เหตุผลที่เราควรงีบตอนบ่าย

20200726

ช่วงนี้กิจวัตรวันสุดสัปดาห์ที่ผมกับแฟนโปรดปรานเป็นพิเศษคือการนอนกลางวันพร้อมลูกๆ

(ณ ตอนที่ผมเขียนบทความนี้ ลูกๆ กับแฟนก็ยังนอนอยู่)

เราคงเคยได้ยินมาว่าหลายประเทศในยุโรปและอเมริกาใต้ วัฒนธรรมการนอนกลางวันยังแข็งแรงอยู่ การงีบตอนบ่ายนั้นมีชื่อเรียกที่เราคุ้นหูว่า siesta (ซีเอสต้า)

ในหนังสือ Why We Sleep ของ Matthew Walker ผู้เขียนบอกว่า สมัยเด็กๆ ที่เขาไปเที่ยวประเทศกรีซนั้น ป้ายตามร้านรวงต่างๆ มักจะเขียนบอกว่าเปิดตอน 9 โมงถึงบ่ายโมง ปิดตอนบ่ายโมงถึงห้าโมงเย็น และเปิดอีกทีตอนห้าโมงถึงสามทุ่ม เพราะช่วงบ่ายเจ้าของร้านต้องงีบเอาแรงนั่นเอง

แต่ป้ายเหล่านี้ค่อยๆ หายไปเรื่อยๆ ตามแรงผลักดันของทุนนิยมที่เรียกร้องให้ร้านในกรีซเปิดให้บริการตลอดทั้งวัน จนทีมวิจัยของ Stanford ตัดสินใจศึกษาว่ามันส่งผลกระทบอย่างไรบ้างด้วยการติดตามกลุ่มตัวอย่าง 23,000 คนในกรีกเป็นเวลา 6 ปี โดยกลุ่มตัวอย่างนี้มีอายุตั้งแต่ยี่สิบกว่าๆ จนไปถึงแปดสิบกว่า

ผลลัพธ์ที่ได้ก็คือ กลุ่มตัวอย่างที่เลิกนอนกลางวันไปนั้นมีโอกาสเป็นโรคเกี่ยวกับหัวใจเพิ่มขึ้น 37% เมื่อเทียบกับคนที่ยังนอนกลางวันเป็นประจำ โดยความแตกต่างนี้ยิ่งชัดขึ้นไปอีกในกลุ่มผู้ชายใช้แรงงานที่มีโอกาสเป็นโรคเกี่ยวกับหัวใจเพิ่มขึ้นถึง 60%

แต่ในเมืองที่วัฒนธรรม siesta ยังคงเหนียวแน่นอย่างเกาะ Ikaria ผู้ชายในเมืองนี้มีโอกาสอายุถึง 90 ปีมากกว่าผู้ชายอเมริกันถึง 4 เท่า

การนอนกลางวันคงไม่ใช่แค่เพียงปัจจัยเดียวสำหรับอายุที่ยืนยาว แต่ส่วนตัวผมเองคิดว่าการนอนกลางวันเป็นหนึ่งในอุปนิสัยที่ดีที่เราควรมีติดตัวเอาไว้

และแน่นอนว่าการนอนกลางวันในที่ทำงานยังเป็นเรื่องที่ทำไม่ได้ในองค์กรส่วนใหญ่ แต่อย่างน้อย Google, NASA และ Huffington Post ก็ช่วยกรุยทางด้วยการมี napping pod หรือเก้าอี้งีบให้กับพนักงานแล้ว

ระหว่างนี้เราก็คงต้องนอนกลางวันในช่วงวันหยุดไปพลางๆ ก่อนนะครับ