำ StrenghsFinder ช่วยให้เรารู้ว่าเรามีจุดอ่อนอะไร และเราก็ไม่ต้องไปพยายามพัฒนาจุดอ่อนนั้น เพราะเราเปลี่ยนมันไม่ได้

ฟังดูเหมือนการถอดใจ หรือดูขัดกับหลักการ Growth Mindset ที่สอนว่าคนเรานั้นพัฒนาได้เสมอ แต่ผมคิดว่าแท้จริงแล้วสองเรื่องนี้ไม่ได้ขัดกัน เราเพียงแค่ยอมแพ้ในบางเรื่อง เพื่อเอาแรงและเวลาที่เรามีอย่างจำกัดไปลงทุนกับสิ่งที่เราทำได้ดีอยู่แล้ว เพื่อจะสร้างคุณประโยชน์ได้มากกว่า

ตัวละครหนึ่งในการ์ตูนเรื่อง One Piece ก็เคยกล่าวไว้ว่า “การยอมรับข้อจำกัดของตัวเอง คือสัญญาณหนึ่งของการเติบโต”

เนื่องจากพี่อ้นมีเส้นที่ค่อนข้างชัดเจนว่าอะไรที่พี่อ้นพร้อมทำ และอะไรที่พี่อ้นจะไม่ยอมทำ พี่อ้นจึงรู้ตัวว่าไม่เหมาะกับธุรกิจบางประเภท ถ้าได้ไปทำก็คงทำได้ไม่ดี ผมเองก็เคยผ่านประสบการณ์ที่ย้ายสายธุรกิจโดยไม่ได้ศึกษาก่อน สุดท้ายก็ไม่ผ่านช่วงทดลองงาน จนได้ข้อสรุปกับตัวเองว่าคนเก่งที่อยู่ผิดที่ก็กลายเป็นคนไม่เก่งได้เหมือนกัน

ได้ฟังเรื่องที่พี่อ้นเล่าถึงคุณแม่แล้ว ก็ทำให้ผมนึกถึงภรรยาของตัวเอง – ด้วยความเป็นผู้ชาย และด้วยความที่เรียนวิศวะมา เวลาภรรยามาปรึกษาผมจึงมีแนวโน้มที่จะหาต้นเหตุและหาทางแก้ไข

มีครั้งหนึ่งที่ผมเข้าสู่ problem solving mode เร็วเกินไป ภรรยาก็เลยต้องเตือนสติว่า “รุตม์…เราไม่ได้ต้องการหนังสือ How To เราแค่ต้องการคนรับฟังและอยู่ข้างเราบ้างเท่านั้นเอง”

ผมมีความเชื่อว่ามนุษย์นั้นปรับตัวเก่งกว่าที่เราคิด ต่อให้เจอวิกฤติอะไร หากเรายังครองสติเอาไว้เราก็จะผ่านมันไปได้ เช่นเดียวกับที่เราเคยผ่านมันมาแล้วหลายต่อหลายครั้ง

ยอมรับในข้อจำกัดของตน ใช้จุดแข็งสร้างคุณค่าที่ไม่เหมือนใครเพื่อจะได้ Play to Win – แต่ถ้าแพ้ก็แค่ยักไหล่

แล้วชีวิตย่อมมีทางไปเหมือนสายน้ำทุกสายบนโลกใบนี้ครับ

เมื่อดีบวกดีกลายเป็นไม่ดี

น้ำอุ่นนั้นดี น้ำเย็นนั้นก็ดี แต่ถ้ากระแสน้ำเย็นกับกระแสน้ำอุ่นมาเจอกันก็จะกลายเป็นน้ำวนที่อันตราย

นิสัยที่ดีบางข้อ พอมารวมกันแล้วอาจกลายเป็นนิสัยที่เป็นโทษได้เช่นกัน

“ความมั่นใจ” เป็นสิ่งที่ดี “ความอดทน” ก็เป็นสิ่งที่ดี แต่เมื่อรวมกันแล้วอาจกลายเป็น “ความหัวรั้น”

“ความอยากเรียนรู้” นั้นดี “ความกล้า” นั้นก็ดี แต่เมื่อรวมกันแล้วอาจกลายเป็นความหุนหันพลันแล่น (impulsiveness) เห็นอะไรใหม่ๆ ต้องขอลองไปเสียหมด

“ความถ่อมตน” นั้นดี “ความทะเยอะทะยาน” นั้นก็น่าชื่นชม แต่เมื่อรวมกันแล้วอาจเป็น “ความถ่อมตัวอันเสแสร้ง”

ลองสำรวจตัวเองดูนะครับ ว่าเรามีนิสัยดีๆ บางอย่างที่เมื่อร่วมกันแล้วดันแปลงร่างและสร้างความเสียหายอยู่รึเปล่า


ขอบคุณเนื้อหาหลักจาก Collab Fund: Vicious Traps