Fluke หนังสือเปลี่ยนชีวิตแห่งปี 2024

เมื่อตอนต้นเดือนกุมภาพันธ์ ผมไปเที่ยวไต้หวันกับภรรยาเป็นเวลา 1 สัปดาห์ ใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่ในไทเป

เวลาไปต่างประเทศ สิ่งที่ขาดไม่ได้คือการแวะเวียนเข้าร้านหนังสือ เราเลยเลือกไปเดินร้าน Eslite Spectrum Nanxi 

หลังจากขลุกอยู่ในร้านร่วมสองชั่วโมง ก็ได้หนังสือมา 4-5 เล่ม และหนึ่งในนั้นก็คือ “Fluke – Chance, Chaos, and Why Everything We Do Matters” เขียนโดย Brian Klaas

จะว่าไปก็เป็นเรื่องฟลุก ที่ผมบังเอิญเจอหนังสือเล่มนี้บนชั้นที่หันแต่สันปกออกมา แถมผมยังไม่เคยได้ยินชื่อผู้เขียนมาก่อน แม้ว่าเขาจะเขียนหนังสือมาแล้วถึง 5 เล่ม อาจเพราะว่าส่วนใหญ่เป็นหนังสือเกี่ยวกับการเมืองและนักการเมือง

Fluke ที่เป็นหนังสือเล่มล่าสุดของเขา ไม่ได้เกี่ยวกับการเมือง แต่เกี่ยวกับหลายอย่างจนอธิบายไม่ถูก ถ้าจะให้เลือกธีมหลักของ Fluke สักหนึ่งเรื่อง ก็คงเป็น Chaos Theory หรือทฤษฎีไร้ระเบียบ ที่เราอาจคุ้นเคยกับเรื่องราวของผีเสื้อกระพือปีกในเมืองจีนแล้วทำให้เกิดพายุเฮอริเคนในอเมริกา อะไรทำนองนั้น

เป็นหนังสือที่อ่านแล้ว “มึน” มาก โดยเฉพาะช่วง 100 หน้าแรก เพราะมันทำให้ผมต้องย้อนกลับไปตั้งคำถามกับหลายเรื่องราวที่ผ่านมาในชีวิต

ผมอ่านหนังสือเล่มนี้จบช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ แต่ยังไม่ได้เขียนถึง เพราะผมอยากทอดเวลาให้พอรู้ว่า หนังสือเล่มนี้มันจะ “ทำงานกับผม” อย่างไรบ้าง

แล้วก็ได้พบว่า ตลอดสองเดือนที่ผ่านมา ผมยัง “มูฟออน” จากหนังสือเล่มนี้ไม่ได้ เลยคิดว่าถึงเวลาต้องเขียนถึงหนังสือเล่มนี้เสียที เพราะมันดีมากๆ และอยากให้คนไทยได้อ่านกัน

บทความนี้จะไม่ใช่การสรุป แต่เป็นการ “พลิกดูหน้าแรกๆ” ว่าหนังสือเล่มนี้จะพาเราไปไหนบ้าง

จากนั้นผมจะทอดเวลาสัก 2 เดือนเพื่อให้ผู้ที่สนใจไปหาหนังสือมาอ่านกัน แล้วผมจะนัดพูดคุยออนไลน์เพื่อให้เราได้แลกเปลี่ยนกันในปลายเดือนมิถุนายน ใครสนใจสามารถลงชื่อเป็น waiting list ได้ในช่วงท้ายบทความครับ


คนไทยส่วนใหญ่คงรู้ดีว่า หนึ่งในฉากจบที่สำคัญที่สุดของสงครามโลกครั้งที่สอง คือการทิ้งระเบิดนิวเคลียร์ที่เมืองฮิโรชิม่าและเมืองนางาซากิ

6 สิงหาคม 1945: Little Boy ถูกทิ้งลงฮิโรชิมา มีผู้เสียชีวิต 140,000 ราย

9 สิงหาคม 1945: Fat Man ถูกทิ้งลงนางาซากิ มีผู้เสียชีวิต 80,000 ราย

แต่ทราบหรือไม่ครับว่า เป้าหมายแรกของการทิ้งระเบิดนิวเคลียร์ไม่ใช่ฮิโรชิม่า แต่เป็นเกียวโต แถมตอนแรกเมืองนางาซากิก็ไม่ได้อยู่ในรายชื่อของเมืองที่จะถูกทิ้งระเบิดด้วยซ้ำ

ทำไมชาวเมืองเกียวโตถึงรอดชีวิต? ทำไมชาวเมืองฮิโรชิม่ากับนางาซากิสองแสนคนถึงมอดมลาย?

คุณจะเชื่อหรือไม่ ถ้าผมจะบอกว่าต้นเหตุมาจากทริปของคู่รักและก้อนเมฆ

—–

ในวันที่ 30 ตุลาคมปี 1926 นายเฮนรี สติมสัน (Henry L. Stimson) และภรรยาเดินลงจากรถไฟไอน้ำที่เมืองเกียวโต และเข้าเช็คอินที่ห้องหมายเลข 56 ของโรงแรมมิยาโกะ (Miyako Hotel – ซึ่งตอนนี้ก็ยังเปิดทำการอยู่)

เมื่อเก็บของเรียบร้อยแล้ว พวกเขาออกไปเดินเล่นไปทั่วอดีตเมืองหลวง ดื่มด่ำกับสีสันอันสดใสของฤดูใบไม้ร่วง ต้นเมเปิลญี่ปุ่นกำลังเปลี่ยนเป็นสีแดงเข้ม และต้นแปะก๊วยเบ่งบานเป็นสีเหลืองทอง ทั้งสองเยี่ยมชมสวนสวยบริสุทธิ์ของเกียวโตที่ซ่อนตัวอยู่บนเนินเขาหินตะกอนที่โอบล้อมเมือง และชื่นชมวัดวาอารามอันเก่าแก่และมรดกทางวัฒนธรรมที่งดงามแห่งนี้

ในสัปดาห์ถัดมาทั้งสองก็เก็บกระเป๋าและเช็คเอาท์จากโรงแรมมิยาโกะ

ไม่มีใครคาคคิดว่า การมาเที่ยวเกียวโตของสามีภรรยาคู่นี้จะเปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์ของญี่ปุ่นไปตลอดกาล


19 ปีผ่านไป ในเดือนพฤษภาคมปี 1945 หลังจากนาซีประกาศยอมแพ้สงครามได้ไม่นาน และระเบิดนิวเคลียร์ใกล้จะสำเร็จ สหรัฐได้ตั้งคณะกรรมการ 13 คนขึ้นเป็น Target Committee เพื่อกำหนดเป้าหมายว่าจะทิ้งระเบิดนิวเคลียร์ในเมืองใดของญี่ปุ่น

โตเกียวนั้นเสียหายจากศึกสงครามจนแทบไม่เหลืออะไรแล้ว คณะกรรมการจึงเห็นตรงกันว่าเกียวโตคือเมืองที่เหมาะสมที่สุด เพราะเป็นเมืองหลวงเก่า มีโรงงานผลิตอาวุธสงคราม มีมหาวิทยาลัยเกียวโตที่เต็มไปด้วยปัญญาชน การทิ้งระเบิดที่นี่ย่อมทำให้ชาวญี่ปุ่นเสียขวัญอย่างแน่นอน

นอกจากเกียวโตแล้ว ยังมีอีกสามเมืองที่ถูกเสนอชื่อให้เป็นเมืองเป้าหมายสำรอง คือ ฮิโรชิมา (Hiroshima) โยโกฮาม่า (Yokohama) และ โคคุระ (Kokura) รายชื่อของทั้งสี่เมืองถูกส่งไปให้ประธานาธิบดีทรูแมน (Harry S. Truman) อนุมัติ

แต่ในช่วงเวลานั้น นาย Henry Stimson – ผู้เคยมาเที่ยวเกียวโตกับภรรยาเมื่อ 19 ปีก่อนหน้า – ดำรงตำแหน่งเป็น Secretary of War ซึ่งเทียบเท่ากับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมในปัจจุบัน และเขาไม่เห็นด้วยอย่างรุนแรงที่จะทิ้งระเบิดในเกียวโต จึงเข้าพูดคุยกับ Target Committee เพื่อโน้มน้าว แต่เมื่อคณะกรรมการยืนกรานว่าเกียวโตต้องเป็นเป้าหมายอันดับหนึ่ง นายสติมสันจึงขอเข้าพบประธานาธิบดีทรูแมนถึงสองครั้งเพื่อขอให้ทรูแมนพิจารณาเสียใหม่

สุดท้ายทรูแมนจึงยอมทำตามที่สติมสันขอ เกียวโตถูกถอดชื่อออกจากเมืองเป้าหมาย ฮิโรชิม่าถูกเขยิบขึ้นมาเป็นเป้าหมายอันดับหนึ่ง และเมืองนางาซากิถูกเพิ่มชื่อเข้ามาเป็นเมืองสำรองในนาทีสุดท้าย

วันจันทร์ที่ 6 สิงหาคม 1945 เวลา 8:15 ระเบิดนิวเคลียร์นาม Little Boy ก็ถูกปล่อยลงเมืองฮิโรชิม่า

สามวันถัดมา ในวันพฤหัสที่ 9 สิงหาคม เครื่องบินทิ้งระเบิด B-29 ถูกส่งไปที่เมืองโคคุระ (อยู่ไม่ไกลจากฟูกุโอกะ) แต่เนื่องจากขณะนั้นเมืองโคคุระมีเมฆปกคลุมหนาแน่น มองไม่เห็นพื้นดิน สุ่มเสี่ยงว่าจะโจมตีไม่โดนจุดสำคัญ กองทัพจึงตัดสินใจเปลี่ยนเป้าหมายไปที่เมืองนางาซากิ ซึ่งขณะนั้นก็มีเมฆปกคลุมเหมือนกัน เครื่องบินบินวนอยู่อย่างนั้นจนน้ำมันจวนเจียนจะหมดถัง แต่ก่อนที่จะตัดสินใจล้มเลิกภารกิจ ฟ้าก็เปิดพอดี ระเบิด Fat Man จึงถูกปล่อยลงเมืองนางาซากิเมื่อเวลา 11:02

ชาวเมืองนางาซากินั้นถือว่าโชคร้ายซ้ำซ้อน ตอนแรกเมืองนางาซากิไม่ได้อยู่ในกลุ่มเป้าหมายด้วยซ้ำ แต่ดันถูกเพิ่มเข้าไปในรายชื่อเพราะนายสติมสันไปขอให้ถอดเกียวโตออก และแม้กระนั้น เหตุผลเดียวที่นางาซากิโดนบอมบ์ ก็เพราะว่าเมืองโคคุระมีเมฆบัง

ส่วนชาวโคคุระเองก็โชคดีมาก และไม่เคยรู้เลยว่ารอดชีวิตมาได้เพราะโชคช่วยจนกระทั่งเรื่องราวถูกเปิดเผยโดยสหรัฐในหลายปีต่อมา จนชาวญี่ปุ่นเองก็มีสำนวน “โชคของโคคุระ” (Kokura’s Luck) เอาไว้อธิบายถึงเวลาที่เราแคล้วคลาดโดยไม่รู้ตัว

——

กลับไปที่คำถามที่ผมเกริ่นเอาไว้ก่อนหน้า

ทำไมชาวเมืองเกียวโตถึงรอดชีวิต? ทำไมชาวเมืองฮิโรชิม่ากับนางาซากิสองแสนคนถึงมอดมลาย?

มันเมคเซนส์หรือ ที่ชีวิตคนนับแสนถูกแขวนอยู่บนเส้นด้ายของทริปเมื่อ 19 ปีก่อนหน้า

บางคนอ่านเรื่องราวนี้แล้วอาจเกิดปฏิกิริยาได้สองแบบ

อย่างแรก อาจจะคิดว่า ถึงไม่ทิ้งระเบิดที่ฮิโรชิม่าหรือนางาซากิ ยังไงญี่ปุ่นก็แพ้สงครามอยู่ดี ประวัติศาสตร์คงไม่ได้เปลี่ยนแปลงมากนัก

แต่ Brian Klaas ผู้เขียน Fluke ก็ชวนคิดต่อว่า การที่คนนับแสนในเมืองหนึ่งรอด และคนนับแสนอีกเมืองหนึ่งเสียชีวิต มันจะไม่มีผลต่อประวัติศาสตร์ของญี่ปุ่นจริงหรือ? ญี่ปุ่นจะมีโฉมหน้าเหมือนวันนี้จริงหรือถ้าเกียวโตโดนระเบิดนิวเคลียร์และนางาซากิไม่โดน?

ส่วนอีกปฏิกิริยาหนึ่ง คืออาจมองว่าเหตุการณ์นี้เป็นเรื่องฟลุก โอกาสเกิดขึ้นแค่หนึ่งในล้าน มันเป็นเพียงแค่ noise ไม่ใช่ signal ไม่ควรให้ความสลักสำคัญกับมันมากนัก

หนังสือ Fluke จะบอกให้เราเข้าใจว่า เรื่องฟลุกๆ นั้นเกิดกับเราบ่อยกว่าที่เราเคยคิด 

ถ้าเรามองย้อนกลับไปในชีวิตของตัวเราเอง จะพบว่าชีวิตเรามาถึงจุดนี้ได้ด้วยลูกฟลุกแทบไม่ถ้วน

เอาแค่ตัวเราก่อน การที่ตัวเราเกิดขึ้นมาได้ ก็เพราะพ่อแม่เราได้เจอกันและมีลูกด้วยกัน และพ่อแม่เราเกิดมาได้ ก็เพราะว่าปู่กับย่าให้กำเนิดพ่อขึ้นมา และตายายให้กำเนิดแม่เราขึ้นมา ถ้าบรรพบุรุษตลอดเชื้อสายของเราคลาดกันแม้แต่คู่เดียว ตัวเราในวันนี้ก็จะไม่ได้ลืมตาดูโลก

ใครที่เคยดูหนังย้อนเวลาอย่าง Back To The Future ก็คงจะจำได้ว่าด็อกเตอร์ที่สร้างยานย้อนเวลานั้นเตือนพระเอกซ้ำแล้วซ้ำเล่า ว่าถ้ากลับไปในอดีต พระเอกต้องห้ามคุยกับใคร เพราะมันจะเปลี่ยนอดีตจนทำลายโลกในปัจจุบันของพระเอกไปด้วย แต่พระเอกก็ดันพลาด ไปเจอกับแม่ตัวเองในวัยสาว แม่เกือบจะไม่ได้รักกับพ่อของพระเอก และพระเอกเกือบจะ “ตาย” เพราะเกือบจะไม่ได้เกิด

ทุกคนเข้าใจดีว่า ถ้าย้อนอดีตแล้วเปลี่ยนอะไรเพียงนิดเดียว โลกปัจจุบันอาจจะเปลี่ยนไปอย่างมหาศาล

แต่เราอาจลืมนึกไปว่า ในทางกลับกัน ถ้าในวันนี้เราเปลี่ยนอะไรแม้เพียงนิดเดียว อนาคตก็ย่อมเปลี่ยนไปอย่างมหาศาลได้เช่นกัน

การที่ “ตัวเรา” จะเกิดขึ้นมาได้ ต้องให้ทุกอย่างที่เคยเกิดขึ้นมาก่อนหน้าเกิดขึ้นตามนั้นเป๊ะๆ ไม่ใช่แค่การที่พ่อกับแม่ได้รักกัน แต่รวมถึงแม้กระทั่ง “เสี้ยววินาทีของการปฏิสนธิของตัวเรา” ด้วย

ถ้าพ่อแม่ของเราเข้าห้องนอนช้ากว่านี้หรือเร็วกว่านี้แค่ไม่กี่วินาที สเปิร์มที่ไปถึงรังไข่จะเป็นสเปิร์มคนละตัว พ่อแม่ของเราอาจจะยังมีลูกอยู่ดี แต่เด็กคนนั้นจะเป็นเด็กอีกคนที่ไม่ใช่เรา

การที่ “ตัวเรา” ได้เกิดมา จึงเป็นลูกฟลุกซ้อนลูกฟลุกนับครั้งไม่ถ้วน

และถ้ามองใน time scale ที่ยาวไกลไปกว่านั้น ก็จะเห็นได้ว่าการที่เผ่าพันธุ์ Homo Sapiens ได้ขึ้นมาครองโลกก็เป็นลูกฟลุกเหมือนกัน


นับแต่ตั้ง 250 ล้านปีที่แล้ว เผ่าพันธุ์ที่แข็งแกร่งที่สุดบนโลกใบนี้ก็คือไดโนเสาร์

ไดโนเสาร์ครองโลกอยู่เกือบสองร้อยล้านปี จนกระทั่งเมื่อ 66 ล้านปีที่แล้ว ที่มีอุกกาบาตเส้นผ่านศูนย์กลางขนาด 14 กิโลเมตร ตกลงมาบริเวณคาบสมุทรยูกาตัน (Yucatán Peninsula ประเทศเม็กซิโกในปัจจุบัน)

อุกกาบาตตกลงในจุดที่น้ำไม่ลึกนัก กระทบกับชั้นหินที่เต็มไปด้วยยิปซัมด้วยแรงทำลายล้างเทียบเท่าระเบิดที่ฮิโรชิม่า 10,000 ล้านลูก

แรงระเบิดได้ปลดปล่อยเมฆกํามะถันพิษขนาดมหึมาเข้าสู่ชั้นบรรยากาศ เศษหินจำนวนมากพวยพุ่งขึ้นสู่ท้องฟ้า สร้างแรงเสียดทานมหาศาลและนำไปสู่ “คลื่นความร้อนอินฟราเรด” (infrared pulse) พื้นผิวโลกอุณหภูมิสูงขึ้น 260 องศาเซลเซียสอย่างรวดเร็ว ไดโนเสาร์ถูกเผาราวกับไก่ย่าง

ความร้อนที่รุนแรงจากเหตุการณ์ครานั้น ทำให้สัตว์ที่รอดชีวิตส่วนใหญ่แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกคือพวกที่สามารถขุดรูอยู่ใต้ดิน และกลุ่มที่สองคือพวกที่อาศัยอยู่ในทะเล

เมื่อเรามองไปที่สัตว์ที่ยังมีชีวิตอยู่ทุกวันนี้ ไม่ว่าจะเป็นในป่าดงดิบ ท้องทะเลทราย หรือแม้กระทั่งตอนเราส่องกระจก เราต่างกำลังมองไปยังลูกหลานของสัตว์ที่รอดชีวิตจากอุกกาบาตลูกนี้

ลองนึกภาพดูว่า ถ้าอุกกาบาตมาถึงช้ากว่านี้เพียงไม่กี่วินาที มันอาจจะตกลงในบริเวณน้ำลึก อุณหภูมิโลกจะไม่ได้ร้อนขึ้นมากนัก และสัตว์จะสูญพันธุ์น้อยกว่านี้หรือถ้าอุกกาบาตล่าช้าเพียงนาทีเดียว มันอาจจะไม่ชนโลกเลยก็ได้ และวันนี้ไดโนเสาร์ก็จะยังครองโลก และจะไม่มีสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์ Homo Sapiens เกิดขึ้นมาอย่างแน่นอน


ผมรู้ว่าบทความนี้ยาวมากแล้ว แต่ขอเล่าให้ฟังอีกหนึ่งเรื่องก่อนจะปล่อยให้ไปทำอย่างอื่นนะครับ

เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 1905 ภายในบ้านฟาร์มหลังน้อยที่เมืองเจมส์ทาวน์ รัฐวิสคอนซิน นางคลาร่า แม็กดาเลน เจนเซ่น เกิดอาการ “ฟิวส์ขาด” และลงมือสังหารลูกของเธอทั้งสี่คน

เธอทำความสะอาดร่างกายลูกๆ บรรจงวางพวกเขาลงนอนบนเตียงอย่างนุ่มนวล จากนั้นจึงปลิดชีวิตของตัวเอง

พอล สามีของเธอกลับบ้านมาจากการทำงานในฟาร์ม และพบว่าทั้งครอบครัวเสียชีวิตอยู่ใต้ผ้าห่มบนเตียงน้อยๆ นี่คงจะเป็นหนึ่งในประสบการณ์ที่เลวร้ายที่สุดที่มนุษย์คนหนึ่งจะได้เผชิญ

Brian Klaas ผู้เขียนหนังสือ Fluke เล่มนี้ เฉลยว่า “พอล” ผู้น่าสงสาร เป็นปู่ทวดของเขาเอง

หลังจากเสียคลาร่าและลูกทั้งสี่ไป พอลจึงแต่งงานกับภรรยาใหม่ในเวลาต่อมา ซึ่งภรรยาใหม่คนนั้นก็คือย่าทวดของไบรอันนั่นเอง

ตอนไบรอันอายุยี่สิบปี พ่อของไบรอันเปิดแฟ้มหยิบคลิปข่าวหนังสือพิมพ์ฉบับปี 1905 ที่พาดหัวว่า “การกระทำอันเลวร้ายของหญิงวิกลจริต” มาให้ไบรอันดู

ข่าวชิ้นนั้นเปิดเผยเรื่องราวอันน่าสะเทือนใจที่สุดในประวัติศาสตร์ของตระกูล Klaas ในภาพข่าวคือหลุมฝังศพ ด้านหนึ่งเป็นของเด็กๆ ทั้งสี่คน อีกด้านเป็นของคลาร่า วันตายของพวกเขาถูกจารึกไว้บนหลุมศพเดียวกัน

แน่นอนว่ามันทำให้ไบรอันช็อคที่เคยมีเรื่องราวเลวร้ายแบบนี้เกิดขึ้นกับตระกูลของเขา แต่สิ่งที่ทำให้ไบรอันช็อคยิ่งกว่า ก็คือการได้รับรู้ว่า ถ้าคลาร่าไม่ฆ่าตัวตาย และไม่ได้ฆ่าลูกๆ ของเธอ ตัวเขาเองก็คงไม่ได้เกิดมา

ชีวิตของไบรอันเกิดขึ้นและดำรงอยู่ได้เพราะการฆาตกรรมหมู่ที่น่าสยดสยอง เด็กไร้เดียงสาสี่คนต้องเสียชีวิต ในขณะเดียวกันไบรอันกลับได้มีชีวิตอยู่ และได้เขียนหนังสือ Fluke เล่มนี้

(ซึ่งถ้าไบรอันไม่ได้เขียน Fluke คุณผู้อ่าน Anontawong’s Musings ก็จะไม่ได้มานั่งอ่านบทความชิ้นนี้เหมือนกัน)

ทุกสิ่งดีๆ ในชีวิตเรา เกิดขึ้นจากทั้งเรื่องดีงามและเรื่องเลวร้ายทั้งหมดที่ผ่านมาในอดีต

และสิ่งที่เราทำวันนี้ ไม่ว่าจะดีหรือร้าย ก็จะนำไปสู่เรื่องดีงามและโศกนาฎกรรมในอนาคตเช่นกัน


เรื่องราวทั้งหมดที่ผมกล่าวมา เป็นเพียงเนื้อหา 15 หน้าแรกของหนังสือ Fluke

ผมคงไม่คิดที่จะสรุปหนังสือเล่มนี้ออกมาทั้งเล่ม เพราะทำไม่ได้และไม่ควรทำ นี่คือหนังสือที่เนื้อหาแน่นและหลากหลายที่สุดเล่มหนึ่งที่ผมเคยได้อ่านในชีวิต จนผมเสียดายว่าทำไมหนังสือถึงไม่ดังกว่านี้ จริงๆ แล้วมันมีศักยภาพที่จะเปลี่ยนมุมมองที่เรามีต่อสังคมและชีวิตในระดับเดียวกับ Sapiens ของ Yuval Harari และ Four Thousand Weeks ของ Oliver Burkeman เลยด้วยซ้ำ

และนี่คือเหตุผลที่ทำไมผมขอยกให้ Fluke เป็นหนังสือเปลี่ยนชีวิตแห่งปี 2024

หนังสือเพิ่งออกมาในเดือนมกราคม 2024 จึงยังไม่มีแปลไทย แต่ใครที่ชอบอ่านหนังสือภาษาอังกฤษ ไปหาซื้อมาอ่านกันได้แล้วครับ ผมเห็นว่า AsiaBooks เริ่มนำมาวางเป็นหนังสือแนะนำแล้ว ส่วนที่คิโนะยังไม่เห็นวางโชว์ แต่เช็คทางเว็บก็มีขายแล้วเหมือนกัน

ผมยังไม่ขอเฉลยว่า Fluke ทำให้มุมมองและการกระทำของผมเปลี่ยนไปอย่างไร แต่อยากให้ผู้ที่ติดตามบล็อกนี้ไปลองไปหามาอ่านดู แล้วอีกสองเดือนผมอยากนัดเจอแบบ online meeting เพื่อมาแชร์สิ่งที่เราได้จากหนังสือเล่มนี้กัน ใครสนใจ สามารถลงชื่อผ่านลิงค์ในช่องคอมเม้นท์ได้เลย

ขอรับรองว่าอ่าน Fluke แล้ว เราจะมองโลกไม่เหมือนเดิมอีกต่อไปครับ


ลงทะเบียน Waiting List สำหรับ Anontawong’s Musings Online Book Discussion ได้ที่ลิงค์นี้ครับ https://forms.gle/h77SPoXEKZ7Y35h78

ถ้าเราเครียดเรื่องงานถือเป็นสัญญาณที่ดี

หนึ่ง แปลว่าเรามีงานทำ

สอง เครียดเรื่องงาน ดีกว่าเครียดเรื่องคน ปัญหาเรื่องงานมักมีทางออก ปัญหาเรื่องคนหาทางออกได้ยากกว่า

สาม การที่เราเครียดเรื่องงานเป็นหลัก แสดงว่าเรื่องอื่นๆ ในชีวิตค่อนข้างราบรื่น เช่นเรื่องเงินทอง เรื่องสุขภาพ เรื่องครอบครัว เพราะถ้าเรามีปัญหาใดในสามเรื่องนี้ เราจะไม่ค่อยเหลือแรงมานั่งเครียดเรื่องงานแล้ว

เวลารู้สึกว่าชีวิตกำลังแย่กับปัญหาใด ถ้ามองเห็น “ปัญหาที่เราไม่มี” กำกับไว้ด้วย ก็น่าจะช่วยให้รู้สึกดีขึ้นบ้างไม่มากก็น้อยครับ

เราอาจหลงลืมไปว่าเราโชคดีแค่ไหนแล้ว

Jimmy Carr นักแสดงตลกชื่อดังชาวอังกฤษวัย 51 ปี เพิ่งให้สัมภาษณ์กับ Steven Barlett วัย 31 ปีในพ็อดแคสต์ The Diary of a CEO ไว้ว่า

“หลังจากไตร่ตรองอยู่นาน ผมก็ได้ข้อสรุปว่า ‘การรู้คุณค่า’ (gratitude) น่าจะเป็นคุณธรรมตัวแม่ของคุณธรรมทั้งมวล

และผมขอเดาว่า คุณน่าจะยอมแลกทุกอย่างที่คุณจะมีในครอบครองในอีก 30 ปีข้างหน้า เพื่อให้คุณได้กลับมาอายุเท่าตอนนี้ และมีสุขภาพแข็งแรงเหมือนตอนนี้

ผมว่ามันเป็นการทดลองทางความคิดที่น่าสนใจดีนะ

ลองจินตนาการถึงตัวเองในอีก 30 ปีข้างหน้า และถ้าตอนนั้นคุณมีของวิเศษที่สามารถเสกให้คุณกลับมามีสุขภาพแข็งแรงเท่าตอนนี้ รู้สึกดีขนาดนี้ และมีอายุเท่าตอนนี้ ผมว่าคุณน่าจะยอมสละสมบัติทางวัตถุทั้งหมดที่คุณมี เพื่อจะได้กลับมานั่งอยู่ตรงนี้

ลองหยุดคิดดูสักครู่ แล้วมันอาจเปลี่ยนความรู้สึกและการกระทำของคุณในวันนี้ก็ได้

ผมคิดว่าพวกเราในโลกตะวันตกกำลังเจ็บป่วยด้วยภาวะ “การมองชีวิตที่ผิดเพี้ยน” (life dysmorphia)

คนไม่น้อยคิดว่าชีวิตของตนนั้นแย่มาก เพราะมนุษย์เราคุ้นชินกับชีวิตดีๆ ได้อย่างง่ายดายเหลือเกิน

ลองคิดดูนะ คนส่วนใหญ่ไม่มีเครื่องทำน้ำอุ่นจนกระทั่งเมื่อ 50 ปีที่แล้ว

เพื่อนคนนึงเคยบอกผมว่า ตอนที่คุณกำลังอาบน้ำอุ่นจากฝักบัว ให้ลองหยุดนึกดูสักครู่ ว่าไม่มีบุคคลใดที่มีชีวิตอยู่ 100 ปีก่อนหน้านี้ ไม่ว่าจะร่ำรวยหรือมีชีวิตน่าอิจฉาแค่ไหน ไม่มีใครเคยได้รับความสุขอันแสนธรรมดาอย่างการอาบน้ำอุ่นจากฝักบัวเลย

โลกใบนี้เคยมีมนุษย์เกิดขึ้นมาแล้วทั้งหมด 1 แสนล้านคน คนในยุคปัจจุบันจัดอยู่ใน Top 1% ในแง่ของคุณภาพชีวิต เรามีอาหารให้กินโดยแทบไม่เคยต้องกังวล ลูกหลานของเราไม่เสียชีวิตในขวบปีแรก เรามีการแพทย์สมัยใหม่ เรามีความบันเทิงให้เลือกเสพมากมาย

เรามีชีวิตที่สุขสบายยิ่งกว่าเจ้าหญิงและเจ้าชาย และแม้ว่าคุณภาพชีวิตของเราจะดีกว่ายุคก่อนอย่างไม่มีใครปฏิเสธได้ แต่ความรู้สึกทางจิตใจของเรากลับย่ำแย่”


Jimmy Carr พูดถึงความโชคดีในสองระดับ

หนึ่งคือความโชคดีทางอายุ สองคือความโชคดีของยุคสมัย

เริ่มจากความโชคดีทางอายุก่อน

เราเองถูกสังคมคาดหวังให้ “สร้างอนาคต” ให้อดเปรี้ยวไว้กินหวาน ให้พัฒนาตนเองเพื่อที่จะสุขสบายในวันข้างหน้า

แต่เมื่อเลยวัย 40 มาแล้ว ผมเริ่มคิดว่า “ภาพฝันของอนาคต” มันเป็นเหมือนมิราจกลางทะเลทราย ที่ล่อหลอกให้เราเดินไปเรื่อยๆ แต่ไม่เคยมีอยู่จริง

ผมเคยเขียนบทความ “วัยสี่สิบกว่าคือนาทีทอง” หลังจากได้นั่งพูดคุยกับ “พี่อ้น” วรรณิภา ภักดีบุตร mentor ของผมในโครงการ IMET MAX

พี่อ้นบอกว่าวัยสี่สิบคือช่วงที่ดี เพราะเรามีประสบการณ์มากพอ ยังมีกำลังวังชา ลูกยังฟังเราอยู่ คนรอบตัวยังไม่เจ็บไม่ตาย นี่คือช่วงชีวิตที่เราสามารถทำอะไรได้อย่างเต็มที่

จะว่าไป วัยสี่สิบกว่านี่อาจจะเป็น “ช่วงพีคสุด” ของชีวิตแล้วก็ได้ เพราะแม้ร่างกายจะเริ่มโรยราแต่ก็ยังดูแลตัวเองและคนรอบข้างไหว หน้าที่การงานก็ยังมีความก้าวหน้าและมีความหวังว่ามันจะยังไปต่อได้อีก

ถ้าเราไม่หัดพอใจในปัจจุบัน เพียงเพราะภาพฝันในอนาคตมันดีกว่าตอนนี้ เราก็อาจจะผ่านพ้นช่วงที่ดีที่สุดไปโดยได้แต่กลับมานั่งเสียดายภายหลัง

อีก 30 ปีข้างหน้า คงยังไม่มีของวิเศษชิ้นใดที่จะพาเรากลับมาอยู่ในร่างกายแบบตอนนี้ได้ ดังนั้นจงเห็นคุณค่าของวัยหนุ่มสาวและใช้มันให้เต็มที่ในการสร้างอนาคตโดยไม่ละเลยที่จะมีความสุขในวันนี้ด้วย


ส่วนความโชคดีของยุคสมัย Jimmy Carr ยกตัวอย่างการมีน้ำอุ่นให้ใช้ ซึ่งอากาศร้อนแบบนี้คนไทยคงไม่อิน ผมเลยลองไปค้นข้อมูลว่าคนไทยเริ่มมีแอร์ใช้เมื่อไหร่ ก็พบว่าเมื่อประมาณ 40-50 ปีที่แล้วนี้เอง

แค่เทียบกับสมัยที่รุ่นพ่อรุ่นแม่เรายังหนุ่มสาว ชีวิตเราก็สุขสบายกว่าในหลายมิติแล้ว อยากหาข้อมูลก็ไม่ต้องเข้าห้องสมุด อยากเดินทางไปไหนก็ไม่ต้องกลัวหลง ทำงานได้จากทุกที่ ทางเลือกในการหาเลี้ยงชีพก็เปิดกว้าง ขนาดมีโรคระบาดหนักไปทั่วโลก มนุษยชาติก็ยังผ่านมันมาได้ไวกว่าที่คิด ถ้าเกิดโรคระบาดระดับเดียวกันเมื่อ 50 ปีที่แล้ว ผมว่า Homo Sapiens อาจถึงขั้นสูญพันธุ์เลยด้วยซ้ำ

ยิ่งถ้าย้อนกลับไปเทียบกับชีวิตเจ้าหญิงเจ้าชายเมื่อ 200 ปีที่แล้ว ต่อให้ภาพจำจากในหนังจะสวยงามเพียงใด เพียงแค่คิดว่าสมัยนั้นเขาไม่มีส้วมและน้ำประปาให้ใช้เหมือนตอนนี้ ก็รู้สึกว่าอยู่ยากแล้ว

แน่นอนว่ายุคนี้ก็มีปัญหาที่คนยุคก่อนไม่เคยต้องเจอ ทั้งเรื่องโลกร้อนและภูมิรัฐศาสตร์อันผันผวน แต่ในเมื่อเรามีชีวิตอยู่ในยุคนี้แล้วก็ต้องปรับตัวและเดินหน้ากันต่อไป

การตระหนักว่าเราโชคดีแค่ไหน ทั้งในแง่อายุและยุคสมัย จึงไม่ใช่การปลอบประโลมหรือหลอกตัวเอง แต่เป็นการมองให้เห็นคุณค่าในสิ่งที่เราเคยมองข้ามมาโดยตลอด เพื่อจะได้ตระหนักว่าเรามีทรัพยากรอะไรให้หยิบใช้บ้าง

ชีวิตตอนนี้คือชีวิตที่ดีที่สุด และสิ่งเดียวที่เราทำได้ คือทำมันให้ดีที่สุดตามกำลังที่เรามีครับ

ปัญหาไม่ได้อยู่ที่เราเร็วไม่พอ ปัญหาอยู่ที่เราชะลอไม่เป็น

วันนี้เป็นวันแรกของการกลับมาทำงาน หลังจากได้หยุดกันฉ่ำๆ มาหลายวัน

ช่วงสงกรานต์ผมอยู่กรุงเทพ ขับรถไปไหนก็สบาย วันไหนเปิดแอร์นอนอยู่บ้านก็รู้สึกว่ามีเวลาว่างมากมายจนรู้สึกไม่ค่อยชิน

เมื่อได้อยู่เฉยๆ ก็เริ่มมองเห็นว่า บางทีปัญหาของใครหลายคน คือเราหลงลืมไปแล้วว่าการหยุดพักคืออะไร

เหตุการณ์ Crystal Pub ก่อนสงกรานต์เมื่อ 3 ปีที่แล้ว พนักงานออฟฟิศจำนวนไม่น้อยต้องทำงานที่บ้าน 100%

ไม่มีเส้นแบ่งระหว่างเวลางานกับเวลาส่วนตัว ออกไปไหนก็ไม่ได้ เลยอยู่แต่หน้าจอคอม สายตาจับจ้องกับข้อความที่เด้งเข้ามาและรู้สึกว่าต้องตอบทันที

ถ้าเราเป็นผู้จัดการหรือผู้บริหาร ตารางจะแน่นมาก ต้องวิ่งจากประชุมหนึ่งไปสู่อีกประชุมหนึ่งแทบทั้งวัน เวลากินข้าวเข้าห้องน้ำยังแทบจะหาไม่ได้

มนุษย์เราไม่ได้ถูกวิวัฒนาการเพื่อให้มานั่งหน้าจอคอมทั้งวัน การที่เราต้องมาเจอสภาพแบบนี้ตลอดหลายปีที่ผ่านมา อาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่คนเป็นโรคซึมเศร้ากันมากขึ้น


ในหนังสือ Outlive ของ Peter Attia สิ่งหนึ่งที่เขาเน้นย้ำมาก ก็คือการฝึกกล้ามเนื้อทั้งสองฝั่ง

Concentric loading หมายถึงการฝึกตอนกล้ามเนื้อหดตัว

Eccentric loading หมายถึงการฝึกตอนกล้ามเนื้อยืดตัว

เวลาเราออกกำลังกาย เรามักจะใส่ใจแต่ตอน concentric loading หรือตอนที่กล้ามเนื้อหดตัว และเราต้องออกแรง

เช่นถ้าเราวิดพื้น เราก็จะใส่ใจกับการดันตัวขึ้น ถ้าเราโหนบาร์เพื่อ pull up เราจะใส่ใจแต่ตอนดึงตัวขึ้นมา

แต่ eccentric loading ก็สำคัญไม่แพ้กัน นั่นคือขากลับที่เรา “ผ่อนแรง” ตอนวิดพื้นก็คือตอนที่เราค่อยๆ งอข้อศอกให้อกลงไปชิดพื้น ตอนโหนบาร์ก็คือตอนขาลง

ถ้าเดินขึ้นบันไดคือ concentric loading การเดินลงบันไดก็คือ eccentric loading

ถ้า Concentric loading คือการเหยียบคันเร่ง

Eccentric loading ก็คือการเหยียบเบรคนั่นเอง

ถ้าขาของเรามีกล้ามเนื้อเบรคที่แข็งแรง มันจะช่วยเราตอนเจอเหตุไม่คาดฝัน เช่นตอนเดินลงพื้นต่างระดับโดยไม่ทันตั้งตัว ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของ “การล้ม” ของผู้เฒ่าผู้แก่ที่เรากลัวกันนัก

วิธีการฝึกกล้ามเนื้อเบรค ก็คือให้ใส่ใจกับจังหวะ “ขาลง” ให้มากขึ้น

เช่นตอนเดินลงบันได ให้ก้าวลงด้วยท่าปกติ แต่จงใจทำให้ช้าลง ให้เท้าลอยอยู่ในอากาศแบบ slow motion แล้วนับในใจ 1-2-3 ก่อนจะที่เท้าจะสัมผัสพื้น

พอลองทำแล้วจะรู้เลยว่ายากกว่าที่คิด เพราะเป็นกล้ามเนื้อที่เราไม่เคยให้ความสำคัญ


โอกาสในการฝึกกล้ามเนื้อเบรคทางใจของเรานั้นมีทั้งวัน

ตอนเช้า ถ้าตื่นไปวิ่ง เตือนตัวเองว่าไม่จำเป็นต้องวิ่งเร็ว แต่วิ่งสบายๆ เพื่อที่เราจะได้รักการวิ่งและรู้สึกกอยากกลับมาวิ่งอีกในวันรุ่งขึ้น

ตอนกลางวัน แทนที่จะไล่ตอบข้อความในไลน์หรือในสแล็ค ก็ให้จัดเวลาได้พักเที่ยง กินข้าวแบบได้พูดคุยกับผู้คนและไม่เล่นมือถือ จะได้รับรู้รสชาติอาหารได้ดีกว่าที่เคย

ตอนกลางคืน เวลาดูซีรี่ส์ในเน็ตฟลิกซ์จบหนึ่งตอน แทนที่เราจะปล่อยให้ Play next episode ลองกลั้นใจกดปุ่มปิดทีวี

ตลอดทั้งวัน แทนที่จะตะโกนในใจว่า go go go!

เราควรกระซิบบอกตัวเองบ่อยๆ ว่า you can slow down.

เพราะหลายต่อหลายครั้ง ปัญหาไม่ได้อยู่ที่เราเร็วไม่พอ

ปัญหาอยู่ที่เราชะลอไม่เป็นครับ

อ่านหนังสือยังไงให้ลืมได้เร็วๆ

ช่วงหยุดยาวถือเป็นฤกษ์งามยามดีที่จะได้หยิบหนังสือจากกองดองขึ้นมาอ่าน

สำหรับใครที่ชอบหนังสือประเภท non-fiction อาจจะมีเรื่องไม่สบายใจอยู่อย่างหนึ่ง คือพออ่านจบได้ไม่นาน ก็มักจะลืมเนื้อหา หรือแทบไม่ได้หยิบอะไรจากหนังสือมาใช้ในชีวิตจริง จนรู้สึกว่าการอ่านหนังสือเล่มมันนั้นมันสูญเปล่าหรือไม่ คนกลุ่มนี้จึงเฟ้นหาวิธีที่จะช่วยให้เขาจดจำเนื้อหาได้มากกว่านี้

เขาว่ากันว่า การไฮไลต์หนังสือเฉยๆ นั้นไม่ได้ช่วยในการจดจำ เพราะสมองของเราไม่ได้มีปฏิสัมพันธ์กับเนื้อหามากเพียงพอ

เทคนิคที่จะช่วยให้อ่านแล้วไม่ลืมก็เช่น

  • จดโน๊ตตรงพื้นที่ว่างในหนังสือว่ามันเชื่อมโยงกับสิ่งที่เรารู้อยู่แล้วอย่างไร
  • สร้าง Output เช่น สรุปหนังสือออกมาในคำพูดของเรา เอาไปเล่าให้เพื่อนฟัง หรือเขียนเป็นบทความ
  • จดโน้ตด้วยเทคนิค Zettelkasten ของเยอรมัน ที่สามารถเอาทุกอย่างมาเชื่อมโยงกันได้ ไม่ว่าจะเป็นโน้ตเก่าหรือโน้ตใหม่

บทความวันนี้จะมาบอกว่า บางทีเราไม่จำเป็นต้องทำอะไรแบบข้างบนเลยก็ได้นะครับ

เพราะถ้าหากเรารู้สึกว่าจะต้อง “รีดประโยชน์” จากการอ่านหนังสือให้ได้มากที่สุด กิจกรรมพักผ่อนหย่อนใจก็จะกลายเป็น “งานอีกหนึ่งชิ้น” ขึ้นมาทันที

การจดเพื่อให้จำได้นั้นเป็นการทำเพื่อตัวเราในอนาคต แต่มันกลับทำให้ตัวเราในวันนี้ไม่ค่อยมีความสุขกับการอ่านหนังสือ

มีบทความหนึ่งที่ผมชอบมากของ Oliver Burkeman ผู้เขียนหนังสือ Four Thousand Weeks

บทความนี้มีชื่อว่า “How to forget what you read

คุณ Burkeman เขาเป็นคนแบบนี้แหละครับ ชอบเขียนบทความที่ตั้งคำถามกับกระแสหลัก ในเมื่อกูรูส่วนใหญ่สอนว่าจะอ่านหนังสือยังไงให้จำได้นานๆ เขาก็เลยตั้งชื่อบทความว่าอ่านยังไงให้ลืมได้เร็วๆ ผมเลยขออัญเชิญมาเป็นชื่อของบทความวันนี้ด้วยเสียเลย


Burkeman เคยเป็น productivity geek มาก่อน ลองเครื่องมือ productivity มาแล้วแทบทุกชนิด

เขาเคยตั้งกฎกับตัวเองว่าจะอ่านหนังสือวันละ 30 นาที จากนั้นจะใช้เวลาอีกวันละ 30 นาทีเพื่อจดโน้ตและจัดระเบียบโน้ต โดยไม่ได้สำเหนียกเลยว่าเขาต้องหาเวลาเพิ่มอีก 60 นาทีเพื่อทำสองสิ่งนี้ในตารางชีวิตที่ยุ่งมากพออยู่แล้ว

หลังจากลองแล้วล้มเหลว เขาก็ได้ข้อสรุปว่าเราไม่ต้องพยายามจดจำทุกอย่างที่อ่านก็ได้

Burkeman ให้เหตุผล 3 ข้อดังนี้

1.การลืมคือตัวกรองอย่างหนึ่ง

      “Forgetting is a filter.”

      อะไรที่ไม่สำคัญ สมองจะทำหน้าที่ลืมให้เราโดยอัตโนมัติ

      แต่ถ้าสิ่งที่เราอ่านมันมีความหมายกับเรามากพอ เราจะจำมันได้โดยไม่ต้องพยายาม

      แน่นอนว่ามีบางบริบทเช่นการเรียนหรือการทำงานที่เราจำเป็นต้องจำให้ได้เยอะที่สุด แต่สำหรับการอ่านส่วนใหญ่ เราไม่จำเป็นต้องทำอะไรแบบนั้น

      การที่สมองทำหน้าที่เป็นตัวกรองให้นั้นจึงเป็นเรื่องที่ถูกต้องอยู่แล้ว อะไรที่เราอินก็จะติดอยู่ในหัว อะไรที่เราไม่อิน สมองก็จะช่วยคัดออกให้

      แต่ถ้าเราทดแทนกลไกนี้ด้วยการจดโน้ตและจัดระเบียบ สมองของเราจะเต็มไปด้วย “ประเด็นที่น่าจะสำคัญ” จน “ประเด็นที่สำคัญที่สุด” ถูกกลืนหายไป

      Paulo Coelho ผู้เขียนนิยาย Alchemist เคยให้สัมภาษณ์กับ Tim Ferriss เอาไว้ว่า*

      “Forget notebooks. Forget taking notes. Let what is important remains. What’s not important goes away.”

      ไม่ต้องไปสนใจสมุด ไม่ต้องไปสนใจการจดโน้ต อะไรที่สำคัญจะยังคงอยู่กับเรา อะไรที่ไม่สำคัญมันจะจากเราไปเอง


      2.ยิ่งเทคนิคที่เราใช้ต้องลงแรงมากเท่าไหร่ เรายิ่งมีแนวโน้มที่จะหลีกเลี่ยงการอ่านหนังสือมากขึ้นเท่านั้น

        ถ้าเรารู้สึกว่าการหยิบหนังสือขึ้นมาอ่านนั้นจะต้องตามมาด้วยการจดโน้ต ความน่าจะเป็นก็คือเราอาจจะไม่ได้อ่านหนังสือเล่มนั้นไปเลย เพราะเรารู้สึกว่าไม่มีเวลาหรือไม่มีแรงมากพอ

        แทนที่จะได้อ่านหนังสือที่เราอยากอ่านจริงๆ เราจึงอาจจะเลือกอ่านหนังสือที่อ่านง่าย เพียงเพราะเรารู้สึกว่ายังพอจดโน้ตไหว ยังพอเขียนสรุปไหว


        3.เราไม่ได้อ่านหนังสือเพื่อดาวน์โหลดข้อมูลมาเก็บไว้ในสมอง เราอ่านหนังสือเพื่อหล่อหลอมตัวตน

          “The point of reading, much of the time, isn’t to vacuum up data, but to shape your sensibility.”

          งานทุกชิ้นที่เราอ่านนั้นจะมีผลกับเราเสมอ แม้จะเล็กน้อยเพียงใดก็ตาม ดังนั้นวิธีการที่เรามองโลกก็จะเปลี่ยนแปลงไป โดยที่เราไม่จำเป็นต้องจดจำเนื้อหาได้เป๊ะๆ

          สุดท้ายแล้ว สิ่งที่จะสร้างความแตกต่างอย่างแท้จริง ก็คือมุมมองที่เรามีต่อโลก ต่อผู้คนและสิ่งรอบตัว และนำมุมมองนั้นมาสร้างเป็นผลงานและสร้างคุณประโยชน์ในแบบของเราเอง


          จุดประสงค์ของบทความนี้ไม่ได้จะบอกให้ลืมทุกสิ่งที่เราอ่าน หรือให้ทิ้งการจดโน้ตไปทั้งหมด

          หากเราเป็นคนชอบจดโน้ต ก็จงจดต่อไปในรูปแบบที่เราถนัด

          ส่วนใครที่ไม่ชอบจดโน้ต ก็ขอให้มีความสุขกับการได้อ่านหนังสือดีๆ โดยไม่ต้องมีกฎกติกามากมาย

          มาถึงวัยนี้แล้ว การอ่านหนังสือควรเป็นไปด้วยความเพลิดเพลิน ไม่ใช่ด้วยความกล้ำกลืนหรือด้วยความมีระเบียบวินัย

          และขอให้เชื่อเถอะครับว่า เมื่อได้อ่านหนังสือดีๆ สักเล่ม หรือบทความดีๆ สักตอน ต่อให้เราจดจำเนื้อหาได้เล็กน้อยเพียงใด การอ่านนั้นย่อมไม่มีวันสูญเปล่าแน่นอน


          * บทสัมภาษณ์ที่ Paulo Coelho ให้ไว้กับ Tim Ferriss ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของบทความ How to forget what you read ของ Oliver Burkeman แต่ระหว่างที่เขียนบทความนี้ ผมนึกถึงคำพูดของ Coelho ขึ้นมาได้พอดี แม้จะเคยฟังบทสัมภาษณ์นี้เพียงครั้งเดียวเมื่อเกือบสิบปีที่แล้ว เป็นข้อพิสูจน์อย่างหนึ่งว่า อะไรที่มีความหมายกับเรา เราจะจำมันได้โดยไม่ต้องพยายามจริงๆ