รักน้องหมาน้องแมวแล้วกินไก่ทอด

เมื่อวานผมอ่านเจอโพสต์หนึ่งใน Quora ที่ถามว่า การที่มนุษย์รักน้องหมาน้องแมว แต่กลับกินสัตว์อื่นๆ นี้ ทำให้เราเป็นคนสองมาตรฐานหรือคนหน้าไหว้หลังหลอกหรือไม่

มีคำตอบหนึ่งทีน่าสนใจ ผมยังไม่ได้มีโอกาสเช็คความถูกต้องมากนัก จึงอยากให้ฟังหูไว้หูนะครับ

หมานั้นเป็นลูกหลานของหมาป่า นับตั้งแต่ประมาณ 40,000 ปีที่แล้วในทวีปยุโรป สมัยที่ยังมีเผ่าพันธุ์ Neanderthals อาศัยอยู่ มนุษย์พันธุ์ Homo Sapiens เริ่ม “แท็กทีม” กับหมาป่าเพื่อออกหาอาหารและล่าเหยื่อด้วยกัน

หมาป่านั้นจมูกดีและหูดีกว่ามนุษย์มาก ส่วนมนุษย์ก็มีสมองที่ชาญฉลาดและใช้เครื่องมือได้ หมาป่าจึงมีหน้าที่ช่วยตามหาและวิ่งไล่เหยื่ออย่างกวางเอลก์และวัวไบซัน ส่วนมนุษย์ก็ช่วยจัดการให้เรียบร้อยด้วยหอก

เมื่อมนุษย์และหมาป่าร่วมมือกัน จึงก้าวขึ้นมาสู่จุดสูงสุดของห่วงโซ่อาหารและน่าจะเป็นหนึ่งในเหตุผลที่ทำให้ Neanderthal สูญพันธุ์ เพราะล่าอาหารแพ้ Sapiens ตลอด

ส่วนแมวนั้นก็สืบเชื้อสายมาจากแมวป่า และหนึ่งในเมืองที่ได้ชื่อว่าทำให้แมวป่ากลายเป็นสัตว์เลี้ยงก็คืออียิปต์ยุคโบราณอย่างน้อยเมื่อ 4,000 ปีที่แล้ว

นักวิทยาศาสตร์หลายคนคิดว่า จริงๆ แล้วมนุษย์ไม่ได้จับแมวมาเลี้ยง แต่เป็นแมวต่างหากที่มา “แฮงเอ๊าท์” ในแหล่งที่มีอาหารการกินอุดมสมบูรณ์

“Scientists think wildcats began hanging around farms to prey on mice attracted to grain stores, starting the long relationship between humans and felines.”

เนื่องจากอียิปต์เป็นเมืองใหญ่ มีการทำนาและเก็บเสบียงอาหาร จึงมีหนูเยอะ เมื่อหนูเยอะแมวจึงมาอาศัยอยู่แถวนี้เพราะมีหนูให้กินไม่อั้น มนุษย์ก็ชอบเพราะแมวมาช่วยจับหนู เมื่อแมวอยู่ไปนานๆ ก็เลยกลายเป็นสัตว์คู่บ้านคู่เมืองของอียิปต์ ก่อนจะเริ่มออกเดินทางไปทั่วโลกผ่านทางเรือเดินสมุทร

มีบางคอมเมนท์กล่าวติดตลกว่า มนุษย์ไม่ได้เริ่มเลี้ยงแมว แมวต่างหากที่เริ่มเลี้ยงมนุษย์ (Humans did not domesticate cats. Cats domesticated humans) ทาสแมวหลายคนน่าจะเข้าใจและเห็นด้วย

มันจึงไม่ใช่ความหน้าไหวหลังหลอกหรือสองมาตรฐาน แต่ด้วยความสัมพันธ์แบบน้ำพึ่งเรือเสือพึ่งป่าที่มีกับมนุษย์มายาวนาน แถมหน้าตาก็น่ารัก หมาและแมวจึงมีศักดิ์และศรีสูงกว่าสัตว์ชนิดอื่นๆ อย่างวัวหมูเป็ดไก่ครับ


ขอบคุณข้อมูลจาก

Quora: Peter Spering’s answer to Why are humans such hypocrites? At one side, they’re dog and cat lovers but love eating chicken, and others animals meat?

The Guardian: How hunting with wolves helped humans outsmart the Neanderthals

BBC: How cats conquered the ancient world

“สงครามยูเครนอาจเปลี่ยนแปลงทุกอย่าง” – Yuval Noah Harari ผู้เขียนหนังสือ Sapiens

เมื่อวันอังคารที่ 1 มีนาคมที่ผ่านมา TED ได้สัมภาษณ์ Yuval Noah Harari ผู้เขียนหนังสือ Sapiens: A Brief History of Humankind เกี่ยวกับมุมมองที่เขามีต่อสงครามยูเครนในตอนนี้

หากใครอยากฟังยูวาลเต็มๆ ก็เข้ายูทูบแล้วค้นหา The War in Ukraine Could Change Everything ได้เลย

ส่วนผมเองได้แปลบางช่วงตอนมาฝากไว้ตรงนี้ครับ [ส่วนที่ผมขยายความ จะใส่ไว้ในวงเล็บสี่เหลี่ยมแบบนี้นะครับ]

.

[ถาม] อะไรคือสิ่งที่เราจำเป็นต้องรู้เกี่ยวกับยูเครนเพื่อจะได้เข้าใจว่าสงครามครั้งนี้มีเดิมพันอะไรบ้าง?

สิ่งสำคัญที่สุดที่คุณต้องรู้ก็คือชาวยูเครนไม่ใช่ชาวรัสเซีย และยูเครนคือประเทศอธิปไตยที่มีมาตั้งแต่โบราณ

ยูเครนมีประวัติศาสตร์ยาวนานกว่าพันปี เคียฟ [Kyiv เมืองหลวงของยูเครน] เป็นมหานครและศูนย์กลางวัฒนธรรมมาตั้งแต่ตอนที่มอสโกยังไม่ได้เป็นหมู่บ้านด้วยซ้ำ

ในประวัติศาสตร์อันยาวนาน เคียฟไม่ได้อยู่ในการปกครองของมอสโก เป็นเวลาหลายศตวรรษที่เคียฟมีสัมพันธ์กับโลกตะวันตกและเป็นสหภาพเดียวกับลิทูเนียและโปแลนด์ก่อนจะถูกยึดครองโดยอาณาจักรซาร์ของรัสเซีย

แต่ความเป็นชนชาติของยูเครนก็ยังคงอยู่ตลอดมา และเราจำเป็นต้องเข้าใจประเด็นนี้ เพราะนี่แหละคือสิ่งที่เป็นเดิมพันในสงครามครั้งนี้

ประเด็นสำคัญของการทำสงคราม อย่างน้อยก็ในมุมของปูติน คือยูเครนเป็นประเทศเอกราชหรือไม่ หรือแม้กระทั่งว่ายูเครนเป็น “ประเทศ” รึเปล่า เพราะปูตินมีจินตภาพ (fantasy) ว่ายูเครนไม่ใช่ประเทศ แต่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของรัสเซีย และชาวยูเครนก็คือชาวรัสเซีย

ในจินตภาพของปูติน ชาวยูเครนอยากกลับสู่อ้อมอกแม่ที่มีนามว่ารัสเซีย และอุปสรรคเพียงอย่างเดียวก็คือแก๊งค์เล็กๆ ที่กุมอำนาจสูงสุดของที่ปูตินสร้างภาพว่าเป็นพวกนาซี ทั้งๆ ที่ประธานาธิบดีของยูเครนนั้นเป็นยิว…คนยิวที่เป็นนาซี…เอาอย่างนั้นก็ได้

และสิ่งที่ปูตินเชื่อก็คือ ถ้าเพียงรัสเซียบุกเข้ายูเครน เซเลนสกี้ [ประธานาธิบดีของยูเครน] ก็จะลี้ภัย รัฐบาลจะล้ม ทหารจะวางอาวุธ และชาวยูเครนจะโปรยดอกไม้ให้เหล่าทหารรัสเซียผู้มาปลดแอก

แต่จินตภาพนั้นก็ถูกทำลายลงไปเรียบร้อย เซเลนสกี้ไม่ได้หนีไปไหน กองทัพยูเครนยังคงสู้รบ และชาวยูเครนไม่ได้โปรยดอกไม้ให้รถถังของรัสเซีย แต่ปาระเบิดขวดให้แทน

.

[ถาม] ในหนังสือเล่มล่าสุดที่คุณเขียน [21 Lessons for the 21st Century] คุณบอกว่ารัสเซียไม่ได้ถูกนำทางด้วยอุดมการณ์ทางการเมือง มันเป็นเพียงการรวบอำนาจและความมั่งคั่งไว้ที่คนเพียงกลุ่มเดียว แต่ดูจากสิ่งที่ปูตินทำกับยูเครนแล้ว เหมือนเขากำลังใช้อุดมการณ์การสร้างอาณาจักรรัสเซีย ด้วยการปฏิเสธความมีตัวตนของประเทศยูเครน อะไรคือสิ่งที่เปลี่ยนไปใน 4 ปีที่ผ่านมาหลังจากที่คุณเขียนหนังสือเล่มนั้น?

ความฝันในการสร้างจักรวรรดินั้นมีมาโดยตลอด แต่คุณก็รู้ว่าจักรวรรดินั้นถูกสร้างโดยแก๊งค์ของคนไม่กี่คนที่กุมอำนาจสูงสุด ผมไม่คิดว่าประชาชนชาวรัสเซียสนใจอยากทำสงครามนี้ ผมไม่คิดว่าพวกเขาอยากจะยึดครองยูเครน หรืออยากจะเข่นฆ่าประชาชนในเคียฟ ทุกอย่างถูกขับเคลื่อนมาจากกลุ่มผู้นำสูงสุดเท่านั้น

เมื่อเปรียบกับตอนที่เป็นสหภาพโซเวียต อย่างน้อยตอนนั้นก็มีอุดมการณ์บางอย่างที่ผู้คนในสหภาพยึดถือร่วมกัน แต่ตอนนี้มันไม่มีแล้ว

คุณก็รู้ว่ารัสเซียเป็นประเทศที่ร่ำรวยไปด้วยทรัพยากร แต่ผู้คนส่วนใหญ่กลับยากจน มีคุณภาพชีวิตที่ต่ำมาก เพราะอำนาจและความมั่งคั่งถูกดูดไปที่ส่วนบนหมดเลย

นี่จึงเป็นสภาพการณ์ที่ไม่ต่างจากจักรวรรดิภายใต้จักรพรรดิที่กุมอำนาจประเทศที่ใหญ่ที่สุดในโลกที่พูดว่า “เฮ่ย แค่นี้มันไม่พอนะ ข้ายังต้องการมากกว่านี้” ว่าแล้วก็เลยส่งกองทัพมาเพื่อขยายอาณาจักร

.

[ถาม] เมื่อวานนี้คุณเขียนบทความลง The Guardian ว่า เหตุใดปูตินจึงแพ้สงครามครั้งนี้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ช่วยขยายความหน่อย

เพื่อความชัดเจน ผมไม่ได้หมายความว่ารัสเซียจะแพ้ในทันที ปูตินมีกองทัพที่สามารถยึดครองเคียฟได้ และเผลอๆ จะยึดครองยูเครนทั้งประเทศได้ แต่เป้าหมายระยะยาวของปูตินคือการปฏิเสธความเป็นชาติของยูเครน และผนวกยูเครนเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซีย ซึ่งหากจะทำอย่างนั้น แค่ยึดครองเคียฟยังไม่พอ แต่ต้องรักษาเคียฟเอาไว้ให้ได้ด้วย

ซึ่งทุกอย่างตั้งอยู่บนจินตภาพหรือการเดิมพันที่ว่าชาวยูเครนส่วนใหญ่จะเห็นด้วย หรือแม้กระทั่งยินดีกับการกระทำของรัสเซีย แต่ตอนนี้เราก็ได้รู้แล้วว่ามันไม่จริง ชาวยูเครนเป็นชนชาติที่หวงแหนเอกราชของตัวเองมาก พวกเขาไม่ได้ต้องการเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซีย และพวกเขาพร้อมจะสู้ตาย

คุณอาจจะยึดครองประเทศได้ แต่อย่างที่รัสเซียได้เรียนรู้จากอัฟกานิสถาน และอย่างที่อเมริกาได้เรียนรู้จากอัฟกานิสถานและอิรัก การยึดครองนั้นง่ายกว่าการรักษาประเทศเอาไว้มากนัก

ก่อนสงครามจะเริ่ม เรารู้อะไรหลายอย่างอยู่แล้ว ทุกคนรู้ว่ากองทัพของรัสเซียนั้นแข็งแกร่งกว่ากองทัพของยูเครนหลายเท่า ทุกคนรู้ว่านาโต้ (NATO) จะไม่ส่งกองกำลังมาในยูเครน ทุกคนรู้ว่าอเมริกาและยุโรปจะไม่กล้าคว่ำบาตรรัสเซียรุนแรงเกินไปเพราะมันจะส่งเสียต่อตัวเอง เหล่านี้ล้วนเป็นส่วนประกอบสำคัญในแผนสงครามของปูติน

มีเพียงประเด็นเดียวที่ไม่มีใครแน่ใจ ก็คือชาวยูเครนจะมีปฏิกิริยาอย่างไร มันยังมีความเป็นไปได้ที่จินตภาพของปูตินจะเกิดขึ้นจริง เมื่อรัสเซียบุกเข้ามา เซเลนสกี้อาจจะหนี กองทัพยูเครนอาจจะล่ม และชาวยูเครนอาจจะปล่อยเลยตามเลย

แต่ตอนนี้เราได้รู้แล้วว่ามันเป็นเพียงเรื่องเพ้อเจ้อ ชาวยูเครนกำลังสู้และจะสู้ต่อไป และความจริงข้อนี้ก็ลดความชอบธรรมในการทำสงครามของปูติน เพราะแม้คุณจะเอาชนะได้ แต่คุณไม่สามารถจะผนวกยูเครนให้เป็นส่วนหนึ่งของรัสเซียได้

สิ่งเดียวที่ปูตินจะบรรลุคือการปลูกเมล็ดพันธุ์แห่งความแค้นในใจของชาวยูเครน แต่ละศพของชาวยูเครนที่ต้องสังเวยในสงครามคือเมล็ดพันธุ์แห่งความเกลียดชังที่จะคงอยู่ไปอีกหลายชั่วอายุคน

ก่อนเกิดสงคราม ชาวยูเครนกับชาวรัสเซียไม่ได้โกรธเกลียดกัน พวกเขาคือบ้านพี่เมืองน้อง แต่ปูตินกำลังทำให้ทั้งสองฝ่ายกลายเป็นศัตรู และถ้าปูตินยังไม่หยุด นี่จะกลายเป็นมรดกบาปของเขา

ผมอยากให้สงครามคราวนี้ยุติลงโดยเร็วที่สุด เพราะหากมันไม่จบ คนที่เดือดร้อนจะไม่ใช่แค่ยูเครนหรือรัสเซียเท่านั้น ทุกคน ทุกประเทศจะได้รับผลกระทบอย่างเลวร้าย

.

[ถาม] ช่วยขยายความหน่อยว่าเพราะอะไร

ขอเริ่มจาก “บรรทัดสุดท้าย” ก็แล้วกัน นั่นก็คือเรื่องงบประมาณ พวกเราได้อยู่ในช่วงเวลาที่โลกสงบสุขอย่างไม่น่าเชื่อในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา ในยุโรปงบประมาณกลาโหมนั้นเป็นเพียง 3% ของงบประมาณทั้งหมด นี่แทบจะเป็นปาฎิหาริย์ เพราะตลอดประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา งบประมาณ 50%-80% ของจักรพรรรดิและสุลต่านนั้นถูกใช้ไปกับการสงครามและการเลี้ยงกองทัพ แต่ตอนนี้ในยุโรปใช้งบประมาณแค่ 3% เท่านั้น ส่วนค่าเฉลี่ยทั่วโลกน่าจะอยู่ที่ประมาณ 6% ฝากเช็คข้อมูลนี้เพื่อความถูกต้องด้วย แต่ 6% คือตัวเลขที่ผมจำได้

สิ่งที่เราได้เห็นภายในไม่กี่วันที่ผ่านมาก็คือเยอรมันนีเพิ่มงบกลาโหมเป็นสองเท่า ซึ่งผมไม่ได้ต่อต้านนะ เพราะเมื่อคำนึงถึงสิ่งที่ต้องเผชิญมันก็เป็นเรื่องที่สมเหตุสมผลที่เยอรมันนี โปแลนด์ และทุกประเทศในยุโรปจะเพิ่มงบประมาณกลาโหมเป็นเท่าตัว แต่นี่คือเกมที่ทุกคนจะแพ้ (race to the bottom)

เพราะเมื่อคุณเห็นประเทศอื่นๆ เพิ่มงบประมาณการทหาร คุณก็จะเริ่มรู้สึกไม่ปลอดภัย ดังนั้นประเทศของคุณก็ต้องเพิ่มงบกลาโหมเช่นกัน และแทนที่งบเหล่านี้จะไปลงที่สาธารณสุข การศึกษา หรือการสู้กับโลกร้อน มันกลับถูกนำไปซื้อรถถัง มิสไซล์ และใช้ในการสู้รบ

ประชาชนจะได้รับสวัสดิการสุขภาพที่แย่ลง และเราจะไม่มีทางออกสำหรับภาวะโลกร้อน ดังนั้นทุกคนจะได้รับผลกระทบแม้ว่าคุณจะอยู่ที่บราซิลหรือออสเตรเลียก็ตาม

.

[ถาม] ถ้าหนึ่งในเป้าหมายของปูตินคือการแบ่งแยกยุโรป คือการลดทอนกำลังของนาโต้ และระเบียบเสรีโลก (global liberal order) ก็ดูเหมือนว่าปูตินจะทำให้กลุ่มเหล่านี้แข็งแกร่งขึ้นมายิ่งกว่าเดิมเสียอีก

ถ้าเป้าหมายคือการแบ่งแยกยุโรปและนาโต้ สิ่งที่เขาทำกลับให้ผลตรงกันข้ามเลย ผมเองก็แปลกใจว่าทำไมยุโรปถึงตอบโต้ได้อย่างรวดเร็วและเป็นเอกภาพขนาดนี้ ผมว่าแม้แต่ยุโรปก็ยังแปลกใจตัวเอง แม้กระทั่งฟินแลนด์หรือสวีเดนยังส่งอาวุธไปให้ยูเครน เรื่องเหล่านี้ไม่เคยเกิดขึ้นในสมัยสงครามเย็นเลย

.

[ถาม] คุณได้เขียนบทความลง The Economist ไว้ด้วยว่า สิ่งที่เป็นเดิมพันอยู่ในตอนนี้คือ “ทิศทางของประวัติศาสตร์ เพราะเรากำลังทำลายความสำเร็จที่สำคัญที่สุดของมนุษยชาติในยุคสมัยใหม่ นั่นก็คือการลดลงของสงคราม”

ตั้งแต่ปี 1945 เป็นต้นมา ไม่เคยมีการสู้รบกันระหว่างประเทศมหาอำนาจ ในขณะที่ก่อนหน้านั้นมันเป็นเรื่องปกติธรรมดามาก

และตั้งแต่ 1945 เป็นต้นมา ไม่เคยมีประเทศใดถูกทำให้หายไปจากแผนที่โลกเพราะการรุกรานจากประเทศอื่น

นี่เป็นความสำเร็จที่สุดยอดมาก และมันคือพื้นฐานของทุกสิ่งทุกอย่างที่เรามีอยู่ตอนนี้ ไม่ว่าจะเป็นความก้าวหน้าทางการแพทย์หรือการศึกษา แต่เรื่องเหล่านี้กำลังตกอยู่ในอันตราย

สันติภาพไม่ได้เกิดจากปาฏิหาริย์ใดๆ ไม่ได้เกิดจากการเปลี่ยนไปของกฎธรรมชาติ แต่เกิดจาการที่มนุษย์เลือกทางที่ถูกต้องมากขึ้นและสร้างองค์การ (institutions) ที่ดีขึ้น

ซึ่งนั่นก็ย่อมหมายความว่า ไม่มีอะไรจะการันตีได้ว่าความสงบสุขนี้จะคงอยู่ตลอดไป หากมีใครบางคนตัดสินใจโง่ๆ และทำลายองค์การที่ช่วยสร้างสันติภาพให้โลก เราก็จะกลับไปอยู่ในยุคของสงครามอีกครั้ง ในวันนั้นงบกระทรวงกลาโหมอาจจะคิดเป็น 20% 30% หรือ 40% ของงบประมาณทั้งหมดก็ได้

เราจึงควรเข้าใจว่าสงครามในยูเครนไม่ใช่ภัยพิบัติทางธรรมชาติ แต่เป็นภัยพิบัติที่เกิดจากมนุษย์เพียงคนเดียว ชาวรัสเซียไม่ได้ต้องการสงครามนี้ แค่การตัดสินใจของคนเพียงคนเดียวก่อให้เกิดโศกนาฏกรรมครั้งนี้ขึ้น

.

[ถาม] สิ่งหนึ่งที่เริ่มถูกหยิบยกขึ้นมาก็คือโอกาสในการใช้อาวุธนิวเคลียร์ ซึ่งปูตินก็พูดถึงมันอยู่หลายครั้ง เขาสั่งให้ฐานทัพอาวุธนิวเคลียร์เพิ่มระดับความระมัดระวัง และประธานาธิบดีเซเลนสกี้ก็ยอมรับว่ายูเครนพลาดไปที่ปลดอาวุธนิวเคลียร์ที่ได้มาตั้งแต่สมัยเป็นสหภาพโซเวียต คุณคิดอย่างไรบ้างเกี่ยวกับความเสี่ยงนี้

ผมว่ามันน่ากลัวสุดๆ ไปเลย เราเคยคิดว่าอาวุธนิวเคลียร์เป็นเพียงเรื่องของยุค 60s ที่ผ่านพ้นไปแล้ว แต่ตอนนี้มันกลับมาแล้ว ตอนนี้คุณเริ่มเห็นผู้เชี่ยวชาญออกมาอธิบายว่าอาวุธนิวเคลียร์แต่ละชนิดจะสร้างความเสียหายให้กับเมืองเมืองหนึ่งได้ในระดับไหน

ในทางหนึ่ง อาวุธนิวเคลียร์ได้รักษาสันติภาพของโลกเอาไว้ ผมอยู่ในกลุ่มคนที่เชื่อว่าถ้าเราไม่ได้มีอาวุธนิวเคลียร์ เราน่าจะมีสงครามโลกครั้งที่สามไปนานแล้ว นั่นก็คือสงครามระหว่างสหภาพโซเวียต อเมริกา และนาโต้ในนยุค 50s หรือ 60s

เพราะมีอาวุธนิวเคลียร์ เราจึงไม่มีการปะทะกันของมหาอำนาจ เพราะมันจะเป็นการฆ่าตัวตายหมู่ของทุกคน (collective suicide) แต่ความเสี่ยงก็ยังคงอยู่ตลอดมา หากมีการคาดการณ์หรือประเมินผิดพลาด ผลลัพธ์จะเลวร้ายเป็นอย่างยิ่ง

.

[ถาม] ในยุค 70s เราเริ่มสร้างองค์การนานาชาติเพื่อลดความเสี่ยงของการปะทะกันด้วยอาวุธนิวเคลียร์ และเราก็มีการร่างสนธิสัญญาเรื่องการควบคุมอาวุธ แต่ในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมาเราปล่อยปละละเลยเรื่องเหล่านี้ สถานการณ์ตอนนี้จึงน่าเป็นห่วงยิ่งกว่าตอนขึ้นสหัสวรรษใหม่เสียอีก

นี่คือวิบากจากความประมาทตลอดหลายปีที่ผ่านมา ไม่ใช่แค่เรื่องอาวุธนิวเคลียร์ แต่รวมไปถึงองค์การนานาชาติและความร่วมมือกันระดับโลก (international institutions and global cooperation)

ในช่วงปลายศตวรรษที่ 20 เราได้สร้างบ้านของมนุษยชาติที่วางอยู่บนรากฐานของความร่วมมือและความเข้าใจกัน เพราะเรารู้ดีว่าอนาคตตของเราขึ้นอยู่กับความสามารถในการร่วมมือกัน ไม่อย่างนั้นเราจะทำลายล้างกันเองจนสูญพันธุ์

และเราทุกคนก็อยู่ในบ้านหลังนี้ แต่หลายปีที่ผ่านมาเราไม่ได้ใส่ใจ เราไม่ได้ซ่อมแซมบ้าน เราปล่อยให้มันทรุดโทรม และสุดท้ายบ้านก็จะพังครืนลงมา ผมเลยหวังว่าผู้คนจะเข้าใจเรื่องนี้ก่อนที่มันจะสายเกินแก้ ว่าเราจำเป็นต้องหยุดสงครามครั้งนี้ และเราต้องกลับมาให้ความสำคัญกับองค์การนานาชาติ เราต้องซ่อมบ้านหลังใหญ่หลังนี้ เพราะถ้ามันพังลงมา พวกเราจะตายกันหมด

.

[ถาม] คุณเขียนไว้ในบทความเดียวกันว่าสุดท้ายแล้วประเทศชาตินั้นถูกสร้างขึ้นจากเรื่องราวที่แต่งขึ้น (nations are ultimately built on stories) ดังนั้นเมล็ดที่เรากำลังหว่านอยู่ตอนนี้คือเรื่องราวใหม่ๆ ที่เรากำลังแต่งขึ้น ซึ่งมันจะมีผลต่ออนาคตอย่างนั้นใช่มั้ย

ใช่ เมล็ดพันธุ์ของสงครามในยูเครนถูกหว่านเอาไว้ตั้งแต่การล้อมเลนินกราด [Siege of Leningrad ที่นาซีทำกับโซเวียตช่วงปี 1941-1944] ผลของมันคือการบุกรุกเคียฟในวันนี้ ซึ่งก็จะเป็นการหว่านเมล็ดที่อาจส่งผลอันเลวร้ายอีกครั้งใน 50 ปีข้างหน้า เราจึงต้องหยุดวงจรนี้ให้ได้

ในฐานะนักประวัติศาสตร์ บางทีผมก็รู้สึกผิดเหมือนกันเมื่อเห็นว่าประวัติศาสตร์ได้ทำอะไรกับผู้คนบ้าง หลายสัปดาห์ที่ผ่านมาผมเห็นผู้นำประเทศเข้าพบและพูดคุยกับปูติน และหลายครั้งปูตินก็ใช้เวลาเหล่านั้นไปกับการเทศนาเรื่องประวัติศาสตร์ ตอนที่มาครง [Emmanuel Macron ปธน.ฝรั่งเศส] เข้าพบปูตินนั้น พวกเขาคุยกันถึง 5 ชั่วโมง และมาครงก็ให้สัมภาษณ์ภายหลังว่าปูตินใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการสั่งสอนเขาเรื่องประวัติศาสตร์

ผมก็เลยรู้สึกผิดที่วิชาชีพของผมอาจะมีส่วนให้เกิดปัญหาเหล่านี้ อย่างประเทศอิสราเอลของผมเอง ผมก็รู้สึกว่าเรากำลังทุกข์ทนเพราะประวัติศาสตร์มากเกินไป ผมเชื่อว่าคนเราควรจะได้รับการปลดปล่อยจากอดีต ไม่ใช่ย้อนรอยอดีตซ้ำๆ ทุกคนควรจะละทิ้งความทรงจำของสงครามโลกครั้งที่สอง ไม่ว่าจะเป็นชาวรัสเซียหรือชาวเยอรมันก็ตามที

สิ่งที่ผมอยากจะบอกกับชาวเยอรมันที่รับชมอยู่ตอนนี้ก็คือ พวกเรารู้ว่าพวกคุณไม่ใช่นาซี ดังนั้นคุณไม่จำเป็นต้องพิสูจน์ตัวเองซ้ำแล้วซ้ำเล่าหรอก สิ่งที่เราต้องการจากเยอรมันนีในตอนนี้คือการก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำทัพในการต่อสู้เพื่อเสรีภาพ

แต่ดูเหมือนเยอรมันนียังห่วงสายตาประชาคมโลก ยังกลัวว่าถ้าพวกเขาพูดจาขึงขังหรือจับอาวุธขึ้นมา พวกเขาจะถูกประณามว่า “นี่ไง พวกนาซีมาอีกแล้ว” ผมจะบอกว่าผมไม่เคยคิดอย่างนั้นเลย

ตอนนี้เยอรมันนีเป็นผู้นำของยุโรปแล้ว โดยเฉพาะหลังเหตุการณ์ Brexit ผมจึงอยากเห็นเยอรมันนีที่ปล่อยวางอดีตและอยู่กับปัจจุบัน

พูดในฐานะที่ผมเป็นชาวยิว เป็นชาวอิสราเอล และเป็นนักประวัติศาสตร์นะ ถ้าจะมีประเทศไหนที่ผมมั่นใจว่าจะไม่ซ้ำรอยสิ่งที่นาซีเคยได้ทำเอาไว้ ประเทศนั้นคือเยอรมันนี

.

[ถาม] มีคำถามจากในห้องแชทเกี่ยวกับจีน ซึ่งแน่นอนว่าเป็นตัวละครที่สำคัญ และจีนเองก็มีนโยบายที่ต่อต้านการรุกล้ำอาณาเขตของชาติอื่น แต่จีนเองก็สนิทสนมกับรัสเซีย สี จิ้นผิงกับปูตินก็ได้พบกันก่อนงานโอลิมปิกที่ปักกิ่ง และเป็นภาพที่ทำให้ทั่วโลกรับรู้ว่าทั้งสองเป็นมิตรกัน คุณมองยังไงเกี่ยวกับบทบาทของจีนในความขัดแย้งครั้งนี้

ผมไม่รู้ เพราะผมไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญด้านประเทศจีน การอ่านข่าวไม่ได้ทำให้คุณเข้าใจวิธีคิดและความคิดเห็นของกลุ่มผู้นำในจีนได้

จีนใกล้ชิดกับรัสเซีย จึงน่าจะโน้มน้าวรัสเซียได้ไม่น้อย ผมจึงหวังว่าจีนจะทำตัวเหมือนผู้ใหญ่ที่ช่วยไกล่เกลี่ยและช่วยรดน้ำเพื่อดับไฟสงครามครั้งนี้

จีนจะสูญเสียประโยชน์ไม่น้อยหากระเบียบโลกพังทลายลง (they have a lot to lose from a breakdown of the global order) และถ้าสันติภาพกลับคืนมา จีนก็จะได้ประโยชน์มากมาย ซึ่งรวมไปถึงความรู้สึกขอบคุณจากนานาชาติด้วย

ผมไม่อาจรู้ได้ว่าจีนจะทำรึเปล่า แต่ผมหวังว่าจะเป็นอย่างนั้น

.

[ถาม] ถ้าไม่นับเรื่องโอกาสในการใช้อาวุธนิวเคลียร์ อะไรที่ทำให้สงครามยูเครนครั้งนี้แตกต่างจากสงครามอื่นๆ ที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ทั่วโลก

อย่างที่ได้กล่าวไป นี่เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 1945 ที่เราได้เห็นประเทศมหาอำนาจพยายามที่จะลบประเทศเอกราชให้หายไปจากแผนที่โลก

ตอนที่อเมริกาบุกยึดครองอัฟกานิสถานหรืออิรัก คุณอาจจะวิจารณ์อเมริกาได้มากมาย แต่เรารู้ว่าอเมริกาไม่เคยคิดจะผนวกอิรักหรือตั้งอิรักเป็นรัฐที่ 51 ของสหรัฐอเมริกา

แต่นี่คือสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นกับยูเครน เป้าหมายที่แท้จริงคือการผนวกยูเครนให้เป็นส่วนหนึ่งของรัสเซีย ซึ่งถ้ารัสเซียทำสำเร็จ ยุคสมัยแห่งสงครามอาจจะกลับมา

ผมยังจำได้ไม่ลืมกับสิ่งที่ตัวแทนจากประเทศเคนยาเคยกล่าวกับคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติและตัวแทนจากหลากหลายประเทศในแอฟริกา เขาบอกว่า “เราเองก็เป็นผลผลิตที่ตกค้างจากยุคสมัยแห่งการล่าอาณานิคม การที่โซเวียตล่มสลายและแตกเป็นประเทศต่างๆ ฉันใด ประเทศในแอฟริกาเองก็เกิดจากการล่มสลายของจักรวรรดิยุโรปฉันนั้น

และหลักการสำคัญที่ชาติแอฟริกายึดถือนับแต่นั้นมาก็คือ ไม่ว่าเราจะไม่เห็นด้วยกับชายแดนประเทศที่ถูกขีดเอาไว้มากแค่ไหน แต่เราจำเป็นต้องรักษาชายแดนเหล่านั้นเอาไว้ อย่าไปแตะต้องมัน เพราะถ้าเราเริ่มรุกล้ำประเทศเพื่อนบ้านเพราะเราเอาแต่คิดว่า “เฮ้ย จริงๆ แล้วนี่คือแผ่นดินของฉัน” เราจะทะเลาะกันอย่างไม่มีวันจบสิ้น

และถ้ารัสเซียบุกยูเครนได้สำเร็จ มันอาจจะกลายเป็นเยี่ยงอย่างให้ชาติอื่นๆ ทั่วโลกเริ่มทำแบบนั้นบ้าง

อีกสิ่งหนึ่งที่สงครามนี้ต่างออกไป ก็คือเรากำลังพูดถึงการปะทะกันของประเทศมหาอำนาจ นี่ไม่ใช่สงครามระหว่างอิสราเอลกับฮิซบุลลอฮ์ (มุสลิมชีอะห์ในเลบานอน) สงครามครั้งนี้อาจขยายตัวไปเป็นสงครามระหว่างรัสเซียกับนาโต้ และต่อให้ไม่มีการใช้อาวุธนิวเคลียร์ มันก็ยังทำให้สันติภาพทั่วโลกสั่นคลอนอยู่ดี

ผมจึงขอย้ำเรื่องงบประมาณอีกครั้ง ถ้าเยอรมันนีเพิ่มงบประมาณกลาโหมเป็นสองเท่า และโปแลนด์ก็ทำอย่างนั้นบ้าง สุดท้ายทุกประเทศก็จะทำตาม และนี่จะเป็นข่าวร้ายอย่างยิ่ง

.

[ถาม] หลายประเทศในยุโรปพึ่งพาพลังงานจากรัสเซีย คุณคิดว่าสงครามครั้งนี้จะส่งผลให้ยุโรปหันมาสนใจพลังงานสะอาดมากขึ้นมั้ย

ผมก็หวังว่ายุโรปจะเข้าใจความเสี่ยงนี้แล้ว และเริ่มต้น “โปรเจคแมนฮัตตันสีเขียว” (a green Manhattan project) [Manhattan คือชื่อโปรเจ็คลับในการสร้างอาวุธนิวเคลียร์สมัยสงครามโลกครั้งที่สอง] เพื่อเร่งเครื่องพัฒนาแหล่งพลังงานที่ดีกว่านี้ ยุโรปจะได้ไม่ต้องพึ่งพาน้ำมันและก๊าซธรรมชาติมากเท่าแต่ก่อน

ซึ่งนั่นย่อมลดอำนาจของระบอบบปูตินและกองทัพของเขา เพราะรัสเซียมีแค่น้ำมันกับก๊าซ ไม่มีอะไรมากไปกว่านั้นแล้ว จำได้มั้ยว่าคุณซื้อของที่ Made in Russia ครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่?

ทุกคนก็รู้ว่าน้ำมันนั้นเหมือนมีคำสาป มันคือขุมทรัพย์แห่งความมั่งคั่ง แต่มันก็มักจะถูกใช้เพื่อรักษาอำนาจของเผด็จการเอาไว้ด้วยเช่นกัน เพราะการจะได้ประโยชน์จากน้ำมัน คุณไม่จำเป็นต้องแบ่งอะไรให้ประชาชน คุณไม่จำเป็นต้องมีสังคมที่เปิดกว้าง คุณไม่ต้องให้การศึกษา คุณก็แค่ต้องขุดเจาะน้ำมันเท่านั้น

หากน้ำมันและก๊าซราคาตก นอกจากจะทำให้การเงินและการทหารของรัสเซียสั่นคลอนแล้ว ยังอาจส่งผลให้รัสเซียต้องผลัดใบระบอบการเมืองด้วย

.

[ถาม] ขอพูดถึงอีกหนึ่งตัวละคร ที่หลายคนในห้องแชทรูมรู้สึกว่าเป็นวีรบุรุษ นั่นก็คือเซเลนสกี้ ซึ่งเคยเป็นนักแสดงตลก ก่อนจะมาเป็นประธานาธิบดีแบบงงๆ และตอนนี้ก็กลายเป็นประธานาธิบดีท่ามกลางศึกสงคราม และเขาก็แสดงบทบาทได้อย่างน่าชื่นชม โดยเฉพาะในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา ตอนที่อเมริกาเสนอให้เขาลี้ภัยและตั้งรัฐบาลพลัดถิ่น เซเลนสกี้ตอบไปว่า ‘ผม่ได้ไม่ต้องการตั๋วเครื่องบิน ผมต้องการกระสุนเพิ่ม’ (‘I don’t need a ride, I need more ammunition’)

สิ่งที่เซเลนสกี้ทำนั้นน่าชื่นชมจริงๆ และมันได้ปลุกเร้าความกล้าหาญและสร้างแรงบันดาลใจ ไม่ใช่เฉพาะแค่ชาวยูเครนแต่มันยังส่งผลไปทั่วโลก ปฏิกิริยาของยุโรป ทั้งการคว่ำบาตรและการสนับสนุนอาวุธยุทโธปกรณ์นั้น ผมคิดว่าเซเลนสกี้มีส่วนสำคัญอย่างมากที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์เหล่านี้

เพราะนักการเมืองก็เป็นมนุษย์คนหนึ่งเหมือนกัน ผู้นำหลายคนเคยได้เจอหน้ากับเซเลนสกี้ และเข้าใจว่าเขาต้องเผชิญกับอะไรบ้าง ซึ่งไม่ใช่แค่เขาเพียงคนเดียว แต่ครอบครัวเขาด้วยเช่นกัน [ครอบครัวของเซเลนสกี้ไม่มีใครหนีไปไหน] เขาจะพูดเสมอว่า นี่อาจเป็นครั้งสุดท้ายที่เราจะได้คุยกัน เพราะวันนี้หรือพรุ่งนี้เขาอาจจะตายจากการโดนลอบสังหารหรือถูกระเบิดถล่มก็ได้


ขอบคุณข้อมูลจาก The War in Ukraine Could Change Everything | Yuval Noah Harari | TED

เรื่องเศร้าที่เราไม่เคยรู้ของสองพี่น้องตระกูลไรท์

Wilbur Wright และ Orville Wright เป็นผู้สร้างเครื่องบินลำแรกของโลก

เที่ยวบินแรกในประวัติศาสตร์เกิดขึ้นเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 17 ธันวาคม 1903 ในเมืองเล็กๆ ชื่อ Kitty Hawk รัฐนอร์ธ แคโรไลนา

เราคงคิดว่า สิ่งประดิษฐ์ที่ทำให้มนุษย์เดินดินกลายเป็นนกเหินเวหา ย่อมจะทำให้สองพี่น้องกลายเป็นคนดังชั่วข้ามคืน

แต่ความจริงหาเป็นเช่นนั้นไม่ หากคุณอ่านหนังสือพิมพ์ The New York Times ในวันที่ 18 ธันวาคม 1903 คุณจะไม่เห็นข่าวเครื่องบินของตระกูลไรท์เลย

วันที่ 19, 20, 21 ธันวาคมก็เช่นกัน ไม่มีนักข่าวคนไหนเขียนถึงเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ครั้งนี้แม้แต่ย่อหน้าเดียว

ผ่านไป 5 วันก็แล้ว 5 สัปดาห์ก็แล้ว 5 เดือนก็แล้ว ความสำเร็จของสองพี่น้องตระกูลไรท์ก็ยังคงไม่มีใครกล่าวถึง

ต้องใช้เวลาเกือบ 5 ปี คือเดือนพฤษภาคมปี 1908 กว่าที่จะมีนักข่าวถูกส่งไปสังเกตการณ์การทดสอบเครื่องบินของสองพี่น้อง และทำให้ทั้งวิลเบอร์และออร์วิลเริ่มเป็นที่รู้จัก

ลองคิดภาพว่าเราคิดค้นอะไรที่มันจะเปลี่ยนโลกได้ แต่ไม่มีใครเห็นและให้คุณค่ามันเลยเป็นเวลาเกือบ 5 ปี…

รอคอยมาเนิ่นนานจนถึงวันที่มีคนเห็นคุณค่า เรื่องราวมันควรจะ Happy Ending แต่ปรากฎว่าวิบากของสองพี่น้องยังไม่จบ

แม้ว่าโลกจะเริ่มเข้าใจศักยภาพของการบิน แต่สองพี่น้องตระกูลไรท์แทบไม่ได้ร่ำรวยขึ้น แถมยังกลายเป็นคน “ตกยุค” ไปเสียด้วยซ้ำ

เพราะในขณะที่คู่แข่งเริ่มเรียนรู้และพัฒนาเครื่องบินให้ดีขึ้นเรื่อยๆ สองพี่น้องตระกูลไรท์กลับใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการฟ้องร้องคู่แข่งในข้อหาละเมิดสิทธิบัตร

ในปี 1916 ออร์วิลเรียกร้องว่า ใครก็ตามที่ผลิตเครื่องบินไม่ว่าที่ใดบนโลกใบนี้ จะต้องจ่ายค่าลิขสิทธิ์ให้เขาลำละ $10,000 (ถ้าคิดเป็นค่าเงินปัจจุบันก็คือ $250,000 หรือ 8.5 ล้านบาท) ซึ่งแพงเกินกว่าที่ผู้สร้างเครื่องบินสมัยนั้นจะจ่ายไหว คู่แข่งทั้งในฝรั่งเศสและเยอรมันนีจึงต่างเพิกเฉยต่อข้อเรียกร้องนี้

สองพี่น้องตระกูลไรท์ใช้เวลาไปกับการขึ้นโรงขึ้นศาล ขณะที่คู่แข่งใช้เวลาไปกับการออกแบบเครื่องบินที่ดีกว่าเดิม

กว่าคดีความทั้งหลายจะสิ้นสุด เครื่องบินของสองพี่น้องตระกูลไรท์ก็ล้าหลังจนไม่สามารถแข่งขันกับใครได้อีกต่อไป

เรื่องราวของสองพี่น้องตระกูลไรท์ให้บทเรียนกับเราอย่างน้อยสามข้อ

หนึ่ง แม้ว่าเราจะทำสิ่งที่เจ๋งสุดยอด แต่ถ้ามันมาก่อนกาล เราก็อาจจะไม่ได้รับผลตอบแทนอย่างที่ควรจะเป็น เหมือนแวนโก๊ะที่ตายไปอย่างคนยากจน เหมือนพี่น้องตระกูลไรท์ที่ไม่มีใครพูดถึงเป็นเวลาเกือบห้าปี

สอง แม้ว่าเราจะเป็น “ผู้บุกเบิก” แต่ถ้าเราไม่ได้รักษาความเป็น “ที่หนึ่ง” เอาไว้ เราก็อาจถูกคลื่นลูกใหม่แซงได้เสมอ

และสาม อย่าปล่อยให้ “การเอาชนะ” และ “การเป็นคนถูก” เข้าครอบงำจนลืมไปว่าสิ่งที่สำคัญคืออะไรครับ


ขอบคุณข้อมูลจากบล็อก Collaborative Fund by Morgan Housel: When You Change the World and No One Notices and Dangerous Feelings

จดหมายจาก นีล อาร์มสตรอง เมื่อถูกครหาว่าไม่ได้ไปดวงจันทร์จริงๆ

เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคมปี 1969 (พ.ศ.2512) ยานอพอลโล 11 ได้ลงจอดบนดวงจันทร์และ Neil Armstrong ก็เป็นมนุษย์คนแรกในประวัติศาสตร์ที่ได้เหยียบดวงจันทร์

“ก้าวเล็กๆ ของคนคนหนึ่ง ก้าวที่ยิ่งใหญ่ของมวลมนุษยชาติ” ทำให้นีล อาร์มสตรองมีชื่อเสียงไปทั่วโลก และมีผู้คนเขียนจดหมายไปหาอาร์มสตรองหลายพันฉบับ ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นไปในทางที่ชื่นชม แต่ก็ใช่ว่าทุกคนจะเชื่อว่าอาร์มสตรองได้ไปเดินบนดวงจันทร์จริงๆ

เหล่าผู้ที่เชื่อในทฤษฏีสมคบคิด (conspiracy theory) ตั้งข้อสังเกตมากมายเกี่ยวกับภาพถ่ายและวีดีโอของการลงจอดบนดวงจันทร์ เช่นตอนปักธงชาติอเมริกาแล้วธงเหมือนถูกลมพัดทั้งๆ ที่บนดวงจันทร์ไม่มีลม หรือภาพถ่ายบางภาพที่มีแสงและเงาผิดปกติ

เมื่อ 21 ปีที่แล้ว อาจารย์จากโรงเรียนแห่งหนึ่งได้เขียนจดหมายหาอาร์มสตรองด้วยเนื้อหาดังนี้

1 สิงหาคม 2000

เรียนคุณอาร์มสตรอง

อย่างน้อยที่สุดผมควรจะส่งการ์ดอวยพรวันเกิดครบรอบ 70 ปีมาให้คุณ แต่เนื่องจากในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา ผมต้องทนดูคุณหลอกลวงผู้คนว่าคุณได้ไปเดินบนดวงจันทร์มาแล้ว ผมเลยอยากจะบอกว่าคุณและนักบินอวกาศคนอื่นๆ กำลังเป็นตัวตลกในสายตาคนทั้งโลกเพราะอินเทอร์เน็ตได้เปิดโปงเรื่องของพวกคุณหมดแล้ว

บางทีคุณอาจจะไม่รู้เรื่องด้วยซ้ำว่ามีหลักฐานมากมายแค่ไหนที่วนเวียนอยู่ในโลกอินเทอร์เน็ต ทุกคนรู้แล้วว่าการไปดวงจันทร์นั้นเป็นเรื่องโกหกทั้งเพ แถมหลักฐานก็มีพร้อมสรรพ เรารู้ว่าภาพเหล่านั้นถูกตกแต่งขึ้น เรารู้ว่าใครเป็นคนแต่งภาพ และการลงจอดยานรวมถึงการเดินบนพระจันทร์นั้นถูกถ่ายทำขึ้นที่ Langley Research Center และเราก็ยังรู้ถึงเหตุผลที่นาซ่าต้องสร้างยาน Apollo ของปลอมขึ้นมาด้วย

บางทีคุณก็อาจะเป็นเหมือนคนแก่วัยเกษียณคนอื่นๆ ที่ไม่เล่นอินเทอร์เน็ตเพราะคุณเล่นไม่เป็น แต่ผมอยากแนะนำให้คุณลองไปที่เว็บ (เว็บถูกถอดชื่อออก) เพื่อจะได้เห็นกับตาตัวเองว่า เมื่อเวลาผ่านพ้นไป 30 ปี การกล่าวอ้างว่าได้ไปเหยียบดวงจันทร์นั้นมันฟังดูงี่เง่าแค่ไหน

ในฐานะคุณครูที่ต้องสอนเด็กๆ ผมมีหน้าที่ที่จะต้องเล่าประวัติศาสตร์ที่ถูกต้อง ไม่ใช่เรื่องลวงโลก

(ลงชื่อผู้เขียนจดหมาย)


นี่คือจดหมายตอบจากนีล อาร์มสตรองครับ

คุณ Whitman ครับ

จดหมายของคุณที่พูดถึงข้อสงสัยโดยอ้างอิงจากนักทฤษฎีสมคบคิดทำให้ผมงุนงงเป็นอย่างยิ่ง พวกเขาอยากให้คุณเชื่อว่ารัฐบาลอเมริกาต้มตุ๋นประชาชนของตัวเอง และเหล่าคน 400,000 คนที่ทำงานอยู่ในภารกิจลับนี้ล้วนรู้เห็นเป็นใจในการต้มตุ๋นครั้งใหญ่นี้โดยไม่มีใครแม้แต่คนเดียวออกมาแพร่งพราย

ถ้าคุณเชื่ออย่างนั้นจริงๆ คุณก็ไม่ควรเขียนจดหมายมาหาผมหรอกนะ เพราะผมก็เป็นหนึ่งใน 400,000 คนที่หลอกลวงอยู่ดี ผมเชื่อว่าในฐานะที่คุณเป็นคุณครู คุณย่อมมีการศึกษาที่ดี คุณย่อมรู้วิธีการติดต่อคนที่มีความรู้ความสามารถที่ไม่ได้มีส่วนร่วมในการต้มตุ๋นได้อยู่แล้ว

ในเมื่อข้อกล่าวหาคือยานอพอลโลไม่เคยไปถึงดวงจันทร์จริงๆ คุณจึงควรจะติดต่อผู้เชี่ยวชาญในประเทศอื่นๆ ที่ track เที่ยวบินของอพอลโล (Jodrell Bank ของอังกฤษหรือแม้กระทั่งนักวิชาการในรัสเซีย) คุณควรจะติดต่อนักดาราศาสตร์ที่ Lick Observatory ที่ยิงเลเซอร์บีมไปยังกระจก Lunar Ranging Reflector หลังจากที่ผมติดตั้งมันบนดวงจันทร์เสร็จเพียงไม่กี่นาที และถ้าคุณรู้สึกว่าพวกเขายังไม่น่าเชื่อถือมากพอ คุณก็ลองติดต่อนักดาราศาสตร์ที่ Pic du Midi Observatory ในฝรั่งเศสก็ได้ พวกเขาจะเล่าให้คุณฟังว่ายังมีนักดาราศาสตร์ทั่วโลกมากมายขนาดไหนที่กำลังวัดผลจากการยิงเลเซอร์บีมไปยังกระจกที่ผมได้ติดตั้งเอาไว้ แล้วคุณก็ควรไปสอบถามคนเหล่านั้น

หรือไม่อย่างนั้นคุณก็อาจจะเข้าอินเทอร์เน็ตและค้นหารายชื่อนักวิจัยในห้องแล็บตามมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั่วโลกที่กำลังศึกษาตัวอย่างดินและหินที่ยานอพอลโลเก็บมาได้ ซึ่งตัวอย่างบางส่วนยังไม่เคยถูกพบเจอบนโลกมาก่อน

แต่จริงๆ คุณก็ไม่ควรจะฟังผมหรอกนะ เพราะยังไงผมก็ไม่น่าเชื่อถืออยู่แล้ว

นีล อาร์มสตรอง


ขอบคุณเนื้อหาจากหนังสือ A Reluctant Icon: Letters to Neil Armstrong และ Quora: Hasmal Dawn’s answer to Did anyone ask for Armstrong’s response to the fake moon landing theory before he died?

ต้นกำเนิดใบเหลือง-ใบแดง

หนึ่งในเกมที่มีความหมายที่สุดในประวัติศาสตร์วงการฟุตบอลเกิดขึ้นในมหกรรมฟุตบอลโลกปี 1966 ที่มีอังกฤษเป็นเจ้าภาพ

เกมนี้ไม่ใช่รอบชิงชนะเลิศ แต่เป็นรอบตัดเชือกที่อังกฤษพบกับอาร์เจนตินา

กรรมการในแมทช์นั้นคือ Rudolf Kreitlein (รูดอล์ฟ ไครท์ไลน์) ผู้ตัดสินชาวเยอรมัน

หลังจากเกมเริ่มต้นไปได้ประมาณ 30 นาที ไครท์ไลน์ตัดสินว่าอาร์เจนตินาทำฟาล์วตรงกรอบเขตโทษ

Antonio Rattin (แอนโทนิโอ รัตติน) กัปตันทีมอาร์เจนตินาไม่เห็นด้วยและเข้าไปประท้วง จริงๆ รัตตินรู้สึกว่าไครท์ไลน์นั้นเป่าเข้าข้างอังกฤษมาตั้งแต่ต้นเกมแล้ว

ทั้งกรรมการและกัปตันต่างพูดภาษาอังกฤษไม่ได้ รัตตินจึงชี้ไปที่ปลอกแขนกัปตันและบอกว่าขอล่ามมาช่วยแปลภาษา เพราะเขาอยากฟังคำอธิบายของกรรมการว่าทำไมถึงตัดสินโอนเอียงเช่นนี้

ไครท์ไลน์ไม่สนใจและเป่าให้เกมดำเนินต่อไป แต่รัตตินก็ยังประท้วงไม่หยุด ไครท์ไลน์จึงเป่าหยุดเกมอีกครั้งและไล่รัตตินออกจากสนาม

ผู้เล่นอาร์เจนตินาเข้าไปรุมล้อมไครท์ไลน์กันยกใหญ่ ไม่เข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้น แต่เมื่อฝ่ายหนึ่งพูดเยอรมัน อีกฝ่ายพูดภาษาสเปน จึงสื่อสารกันไม่รู้เรื่อง

รัตตินไม่ยอมเดินออกจากสนาม ขนาด Ken Aston ประธานคณะกรรมการตัดสินฟุตบอลโลกลงไปเจราจาด้วยก็ไม่ช่วยอะไร เพราะผู้เล่นอาร์เจนตินาปักใจเชื่อไปแล้วว่าเยอรมันกับอังกฤษนั้นฮั้วกัน

ความอลหม่านทำให้เกมหยุดไปเกือบ 8 นาที จนถึงกับต้องมีตำรวจในเครื่องแบบเข้ามาคุมสถานการณ์ และมีการพูดคุยจนรัตตินยอมเดินออกจากสนามไป

เมื่อต้องเหลือผู้เล่นเพียง 10 คน แถมสมัยนั้นยังไม่อนุญาตให้มีการเปลี่ยนผู้เล่นตัวสำรอง ทีมอาร์เจนตินาจึงต้านทานอังกฤษไม่ไหว และเสียประตูในนาทีที่ 77 จากลูกโหม่งของ Geoff Hurst จบเกมอังกฤษชนะไป 1-0*

วันถัดมาสื่อของอังกฤษลงข่าวกันยกใหญ่ และยังรายงานด้วยว่าสองพี่น้อง Bobby Charlton และ Jack Charlton** ก็ถูกลงโทษ (booking)

ประเด็นก็คือทั้งบ๊อบบี้และแจ๊คไม่รู้ตัวมาก่อนเลยว่าตัวเองถูก booking ในเกมเมื่อวานนี้!

ทั้งสองคนก็เลยขอหารือกับฟีฟ่าว่าเกิดอะไรขึ้นกันแน่ ฟีฟ่าจึงคอนเฟิร์มว่าคนที่ถูก booking คือแจ๊คเพียงคนเดียว ส่วนบ๊อบบี้นั้นไม่โดน

นี่จึงเป็นเรื่องสับสนขั้นสุด กรรมการคิดอย่างหนึ่ง นักข่าวคิดอีกอย่างหนึ่ง ผู้เล่นก็เข้าใจไปอีกอย่างหนึ่ง

เราจะจัดงานแข่งขันระดับโลกได้อย่างไรหากกรรมการยังไม่สามารถสื่อสารให้ทุกคนเข้าใจตรงกันได้?

นี่คือคำถามที่ Ken Aston ประธานคณะกรรมการตัดสินคิดไม่ตก

ระหว่างที่แอสตันขับรถกลับบ้านจากเวมบลีย์ ผ่านถนน Kensington High Street และติดไฟแดงตรงสี่แยก แอสตันก็เหมือนมีแสงสว่างวาบเข้ามาในหัว

ไฟเหลืองหมายถึงให้ระวังและขับช้าลงหน่อย

ส่วนไฟแดงหมายความว่าให้หยุดเดี๋ยวนี้ ห้ามไปต่อแล้ว

เมื่อกลับถึงบ้าน แอสตันจึงเล่าให้ภรรยาฟัง ฟังเสร็จภรรยาก็ตัดกระดาษสีเหลืองหนึ่งใบ สีแดงอีกหนึ่งใบ ขนาดใส่กระเป๋าเสื้อของแอสตันได้พอดี

แอสตันจึงนำไอเดียนี้ไปพัฒนาต่อ จนกระทั่งใบเหลือง-ใบแดงถูกนำมาใช้เป็นครั้งแรกในฟุตบอลโลก 1970 ที่เม็กซิโก***

จากนั้นเป็นต้นมา ใบเหลือง-ใบแดงก็กลายเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในเกมฟุตบอล มันคือสัญลักษณ์ที่มีความเป็นสากล เป็นสิ่งที่ทุกคนเข้าใจตรงกันโดยไม่ต้องใช้คำอธิบายใดๆ เพิ่มเติม ขนาดเมืองไทยยังเอามาใช้อธิบายเวลากกต.ตัดสินใจให้ใบเหลืองหรือใบแดงผู้สมัครส.ส.

ต้องขอบคุณ Ken Aston สำหรับไอเดียเล็กๆ แต่เด็ดขาด

ขอบคุณวิกฤติในสนามที่สร้างโอกาสให้เกมกีฬานี้มีคุณภาพกว่าเดิม

และขอบคุณสัญญาณไฟจราจรที่ Kensington High Street ที่ทำให้เรามีใบเหลือง-ใบแดงใช้กันจนถึงทุกวันนี้ครับ


* อังกฤษชนะโปรตุเกสในรอบรองชนะเลิศ และชนะเยอรมันตะวันตกในรอบชิงชนะเลิศ คว้าแชมป์ฟุตบอลโลกครั้งแรกและครั้งเดียวไปได้

** ผมก็เพิ่งรู้ว่า Bobby Charlton กองหน้าในตำนานของแมนยู มีพี่ชายชื่อ Jack Charlton ที่เล่นเป็นกองหลังทีมลีดส์ยูไนเต็ดและติดทีมชาติชุดเดียวกัน

*** ผมลองไปอ่านประวัติของ Ken Aston จึงพบว่าเขาเป็นคนแรกที่ใส่ชุดกรรมการอย่างที่เราเห็นทุกวันนี้ คือชุดดำแขนขลิบขาว และยังเป็นคนที่เปลี่ยนธงของกรรมการริมเส้นให้เป็นสีเหลืองสลับแดงอีกด้วย (ก่อนหน้านี้ธงของไลน์แมนจะเป็นสีเดียวกับยูนิฟอร์มของทีมเหย้า ซึ่งหากเป็นสีโทนมืดก็จะมองเห็นได้ไม่ชัดในวันที่หมอกลงจัด)


ขอบคุณข้อมูลจาก

หนังสือ The Power of Ignorance by Dave Trott

Daily Star: Inside story of how yellow and red cards were introduced to football 50 years ago

FIFATV: At the start of the England-Argentina rivalry

Wikipedia: Ken Aston