เมื่อหกโมงเย็นร้อนเหมือนบ่ายสาม และการใช้ถุงผ้าไม่น่าจะช่วยอะไร

เมื่อวานนี้ผมไปงานแต่งงานญาติที่จัดที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตตรงบางกรวย

ระหว่างที่เดินไปอาคารนันทนาการ ผมก็เปรยกับแฟนว่าช่วงนี้อากาศร้อนจริงๆ นี่ขนาดหกโมงเย็นแล้ว ไม่มีแดดแต่ก็ยังอบอ้าวเหมือนตอนบ่ายสามไม่มีผิด

ผมกับแฟนคุยกันว่า เมื่อก่อนไม่ได้ร้อนขนาดนี้จริงๆ ใช่มั้ย นี่มันร้อนผิดปกติมาก ถ้ามันร้อนขึ้นอย่างนี้เรื่อยๆ ลูกเราจะอยู่กันยังไง

กลับถึงบ้านเห็นแม่ส่งไลน์เรื่อง Monster Asian Heatwave พอลองกูเกิ้ลคำนี้ก็เจอบทความที่ลงทุนศาสตร์เขียนไว้เมื่อ 21 เมษายน 2023

“อากาศในช่วงเดือนเมษายนของไทยนั้นร้อนที่สุดในทุกปี แต่ปีนี้ดูเหมือนว่าความร้อนจะพุ่งทะยานไปถึงจุดที่เกินกว่าจะรับได้ ค่าไฟพุ่งสูง ผู้คนเจ็บป่วยจากความร้อนเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว อากาศที่ร้อนเสียจนแทบจะใช้ชีวิตอยู่ไม่ได้นั้นไม่ใช่เรื่องที่คนไทยคิดหรือรู้สึกไปเองแต่อย่างใด อากาศในประเทศไทยสูงสุดถึง 44.6 องศาเซลเซียสที่จังหวัดตาก นับเป็นอุณหภูมิที่สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ของประเทศ”

“อากาศที่ร้อนขึ้นในหลายพื้นที่เป็นผลมาจากลิ่มความกดอากาศสูงจำนวนมากที่มาจากอ่าวเบงกอลถึงทะเลฟิลิปปินส์ ความกดอากาศสูงทำให้เมฆเกิดขึ้นได้น้อย ท้องฟ้าจึงแจ่มใส ไร้เมฆบังแดด ความกดอากาศสูงที่เพิ่มขึ้นนี้เป็นผลมาจากภาวะโลกร้อนที่มีแต่จะเลวร้ายมากขึ้นทุกที ปีศาจคลื่นความร้อนเอเชียครั้งนี้นับเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate change)”

ประเทศไทยรณรงค์ให้ใช้ถุงผ้า ลดการใช้ถุงพลาสติกกันอย่างจริงจัง ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี แต่ในฐานะประชาชนคนธรรมดา ผมก็อดถามตัวเองไม่ได้ว่า เรื่องนี้มันจะช่วยลดภาวะโลกร้อนได้จริงๆ หรือ เรากำลังทำอะไรที่มันไร้เดียงสา (naive) เพียงเพื่อจะได้รู้สึกดีว่าอย่างน้อยเราก็มีส่วนช่วยแล้วรึเปล่า

ไม่ได้หมายความว่าจะให้กลับไปใช้ถุงพลาสติกนะครับ แค่อยากชวนคุยว่านอกจากใช้ถุงผ้าแล้ว เรายังทำอะไรกันได้อีก

ในหนังสือ Climate Change: How We Can Get to Carbon Zero ที่จัดทำโดย WIRED Guides (เจ้าของเดียวกับ WIRED Magazine อันโด่งดัง) พูดถึงเรื่องสำคัญหลายเรื่อง ทั้งการใช้พลังงาน การขนส่ง (transport) อาหาร การลดความสิ้นเปลือง (tackling waste) ตลาดคาร์บอน (carbon markets) และ การดักจับคาร์บอน (carbon capture)

เรื่อง Carbon capture นี้น่าสนใจ ผมเคยก็อปข่าวหนึ่งของ BBC เก็บเอาไว้ พาดหัวข่าวคือ Climate change: New idea for sucking up CO2 from air shows promise ซึ่งตีพิมพ์เมื่อวันที่ 9 มี.ค. 2023

ไอเดียหลักก็คือ การลดการปล่อยคาร์บอนขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศอย่างเดียวนั้นไม่ทันการ เราต้องกำจัดคาร์บอนที่มีอยู่แล้วในอากาศด้วย (carbon dioxide removal – CDR) และหนึ่งในวิธีที่น่าสนใจคือ Direct Air Capture (DAC)

บริษัทสตาร์ตอัปสัญชาติสวิตเซอร์แลนด์ที่ชื่อว่า Climeworks ได้ใช้เทคโนโลยี DAC เพื่อลด CO2 โดยผลงานล่าสุดคือ “Orca” โรงงานดักจับคาร์บอนในไอซ์แลนด์ ที่สามารถลด CO2 ในอากาศได้ปีละ 4,000 ตัน เทียบเท่ากับต้นไม้ 400,000 ต้น

หลักการของ DAC คือการใช้พัดลมดูดอากาศเข้ามาในตัวเครื่อง ใช้ตัวกรองจับ CO2 เอาไว้ จากนั้นก็เพิ่มอุณหภูมิในตัวเครื่องให้สูงถึง 100 องศาเพื่อให้ CO2 บริสุทธิ์หลุดจากตัวกรอง แล้วนำไปผสมกับน้ำ จากนั้นจึงส่งน้ำ CO2 นี้ลงไปใต้ดินลึกหลายกิโลเมตร เก็บไว้ในชั้นหินบะซอลต์ แล้วมันจะค่อยๆ กลายเป็นหินภายในเวลาไม่กี่เดือน

การจัดเก็บ CO2 เอาไว้ใต้ดินอย่างปลอดภัยนั้นใช้เทคโนโลยีของอีกบริษัทหนึ่งชื่อว่า Carbfix ดูวีดีโอการทำงานของทั้ง Climeworks และ Carbfix ได้ที่ YouTube: World’s largest carbon dioxide sucking factory opens in Iceland – BBC News

แต่สิ่งที่โรงงาน Orca ทำได้นั้นถือว่าค่อนข้างเล็กน้อย – CO2 4,000 ตันที่ดักจับได้ต่อปีเท่ากับการปล่อยก๊าซ CO2 ของรถยนต์แค่ 800 คันเท่านั้น

เพื่อให้เห็นภาพ ปี 2022 เรามีการปล่อย CO2 ขึ้นไปในชั้นบรรยากาศประมาณ 36,800 ล้านตัน (36.8 gigatons) ถ้าจะดักจับให้หมด ต้องใช้ Orca ถึง 9.2 ล้านโรงงาน!

แต่ Climeworks มีแนวคิดแบบสตาร์ตอัป โรงงาน Orca เป็นการทดสอบว่าวิธีนี้ทำแล้วเวิร์ค แล้วจึงค่อยทำในสเกลที่ใหญ่ขึ้น

โดยในปี 2022 Climeworks ระดมทุนได้ 650 ล้านเหรียญสหรัฐเพื่อเตรียมสร้างโรงงานแห่งใหม่ชื่อ Mammoth ที่จะดักจับ CO2 ได้ปีละ 36,000 ตัน หรือมากกว่า Orca 9 เท่า

Climeworks ตั้งเป้าหมายเอาไว้ว่าจะสร้างโรงงานระดับ megaton (หนึ่งล้านตัน) ได้ภายในปี 2030 และระดับ gigaton (พันล้านตัน) ภายในปี 2050

สำหรับรายละเอียดเชิงลึก ใครที่ภาษาอังกฤษดีๆ แนะนำให้อ่านบทความนี้ของ TechCrunch: A step forward for CO2 capture Iceland’s unique volcanic geology provides an ideal environment for technology to filter air and store carbon

และเพื่อความสมดุลในมุมมอง ควรไปดูวีดีโอที่วิจารณ์ว่าทำไมวิธีการลด CO2 แบบ Direct Air Capture ไม่เมคเซนส์ได้ที่ YouTube: Carbon Capture Isn’t Real จัดทำโดยช่อง Adam Something ที่มีผู้ติดตามเกินหนึ่งล้านคน

ปัจจุบัน ปริมาณ CO2 ในชั้นบรรยากาศคือ 420 ppm (parts per million) ซึ่งสูงขึ้น 50% เมื่อเทียบกับยุคก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรม (280 ppm) เมื่อ 200 ปีที่แล้ว

ครั้งสุดท้ายที่ CO2 สูงถึง 400 ppm คือยุค Pliocene Climatic Optimum เมื่อประมาณ 4 ล้านปีที่แล้ว ซึ่งระดับน้ำทะลสูงกว่าปัจจุบันประมาณ 5-25 เมตร

CO2 ที่สูงขึ้นจะก่อให้เกิดสภาวะเรือนกระจก และทำให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้นได้ โดยหลายสถาบันเห็นตรงกันว่าหากอุณหภูมิสูงขึ้น 1.5 องศาเซลเซียสเมื่อเทียบกับยุคก่อนอุตสาหกรรม ปะการังทั่วโลกจะตาย น้ำแข็งขั้วโลกจะละลายและทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นจนเกิดน้ำท่วมเมืองที่อยู่ติดชายฝั่ง พายุจะเกิดถี่ขึ้นและรุนแรงขึ้น โดยตอนนี้โลกเราร้อนขึ้นมาประมาณ 1.1 องศาเซลเซียสแล้ว

Yuval Harari ผู้เขียน Sapiens เคยมาพูดให้ TED Talks ว่า หากอยากให้ภาวะโลกร้อนนั้นควบคุมได้ เราต้องใช้งบประมาณ 2% ของ Global GDP เพื่อลงทุนในพลังงานสะอาด

2% ของ Global GDP คือ $1.7 trillion ซึ่งเป็นเงินไม่น้อย แต่ก็ไม่ได้มากจนเกินวิสัย เพราะเรา (คนทั้งโลก) จ่ายเงินค่าการทหารปีละ $2 trillion จ่ายเงินอุดหนุน fossil fuels ปีละ $0.5 trillion เราเสียรายได้จากการเลี่ยงภาษีปีละ $0.43 billion และมีอาหารที่เหลือทิ้ง (food waste) ปีละ $0.85 trillion อ่านเพิ่มเติมได้ที่เว็บ Sapienship | 2% More: The extra step

Climate Change นั้นยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ เพราะบางคนก็มองว่าเป็นทฤษฎีสมคบคิด

ผมไม่อาจรู้ได้ว่าโลกร้อนขึ้นจริงรึเปล่า แต่ที่รู้แน่ๆ คือกรุงเทพร้อนขึ้นเมื่อเทียบกับสมัยมัธยมที่ผมยังเตะบอลพลาสติกตอนพักเที่ยงได้ ตอนนี้ถ้าให้ไปเตะสงสัยคงเป็น heat stroke

ถ้าจะมีคนชาติไหนที่ “อิน” กับเรื่องโลกร้อนเป็นพิเศษ ก็ควรจะเป็นประเทศที่อยู่บนเส้นศูนย์สูตรอย่างเมืองไทยนี่แหละ ฝรั่งที่อยู่ในเขตหนาวเขาอาจจะเข้าใจในเชิงนามธรรมมากกว่าในเชิงรูปธรรม (แม้จะมีประชาชนในบางพื้นที่ที่เสียชีวิตเพราะ heat stroke ในช่วงหน้าร้อนก็ตาม)

กลับมาที่ว่าเราทำอะไรได้บ้างนอกจากใช้ถุงผ้า ไม่ใช้หลอดพลาสติก และปิดสวิทช์ไฟเมื่อไม่ใช้งาน (แต่ก็ยังต้องเปิดแอร์ ซึ่งก็น่าจะ cancel out กิจกรรมรักษ์โลกที่เราทำไปเกือบทั้งหมด)

สิ่งที่เราทำแล้วน่าจะมีผลที่สุด คือเรียกร้องให้ผู้บริหารประเทศให้ความสำคัญกับพลังงานสะอาด แบ่งงบประมาณแผ่นดินเพื่อเรื่องนี้ให้มากกว่าแต่ก่อน และขอความร่วมมือจากภาคเอกชน

เราสามารถดูนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมของแต่ละพรรคได้ในบทความของ Urban Creature: เปิดนโยบายสิ่งแวดล้อมของพรรคการเมือง เลือกตั้ง ปี 2566

อีก 7 วันเราก็เลือกตั้งกันแล้ว นโยบายสิ่งแวดล้อมคงไม่ใช่ปัจจัยหลักที่จะทำให้เรากาพรรคใดพรรคหนึ่ง (เพราะเราคงอดคิดไม่ได้ว่าเขาอาจเขียนขึ้นมาให้ดูดีเฉยๆ)

แต่ไม่ว่าจะได้พรรคไหนเป็นรัฐบาลก็ตาม ถ้าเรารู้สึกว่าหกโมงเย็นร้อนเหมือนบ่ายสาม และอะไรบางอย่างลึกๆ ในตัวเราบอกว่าการใช้ถุงผ้าไม่น่าจะช่วยลดโลกร้อน เราก็ควรใช้ “ทรัพยากรที่เรามี” เพื่อกระตุ้นให้รัฐบาลให้ความสำคัญกับเรื่องนี้

ผมใช้บล็อก Anontawong’s Musings เพื่อสร้างความรับรู้เกี่ยวกับ 2% GDP และ Direct Air Capture เพื่อลด CO2 ในชั้นบรรยากาศ โดยหวังว่ามันจะกระตุ้นให้คนหันไปศึกษาเรื่องเหล่านี้มากยิ่งขึ้น เพื่อจะเกิดการพูดคุยและนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่าง

มาช่วยกันคนละไม้คนละมือครับ