ข้อเท็จจริงเปลี่ยนความเชื่อไม่ได้

20170531_changemind

วันก่อนผมได้อ่านบล็อกตอนหนึ่งของ Seth Godin (ซึ่งเป็นไอดอลของผมเรื่องการเขียนบล็อก) เห็นว่าดีและเหมาะกับสถานการณ์ในเมืองไทยมาก จึงอยากถอดความมาวางไว้ตรงนี้ครับ

Facts are not the antidote for doubt -ข้อเท็จจริงไม่ใช่ยาถอนพิษความสงสัย

ดื่มน้ำให้มากพอแล้วคุณก็จะหายหิวน้ำแน่นอน

แต่สำหรับคนที่ไม่เชื่อ ต่อให้ถูกรายล้อมด้วยข้อมูลและข้อเท็จจริงมากมายแค่ไหน ก็ยังไม่ยอมเปลี่ยนใจอยู่ดี

การให้ข้อมูลมากขึ้นจึงไม่สามารถหักล้างข้อสงสัยได้

สำหรับคนที่กำลังยืนกอดอก ส่ายหน้า หรี่ตา และปิดหูแล้ว การให้ข้อเท็จจริงกับเขาไม่อาจช่วยโน้มน้าวเขาได้เลย

แต่ความคลางแคลงใจนั้นพ่ายแพ้ต่อประสบการณ์ และประสบการณ์จะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อเขามีความสมัครใจ

ถ้าหากคนๆ หนึ่งพร้อมใจจะหาคำตอบที่ถูกต้อง พร้อมใจที่จะสำรวจดูว่าอะไรที่เวิร์ค อะไรที่สามารถพิสูจน์ได้ เขาก็จะยอมขบคิด เรียนรู้ และตั้งคำถามด้วยใจที่เปิดกว้าง

ความคลางแคลงมีมูลเหตุมาจากความกลัว และนั่นคือเหตุผลที่ทำไมการเปิดใจที่จะเรียนรู้จึงเป็นเรื่องยากนัก คนส่วนใหญ่ไม่อยากเปลี่ยนความเชื่อ เพราะการยึดมั่นในความเชื่อ (แม้ว่าความเชื่อนั้นจะผิด) นั้นทำให้เขารู้สึก “ปลอดภัย” มันคืออาการอัมพาตทางสมองเมื่อต้องประสบกับสิ่งที่เขาไม่รู้จัก

ดังนั้น ก่อนจะสาดข้อมูลและข้อเท็จจริงใส่กัน เราควรแสวงหาความสมัครใจและความเปิดใจที่จะเรียนรู้ร่วมกันก่อนเสมอ


ขอบคุณข้อมูลจาก Seth’s blog –  Facts are not the antidote for doubt

อ่านบทความใหม่ทุกวันที่เพจ Anontawong’s Musings: facebook.com/anontawongblog

อ่านบทความทั้งหมด anontawong.com/archives

ดาวน์โหลดหนังสือ “เกิดใหม่” anontawong.com/subscribe/

วันที่เราจะจดจำได้

20170531_remember

คือวันที่เราออกจาก Comfort Zone

เมื่อวานนี้ผมได้ฟังพอดคาสท์ Masters of Scale ที่สัมภาษณ์ Brian Chesky เจ้าของ Airbnb

Airbnb (อ่านว่าแอร์บีเอ็นบี) คือเว็บที่ช่วยเปลี่ยนห้องว่างในบ้านของเราให้กลายเป็นเหมือนห้องพักในโรงแรมที่ใครก็สามารถจองเพื่อมานอนพักได้ อารมณ์คล้ายๆ Uber ที่ทำให้รถของเรากลายเป็นรถแท๊กซี่ได้นั่นแหละครับ

ไบรอันบอกว่าตอนนี้ Airbnb พยายามจะไปไกลกว่าการเป็นแค่เว็บจองที่พักแล้ว แต่ต้องการเป็นผู้มอบ “การเดินทางอันตราตรึงใจ” ให้กับผู้มาใช้บริการ

เขาบอกว่าปัจจัยสำคัญที่จะทำให้คนๆ หนึ่งจดจำการเดินทางครั้งนั้นได้ คือมันต้องมอบประสบการณ์บางอย่างที่ทำให้เขาได้ออกจาก comfort zone (พื้นที่แห่งความสบายใจ)

เช่นการได้ลองทานอะไรใหม่ๆ ได้ลองทำอะไรที่มีความเสี่ยงนิดหน่อย หรือการได้คุยกับเพื่อนใหม่ๆ

—–

จำได้มั้ยครับว่าวันนี้เมื่อปีที่แล้วเรากำลังทำอะไรอยู่?

ผมเชื่อว่าคนส่วนใหญ่จะจำไม่ได้ และคำตอบส่วนใหญ่ก็คือถ้าไม่ใช่วันเสาร์อาทิตย์ก็คงกำลังทำงานอยู่มั้ง

เมื่อชีวิตเป็นแบบเดิมทุกวัน ความทรงจำ 5 วันจึงไม่ต่างอะไรกับความทรงจำ 1 วัน เราถึงรู้สึกว่าเวลาในวัยผู้ใหญ่นั้นผ่านไปรวดเร็วเหลือเกิน

ถ้าตั้งคำถามใหม่ว่า เมื่อนึกถึงปีที่แล้วมีเหตุการณ์อะไรที่คุณประทับใจบ้าง

คงมีน้อยคนที่จะนึกถึงวันที่เราไปทำงาน 9 โมงเช้า เลิกงาน 6 โมงเย็นแล้วกลับบ้าน

คำตอบน่าจะหนีไม่พ้นการได้ไปเที่ยวที่ไหนซักที่ หรือการได้ดูคอนเสิร์ตดีๆ  หรือแม้กระทั่งช่วงเวลาแห่งการอดหลับอดนอนเพื่อผลักดันงานสำคัญให้สำเร็จ

วันที่เราจะจดจำได้ จึงไม่ใช่วันที่เราเข้านอนแต่หัวค่ำ

วันที่เราจะจดจำได้ คือวันที่เราต้องเผชิญกับความยากลำบาก เผชิญกับความกลัว เผชิญกับความไม่แน่นอน และเผชิญกับความไม่แน่ใจในตัวเอง

การออกเดินทาง จึงเป็นเครื่องมือชั้นดีในการสร้างความทรงจำ เพราะมันนำพาเราออกจากความเคยชิน และสร้างสถานการณ์ให้เราต้องเหงื่อตกอยู่เสมอ ยิ่งสถานการณ์เข้มข้นเท่าไหร่ ความทรงจำก็จะยิ่งฝังรากลึกเท่านั้น

แต่สำหรับคนที่ไม่ค่อยได้เดินทางเพราะข้อจำกัดเช่นเรื่องครอบครัว ก็ยังสามารถ “สร้างวันที่น่าจดจำ” ด้วยการพาตัวเองออกจาก comfort zone แบบง่ายๆ เช่นลองทำงานที่ยากเกินความสามารถ กินอาหารสัญชาติที่ไม่เคยคิดจะกิน หรือหาอะไรใหม่ๆ ทำในวันเสาร์อาทิตย์แทนที่จะไปเดินห้างหรือนอนไถมือถืออยู่บนเตียง

อีกข้อคิดนึงที่ได้จากเรื่องนี้ก็คือ ถ้าเรากำลังประสบกับช่วงเวลาแห่งความยากลำบากก็อย่าเพิ่งหมดกำลังใจ

เพราะความยากลำบากในวันนี้จะกลายมาเป็นความทรงจำดีๆ ที่เราจะคิดถึงในวันข้างหน้าอย่างแน่นอน

—–

อ่านบทความใหม่ทุกวันที่เพจ Anontawong’s Musings: facebook.com/anontawongblog

อ่านบทความทั้งหมด anontawong.com/archives

ดาวน์โหลดหนังสือ “เกิดใหม่” anontawong.com/subscribe/

อย่ากลัวที่จะยอมรับผิด

20170529_admit

เพราะมันหมายความว่าเราฉลาดกว่าเมื่อวาน

“A man should never be ashamed to own that he has been in the wrong, which is but saying in other words that he is wiser today than he was yesterday.”
― Alexander Pope


เชื่อว่าเราทุกคนต่างก็เคยเป็น “โรคไม่ยอมรับผิด” มาแล้ว

แม้ลึกๆ จะรู้อยู่แก่ใจว่าเราพลาดไป หรือเข้าใจผิดไปเอง แต่ก็ยังไม่วายที่จะเถียงข้างๆ คูๆ หรือยกข้ออ้างต่างๆ นาๆ เพื่อจะพาตัวเองให้พ้นจากความผิดนั้น

ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้วการกระทำแบบนั้นรังแต่จะทำให้อีโก้เราใหญ่ขึ้น และทำให้คนที่เราคุยอยู่ด้วยเชื่อถือเราน้อยลง

บางทีเราจึงควร “บั่นทอนอีโก้” ด้วยการรับผิด ให้มันโดนเสียบ้าง จะได้ไม่พยศหรือทะนงตนเกินไปนัก

การยอมรับว่าเราผิด และตั้งใจจะไม่ทำซ้ำอีก นอกจากจะเป็นทางออกที่ตรงไปตรงมาที่สุดแล้ว ยังเสียพลัง เสียความรู้สึก และเสียเวลาน้อยที่สุดอีกด้วย

ผิด แต่เป็นคนดีขึ้น ดีกว่าถูก แต่เป็นคนใช้ไม่ได้เหมือนเดิมนะครับ


อ่านบทความใหม่ทุกวันที่เพจ Anontawong’s Musings: facebook.com/anontawongblog

อ่านบทความทั้งหมด anontawong.com/archives

ดาวน์โหลดหนังสือ “เกิดใหม่” anontawong.com/subscribe/