ความสม่ำเสมอสำคัญกว่าความกระตือรือร้น

สิ้นเดือนที่หนึ่งของปี 2021 แล้ว

ใครมี New Year’s Resolutions ที่กำลังหลุดลอยขอให้ยกมือขึ้น!

ทุกต้นปีเราจะมีเป้าหมายใหม่ๆ ที่แสนเร้าใจและชวนเราออกไปแตะขอบฟ้า

แต่เมื่อกลับมาเจอชีวิตจริงที่ต้องเข้าออฟฟิศ เจองานด่วนงานแทรก ไหนจะสิ่งล่อตาล่อใจอีกมากมาย ความเป็นไปได้ที่จะบรรลุเป้าหมายอันยิ่งใหญ่ก็ลดน้อยถอยลง

ใครที่คิดว่าปีนี้จะเหมือนกับปีก่อนๆ ที่ฮึดได้แค่ไม่กี่สัปดาห์แล้วก็เข้าอีหรอบเดิม ขอให้ท่องประโยคนี้เอาไว้:

ความสม่ำเสมอสำคัญกว่าความกระตือรือร้น

ตอนต้นปีเรามีความกระตือรือร้นมากมาย แต่ความกระตือรือร้นนั้นมาแล้วก็ไป พึ่งพาได้ไม่นาน

สิ่งที่พึ่งพาได้มากกว่าคือความสม่ำเสมอ

ถ้าอยากลดน้ำหนัก การเข้าฟิตเนสรวดเดียว 10 ชั่วโมงคงไม่ได้พาเราไปสู่เป้าหมาย แต่การเข้าฟิตเนสคราวละ 20 นาทีทุกวันตลอด 1 เดือน รวมเวลาออกกำลังกายก็ 10 ชั่วโมงเท่ากันแต่ผลลัพธ์ย่อมต่างกันและมีโอกาสจะยืนระยะได้นานกว่า

ความสม่ำเสมอจึงสำคัญกว่าความกระตือรือร้น

ไม่ต้องทำอะไรยิ่งใหญ่ ไม่ต้องใช้ motivation อะไรมากมาย แค่ทำเรื่องเดิมๆ ซ้ำๆ ที่เรารู้ว่าอยู่แก่ใจว่ากำลังพาเราไปในทิศทางที่ถูกต้อง

ใจเย็นๆ อย่ารีบร้อน หัดเป็นคนที่รอได้

แล้วขอบฟ้าไหนก็ไม่ไกลเกินเอื้อมครับ

โลกจดจำคนที่ผลงาน

ลองมองไปที่อนุสาวรีย์ หนังสือชีวประวัติ หรือหนังที่สร้างจากชีวิตจริง

คนที่มีชื่ออยู่ในจดหมายเหตุเหล่านี้ ล้วนถูกจารึกเพราะผลงานที่เขาได้สร้างเอาไว้

อาจจะเป็นนวัตกรรมที่คิดค้น บริษัทที่ก่อตั้ง หรือแม้กระทั่งบ้านเมืองที่กอบกู้

ทุกคนที่ถูกประวัติศาสตร์จดจำ ล้วนถูกจดจำเพราะสิ่งที่เขาทำทั้งสิ้น ไม่ได้ถูกจดจำเพราะชาติตระกูล ฐานะ หรือหน้าตาแต่ประการใด

และนี่คืออีกหนึ่งเหตุผลที่ดีที่เราไม่ควรหยุดทำงาน

เพราะนอกจากจะได้ยกระดับตัวเองและได้สร้างประโยชน์แล้ว มันยังเป็นโอกาสที่เราจะได้สร้างสิ่งที่มีอายุยืนยาวกว่าอายุขัยของเราครับ

นิทาน 6 แต้ม

วันนี้วันศุกร์ มาฟังนิทานกันนะครับ

มีผู้รับเหมาชาวไต้หวันคนหนึ่งที่ทั้งฉลาดและขยัน แต่ไม่รู้เพราะโชคชะตาหรือเพราะอะไร ธุรกิจของเขาจึงไม่ประสบความสำเร็จเสียที

วันหนึ่ง ระหว่างที่เดินเซ็งๆ อยู่บนฟุตบาท เขาเดินผ่านแผงขายหนังสือพิมพ์เลยซื้อหนังสือพิมพ์มาฉบับหนึ่ง

เมื่อพลิกอ่านดูเร็วๆ เขาก็เจอบทความหนึ่งที่ทำให้หัวใจเต้นแรง เขาตัดสินใจที่จะนำเงินก้อนสุดท้าย 10,000 หยวนมาลงทุนในธุรกิจของเขาอีกครั้ง

เหมือนมีมนต์เสก ทุกอย่างดูราบรื่นไปหมด ลูกค้าไหลมาเทมา ภายในเวลาไม่ถึงสิบปี ธุรกิจของเขาเติบโตมีมูลค่าถึง 100 ล้านหยวน

นักข่าวต่างมาสัมภาษณ์เขาว่าความลับที่ทำให้เขาประสบความสำเร็จคืออะไร คำตอบของเขามีเพียงสี่พยางค์ “หกแต้มก็พอ”

และอีกไม่กี่ปีต่อมา ธุรกิจของเขาก็มีมูลค่าถึง 10,000 ล้านหยวน

เขาได้มาบรรยายที่มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง นักศึกษาต่างถามคำถามว่าเขาทำยังไงถึงเปลี่ยนเงิน 10,000 หยวนให้กลายเป็น 10,000 ล้านหยวนได้ เขาจึงตอบว่า

“เพราะผมเอาน้อยกว่า 2 แต้มเสมอ”

เมื่อเห็นแววตาที่ยังไม่สิ้นสงสัยของนักศึกษา เขาจึงยอมบอกความลับ

บทความที่เขาได้อ่านในวันนั้น คือบทสัมภาษณ์ของริชาร์ด ลี ลูกชายของ ลี กา ชิง มหาเศรษฐีชาวฮ่องกง

นักข่าวถามริชาร์ด ลี ว่า พ่อของคุณสอนอะไรเกี่ยวกับการหาเงินบ้าง?

ริชาร์ด ลี ตอบว่า พ่อไม่เคยสอนผมเรื่องการหาเงิน พ่อสอนผมแค่เรื่องหลักการของชีวิต ว่าเวลาคุณทำงานร่วมกับใคร ถ้า 8 แต้มคือสิ่งที่คุณควรได้ 7 แต้มก็พอรับไหว ครอบครัวของเราควรจะเอาแค่ 6 แต้ม

“ผมอ่านบทสัมภาษณ์นั้นเป็นร้อยรอบ และผมก็เข้าใจความจริงที่ว่าจุดสูงสุดของความเป็นมนุษย์คือความเมตตา ดังนั้นจุดสูงสุดของความฉลาดก็คือความเมตตาเช่นกัน ลีกาชิงยอมให้คนอื่นได้มากกว่า 2 แต้ม ดังนั้นทุกคนเลยอยากทำธุรกิจกับลีกาชิงเพราะรู้ว่าตัวเองจะได้เปรียบ”

“ดังนั้น แม้ว่าคุณจะได้แค่ 6 แต้ม แต่คุณจะมีโอกาสเป็นร้อย ถ้าคุณพยายามจะเอา 8 แต้ม โอกาสนับร้อยอาจจะเหลือไม่ถึงสิบก็ได้”

“ความผิดพลาดของผมตอนที่เริ่มต้นทำธุรกิจเพราะว่าผมพยายามมากเกินไปที่จะไม่ยอมเสียเปรียบ ผมคำนวณทุกอย่างว่าดีลนี้ทำอย่างไรถึงจะคุ้มค่าที่สุดและได้ประโยชน์มากกว่าอีกฝ่าย สุดท้ายแล้วผมเลยได้เงินมากขึ้นในวันนี้แต่กลับเสียโอกาสของวันพรุ่งนี้”

เมื่อพูดจบแล้ว เขาก็หยิบหนังสือพิมพ์สีเหลืองซีดออกมาจากกระเป๋า มันคือหนังสือพิมพ์ที่เขาซื้อเอาไว้เมื่อสิบกว่าปีที่แล้วและพกมันติดตัวไม่เคยห่างกาย

ในพื้นที่ว่างตรงขอบกระดาษ มีลายมือขยุกขยิกเขียนเอาไว้ว่า

“7 แต้มพอรับไหว 8 แต้มคือที่เราควรได้ งั้นเราเอาแค่ 6 แต้มก็พอ”


ขอบคุณนิทานจากไลน์ภาษาจีน

โรงงานผลิตข้ออ้าง

มาสายเพราะรถติด (ออกจากบ้านช้า)

เช็คเมลเพราะเผื่อมีงานสำคัญ (เคยชิน)

เข้าเฟซเพื่อคลายเครียด (ทุกสิบห้านาที)

ไม่มีเวลาทำงานสำคัญเพราะงานแทรก (งานสำคัญมันยาก งานแทรกมันง่ายดี)

ทำงานผิดเพราะหัวหน้าสั่งไม่เคลียร์ (สงสัยแล้วเราไม่ถาม)

เพื่อนร่วมงานทำตัวแย่เราเลยต้องทำตัวแย่กลับ (เหรอ?)

เราจึงเป็นโรงงานผลิตข้ออ้าง

เปิดทำการตั้งแต่ฟ้าสางยันหลับไหล

มันคือกลไกของกิเลสที่ช่วยให้เราไม่ต้องสบตากับความจริง

ความจริงที่ว่าเราเองนี่แหละที่เป็นต้นเหตุของปัญหาทั้งหมดครับ


ขอบคุณประกายความคิดจากหนังสือ วิธีพาตัวเองออกจากกล่องใบเล็ก ของ The Arbinger Institute

4 เหตุผลที่หัวหน้าควรมี 1:1 กับลูกน้องทุกเดือน

หนึ่งในเครื่องมือที่ทรงพลังที่สุดสำหรับหัวหน้าทีมคือการพูดคุยแบบ 1:1 (อ่านว่า One on One)

1:1 คือการคุยแบบตัวต่อตัวของหัวหน้ากับลูกน้อง โดยจะคุยกันในห้องประชุมหรือที่ร้านกาแฟก็ได้

แต่ 1:1 ก็เป็นเครื่องมือที่ถูกละเลยบ่อยที่สุดเช่นกัน เพราะหัวหน้ามักจะคิดว่า “ไม่มีเวลา” หรือ “ไม่รู้จะคุยอะไร” ทั้งๆ ที่มีเรื่องให้คุยมากมายและถ้าคุยเป็นก็จะสามารถประหยัดเวลาจากเรื่องปวดหัวที่อาจเกิดขึ้นได้อีกด้วย

ตัวผมเองพยายามจะนัดคุย 1:1 กับน้องในทีมอย่างน้อยเดือนละหนึ่งครั้ง โดยผมเห็นประโยชน์ของมันดังนี้

  1. ทำความรู้จักในฐานะเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน

เจ้านายเก่าคนหนึ่งของผมเคยพูดไว้ว่า หัวหน้าไม่ได้มีฐานะสูงกว่าลูกน้อง แค่มีหน้าที่ต่างกันเท่านั้นเอง

เราต่างก็เป็นมนุษย์เงินเดือนเหมือนๆ กัน มีความหวัง ความต้องการ ความกังวลเหมือนกัน

หัวหน้าจึงควรทำความรู้จักว่าลูกน้องเป็นคนยังไง มีพื้นเพแบบไหน ช่วงนี้สนใจเรื่องอะไร และมีเป้าหมายอะไรในอนาคต

เมื่อเราเข้าใจตัวตนของลูกน้องและสิ่งที่ขับเคลื่อนเขา เราจะเกาได้ถูกที่คันกับน้องคนนี้มากขึ้น และเราจะตัดสินใจได้ดีขึ้นเวลาที่ต้องมอบหมายงานใหม่ๆ ให้ลูกน้องคนนี้

  1. คุยในสิ่งที่คุยในที่ประชุมอื่นไม่ได้

หลักการง่ายๆ หรือ Rule of Thumb ของการคุย 1:1 ก็คือให้โฟกัสไปในสิ่งที่คุยในการประชุมอื่นๆ ไม่ได้

เรื่องอย่างการติดตามงานว่าไปถึงไหนแล้วจึงไม่ใช่เรื่องที่ควรคุยใน 1:1 เพราะเราใช้การประชุมทีมหรือการประชุมโปรเจ็คทำได้อยู่แล้ว

จุดแข็งของ 1:1 คือความ private เราจึงควรเน้นไปที่เรื่องที่เราทั้งสองสบายใจที่จะพูดคุยกันในยามที่ไม่มีสายตาอื่นจับจ้องอยู่

เช่นถามเขาว่าตอนนี้กังวลใจเรื่องอะไรบ้าง มีเพื่อนร่วมงานคนไหนที่ทำงานด้วยแล้วยังติดขัดรึเปล่า มีใครในทีมที่เราเป็นห่วงหรือไม่

รวมถึงเรื่องส่วนตัวว่าที่บ้านเป็นยังไงบ้าง มีแผนจะไปเที่ยวที่ไหน ช่วงนี้ดูซีรี่ส์เรื่องอะไร

หลังจากฟังน้องแล้ว เราก็ใช้โอกาสนี้ในการฟีดแบ็คลูกน้องเรื่องที่เขาทำได้ดีและยังทำได้ไม่ดี รวมถึงสิ่งที่เราอยากให้เขาโฟกัสในช่วงนี้

การชวนคุยเรื่องที่ “กึ่งความลับ” เช่นนี้จะช่วยสร้างพื้นที่แห่งความสบายใจและความไว้เนื้อเชื่อใจให้เกิดขึ้นได้อย่างช้าๆ แต่ยั่งยืน

3. โอกาสที่เขาจะบอกว่าเราควรปรับปรุงอะไร
ถึงแม้เราจะเป็นหัวหน้าที่เปิดกว้างต่อการรับฟีดแบ็ค ลูกน้องก็คงไม่กล้าบอกกับเราในห้องประชุมที่มีคนอื่นอยู่ด้วยเยอะๆ

แต่ใน 1:1 เราสามารถถามเขาได้ว่า อยากให้พี่ปรับอะไรตรงไหนมั้ย มีอะไรที่พี่ควรจะเปลี่ยนแปลงเพื่อให้น้องทำงานได้ดีขึ้นรึเปล่า

ซึ่งก็เป็นไปได้ว่าน้องอาจจะยังไม่กล้าพูดอยู่ดี ก็ต้องให้เวลาเขาหน่อย และหมั่นทำข้อ 1 & 2 ให้เยอะๆ เพื่อให้เขาพร้อมเปิดอกคุยกับเรามากขึ้นในครั้งต่อไป

  1. การนัดแบบอื่นไม่สามารถทดแทนได้

แน่นอนว่าองค์กรอาจจะสร้างโอกาสให้เรามีสถานการณ์ 1:1 อยู่แล้ว เช่นการพูดคุย Performance Review แต่การคุยแบบนี้เกิดขึ้นแค่ปีละหนึ่งหรือสองครั้ง ซึ่งไม่เพียงพอและไม่อาจทดแทน 1:1 ได้เลย

เพราะแม้เราจะไปหาหมอฟันทุก 6 เดือน แต่ช่วงที่ไม่ได้ไปหาหมอฟันเราก็ยังจำเป็นต้องแปรงฟันอยู่ทุกวัน ไม่อย่างนั้นต่อให้หมอฟันเทพแค่ไหนก็ดูแลไม่ไหว

หัวหน้าจึงควรมี 1:1 กับลูกน้องบ่อยๆ เพื่อสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ สร้างพื้นที่ปลอดภัยในการพูดคุย และสร้างโอกาสให้ทั้งสองฝ่ายทำหน้าที่ของตัวเองได้ดียิ่งขึ้นครับ