10 เทคโนโลยีที่สำคัญที่สุดในปี 2023

ทุกปี MIT Technology Review จะออกมาประกาศเทคโนโลยี 10 อย่างที่สำคัญที่สุดในปีนั้น

ของปี 2023 นี้จะมีอะไรบ้าง มาดูกันนะครับ

  1. ใช้ CRISPR ตัดต่อยีนส์เพื่อควบคุมคอเลสเตอรอล – CRISPR (อ่านว่าคริสเปอร์) เป็น gene-editing tool ที่ใช้รักษาโรคทางพันธุกรรมที่หายาก แต่ตอนนี้ CRISPR เริ่มเป็นที่แพร่หลายจนถูกนำมาใช้รักษาโรคที่พื้นฐานมากขึ้นเช่นคอเลสเตอรอลสูงได้แล้ว
  2. AI ที่วาดรูปได้ – เราสามารถใช้เครื่องมือของ Google และ OpenAI ที่เนรมิตภาพออกมาได้ภายในเวลาไม่กี่วินาทีด้วยการพิมพ์คำอธิบายสั้นๆ ลงไปว่าต้องการภาพแบบไหน
  3. การออกแบบชิป (chip) ที่ไม่เหมือนเดิม – ที่ผ่านมาผู้ผลิตจะต้องซื้อลิขสิทธิ์ในการผลิตไมโครชิปจากผู้เล่นรายใหญ่เพียงไม่กี่เจ้า แต่ตอนนี้มี open standard ตัวใหม่ชื่อว่า RISC-V ซึ่งทำให้ผู้ผลิตไม่ต้องพึ่งพา chip designers เจ้าตลาดอีกต่อไป
  4. โดรนทางการทหาร – ที่ผ่านมาโดรนที่ใช้ในกองทัพนั้นเป็นสิ่งที่ประเทศเล็กๆ เข้าไม่ถึงเนื่องด้วยราคาที่แพงและกฎหมายควบคุมการส่งออกที่เข้มงวด แต่เทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นมาทำให้หลายบริษัทสามารถสร้างโดรนสู้รบได้ในราคาที่ย่อมเยาลงมาก
  5. การจ่ายยาทำแท้งผ่าน telemedicine – ในปีที่ผ่านมา หลายรัฐในอเมริกาแบนคลินิกทำแท้ง ผู้ที่ต้องการทำแท้งจึงต้อง “หาหมอ” ผ่านวีดีโอคอลและให้หมอสั่งยาส่งมาจากอีกรัฐหนึ่ง
  6. อวัยวะ on demand – ทุกวันจะมีคนไข้ 17 คนต้องเสียชีวิตลงเพราะไม่มีอวัยวะเปลี่ยน แต่เทคโนโลยีปัจจุบันสามารถปลูกถ่ายอวัยวะจากหมูที่ได้รับการตัดต่อพันธุกรรม รวมถึงการสร้างปอดด้วย 3D-printing โดยใช้เซลล์ของคนไข้เป็นหมึกพิมพ์
  7. รถ EV จะมาแน่ เพราะแบตเตอรี่รถราคาถูกลง และรัฐบาลในหลายประเทศได้ออกกฎหมายที่เข้มข้นขึ้นในการควบคุมรถที่ใช้น้ำมัน ส่วนผู้ผลิตรถหลายรายก็ได้ออกมาประกาศว่าจะมุ่งไปสู่การผลิตรถไฟฟ้าทั้งหมด
  8. กล้องโทรทัศน์อวกาศ James Webb ถูกสร้างขึ้นเพื่อสืบทอดภารกิจของกล้องโทรทรรศน์อวกาศ Hubble ในการสำรวจเอกภพ มันถูกส่งออกไปเมื่อปลายปี 2021 และถ่ายรูปภาพอันน่าตะลึงมากมายส่งกลับมายังโลก นี่ถือเป็นการเปิดศักราชใหม่ของวงการดาราศาสตร์
  9. การวิเคราะห์ DNA ของมนุษย์ยุคดึกดำบรรรพ์ – แต่ก่อนนี้การจะทำ genome sequencing จำเป็นต้องมีกระดูกหรือฟันของคนในยุคนั้น แต่เครื่องมือสมัยใหม่ละเอียดพอที่จะวิเคราะห์ DNA โดยใช้เพียง sample จากดินที่โดนคนยุคก่อนปัสสาวะใส่!
  10. การรีไซเคิลแบตเตอรี่ – เมื่อรถ EV มีมากขึ้น ความต้องการแบตเตอรี่ก็มากขึ้นเป็นเงาตามตัว หลายบริษัทกำลังสร้างโรงงานที่จะนำแบตเตอรี่เก่ามารีไซเคิลแล้วส่งไปให้กับผู้ผลิตแบตเตอรี่ lithium-ion ซึ่งจะทำให้ต้นทุนแบตเตอรี่ถูกลงกว่าเดิมและลดขยะอันตรายได้อีกด้วย

ขอบคุณเนื้อหาจาก MIT Technology Review: 10 Breakthrough Technologies 2023

รักน้อยๆ แต่รักนานๆ

20190113_slowbutsure

คนไทยที่อายุเกิน 30 หลายคนน่าจะเคยใช้ Hi5 ที่เป็นเว็บเอาไว้แชร์รูปภาพแล้วกดเป็นเพื่อนกับคนแปลกหน้า บางคนมีเพื่อนเป็นพันๆ หมื่นๆ คน

ช่วงหนึ่ง Hi5 เคยดังมากๆ เพื่อนผมมีโปรไฟล์ Hi5 กันแทบทุกคน แต่การมาถึงของ Facebook ก็ทำให้ Hi5 ล่มสลายไป

ในอีกมุมหนึ่ง อีเมลเป็นเครื่องมือสื่อสารที่เราใช้อย่างแพร่หลาย 20 ปีแล้ว

และแม้จะมี social media อย่าง Hi5, Facebook, Twitter, Instagram เข้ามามากมายในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา อีเมลก็ยังเป็นเครื่องมือสื่อสารที่ยังคงอยู่กับเราอย่างเหนียวแน่น

โทรศัพท์ Nokia ก็คล้ายๆ กับ Hi5 ช่วงหนึ่งคนไทยส่วนใหญ่ใช้โทรศัพท์มือถือยี่ห้อ Nokia ก่อนที่ Nokia จะโดนตีตลาดด้วย Blackberry ซึ่งก็ดังไปทั่วบ้านทั่วเมืองไม่แพ้กัน (อย่างน้อยก็ในคนกรุงเทพ)

แล้วทั้ง Nokia และ Blackberry ก็แทบจะล้มทั้งยืนเมื่อสตีฟจ๊อบส์เปิดตัว iPhone แถมหมัดสองด้วย Android จาก Google จากนั้นมาคนก็หันมาใช้ smartphone ทิ้งให้ Nokia และ Blackberry เหลือเพียงอดีตอันยิ่งใหญ่

ของที่มาเร็ว มาแรง ดังเร็วนั้น มีความเสี่ยงที่จะไปเร็วและดับเร็วด้วยเช่นกัน

ของที่จะอยู่คู่กับเราไปนานๆ มักจะเป็นของที่ไม่หวือหวามากนัก เรื่อยๆ มาเรียงๆ แต่ก็มีความคลาสสิค เพราะมีเวลาสร้างรากฐานจนมั่นคงในใจคน

ผมจึงมีความรู้สึกว่าของเหล่านี้แม้จะถูกกระทบอยู่บ้าง แต่ก็จะไม่หายไปไหน

วิทยุ vs พ็อดคาสท์
หนังสือ vs อีบุ๊คส์/audiobooks
ดินสอ vs แล็ปท็อป

เพราะมันไม่ได้เท่ ไม่ได้เก๋อะไรมากมายมาแต่ไหนแต่ไร จึงไม่เคยเป็นของฮิต ไม่เคยเป็นของอินเทรนด์

แต่เมื่อไม่เคยอินเทรนด์ มันจึงไม่เคยตกเทรนด์ด้วยเช่นกัน

อีก 20 ปี ในวันที่สมองมนุษย์เชื่อมกับคอมพิวเตอร์ได้โดยตรง เราอาจไม่จำเป็นต้องพิมพ์อะไรลงแป้นคีย์บอร์ดอีกต่อไป แล็ปท็อปอาจจะสูญพันธุ์ แต่ถึงกระนั้นผมว่าเราก็น่าจะยังใช้ดินสอขีดเขียนอะไรลงกระดาษอยู่ดี

พอคิดได้อย่างนี้ก็สบายใจ หากเราไม่ได้โตเร็วเหมือนใครเขา

บล็อก Anontawong’s Musings กำลังเข้าสู่ปีที่ 5 เขียนมา 1400 ตอนแล้ว แต่ก็ยังไม่ใช่เพจใหญ่ คนตามยังไม่เยอะมาก ถึงกระนั้นก็เป็นคนที่มีคุณภาพและมี engagements กับเพจสูงจนน่าชื่นใจ

ค่อยๆ โตช้าๆ ไปอย่างนี้ก็ดีเหมือนกัน จะได้ไม่หลงตัวเองว่าดังแล้ว และจะได้เอาพลังไปโฟกัสกับการผลิตงานที่ดีออกมาวันละชิ้นอย่างนี้ไปเรื่อยๆ

รักน้อยๆ แต่ขอให้รักนานๆ นะครับ 🙂

—–

Storytelling with Powerpoint รุ่นที่ 2 เรียนเสาร์ที่ 19 มกราคมนี้ เหลืออีก 7 ที่ ดูรายละเอียดได้ที่  http://bit.ly/tgimstory2fb

Senolytics ยาที่อาจทำให้มนุษย์อายุยืนขึ้นได้

20180930_senolytics

ผมมีเรื่องน่าสนใจจาก Quora.com มาฝากครับ

คำถาม: ความก้าวหน้าทางการแพทย์เรื่องใดที่ทำให้คุณตื่นเต้นที่สุด? (What advance in medical science are you most excited about?)

คำตอบโดย Franklin Veaux:

ตอนนี้เหรอ? Senolytics ไงล่ะ

เวลาที่เราแก่ตัว เซลล์ในร่างกายของเราจะหยุดทำงาน มันจะหยุดแบ่งตัวและไม่ทำหน้าที่ แถมมันยังหลั่งโปรตีนชนิดที่ทำลายเซลล์ข้างๆ อีกด้วย แต่เซลล์ที่เก่าแล้วมันก็จะยังคงอยู่อย่างนั้น (แทนที่จะตายไป) ร่างกายจึงไม่สามารถแทนที่ด้วยเซลล์ใหม่ๆ ได้

กระบวนการนี้เรียกว่า ความชราภาพของเซลล์ (cellular senescence) ซึ่งเป็นเหตุผลในหลายๆ ความเสื่อมถอยในร่างกายของเรา ไม่ว่าจะเป็นรอยเหี่ยวย่นหรือความเสื่อมของไขข้อกระดูก แม้กระทั่งโรคอัลไซเมอร์ก็อาจเป็นผลจากความชราภาพของเซลล์ด้วยเช่นกัน

Senolytics คือยาที่ทำลายเฉพาะเซลล์ที่ชราภาพแล้วโดยไม่มีผลกับเซลล์ที่ยังแข็งแรงตัวอื่นๆ ซึ่งนั่นหมายความว่าร่างกายของเราสามารถผลิตเซลล์คุณภาพมาทดแทนเซลล์ที่ไม่ทำงานแล้วได้

เคยมีการนำ senolytics ไปให้กับหนูทดลองที่อายุมากแล้ว ขนของมันดกขึ้น ผิวหนังก็ตึงขึ้นและกลับมามีความยืดหยุ่นอีกครั้ง กระดูกไขข้อก็แข็งแรงขึ้น และกล้ามเนื้อที่มันเคยสูญเสียไปจากความชราก็กลับคืนมาอีกครั้ง อายุขัยของมันยาวนานขึ้น โดยในบางการทดลองอายุมันยาวกว่าอายุเฉลี่ยถึงสี่เท่า

เราเพิ่งเริ่มทำการทดลองยา senolytics นี้ในมนุษย์ และถ้ามันเวิร์คจริงๆ มันอาจจะสำคัญพอๆ กับการค้นพบยาปฏิชีวนะเลยทีเดียว

—–

ขอบคุณเนื้อหาจาก Quora: Franklin Veaux’s answer to What advance in medical science are you most excited about?

วิธีง่ายๆ ที่จะได้เวลาคืนมา

20160805_getbacktime2

สัปดาห์ที่ผ่านมาผมเพิ่งค้นพบ productivity hack ที่ง่ายดายและมีประสิทธิภาพมาก

คือเมื่อกลับถึงบ้านแล้วให้เอามือถือไปชาร์จไว้ไกลๆ สายตา

ทำให้ผมมีเวลาเล่นกับลูก คุยกับแฟน และอ่านหนังสือเพิ่มขึ้นเยอะเลย

ผมได้รู้แล้วว่าการเอาชนะ “ความอยากเล่นมือถือนั้น” เป็นเรื่องที่ต้องใช้พลังใจสูงมาก

ยิ่งถ้ามือถือนั้นอยู่ใกล้ตัวเรา โอกาสชนะแทบจะเป็นศูนย์

วิธีที่ได้ผลกว่าคือเอามันไปวางไว้ในที่ที่เรามองไม่เห็น

พอมองไม่เห็น ก็จะไม่นึกถึง หรือนึกถึงแต่ขี้เกียจเดินไปหยิบ

ด้วยเทคนิคนี้ ทำให้ผมได้เวลาตอนเย็นเพิ่มขึ้นวันละ 30-60 นาที

และที่สำคัญมันช่วยให้ผมเข้านอนเร็วขึ้นและพักผ่อนเพียงพออีกด้วย

ลองเอาไปใช้ดูนะครับ


อ่านตอนใหม่ๆ ได้ทุกวันที่ Facebook Page Anontawong’s Musings (กดไลค์แล้วเลือก See First หรือ Get Notifications ก็จะไม่พลาดตอนใหม่ครับ)

อ่านตอนเก่าๆ ได้ที่ https://anontawong.com/archives/

ดาวน์โหลดอีบุ๊ค “เกิดใหม่

2025: ปีที่เราไม่ต้องมีรถยนต์ส่วนตัว

20160731_nopersonalcars

จั่วหัวข้อซะยิ่งใหญ่ แต่ชื่อหัวข้อจริงๆ ของบทความที่ผมอยากจะเขียนในวันนี้คือ “รัฐบาลฟินแลนด์กำลังวางแผนสร้างระบบขนส่งมวลชนที่จะทำให้ประชาชนในเฮลซิงกิไม่จำเป็นต้องมีรถยนต์ส่วนตัวภายในปี 2025” ซึ่งยาวไปหน่อยเลยขอถือวิสาสะตัดทอนนะครับ

ช่วงนี้โลกตะวันตกกำลังตื่นเต้นกับกระแสรถยนต์ไร้คนขับ – driverless cars – และก็มีคนลงมาเล่นเกมนี้กันเยอะแยะไม่ว่าจะเป็น Tesla Motors, Google หรือแม้กระทั่ง Apple ก็อาจจะร่วมวงด้วย 

และถ้าผมเข้าใจไม่ผิด รถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยตนเองนั้นจะเป็นรถยนต์ไฟฟ้าเต็มรูปแบบ (ไม่ใช่รถ Hybrid เหมือนที่เราใช้กันอยู่ปัจจุบัน) ดังนั้นหลายประเทศจึงเริ่มตระเตรียมความพร้อมทางกฎหมายเพื่อตอบสนองการเปลี่ยนแปลงนี้ โดยเยอรมันนีได้ออกมาประกาศแล้วว่าจะออกกฎหมายกำหนดให้รถยนต์ทุกคันในเยอรมันนีต้องเป็นรถไฟฟ้าภายในปี 2030 (หรือแม้กระทั่งอินเดียก็ได้ออกมาประกาศทำนองเดียวกัน )

แต่ประเทศฟินแลนด์ไปไกลกว่านั้น เพราะรัฐบาลกำลังวางแผนที่จะบูรณาการระบบขนส่งที่จะใช้ประโยชน์จากรถไฟฟ้าไร้คนขับ ร่วมกับระบบการจัดการที่ดีเพื่อทำให้การเดินทางในเฮลซิงกิซึ่งเป็นเมืองหลวงของฟินแลนด์นั้นง่ายดายเสียจนการมีรถส่วนตัวไม่ใช่สิ่งจำเป็นอีกต่อไป

รัฐบาลฟินแลนด์เคยทดลองใช้ระบบ minibus on demand ที่เรียกว่า Kutsuplus

มินิบัสยี่ห้อนี้มีทั้งหมด 15 คัน แต่ละคันจุได้ 12 คน และไม่มีคันไหนที่มีเส้นทางวิ่งตายตัว

เราแค่เข้าเว็บไซต์ของ Kutsuplus ผ่านมือถือ บอกว่าเราอยู่ตรงไหน และอยากจะไปที่ไหน ระบบก็จะทำการคำนวณให้ว่าในบรรดารถ Kutsuplus ทั้งหมด คันไหนเหมาะจะแวะมารับเราที่สุด

ค่าโดยสายของ Kutsuplus นั้นจะแพงกว่าค่าโดยสารรถบัสปกติ แต่ก็ยังถูกกว่าแท๊กซี่ไม่น้อย

ระบบ Kutsuplus นั้นทำการทดลองวิ่งอยู่เกือบสามปี ก่อนที่จะตัดสินใจปิดตัวลงในวันที่ 31 ธ.ค.2558 โดยรัฐบาลอ้างว่าค่าใช้จ่ายสูงเกินไป เพราะว่าจำนวนรถน้อย ทำให้ตอบสนองเส้นทางได้น้อย จึงทำให้ผู้โดยสารแต่ละเที่ยวน้อย (เช่นมีคนนั่งแค่ 3 คนเป็นต้น)

แม้จะไม่สามารถยืนระยะได้ แต่ผลตอบรับจากคนที่เคยใช้งานร่วม 21,000 คนนั้นดีมาก จึงเชื่อว่าถ้ารัฐบาลดึงเอกชนเข้ามาร่วมลงทุนจนมียานพาหนะสไตล์ Kutsuplus ออกมาเป็นหลักร้อยหรือหลักพัน ก็จะทำให้วิ่งได้หลายเส้นทาง มีผู้โดยสารได้เต็มคันรถมากขึ้น ทำให้มีรายได้เพียงพอที่จะเป็นธุรกิจที่มีกำไรได้

วิสัยทัศน์ของรัฐบาลฟินแลนด์ก็คือจะเชื่อมโยงการเดินทางทุกรูปแบบให้อยู่ในระบบเดียวกัน คุณแค่มีแอพมือถือตัวเดียว ก็จะสามารถวางแผนการเดินทางและจ่ายค่าเดินทางทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นรถบัส รถไฟ รถแท๊กซี่ จักรยาน ฯลฯ โดยแอพนี้จะวางแผนโดยใช้ข้อมูลการจราจรในปัจจุบัน (realtime traffic data) รวมถึงพยากรณ์อากาศ เพื่อคำนวณว่าเส้นทางไหนจะไปถึงเร็วที่สุด ถูกที่สุด หรือเปียกฝนน้อยที่สุด!

ทุกวันนี้เวลาเราใช้มือถือเราก็จะมีเลือกแพ็คเกจว่าจะเอาแบบไหน เช่นโทร.เยอะเล่นเน็ตน้อย หรือโทร.น้อยเล่นเน็ตเยอะ

ฟินแลนด์ก็จะใช้หลักการนี้กับการขนส่งมวลชนเช่นกัน โดยอาจจะให้ผู้ประกอบการแต่ละเจ้าเสนอ ‘mobility packages’ (mobility = การเคลื่อนที่หรือการเดินทางนั่นเอง) และเราก็จะสามารถเลือกได้ว่าจะเลือกซื้อ mobility packages จากเจ้าไหน และจะซื้อแบบเหมาจ่ายรายเดือนหรือจ่ายตามจริง

รัฐบาลฟินแลนด์เชื่อว่า ค่านิยมของคนในประเทศตัวเองกำลังเปลี่ยนไป เมื่อคนยุคนี้โตมาใน sharing economy ด้วยธุรกิจอย่าง Uber หรือ AirBnb ประชาชนอาจจะเริ่มมองไม่เห็นประโยชน์ของการมีรถยนต์ส่วนตัวที่ใช้เวลาส่วนใหญ่จอดอยู่ที่บ้านหรือที่ทำงาน (อย่าลืมนะครับว่าถึงตอนนั้นรถยนต์ส่วนใหญ่จะขับเคลื่อนได้ด้วยตัวเอง) ดังนั้นถ้าทางรัฐสามารถจัดระบบขนส่งที่จะพาคนจากจุดหนึ่งไปถึงจุดหนึ่งอย่างง่ายดาย ประชาชนในเมืองเฮลซิงกิก็ไม่จำเป็นต้องมีรถยนต์ส่วนตัวอีกต่อไป

มีคนบางคนออกมาท้วงติงว่า คนฟินแลนด์นั้นมีวัฒนธรรมอยู่อย่างหนึ่งคือการไปเที่ยวบ้านพักตากอากาศช่วงฤดูร้อน และการเดินทางไปต่างจังหวัดของฟินแลนด์นั้นก็ยังจำเป็นต้องมีรถยนต์ขับไปอยู่ดี แต่นั่นในทางกลับกัน ก็เป็นไปได้ว่ามีผู้ประกอบการมากมายที่พร้อมให้บริการเช่ารถในช่วง high season นี้

เป็นเรื่องน่าสนใจมากครับว่า ถ้ารัฐบาลฟินแลนด์ทำได้จริง มันจะเปลี่ยนโฉมอุตสาหกรรมยานยนต์ไปอย่างไรบ้าง

และที่น่าสนใจไม่แพ้กัน ก็คือมันจะเปลี่ยนค่านิยมของการ “ใช้รถเป็นเครื่องประดับ” ไปอย่างไรบ้าง

อีกไม่นานเกินรอครับ


ป.ล. ผมอ่านเจอเรื่องนี้ครั้งแรกจากเว็บไทยชื่อ autospinn.com หัวข้อ ฟินแลนด์วางแผนยกเลิกรถส่วนบุคคลทุกชนิดภายในปี 2025 น่าเสียดายที่เว็บไม่ได้ระบุแหล่งที่มาของข่าว แต่ผมเดาว่าต้นทางน่าจะมาจากเว็บ carscoops.com หัวข้อ Finland Wants People To Stop Driving In Helsinki By 2025 ครับ


ขอบคุณภาพจาก Wikipedia: Skytran (ภาพอาจจะไม่สอดคล้องกับเนื้อหาแต่ที่หยิบมาใช้ได้เพราะไม่ต้องกลัวผิดลิขสิทธิ์ครับ)

ขอบคุณข้อมูลจาก
Tech Insider: Here are all the companies racing to put driverless cars on the road by 2020

Co.Exist: Helsinki Wants To Eliminate The Need For Car Ownership By 2025 

ZDNet: Death of the car: The tech behind Helsinki’s ambitious plan to kill off private vehicles 

Electrek:
India is aiming for all cars to be electric as soon as 2030
All new cars mandated to be electric in Germany by 2030

Citiscope: Why Helsinki’s innovative on-demand bus service failed


อ่านตอนใหม่ๆ ได้ทุกวันที่ Facebook Page Anontawong’s Musings (กดไลค์แล้วเลือก See First หรือ Get Notifications ก็จะไม่พลาดตอนใหม่ครับ)

อ่านตอนเก่าๆ ได้ที่ https://anontawong.com/archives/

ดาวน์โหลดอีบุ๊ค “เกิดใหม่