อย่าผิดซ้อนผิด

คนเราทุกคนย่อมเคยทำผิดพลาดมาบ้างไม่มากก็น้อย ซึ่งบางข้อผิดพลาดเราก็อายและไม่ค่อยอยากยอมรับมันเท่าไหร่

แต่ถ้าเราไม่รับผิดชอบ ทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้ หรือแก้ตัวแบบสีข้างถลอก นั่นคือการ “ผิดซ้อนผิด”

เพราะนอกจากจะไม่ทำให้สถานการณ์ดีขึ้นแล้ว ยังทำให้เราสูญเสียศรัทธาจากคนรอบข้าง และที่สำคัญกว่านั้นคือเราจะสูญเสียศรัทธาในตัวเอง

ผิดครั้งแรกนั้นเป็นครู และพอเข้าใจได้

ส่วนผิดซ้อนผิดนั้นเป็นเนื้อร้าย ควรตัดมันออกไปจากชีวิตครับ

เรื่องเศร้าที่เราไม่เคยรู้ของสองพี่น้องตระกูลไรท์

Wilbur Wright และ Orville Wright เป็นผู้สร้างเครื่องบินลำแรกของโลก

เที่ยวบินแรกในประวัติศาสตร์เกิดขึ้นเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 17 ธันวาคม 1903 ในเมืองเล็กๆ ชื่อ Kitty Hawk รัฐนอร์ธ แคโรไลนา

เราคงคิดว่า สิ่งประดิษฐ์ที่ทำให้มนุษย์เดินดินกลายเป็นนกเหินเวหา ย่อมจะทำให้สองพี่น้องกลายเป็นคนดังชั่วข้ามคืน

แต่ความจริงหาเป็นเช่นนั้นไม่ หากคุณอ่านหนังสือพิมพ์ The New York Times ในวันที่ 18 ธันวาคม 1903 คุณจะไม่เห็นข่าวเครื่องบินของตระกูลไรท์เลย

วันที่ 19, 20, 21 ธันวาคมก็เช่นกัน ไม่มีนักข่าวคนไหนเขียนถึงเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ครั้งนี้แม้แต่ย่อหน้าเดียว

ผ่านไป 5 วันก็แล้ว 5 สัปดาห์ก็แล้ว 5 เดือนก็แล้ว ความสำเร็จของสองพี่น้องตระกูลไรท์ก็ยังคงไม่มีใครกล่าวถึง

ต้องใช้เวลาเกือบ 5 ปี คือเดือนพฤษภาคมปี 1908 กว่าที่จะมีนักข่าวถูกส่งไปสังเกตการณ์การทดสอบเครื่องบินของสองพี่น้อง และทำให้ทั้งวิลเบอร์และออร์วิลเริ่มเป็นที่รู้จัก

ลองคิดภาพว่าเราคิดค้นอะไรที่มันจะเปลี่ยนโลกได้ แต่ไม่มีใครเห็นและให้คุณค่ามันเลยเป็นเวลาเกือบ 5 ปี…

รอคอยมาเนิ่นนานจนถึงวันที่มีคนเห็นคุณค่า เรื่องราวมันควรจะ Happy Ending แต่ปรากฎว่าวิบากของสองพี่น้องยังไม่จบ

แม้ว่าโลกจะเริ่มเข้าใจศักยภาพของการบิน แต่สองพี่น้องตระกูลไรท์แทบไม่ได้ร่ำรวยขึ้น แถมยังกลายเป็นคน “ตกยุค” ไปเสียด้วยซ้ำ

เพราะในขณะที่คู่แข่งเริ่มเรียนรู้และพัฒนาเครื่องบินให้ดีขึ้นเรื่อยๆ สองพี่น้องตระกูลไรท์กลับใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการฟ้องร้องคู่แข่งในข้อหาละเมิดสิทธิบัตร

ในปี 1916 ออร์วิลเรียกร้องว่า ใครก็ตามที่ผลิตเครื่องบินไม่ว่าที่ใดบนโลกใบนี้ จะต้องจ่ายค่าลิขสิทธิ์ให้เขาลำละ $10,000 (ถ้าคิดเป็นค่าเงินปัจจุบันก็คือ $250,000 หรือ 8.5 ล้านบาท) ซึ่งแพงเกินกว่าที่ผู้สร้างเครื่องบินสมัยนั้นจะจ่ายไหว คู่แข่งทั้งในฝรั่งเศสและเยอรมันนีจึงต่างเพิกเฉยต่อข้อเรียกร้องนี้

สองพี่น้องตระกูลไรท์ใช้เวลาไปกับการขึ้นโรงขึ้นศาล ขณะที่คู่แข่งใช้เวลาไปกับการออกแบบเครื่องบินที่ดีกว่าเดิม

กว่าคดีความทั้งหลายจะสิ้นสุด เครื่องบินของสองพี่น้องตระกูลไรท์ก็ล้าหลังจนไม่สามารถแข่งขันกับใครได้อีกต่อไป

เรื่องราวของสองพี่น้องตระกูลไรท์ให้บทเรียนกับเราอย่างน้อยสามข้อ

หนึ่ง แม้ว่าเราจะทำสิ่งที่เจ๋งสุดยอด แต่ถ้ามันมาก่อนกาล เราก็อาจจะไม่ได้รับผลตอบแทนอย่างที่ควรจะเป็น เหมือนแวนโก๊ะที่ตายไปอย่างคนยากจน เหมือนพี่น้องตระกูลไรท์ที่ไม่มีใครพูดถึงเป็นเวลาเกือบห้าปี

สอง แม้ว่าเราจะเป็น “ผู้บุกเบิก” แต่ถ้าเราไม่ได้รักษาความเป็น “ที่หนึ่ง” เอาไว้ เราก็อาจถูกคลื่นลูกใหม่แซงได้เสมอ

และสาม อย่าปล่อยให้ “การเอาชนะ” และ “การเป็นคนถูก” เข้าครอบงำจนลืมไปว่าสิ่งที่สำคัญคืออะไรครับ


ขอบคุณข้อมูลจากบล็อก Collaborative Fund by Morgan Housel: When You Change the World and No One Notices and Dangerous Feelings

เหตุผลที่ของเต็มบ้านเสมอ

เพราะเวลาเราซื้อของหนึ่งชิ้น มันไม่ได้ซื้อแค่หนึ่งชิ้น

ราวกับของที่เราซื้อมามีชีวิต และสั่งการให้เราซื้อ “เสื้อผ้าเครื่องประดับ” มาให้มันสวมใส่ด้วย

เวลาเราซื้อไอโฟนมาหนึ่งเครื่อง มันก็สั่งให้เราซื้อเคส ซื้อฟิล์มติดหน้าจอ ซื้อหูฟังไร้สาย ซื้อสมาชิกแอปอย่าง Spotify และ Netflix

เวลาเรา “จัดโต๊ะคอม” เราไม่ได้แค่จัดระเบียบโต๊ะ แต่เราซื้อเก้าอี้ ซื้อที่วางแล็ปท็อป ซื้อคีย์บอร์ด ซื้อที่เก็บสาย ซื้อโคมไฟ ซื้อลำโพง

เวลาเราซื้อทีวี เราก็ต้องหาซื้อที่ตั้งทีวี บางทีก็เลยเถิดเป็นชุดวางทีวีที่มีทั้งตู้โชว์ ชั้นวางของ ลิ้นชัก สนนราคาแพงกว่าทีวีเสียอีก

การซื้อของเพียง 1 อย่าง อาจจะนำพาให้เราซื้อของเพิ่มอีก 10 อย่าง

เป็น 10 อย่างที่คงจะไม่ได้ซื้อ หากเราไม่ได้ซื้อของชิ้นแรก

และนี่คือเหตุผลที่ของเราเต็มบ้านเสมอครับ

นิทานนกนก

วันนี้วันศุกร์ มาฟังนิทานกันนะครับ

นกสองพี่น้องอาศัยอยู่ในรังเดียวกัน

วันหนึ่งมีรูเล็กๆ เกิดขึ้น นกตัวพี่คิดว่า

“น้องชายของข้าจะต้องซ่อมรังแน่ๆ”

และนกตัวน้องก็คิดว่า

“พี่ชายของข้าจะต้องซ่อมรังแน่ๆ”

เวลาผ่านไปปรากฏว่าไม่มีใครซ่อมแซมรัง และรูโหว่นั้นก็ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ นกตัวพี่ก็คิดว่า

“คราวนี้น้องชายของข้าต้องซ่อมแซมรังแน่ๆ เพราะเขาจะอาศัยอยู่ในรังที่เสียหายเช่นนี้ได้อย่างไร”

และนกตัวน้องก็คิดว่า

“คราวนี้พี่ชายของข้าต้องซ่อมแซมรังแน่ๆ เพราะเขาจะอาศัยอยู่ในรังที่เสียหายเช่นนี้ได้อย่างไร”

เมื่อฤดูหนาวมาถึง ลมทิศตะวันออกเฉียงเหนือก็พัดครวญครางและเกร็ดหิมะก็ตกลงมาอย่างหนาแน่น

นกทั้งสองพี่น้องกอดกันอยู่ในรังที่เสียหาย แล้วนกก็ร้องออกมาว่า

“หนาวเหลือเกิน! หนาวเหลือเกิน!”

นกตัวพี่คิดว่าน้องชายของมันคงไม่สามารถทนความหนาวเย็นเช่นนี้ได้แน่ๆ มันจึงคิดว่าต้องซ่อมรังแล้วล่ะ

นกตัวน้องคิดว่า พี่ชายของมันไม่สามารถทนความหนาวเย็นเช่นนี้ได้แน่ๆ มันเลยคิดว่าต้องซ่อมรังแล้วล่ะ

แต่นกทั้งสองก็ไม่ได้ทำอะไรนอกจากกอดกันแน่นๆ ลมก็เริ่มพัดแรงขึ้นทุกที ในที่สุดรังของนกก็ถูกลมพัดลงมากองอยู่บนพื้นดิน และนกทั้งสองก็ต้องสิ้นใจตายเพราะความหนาวเหน็บที่แสนทรมาน

คนในองค์กรของเราเป็นเหมือนนกสองตัวนี้รึเปล่านะ


ขอบคุณนิทานจากเพจ นิทานสอนใจ เรื่องนกกาสองพี่น้อง

ทำไมยิ่งห้ามยิ่งทำ – Boomerang Effect

ผมเคยคุยกับอาจารย์ท่านหนึ่งที่มีลูกสาวอยู่ในช่วงวัยรุ่น ผมในฐานะที่มีลูกสาวเหมือนกันเลยถามว่าพอโตไปเป็นวัยรุ่นแล้วคุยกันยากมั้ย อาจารย์ก็เลยเล่าว่าเด็กวัยนี้จะมีความต่อต้านผู้ใหญ่อยู่ในตัวอยู่แล้ว พอเราบอกว่าอยากให้เขาทำ A เขาก็จะทำ B ดังนั้นวิธีแก้ก็คือการบอกให้เขาทำ B เขาจะได้ทำ A อย่างที่เราต้องการ 😉

เพื่อนผมอีกคนหนึ่งก็เคยเล่าให้ฟังว่า ถ้ามีคนมาบอกว่าทำ A สิ แถมยังพูดย้ำด้วยว่าอย่าลืมทำ A นะ สุดท้ายเขาก็จะพานไม่ทำมันซะเลย ทั้งที่ๆ ตอนแรกตั้งใจจะทำ A อยู่แล้ว

ปฏิกิริยาเช่นนี้ มีชื่อเรียกในทางจิตวิทยาว่า psychological reactance หรือในอีกชื่อที่น่าจะติดหูกว่าก็คือ boomerang effect

เหตุใดจึงเกิด boomerang effect ที่ห้ามสิ่งใดก็ทำสิ่งนั้น หรือขอให้ทำสิ่งใดแล้วกลับไม่ยอมทำสิ่งนั้น

เพราะหนึ่งในสิ่งที่คนเราหวงแหนมากที่สุดก็คืออิสรภาพ การโดนใครสั่งให้หันซ้ายหันขวา แม้จะมาจากความหวังดี มันก็ยังเป็นการริดรอนอิสรภาพ สิทธิและตัวตนของเขาอยู่ดี

ดังนั้น การทำในสิ่งที่ตรงกันข้ามกับที่โดนสั่งมา ก็คือการได้เรียกสิทธินั้นกลับคืนมา แม้จะรู้อยู่แก่ใจว่ามันอาจไม่ได้เป็นทางเลือกที่ดีกว่าก็ตาม

สำหรับคนที่ชอบจ้ำจี้จ้ำไช ไม่ว่าจะในฐานะพ่อแม่หรือเจ้านาย ก็ควรระลึกถึง boomerang effect นี้เอาไว้

จะได้ไม่พูดเยอะเกินไปจนเสียงานครับ