สุขเพราะเข้าใจ

20160730_happy

Q: ก่อนหน้านี้เราได้ดู TED Talk ในตอนที่เกี่ยวกับพระโดยเฉพาะ ซึ่งมีคนรวบรวมไว้ทั้งหมด 10 กว่าตอนที่ว่าด้วยเรื่องของ Buddhism Lifestyle เราพบว่ามีถึง 6 ใน 10 รูปที่มักจะพูดเรื่องความสุข เลยอยากถามว่าความสุขสำคัญอย่างไร ทำไมต้องหยิบเรื่องนี้มาพูด

A: เพราะมนุษย์ทุกข์ไงครับ แล้วความสุขเชิงพุทธนี่ ถ้าดูดีๆ พระพุทธเจ้าพูดถึงคำว่าพ้นทุกข์ ไม่ได้พูดถึงคำว่าสุข แต่ทีนี้พอพ้นจากทุกข์แล้ว บางทีเราก็เรียกง่ายๆ ว่าเป็นความสุข แต่ที่จริงคือ ทำยังไงให้ไม่ทุกข์มากกว่า ความสุขของคนพุทธก็คือความไม่ทุกข์ มีก็ไม่ทุกข์ ไม่มีก็ไม่ทุกข์ ความไม่ทุกข์คือความเข้าใจว่าชีวิตมันเป็นอย่างนั้นเองเท่านั้นแหละ แต่สังเกตดูดีๆ คนเป็นพระจะไม่ได้สุขแบบตื่นเต้นเร้าใจ ชาวพุทธไม่สุขแบบนั้น ส่วนเรื่องคำว่าความสุข หลวงพี่คิดว่าเพราะคนมักจะใช้คำตรงกันข้าม พอไม่ทุกข์ก็เลยกลายเป็นสุข แต่สุขของโลกคือสุขแบบดี๊ด๊า ซึ่งเป็นคนละความหมายกับสุขแบบพุทธที่ไม่ได้หมายถึงสุขแบบได้ดั่งใจ แต่เป็นสุขจากความเข้าใจ เพราะการได้ดั่งใจไม่ใช่เรื่องสำคัญ เราเคารพเหตุผลมากกว่า ดังนั้นถ้าหลวงพี่ไม่อ่านหนังสือก็จะสอบไม่ได้ หลวงพี่ก็ไม่จำเป็นต้องทุกข์ เพราะหลวงพี่ไม่ได้อ่านไง

– พระจิตร์ ตัณฑเสถียร
a day BULLETIN issue 418, 25-31 Jul 2016
สัมภาษณ์ วิไลรัตน์ เอมเอี่ยม
ถ่ายภาพ ภาสกร ธวัชธาตรี


คนเราน่าจะแบ่งออกได้เป็นสองกลุ่ม

กลุ่มแรกคือคนที่วิ่งเข้าหาความสุข

สุขในแบบ “ดี๊ด๊า” ตามที่พระจิตร์ท่านว่าไว้

แต่กว่าจะมีความสุขสไตล์นี้ได้ก็อาจต้องผ่านหลายขั้นตอนเหมือนกัน

ต้องทำงาน เพื่อจะได้มีเงินไปซื้อสินค้าหรือบริการที่ทำให้เราสุขแบบดี๊ด๊า

นอกจากมีเงินซื้อของแล้ว ก็อยากมีเงินเหลือด้วย เพื่อเอาไว้ใช้จ่ายในยามฉุกเฉินหรือเจ็บป่วย เพราะไม่อย่างนั้นก็จะทุกข์แบบตรอมตรม

เมื่ออยากมีเงินทั้งสำหรับซื้อความสุขดีด๊าในปัจจุบันและป้องกันความทุกข์ตรอมตรมในอนาคต พวกเราส่วนใหญ่ก็เลยต้องเหนื่อยหน่อย

ในขณะที่คนกลุ่มที่สอง ซึ่งมีขนาดเล็กกว่า กำลังแสวงหาความสุขอีกแบบนึง

สุขแบบจืดๆ ไม่หวือหวา

สุขเพียงเพราะว่าไม่ทุกข์

“ข้อเสีย” ของความสุขแบบนี้ก็คือมันอาจจะทำให้ชีวิตไม่มีรสชาติ

แต่ข้อดีก็คือมันเป็นความสุขที่ไม่ต้องใช้เงินเป็นทางผ่าน

แถมเป็นสุขได้ทั้งขาขึ้นและขาลง

รุ่งเรืองก็ไม่ดี๊ด๊า ตกยากก็ไม่ตรอมตรม

เพราะคนที่สุขแบบนี้ได้ เขาไม่จำเป็นต้องรอให้ทุกอย่างเป็นดั่งใจ ซึ่งเป็นเรื่องภายนอกที่ควบคุมได้ยาก

แต่สุขได้เพราะว่าเข้าใจ ซึ่งเป็นโลกภายในที่ควบคุมได้ง่ายกว่า

ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ก็เข้าใจ

เข้าใจทั้งโลก เข้าใจทั้งตัวเอง

พอเข้าใจก็ไม่ทุกข์

พอไม่ทุกข์ก็เป็นสุข

ผมว่าผู้อ่าน Anontawong’s Musings เกือบทั้งหมดก็เป็นสมาชิกของทั้งสองกลุ่มนั่นแหละ

คือยังอยากสุขแบบดี๊ด๊าอยู่ แต่ก็ไม่ละเลยที่จะเรียนรู้วิธีการมีความสุขแบบจืดๆ แต่ยั่งยืนกว่า

คราวนี้ก็ขึ้นอยู่กับเราแล้วครับว่า จะบาลานซ์ความสุขสองอย่างนี้ยังไงให้ตรงจริตเรามากที่สุด


ขอบคุณเนื้อหาและภาพจาก a day BULLETIN issue 418, 25-31 Jul 2016

อ่านตอนใหม่ๆ ได้ทุกวันที่ Facebook Page Anontawong’s Musings (กดไลค์แล้วเลือก See First หรือ Get Notifications ก็จะไม่พลาดตอนใหม่ครับ)

อ่านตอนเก่าๆ ได้ที่ https://anontawong.com/archives/

ดาวน์โหลดอีบุ๊ค “เกิดใหม่

ขอบคุณภาพจาก Pixabay.com

รีบเย็น

20160327_Hurry

“คนเราต้อง ‘รีบเย็น’ อย่า ‘รีบร้อน’ ยิ่งช่วงวิกฤติก็ยิ่งต้องใจเย็น”

– พระมิตซูโอะ เควสโก
a day BULLETIN 100 Interview The Observer
พฤษภาคม 2554 สัมภาษณ์โดยวิไลรัตน์ เอมเอี่ยม

—–

สำหรับคนทั่วๆ ไป อารมณ์กับการกระทำมักจะไปในทิศทางเดียวกัน

ถ้าอารมณ์ดีๆ ชิวๆ ก็จะทำอะไรแบบเนิบๆ เรื่อยๆ มาเรียงๆ

แต่ถ้ากำลังหงุดหงิด ก็อาจจะทำอะไรเร่งๆ ส่งๆ ไป

แต่พระมิตซูโอะ ก็เตือนว่า เรายังมีอีกทางเลือกหนึ่ง

คือเราสามารถทำอะไรเร็วๆ ได้ โดยที่ใจยังเย็นเป็นน้ำอยู่

เพราะจะว่าไปแล้ว เวลาเราใจเย็น ไม่ได้แปลว่าร่างกายจะทำอะไรเร็วๆ ไม่ได้ซะหน่อย

ถ้าเรากำลังจะไปนัดสาย เราสามารถจะเดินเร็วขึ้นได้ หรือแม้กระทั่งจะวิ่งก็ยังได้ โดยที่ใจไม่เตลิดเปิดเปิงไปไหน

ถ้าสังเกตตัวเอง เวลาที่เรารีบร้อน ใจเราจะไม่อยู่กับปัจจุบันและไม่อยู่กับตัวเอง

เราอาจจะคิดไปถึงอนาคตว่า ถ้าไปสายจะโดนมองไม่ดีอย่างไรบ้าง

หรืออาจคิดถึงอดีตว่า เมื่อเช้าไม่น่าชิวเกินไปเลย รู้งี้ออกจากบ้านให้เร็วกว่านี้ก็ดีหรอก

หรือใจเราอาจมัวแต่เพ่งโทษคนอื่น หงุดหงิดที่รถติด หรือรถคันหน้าขับช้า จนเราเองกลายร่างเป็นคนไม่น่ารักไปด้วย

หลงไปอนาคต หลงไปอดีต หลงไปเพ่งโทษคนอื่น ใจมันก็เลยร้อนรุ่ม

ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริง การหลงไปแบบนี้มันไม่ได้ช่วยให้เราไปถึงที่หมายเร็วขึ้นเลยซักนาทีเดียว

ถ้าเราใจเย็นซักหน่อย จอดรถข้างทางโทร.ไปขอโทษคนที่นัดหมายไว้ว่าจะไปถึงช้านิดนึง และลองเปิด Google Maps สำรวจเส้นทางดีๆ ว่าทางไหนน่าจะเร็วที่สุด

แค่เปลี่ยนวิธีคิดนิดนึง เราก็อาจจะ “รีบเย็น” ได้จริงๆ นะครับ

—–

ขอบคุณข้อมูลและรูปภาพจาก a day BULLETIN 100 Interview The Observer

อ่านตอนเก่าๆ ได้ที่ https://anontawong.com/archives/

อ่านตอนใหม่ๆ ได้ทุกวันที่ Facebook Page Anontawong’s Musings (ที่ปุ่มไลค์จะมี drop down menu ให้เลือกได้ว่าอยากจะให้มี notifications หรืออยากเห็นโพสต์จากเพจนี้อยู่ต้นๆ ฟีดรึเปล่าครับ)

ดาวน์โหลดอีบุ๊ค “เกิดใหม่

ดีเกินดีคือไม่ดี

20150416_TooMuchOfAGoodThing - Copy

ฝรั่งมีคำพูดหนึ่งที่ว่า There is no such thing as too much of a good thing: ไม่มีคำว่า “เยอะเกินไป” สำหรับของดีๆ

ผมว่าไม่แน่เสมอไปนะครับ

สมัยที่ผมเรียนอยู่ที่เอเชี่ยนยู ครั้งหนึ่งเคยมีรายการทีวี “ตามหาแก่นธรรม” ที่ดำเนินรายการโดยดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง มาถ่ายทำที่นี่

ผมได้เข้าไปนั่งใน “ห้องส่ง” ซึ่งก็คือลานกว้างใต้ต้นไม้ใหญ่ระหว่างหอพักกับอาคารเรียน

แขกรับเชิญคราวนั้นมีสามท่าน ท่านแรกคือดร.วิพรรธ์ เริงพิทยา อธิการบดีและผู้ก่อตั้งเอเชี่ยนยู อีกท่านหนึ่งเป็นพระซึ่งผมจำชื่อท่านไม่ได้แล้ว ส่วนอีกท่านหนึ่งเป็นผู้หญิงวัยห้าสิบปลายๆ หรือหกสิบต้นๆ วิธีการพูดการจาแบบชาวบ้านๆ จริงใจไม่อ้อมค้อม

จำได้ว่ารายการวันนั้นสนุกมากครับ

ผมกับเพื่อนชื่อโอส่งคำถามขึ้นไปหาผู้ดำเนินรายการว่า ทำไมฆ่าวัวถึงบาปกว่าฆ่าปลา? เพราะล้มวัวตัวเดียวเลี้ยงคนได้ทั้งหมู่บ้าน ในขณะที่ถ้าเราต้องการอาหารปริมาณเดียวกันจากปลา เราต้องฆ่าปลาตั้งหลายร้อยตัว ตกลงชีวิตสัตว์มีคุณค่าไม่เท่ากันใช่มั้ย?

พระท่านตอบประมาณว่า กรรมจะหนักหรือจะเบา ขึ้นอยู่กับเจตนาด้วย ยิ่งเจตนาจะฆ่าแรงเท่าไหร่ กรรมก็หนักเท่านั้น เทียบให้เห็นภาพง่ายๆ

เช่นการฆ่ายุงกับฆ่าวัว เวลาเราฆ่ายุง เจตนาเราอ่อนมาก บางทีไม่รู้ตัวด้วยซ้ำ แค่รู้สึกคันๆ เราก็เผลอตบซะแล้ว แต่การฆ่าวัวทีนึงเราต้องใช้ความพยายามมหาศาล ดังนั้นกรรมจึงหนักกว่า

ดร.วิปก็เลยถามติดตลกว่า อ้าว แล้วถ้าสมมติใช้ปืนล่ะ? เอาปืนยิงวัวโป้งเดียวก็ตายแล้ว แต่ถ้าเอาปืนยิงยุงนี่ต้องใช้ความพยายามสูงกว่าเยอะเลยนะ

คุณป้าชาวบ้านก็เลยช่วยตอบว่า คนที่เอาปืนยิงวัวเค้าเรียกว่าคนบาป ส่วนคนที่เอาปืนยิงยุงเค้าเรียกว่าคนบ้าค่ะ! (คนเฮ! ดร.วิปหัวเราะชอบใจ)

แต่สาระจริงๆ ที่ผมได้ในวันนั้นและติดตัวมาจนถึงวันนี้คือคำพูดของพระรูปนั้นว่า

“ดีเกินดีคือไม่ดี”

ถามว่าดื่มน้ำดีมั้ย? ดี เพราะเป็นสิ่งจำเป็นกับร่างกาย และหากขาดน้ำเกินสามวันเราก็อยู่ไม่ได้ แต่ถ้าคุณลองดื่มน้ำเข้าไปซัก 5 ลิตร รับรองว่าไม่ดีต่อร่างกายของคุณแน่ๆ

ถ้าไปถามเกษตกรว่าฝนตกดีมั้ย? เขาย่อมตอบว่าดีเพราะช่วยให้พืชผักเขาเติบโต แต่ถ้าฝนตกมากไปจนน้ำท่วม ก็อาจทำให้เกษตกรหมดตัวได้

พักผ่อนดีมั้ย? คนเราควรจะนอนวันละ 7-8 ชั่วโมง แต่ถ้านอนมากกว่านี้ร่างกายจะเริ่มไม่โอเคแล้ว

ผมว่าถ้าให้พล็อตกราฟโดยให้แกนตั้งเป็นระดับของความสุข และแกนนอนเป็นปริมาณของ “สิ่งดีๆ” เราจะได้เป็นรูประฆังคว่ำ

แม้กระทั่งสิ่งที่เราคิดว่ายิ่งมีเยอะยิ่งดีอย่าง “เงิน” ก็อาจจะเป็นรูประฆังคว่ำได้

Malcolm Gladwell เขียนไว้ในหนังสือ David & Goliath ว่า “ฐานะของพ่อแม่” กับ “ประสิทธิภาพในการเลี้ยงดูลูก” ก็มีความสัมพันธ์กันเป็นรูประฆังคว่ำ (Inverted U-shape)

ถ้าพ่อแม่ยากจน ย่อมมอบสิ่งดีๆ ให้กับลูกได้ไม่เต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอาหาร ความอบอุ่น หรือการศึกษา

แต่ถ้าพ่อแม่รวยเกินไป ก็จะทำให้เลี้ยงลูกได้ยากขึ้น เพราะลูกจะรู้จักคุณค่าของเงินได้อย่างไร ถ้ายังเห็นพ่อขับแลมโบกินี่และแม่ใช้กระเป๋าแอร์เมส

ดีเกินดีคือไม่ดี…แล้วยังไงถึงจะดี?

Gladwell บอกไว้ว่ามันจะมี Desirable Income หรือรายได้ที่เหมาะสมอยู่ เป็นจุดที่ Optimized ที่สุดที่จะช่วยให้ลูกมีกินมีใช้ไม่ขัดสนแต่ในขณะเดียวกันก็ไม่ฟุ้งเฟ้อจนเสียคน

เพราะฉะนั้น ทุกๆ อย่างมีจุดสมดุลของมันเสมอ

ถ้าเราหาจุดสมดุลหรือ “ทางสายกลาง” เจอ ชีวิตของเราก็จะ Optimized เช่นกันครับ

—–

Credits

Deseret News: What Malcolm Gladwell’s new book has to say about family finance 

ทุกอย่างมันถูกต้องอยู่แล้ว

20150604_EverythingIsRight

“ทุกอย่างในโลกนี้มันถูกอยู่แล้ว มีแต่ความเห็นของเราเท่านั้นที่ผิด”
หลวงพ่อชา สุภฺทโท

—–

เวลาเกิดเรื่องที่เราไม่ชอบใจ เราจะบอกว่า “เรื่องนี้มันไม่ถูก”

คำถามคือไม่ถูกอะไร?

ไม่ถูกต้อง หรือ ไม่ถูกใจเรา?

จริงๆ แล้วไม่ถูกต้อง ก็คือไม่ถูกใจเรานั่นแหละ

เพราะเวลาเราคิดอะไร เรามักจะเอาตัวเองเป็นศูนย์กลางของจักรวาล เป็น “มาตรฐาน” ที่เอาไว้วัดทุกอย่าง

ซึ่งจะว่าไปก็เป็นเรื่องช่วยไม่ได้ เพราะ “มาตรฐานของเรา” คือมาตรฐานเดียวที่เรามี และหยิบมาใช้ได้สะดวกที่สุด

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็ต้องไม่ลืมด้วยว่า มาตรวัดของเราไม่ได้ถูกต้องเที่ยงตรง

เพราะเรายังมีรัก มีเกลียด มีลำเอียง แถมความรู้ที่เรามีก็เป็นเพียงเสี้ยวหนึ่งของความจริงทั้งหมด

ผิดสำหรับเรา อาจจะถูกสำหรับคนอื่นก็ได้

แทนที่จะตัดสินว่าเรื่องนี้ถูก เรื่องนี้ผิด คนนั้นถูก คนนี้ผิด

เอาเวลามาขัดเกลามาตรวัดของเราให้เที่ยงก่อนดีกว่ามั้ย?

คิดเก่ง

20150307

คิดเก่ง
ไม่คิด เก่งกว่า
พระไพศาล วิสาโล

จำได้ว่าประโยคนี้เคยอ่านเจอในฟีดของเพื่อนชื่อ “อู๊ดด้า”

คนเราจะเจริญได้ก็ด้วยความคิด

คิดดี เพื่อทำดี
คิดสร้างสร้างสรรค์ เพื่อหาลู่ทางใหม่ๆ
คิดรอบคอบ เพื่อที่จะทำอะไรให้รัดกุม
คิดแง่บวก เพื่อให้มีกำลังใจในการใช้ชีวิต

และคนเราก็มักจะ “ฆ่า” ตัวเองด้วยความคิดเช่นกัน

คิดว่าแฟนไปมีกิ๊ก
คิดว่าคนอื่นมองเราไม่ดี
คิดว่าหัวหน้าลำเอียง
คิดว่าคนอื่นคิดไม่ถูก

ที่สำคัญ เวลาเราคิดอะไรลบๆ เรามักจะหยุดมันไม่ได้เสียด้วย มันจะคอยวนเวียนกลับมาในหัวเราตลอด

คำถามคือ แล้วเราจะหยุดคิดได้ยังไง

คำตอบคือ หยุดไม่ได้ครับ เพราะความคิดไม่ใช่ตัวเรา

วิธีเดียวที่จะช่วยให้เราไม่โดนโจมตีกับความคิดฟุ้งซ่านมากเกินไป ก็คือการรู้ตัวว่ากำลังคิดฟุ้งซ่านอยู่นั่นเอง

ไม่ต้องไปทะเลาะหรือรังเกียจนมัน แค่ดูมันเฉยๆ แล้วคอยดูมันไปว่ามันจะคิดไปได้นานแค่ไหน

แล้วสักพักมันก็จะหยุดไปเอง

เหมือนกับทุกๆ ความคิดที่คุณเคยมีนั่นแหละครับ