ทำไมยิ่งอายุมากเวลายิ่งผ่านไปเร็วขึ้น

ประเด็นนี้มีนักจิตวิทยาถกเถียงกันมานาน เท่าที่ผมทราบยังไม่มีข้อสรุปที่ได้รับการยอมรับเป็นเอกฉันท์

แต่คำอธิบายที่ผมชอบมากที่สุดมาจากบทสนทนาในซีรี่ส์เรื่อง Beef บน Netflix

Danny: Where does the time go, dude? Life, man.

George: I read that time speeds up as you get older, because when you’re a year old, that year is a hundred percent of your perception of time, but as you get older, that year is a smaller fraction of the time you’ve experienced.

สำหรับเด็ก 1 ขวบ 1 ปีคือ 100% ของเวลาทั้งหมดที่เขาได้ใช้บนโลกใบนี้

สำหรับเด็ก 10 ขวบ 1 ปีจะเป็นเพียงแค่ 10%

สำหรับเด็กมหาลัย 20 ปี 1 ปีจะมีค่าเท่ากับ 5%

สำหรับผู้ใหญ่อายุ 40 ปี 1 ปีจะเหลือแค่ 2.5%

สำหรับคนชราอายุ 80 ปี 1 ปีจะเท่ากับ 1.25% ของชีวิตทั้งหมด

ยิ่งเราอายุมากขึ้นเท่าไหร่ 1 ปีจะมีสัดส่วนในชีวิตเราน้อยลงเรื่อยๆ

ความทรงจำที่เรามีต่อทุกปีที่ผ่านไปจึงรู้สึกว่าสั้นลงเช่นกัน

ลองเอาไปขบคิดต่อกันดูนะครับ


ขอบคุณ Quote จาก Netflix: Beef: EP7 I am a cage, นาทีที่ 18

เวลาผิดให้ยอมรับ เวลาถูกให้ Shut Up

การยอมรับว่าเราทำผิดหรือคิดผิดไปไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะมันทำร้ายอีโก้เราพอสมควร

เวลาคนอื่นผิด เราจะคิดว่าคนนั้นไม่ดี แต่เวลาเราผิด เรากลับคิดว่าเรามีเหตุผลที่ดี

คนที่เป็นผู้ใหญ่ คนที่มีความกล้าหาญ จะเอ่ยปากยอมรับผิดโดยไม่รู้สึกว่าจะต้องแก้ตัวหรือหรือสร้างความชอบธรรมให้กับความผิดนั้น

ในทางกลับกัน

หากเราเคยเถียงกับใคร แล้วสุดท้ายความจริงพิสูจน์ว่าเราเป็นฝ่ายถูก เราก็คันปากอยากจะตอกย้ำ

ภาษาอังกฤษจะใช้คำว่า “I told you so.” – ก็บอกแล้ว ไม่ฟังเอง

เป็นประโยคที่เย้ายวน เพราะพูดแล้วตัวพอง-ใจพองด้วยความลำพอง

แต่ถึงเราไม่พูดเขาก็รู้อยู่แล้วว่าเราถูก การขยี้ว่าอีกฝ่ายผิดนั้นรังแต่จะสร้างบาดแผลโดยไม่จำเป็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเขาเป็นคนที่เรายังอยากรักษาความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันไว้

“Whenever you’re wrong, admit it;
Whenever you’re right, shut up.”

Ogden Nash

เวลาผิดให้ยอมรับ เวลาถูกให้ shut up ครับ

ยุคของการอยู่กับสิ่งหนึ่งสิ่งใดได้นานพอ

ยุคของการอยู่กับสิ่งหนึ่งสิ่งใดได้นานพอ

ผมเป็นเด็กที่โตมาในยุคที่แกรมมี่กับอาร์เอสรุ่งเรือง

เราจะรอคอยศิลปินคนโปรดที่จะออกเทปสองปีครั้ง ใครที่ฮอตหน่อยก็อาจจะได้ออกปีละครั้ง ต้องรอดูมิวสิควีดีโอเพลงเปิดอัลบั้มที่มาพร้อมกับรายการเพลงช่วงดึกดื่นหรือช่วงวันหยุดนักขัตฤกษ์

จากนั้นก็ไปตามเชียร์ต่อกันในรายการวิทยุ รอฟังว่าเพลงที่เราชอบนั้นจะฮิตติดชาร์ตรึเปล่า

พอเก็บตังค์ได้ครบก็ไปแผงเทป ซื้อเทปกลับมาบ้าน แกะพลาสติก เปิดกล่อง ใส่เทปเข้าเครื่องเล่น เปิดเนื้อร้อง นอนฟังเพลงหรือร้องตามกันไป เพลงไหนชอบมากๆ ก็กรอฟังซ้ำบ่อยหน่อย จะเดินทางไปไหนก็จะต้องเอาเทปไปฟังในรถหรือพกซาวด์อะเบาท์ติดตัวไปด้วย

และเนื่องจากค่ายเพลงที่เราฟังสมัยนั้นมีแค่สองค่าย แต่ละค่ายจะกะจังหวะเพื่อให้ศิลปินเบอร์ใหญ่แต่ละคนมีช่วงเวลาเก็บเกี่ยว เราจึง “ได้ใช้เวลา” กับพี่เบิร์ด ธงไชยอย่างน้อย 3-4 เดือนก่อนจะได้ฟังอัลบั้มใหม่ของ เจ เจตริน

เมื่อได้ใช้เวลาด้วยกันนานๆ ก็เลยร้องเพลงเขาได้ไปโดยปริยาย ร้องได้แบบไม่ลืม แม้ว่าเวลาจะผ่านมา 30 ปีแล้วก็ตาม

หันกลับมาดูตอนนี้ ที่ตลาดเพลงมีการกระจายอำนาจและเป็นโลกาภิวัฒน์กว่าเดิม ข้อดีคือเราได้ฟังเพลงที่หลากหลาย แต่สิ่งหนึ่งที่อาจหายไปคือเราไม่ได้อยู่กับศิลปินคนหนึ่งได้ยาวนานเท่าเมื่อก่อน

เพลงที่ฮิตสุดขีดในเมืองไทยจะมีช่วงชีวิตที่สั้นลง อาจจะแค่ 2 เดือนหรือไม่กี่สัปดาห์แล้วก็จะหายไปแบบไร้ร่องรอย

เราได้ฟังเพลงใหม่ๆ กันเยอะมาก แต่ผมไม่แน่ใจว่าเด็กสมัยนี้จะมีเพลงที่ “นิยาม” (define) ชีวิตช่วงใดช่วงหนึ่งเหมือนเด็กสมัยก่อนหรือไม่

ไม่ใช่แค่เรื่องเพลง แต่ซีรี่ส์ก็มีช่วงชีวิตที่สั้นลงเช่นกัน เพราะเราไม่ต้องรอดูสัปดาห์ละตอนสองตอน แต่สามารถดูรวดเดียว 12 ตอนจบภายใน 2-3 คืนได้เลย

อารมณ์เหมือนการไปเที่ยวกับทัวร์ที่หวังจะเก็บที่เที่ยวดังๆ ให้ครบ ลงจากรถแล้วรีบถ่ายรูป ก่อนจะต้องขึ้นรถไปที่อื่นต่อ ไม่ได้มีเวลาเพียงพอที่จะซึมซับและเข้าไปรู้จักกับสถานที่นั้นจริงๆ

เมื่อเราเสพสิ่งต่างๆ อย่างรวดเร็ว ก็น่าสนใจว่ามันจะมีผลต่อความทรงจำอย่างไร

อีก 30 ปีเราจะยังร้องเพลง “เฮอร์ไมโอน้อง” หรือ “เลือดกรุ๊ปบี” ได้รึเปล่า หรือเราจะยังหวนระลึกถึงซีรี่ส์ดังๆ ที่เราเคยดูในเน็ตฟลิกซ์ด้วยความคิดถึงหรือไม่

นี่ยังไม่นับเรื่อง Generative AI ที่จะทำให้เกิด content ใหม่ๆ มากขึ้นอีกไม่รู้กี่เท่า

อาจจะใกล้หมดยุคที่เราจะอยู่กับสิ่งหนึ่งสิ่งใดได้นานพอแล้วก็ได้

ขอให้เราโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่ยังมีคนคอยเตือน

ขอให้เราโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่ยังมีคนคอยเตือน

สังคมไทยตอนนี้มี “แรงขับเคลื่อน” สองอย่างที่เมื่อรวมกันแล้วน่าสนใจ

แรงขับเคลื่อนที่หนึ่ง ก็คือ social media โดยเฉพาะ Facebook ที่ขยายขอบเขตของ “เพื่อน” ไปครอบคลุมคนที่เรา “รู้จักกันเพียงผิวเผิน” เวลาบางคนมาคอมเมนท์โพสต์ของเรา เราจำไม่ได้ด้วยซ้ำว่าเขาเป็นใคร รู้จักกันที่ไหน

แรงขับเคลื่อนที่สอง คือคนไทยไม่ชอบการเผชิญหน้า ไม่ชอบทำให้ใครเสียหน้า ยิ่งถ้าเราเป็นผู้น้อย เรายิ่งไม่อยากมีปัญหากับผู้ที่อาวุโสกว่า ไม่ว่าจะทางวัยวุฒิหรือคุณวุฒิ

เมื่อแรงขับเคลื่อนสองอย่างนี้รวมกัน จะส่งผลต่อ “ผู้ใหญ่” เป็นพิเศษ

เมื่อเราอายุมากขึ้น เริ่มมีตำแหน่งหน้าที่ มีฐานะทางสังคมที่สูงขึ้น เราจะยิ่งมีความเชื่อมั่นว่าสิ่งที่เราทำมาตลอดนั้นถูกต้อง และเชื่อมั่นว่าสิ่งที่เรากำลังจะทำต่อไปนั้นเป็นเรื่องถูกต้องด้วยเช่นกัน

จะเป็นอย่างไร หากสิ่งที่เราคิดว่ามันถูก แท้จริงแล้วมีคนไม่เห็นด้วย หรือมองว่ามันหมิ่นเหม่

ด้วยแรงขับเคลื่อนแรกของโซเชียลมีเดีย ที่ทำให้คนที่รู้จักเราโดยผิวเผินเห็นภาพของเราดีเกินจริง แต่ยังเข้ามาเชียร์และส่งกำลังใจ ว่าสิ่งที่เราทำนั้นดี ถูกต้อง และเหมาะสมแล้ว

และด้วยแรงขับเคลื่อนที่สองของคนไทยที่ไม่ชอบหักหน้ากัน คนที่รู้จักเราจริงๆ ที่เห็นข้อบกพร่องหรือไม่เห็นด้วยกับการกระทำของเรา ก็มีแนวโน้มที่จะอยู่เฉยๆ ไม่แสดงความเห็นอะไร

เมื่อมีแต่คนเชียร์ และไม่มีคนปราม เราก็ยิ่งมั่นใจ และเดินหน้าต่อโดยไม่ได้คิดพิจารณาให้ดี

คนที่ตกอยู่ในสถานการณ์แบบนี้ย่อมลำบากเป็นอย่างยิ่ง เพราะกว่าจะรู้ตัวว่ามาผิดทาง ก็อาจจะเสียหายไปแล้วไม่น้อย

สังเกตว่าไม่มีใครประสงค์ร้าย คนกระทำก็แค่ทำในสิ่งที่คิดว่ามันดี คนไกลตัวเห็นดีเห็นงามก็เลยช่วยเชียร์ ส่วนคนใกล้ตัวก็ไม่เอ่ยปากเพราะอยากถนอมความสัมพันธ์มากกว่า

การเป็น “ผู้ใหญ่” ในสังคมไทยจึงไม่ใช่เรื่องง่าย ยิ่งถ้าเราเป็นคนชอบคิดโปรเจ็คใหม่ๆ โอกาสที่จะเดินเกมผิดย่อมเกิดขึ้นได้ตลอด

สิ่งที่อาจจะพอช่วยได้ คืออย่าไปฟังกองเชียร์ให้มากนัก เพราะเขาไม่ได้รู้จักเราดี และเขาไม่ได้มีส่วนได้ส่วนเสียกับเราเท่าไหร่ ยิ่งเชียร์เยอะยิ่งทำให้เราประมาท

อีกสิ่งหนึ่ง คือหมั่นถามความเห็นคนที่เราไว้ใจ ว่ามีอะไรที่เขามองว่าไม่เหมาะสมหรือควรระวังหรือไม่ เพราะถ้าเราไม่เอ่ยปากถาม เขาก็คงเลือกที่จะไม่พูด

และสุดท้าย เราต้องรักษาคนที่กล้าเตือนเรา เพราะกัลยาณมิตรที่กล้าพูดออกมาเวลาเรากำลังไปผิดทางนั้นหาได้ยากเป็นอย่างยิ่ง

ขอให้เราโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่ยังมีคนคอยเตือนครับ

มีลูกเล็กแล้วบ้านเลอะเทอะไม่ใช่ Bug แต่เป็น Feature

เมื่อสองคืนที่แล้ว “ปรายฝน” ลูกสาววัย 8 นึกครึ้มอกครึ้มใจ ย้ายโต๊ะทำการบ้านของตัวเองที่ปกติจะวางอยู่ในห้องทำงานของผมไปไว้ในห้องนอน แล้ว “สร้างบ้าน” ด้วยการคลุมผ้าห่มและวางหมอนรอบๆ

ของที่เคยวางอยู่บนโต๊ะปรายฝนก็เลยกระจัดกระจายอยู่เต็มห้องทำงานของผม จะเก็บกวาดก็ยังไม่มีจังหวะ เลยปล่อยให้ดูไม่เป็นที่เป็นทางอยู่อย่างนั้น

ช่วงแรกก็หงุดหงิดเล็กน้อยที่ห้องทำงานตัวเองไม่เรีบบร้อย

แต่แล้วก็คิดขึ้นได้ว่าการที่ลูกทำบ้านเลอะเทอะมันไม่ใช่ bug แต่เป็น feature!

เพราะการที่เขาเอาโต๊ะไปสร้างเป็นบ้าน แสดงว่าเขามีจินตนาการและกำลังสนุกสนานกับการลองนู่นลองนี่

ถ้าเขาไม่ลองอะไรเลย อยู่ในกรอบที่เราวางไว้ตลอด นั่นต่างหากที่น่าเป็นห่วง

แน่นอนว่าการเล่นของแล้วเก็บเข้าที่ก็เป็นเรื่องที่พ่อแม่ต้องช่วยปลูกฝังกันต่อไปไป แต่ขณะเดียวกันเราก็ต้องระวังที่จะไม่ไปเรียกร้องให้เขาเรียบร้อยจนเกินเด็ก หรือห้ามเขาไปเสียทุกอย่างเพียงเพราะกลัวว่าบ้านจะไม่เรียบร้อย

แล้วผมก็คิดได้อีกว่า ยังมีอีกหลายอย่างที่เรามักเผลอคิดว่าเป็น bug แต่จริงๆ แล้วเป็น feature

เช่นการทะเลาะกับแฟนไม่ใช่ bug แต่เป็น feature ในทุกความสัมพันธ์

การที่เรากับแฟนเห็นไม่ตรงกันแล้วเถียงหรือทะเลาะกัน แน่นอนว่าไม่มีใครชอบ แต่การทะเลาะกันเป็นครั้งคราวคือโอกาสในการเข้าใจความต้องการของอีกฝ่ายและเรียนรู้ที่จะปรับตัวเข้าหากัน

ความเสี่ยงและความผันผวนในการลงทุนก็ไม่ใช่ bug แต่เป็น feature เช่นกัน เหมือนที่ Morgan Housel เขียนไว้ใน The Psychology of Money ว่าความผันผวนในตลาดคือ fee (ค่าธรรมเนียม) ไม่ใช่ fine (ค่าปรับ)

ความผันผวนคือราคาที่เราต้องจ่ายเพื่อโอกาสในการได้ผลตอบแทนที่ดีกว่าการออมเงินเอาไว้เฉยๆ

เราไม่ชอบความเจ็บปวด เราไม่ชอบความทุกข์กายหรือทุกข์ใจ แต่ความเจ็บปวด ก็ไม่ใช่ bug แต่เป็น feature เช่นกัน เพราะกายและใจรู้จักเจ็บรู้จักปวด เราถึงรู้ตัวถึงอันตรายก่อนที่มันจะสร้างความเสียหายไปมากกว่านี้

ลองสังเกตสิ่งรอบตัวที่เราไม่ชอบใจ ที่เราคิดว่าไม่มีมันเสียได้ก็ดี แล้วเราอาจพบว่ามันไม่ใช่ bug แต่เป็น feature

แล้วเราอาจรับมือกับสิ่งต่างๆ ด้วยใจที่เป็นกลางกว่าเดิมครับ