เมื่อผู้เขียน Sapiens ต้องให้คะแนนศาสนา

วันนี้ตอนขับรถผมได้ฟังคลิป Youtube การพูดคุยกันของ Yuval Noah Harari ผู้เขียนหนังสือ Sapiens: A Brief History of Humankind และ Natalie Portman ดาราฮอลลีวู้ดที่ทั้งสวยและฉลาด

ตอนท้ายของการพูดคุย พิธีกรเปิดโอกาสให้คนในห้องประชุมส่งคำถามขึ้นมา คำถามก่อนหน้านี้ถามเกี่ยวกับการเคลื่อนไหว #metoo ซึ่ง Natalie Portman ตอบไว้ดีมาก

ส่วนนี่เป็นคำถามสุดท้ายจากผู้ชมในห้องส่งครับ

พิธีกร: เราเหลือเวลาแค่ 5 นาทีแล้ว จึงขอถามคำถามสุดท้าย จากคนที่ชอบจะได้พูดเป็นคนสุดท้าย (somebody who likes to have the last word). คำถามนี้มาจากพระเจ้า ซึ่งขอถามว่าโดยรวมแล้วศาสนาได้สร้างประโยชน์หรือสร้างโทษให้กับมนุษยชาติ จากคะแนนเต็ม 5 คุณให้คะแนนศาสนาเท่าไหร่

Harari: ไม่รู้สิ…ซัก 2 คะแนนมั้ง

(คนในห้องส่งหัวเราะ)

ศาสนาได้สร้างสิ่งดีๆ เอาไว้แน่นอน ทั้งด้านศีลธรรม ด้านมนุษยธรรม ด้านศิลปะ และการทำให้ผู้คนวางใจและร่วมมือกันก็เป็นผลจากศาสนา

แต่ศาสนาก็สร้างความเสียหายเอาไว้มากมายเช่นกัน สุดท้ายแล้วผมคิดว่าศาสนาไม่ได้มีความจำเป็นต่อการมีศีลธรรมหรือการร่วมมือกันอีกต่อไป

จริงๆ แล้วศีลธรรม (morality) ก็คือการพยายามลดความทุกข์ร้อนในโลกใบนี้ คุณไม่จำเป็นต้องเชื่อในพระเจ้าองค์นี้หรือพระเจ้าองค์นั้นเพื่อที่จะประพฤติตนให้ดี แต่คุณต้องมีความเข้าใจที่ลึกซึ้งเกี่ยวกับความทุกข์ยาก (suffering)

สำหรับผม ผมคิดว่าพวกเราจำเป็นต้องมีความรู้ความเข้าใจทางจิตวิญญาณ (spirituality) มากกว่าการมีศาสนา (religion) เพราะสองอย่างนี้แตกต่างกันหรือแทบจะตรงกันข้ามกันด้วยซ้ำ

Spirituality เป็นเรื่องของคำถาม

Religion เป็นเรื่องของคำตอบ

Spirituality คือเวลาที่คุณมีคำถามใหญ่ๆ เช่นความตระหนักรู้คืออะไร (what is consciousness?) ความหมายของชีวิตคืออะไร ความดีงามคืออะไร และคุณก็เริ่มออกเดินทางไปแสวงหาคำตอบสำหรับคำถามเหล่านี้ และคุณก็มีความกล้าและความพร้อมที่จะไปในที่ใดก็ได้ที่คำถามจะพาคุณไปเพราะมันสำคัญสำหรับคุณมาก

Religion เป็นเรื่องของคำตอบ มันคือการที่มีคนเดินมาบอกคุณว่า นี่แหละคือคำตอบ คุณต้องเชื่อสิ่งเหล่านี้ ถ้าคุณไม่เชื่อคุณก็จะถูกแผดเผาในนรกหรือไม่เราก็จะจับคุณเผาไฟเสียเอง และผมมองว่าวิธีคิดแบบนี้นั้นมันตรงกันข้ามกับ spirituality

เราอาจจำเป็นต้องมี spirituality หรือความรู้ความเข้าใจทางจิตวิญญาณมากกว่าทุกยุคทุกสมัยที่ผ่านมา เพราะคำถามด้านจิตวิญญาณหรือคำถามด้านปรัชญาได้กลายมาเป็นคำถามในเชิงปฏิบัติไปแล้ว (spiritual questions and philosophical questions are suddenly becoming practical questions)

เจตจำนงเสรี (free will) และความหมายของการเป็นมนุษย์ล้วนเป็นประเด็นที่เราถกเถียงกันมานับพันปี แต่พอมันไม่สามารถนำไปใช้ในชีวิตจริงได้ทันที การขบคิดถึงคำถามเหล่านี้เลยเป็นแค่งานอดิเรกของพวกนักปรัชญามากกว่า

แต่ตอนนี้มันกลายเป็นคำถามของวิศวกรแล้ว เพราะในไม่ช้าเราจะสามารถ reengineer มนุษย์ได้ ดังนั้นคำถามที่ว่าแก่นแท้ของความเป็นมนุษย์คืออะไรจึงเป็นคำถามที่สำคัญมากและไม่ใช่คำถามสำหรับนักปรัชญาอีกต่อไป

นี่คือเหตุผลที่ทำไมเราต้องขบคิดเรื่องเหล่านี้มากกว่าที่เคยเป็นมา รวมถึงองค์กรอย่าง Google, Facebook และอีกหลายองค์กรที่ผมเชื่อว่าเขาควรจะจ้างนักปรัชญาเอาไว้ด้วย องค์กรเหล่านี้จำเป็นต้องมีผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิญญาณเพื่อจะได้เข้าใจว่าตัวเองกำลังทำอะไรกันอยู่

ส่วนศาสนานั้น ผมคิดว่ามันได้ทำสิ่งดีๆ และสิ่งแย่ๆ เอาไว้หมดแล้ว และมันกำลังสูญเสียบทบาทของมันไป ในสมัยก่อนนั้นถ้าคุณป่วยคุณก็ไปหานักบวช ถ้าฝนไม่ตกคุณก็เข้าโบสถ์เพื่อสวดมนต์อ้อนวอน แต่โจทย์เหล่านี้กลับถูกแก้ด้วยวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี วิศวกรและคุณหมอไปแล้ว

บทบาทเดียวที่เหลืออยู่สำหรับศาสนาคือการมอบอัตลักษณ์ให้กับคนแต่ละกลุ่ม (defining collective identitities for human groups) ซึ่งสำหรับผมนั้นมักจะเป็นผลเสีย เพราะแทนที่จะสนับสนุนให้เกิดความสามัคคีกันในประชาคมโลก สิ่งที่ศาสนาก่อให้เกิดในตอนนี้คือเผ่าพันธ์ุนิยมและชาตินิยม (tribalism and nationalism) ซึ่งเป็นอุปสรรรคต่อการร่วมมือร่วมใจกันของมนุษย์ในระดับที่กว้างขวางและลึกซึ้งกว่านี้

—–

ขอบคุณเนื้อหาจาก Youtube: Natalie Portman and Yuval Noah Harari in Conversation

ขอบคุณภาพจาก Twitter: Yuval Noah Harari