Outlive ตอนที่ 8 – กินน้อย / ทำ IF แล้วสุขภาพดีจริงหรือ

สำหรับหนังสือ Outlive ที่เขียนโดย Peter Attia ถ้าจะมีหัวข้อไหนที่น่าจะโดนวิจารณ์เยอะที่สุดก็น่าจะเป็นเรื่องอาหารการกิน เพราะ Dr.Attia มองว่ามันไม่ได้สำคัญมากเท่ากับการออกกำลังกาย

Dr.Attia มองว่า หลายคนยึดติดเรื่อง “วิธีกินที่ถูกต้อง” มากเกินไป จนกลายเป็นกลุ่มเป็นก๊ก หรือแม้กระทั่งจนแทบจะกลายเป็นลัทธิ เช่น vegan, keto, low-carb, Atkins, IF (Intermittent Fasting) ต่างฝ่ายต่างก็มองว่าวิธีของกลุ่มตัวเองนั้นดีที่สุด

ตัว Dr.Attia นั้นก็เคยลองกินอาหารมาหลายวิธีแล้ว ตอนที่เขาเคยอ้วนมากๆ ก็ใช้วิธี Keto diet แล้วได้ผล เวลาอดอาหารก็อดจริงจัง เช่นดื่มน้ำอย่างเดียวเป็นเวลา 10 วัน และเขาก็เคยเชื่อว่าอาหารการกินนั้นสำคัญที่สุดสำหรับการดูแลสุขภาพ แต่ตอนนี้เขาไม่ได้เชื่อแบบนั้นแล้ว

หลังจากที่ได้ทำงานกับคนไข้มานับร้อยนับพันคน เขาก็ได้ค้นพบว่า มันไม่มี one size fits all เพราะร่างกายของแต่ละคนนั้นตอบสนองอาหารแต่ละประเภทต่างกันไป คนบางคนสามารถกินไขมันอิ่มตัวได้มากมายโดยที่ค่า LDL แทบจะไม่กระดิก ขณะที่คนบางคนกินเบคอนไม่เท่าไหร่ LDL ก็พุ่งกระฉูด

สิ่งที่ Dr.Attia เน้นย้ำมากที่สุด คือเราต้องกินโปรตีนให้พอ โดยเฉพาะตอนที่เราอายุเยอะขึ้น เพราะโปรตีนคือสิ่งที่จำเป็นสำหรับร่างกายในการสร้างมวลกล้ามเนื้อ และอย่างที่เคยกล่าวไปในบทก่อนๆ ว่า เมื่อเราแก่ตัวลงไป มวลกล้ามเนื้อเราจะหดหายลงไปมาก เมื่อไม่มีกล้ามเนื้อ เราก็จะบาดเจ็บได้ง่าย ล้มได้ง่าย ซึ่งทำให้เราไม่สามารถกลับมาออกกำลังกายได้ และนั่นจะเป็นวงจรอุบาทว์ที่พาให้สุขภาพเราเสื่อมทรุดลงเรื่อยๆ

มีหลายประเด็นที่ Dr.Attia กล่าวถึงแล้วน่าสนใจ และอาจจะทำให้เราต้องกลับมา ทบทวนความคิดใหม่สำหรับเรื่องความเชื่อด้านอาหารการกิน ผมขอหยิบยกมาแค่เพียงบางประเด็นที่น่าจะสอดคล้องกับบริบทคนไทยเป็นพิเศษนะครับ

======

ต้นกำเนิด Fasting แบบ 16/8

การควบคุมอาหารนั้นทำได้สามแบบ:

CR – Calaric Restriction ลดปริมาณให้น้อยลง

DR – Dietary Restrictions กินประเภทให้น้อยลง (เช่นไม่กินเนื้อ ไม่กินนม ไม่กินแป้ง)

TR – Time Restrictions กินภายใต้เวลาที่น้อยลง เช่นตั้งเป้าว่าวันนี้กินได้ช่วงกี่โมงถึงกี่โมง

ช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เรื่อง Intermittent Fasting หรือ IF ไอเอฟ นั้นเป็นที่นิยมในหมู่คนไทยขึ้นอย่างมาก

และการทำ IF ที่เราได้ยินกันประจำคือ 16/8 หมายความว่า ไม่กิน 16 ชั่วโมง และกินเพียง 8 ชั่วโมง เช่นตอนเช้าไม่กินข้าว แล้วเริ่มกินมื้อแรกตอนเที่ยง กินอีกมื้อตอนหนึ่งทุ่ม ดังนั้นช่วงเวลาที่เรากินข้าวคือ 12:00-20:00 (8 ชั่วโมง) แล้วตั้งแต่ 20:00 ถึงเที่ยงวันถัดไป 16 ชั่วโมงเราไม่กินอะไรเลย

หรือบางคนอาจจะกินข้าวเช้าตอน 8 โมง กินมื้อที่สองตอนบ่าย 3 แล้วไม่กินข้าวเย็น ดังนั้นช่วง 4 โมงเย็นถึง 8 โมงเช้า ก็เป็นช่วงที่ไม่ได้กินอะไรเป็นเวลา 16 ชั่วโมงเช่นกัน

ว่าแต่ว่าตัวเลข 16/8 มาจากไหนกัน?

จุดตั้งต้นของความเชื่อเรื่อง 16/8 Fasting มากจากการทดลองที่ทำกับหนู ที่พบว่าหนูที่ได้กินแค่ 8 ชั่วโมงจะมีสุขภาพที่แข็งแรงกว่า และมีน้ำหนักน้อยกว่าหนูที่ได้กินตลอดทั้งวัน แม้ว่าสุดท้ายแล้วจะกินอาหารชนิดเดียวกันในปริมาณเท่ากันในแต่ละวันก็ตาม

Reference ใน Outlive ชี้ไปที่งานวิจัยสองชิ้นนี้

The time-restricted mice gained less weight: Hatori et al. (2012)

A sixteen-hour fast for a mouse: Jensen et al. (2013)

งานวิจัยนี้จึงทำให้เกิดความเชื่อเรื่องการกินเพียงวันละ 8 ชั่วโมง ซึ่ง Dr.Attia เรียกว่าเป็น “fad” หรือแฟชั่นสมัยนิยมที่ไม่ยั่งยืน

คำวิจารณ์หลักของ Dr.Attia ก็คือ หนูทดลองนั้นมีอายุแค่ 2-3 ปี และถ้ามันขาดอาหารเพียงแค่ 48 ชั่วโมงมันก็เสียชีวิตแล้ว ดังนั้น การอดอาหาร 16 ชั่วโมงของหนูจึงมีค่าเท่ากับการอดอาหารหลายวันของมนุษย์

การเห็นว่าหนูอดอาหาร 16 ชั่วโมงแล้วมีประโยชน์ แล้วหยิบ 16 ชั่วโมงมาใช้โต้งๆ กับมนุษย์ จึงเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสมเพราะมันเทียบกันตรงๆ แบบนั้นไม่ได้

ในการทดลองของ Ethan Weiss ในปี 2020 ก็พบว่า เมื่อนำอาสาสมัคร 116 คน มาทำ 16/8 IF ก็ไม่พบประโยชน์เรื่องการลดน้ำหนักหรือตัววัดผลด้านสุขภาพอื่นๆ แต่อย่างใด

=======

กินน้อยลงแล้วอายุยืนจริงหรือ

อีกความเชื่อหนึ่งที่ Dr.Attia วิจารณ์ ก็คือกินน้อยลงแล้วจะอายุยืน

มีการทดลองครั้งใหญ่สองครั้งที่ทั้งคอนเฟิร์มและสร้างความสับสนให้กับชุดความคิดนี้

การทดลองแรกถูกตีพิมพ์ในปี 2009 ในวารสาร Journal

นักวิจัยที่ University of Wisconsin-Madison ติดตาม “ลิงวอก” หรือ Rhesus monkey 76 ตัวเป็นเวลา 20 ปี และพบว่า ลิงที่ได้รับอนุญาตให้กินน้อยกว่านั้นมีอายุที่ยืนยาวกว่าลิงที่กินได้ไม่จำกัด

ผลงานวิจัยนี้โด่งดังมาก The New York Times ถึงกับเอาข่าวนี้ขึ้นหน้าหนึ่ง โดยโปรยหัวว่า “Dieting Monkeys Offer Hope for Living Monkeys” ภาพประกอบเป็นลิง 2 ตัวชื่อ Cando กับ Owen

Canto อายุ 27 ปีแต่ยังดูหนุ่มแน่นแข็งแรงดี ขณะที่ Owen ที่แก่กว่าเพียงสองปีนั้นหย่อนยานและแก่หง่อม

Owen นั้นอยู่ใน control group คืออยากกินอะไรก็กินไปเลย

ส่วน Canto นั้น อยู่ในกลุ่มที่ “ลดอาหาร” คือได้กินอาหารน้อยกว่ากลุ่มคอนโทรลประมาณ 25%

กลุ่มที่ลดอาหารนั้นสุขภาพแข็งแรงกว่าอย่างชัดเจน นักวิจัยได้ข้อสรุปว่า “ข้อมูลชี้ให้เห็นว่าการลดประมาณอาหาร (caloric restriction) นั้นช่วยชะลอวัยในสัตว์ตระกูลไพรเมต (primate species หรือสัตว์ตระกูลวานร) ได้

อีกเพียง 3 ปีถัดมา ในปี 2012 The New York Times ก็ตีพิมพ์งานวิจัยอีกชิ้นหนึ่ง

แต่พาดหัวคราวนี้ต่างออกไป – “Severe Diet Doesn’t Prolong Life, at Least in Monkeys”

งานวิจัยนี้จัดทำโดย National Institute on Aging ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ National Institute of Health (NIH)

โดยงานวิจัยเริ่มตั้งแต่ช่วงปี 1980s และกระบวนการวิจัยก็คล้ายคลึงกับงานวิจัยของ Wisonsin มาก คือให้ลิงวอกกลุ่มนึงกินอาหารน้อยกว่าอีกกลุ่มนึงประมาณ 25% แต่ผลปรากฎว่าสุขภาพของลิงที่กินจุกับลิงที่กินน้อยกลับไม่ต่างกันเลย

เมื่อนักข่าวลองนำงานวิจัยนสองชิ้นนี้มาเปรียบเทียบดูก็พบข้อแตกต่างที่สำคัญ นั่นคือ “อาหาร” ที่ลิงกิน

ที่ Wisconsin ลิงได้กินอาหารกล่องที่ผ่านกระบวนการมา (highly processed food) ขณะที่ลิงของ NIH นั้น อาหารจะมีคุณภาพกว่าและมีปริมาณน้ำตาลน้อยกว่า โดยมีน้ำตาลแค่ 4% ในขณะที่อาหารของลิง Wisconsin มีน้ำตาลถึง 28.5%

ถ้าจะเทียบเคียงให้เห็นภาพ ลิง Wisconsin เหมือนได้กินแต่อาหาร junk food ขณะที่ลิงของ NIH นั้นกินแต่สลัดบาร์

ดังนั้น ถ้าคุณกินแต่ junk food การกินให้น้อยลงย่อมส่งผลดีต่อสุขภาพมากกว่าอยู่แล้ว

แต่นักวิจัยของ Wisconsin ก็ออกมาแก้ต่างว่า อาหารที่พวกเขาให้ลิงกินนั้น มีความคล้ายคลึงกับอาหารที่ชาวอเมริกันกินเป็นประจำหรือที่เรียกว่า SAD – Standard American Diet นั่นคืออาหารที่เป็น processed food

แต่ถ้าคุณกินอาหารที่ดีอยู่แล้ว การอดอาหารกลับไม่ได้มีผลเท่าต่ออายุที่ยืนยาวเท่าไหร่ ยกเว้นเพียงเรื่องเดียวคือการลดปริมาณอาหารลงนิดหน่อยอาจมีส่วนช่วยลดอัตราการเกิดมะเร็งได้ ในกลุ่มลิงที่กินน้อย ไม่ว่าจะที่ Wisconsin หรือของ NIH ต่างก็พบว่ามีโอกาสเป็นมะเร็งน้อยลง

Dr.Attia จึงสรุปว่า หากกินอาหารที่คุณภาพดีอยู่แล้ว การอดอาหารหรือหรือลดปริมาณอาหารอาจไม่ใช่สิ่งจำเป็น

และ Dr.Attia ก็มองด้วยว่าประโยชน์ที่ได้จากการลดสารอาหาร อาจจะไม่คุ้มกับสิ่งที่ต้องเสียไป นั่นคือมวลกล้ามเนื้อที่น้อยลง และระบบภูมิคุ้มกันที่อ่อนแอลง

ลิงในการทดลองถูกเลี้ยงอยู่ในพื้นที่ที่สะอาดและได้รับการฆ่าเชื้ออย่างสม่ำเสมอ แต่มนุษย์อย่างเราไม่ได้อยู่ในห้องปลอดเชื้อ เราต้องเจอเชื้อโรคและสิ่งสกปรกมากมาย ดังนั้นการรับประทานสารอาหารให้พอเพียงจึงจำเป็นอย่างยิ่งต่อการมีภูมิคุ้มกันที่แข็งแรงเพื่อต่อกรกับเชื้อโรคต่างๆ

=====

อาหารที่กินแล้วอายุยืน อาหารที่กินแล้วอายุสั้น

Dr.Attia บอกว่า ถ้าเห็นข่าวหรืองานวิจัยชิ้นไหนเคลมว่า อาหารชนิดนี้กินแล้วอายุยืน หรืออาหารชนิดไหนก่อโรค ให้ตั้งแง่ไว้ก่อน

เพราะอย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่า ร่างกายของแต่ละคนตอบสนองอาหารแต่ละชนิดไม่เหมือนกัน ดังนั้นเราไม่สามารถบอกได้โดยแน่ว่าอะไรจะดีหรือแย่กับเราบ้าง

งานวิจัยหลายชิ้น มักจะให้อาสาสมัครทำ food frequency questionnaire ที่ให้ระบุว่า กินอาหารแต่ละชนิดบ่อยแค่ไหนในเดือนที่ผ่านมา (ลองกูเกิ้ลตัว questionnaire ดูแล้วจะเห็นภาพ)

ซึ่งวิธีวิจัยแบบนี้มีจุดอ่อนมากมาย เพราะคนส่วนใหญ่จำไม่ได้หรอกว่าตัวเองกินอะไรไปบ้าง เอาแค่สามวันที่แล้วกินอะไรยังลำบาก แต่นี่กลับจะให้กรอกข้อมูลของพฤติกรรมการกินทั้งเดือน

ต่อมาก็คืองานวิจัยหลายชิ้นไม่ได้มีการคัดกรองกลุ่มตัวอย่าง

เราอาจเคยเห็นข่าวว่า การดื่มน้ำอัดลมแบบไดเอ็ท (ไร้น้ำตาล) นั้นมีความเชื่อมโยงกับไขมันในช่องท้อง ภาวะดื้ออินซูลิน และการเป็นโรคหัวใจ ข้อสรุปของงานวิจัยกลุ่มนี้คือบอกให้เลิกกินน้ำอัดลมไร้น้ำตาล

แต่สิ่งที่งานวิจัยลืมถามก็คือ คนกลุ่มไหนที่มีแนวโน้มจะดื่มน้ำอัดลมไร้น้ำตาล? คำตอบก็คือคนที่อ้วนอยู่แล้วหรือน้ำตาลในเลือดสูงอยู่แล้วนั่นเอง เพราะพวกเขากังวลเรื่องเหล่านี้ เขาจึงหันมาดื่มน้ำอัดลมไร้น้ำตาล

ดังนั้นน้ำอัดลมไร้น้ำตาล จึงไม่ใช่ต้นเหตุที่ก่อให้เกิดไขมันในช่องท้อง เพียงแต่คนที่มีไขมันในช่องท้องนั้นมีโอกาสมากกว่าคนปกติที่จะเลือกดื่มน้ำอัดลมไร้น้ำตาลต่างหาก

หรือเราคงเคยได้ยินว่า การดื่มแอลกอฮอลหรือดื่มไวน์ในปริมาณที่เหมาะสม จะช่วยให้อายุยืน

งานวิจัยแบบนี้ก็ตกเป็นเหยื่อของ healthy user bias คือคนที่อายุเยอะแล้ว แต่ยังดื่มเหล้าดื่มไวน์ไหวนั้นดื่มได้เพราะพวกเขายังแข็งแรงอยู่

เขาดื่มเพราะว่าเขาแข็งแรง ไม่ใช่แข็งแรงเพราะดื่ม ในขณะที่คนที่อายุเยอะแล้วและไม่ได้ดื่มแอลกฮอลก็อาจเป็นเพราะว่ามีปัญหาสุขภาพอื่นๆ ที่ทำให้ต้องเลี่ยงเครื่องดื่มเหล่านี้ หรือบางคนที่ไม่แข็งแรงบางคนก็เสียชีวิตไปนานแล้วเลยไม่ได้อยู่ในกลุ่มตัวอย่าง

หากเรานำงานวิจัยเหล่านี้มากางใหม่ แล้วตัดปัจจัยที่เกี่ยวข้องออก เช่นค่า BMI ฐานะทางการเงิน และการไม่สูบบุหรี่ เราก็จะพบว่าประโยชน์ที่ได้จากการดื่มแอลกอฮอลนั้นอันตรธานหายไปหมดเช่นกัน

ดังนั้น การบริโภคแอลกอฮอล ไม่ว่าจะในปริมาณแค่ไหน ก็ไม่สามารถเรียกได้ว่าดีต่อสุขภาพ

ในบทนี้เหมือนจะมีแค่อาหารชนิดเดียวที่ Dr.Attia ยอมรับว่าช่วยสร้างความแตกต่างได้จริงๆ โดยเฉพาะในกลุ่มคนที่เป็นโรคเบาหวานและโรคหัวใจ นั่นก็คือ Mediteranean diet โดยคนที่บริโภคน้ำมันมะกอกและถั่วนั้นจะมีโอกาสเป็นโรคหัวใจวายน้อยลง 28%-31%

=====

บทสรุปเรื่องการกินอาหาร

หนังสือ Outlive ไม่ค่อยเน้นมากนักว่าเราควรกินอะไร หรือไม่ควรกินอะไร หรือการ fasting ดีหรือไม่ดี คำตอบขึ้นอยู่กับว่าเราประสบสภาวะแบบไหนอยู่ และร่างกายของเราตอบสนองต่ออาหารต่างๆ แบบไหน

ถ้าเราเป็นคนที่มีน้ำตาลในเลือดสูง Dr.Attia แนะนำให้ทดลองใช้ Continuou Glucose Monitor (CGM) ซึ่งจะสามารถรายงานผลเป็นรายชั่วโมงได้เลยว่า อาการที่เรากินเข้าไปมีผลต่อค่าน้ำตาลในเลือดอย่างไรบ้าง เราจะได้เลือกอาหารที่เหมาะกับเรา

แต่สำหรับคนส่วนใหญ่ที่ไม่ได้มีปัญหาด้านสุขภาพ การกินอาหารที่คุณภาพดีในปริมาณที่เหมาะสมนั้นก็เพียงพอแล้ว แค่ต้องเมคชัวร์ว่าเราได้โปรตีนมากเพียงพอ โดย Dr.Attia แนะนำว่าแต่ละวันควรบริโภคโปรตีน 1.6 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ยกตัวอย่างเช่นถ้าคุณหนัก 60 กิโล ก็ควรบริโภคโปรตีนให้ 96 กรัมเป็นต้น

ส่วนอะไรที่เป็นแฟชั่น เช่นการ fasting / keto diet ก็ทดลองทำได้ แต่อย่าไปยึดมั่นถือมั่นกับมันมากนัก มันอาจจะช่วยให้เราแก้ปัญหาสุขภาพบางอย่างได้ แต่หากสุขภาพเรากลับมาแข็งแรงเป็นปกติ ก็ไม่จำเป็นต้องทำอะไรที่มันทรมานสังขารเกินความจำเป็นครับ


Outlive ตอนที่ 1: โรคเบาหวานและเหตุผลที่ Outlive เป็นหนังสือเปลี่ยนชีวิตประจำปี 2024

Outlive ตอนที่ 2: โรคหัวใจและความเข้าใจผิดเกี่ยวกับคอเลสเตอรอล

Outlive ตอนที่ 3: ความหวังของการรักษามะเร็งให้หายขาด

Outlive ตอนที่ 4: โรคอัลไซเมอร์

Outlive ตอนที่ 5: KPI ที่สำคัญที่สุดสำหรับอายุที่ยืนยาว

Outlive ตอนที่ 6: VO2 Max และความสับสนเกี่ยวกับ Zone 2 Training

Outlive ตอนที่ 7: Strength และ Stability มิติที่คนออกกำลังกายมองข้าม

Outlive ตอนที่ 8: กินน้อย / ทำ IF แล้วสุขภาพดีจริงหรือ

Outlive ตอนที่ 9: การนอนหลับและสุขภาพทางอารมณ์

ทำไมการออกกำลังกายมักไม่ช่วยลดน้ำหนัก

ทำไมการออกกำลังกายมักไม่ช่วยลดน้ำหนัก

เชื่อว่าหลายคนน่าจะเคยได้ยินมาว่า การออกกำลังกายไม่ได้ช่วยให้น้ำหนักลดเท่าไหร่ สิ่งที่ช่วยได้มากกว่าคือการลดอาหาร

ผมเองก็เชื่อเช่นนี้มาโดยตลอด แต่ก็ไม่เคยหาข้อมูลเพิ่มเติมว่าเพราะเหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น

จนได้มาเจอคำตอบหนึ่งใน Quora ที่รู้สึกว่าเมคเซนส์และน่าจะเป็นประโยชน์ เลยขอนำมาถอดความให้อ่านกันนะครับ

“ร่างกายเรานั้นถูกวิวัฒนาการให้ออกกำลังกายได้อย่างต่อเนื่องยาวนาน เพราะในสมัยดึกดำบรรพ์ บรรพบุรุษของเราล่าสัตว์ด้วยการวิ่งไล่มันไปเรื่อยๆ [ซึ่งบางทีก็กินเวลาหลายชั่วโมง] จนสัตว์ตัวนั้นหมดแรงและวิ่งหนีต่อไปไม่ไหว

เนื่องจากร่างกายมนุษย์คุ้นชินกับการออกกำลังอยู่แล้ว ร่างกายของเราจึงเป็น “รุ่นประหยัดพลังงาน” แคลอรีที่เราเบิร์นจากการวิ่ง 30 นาทีนั้นสามารถถูกทดแทนได้ด้วยโดนัทเพียงชิ้นเดียว

แน่นอนว่าทุกอย่างมีข้อยกเว้น มีคนบางกลุ่มที่ออกกำลังเยอะเสียจนน้ำหนักลด คนกลุ่มนี้มีชื่อว่านักกีฬาและทหาร

พวกเราส่วนใหญ่ไม่ได้ซ้อมหนักเท่านักกีฬา และถึงอย่างแม้แต่นักกีฬาก็ยังต้องระวังอาหารที่ตัวเองกิน

อีกสิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ เวลาออกกำลัง ร่างกายจะส่งสัญญาณไปเตือนสมองว่า

“โปรดระวัง! เราสังเกตเห็นการใช้พลังงานที่สูงขึ้นผิดปกติ จงบริโภคอาหารให้มากขึ้น!”

คนออกกำลังกายบางคนเลยกินเข้าไปมากกว่าที่เอาออกเสียอีก

วิธีลดน้ำหนักที่ดีที่สุดคือการกินให้น้อยลง ส่วนถ้าน้ำหนักจะลดจากการออกกำลังกายด้วยก็ให้ถือว่าเป็นโบนัส”


ขอบคุณเนื้อหาจาก Quora: Ke’Aun’s Answer to Why is diet more important than exercise for weight loss? Is it really?