บทเรียนที่ Jack Welch ได้รับจากเหตุการณ์เฉียดตาย

Jack Welch เป็นหนึ่งในผู้บริหารที่โด่งดังที่สุดในยุค 90’s และ Y2K

เวลช์คืออดีต CEO ของ GE (จีอี) หรือ General Electric ซึ่งเคยเป็นบริษัทที่มีมูลค่าสูงที่สุดในโลก

ในปี 1995 เวลช์มีอาการหัวใจวาย จนต้องได้รับการผ่าตัดฉุกเฉินและรอดชีวิตมาได้

เคยมีเพื่อนถามเวลช์ว่า ก่อนเข้าห้องผ่าตัด เวลช์ตระหนักอะไรได้บ้างจากเหตุการณ์เฉียดตายครั้งนั้น

เวลช์ตอบว่าความคิดที่แล่นมาในหัวของเขาในตอนนั้นก็คือ

“Damn in, I didn’t spend enough money.”

ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ ว่า ณ วินาทีแห่งความเป็นความตาย CEO บริษัทที่ใหญ่โตที่สุดในโลกกลับคิดเสียดายว่าที่ผ่านมาตัวเองใช้จ่ายเงินน้อยไปหน่อย

เวลช์อธิบายเพิ่มเติม:

“เราทุกคนล้วนเป็นผลผลิตจากพื้นเพของเรา ตอนเด็กๆ ผมยากจนมาก โตขึ้นผมเลยกลายเป็นคนที่ค่อนข้างขี้เหนียว ถ้าจะซื้อไวน์ผมก็จะซื้อไวน์ราคาถูกตลอด เวลาสั่งไวน์ที่ร้านอาหารผมจะดูราคาก่อนเสมอ ตอนที่ผมรู้ตัวว่าความตายรออยู่ตรงหน้า ผมตั้งปณิธานเอาไว้เลยว่าจากนี้ไปผมจะไม่ยอมซื้อไวน์ราคาถูกกว่า $100 อีกเด็ดขาด นั่นคือบทเรียนสำคัญที่ผมได้จากประสบการณ์ครั้งนั้น”

ความประหยัดมัธยัสถ์เป็นเรื่องดี เพราะมันจะทำให้เราสามารถเก็บหอมรอมริบและมีความมั่นคงในอนาคต

แต่ดีเกินดีคือไม่ดี หากเราเอาแต่เก็บเงินโดยไม่ใช้มันเพื่อสร้างความสุขให้กับตัวเองและคนที่เรารักบ้างเลย เงินที่เรามีก็ย่อมสูญเสียความหมายและคุณค่าอย่างที่มันควรจะเป็น

สิ่งที่ผมเชื่อก็คือนิสัยเรื่องการใช้จ่ายเงินนั้นถูกหล่อหลอมมาตั้งแต่เรายังเด็ก แม้เวลาจะผ่านพ้นไป บริบทจะเปลี่ยนไป และฐานะทางการเงินเราจะดีขึ้นมาก แต่เราอาจจะยังติดนิสัยเดิมๆ ที่ยังประหยัดเกินความจำเป็นอยู่ก็ได้

ความสนุกและท้าทายคือเราจะบริหารความสัมพันธ์ที่เรามีกับเงินอย่างไร เพื่อให้มันสร้างความมั่นคงกับเราในอนาคตโดยไม่ปล้นความสุขในปัจจุบันไปจนเกินควรครับ


ขอบคุณคำตอบของ Jack Welch จาก The New Yorker: Was Jack Welch the Greatest C.E.O. of His Day — or the Worst?

นิยามของความมัธยัสถ์

วิวัฒนาการคือแรงขับเคลื่อนที่ทรงพลังที่สุดในโลก มันสามารถเปลี่ยนสิ่งมีชีวิตเซลล์เดียวให้กลายมาเป็นมนุษย์ยุคนี้ได้

แต่วิวัฒนาการไม่รู้หรอกว่าตัวเองกำลังทำอะไรอยู่ เพราะมันไม่มีคู่มือใดๆ ทั้งสิ้น บางทีมันไม่ค่อยเก่งเรื่องการคัดสรรคุณสมบัติที่เหมาะสมด้วยซ้ำ

พลังเพียงอย่างเดียวของมันคือมันทำการทดลองเป็นล้านล้านครั้ง และอันไหนไม่เวิร์คก็ฆ่าทิ้งเสีย ส่วนผู้ที่เหลือรอดก็จะได้อยู่ต่อไป

มีทฤษฎีหนึ่งที่ชื่อว่า Fisher’s Fundamental Theorem of Natual Selection ที่บอกว่าความหลากหลายคือความแข็งแกร่ง เพราะยิ่งประชากรมีความหลากหลายมากเท่าไหร่ ก็จะยิ่งมีคุณสมบัติให้คัดสรรมากเท่านั้น

ซึ่งก็อุปมาอุปไมยเหมือนกับการใช้เงิน

หลายคนไม่รู้ว่าการใช้เงินแบบไหนจะทำให้เรามีความสุข เราควรซื้ออะไรดี? ควรเดินทางไปไหนดี? ควรเก็บเงินเท่าไหร่ดี?

ไม่มีคำตอบที่ถูกต้องเพราะเราแต่ละคนนั้นแตกต่าง คนส่วนใหญ่จึงมักเชื่อตามเสียงของสังคมที่บอกว่าของที่ราคาสูงที่สุดจะทำให้เรามีความสุขได้มากที่สุด

แต่ความจริงไม่ได้เป็นอย่างนั้น เราต้องลองใช้เงินในหลากหลายรูปแบบเพื่อจะได้รู้ว่าแบบไหนที่เหมาะกับเรา บางคนชอบเดินทาง ส่วนบางคนนั้นติดบ้าน บางคนชอบกินร้านอาหารหรู แต่บางคนชอบฟาสต์ฟู้ดมากกว่า หลายคนมองว่าการนั่งเครื่องบินชั้นเฟิร์สคลาสเป็นเรื่องหลอกกินเงิน แต่สำหรับบางคนก็มองว่ามันคุ้มค่า

ยิ่งเราได้ลองใช้เงินในรูปแบบต่างกันมาเท่าไหร่ เรายิ่งมีโอกาสจะเจอของที่ใช่มากขึ้นเท่านั้น และการลองก็ไม่ต้องลงทุนอะไรเยอะ แค่ลองชิมอาหารจานใหม่ ลองใช้บริการใหม่ๆ ลองซื้อรองเท้าสวยๆ ฯลฯ

เหมือนที่ Ramit Sethi เคยนิยามไว้

“โดยเนื้อแท้แล้ว ‘ความมัธยัสถ์’ คือการหาให้เจอว่าเรารักสิ่งใดมากพอที่จะยอมใช้เงินอย่างอู้ฟู่ และพร้อมที่จะลดค่าใช้จ่ายกับทุกอย่างที่เหลือ”

“Frugality, quite simply, is about choosing the things you love enough to spend extravagantly on — and then cutting costs mercilessly on the things you don’t love.”

ไม่มีคู่มือที่จะบอกว่าอะไรจะทำให้เรามีความสุข เราแค่ต้องลองสิ่งละอันพันละอย่างเพื่อหาให้เจอว่าอะไรที่เหมาะกับเรา


ผมแปลข้อความข้างต้นมาจากส่วนหนึ่งของบทความ The Art and Science of Spending Money ของ Morgan Housel

ผมชอบคำพูดของ Ramit Sethi เป็นพิเศษ ตรงที่เขานิยามความประหยัดว่าไม่ใช่ความตระหนี่ถี่เหนียวและอยากจ่ายให้น้อยที่สุดในทุกเรื่อง แต่คือการเลือกให้ดีว่าจะตัดเรื่องอะไร และจะยอมอู้ฟู่กับเรื่องอะไร

ผมเป็นคนประหยัดกับข้าวของส่วนตัว ไม่เคยอินกับแคมเปญ 11.11 พร้อมจะใช้ของไม่มียี่ห้อถ้ามันตอบโจทย์ได้ 70%

ผมเคยบ่นกับน้องในทีมว่าหูฟังสายไฟมันเริ่มลอกแล้ว กลัวไฟช็อต น้องก็แนะนำหูฟังยี่ห้อหนึ่งราคาสามพันกว่าบาท ผมบอกว่าไม่กล้าซื้อ ปกติผมซื้อแต่หูฟังในเซเว่นอันละร้อยกว่าบาทเท่านั้น

แต่ถ้าผมกับแฟนไปดูคอนเสิร์ต ผมพร้อมควักเงินซื้อตั๋วที่นั่งใกล้เวทีราคาหลายพันได้แบบไม่เสียดาย เพราะคิดว่าไปคอนเสิร์ตทั้งทีแล้วก็อยากเห็นหน้าศิลปินคนโปรดชัดๆ

ความยากอย่างหนึ่งเรื่องการใช้เงินคือเราจะบาลานซ์อย่างไรระหว่างการจับจ่ายใช้สอยเพื่อความสุขในวันนี้ และการเก็บออมและลงทุนเพื่อความมั่นคงในวันหน้า

เพราะแม้ว่าความมั่นคงเป็นสิ่งสำคัญ แต่เราก็ไม่รู้ว่าเราจะอยู่ถึงวันนั้นรึเปล่า หรือเมื่อถึงวันนั้นแล้วเราจะยังแข็งแรงพอที่จะทำบางสิ่งบางอย่างหรือไม่ ดังนั้นถ้าเราไม่ใช้เงินเพื่อปัจจุบันบ้างเลยผมว่ามันก็เป็นการฝากความหวังไว้กับอนาคตมากไปหน่อย

ทดลองให้รู้ว่าเงินซื้อความสุขให้เราในเรื่องไหนได้บ้าง อู้ฟู่ไปกับมัน แล้วค่อยประหยัดกับเรื่องที่ไม่ได้สำคัญกับเราครับ

คนรวยที่สุด 1% มีวิธีคิดอย่างไร

ฉันอายุ 17 ปี ส่วนพ่อแม่ของฉันก็มีรายได้และ net worth ที่ทำให้เราเป็นคนรวยที่สุด 1% ในอเมริกา

แม่เป็นคนหารายได้เข้าครอบครัวมากที่สุด เธอเป็นผู้บริหารบริษัทติดอันดับ Fortune 500 แม้ว่าเธอจะได้รายได้เป็นหุ้นมากกว่าเงินเดือนก็ตาม ครอบครัวของเรามีทั้งพินัยกรรมและกองทุนทรัสต์สำหรับฉันและน้องชาย

คนมักจะนึกว่าคนร่ำรวยนั้นชอบโชว์หรู นี่ไม่ใช่เรื่องจริงเลย พวก “เศรษฐีใหม่” (nouveau riche) อาจจะเป็นแบบนั้น แต่พวกเขาจะรวยอยู่ได้ไม่นานนักหรอกเพราะว่าพวกเขามักจะมีหนี้สิน ส่วนคนที่อยู่ในระดับ Top 1% และมีความตั้งใจที่จะรักษาและขยายความมั่งคั่งนั้นจะใช้ชีวิตอย่างพอประมาณและใช้น้อยกว่าที่หามาได้เสมอ

ครอบครัวของฉันสามารถซื้อบ้านที่แพงกว่านี้ได้อีกหลายเท่า แต่เรากลับอาศัยอยู่ในบ้านที่มี 4 ห้องนอน 3 ห้องน้ำ บ้านหลังนี้ราคาต่ำกว่าเงินเดือนของพ่อแม่ในแต่ละปีเสียอีก

ถ้าเราจะซื้อรถหรูๆ สัก 3-4 คันเราก็ทำได้ แต่ครอบครัวใช้รถโตโยต้าปี 2011 และรถฮอนด้าปี 2006 [ข้อความนี้เขียนเมื่อปี 2017] ประเด็นก็คือแม้ว่าเราจะไม่ได้ใช้ของราคาแพงที่สุด แต่เราไม่มีหนี้สินเลย เราไม่ต้องผ่อนรถ ไม่ต้องผ่อนบ้าน สำหรับคนทั่วไปแล้วเราเหมือนชนชั้นกลางระดับบน (upper middle class) เท่านั้นเอง

การได้เป็น Top 1% ทำให้ฉันเบาใจอยู่เหมือนกัน เพราะไม่ต้องคอยกังวลว่าจะมีเงินจ่ายค่าเทอมรึเปล่า ไม่ว่าฉันจะเลือกเข้ามหาวิทยาลัยเอกชนที่ไหนพ่อแม่ก็จ่ายไหว ถ้าพ่อแม่ตกงานเราก็ไม่ลำบากเพราะเรามีรายได้จากการลงทุนมากพอ ถ้าเศรษฐกิจแย่เราก็ไม่เป็นไรเพราะพ่อแม่มีเงินเดือนที่สูงพอสมควร แต่ถ้าพ่อแม่ตกงานแถมเศรษฐกิจก็ย่ำแย่ด้วย เราก็ต้องระมัดระวังเรื่องค่าใช้จ่ายมากขึ้น แต่สุดท้ายแล้วเรามีเงินเก็บก้อนใหญ่พอที่จะไม่เดือดร้อนอะไรนัก

ฉันพยายามไม่ให้เพื่อนรู้ถึงฐานะทางบ้านของฉัน ถ้าเพื่อนๆ รู้พวกเขาน่าจะปฏิบัติกับฉันต่างจากเดิมพอสมควร พวกเขาน่าจะคิดแค่ว่าครอบครัวฉันฐานะดีกว่าค่าเฉลี่ย แต่ถ้าเขาได้รู้ว่าจริงๆ แล้วเรามีทรัพย์สมบัติเท่าไหร่เขาคงจะคาดหวังให้ฉันใส่เสื้อผ้าแบรนด์เนม มีรถของตัวเอง และไปเที่ยวต่างประเทศบ่อยๆ แม้แต่เพื่อนสนิทที่สุดของฉันก็ยังไม่รู้ฐานะที่แท้จริงของครอบครัวเรา และฉันก็ไม่อยากให้รู้ด้วย

ครอบครัวเรามีคอนเน็คชั่นระดับนึง แต่ก็ไม่มากนักเมื่อเทียบกับบางครอบครัว ฉันรู้จักคนอายุรุ่นราวคราวเดียวกันที่ได้ไปตีกอล์ฟกับนักอเมริกันฟุตบอล NFL เพราะครอบครัวของเขามีคอนเน็คชั่นที่ดีกว่าเรามาก

ดูเหมือนว่าคนที่อยู่นอก 1% นั้นไม่ได้ให้ความสำคัญกับคอนเน็คชั่นเท่าไหร่ การได้รู้จักคนสำคัญนั้นอาจมีประโยชน์ แต่การได้รู้จักใครบางคนที่รู้จักคนสำคัญนั้นดูเหมือนไม่ใช่เรื่องที่คนนอก 1% จะใส่ใจ ซึ่งเรื่องนี้ฉันยังไม่ค่อยเข้าใจเท่าไหร่นัก

เรามีคอนเน็คชั่นที่ดีกับนักการเมืองท้องถิ่น หากพ่อแม่อยากทำอะไรให้เกิดเขาก็มีโอกาส 50/50 ที่จะทำสำเร็จ พ่อแม่จะใช้คอนเน็คชั่นเพื่อทำสิ่งที่เขาเชื่อว่าถูกต้อง ไม่ใช่เพื่อให้ได้มาซึ่งเงินทอง การเคลื่อนไหวของพ่อแม่ช่วยให้สวนสาธารณะแถวบ้านของเราสะอาดสะอ้านและทำให้เจ้าหน้าที่เคร่งครัดในเรื่องการปล่อยของเสียลงท่อระบายน้ำ

ฉันได้รู้ซึ้งถึงคอนเน็คชั่นของพ่อแม่ตอนที่ฉันทำโปรเจ็คของโรงเรียนเกี่ยวกับการบริหารงบที่ผิดพลาดของเทศบาล พ่อแม่ช่วยให้ฉัน “อ่านระหว่างบรรทัด” จนเจอข้อน่าสงสัยเต็มไปหมด

คนส่วนใหญ่ใน Top 1% (ยกเว้นแต่ตัวท็อปจริงๆ) ไม่ได้มีอิทธิพลเพราะเงิน แต่มีอิทธิพลเพราะคอนเน็คชั่น โดยปกติคนเราจะผูกมิตรกับคนที่อยู่ระดับเดียวกันอยู่แล้ว ถ้าคุณคบแต่เศรษฐี คุณก็ย่อมมีเพื่อนเป็นนักการเมือง เจ้าของธุรกิจใหญ่ รวมถึงบรรดามืออาชีพที่ยินดีจะเฟเวอร์เพื่อนของตัวเอง ไม่ต่างอะไรกับเด็กหัวดีในห้องที่ยอมให้เพื่อนสนิทลอกการบ้าน แต่จะไม่พอใจหากมีคนอื่นพยายามจะลอกบ้าง

ฉันคิดว่าข้อได้เปรียบที่สุดของกลุ่ม 1% ที่มีต่อกลุ่ม 99% ก็คือ แม้ว่าฉันและครอบครัวจะเจอช่วงเวลาที่ยากลำบาก เราก็จะยังเอาตัวรอดได้อยู่ ซึ่งความมั่นใจนี้แหละที่ทำให้เรากล้าทำสิ่งที่ต้องแบกรับความเสี่ยง ซึ่งนั่นย่อมนำไปสู่โอกาสนำรายได้และทรัพย์สินมาให้เรามากกว่าเดิม


ขอบคุณเนื้อหาจาก Quora: Anonymous answer to What’s it like to be rich as in 1% rich?

ความแตกต่างระหว่างคนรวยจริงกับคนรวยปลอม

Ken Honda เป็นนักเขียนชาวญี่ปุ่นที่ออกหนังสือมาแล้วกว่า 50 เล่ม

ฮอนดะเคยทำการสำรวจเศรษฐี (millionaire) ชาวญี่ปุ่นจำนวน 12,000 คนและพบว่า ไม่ว่าเศรษฐีเหล่านี้จะมีเงินเท่าไหร่ พวกเขาก็ยังต้องการมากขึ้นอยู่ดี

ฮอนดะเคยสัมภาษณ์คนที่มีเงิน 1 ล้านเหรียญในธนาคารว่า “คุณรู้สึกว่าคุณร่ำรวยอย่างแท้จริงรึยัง” เขาตอบว่ายัง เพราะเขายังมีเงินไม่ถึง 10 ล้านเหรียญ

แต่พอฮอนดะไปถามคนที่มีเงิน 10 ล้านเหรียญ เขาก็ตอบว่ายังไม่รวยเช่นกัน เพราะอยากมีเครื่องบินส่วนตัว

แล้วพอฮอนดะไปถามคนที่มีเครื่องบินส่วนตัว เขาก็ตอบว่ายังไม่รวย เพราะเครื่องบินของเขานั่งได้แค่ 6 คน

ดังนั้นจำนวนเงินในกระเป๋า (หรือในธนาคาร) จึงไม่ใช่ปัจจัยหลักที่นำไปสู่ความรู้สึกว่าเรารวยแล้ว

ฮอนดะพบว่า ความแตกต่างระหว่างเศรษฐีที่ยังไม่รวยกับเศรษฐีที่รู้สึกว่ารวยแล้วนั้นมีอยู่อย่างเดียว นั่นคือโลกทัศน์ที่เปลี่ยนไป – a shift in worldview

คนที่รู้สึกว่าตัวเองรวยแล้วมองว่าเงินเป็นเหมือนอากาศที่มีอยู่ทุกที่ และเงินเหล่านี้ก็จะไหลผ่านเขาเมื่อถึงเวลาจำเป็น พวกเขาไม่มีเป้าหมายทางการเงิน ไม่มีเป้าหมายที่จะซื้อเครื่องบินส่วนตัว พวกเขาแค่เชื่อว่าเมื่อถึงเวลาเขาก็จะมีเงินที่จำเป็นต้องใช้เอง และเมื่อเขาเชื่อแบบนี้ เขาจึงสามารถตอบว่า “รวยแล้ว!” ได้อย่างเต็มปากเต็มคำ

เป็นมุมมองที่น่าสนใจ เลยนำมาเล่าสู่กันฟัง

เผื่อวันหนึ่งเราจะมองเงินเป็นเหมือนอากาศได้อย่างเขาบ้างครับ


ขอบคุณเนื้อหาจาก The Buddha and The Badass by Vishen Lakhiani

เมื่อรายจ่ายก้อนใหญ่ที่สุดคือดอกเบี้ย

สำหรับบางคน รายจ่ายก้อนใหญ่ที่สุดของแต่ละเดือนคือดอกเบี้ย

ใครที่ผ่อนบ้านหรือคอนโด จะรู้ดีว่าช่วง 5-10 ปีแรกนั้น เงินที่ส่งแต่ละเดือนจะเป็นค่าดอกเบี้ยเกินกว่าครึ่ง

ผ่อนบ้านปีละ 500,000 บาท เป็นค่าดอกเบี้ยไปแล้ว 250,000 บาท

ส่วนคนที่เป็นหนี้บัตรเครดิต รูดจ่ายเดือนละ 20,000 บาทและชำระขั้นต่ำไปเรื่อยๆ ภายในเวลา 1 ปีเราจะเสียดอกเบี้ยไป 20,234 บาทและเป็นหนี้อยู่ 143,077 บาท

และถ้าใครเป็นหนี้นอกระบบ ดอกเบี้ยก็จะมหาโหดยิ่งกว่านี้

เลยกลายเป็นว่า เราจ่ายดอกเบี้ยมากกว่าจ่ายค่าอาหาร ค่าเดินทาง ค่าท่องเที่ยว หรือค่าโรงเรียนลูกเสียอีก

แน่นอนว่าสำหรับคนส่วนใหญ่ ดอกเบี้ยบ้านเป็นสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้

แต่ดอกเบี้ยบัตรเครดิตและดอกเบี้ยจากเงินกู้นอกระบบนั้น หากเรามีรายได้สม่ำเสมอแล้วยังมีหนี้เหล่านี้ ก็แสดงว่าเราอาจใช้เงินเกินตัวไปหน่อย

เมื่อเศรษฐกิจไม่ค่อยจะดี เงินนั้นหามาได้ยากขึ้น แต่เวลาไหลออกนั้นง่ายดายแค่ปลายนิ้ว

เงินนั้นคือสิ่งที่เราเอาพลังชีวิตและเวลาอันจำกัดไปแลกมันมา

ยิ่งเราติดหนี้มากเท่าไหร่ เวลาในอนาคตของเราก็ยิ่งถูกยึดครองไปมากเท่านั้นครับ