Asian U Always

20170731_asianualways

วันเสาร์ที่ผ่านมาผมไปร่วมงานศิษย์เก่าของ Asian U มาครับ

Asian U ย่อมาจาก Asian University (แต่ก่อนมีห้อยท้ายว่า of Science and Technology ด้วย) คือมหาวิทยาลัยที่ตั้งอยู่บนทางหลวง 331 อ.บางละมุง จังหวัดชลบุรี

Asian U ถูกก่อตั้งโดยดร.วิพรรธ์ เริงพิทยา (หรืออีกฉายาหนึ่งคือ “ดอกเตอร์วิป”) เปิดรับนักศึกษารุ่นแรกเมื่อปี พ.ศ.2541 เป็นนักศึกษาปริญญาตรี 20 คน และ MBA 25 คน

ในนักศึกษาปริญญาตรี เป็นเด็กคณะวิศวรรมศาสตร์ 10 คน และเด็กคณะบริหารธุรกิจ 10 คนเท่ากันพอดี

ผมเป็นหนึ่งในเด็กวิดวะ 10 คนนั้นครับ (รหัสนักศึกษา 4110411004)

สภาพการณ์ตอนที่เปิดมหาลัยนั้นไม่ค่อยเป็นใจเท่าไหร่ เมืองไทยกำลังประสบวิกฤติต้มยำกุ้ง ตอนแรกที่ดร.วิปตั้งใจจะระดมทุนมาให้ได้ 1500 ล้านบาทเพื่อสร้างมหาลัยนี้จึงระดมได้เพียงครึ่งเดียว ทำให้มหาวิทยาลัยต้องรัดเข็มขัดกับหลายๆ เรื่อง แต่สิ่งหนึ่งที่ดร.วิปไม่ยอมประหยัดเลยคือการจ้างครูดีๆ

ชีวิต 4 ปีที่นั่นเป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุดช่วงหนึ่งของผม ผมอยู่ที่หอจึงมีเวลาได้ทำอะไรมากมาย ได้แต่งเพลงให้มหาวิทยาลัย ได้เป็นประธานนักศึกษา ได้จีบสาว ได้แชมป์มินิมาราธอน ได้ไปแข่งกีฬากับม.บูรพาและม.ธรรมศาตร์ ได้คุ้นเคยกับการเป็นมวยรอง (underdog) ได้ตั้งชมรมดูดาว ได้ทำวงดนตรี ได้เล่นเรือใบ ได้ไปฝึกงานสวิตเซอร์แลนด์ และได้สนิทกับเพื่อนและอาจารย์ทุกคน และได้สิ่งที่เรียกว่า Asian U Spirit ซึ่งนิยามได้ยากมาก แต่คนที่จบจากที่นี่มาจะเข้าใจกันดี

ผมมั่นใจว่า 4 ปีที่ผมเรียนอยู่ที่นั่น มหาวิทยาลัยขาดทุนทุกปี เพราะตอนที่ผมเรียนจบน่าจะมีนักศึกษาอยู่ไม่เกิน 150 (แถม 1 ใน 3 ยังเป็นนักเรียนทุน) ผมก็ได้แต่หวังว่าพอนักเรียนเยอะขึ้นมหาวิทยาลัยจะถึงจุดคุ้มทุนเสียที

แต่หลังจากนั้นนักศึกษากลับไม่ได้เพิ่มขึ้นอย่างที่หวัง ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะการแข่งขันที่สูง เพราะหลักสูตรอินเตอร์กลายเป็นสิ่งที่มหาวิทยาลัยเกือบทุกที่ก็มีกัน และเราเองก็อาจทำการตลาดได้ไม่ดีนัก จำนวนนักศึกษาของเราจึงมีแต่ทรงกับทรุด บางรุ่นมีเด็กเข้าเรียนปี 1 ไม่ถึง 10 คนด้วยซ้ำ

งานเลี้ยงที่ดำเนินมาร่วม 20 ปีจึงต้องถึงวันเลิกรา

วันนี้ วันจันทร์ที่ 31 กรกฎาคม 2560 นักศึกษารุ่น 16 จะเข้าร่วมพิธีประทานปริญญาบัตรเป็นรุ่นสุดท้าย และเมื่อจบงานนี้ไป มหาวิทยาลัยเอเชี่ยนยูก็จะปิดตัวโดยถาวร (แต่ผู้ที่เข้ามาถือหุ้นใหญ่จะปรับปรุงสถานที่ให้เป็นอย่างอื่นแทน)

พวกเราเหล่าศิษย์เก่าที่ธรรมดาจะนัดพบกันที่กรุงเทพ จึงตัดสินใจกลับไปจัดงาน Reunion ที่แคมปัส เพื่อเป็นการกล่าวคำอำลากับมหาวิทยาลัยเป็นครั้งสุดท้าย

ระหว่างที่ผมขับรถกลับไป Asian U นั้น ก็มีภาพความทรงจำไหลมาเทมา ขับผ่านประตูทางเข้าก็จะเห็นสนามหญ้าหน้าอาคารเรียนที่มีต้นไม้สูงใหญ่รายล้อม ผมขับรถวนไปที่บ่อปลาซึ่งเป็นที่ๆ หนุ่มสาวทุกคู่ต้องเดินมาให้อาหารปลาช่วงจีบกันใหม่ๆ ก่อนจะไปจอดรถที่สปอร์ตคลับเพื่อเจอน้องๆ และเล่นกีฬาด้วยกัน ซึ่งกีฬาสองอย่างที่ผมได้เล่นคือแชร์บอลกับฟุตบอล

ผมคงไม่เล่ารายละเอียดของงานไปมากกว่านี้ แต่อยากจะเล่าให้ฟังถึงความเข้าใจ 3 อย่างที่ผมได้จากงานวันนั้น

อย่างแรก ตอนที่ภาพความทรงจำไหลเข้ามาในหัวนั้น แทบจะไม่มีภาพในห้องเรียนเลย มีแต่ภาพตอนขึ้นไปนอนดูฝนดาวตกที่ดาดฟ้า ภาพตอนที่แข่งฟุตซอลตรงลาน activity square ภาพเล่นดนตรีหน้าสปอร์ตคลับ ภาพนั่งแต่งเพลงอยู่คนเดียวใน ห้อง study room ภาพที่ผมกับเพื่อนกระโดดกอดกันในห้อง common room ตอนรุ่งสางในวินาทีที่โซลชาร์ยิงประตูพาแมนยูคว้าสามแชมป์ รวมไปถึงภาพเล็กๆ อย่างการนั่งบรรจงเขียนอีเมลหารุ่นน้องที่ผมชอบผ่านโปรแกรมเก่าแก่อย่าง Pine

ทำให้คิดได้ว่า ภาพที่มักจะกลายมาเป็นความทรงจำ มักเกิดจาก extra moments ที่อยู่นอกเหนือจากหน้าที่หลักของเรา

หน้าที่หลักของผมตอนนั้นคือการเรียน แต่ภาพที่ผมจำได้กลับอยู่นอกห้องเรียน

หน้าที่หลักของผมตอนนี้คือการทำงาน แต่ภาพที่ผมจะจำได้ในอีกหลายสิบปีข้างหน้าน่าจะเกิดนอกออฟฟิศ

เรื่องที่สอง ตอนที่ผมลงเล่นแชร์บอลนั้น เราแบ่งทีมกันอย่างง่ายๆ ข้างละ 10 คน ชายหญิงคละกันไป ไม่มีการใส่เอี๊ยมด้วย แค่จะจำหน้าว่าใครอยู่ทีมไหนยังยาก

แต่เราสนุกกันมาก ผมรู้สึกเสียดายทุกครั้งที่ลูกชู๊ตของเราโดนประตูฝ่ายตรงข้ามปัดได้ ผมดีใจทุกครั้งที่ฝ่ายเราชู๊ตลง แต่ผมก็ตบมือทุกครั้งเวลาที่ฝ่ายตรงข้ามชู๊ตลงเช่นกัน เพราะสุดท้ายแล้ว เป้าหมายไม่ใช่การเอาชนะ เป้าหมายคือเรามาสนุกร่วมกัน

หรือจริงๆ แล้วชีวิตก็เป็นแบบนั้น?

เราไม่จำเป็นต้องชนะตลอดก็ได้ บางทีเราก็ยิงได้ บางทีเค้าก็ยิงได้ แต่สิ่งสำคัญคือเรามีส่วนร่วมกับเกมแค่ไหน เราได้ส่งบอลให้เพื่อนมั้ย เราได้ลองชู้ตเองบ้างรึเปล่า และที่สำคัญที่สุด คือเรามีความสุขและสนุกไปกับมันรึเปล่า

Maybe it’s not about winning. Maybe it’s about having a good time together.

เรื่องสุดท้าย ตอนที่ผมเล่าว่าผมขับรถเข้ามามหาวิทยาลัยแล้วเห็นต้นไม้สูงใหญ่ หนึ่งในต้นไม้เหล่านั้นผมเป็นคนปลูกเองกับมือเมื่อ 19 ปีที่แล้ว

ในอนาคต Asian U จะถูกเปลี่ยนไปเป็นอะไรก็ตาม ผมก็เชื่อว่าต้นไม้ที่ผมปลูกเอาไว้จะยังคงเติบโตและให้ร่มเงาไปอีกหลายสิบปี

“ต้นไม้” ที่ Asian U ปลูกเอาไว้จริงๆ ก็คือพวกเราศิษย์เก่านั่นเอง และผมก็เชื่อว่าเด็ก Asian U จะยังคงเติบโตและสร้างร่มเงาให้สังคมไทยไปได้อีกหลายสิบปีเช่นกัน

Dr.Seuss เคยกล่าวไว้ว่า

“Don’t cry because it’s over. Smile because it happened.”

ผมใจหายเพราะ Asian U จะไม่อยู่แล้ว แต่อีกมุมหนึ่ง ผมก็รู้สึกโชคดีมากๆ ที่ได้เป็นหนึ่งในไม่กี่คนที่ได้มีโอกาสมาใช้ชีวิตอยู่ในมหาวิทยาลัยอันแสนพิเศษแห่งนี้

ขอบคุณสำหรับทุกๆ อย่าง

Asian U Always.

ลิเกการศึกษา

20170618_ligae

[ถาม]: โทษนะคะ ตอนนั้นจิตวิญญาณความเป็นครูหายไปไหมคะ ?”
[ตอบ]: ไม่ถึงขนาดนั้น แต่มาสะดุดใจตอนปี พ.ศ. 2531 ตอนนั้น อ.อารี สัณหฉวี อาจารย์ใหญ่ ร.ร.สาธิต เชิญ Professor Hotchkis, G.D. จากมหาวิทยาลัย Macquarie ประเทศออสเตรเลีย มาเลกเซอร์เรื่องการสอนแบบ mastery learning ให้พวกครูสาธิต

ตอนนั้นผมอยากสอนคณิตศาสตร์สำหรับเด็กอัจฉริยะ อ.อารีรู้เรื่องนี้เลยชวนผมมานั่งฟัง แต่ผมหยิ่ง ฝรั่งจะมาสอนอะไร วิธีสอนของเขาจะมาสู้อะไรเรา

ที่ไหนได้ สิ่งที่เขาสอนทำให้เราเห็นว่า ไอ้ที่เราสอนกวดวิชา สรุปให้เด็กจำเพื่อนำไปสอบ เราควรจะสอนไหม หรือควรจะสอนความรู้ที่ติดตัวเด็กไป

สอนกวดวิชาเหมือนใส่ชุดลิเก เป็นเทพ เป็นเจ้า แต่พอเล่นเสร็จ เราถอดชุดออกใช่ไหม ถอดออกมันก็ไม่ใช่เทพแล้ว เนี่ยเราสอนเด็กเหมือนเล่นลิเก คนนี้เก่ง รำสวย ชฎาสวย แต่มันใช้กับชีวิตจริงตรงไหน

ความรู้ที่เราสอนพอสอบเสร็จทิ้งหมดนะ ผมเรียกคณิตศาสตร์ลิเก วิทยาศาสตร์ลิเก
พอแสดงเสร็จ คนดูกลับ จบ วันรุ่งขึ้นเก็บเงินคนดูเข้ามาดูใหม่

ถ้าคุณเป็นพระเอกในลิเกคุณต้องเป็นพระเอกในชีวิตจริงได้ด้วยสิ แต่ชีวิตจริงไม่ได้เอาลิเกมาใช้เลย

เราลืมเรื่อง “ความทั่วถึง”

ไอ้ที่เราสอนเด็กติดแพทย์ ติดวิศวะ เราคิดว่าเราเก่ง โถ..จะไม่ติดได้ยังไง เราสอนตั้งปีกว่า แต่เด็กที่เราทิ้งไปคือเด็กที่มาเรียนกับเราแล้วไม่รู้เรื่อง

เรียนกับ อ.พูลศักดิ์ยังไม่รู้เรื่องก็ทิ้งวิชาคณิตศาสตร์ไปเลย แต่จริงๆ คณิตศาสตร์ที่ต้องใช้กับชีวิตประจำวัน มันควรจะแปะติดตัวเราไป ไม่ใช่คณิตศาสตร์ลิเก

แล้วพอเจอ professor เรารู้เลยว่า ที่ผ่านมาเวลาเราสอนเราพูดวิธีเดียว เราคิดว่าพูดแค่นี้นักเรียนต้องรู้ พอนักเรียนไม่รู้เราบอกว่า “คนนี้ต้องมีอะไรผิดปกติ” แต่จริง ๆ แล้ว “เราเองผิดปกติ”

เหมือนคนเป็นหมอ คนไข้มารักษาไม่หาย เราโทษคนไข้ไหม ไม่ เพราะจริงๆ เราผิด

เรามีหน้าที่มองนักเรียนแต่ละคนในจุดเล็กๆ

คนเก่งทำได้ ใช้เวลาสั้นแล้วมาดูแลเพื่อน คนอ่อนใช้เวลาเรียนมากหน่อย

เพราะฉะนั้นเวลาทำแบบฝึกหัด สมมติโจทย์มี 30 ข้อ คนเก่งให้ทำไปเลย 30 ข้อ คนอ่อนทำได้ 5 ข้อ พอแล้ว นักเรียนทุกคนรู้เท่าเทียมกัน เขาเรียก “เต็มที่” และ “ทั่วถึง” ซึ่งทั้งสองอย่างนี้ไม่มีในระบบการศึกษาไทย

– อาจารย์พูลศักดิ์ เทศนิยม
อดีตติวเตอร์กวดวิชาที่ได้ค่าสอนวันเดียว 20 ล้าน
นิตยสารคู่สร้างคู่สม ฉบับเดือนมกราคม 2554
นำมาถ่ายทอดออนไลน์โดย ไชยยศปั้น OKNation Blog 

—–

ผมเองเคยเรียนโรงเรียนกวดวิชาอยู่ครั้งหนึ่งตอนเตรียมตัวสอบเข้ามัธยม 1 ที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ

ช่วงนั้นเตรียมพัฒน์ฮอตมาก เพราะปีนั้นเด็กที่จบม.6 จากที่นี่เอนทรานซ์ติดเยอะเป็นอันดับสองของประเทศ เป็นรองแค่โรงเรียนเตรียมใหญ่ฯ จนส่งผลให้รุ่นผมมีนักเรียนถึง 1000 กว่าคนและห้องเรียน 20 ห้อง

พอจบม.3 เทอมแรก ก็ไปเรียนนิวซีแลนด์ จึงไม่เคยมีโอกาสได้กวดวิชาอีกเลย

มานั่งนึกดู ผมอยู่ที่นิวซีแลนด์สามปี ไม่เคยเห็นใครกวดวิชาเลย

—–

คำพูดของอาจารย์พูลศักดิ์ที่ว่าสอนกวดวิชาเหมือนสอนเล่นลิเกนี่ฟังแล้วจี๊ดหัวใจ

และถ้าผมเป็นอาจารย์กวดวิชาเองก็คงจี๊ดกว่านี้อีกหลายเท่า

ซึ่งจะว่าไปแล้วผมก็ไม่คิดว่าเราควรโทษอาจารย์กวดวิชานะครับ เพราะเขาก็แค่เติมเต็มความต้องการของตลาดเท่านั้นเอง

ยิ่งอาจารย์กวดวิชามีรายได้มากเท่าไหร่ ยิ่งสะท้อนให้เห็นถึงสภาพการศึกษาในบ้านเรามากเท่านั้น

การศึกษาก็เหมือนการเล่นเกม กติกาก็ง่ายๆ  คือมาเรียนให้ครบชั่วโมงและสอบให้ผ่านคุณก็จะได้ไปต่อ พอคุณผ่านด่านครบ 16 ด่าน (ประถม มัธยม อุดมศึกษา) คุณก็จะได้ใบที่เรียกว่าปริญญาตรีเพื่อไปเริ่มเกมใหม่ที่เรียกว่าชีวิตการทำงาน

ประเด็นก็คือชีวิตการทำงานเรากำลังเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วมาก วิธีการทำงานของเราในวันนี้แตกต่างจากเมื่อ 20 ปีก่อนอย่างสิ้นเชิง แต่หลักสูตรการศึกษา(บางส่วน)ของเราอาจจะเก่ากว่า 20 ปีด้วยซ้ำ

ผมคงไม่คิดจะเรียกร้องให้ปฏิรูปการศึกษา เพราะเชื่อว่ามีคนตั้งใจจะทำอยู่แล้ว เพียงแต่มันยากมากและคงต้องใช้เวลาอีกซักพัก

และโลกแห่งการศึกษาก็คงยากที่จะตามโลกแห่งความจริงได้ทัน แค่ลองจินตนาการว่าโลกของเราจะเป็นอย่างไรตอนที่ลูกสาวผมจบปริญญาตรีในอีก 20 ปีข้างหน้า หัวผมก็เต็มไปด้วยความว่างเปล่า

ในฐานะประชาชนคนหนึ่ง ถ้าเกมการศึกษายังบังคับให้ลูกเราเป็นนางเอกลิเกอยู่ ก็คงต้องว่าไปตามนั้น

แต่ในฐานะพ่อคนหนึ่ง คงต้องไม่ลืมสอนลูกให้เป็นนางเอกในชีวิตให้ได้ด้วยเช่นกันครับ

——

ขอบคุณข้อมูลจากนิตยสารคู่สร้างคู่สม ฉบับเดือนมกราคม 2554 (ถ่ายทอดออนไลน์โดย ไชยยศปั้น OKNation Blog )

วิธีสอบให้ได้ A

20160722_ace

บทความนี้อาจจะไม่ค่อยมีประโยชน์กับกลุ่มผู้อ่านหลักของ Anontawong’s Musings เท่าไหร่ เพราะส่วนใหญ่ทำงานกันหมดแล้ว

แต่ผมก็หวังว่ามันจะมีประโยชน์พอที่จะให้ผู้อ่านนำไปแชร์ให้กับน้องๆ ที่ยังเรียนอยู่ โดยเฉพาะเด็กมัธยมปลายหรือเด็กมหาวิทยาลัยนะครับ

ผมจบมาจาก Asian University ที่จังหวัดชลบุรี และผมก็เป็นนักศึกษารุ่นแรก

ในวันนั้น มหาวิทยาลัยมีแค่สองคณะคือวิศวะฯ กับ บริหารธุรกิจ และมีเด็กแค่ 20 คนเท่านั้นคือวิศวะ 10 คน  BBA 10 คน

พอขึ้นปี 2 ก็เหลือ 14 คน พอปี 3 ก็เหลือ 13 คน คือวิศวะ 6 BBA 7

ในคณะวิศวะ 6 คนนั้น มีสามคนที่เป็นนักเรียนทุน และอีกสามคนที่ไม่ใช่นักเรียนทุน

นักเรียนทุนมีหน้าที่ต้องรักษาเกรดเฉลี่ยเกิน 3.0 อยู่แล้ว จึงค่อนข้างขยันและทำคะแนนดีมาโดยตลอด

ส่วนอีกสามคนที่ไม่ใช่นักเรียนทุน ก็จะออกแนวชิวๆ เรียนบ้างไม่เรียนบ้างตามประสา และต้องมานั่งลุ้นเกรดทุกสิ้นเทอม

ที่หอพักของเอเชี่ยนยูนั้น ชั้น 1 จะมีห้องเปล่าประมาณ 12 ห้องที่เขาเปิดให้เป็น Study Room ที่ใครจะมาใช้ก็ได้

ตอนปีหนึ่งกับปีสอง เด็กที่ไม่ใช่นักเรียนทุนจะเอ่ยปากขอให้เด็กทุนช่วยติววิชาที่มันยากๆ เช่นเลขหรือฟิสิกส์

แต่พอขึ้นปีสาม เราก็ได้ไอเดียบรรเจิดว่า จริงๆ แล้วเราก็ควรจะให้เด็กไม่ทุนติวเด็กทุนได้เหมือนกันนี่!

ก็เลยตกลงกันว่าแต่ละคนจะต้องติวกันคนละ 1 วิชา เรามีกันทั้งหมด 6 คน ก็แบ่งกันลงตัวพอดี

คนที่เป็นติวเตอร์ ต้องไปเขียนโน๊ตสรุปเนื้อหาวิชาที่ตัวเองได้รับมอบหมายมา แล้วถ่ายเอกสารมาแจกเพื่อนๆ

เมื่อได้เวลาติวของวิชานั้นๆ เราก็จะมารวมตัวกันที่ห้อง Study Room แล้วให้ติวเตอร์ของวิชานั้นเป็นคนสอน อาจจะครั้งละสองชั่วโมงก็ว่ากันไป ถ้ายังคุยไม่จบค่อยนัดมาติวกันต่อวันหลัง

ผลที่ออกมาคือดีมากครับ

ดีมากในแง่ที่ว่า คนที่ไม่ใช่เด็กทุน ที่รับหน้าที่เป็นติวเตอร์วิชาไหน เขาจะสอบได้ A หรือ B+ ในวิชานั้นๆ

เพราะการที่เขาต้องมานั่งทำโน๊ต และเตรียมตัวสอนเพื่อนนั้น ทำให้เขาเข้าใจวิชานี้อย่างกระจ่างแจ้งไปโดยปริยาย

เขียนเล่ามาตั้งนาน เพียงเพื่อจะบอกว่า เคล็ดลับของการสอบวิชาไหนให้ได้ A นั้น ก็แค่เพียงเตรียมตัวราวกับว่า เราจะต้องเป็นติวเตอร์วิชานั้นให้กับเพื่อนๆ ของเรา และจะยิ่งดีมากถ้าได้ลงมือติวจริงๆ เพราะเพื่อนจะถามคำถามซึ่งชี้ให้เห็นว่าเรายังตกหล่นหรือยังเข้าใจประเด็นไหนไม่ชัดเจนรึเปล่า

ลองเอาไปใช้ดูนะครับ


อ่านตอนเก่าๆ ได้ที่ https://anontawong.com/archives/

ดาวน์โหลดอีบุ๊ค “เกิดใหม่

ขอบคุณภาพจาก Pixabay.com

โรงเรียนที่กำลังมาแรงที่สุดในเยอรมันนี

20160710_School

สวัสดีครับ

วันนี้มีเรื่องราวดีๆ ที่ช่วยเปิดโลกทัศน์ผมเรื่องการศึกษามาเล่าสู่กันฟังครับ

ใครภาษาอังกฤษแข็งแรงขอเชิญอ่านได้ที่เว็บของ The Guardian ได้เลยนะครับ No grades, no timetable: Berlin school turns teaching upside down 

แอนทอน โอเบอร์แลนเดอร์เป็นนักพูดโน้มน้าวที่ลีลาเหลือร้าย

เมื่อปีที่แล้วเขากับเพื่อนๆ จะไปเที่ยวที่เมืองคอร์นวอลล์ ประเทศอังกฤษ แต่ปรากฎว่ามีเงินไม่พอซื้อตั๋วรถไฟ แอนทอนจึงใช้วาทศิลป์ต่อรองกับเจ้าหน้าที่ทางรถไฟจนได้ตั๋วฟรี – เพียงพอที่จะให้ทุกคนในกลุ่มได้เดินทางไปคอร์นวอลล์ด้วยกัน

ฝ่ายบริหารของทางรถไฟประทับใจในตัวแอนทอนมากจนต้องเชิญแอนทอนมาพูดสร้างแรงบันดาลใจให้กับเจ้าหน้าที่ 200 คนของการรถไฟ

อ้อ ลืมบอกไปอีกอย่าง แอนทอนคนนี้อายุแค่ 14 ขวบเท่านั้น

ความมั่นใจของแอนทอนมาจากโรงเรียนที่กำลังปฏิวัติการเรียนการสอนในเยอรมันนีครับ

ที่โรงเรียนแห่งนี้ จะไม่มีการคิดเกรดให้นักเรียนจนกว่าเด็กจะอายุครบ 15 ปี

ไม่มีตารางสอน

และไม่มีการสอนแบบครูออกไปพูดหน้าห้องด้วย

นักเรียนจะตัดสินใจเองว่า แต่ละวันคาบจะเรียนวิชาอะไร

และอยากจะสอบตอนไหน!

วิชาบังคับมีแค่สี่วิชาคือ เลข เยอรมัน อังกฤษ และสังคมศึกษา นอกจากนั้นก็มีวิชาอื่นๆ ที่ชื่อไม่คุ้นหูอย่างวิชา “ความรับผิดชอบ” (responsibility) และวิชา “ความท้าทาย” (challenge)

ในวิชาความท้าทายนั้น นักเรียนที่อายุระหว่าง 12-14 ปีจะได้เงินคนละ 150 ยูโร (ประมาณ 6000 บาท) เพื่อออกไปผจญภัยโดยต้องวางแผนเองทั้งหมด

แอนทอนกับเหล่าเพื่อนตัดสินใจจะไปเดินป่า (trekking) ในคอร์นวอลล์ ซึ่งเป็นเมืองที่อยู่ทิศใต้สุดของประเทศอังกฤษ (จึงเป็นที่มาของการเจรจาขอตั๋วฟรีนั่นเอง)

ปรัชญาในการทำโรงเรียนรูปแบบใหม่นี้ก็คือ – เมื่อตลาดแรงงานมีความต้องการที่เปลี่ยนไป และอินเตอร์เน็ตกับมือถือก็เข้ามาเปลี่ยนแปลงการรับรู้ข้อมูลของเด็กรุ่นใหม่ ทักษะที่สำคัญที่สุดที่โรงเรียนจะมอบให้กับเด็กได้คือความสามารถในการกระตุ้นและผลักดันตัวเอง (the most important skill a school can pass down to its students is the ability to motivate themselves)

มาเกร็ต แรสเฟลด์ อาจารย์ใหญ่ของโรงเรียนนี้บอกว่า “คุณลองดูเด็กสามสี่ขวบสิ เด็กพวกนี้มีความมั่นใจจะตาย แต่ละคนล้วนแต่กระตือรือล้นที่จะไปโรงเรียน แต่สุดท้ายระบบการศึกษาของเราก็ทำให้เด็กเหล่านี้ค่อยๆ สูญเสียความมั่นใจไปเกือบหมด”

โรงเรียนของแอนทอนที่มีมาเกร็ตเป็นอาจารย์ใหญ่มีชื่อว่า The Evangelical School Berlin Centre (ESBC)

มาเกร็ตบอกว่าพันธกิจของโรงเรียนหัวก้าวหน้าก็คือการเตรียมพร้อมให้คนหนุ่มสาวสามารถรับมือกับความเปลี่ยนแปลงได้ และจะยิ่งดีไปกว่านั้นก็คือทำให้คนหนุ่มสาวต้อนรับและนำพาความเปลี่ยนแปลง

“ในศตรรษที่ 21 หน้าที่ของโรงเรียนคือการสร้างคนที่มีบุคลิกภาพที่เข้มแข็ง” (In the 21st century, schools should see it as their job to develop strong personalities.) อาจารย์มาเกร็ตบอก

การเรียนการสอนแบบเก่าคือการบังคับให้นักเรียนนั่งฟังอาจารย์ทั้งชั่วโมง และลงโทษนักเรียนที่รวมหัวกันทำการบ้าน (เพราะมองว่าเป็นการลอก) แต่วิธีการเหล่านี้ไม่สอดคล้องกับการทำงานปัจจุบันที่จำเป็นต้องมีการปรึกษาหารือและช่วยกันแก้ไขปัญหาโดยที่ไม่มีใครมาบอกว่าต้องทำอะไร

มาเกร็ตบอกว่า วิธีกระตุ้นเด็กที่ดีที่สุดคือปล่อยให้พวกเขาค้นพบประโยชน์จากวิชาที่เขาเรียนด้วยตัวเอง

นักเรียนที่ ESBC จึงได้รับโอกาสที่จะคิดวิธีทดสอบความรู้ที่เรียนมาได้ด้วยตนเอง เช่นแทนที่จะมานั่งทำข้อสอบ ก็อาจจะลองเขียนโปรแกรมสร้างเกมคอมพิวเตอร์ขึ้นมาแทน หรืออย่างเด็กชายแอนทอนก็บอกว่า ในช่วงสามสัปดาห์ที่เขาไปเดินป่าในคอร์นวอลล์ เขาได้เรียนรู้ภาษาอังกฤษมากกว่าที่เรียนในโรงเรียนมาตลอดหลายปีเสียอีก

แม้ว่าโรงเรียนนี้จะเป็นโรงเรียนหัวสมัยใหม่ แต่ก็บังคับใช้กฎระเบียบอย่างเคร่งครัดเช่นเดียวกัน นักเรียนที่ไม่ตั้งใจเรียนจะโดนลงโทษให้มาเข้าเรียนหนังสือเช้าวันเสาร์เป็นการชดเชย

“ยิ่งมีอิสรภาพมากเท่าไหร่ เรายิ่งต้องมีโครงสร้างที่ชัดเจนมากขึ้นเท่านั้น” (The more freedom you have, the more structure you need,” says Rasfeld.)

ที่โรงเรียน ESBC กำลังเป็นโรงเรียนที่มาแรงที่สุดในเยอรมันนีก็เพราะว่าผลิตเด็กออกมาได้มีคุณภาพมาก โดยเกรดเฉลี่ยของนักเรียนที่จบม.ปลายจากโรงเรียนนี้คือ 3.0 (เหมือนได้ B ทุกวิชา) ทั้งๆ ที่ก่อนจะมาเข้าโรงเรียนนี้เด็กเกือบครึ่งถูกมองว่าไม่น่าจะเรียนต่อมหาวิทยาลัยได้ด้วยซ้ำ

ESBC เปิดขึ้นเมื่อปี 2007 และมีนักเรียนแค่ 16 คน แต่ปี 2016 มีนักเรียนเต็มความจุถึง 500 คนและมีนักเรียนที่มาลงชื่อเข้าคิวยาวเป็นหางว่าว

ความสำเร็จของ ESBC ทำให้เริ่มมีเสียงเรียกร้องให้เอาการเรียนการสอนแบบนี้ไปลองใช้กับโรงเรียนทั้งประเทศดูบ้าง

น้กการศึกษาบางคนมองว่าอาจจะไม่ง่ายขนาดนั้นเพราะว่าการที่ ESBC อยู่ในเมืองเบอร์ลินอาจทำให้โรงเรียนสามารถคัดแต่เด็กคุณภาพที่ครอบครัวฐานะดี

แต่ครูใหญ่มาเกร็ตบอกว่านั่นไม่ใช่ประเด็น เพราะว่านักเรียนที่โรงเรียนนี้มีความหลากหลายมาก แม้ว่าชื่อโรงเรียนจะบอกว่าเป็นโรงเรียนคริสเตียนแต่เด็กเพียงแค่ 1 ใน 3 เท่านั้นที่นับถือคริสต์ มีเด็กถึง 30% ที่ครอบครัวอพยพมาจากประเทศอื่น และมีเด็ก 7% ที่มาจากครอบครัวที่ไม่พูดภาษาเยอรมันที่บ้านเลย

แม้ ESBC จะเป็นโรงเรียนเอกชน แต่ค่าเทอมก็ไม่แพงจนเกินไป คืออยู่ที่ 30,000 – 250,000 บาทต่อปี (ผมไม่แน่ใจเหมือนกันว่าทำไม range ถึงกว้างนัก)

มาเกร็ตบอกว่า สิ่งที่ยากกว่าการปรับตัวของนักเรียน คือการหาครูที่พร้อมจะปรับตัวเองเพื่อให้เข้ากับการเรียนการสอนแบบใหม่

มาเกร็ตในวัย 65 ปีที่กำลังจะเกษียนในเดือนนี้บอกว่า เธอได้สร้าง Education Innovation Lab เพื่อสร้างสื่อการเรียนการสอนสไตล์ ESBC ที่โรงเรียนอื่นๆ สามารถนำไปใช้ได้ และตอนนี้ก็มีโรงเรียนกว่า 40 โรงเรียนที่สนใจเข้าร่วมแล้ว

“สำหรับเรื่องการศึกษา วิธีเดียวที่คุณจะสร้างความเปลี่ยนแปลงได้คือจากล่างขึ้นบน เพราะกระทรวงศึกษาก็เหมือนเรือขนส่งน้ำมันที่อุ้ยอ้ายและกว่าจะกลับหัวได้ก็ใช้เวลาชาติเศษ สิ่งที่เราต้องการคือเรือสปีดโบ๊ทหลายๆ ลำที่จะโชว์ให้คนอื่นเห็นว่าเราสามารถทำการศึกษาให้ต่างไปจากเดิมได้”

ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่าบทความนี้จะไปเข้าหูเข้าตาคนที่อยู่ในวงการการศึกษาของเมืองไทย ด้วยหวังใจว่าเขาจะเอาแนวความคิดของคุณครูมาเกร็ตนี้ไปต่อยอดและประยุกต์ใช้กับบ้านเราได้ครับ


ขอบคุณข้อมูลจาก The Guardian: No grades, no timetable: Berlin school turns teaching upside down 

อ่านบทความใหม่ทุกวันที่เพจ Anontawong’s Musings: facebook.com/anontawongblog

อ่านบทความทั้งหมด anontawong.com/archives

ดาวน์โหลดหนังสือ “เกิดใหม่” anontawong.com/subscribe/

ทักษะที่จำเป็นสำหรับนักเรียนสมัยนี้

20160319_Skills

สุดสัปดาห์นี้มีโอกาสได้นั่งอ่านบทความที่น่าสนใจจากการประชุมเศรษฐกิจโลก หรือ World Economic Forum ครับ

การประชุม WEF นี้เกิดขึ้นทุกต้นปีที่เมืองดาวอส สวิตเซอร์แลนด์ เป็นการรวมตัวของบุคคลชั้นนำจากหลากหลายวงการ ทั้งภาครัฐ ภาคธุรกิจ ภาควิชาการ ภาคประชาสังคม และสื่อมวลชน ที่มาแลกเปลี่ยนทัศนะเกี่ยวกับสถานการณ์โลก ตลอดจนเสนอแนะทิศทางในการกำหนดนโยบายในระดับโลกและระดับภูมิภาค

ข้อเสนอหนึ่งที่น่าสนใจคือทักษะที่จำเป็นสำหรับเด็กในศตวรรษที่ 21 มีทั้งหมด 16 ข้อโดยแบ่งออกเป็นสามหัวข้อหลักคือความรู้พื้นฐาน ความสามารถ และลักษณะนิสัย

Foundational Literacies – ความรู้พื้นฐาน
1. Literacy – อ่านออกเขียนได้
2. Numeracy – คิดคำนวณ
3. Scientific Literacy – ความรู้ทางวิทยาศาสตร์
4. ICT Literacy – ความรู้ทางด้านเทคโนโลยี
5. Financial Literacy – ความรู้ด้านการเงิน
6. Cultural and Civic Literacy – ความรู้ด้านวัฒนธรรมและพลเมือง

Competencies – ความสามารถ
7. Critical Thinking / Problem Solving – การคิดเชิงวิพากษ์และการแก้ปัญหา
8. Creativity – ความคิดสร้างสรรค์
9. Communication – การสื่อสาร
10. Collaboration – การทำงานร่วมกับคนอื่น

Character Qualities – ลักษณะนิสัย
11. Curiosity – ช่างคิดช่างสงสัย
12. Initiative – มีความคิดริเริ่ม
13. Persistence / Grit – มีความอดทนมุมานะ
14. Adaptability – มีความสามารถในการปรับตัว
15. Leadership – มีภาวะผู้นำ
16. Social & cultural awareness – มีความตระหนักรู้ด้านสังคมและวัฒนธรรม

ซึ่งในบทความก็บอกไว้ชัดเจนว่ายังมี “ช่องว่าง” อีกเยอะมากระหว่างทักษะที่เด็กต้องมี กับสิ่งที่เด็กได้จากการศึกษาในระบบ นั่นเป็นเพราะว่าหลักสูตรในโรงเรียนนั้นพัฒนาไม่ทันโลก

เพราะโลกหมุนเร็วขึ้นทุกวัน ธุรกิจใหม่เติบโตแบบก้าวกระโดด ในขณะที่ธุรกิจที่คิดแบบเก่าๆ ทำแบบเก่าๆ อาจโดนทำให้เสียกระบวนและโดนทำลาย (disrupted and destroyed) ได้ทุกเมื่อ

ดังนั้นแรงงานยุคใหม่ต้องพร้อมที่จะปรับตัว มีความคิดริเริ่มและความคิดสร้างสรรค์ ทั้งยังต้องสามารถทำงานร่วมกับเพื่อนร่วมงานที่อาจอยู่ห่างกันนับพันกิโลเมตรได้

ถามว่าการศึกษาในเมืองไทยของเรามีศักยภาพที่จะผลิตบัณฑิตสำหรับ “โลกใหม่” แค่ไหน?

เท่าที่เห็น ผมว่าโรงเรียนส่วนใหญ่ยังเน้นแค่ข้อ 1-4 หรือที่เรียกกันว่า “ความเป็นเลิศทางวิชาการ” มาเนิ่นนานหลายสิบปี

ถ้าคนที่ดูแลการศึกษาและพ่อแม่ไม่ปรับกระบวนทัศน์เพื่อจะเสริมมิติอื่นๆ ลงไปให้เด็กของเรา

อนาคตของชาติก็อาจไม่สดใสนักนะครับ

—–

ขอบคุณข้อมูลจาก World Economic Forum: What are the 21st-century skills every student needs?

อ่านตอนเก่าๆ ได้ที่ https://anontawong.com/archives/

อ่านตอนใหม่ๆ ได้ทุกวันที่ Facebook Page Anontawong’s Musings (ที่ปุ่มไลค์จะมี drop down menu ให้เลือกได้ว่าอยากจะให้มี notifications หรืออยากเห็นโพสต์จากเพจนี้อยู่ต้นๆ ฟีดรึเปล่าครับ)

ดาวน์โหลดอีบุ๊ค “เกิดใหม่

—–

ขอบคุณภาพจาก Pexels.com