Sapiens ตอนที่ 2 – สิ่งที่ทำให้เราครองโลก

20161218_sapiens2

สำหรับคนที่ยังไม่ได้อ่านตอนที่ 1 นี่คือบทความที่ผมสรุปจากหนังสือ Sapiens: A Brief History of Humankind โดยตั้งใจว่าจะทยอยเขียนสัปดาห์ละหนึ่งครั้งครับ

มาเริ่มตอนที่ 2 กันเลยดีกว่า


การปฏิวัติสำคัญของมนุษยชาติ (Homo Sapiens)

70,000 ปีก่อน – Cognitive Revolution การปฏิวัติด้านกระบวนการคิด

12,000 ปีก่อน – Agricultural Revolution การปฏิวัติเกษตรกรรม

500 ปีก่อน – Scientific Revolution การปฏิวัติทางวิทยาศาสตร์

200 ปีก่อน – Industrial Revolution การปฏิวัติอุตสาหกรรม


ความพิเศษของภาษามนุษย์

เมื่อ 70,000 ปีที่แล้ว เผ่าพันธุ์ Homo Sapiens เริ่มออกเดินทางจากแอฟริกาตะวันออก ไปยังทวีปยุโรปและเอเชียซึ่งมีนีแอนเดอธาลและโฮโมอิเร็คตัสอาศัยอยู่ก่อนแล้ว

และช่วงเวลาเดียวกันนี้เอง ที่นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าเกิด Cognitive Revolution ในมันสมองของมนุษย์เซเปี้ยน

ไม่มีใครตอบได้ว่า Cognitive Revolution เกิดเพราะอะไร รู้แต่เพียงว่าช่วง 70,000 ถึง 30,000 ปีที่แล้ว คือช่วงที่มนุษย์คิดค้นเรือ ตะเกียงน้ำมัน ธนู ลูกศร และเข็มเย็บผ้า รวมถึงก้าวขึ้นไปสู่จุดสูงสุดของห่วงโซ่อาหาร

สิ่งหนึ่งที่ Cognitive Revolution มอบให้ ก็คือความสามารถในการใช้ภาษาของมนุษย์

จริงๆ แล้วภาษาไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ เพราะสัตว์อื่นๆ ก็สามารถสื่อสารกันด้วยภาษาง่ายๆ ได้ เช่นผึ้งหรือมดก็มีการสื่อสารที่จะบอกว่าแหล่งอาหารอยู่ตรงไหน

และมนุษย์ก็ไม่ใช่เผ่าพันธุ์แรกที่มีภาษาแบบที่ใช้เสียง (vocal language) เพราะลิงก็มีภาษาของมัน เสียงร้องแบบหนึ่งจะหมายความว่า “ระวังเหยี่ยว!” ส่วนเสียงร้องอีกแบบหนึ่งจะแปลว่า “ระวังสิงโต!”

นักวิทยาศาสตร์เคยอัดเสียงร้องทั้งสองแบบ แล้วเอาไปเปิดให้ลิงฝูงหนึ่งฟัง พอลิงได้ฟังเสียงแรก มันจะมองขึ้นท้องฟ้าด้วยความกลัว พอเปิดเสียงที่สอง มันจะกรูไปปีนขึ้นต้นไม้

แล้วภาษามนุษย์ยอดเยี่ยมกว่าภาษาของสัตว์อื่นยังไง?

หนึ่ง – ภาษาของเรานั้นยืดหยุ่นมาก เราสามารถใช้เสียงไม่กี่เสียงมาผสมกันเพื่อสร้างคำ ประโยค และความหมายได้อย่างไม่จำกัด

ในขณะที่ลิงเตือนพูดได้แค่ “ระวังสิงโต!” แต่มนุษย์เราสามารถเล่าได้ว่า “เมื่อเช้านี้ ตรงแถวๆ ริมแม่น้ำ มีสิงโตตัวหนึ่งกำลังไล่ตามฝูงวัวกระทิงอยู่”

สอง – นอกจากจะพูดถึงสิ่งอื่นได้แล้ว มนุษย์ยังใช้ภาษาเพื่อเอาไว้ซุบซิบนินทากันเองด้วย (gossip)

ฟังดูเป็นเรื่องไร้สาระ แต่จริงๆ แล้วนี่เป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะมนุษย์นั้นต้องอยู่รวมกันเป็นกลุ่มเพื่อล่าอาหารและสืบพันธุ์ ดังนั้นสิงโตอยู่ที่ไหนจึงไม่สำคัญเท่ากับว่า ในเผ่าของเรา ใครเกลียดขี้หน้าใคร ใครกำลังกุ๊กกิ๊กกับใคร ใครเชื่อถือได้ และใครขี้โกหก

สาม – และเป็นข้อที่สำคัญที่สุด – คือภาษาของมนุษย์นั้นสามารถพูดถึงสิ่งที่ไม่มีอยู่จริงได้ด้วย

มนุษย์ Homo Sapiens เป็นเพียงเผ่าพันธุ์เดียวที่สามารถนึกคิด ถ่ายทอด และเชื่อในสิ่งที่เป็นนามธรรม

สัตว์หรือ Homo เผ่าพันธุ์อื่นพูดอาจพูดคำว่า “ระวังสิงโต!” ได้

แต่มีเพียง Homo Sapiens เท่านั้นที่จะพูดว่า “สิงโตคือจิตวิญญาณผู้ปกป้องเผ่าของเรา”

ความสามารถในการสื่อสารเรื่องที่แต่งขึ้นเอง (fiction) หรือความจริงสมมติ (imagined reality) คือคุณลักษณะพิเศษที่สุดของ Homo Sapiens

สัตว์อื่นๆ ไม่มีความสามารถในการคิดถึงหรือเชื่อเรื่องที่จับต้องไม่ได้

เราไม่มีทางโน้มน้าวให้ลิงตัวไหนเชื่อได้เลยว่า ขอเพียงเจ้าเอากล้วยหอมมาให้เราหนึ่งหวีตอนนี้ แล้วพอเจ้าตายไป เจ้าจะได้ขึ้นสวรรค์ที่เต็มไปด้วยลิงสวยๆ และมีกล้วยนับล้านหวีให้กินตลอดไป

แต่เราพูดสิ่งนี้กับมนุษย์ได้ และมนุษย์นับล้านคนก็พร้อมที่จะเชื่อเสียด้วย

แล้วการที่มนุษย์สามารถสื่อสารและเชื่อ “เรื่องที่แต่งขึ้น” มันทำให้เราครองโลกได้อย่างไร



นิทานปรัมปรา

สังเกตได้ว่า สัตว์ที่อยู่กันเป็นฝูงอย่างลิงนั้น ขนาดของฝูงมักจะไม่ใหญ่นัก เพราะการที่สัตว์กลุ่มหนึ่งจะอยู่ด้วยกันและร่วมมือกันออกหาอาหารได้นั้น สัตว์ทุกตัวในฝูงต้องรู้จักและคุ้นเคยกันพอสมควร ถ้าขนาดของฝูงใหญ่เกินไป ความวุ่นวายจะตามมา และสัตว์กลุ่มหนึ่งก็จะออกจากฝูงเพื่อไปตั้งกลุ่มใหม่

เหล่า Homo Sapiens รุ่นก่อนเก่าอาจจะตั้งกลุ่มได้ใหญ่กว่าลิงนิดหน่อย เพราะเรามีภาษาที่เอาไว้ซุบซิบเพื่อรับรู้ข้อมูลของคนอื่นๆ ในฝูงได้ แต่ขนาดของกลุ่มก็ยังมีขีดจำกัดอยู่ดี โดยตัวเลขที่นักวิทยาศาสตร์เห็นตรงกันก็คือ 150 คน ถ้ากลุ่มขยายขนาดใหญ่กว่านี้จะเริ่มอยู่ด้วยกันลำบากแล้ว (อ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ Dunbar’s Number)

แล้วเหตุใด Homo Sapiens ถึงสามารถก้าวข้ามขีดจำกัดของขนาด 150 คน และสร้างเมือง ประเทศ หรืออาณาจักรที่มีคนนับแสนนับล้านได้?

คำตอบก็คือ Sapiens เราเชื่อใน common myths ครับ

common = โดยทั่วไป หรือ เหมือนๆ กัน

myths = ตำนาน หรือนิทานปรัมปรา

common myths = นิทานที่ทุกคนยึดถือโดยทั่วกัน

ตำนาน เทพเจ้า ศาสนา เงินตรา ล้วนแล้วแต่เป็น common myths

common myths ก่อให้เกิดการร่วมมือกันของคนแปลกหน้าอย่างที่ไม่เคยมีเผ่าพันธุ์ใดทำได้มาก่อน

ชาวแคธอลิกที่ไม่เคยรู้จักกันอาจพร้อมใจบริจาคเงินสร้างโรงพยาบาล เพราะพวกเขาต่างก็เชื่อเรื่องบุตรของพระเจ้าที่ลงมาเกิดเป็นมนุษย์และยอมสละชีพเพื่อไถ่บาปให้แก่พวกเราทุกคน

ชาวเซอร์เบียสองคนที่ไม่เคยเจอกันมาก่อนพร้อมจะออกรบและพลีชีพเพื่อธำรงค์ไว้ซึ่ง “แผ่นดินเซอร์เบีย” และ “ชนชาติเซอร์เบีย”

ทนายความสองคนที่ไม่เคยพบหน้ากันมาก่อนอาจจะร่วมมือกันเพื่อว่าความให้จำเลยที่เขาไม่รู้จัก เพราะพวกเขาต่างเชื่อเรื่อง “ความยุติธรรม” และ “สิทธิมนุษยชน”

แต่ common myths ต่างๆ เหล่านี้เป็นเพียง “ความจริงสมมติ” ที่มีอยู่แค่ในจินตนาการร่วมของพวกเราเหล่า Homo Sapiens เท่านั้น ไม่ได้มีตัวตนอยู่จริงในทางกายภาพเลย

ความสามารถที่จะเชื่อเรื่องราวที่แต่งขึ้นนี่เอง ที่ทำให้ Homo Sapiens เหนือกว่า Homo ตระกูลอื่นๆ

ถ้าต้องสู้กันแบบตัวต่อตัว Homo Sapien คงไม่อาจสู้กับ Neanderthal ได้ เพราะนีแอนเดอธาลนั้นตัวใหญ่กว่าและแข็งแรงกว่า

แต่ถ้าต้องปะทะกันเป็นกลุ่ม เผ่าเซเปี้ยนจะเหนือกว่าเผ่านีแอนเดอธาลอยู่หลายขุม เพราะแม้นีแอนเดอธาลอาจจะสื่อสารได้ว่าสิงโตอยู่ที่ไหน แต่นีแอนเดอธาลไม่สามารถเล่าเรื่องราวของจิตวิญญาณของสิงโตที่ปกป้องและคุ้มครองเผ่าของตนได้

ความเชื่อมั่นใน common myths นี่เองทำให้เซเปี้ยนสามารถรวมกลุ่มกันได้ใหญ่กว่า และร่วมแรงร่วมใจกันได้มากกว่าจนอยู่เหนือ Homo สายพันธุ์อื่น


นิทานเปอร์โยต์

บริษัทเปอร์โยต์ เป็นองค์กรสัญชาติฝรั่งเศสที่มีพนักงาน 200,000 คน ผลิตรถปีละกว่า 1 ล้าน 5 แสนคัน

แต่อะไรคือบริษัทเปอร์โยต์?

รถเปอร์โยต์ไม่ใช่บริษัท เพราะต่อให้เอารถยี่ห้อเปอร์โยต์ทุกคันมาทุบทิ้ง บริษัทเปอร์โยต์ก็ยังคงอยู่และผลิตรถคันใหม่ออกมาได้

โรงงานก็ไม่ใช่บริษัทเปอร์โยต์ เพราะต่อให้โรงงานทุกที่ถูกทำลาย บริษัทก็ยังกู้เงินมาสร้างโรงงานใหม่ได้

พนักงานก็ไม่ใช่บริษัทเปอร์โยต์ เพราะต่อให้ CEO หรือพนักงานทุกคนตายไป ตัวบริษัทเองก็ยังอยู่และรับพนักงานใหม่ได้

จริงๆ แล้ว วิธีเดียวที่จะทำลายบริษัทเปอร์โยต์ได้ คือต้องให้ศาลฝรั่งเศสประกาศความสิ้นสุดของบริษัทเปอร์โยต์ และเมื่อผู้มีอำนาจจรดปากกาเพื่อเซ็นต์ลายเซ็นต์ตัวเองบนกระดาษหนึ่งแผ่น ความเป็น “บริษัทเปอร์โยต์” ก็สิ้นสุดลง

บริษัทเปอร์โยต์จึงเป็นเพียง “นิทาน” ชนิดหนึ่งที่มีชื่อเรียกว่า “บริษัทจำกัด” (Limited Liability Company) ซึ่งเป็นนวัตกรรมทางความคิดที่ชาญฉลาดที่สุดอย่างหนึ่งของมนุษย์เซเปี้ยน

ถ้าผมเกิดในปี ค.ศ.1250 (ก่อนจะมีคอนเซ็ปต์บริษัทจำกัด) และทำธุรกิจผลิตรถเกวียน หากลูกค้าซื้อรถเกวียนไปใช้ได้ครั้งเดียวแล้วพัง ลูกค้าจะต้องมาฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากผม และถ้าผมมีเงินไม่พอ ผมต้องขายบ้านขายทรัพย์สินเพื่อหาเงินมาชดใช้

เมื่อเจ้าของคือบริษัท และบริษัทคือเจ้าของ คนส่วนใหญ่จึงไม่กล้าทำธุรกิจ เพราะถ้าพลาดขึ้นมานั่นหมายความว่าครอบครัวของตัวเองจะซวยไปด้วย

มนุษย์เราจึงร่วมกันจินตนาการสิ่งที่เรียกว่า “บริษัทจำกัด” ขึ้นมา

บริษัทเป็น “นิติบุคคล” (ตัวตนทางกฎหมาย) ที่แยกออกมาจากเจ้าของหรือนักลงทุนโดยสิ้นเชิง

นายอาร์มอง เปอร์โยต์ (Armand Peugeot) คือผู้ก่อตั้งบริษัทเปอร์โยต์

ถ้ารถยนต์เปอร์โยต์พัง ลูกค้าสามารถฟ้องร้องบริษัทเปอร์โยต์ได้ แต่ฟ้องร้องนายเปอร์โยต์ไม่ได้

ถ้าบริษัทเปอร์โยต์กู้เงินจากแบงค์มาแล้วบริษัทเจ๊ง แบงค์ก็ไม่สามารถบังคับให้นายเปอร์โยต์ขายทรัพย์สินของตัวเองได้ เพราะคนที่ติดหนี้แบงค์คือนิติบุคคลที่ชื่อว่าบริษัทเปอร์โยต์ ไม่ใช่นายอาร์มอง เปอร์โยต์

และแม้นายเปอร์โยต์จะตายไปนานแล้ว แต่บริษัทเปอร์โยต์ก็ยังสุขสบายดี

ในช่วงสองร้อยปีที่ผ่านมา “บริษัทจำกัด” คือตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลก และเราก็คุ้นเคยกับมันเสียจนเราลืมไปเลยว่าบริษัทเหล่านี้เป็นเพียง “ความจริงสมมติ” ที่มีตัวตนอยู่แค่ใน “จินตนาการร่วม” ของมนุษย์เท่านั้น


ประกาศอิสรภาพจากพันธุกรรม

นอกจาก Homo Sapiens แล้ว สัตว์ทุกชนิดจะมีพฤติกรรมเหมือนเดิมจนกว่าจะถูกบังคับให้ปรับตัวเพราะความเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติ ที่เราเรียกว่าการกลายพันธุ์ทางพันธุกรรม (genetic mutation)

เมื่อ 2 ล้านปีที่แล้ว เกิดการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรมของจนเกิดเผ่าพันธุ์ Homo erectus ขึ้นมา โดยเผ่าพันธุ์นี้เป็นเผ่าพันธุ์ที่คิดค้นเครื่องมือที่ทำจากหิน เราจึงเรียก Homo erectus ว่าคนยุคหิน

แต่เพราะว่าหลังจากนั้นไม่มีการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรมใน Homo erectus อีกเลย พวกเขาจึงใช้เครื่องมือหินแบบเดิมอยู่ถึง 2 ล้านปี!

ในขณะที่ Homo Sapiens นั้นสามารถจินตนาการและเชื่อเรื่องที่แต่งขึ้นเองได้ เราจึงเปลี่ยนพฤติกรรมได้โดยไม่ต้องหวังพึ่งการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรมอีกต่อไป

เป็นเวลาสองล้านปีที่ Homo erectus ใช้ชีวิตเหมือนเดิมทุกวัน

แต่ในเวลาแค่สามหมื่นปี Homo Sapiens เปลี่ยนแปลงเครื่องมือมาไม่รู้กี่ครั้ง เปลี่ยนการปกครองมาไม่รู้กี่หน

เมื่อสามหมื่นปีก่อน อาวุธที่ดีที่สุดที่เซเปี้ยนคนหนึ่งจะสร้างได้คือธนูและลูกศร

มาสมัยนี้ เราสามารถสร้างอาวุธอย่างระเบิดนิวเคลียร์ ไม่ใช่เพราะว่ามือของเราทำงานได้ดีกว่านายช่างเซเปี้ยนเมื่อสามหมื่นปีก่อน แต่เป็นเพราะว่าเราสามารถร่วมมือกับคนหลายพันคนที่เราไม่เคยเห็นหน้า ไม่ว่าจะเป็นคนขุดแร่ยูเรเนียม นักฟิสิกส์ที่คิดสูตรระเบิด หรือนักการเมืองที่ยกมือในสภาเพื่ออนุมัติการสร้างอาวุธนิวเคลียร์

Common Myths ที่เชื่อมโยงจินตนาการของมนุษยชาติไว้ด้วยกันจึงเป็นเหมือน “ทางด่วนของวิวัฒนาการ” ที่ทำให้เผ่าพันธุ์ Homo Sapiens พัฒนาอย่างก้าวกระโดดและอยู่เหนือทุกเผ่าพันธุ์บนโลกใบนี้

โปรดติดตามตอนต่อไปในสัปดาห์หน้า


ขอบคุณข้อมูลจาก Sapiens: A Brief History of Humankind by Yuval Noah Harrari

facebook.com/anontawongblog
anontawong.com/archives
Download eBook – เกิดใหม่

ขอบคุณภาพจาก Pixabay.com

14 thoughts on “Sapiens ตอนที่ 2 – สิ่งที่ทำให้เราครองโลก

  1. เขียนดีมากค่ะ เข้าใจง่าย ขอบคุณนะคะ

    Like

  2. มนุษย์อยู่ได้ด้วยความเชื่อ จริงด้วยแฮะ

    Like

  3. Pingback: Sapiens ตอนที่ 14 – 500 ปีแห่งความก้าวหน้า | Anontawong's Musings

  4. Pingback: Sapiens ตอนที่ 13 – ยุคแห่งความไม่รู้ | Anontawong's Musings

  5. Pingback: ทำงานให้ใคร | Anontawong's Musings

  6. Pingback: Sapiens ตอนที่ 12 – ศาสนไร้พระเจ้า | Anontawong's Musings

  7. Pingback: Sapiens ตอนที่ 10 – จักรวรรดิ | Anontawong's Musings

  8. Pingback: Sapiens ตอนที่ 9 – มนตราของเงินตรา | Anontawong's Musings

  9. Pingback: Sapiens ตอนที่ 8 – โลกที่ถูกหลอมรวม | Anontawong's Musings

Leave a comment