จะมีอะไรบั่นทอนจิตใจได้มากกว่างานที่เราไม่เชื่อและทำได้ไม่ดี

จะมีอะไรบั่นทอนจิตใจได้มากกว่างานที่เราไม่เชื่อและทำได้ไม่ดี

ในหมู่บ้านผมจะมีรปภ.คนหนึ่งซึ่งผมจะเรียกว่า “บัง” เพราะเขาเป็นมุสลิม

แม้หน้าที่หลักจะเป็นการดูแลความปลอดภัยให้หมู่บ้าน แต่บังยังมีพลังแฝงคือทักษะงานช่างที่สูงมาก

ของบ้านผมที่พัง ได้บังมาช่วยชุบชีวิตหลายชิ้นแล้ว ไม่ว่าจะเป็นบานเลื่อนตู้รองเท้าที่ฝืดมาก ท่อน้ำตัน หรือเครื่องปั๊มน้ำไม่ทำงาน ไม่ว่าจะเป็นปัญหาไหน ถ้าไม่ต้องใช้เครื่องมืออะไรเป็นพิเศษ บังซ่อมได้เกือบทุกอย่าง (หลังจากออกกะแล้ว)

อีกคนหนึ่งที่ผมรู้สึกขอบคุณเป็นพิเศษ คือพี่รปภ.ที่ออฟฟิศคนหนึ่งซึ่งผมเคยกล่าวถึงมาแล้วในบล็อกนี้

ที่จอดรถที่ออฟฟิศผมเป็นลิฟต์อัตโนมัติ ต้องใช้ความระมัดระวังในการเอารถเข้าลิฟต์พอสมควร และถ้ากะระยะไม่ดีล้ออาจจะไปเบียดขอบลิฟต์จนยางแตกได้เลย ที่รู้เพราะผมเคยทำยางแตกมาแล้วหนึ่งครั้ง

แต่พี่รปภ.คนนี้เป็นคนที่โบกรถเก่งที่สุด รู้ว่าจังหวะไหนควรหมุนพวงมาลัย รู้ว่าจังหวะไหนควรคืนพวงมาลัย เป็นคนที่ผมอุ่นใจทุกครั้งเวลาเอารถเข้าจอดในลิฟต์

แฟนผมเคยเอารถเข้าศูนย์ และได้รับการบริการจากเจ้าหน้าที่คนหนึ่งอย่างยอดเยี่ยม ทำเกินหน้าที่หลายอย่าง ช่วยเช็ครถอย่างละเอียดและอธิบายการเชื่อมต่ออุปกรณ์ในรถอย่างใจเย็น จนแฟนผมอดไม่ได้ที่จะให้ทิปไปหลายร้อยบาท

ทั้งบังช่างสารพัดนึก พี่รปภ.โบกรถที่ออฟฟิศ และเจ้าหน้าที่ศูนย์บริการ มีสิ่งหนึ่งที่เหมือนกันคือทักษะที่ดีในการทำหน้าที่ของตัวเองให้สำเร็จอย่างลุล่วง ถ้าใช้ภาษาฝรั่งหน่อยก็คงต้องเรียกว่า competency ซึ่งมักจะเกิดจาก on the job training หรือการเก็บเกี่ยวประสบการณ์จากการลงมือทำจริงด้วยความตั้งใจ

เมื่อทำงานได้ดี และคนรอบข้างก็ชื่นชม ฉันทะย่อมตามมา ทำให้มีวิริยะ จิตตะ วิมังสา เป็นปฏิกิริยาลูกโซ่ ซึ่งส่งผลให้เขามี competency ที่ดียิ่งขึ้นไปอีก

เมื่อ competency สูง ความมั่นใจย่อมเกิด และเราจะสังเกตเห็นได้จากแววตาตอนเขาทำงาน แม้จะไม่ได้มีเงินเดือนสูง แต่สิ่งที่เขามีสูงยิ่งคือความสนุกและภาคภูมิใจในงานที่ตัวเองทำ

ในมุมกลับกัน

คนทำงานออฟฟิศบางคนที่ไม่ได้มีทักษะที่จะทำงานออกมาให้ดี และก็ไม่ได้มีท่าทีที่อยากจะพัฒนา

ปัจจัยที่ทำให้เขาย่อหย่อนคงมีได้หลายอย่าง อาจจะเป็นเรื่องเนื้องานที่ไม่สอดคล้องกับทักษะ อาจจะเพราะเขาได้หัวหน้าไม่ดี หรืออาจเป็นเพราะเขายังค้นหาตัวเองไม่เจอ

เมื่อมองไปที่คนกลุ่มนี้ ก็น่าคิดต่อว่านอกจากเงินเดือนแล้ว เขาได้รับความสุขจากการทำงานสักกี่มากน้อย

เรานอนวันละ 7 ชั่วโมง เหลืออีก 17 ชั่วโมงสำหรับการใช้ชีวิต และเกินครึ่งหนึ่งของช่วงเวลาที่เราตื่นนั้นใช้ไปกับการทำงานและการเดินทางไปทำงาน

ถ้างานที่เราต้องเจอ 5 วันต่อสัปดาห์นั้นเป็นสิ่งที่เราไม่เชื่อ ไม่ชอบ และทำได้ไม่ดี มันจะบั่นทอนจิตใจขนาดไหน และถ้าปล่อยให้เป็นแบบนี้ไปนานๆ มันจะทำให้เรากลายคนเป็นคนเช่นไร

บางคนอาจจะคิดว่าชีวิตไม่ได้มีทางเลือกมากนัก อะไรทนได้ก็ต้องทนไปเพื่อมีเงินมาเลี้ยงชีพและดูแลคนรอบข้าง

การเสียสละความสุขส่วนตนนั้นเป็นเรื่องน่าชื่นชม แต่เราจำเป็นต้องทำถึงขนาดนั้นจริงหรือกับช่วงชีวิตที่เหลืออยู่ไม่มากนัก

ถ้าเราไม่เชื่อ ไม่ชอบ และไม่เก่งในงานที่เราทำ ผมว่าเรากำลังมีปัญหาใหญ่ และเราควรทำอะไรบางอย่างเพื่อพาตัวเองหลุดออกจากวงจรนี้

เพราะไม่มีอะไรบั่นทอนจิตใจได้มากกว่างานที่เราไม่เชื่อและทำได้ไม่ดีครับ

กฎ 20 ไมล์และหลายมิติชีวิตที่เราควร DCA

DCA ย่อมากจาก Dollar-Cost Averaging

เป็นหลักการลงทุนที่เรียบง่ายแต่ได้ผล นั่นก็คือทยอยซื้อหุ้นหรือกองทุนเก็บไว้ด้วยความสม่ำเสมอ

เช่นบางคนอาจทำเรื่องหักเงิน 10,000 บาทจากบัญชีทุกเดือนเพื่อซื้อ SSF อัตโนมัติ สิ้นปีก็จะมีเงินในกองทุน 120,000 บาท ซึ่งเงินก้อนนี้เอาไปลดหย่อนภาษีได้

Morgan Housel ผู้เขียนหนังสือ The Psychology of Money ก็ใช้หลักการ DCA สำหรับการลงทุนของเขาเอง เงินที่เหลือจากค่าใช้จ่ายประจำเดือนเขาจะเอาไปซื้อ Index Funds (กองทุนรวมดัชนีหุ้น) ที่ค่าบริหารจัดการต่ำ เขาไม่ได้วิเคราะห์ว่า sector ไหน หรือ industry ไหนน่าลงทุน ไม่ดูด้วยว่าจะเข้าซื้อเมื่อไหร่ หรือจะเทขายเมื่อไหร่ (not trying to time the market) สิ่งเดียวที่เขาทำคือทยอยซื้อเก็บไปเรื่อยๆ อ่านรายละเอียดได้ในบทที่ 20 – Confessions ในหนังสือดังกล่าว

Housel เคยให้สัมภาษณ์ว่า เรื่องที่เขาโดนวิจารณ์หนักมากที่สุดสำหรับหนังสือ The Psychology of Money ก็คือบทที่ 20 ที่พูดถึงการจัดการเงินของตัวเขาเองนี่แหละ – ทรัพย์สินเขามีแค่ 3 อย่างเท่านั้น คือบัญชี savings กองทุนรวม และบ้าน

เพราะผู้อ่านหลายคนนึกว่า Housel จะมีวิธีการที่ซับซ้อนกว่านี้หรือดูฉลาดกว่านี้ พอเห็นว่าเขาซื้อกองทุนรวมดัชนีแบบไม่ได้ใช้ความคิดหรือความพยายามเลย จึงอดผิดหวังไม่ได้

แต่สำหรับผม หากเราอ่านสิ่งที่ Housel พยายามสื่อมาทั้งเล่มแล้ว เราก็ควรจะได้ข้อสรุปที่คล้ายคลึงกัน

เพราะ “เวลา” หรือ “t” นั้นคือ “ตัวเลขยกกำลัง” ในสมการผลตอบแทนการลงทุน

ผลตอบแทนต่อปีจะเยอะเท่าไหร่ ไม่สำคัญเท่าเราอยู่กับมันยาวนานแค่ไหน

อีกอย่าง ผลตอบแทนนั้นควบคุมยากเพราะขึ้นอยู่กับปัจจัยภายนอก แต่เราจะลงทุนยาวนานแค่ไหนนั้นขึ้นอยู่กับเราเป็นหลัก


ใครที่ทำเพจ Facebook อาจจะรู้สึกว่าปีที่ผ่านมา algorithm ของมันแปลกๆ

บางโพสต์ก็มียอด reach เยอะมาก บางโพสต์ก็ต่ำเตี้ยเรี่ยดิน ทั้งๆ ที่เราก็ตั้งใจเขียนและเชื่อว่ามีดีเหมือนกัน

แน่นอนว่าบทความจะปังหรือไม่นั้นขึ้นกับหลายปัจจัย แต่คนที่ทำเพจมานานจะเข้าใจดีว่าก่อนหน้านี้ยอด reach มันไม่ได้แปรผันขนาดนี้

ในสัปดาห์เดียวกัน จึงอาจมีบางโพสต์ที่ขึ้นไปถึง 1000 แชร์ และอีก 3 โพสต์ที่เหลือมียอดแชร์ไม่ถึง 100 แชร์

เมื่อตั้งใจเขียนบทความมากๆ แต่ยอดแชร์ต่ำ คนทำ content ย่อมเสียขวัญกำลังใจและอาจต้องตัดสินใจอะไรบางอย่าง

เราจะหยุดเขียนตอนนี้ แล้วไปลองแพลตฟอร์มอย่างอื่นเช่น TikTok ดีหรือไม่

เราควรจะรอให้ Facebook มันเสถียรเรื่องการจัดการ reach กว่านี้ แล้วค่อยกลับมาเขียนดีหรือไม่

สิ่งเหล่านี้มีความคล้ายคลึงกับการเลือกว่าจะลงทุนใน industry ไหน รวมถึงการพยายามที่จะหาจังหวะเข้า-ออกจากตลาดหรือ time the market ซึ่งเป็นเรื่องที่ยากมาก

ผมเลยเลือกที่จะ DCA บล็อกของผมต่อไป ก็คือเขียนวันละโพสต์ไปเรื่อยๆ ถ้ายอดแชร์เยอะก็ดี ถ้ายอดแชร์น้อยก็เข้าใจว่ามันก็เป็นแบบนี้


หนึ่งในบทความของผมที่มีคนแชร์เยอะที่สุดคือ “กฎ 20 ไมล์” ที่ว่าด้วยการแข่งขันว่าใครจะพิชิตขั้วโลกใต้ได้เป็นคนแรกในประวัติศาสตร์ ระหว่างคณะของนักสำรวจของชาวนอร์เวย์ชื่อ Roald Amundsen และ คณะของนักสำรวจชาวอังกฤษนาม Robert Falcon Scott

บทสรุปคือคณะของอมุนด์เซนนั้นพิชิตขั้วโลกใต้ได้ก่อนและกลับถึงบ้านโดยปลอดภัย ส่วนคณะของสก๊อตนั้นไปถึงขั้วโลกใต้ช้ากว่า 35 วัน และเสียชีวิตกันทั้งคณะในขากลับ

หนึ่งสิ่งที่คณะของอมุนเด์เซนทำแตกต่างออกไป ก็คือการเดินทางให้ได้ 20 ไมล์ทุกวัน ไม่ว่าอากาศจะดีหรือร้ายก็จะเดินทางวันละ 20 ไมล์เสมอ ส่วนคณะของสก๊อตนั้น ถ้าอากาศดีหน่อยก็จะโหมเดินทางให้ได้ไกลๆ ส่วนวันที่อากาศแย่หน่อยก็อาจจะแทบไม่ได้ออกเดินทางเลย

(หลังจากปล่อยบทความนี้ออกไป ก็มีคนมาให้ข้อมูลเพิ่มว่ามันยังมีปัจจัยอื่นๆ อยู่อีกที่ทำให้อมุนด์เซนสำเร็จและสก๊อตล้มเหลว ดังนั้นการเดินทางวันละ 20 ไมล์ไม่ใช่ปัจจัยหลักของการพิชิตขั้วโลกใต้ อย่างไรก็ตาม ผมเห็นว่าบางทีบางบทเรียนก็ไม่จำเป็นต้องถูกต้อง 100% ตราบใดที่เราสามารถหยิบมันมาใช้ในบริบทที่เหมาะสมแล้วมันเวิร์ค ผมก็คิดว่ามันควรค่าแก่การนำมาพูดถึง)

คณะของอมุนด์เซน จึง DCA การเดินทางครั้งประวัติศาสตร์ อากาศจะดีจะร้ายอย่างไร ก็เก็บให้ได้วันละ 20 ไมล์เสมอ


เมื่อเรามองไปรอบตัว เราจะเห็นการ DCA หรือกฎ 20 ไมล์เต็มไปหมด

ความสำเร็จไม่เคยเกิดขึ้นชั่วข้ามคืน แม้กระทั่งยอดนักเตะอย่าง Lionel Messi ก็เคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า

“It took me 17 years & 114 days to become an overnight success.”

เมสซี่ต้องผ่านการต่อสู้ดิ้นรนมาเกือบทั้งชีวิต ก่อนที่จะ “ประสบความสำเร็จชั่วข้ามคืน” ในเสื้อของทีมบาร์เซโลนา

คำสุภาษิตจีนบอกว่า ความพยายามเป็นเรื่องของมนุษย์ ความสำเร็จเป็นเรื่องของฟ้าดิน

อากาศจะดีหรือร้ายเป็นเรื่องของฟ้าดิน ตลาดจะขึ้นจะลงเป็นเรื่องของฟ้าดิน algorithm เฟซบุ๊คก็เป็นเรื่องของฟ้าดิน

เรื่องของมนุษย์อย่างเรา ก็คือจะยืนระยะอยู่ในเกมนี้ได้นานแค่ไหน เพราะนั่นเป็นสิ่งเดียวที่เราควบคุมได้

ลอง DCA ชีวิตของเราในหลากหลายมิติ เพื่อจะเดินทางไป-กลับขั้วโลกใต้โดยสวัสดิภาพครับ

ตอบคอมเมนท์ในบทความ “เหตุผลที่บริษัทไม่ควรบังคับให้พนักงานเข้าออฟฟิศทุกวัน”

เมื่อกลางสัปดาห์ ผมตีพิมพ์บทความ “เหตุผลที่บริษัทไม่ควรบังคับให้พนักงานเข้าออฟฟิศทุกวัน” และได้รับคอมเมนท์มาค่อนข้างเยอะ มีทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย แต่มีคอมเมนท์หนึ่งที่ผมอ่านแล้วอยากตอบเป็นพิเศษ จึงขอนำมาโพสต์ไว้ตรงนี้นะครับ


Commenter 1: “แนวคิดที่หล่อหลอมมาจากกรอบของชาว start-up มันอาจจะใช้ได้ (และอาจจะมีประสิทธิภาพ) สำหรับงานอย่าง start-up ครับ

แต่ start-up ไม่ใช่ตัวแทนที่ดีของตลาดแรงงานหรือบริษัททั่วไป

การยัดเยียดแนวคิดที่เฉพาะเจาะจงสำหรับงานบางอย่างหรือคนบางกลุ่ม ไม่แน่ใจว่าสรุปจะเป็นผลดีหรือผลลบกับน้องๆที่เพิ่งก้าวเข้ามาในตลาดแรงงานเป็นครั้งแรก?

ความสัมพันธ์ระหว่างคนในบริษัทมีผลต่อประสิทธิภาพในการทำงานแน่นอน แล้วอย่างนั้นจู่ๆเราตั้งสมมุติฐานว่าคนเราสามารถพัฒนาความสัมพันธ์ได้ผ่านโลกโซเซียล?

หนุ่มสาวจีบกันผ่าน google meet โดยไม่จำเป็นต้องเจอกันในโลกของความจริงบ่อยๆ?

ผู้เขียน เขียนจากมุมมองที่เฉพาะเจาะจง โดยเฉพาะในมุมของคนที่ประสบความสำเร็จแล้ว มีครอบครัว อยากใช้เวลาดูแลครอบครัว แล้วบริบทนี้ apply กับคนที่ยังไม่ประสบความสำเร็จ หรือยังไม่มีครอบครัวได้หรือไม่?

อยากฝากให้คิด และไม่อยากให้เน้นโพสโชว์ความเท่ครับ เพราะมันตื้นเขินมาก”

Commenter 2: “เห็นด้วยที่บอกว่า ผู้เขียนอาจมองจากมุมที่ประสบความสำเร็จ มีครอบครัว

สังเกตได้จากทำงาน 9-11 ที่บ้าน เที่ยงไปกินข้าวกับทีม ออกจากกออฟฟิศก่อน 5 โมงไปรับลูก

คำถามคือ มันจะมีมนุษย์ออฟฟิศกี่คนที่สามารถทำได้แบบนี้? ตำแหน่งต้องสูงพอสมควรเลย ถ้าจะเป็นพนักงานระดับปฏิบัติการ คงเป็นไปไม่ได้”


ขอบคุณความคิดเห็นนะครับคุณ Commenter 1 และคุณ Commenter 2

ต้องขออภัยย่อหน้าเรื่องวิธีการเข้าออฟฟิศที่ทำให้รู้สึกว่าผมกำลังอวดตัวและเอาตัวเองเป็นศูนย์กลางครับ

ธรรมดาผมจะไม่ค่อยตอบคอมเมนท์ ไม่ว่าจะในเชิงบวกและลบ เพราะผมไม่สามารถตอบได้ครบทุกคน แต่คอมเมนท์ของคุณ Commenter 1 และ Commenter 2 ได้แสดงให้ผมเห็นว่าการสื่อสารของผมบกพร่อง และหัวข้อนี้เป็นเรื่องที่มีความหมายสำหรับผมมาก จึงขอชี้แจงเพิ่มเติมดังนี้ครับ

1. ที่ผมโพสต์เรื่องเวลาเข้างานตอนเที่ยง ออกจากออฟฟิศตอนห้าโมงเย็น เพราะผมต้องการการยกตัวอย่างก่อนจะเขียนย่อหน้าถัดไปว่าคนทำงานยุคนี้ควรได้รับโอกาสในการจัดการเวลาตัวเองได้อย่างลื่นไหล เพื่อจะได้ไม่ต้องเสียเวลากับเรื่องที่เราหลีกเลี่ยงได้ ซึ่งในที่นี้ก็คือการเดินทางในช่วงรถติด (ผมขับรถมาทำงาน) สมัยก่อนเวลาเริ่มงานคือเวลาที่เข้าออฟฟิศ แต่สมัยนี้ผมคิดว่าเวลาเข้าออฟฟิศไม่จำเป็นต้องเป็นเวลาเริ่มงาน และเวลาออกจากออฟฟิศก็ไม่ใช่เวลาเลิกงานครับ

2. อย่างที่แจ้งไปตอนต้นของช่วงบทความว่า บริษัทให้สิทธิ์แต่ละทีมจัดการกันเอง ผมจึงบอกน้องในทีมเสมอว่า ในวันที่จะเข้าออฟฟิศ ถ้าตอนเช้าไม่ต้องรีบมาเจอใคร ก็ควรนั่งทำงานที่บ้านก่อนสัก 1-2 ชั่วโมง จะได้มีงานเสร็จเป็นชิ้นเป็นอัน และจะได้หลีกเลี่ยงช่วงรถติด เพื่อลดเวลาการเดินทางและลดความเสี่ยงเรื่องโควิด ดังนั้นสิ่งที่ผมทำในฐานะผู้บริหาร ก็คือสิ่งที่ผมสนับสนุนในทุกคนในทีมทำได้เช่นกัน (แน่นอนว่าทีมอื่นๆ ก็มีข้อจำกัดแตกต่างกันไป)

3. คุณ Commenter 1 บอกว่า เพราะเราเป็นสตาร์ตอัปที่ประสบความสำเร็จแล้วถึงทำอย่างนี้ได้ ก็เป็นความจริงส่วนหนึ่งครับ เพราะพอเรามีชื่อเสียง ก็มีโอกาสเลือกคนทำงานที่มีความรับผิดชอบและไว้ใจได้ แต่เรื่องนี้คือไก่กับไข่ เรา flexible ได้เพราะเราประสบความสำเร็จ แต่เราประสบความสำเร็จได้ก็เพราะว่าเรา flexible และกล้าให้อิสระกับคนทำงานเช่นกัน ผมเชื่อว่าถ้าโควิดเกิดเร็วกว่านี้ 5 ปี ตอนที่บริษัทยังไม่ได้ใหญ่เท่าทุกวันนี้ ไม่ได้มีโอกาสเลือกคนเก่งเท่าทุกวันนี้ เราก็ยังจะมีแนวคิดพื้นฐานเหมือนเดิม คือให้เกียรติและไว้ใจคนทำงาน ส่วนพนักงานคนไหนที่ ทำลายความไว้ใจนั้น เราก็จะจัดการเป็นรายคนไปเหมือนที่เคยทำตลอดมา สิ่งที่เราจะไม่ทำคือเขียนกฎขึ้นมาเพื่อควบคุมคนส่วนน้อยจนทำให้คนส่วนใหญ่ที่ดีๆ เขาเดือดร้อนตามไปด้วย

4. คุณ Commenter 1 เขียนว่า “จู่ๆเราตั้งสมมุติฐานว่าคนเราสามารถพัฒนาความสัมพันธ์ได้ผ่านโลกโซเซียล? หนุ่มสาวจีบกันผ่าน google meet โดยไม่จำเป็นต้องเจอกันในโลกของความจริงบ่อยๆ?”

น้องในทีมไม่ได้พัฒนาความสัมพันธ์ผ่านโลกโซเชียลครับ ที่ผมเห็นว่าน้องเค้าสนิทกันเพราะว่าเห็นน้องเค้าไปเที่ยวกันในโลก physical นี่แหละ (เพียงแต่ผมเห็นผ่านโลกโซเชียลว่าเขาไปเที่ยวต่างจังหวัดด้วยกัน) ผมคิดว่าการเจอหน้ากันเป็นเรื่องสำคัญในการสร้างความสัมพันธ์ แต่ไม่จำเป็นต้อง 5 วันต่อสัปดาห์ครับ แค่เข้าออฟฟิศสัปดาห์ละ 2 วันและมีเวลาได้ปฏิสัมพันธ์กันนอกเวลางานก็สามารถสร้างความสัมพันธ์ที่ดีได้เช่นกัน

5. คุณ Commenter 2 เห็นว่าสิ่งที่ผมเขียนเป็นมุมมองของผู้บริหารที่อยากใช้เวลากับลูก แต่อย่างที่บอกว่าผมให้สิทธิ์นี้กับน้องทุกคนในทีม หลายคนยังไม่แต่งงาน ยังไม่มีลูก แต่เขาก็มีพ่อมีแม่ มีญาติผู้ใหญ่ มีคนสำคัญที่เขาควรจะได้ใช้เวลาด้วยในช่วงเช้าหรือช่วงเย็น ดังนั้นผมจึงเชื่อมั่นว่าในฐานะคนทำงาน เขาน่าจะยินดีหากหัวหน้าและองค์กรจะให้อิสระเขาตรงจุดนี้

6. ผมเขียนบทความนี้ในฐานะพนักงาน ในฐานะ HR และในฐานะเจ้าของบริษัทคนหนึ่งครับ เพราะผมใส่หมวกทั้งสามใบในงานปัจจุบัน ในฐานะคนทำงานเราอยากได้ flexibility อยู่แล้ว แต่พนักงานทั่วไปคงไม่สามารถออกมาพูดเรื่องนี้ได้เต็มปากเต็มคำนักเพราะกลัวจะโดนเพ่งเล็ง ผมเป็น HR และเป็นคนที่มีส่วนร่วมในการออกกฎและนโยบายบริษัท เลยคิดว่าถ้าเราแสดงความเห็นตรงนี้และมันสามารถส่งแรงกระเพื่อมบางอย่างไปให้บริษัทอื่นๆ ได้ “คิดใหม่” (ตามชื่อหนังสือ Think Again ของ Adam Grant) องค์กรบางแห่งอาจจะมีนโยบายที่สมเหตุสมผลและสอดคล้องกับยุคสมัยได้มากกว่านี้ และสิ่งที่เขาจะได้ก็คือการดึงดูดคนรุ่นใหม่ที่มีคุณภาพไปทำงานกับเขา

7. ทั้งหมดที่ผมต้องการจะสื่อก็คือ “ถาดมันเปลี่ยนไปแล้ว ทำไมเรายังหั่นหมูแฮมแบบเดิมกันอยู่” บริษัทของผมอาจจะถาดใหญ่กว่าคนอื่น แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าบริษัทอื่นจะมีถาดเท่าเดิมเสียหน่อย บทความนี้จึงเป็นการชวนให้กลับมาถามตัวเองว่ามีอะไรที่มันไม่เมคเซนส์อยู่หรือไม่ เราอยากมีชีวิตการทำงานกันแบบไหน ถ้าพิจารณาแล้วยังต้องทำเหมือนเดิมจริงๆ ก็คงต้องตามนั้น แต่ถ้าพิจารณาแล้วคิดว่ามันดีกว่านี้ได้ ทำไมเราไม่พยายามทำอะไรสักอย่างดู

8. ขอบคุณที่เข้ามาแสดงความเห็นนะครับ จะขอนำไปเป็นบทความของวันนี้เลยแล้วกัน (อาทิตย์ที่ 29 มกราคม) พอได้อ่านหลายคอมเมนท์แล้ว ผมก็เริ่มมีความรู้สึกว่าอยากจะจัดเสวนา เพื่อจะได้แลกเปลี่ยนความเห็นและมุมมองโดยไม่ต้องมานั่งพิมพ์ เพราะผมเองก็อยากเข้าใจมากขึ้นเหมือนกันว่าองค์กรอื่นๆ มีข้อจำกัดอะไรอยู่บ้าง เพื่อที่อนาคตหากจะขีดเขียนอะไรออกมาจะได้มีความรอบคอบและครบถ้วนมากกว่านี้ครับ

ชีวิตคนเราควรมีอะไรให้เฝ้ารอ

ชีวิตคนเราควรมีอะไรให้เฝ้ารอ

เปิดปีใหม่มาได้เกือบเดือน หนึ่งคำถามที่ผมมักจะถามน้องในทีมก็คือ “ปีนี้มีแผนการจะทำอะไรบ้าง?”

บางคนบอกว่าจะไปเที่ยวไต้หวัน เที่ยวญี่ปุ่น ถ้าโบนัสดีหน่อยก็อาจไปยุโรป

บางคนวางแผนจะย้ายเข้าคอนโดกับแฟน บางคนเริ่มคิดเรื่องแต่งงาน

บางคนลงเรียนฝึกพูดภาษาอังกฤษ บางคนใกล้จะเรียนจบปริญญาโท

ฟังแล้วก็สบายใจและเอาใจช่วยน้องๆ ที่กำลังมุ่งหน้าไปที่ไหนสักแห่ง


ผมเคยอ่านเจอเคล็ดลับของผู้บริหารท่านหนึ่ง ว่าตอนขึ้นปีใหม่ เขาจะวางแผนล่วงหน้าเลยว่าปีนี้จะไปเที่ยวไหนบ้าง เอาปฏิทินตั้งโต๊ะขึ้นมากาเอาไว้ จะกี่ทริปก็ว่ากันไป

จากนั้นจึงวางแผนเรื่องการทำงานว่าจะทำอย่างไรเพื่อให้การไปเที่ยวในปีนี้ราบรื่นที่สุด

คนปกติจะเอาเวลาทำงานเป็นตัวตั้ง หยุดยาวเมื่อไหร่ค่อยจองโรงแรมไปเที่ยว

แต่ผู้บริหารท่านนี้ตั้งต้นด้วยแผนการท่องเที่ยวของตัวเองก่อน แล้วค่อยหาทางทำให้แผนนั้นเวิร์คด้วยการจัดตารางงานให้ดี

เขาบอกว่าเมื่อแผนการเที่ยวชัดเจน เขาก็จะมีอะไรให้ look forward to และทำให้มีกำลังใจทำงานและมีโฟกัส เพราะรู้ว่าเดี๋ยวอีกไม่กี่สัปดาห์ก็จะได้ไปเที่ยวแล้ว

ผมเคยอ่านเจอใครบางคนเขียนไว้ขำๆ ว่า เราจะ productive ที่สุดช่วง 3 วันสุดท้ายก่อนที่เราจะลาไปเที่ยวยาวๆ

เพราะเราไม่อยากต้องทำงานช่วงเวลาที่เราเที่ยว เราก็เลยต้องเร่งเคลียร์งานของเราให้เสร็จและหาคนมาช่วยรับงานระหว่างที่เราไม่อยู่ เมื่อทำงานโดยมี deadline ที่ชัดเจนและเลื่อนไม่ได้ (วันที่ออกเดินทาง) เราก็เลยกลายเป็นคน super-productive ไปโดยปริยาย

ผมเข้าใจดีว่าบางคนก็ยังไม่ได้เป็นผู้บริหารและไปเที่ยวเยอะๆ ไม่ได้ขนาดนั้น แต่ละคนมีข้อจำกัดที่แตกต่างกันไป แต่เราสามารถเรียนรู้จากคนที่ก้าวหน้ากว่าเราและทำตามในสเกลที่เหมาะสมกับเราได้


ใครที่เคยไปเที่ยวสวนสนุกขนาดใหญ่ จะรู้ว่าเครื่องเล่นฮิตๆ ต้องต่อคิวนานมาก และคงอดคิดไม่ได้ว่าจะดีแค่ไหนถ้าเราสามารถเล่นเครื่องเล่นนั้นได้โดยไม่ต้องรอคิวเลย ซึ่งบัตร fast pass ก็เป็นคำตอบหนึ่งแต่มันก็แพงเอาการ

แต่เคยมีคนชี้ให้เห็นว่า การเข้าคิวก็เป็นส่วนหนึ่งของประสบการณ์ที่สวนสนุกอยากให้เรามีเช่นกัน

เพราะตอนที่เรารอคิวอยู่ แล้วเงยหน้ามองดูคนบนเครื่องเล่นกำลังกรีดร้องเสียงดังลั่นขณะที่ค้างอยู่ในท่าตีลังกาหรือร่วงหล่นลงมาจากที่สูง ใจเราก็เต้นตามไปด้วย

ยิ่งแถวสั้นลงเท่าไหร่ เสียงกรีดร้องยิ่งทำให้เราตื่นเต้นมากขึ้นเท่านั้น แล้วเราก็จะจินตนาการไปล่วงหน้าว่ามันจะน่ากลัวขนาดไหน มันจะสนุกขนาดไหนกันนะ

เสียงกรีดร้องที่เราได้ยินตอนเข้าคิว ก็เหมือนกับออเดิร์ฟที่มาเรียกน้ำย่อยก่อนที่เมนคอร์สจะมาถึง

การเฝ้ารอที่ยาวนาน จึงเป็นตัวเพิ่มความเข้มข้นของประสบการณ์ได้เป็นอย่างดี

ลองคิดภาพดูว่าถ้าเราไปสวนสนุกในวันที่ไม่มีคนเลย ไม่ต้องเข้าคิวเลย จะเล่นเครื่องเล่นชิ้นไหนกี่รอบก็ได้ เราจะสนุกจริงหรือ

เพราะความสะดวกและความง่ายดายจนไร้แรงเสียดทานนั้นก็อาจบั่นทอนคุณค่าของประสบการณ์ได้เช่นกัน


ผมอยู่ในแวดวงสตาร์ตอัปมาหลายปี และรู้สึกว่ามีอะไรให้เฝ้ารอมาตลอด

เฝ้ารอโปรดักท์จะเปิดตัว เฝ้ารอที่จะมีผู้ใช้งานครบล้านคน เฝ้ารอที่จะได้เงินระดมทุน เฝ้ารอที่จะได้เป็น unicorn และตอนนี้คือการเฝ้ารอที่จะได้ IPO

แต่ละการเฝ้ารอคือหมุดหมายของการเดินทาง ไม่ต่างอะไรกับจุดเช็คพอยต์ในการวิ่งทางไกล

การเฝ้ารอในที่นี้จึงไม่ใช่การรอเฉยๆ แต่คือการออกวิ่งอย่างไม่ลดละ มันคือความเพียรในการกระทำเพื่อนำเราสู่สถานีต่อไป เหมือนคำพังเพยของชาวแอฟริกันที่ว่า “When you pray, move your feet.”


คนที่สนุกกับงานอาจเฝ้ารอวันจันทร์ (Thank God It’s Monday!) คนที่เหนื่อยกับงานอาจเฝ้ารอวันศุกร์ (TGIF)

คนที่ผลงานดีก็เฝ้ารอวันที่จะได้โบนัส คนที่จ่ายภาษีเกินก็เฝ้ารอวันที่จะได้เงินคืนจากสรรพากร

คนซื้อหวยก็เฝ้ารอวันที่ 1 หรือ 16 คนต่างจังหวัดที่เข้ามาทำงานในกรุงเทพก็เฝ้ารอวันที่จะได้กลับบ้านช่วงหยุดยาว

การเฝ้ารอทำให้เรามีชีวิตชีวา เพราะเมื่อใดก็ตามที่เรากำลังเฝ้ารออะไรบางอย่าง นั่นหมายความว่าเรากำลังมีความหวัง และความหวังในอนาคตที่ดีกว่าคือสิ่งที่ขับเคลื่อนมนุษย์มานานแสนนาน

ถ้าตอนนี้รู้สึกว่าชีวิตมันเหี่ยวเฉา อาจเป็นเพราะเราขาดอะไรให้เฝ้ารอ

นอกจากไม่มีอะไรให้เฝ้ารอแล้ว บางทีเรายังอยากวิ่งหนีสิ่งที่เรากำลังจะเจอด้วยซ้ำ

หากพบว่าตัวเองกำลังอยู่ในสภาพนี้และไม่อยากเป็นแบบนี้ไปตลอด ก็ควรลุกขึ้นมาทำอะไรบางอย่าง เช่นวางแผนไปเที่ยว ลงเรียนอะไรที่เราอยากเรียนมานาน หรือเริ่มโปรเจ็คเล็กๆ อย่างการซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอภายในบ้านหรือภายในร่างกาย

เมื่อตัวเองมีเรื่องให้เฝ้ารอและมีชีวิตชีวามากขึ้นตามสมควรแล้ว ก็ลองคิดถึงหน่วยที่ใหญ่กว่านี้

ครอบครัวเรามีอะไรให้เฝ้ารอรึเปล่า

บริษัทที่เราทำงานอยู่มีอะไรให้เฝ้ารอรึเปล่า

ชุมชนของเรามีอะไรให้เฝ้ารอรึเปล่า

ประเทศไทยมีอะไรให้เฝ้ารอรึเปล่า

ย้ำอีกครั้งว่า เฝ้ารอ = ความหวัง

แน่นอนว่ายิ่งหน่วยใหญ่ขึ้น ความสามารถที่คนตัวเล็กๆ อย่างเราจะเปลี่ยนแปลงอะไรได้ก็น้อยลง แต่ก็คงไม่ถึงกับเป็นศูนย์เสียทีเดียว

เพราะชีวิตคนเราควรมีอะไรให้เฝ้ารอเสมอครับ

anontawong.com/2023/01/28/something-to-anticipate

นิทานหนาวแน่

วันนี้วันศุกร์ มาฟังนิทานกันนะครับ

พอถึงฤดูใบไม้ผลิ พวกอินเดียนแดงในเขตสงวนแห่งหนึ่งถามหัวหน้าเผ่าคนใหม่ว่า ฤดูหนาวปีนี้จะหนาวจัดหรือเปล่า

หัวหน้าเป็นคนสมัยใหม่ ไม่ได้เรียนเคล็ดวิชาอ่านลมฟ้าอากาศจากบรรพบุรุษ
แต่ด้วยความกลัวเสียฟอร์ม หัวหน้าเผ่าจึงทำทีแหงนมองฟ้า แล้วบอกว่าปีนี้จะหนาวทารุณ ขอให้คนในเผ่าเตรียมฟืนไว้ก่อไฟผิงให้มากๆ

เมื่อตอบแล้วหัวหน้าเผ่าก็แอบโทรไปถามกรมอุตุฯ เจ้าหน้าที่พยากรณ์อากาศตอบว่าท่าทางจะหนาวจัด หัวหน้าเผ่าจึงย้ำให้คนในเผ่าเร่งหาฟืนเพิ่มขึ้น

สองสามวันต่อมาหัวหน้าเผ่าโทรถามกรมอุตุฯ ให้แน่ใจอีกครั้ง เจ้าหน้าที่ตอบว่าปีนี้ต้องหนาวแน่นอน หัวหน้าเผ่าจึงสั่งให้คนในเผ่าเก็บเศษไม้ทุกชิ้นที่หาได้

พอใกล้ฤดูหนาวหัวหน้าเผ่าโทรไปถามที่กรมอุตุฯ อีกครั้ง

“มั่นใจแค่ไหนว่าปีนี้จะหนาวจัด”

“100 เปอร์เซ็นต์” เจ้าหน้าที่ตอบหนักแน่น

“ทำไมถึงมั่นใจขนาดนั้น” หัวหน้าเผ่าถาม

“เพราะพวกอินเดียนแดงพากันออกหาฟืนไม่หยุดเลยครับ!”


ขอบคุณนิทานที่พ่อส่งให้ทางไลน์ ส่วนต้นทางเก่าสุดที่หาได้โพสต์โดยคุณ somkitjar ใน Bloggang เมื่อปี 2553