นิทานหญ้าสีน้ำเงิน

วันนี้วันศุกร์ มาฟังนิทานกันนะครับ

ลากับเสือนั่งคุยกัน

“หญ้านั้นสีน้ำเงิน” ลาพูด

“จะบ้ารึเปล่า สีเขียวต่างหาก” เสือตอบ

“สีน้ำเงิน!”

“สีเขียว!”

ต่างฝ่ายต่างมั่นใจในความรู้ของตัวเอง เมื่อเถียงกันไม่จบ จึงตัดสินใจนำเรื่องนี้ไปปรึกษาสิงโตเจ้าป่า

เมื่อไปถึงบัลลังก์ที่สิงโตพำนักอยู่ ลาก็หมอบกับพื้น

“ท่านสิงโต จริงหรือไม่ที่หญ้านั้นสีน้ำเงิน”

“ถูกต้อง หญ้านั้นเป็นสีน้ำเงิน” สิงโตตอบ

ลาจึงลุกขึ้นเงยหน้าและพูดด้วยน้ำเสียงกระตือรือร้น

“เจ้าเสือบ้าตัวนั้นมันไม่เห็นด้วยกับข้าและทำให้ข้าหงุดหงิดเหลือเกิน โปรดทำโทษมันด้วยเถิด”

“เจ้าเสือจะต้องโดนลงโทษด้วยการปิดวาจาไป 5 ปี” สิงโตประกาศก้อง

ลากระโดดโลดเต้นและพูดซ้ำๆ ไปตลอดทาง “ข้าบอกแล้วว่าหญ้าเป็นสีน้ำเงินๆๆ”

ฝ่ายเสือนั้นยอมรับการลงโทษ แต่ก็ยังคาใจ

“ท่านสิงโต เหตุใดท่านจึงลงโทษข้า จริงๆ แล้วหญ้ามันสีเขียวไม่ใช่เหรอ”

“ใช่ แท้ที่จริงแล้วหญ้านั้นสีเขียว”

“แล้วท่านลงโทษข้าทำไม?”

“การลงโทษนี้ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับคำถามที่ว่าหญ้าสีน้ำเงินหรือหญ้าสีเขียว ข้าลงโทษเจ้าเพราะเจ้าเป็นสัตว์ที่ฉลาดและภาคภูมิ แต่ดันไปถกเถียงกับลา แล้วเอาคำถามบ้าๆ นี้มาทำให้ข้าเสียเวลาต่างหาก”


ขอบคุณนิทานจาก Quora: Stephen Sibbald’s answer to How do I win an argument with someone who will never admit that he’s wrong?

ไม่มีอะไรดีขึ้นหรือแย่ลงตามคำชมหรือคำด่า

“ทุกสิ่งที่งามนั้นงามโดยตัวมันเอง

คำชื่นชมหาได้เป็นส่วนหนึ่งของมัน

ดังนี้ จึงไม่มีอะไรดีขึ้นหรือแย่ลงตามคำชม

ข้าว่านี่ยังจริงแท้ต่อสิ่งที่เรานิยามว่างาม อาทิ วัตถุหรือชิ้นงานศิลปะ สิ่งเหล่านี้ยังต้องการอะไรอีกเล่า

ครรลอง สัจธรรม ความอาทร ความอ่อนน้อม แล้วสิ่งเหล่านี้ดีขึ้นเพราะคำชมหรือไม่ หรือเสื่อมลงเพราะคำติหรือไม่

ดูเอาเถิด มรกตด้อยค่าหากไร้คำชมด้วยหรือ แล้วทอง งาช้าง แพรพรรณ ดาบงาม ดอกไม้บาน และบรรดาพืชพันธุ์อีกเล่า”

-Marcus Aurelius
หนังสือ Meditations เมื่อจักรพรรดิพินิจชีวิต*

เพราะมนุษย์เป็นสัตว์สังคม เราจึงอดหวั่นไหวไม่ได้ไปกับคำพูดของคนอื่น

อะไรที่เราเฉยๆ แต่คนบอกว่าดี เราก็มักจะเออออไปด้วย

อะไรที่เราเฉยๆ แต่กำลังโดนคนอื่นถล่ม บางทีเราก็ผสมโรง

แม้กระทั่งเรื่องตัวเอง เรายังเผลอให้น้ำหนักกับคำพูดของคนแปลกหน้า

ถ้าเราโดนใครตำหนิ เราก็มักจะโกรธเป็นฟืนเป็นไฟ หรือไม่ก็เสียเซลฟ์และและหมดไฟไปเลยก็มี

แต่โตมาขนาดนี้แล้ว เราควรจะมีวุฒิภาวะมากพอที่จะแยกแยะได้หรือเปล่าว่าคำไหนควรฟัง และคำไหนควรวางไว้ตรงนั้น

สิ่งที่เราทำและสิ่งที่เราเป็นมันไม่ได้ด้อยลงหรือดีงามขึ้นเพราะคำคน

โอเคแหละ มันอาจจะเป็น indicator บางอย่างเพื่อเสริมสร้างความเชื่อมั่นว่าเรามาถูกทางได้

แต่อย่าให้คำพูดเหล่านั้นมาเป็นสรณะหรือสิ่งยึดเหนี่ยว

เพราะเมื่อเอาแต่เงี่ยหูฟังเสียงของคนอื่น เสียงเล็กๆ ในใจเราก็จะถูกกลบไปจนสิ้น

ถ้าเราทำสิ่งที่แย่ ต่อให้มีคนชื่นชม เราก็รู้อยู่แก่ใจ

ถ้าเราทำสิ่งที่ดี ต่อให้มีใครไม่เห็นด้วย เราก็รู้อยู่แก่ใจเช่นกัน

ไม่มีอะไรดีขึ้นหรือแย่ลงตามคำชมหรือคำด่าครับ


* สำนักพิมพ์ OMG Books สำนวนแปลไทยโดย ปกรณ์ เลิศเสถียรชัย ผมมีปรับเล็กน้อยหลังจากได้เทียบกับเวอร์ชั่นภาษาอังกฤษ (ซึ่งอาจมีหลายเวอร์ชั่น)

คำถามที่สำคัญที่สุดของคนหนุ่มสาว

เคยมีคนถาม Naval Ravikant เจ้าของ AngelList ที่ลงทุนในสตาร์ตอัพอย่าง Twitter และ Uber ว่า อะไรคือสิ่งสำคัญที่สุดสำหรับคนหนุ่มสาว

นี่คือคำตอบของ Naval ครับ

“จงใช้เวลาให้มากขึ้นในการตัดสินใจเรื่องใหญ่ๆ ในช่วงเริ่มต้นชีวิตการทำงาน มีเรื่องใหญ่สามเรื่องที่คุณต้องตัดสินใจ นั่นก็คือ จะอยู่ที่ไหน จะคบกับใคร และจะทำงานอะไร

เราใช้เวลาน้อยมากในการตัดสินใจว่าจะคบกับใคร เราใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่กับการทำงาน แต่เราก็ใช้เวลาน้อยเหลือเกินที่จะไตร่ตรองว่าจะทำงานแบบไหน การเลือกว่าจะอยู่เมืองไหนนั้นสำคัญมากพอที่จะเปลี่ยนแปลงชะตาชีวิตได้เลย แต่เราก็ไม่ได้ให้เวลากับการเลือกถิ่นฐานมากนัก

ถ้าเราจะอยู่เมืองใดเมืองหนึ่งสักสิบปี ถ้าเราจะทำงานที่ใดสักห้าปี และถ้าเราจะคบกับใครเป็นสิบปี เราควรจะใช้เวลา 1-2 ปีเพื่อตัดสินใจเรื่องเหล่านี้ เพราะมันจะส่งผลกระทบกับชีวิตเราอย่างมหาศาล”


มันทำให้ผมนึกถึงอีกบทสัมภาษณ์หนึ่งที่คุณจิรเดช โอภาสพันธ์วงศ์ สัมภาษณ์พี่ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา ลงใน The Cloud:

Q: ถ้าความกล้าหาญไม่ใช่การขี่มอเตอร์ไซค์รอบโลก ความกล้าหาญแสดงออกผ่านอะไรได้บ้าง?

A:ความกล้าหาญสูงสุดของมนุษยชาติคือคุณต้องกล้าตั้งคำถามที่ยากที่สุดกับตัวเอง แล้วก็ต้องกล้าตั้งคำถามที่ยากที่สุดกับสังคม

เพราะว่าถ้าคุณไม่ตั้งคำถามที่ยากที่สุดกับตัวเอง คุณจะไปไม่ถึงแก่นของตัวเองว่าความกลัวของคุณคืออะไร ความต้องการสูงสุดของคุณคืออะไร ความมุ่งมาดปรารถนาสูงสุดของคุณคืออะไร

ถ้าคุณไม่กล้าตั้งคำถามที่ลึกที่สุดไปที่ตัวเอง คุณจะไปต่อไม่ได้ เพราะคุณยังไม่รู้จักตัวเอง คุณไม่กล้าเผชิญหน้ากับตัวเอง แล้วคุณก็จะอยู่ในคำถามกลางๆ เช่น กูจะย้ายงานดีมั้ย กูจะอยู่บริษัทนี้หรือบริษัทนั้น

คำถามมันกลางมาก มันไม่ได้ไปถึงแก่นที่ลึกที่สุดว่าตกลงกูเกิดมาเพื่ออะไร อะไรคือสิ่งสำคัญสูงสุดของชีวิตกู กูทำอะไรได้ดีที่สุดในชีวิต ถ้ากูจะตายในวันรุ่งขึ้นกูจะทำอะไรฝากไว้ในโลกนี้ ซึ่งคุณภาพของคำถามต่างกันคุณภาพของคำตอบก็ต่างกัน


เราอยู่ในยุคที่สิ่งล่อตาล่อใจหรือ distractions นั้นมากมายจนเราไม่มีเวลาหรือสติที่จะหยุดถามคำถามเหล่านี้

วันนี้วันหยุด ลองใช้มันกับคำถามสำคัญดูก็ดีนะครับ

หัวหน้าปวดหัวเพราะลูกน้อง มากกว่าลูกน้องปวดหัวเพราะหัวหน้า

“การจับกลุ่มนินทาหัวหน้า” มักจะเป็นภาพที่เราคุ้นชินในชีวิตการทำงาน

ลำเอียง เอาแต่ใจ กลับไปกลับมา นี่คือคำกล่าวหาที่หัวหน้ามักโดนจากลูกน้อง

แต่สำหรับคนที่ขึ้นมาเป็นหัวหน้า จะเข้าใจว่าความปวดหัวที่หัวหน้ามอบให้ลูกน้องนั้น เทียบไม่ได้เลยกับความปวดหัวที่ลูกน้องมอบให้หัวหน้า

เพราะลูกน้องมีหัวหน้าแค่คนเดียว แต่หัวหน้ามีลูกน้องได้หลายคน หัวหน้าจึงเป็น common enemy สำหรับลูกน้อง ส่วนหัวหน้านั้นออกจะหัวเดียวกระเทียมลีบอยู่เหมือนกัน

ดังนั้น ก่อนจะกล่าวร้ายอะไร ให้ยั้งใจไว้บ้าง บ่นได้แต่อย่าทำอะไรที่มันเกินเลย

อนาคตที่เราได้เป็นหัวหน้ากับเขาบ้างจะได้ไม่กังวลว่าจะโดนสิ่งที่เราเคยทำไว้กับหัวหน้ารึเปล่าครับ

ความทะเยอทะยานสองแบบ

แบบแรก คือทะเยอทะยานเพราะอยากอยู่เหนือคนอื่น อยากมีเงิน มีอำนาจ จะได้ทำอะไรได้ตามใจชอบ นี่คือความทะเยอทะยานอย่างทรราช ซึ่งต้องระวัง เพราะเขาจะยึดผลประโยชน์ตัวเองและพวกพ้องเป็นหลัก

แบบที่สอง คือทะเยอทะยานเพราะอยากแก้ปัญหาที่สำคัญ เช่นอยากทำให้คนบินได้เหมือนนก หรืออยากส่งมนุษย์ไปดาวอังคาร นี่คือความทะเยอทะยานที่ยึดผลประโยชนส่วนรวมเป็นหลัก

สำหรับคนไทย คำว่าทะเยอะทะยานอาจจะมีความหมายแง่ลบ เพราะเรามักเห็นคนทะเยอะทะยานแบบแรกมากกว่า จนบางทีเราก็เหมารวมคนแบบที่สองไปด้วยว่ามักใหญ่ใฝ่สูง

แต่ที่จริงแล้วเราควรสนับสนุนคนที่ทะเยอทะยานเพราะอยากแก้ปัญหา อยากสร้างสิ่งที่ดีให้กับสังคม

ไม่อย่างนั้นประเทศเราก็จะเป็นได้แค่เพียงผู้ตามและผู้นำเข้านวัตกรรมอยู่ร่ำไปครับ