สูตร 1-3-5 สำหรับทำ To Do List

ผมเพิ่งอ่านเจอสูตรนี้มา ยังไม่เคยลอง แต่เห็นว่าน่าสนใจ เลยขอนำมาถ่ายทอดให้อ่านกันก่อนครับ

ในแต่ละวันให้ทำ To Do List ไม่เกิน 9 ชิ้น

1 Big Thing – งานชิ้นใหญ่ 1 ชิ้นที่สำคัญที่สุดและต้องออกแรงมากที่สุด

3 Medium Things – งานขนาดกลาง 3 ชิ้นที่สำคัญพอสมควรและใช้เวลาไม่นานเกินไปนัก

5 Little Things – งานขนาดเล็กอีก 5 ชิ้นที่สามารถทำให้เสร็จได้อย่างรวดเร็ว

ถ้าวันไหนเรามีประชุมเยอะๆ เราอาจต้องลดจำนวนงานลง และถ้าเรามักจะเจองานแทรกระหว่างวันอยู่บ่อยๆ ก็อาจต้องเว้นสล็อตว่างไว้สำหรับงานเหล่านี้ด้วย

อาการอย่างหนึ่งของคน(อยาก) productive คือสร้าง To Do List ที่งานเยอะเกินไป พอจบวันเลยทำไม่เคยหมดซักที

นี่คืออีกหนึ่งทางเลือก ตัดสินใจเสียแต่ต้นว่าจะทำแค่ 9 อย่างนี้ prioritize เสียตั้งแต่หัววันจะได้ไม่ต้องรู้สึกเฟลในภายหลัง

เดี๋ยววันนี้ผมว่าจะลองดู ใครได้ลองแล้วมาแลกเปลี่ยนกันได้นะครับ


ขอบคุณเนื้อหาจาก A Better To-Do List: The 1-3-5 Rule

3 ไอเดียจากหนังสือ Healthy Always

1.กฎเหล็กเพื่อสุขภาพที่ดี 6 ข้อ ได้แก่ ห้ามสูบบุหรี่ ดื่มไวน์เพียงวันละ 1-2 แก้ว ออกกำลังกายวันละ 30 นาที กินอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ควบคุมน้ำหนักไม่ให้รอบเอวใหญ่กว่าครึ่งนึงของส่วนสูง และนอนคืนละ 7-8 ชั่วโมง ซึ่งเหล่านี้เป็นการปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์ ข้อที่สำคัญที่สุดก็คือ เลิกสูบบุหรี่และงดมื้อเย็นหรือกินอาหารเย็นให้น้อยที่สุด แล้วใช้เวลานั้นไปออกกำลังกายแทน

2. ร่างกายมนุษย์ไม่ได้ถูกสร้างเพื่อกินอาหารทั้งวันทั้งคืน แต่ควรกินเฉพาะเวลาที่มีแสงแดดเป็นหลัก จากการทดลอง หนูที่จำกัดการกินอาหารวันละ 8 ชั่วโมงจะมีน้ำหนักน้อยกว่าหนูที่กินทั้งวันทั้งคืนถึง 28% แม้ว่าหนูทั้งสองกลุ่มจะได้รับปริมาณแคลอรีต่อวันเท่ากัน เมื่อไม่กินพร่ำเพรื่อ ร่างกายจะย่อยและใช้อาหารได้อย่างมีประสิทธิภาพ เราจึงควรจำกัดช่วงเวลาในการกิน และปล่อยให้ตัวเองมีเวลาหิวเล็กน้อยทุกวัน แต่ละมื้ออย่าใช้เวลากินเกิน 40 นาที และถ้ามีเวลาเดินหลังมื้ออาหารสัก 20 นาทีจะดีมากเพราะกล้ามเนื้อจะเรียกใช้น้ำตาลในร่างกาย ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดไม่พุ่งสูง

3. แม้ในอนาคตจะมีวัคซีน COVID-19 ออกมาก็อย่าคิดว่าไวรัสจะถูกกำจัดราบคาบ เราต้องไม่ลืมว่าปัจจุบันมนุษย์ไม่มีวัคซีนป้องกันไข้หวัด และโคโรนานั้นก็เป็นไวรัสไข้หวัดชนิดหนึ่ง แม้จะมีวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ก็ไม่ได้มีประสิทธิผล 100% เรารู้กันดีว่าโอกาสในการเสียชีวิตจากโคโรนาไวรัสก็คืออายุและโรคประจำตัว เราเปลี่ยนอายุเราไม่ได้ แต่เราสามารถดูแลตัวเองเพื่อไม่ให้มีโรคประจำตัวได้


ขอบคุณเนื้อหาจากหนังสือ Healthy Always สุขภาพดีตลอดไป โดย ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ สำนักพิมพ์ openbooks

จะคิดบวกได้ก็ต่อเมื่อเราคิดลบไปแล้วเท่านั้น

จะให้อภัยได้ก็ต่อเมื่อเราโกรธเขามาแล้วเท่านั้น

จะเรียกรถดับเพลิงก็ต่อเมื่อไฟไหม้บ้านแล้วเท่านั้น

คิดบวกจึงเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ เป็นการพยายามดับไฟไม่ให้ลุกลามไปกว่านี้

วิธีที่ดีกว่า คือฝึกจิตใจให้ไม่ต้องคิดลบตั้งแต่ต้น

เมื่อไม่คิดลบ ก็ไม่จำเป็นต้องคิดบวก เมื่อไม่โกรธ ก็ไม่จำเป็นต้องยกโทษ เมื่อไฟไม่ไหม้บ้าน ก็ไม่จำเป็นต้องดับไฟ

เมื่อเราสามารถมองทุกอย่างด้วยใจที่เป็นกลาง ไม่ไปให้คุณค่าหรือความหมายกับสิ่งใดๆ ที่เกิดขึ้นจนเกินควร ใจของเราก็จะไม่สวิงขึ้น-ลงไปตามโลก และไม่สูญเสียพลังงานไปกับเรื่องชั่วคราวครับ


ขอบคุณประกายความคิดจากธรรมบรรยายของพี่พศิน อินทรวงค์ บน Youtube