อย่ากลายเป็นคนแปลกหน้าของตัวเอง

20180728_stranger

เพราะมนุษย์เป็นสัตว์สังคม และสังคมก็เป็นตัวกำหนดว่าอะไรที่ดี อะไรที่ควรทำ

บางทีเราจึงทำสิ่งที่เราคิดว่าดี ทั้งๆ ที่จริงๆ เราไม่ได้ชอบมันเลยซักนิด

เมื่อต้องใช้ชีวิตที่ไม่ได้สอดคล้องกับตัวตนอยู่เป็นประจำ คืนวันหนึ่งที่เรากลับถึงบ้านด้วยความเหน็ดเหนื่อย เดินเข้าห้องน้ำแล้วมองกระจก เราอาจจะพบว่า เราไม่รู้จักคนๆ นี้อีกต่อไป

เมื่อต้องดัดแปลงตัวเองมายาวนานเกินไป เราจึงหลงลืมว่าเราเป็นใคร อะไรที่เราชอบ อะไรที่มีความหมาย อะไรที่มีความสำคัญกับเราจริงๆ

รู้เรื่องคนอื่นเยอะแล้ว อย่าลืมกลับมาทำความรู้จักกับตัวเองด้วย

เพราะจะมีประโยชน์อะไร หากสำเร็จอย่างมากมาย แต่เรากลับกลายเป็นคนแปลกหน้าของตัวเอง?

เราควรประกาศเป้าหมายของเราให้คนอื่นรู้รึเปล่า?

20180730_announcegoals

เวลาเราตั้งเป้าหมายประจำตัว เช่นจะลดน้ำหนัก จะเป็นเจ้าของธุรกิจ จะเปิดบล็อก เราควรบอกให้คนรอบข้างทราบรึเปล่า?

1.ควร
2.ไม่ควร

ควรบอก เพราะมันเป็นการ “ทุบหม้อข้าว” ที่ทรงพลัง ถ้าเราประกาศบนเฟซบุ๊คไปว่าจะลดน้ำหนักให้ได้ 5 กิโลกรัมภายใน 3 เดือนนี้ โอกาสในการกลับคำของเราก็น่าจะน้อยลง อย่างน้อยเราก็น่าจะพยายามถึงที่สุดก่อน เพราะถ้าทำไม่ได้หรือไม่ได้ทำก็คงจะเสียฟอร์มชะมัด

ช่วงที่พี่เอ๋ นิ้วกลม เริ่มวิ่งใหม่ๆ เขาก็ใช้วิธีการสร้าง public accountability ด้วยการประกาศว่า #ปีนี้ฉันจะไปมาราธอน กับลูกเพจหลายแสนคน จากนั้นก็โพสต์ภาพหลักฐานการวิ่งหลายต่อหลายครั้ง แล้วสุดท้ายนิ้วกลมก็ได้ไปวิ่งโอซาก้ามาราธอนจริงๆ

ไม่ควรบอก เพราะเป้าหมายหลายอย่างเป็นเป้าหมายทางอัตลักษณ์ (identity goal) และการบอกเป้าหมายนี้กับคนอื่นๆ อาจจะทำให้เราได้อัตลักษณ์นั้นมาครอบครองไว้บางส่วนจนเราไม่ได้พยายามเท่าที่ควรจะเป็น เช่นในระหว่างที่เราเรียนเนติบัณฑิตอยู่ เราอาจบอกเพื่อนเก่าเราอยากเป็นผู้พิพากษา แต่เมื่อเรารู้สึกว่าเพื่อนมองเห็นภาพเราเป็นผู้พิพากษาแล้ว เราอาจสูญเสียความขยันที่จะอ่านหนังสือก็ได้

เคยมีการทดลองให้นักศึกษาที่อยากเป็นนักจิตวิทยาเขียนว่าสัปดาห์หน้าจะทำอะไร 2 อย่างเพื่อให้เขยิบเข้าใกล้เป้าหมายของการเป็นนักจิตวิทยา กลุ่มแรกเขียนเสร็จแล้วก็นำไปให้นักวิจัยอ่านเพื่อรับทราบ ในขณะที่กลุ่มที่สองได้รับแจ้งว่าเกิดการเข้าใจผิด ไม่จำเป็นต้องเอาสิ่งที่เขียนให้นักวิจัยอ่านแล้ว

สัปดาห์ต่อมา นักวิจัยติดต่อกลับไปหานักศึกษาทั้งสองกลุ่ม ผลปรากฎว่านักศึกษากลุ่มแรกนั้นทำกิจกรรมที่เขียนเอาไว้น้อยกว่านักศึกษากลุ่มที่สอง

เมื่อเป้าหมายนั้นเกี่ยวพันกับอัตลักษณ์หรือตัวตนของเรา มันจะมีตัวชี้วัดใหญ่ๆ อยู่สองอย่างคือการกระทำและการรับรู้ของคนอื่น สำหรับนักศึกษากลุ่มที่สองที่ไม่ได้มีคนรับรู้ว่าจะทำอะไร พวกเขาจึงเหลือวิธีการเดียวคือลงมือทำ ในขณะที่นักศึกษากลุ่มแรก ได้แจ้งให้นักวิจัยรับทราบแล้ว จิตใต้สำนึกจึงเหมือนว่าได้พิชิตเป้าหมายไประดับหนึ่งแล้ว พวกเขาจึงมีแนวโน้มในที่จะลงมือทำกิจกรรมนั้นน้อยลง

สรุปว่าเราควรหรือไม่ควรบอกเป้าหมายของเราให้คนอื่นรับรู้?

คำตอบคืออาจจะควร หรืออาจจะไม่ควรก็ได้

ถ้าเคยบอกแล้วไม่เวิร์ค รอบนี้ก็ลองไม่บอกดูบ้าง แต่ถ้าเคยเก็บงำไว้คนเดียวแล้วไม่เวิร์ค คราวนี้ก็ลองบอกคนอื่นดูบ้าง

ชีวิตไม่ใช่ข้อสอบปรนัย คำตอบที่ถูกต้องไม่ได้มีแค่คำตอบเดียว สิ่งสำคัญคือเราควรจะเลือกแนวทางที่ถูกกับจริตและสถานการณ์ชีวิตของเรามากที่สุดครับ

—–

ขอบคุณข้อมูลจาก Psychology Today: If you want to succeed, don’t tell anyone.

บทเรียนจากการขับรถเที่ยวฮอกไกโด

20180728_hokkaido

เมื่อกลางเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ผมกับครอบครัวไปขับรถเที่ยวฮอกไกโดมาครับ

การเที่ยวครั้งนี้ค่อนข้างฉุกละหุก ตอนแรกกะว่าช่วงวันแม่จะไปเที่ยวไต้หวันกับแฟน แต่พอรู้ว่าไต้หวันน่าจะร้อนมาก เลยเปลี่ยนแผนไปเที่ยวญี่ปุ่น ซึ่งเมืองเดียวที่จะอากาศยังเย็นอยู่ในช่วงนี้ก็คือฮอกไกโด แต่พอได้คุยกับเพื่อน เพื่อนก็บอกว่าถ้าไปตอนเดือนสิงหาก็จะไม่ได้เห็นทุ่งลาเวนเดอร์แล้วนะ เราเลยตัดสินใจเลื่อนทริปมาเป็นกลางเดือนกรกฎาคมแทน และเนื่องจากต้องใช้เวลาเที่ยวยาวขึ้น เลยอยากจะพาลูกไปด้วยทั้งสองหน่อ รวมถึงชวนพี่ชายแฟนไปด้วยอีกคน ตัดสินใจวันอาทิตย์ วันอังคารก็พาลูกไปทำพาสปอร์ต วันศุกร์จองตั๋วและโรงแรม วันจันทร์ทำใบขับขี่สากล และศุกร์ถัดมาก็เดินทางกันเลย!

และนี่คือสิ่งละอันพันละน้อยที่ได้เรียนรู้จากการไปเที่ยวฮอกไกโดครับ

ถ้าไปเที่ยวฮอกไกโดกับเด็กเล็กควรเช่ารถขับ – การไปเที่ยวกับลูกลดสปีดลงอย่างน้อย 50% ลูกสาวคนโตของผมอายุเกือบสามขวบ ส่วนคนเล็กอายุประมาณ 7 เดือน เจ้าคนเล็กไม่เท่าไหร่ แต่คนโตไม่ค่อยสบายเลยงอแงเป็นพิเศษ ทำให้คุมเวลาไม่ค่อยได้แถมพอเขาเหนื่อยก็จะร้องให้อุ้มบ่อยๆ โชคดีที่รอบนี้เราเช่ารถขับ ทำให้ลดความจำเป็นที่ต้องอุ้มลงไปได้เยอะ ถ้าไม่มีรถแล้วต้องเดินทางด้วยรถไฟและเดินเยอะๆ น่าจะเหนื่อยหนักกว่านี้ อ้อ เราเอารถเข็นกับเป้อุ้มเด็กไปด้วย ช่วยชีวิตได้เยอะมากครับ

ควรใช้ Hokkaido Expresssway Pass ทางด่วน/มอเตอร์เวย์ที่ญี่ปุ่นจะมีสิ่งที่เรียกว่า ETC Card ทำหน้าที่คล้ายๆ กับ Easypass บ้านเรา ถ้าแบบปกติเราจะสามารถสั่ง ETC Card มาใส่ไว้ที่รถที่ขับ แล้วมันจะคิดเงินสะสมไปเรื่อยๆ พอเราส่ง ETC Card คืนมันถึงจะคำนวณยอดเงินมาตัดบัตรให้เรา แต่ถ้าเป็น Hokkaido Expressway Pass เราจะจ่ายเหมาครั้งเดียวจบ  Expressway Pass นี้เปิดให้ใช้ได้เฉพาะนักท่องเที่ยวต่างชาติเท่านั้น คนญี่ปุ่นเองใช้ไม่ได้ (เป็นนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวแบบเดียวกับ JR Pass ที่ให้ซื้อเฉพาะชาวต่างชาติเท่านั้น) ผมซื้อแบบ 6 วัน 7200 เยน ซึ่งถือว่าคุ้มค่ามาก เพราะแค่จากสนามบินเข้าเมืองก็เสียค่าทางด่วนพันกว่าเยนแล้ว ถ้าผมจ่ายแบบธรรมดา ทั้งทริปนี้น่าจะโดนค่าทางด่วนไปไม่ต่ำกว่า 20,000 เยนหรือ 6,000 บาท

เผื่อเวลาไว้เยอะๆ – เที่ยวโตเกียวหรือเกียวโตนั้นใช้เวลาไม่มากเพราะทุกอย่างอยู่ใกล้กันหมด แต่กับฮอกไกโดไม่ใช่อย่างนั้น จากซัปโปโรไปฮาโกะดาเตะ (เมืองที่มีวิวสวยติดอันดับโลก) ใช้เวลาขับรถเกือบสี่ชั่วโมง หรือถ้าเราจะขับไปดูทุ่งลาเวนเดอร์ ก็ต้องมีอย่างน้อยสองชั่วโมงครึ่ง แถมถ้าเราเอาเด็กเล็กไปด้วย สปีดก็จะตกลงไปอีกอย่างน้อยครึ่งหนึ่ง ดังนั้นให้วาง agenda ไว้หลวมๆ และเผื่อใจไว้เลยว่าวันหนึ่งอาจจะได้เที่ยวแค่ไม่กี่ที่

เมื่อไม่เล่นมือถือ เราก็ได้เที่ยวจริงๆ เนื่องจากต้องขับรถและดูแลลูกสองคน ผมกับแฟนจึงแทบไม่ได้อัพเดตรูปขึ้นเฟซบุ๊คเลย ซึ่งก็แอบมีเสียดายอยู่บ้างที่ไม่ได้อวดชาวโลก แต่พอผ่านไปสองสามวันก็เริ่มชินและเริ่มติดใจ เพราะรู้สึกว่าเมื่อไม่ได้อัพรูป เราก็ไม่ต้องมาคอยเช็คว่ามีคนมากดไลค์รูปเราแล้วเท่าไหร่ ผมเลยได้อยู่ที่ญี่ปุ่นทั้งตัวและใจ ไม่ใช่ตัวอยู่ญี่ปุ่นขณะที่ใจแส่ส่ายคอยติดตามยอดไลค์ในมือถือจากเพื่อนที่เมืองไทย

อาหารญี่ปุ่นไม่ได้ว้าวขนาดนั้น(แล้ว) ผมมาญี่ปุ่นครั้งแรกตอนปี 2011 หรือประมาณ 7 ปีที่แล้ว ซึ่งร้านอาหารญี่ปุ่นที่คนกินทั่วบ้านทั่วเมืองสมัยนั้นก็คือฟูจิ พอได้มากินของต้นตำรับที่ญี่ปุ่นจึงรู้สึกได้ถึงความแตกต่างและรู้สึกว้าวไปกับมัน แต่กรุงเทพปี 2018 มีร้านอาหารญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นมามากมาย และหลายๆ ร้านคุณภาพปลาก็โอเคมากๆ พอไปกินร้านที่ญี่ปุ่นเลยไม่ได้รู้สึกว่าว้าวเท่าแต่ก่อนแล้ว อันที่จริงคืนวันแรกที่ผมไปกินซูชิจานหมุนในเมืองฮาโกะดาเตะ ยังรู้สึกว่าคุณภาพแย่กว่าร้านที่เราไปกินประจำด้วยซ้ำ และอีกสามคืนถัดมาไปกินในร้านอาหารโรงแรม คนนั่งเต็มร้าน ราคาก็แพงแต่ไม่ได้รู้สึกประทับใจอะไร ที่กินแล้วรู้สึกว่าอร่อยและคุ้มค่าที่สุดคือซูชิแพ็คใส่ถาดพลาสติกจากซูเปอร์มาร์เก็ต Coop ที่พอตกเย็นจะลดราคาเหลือเพียง 300 เยน หรือ 90 บาทแต่มีซูชิกว่า 20 คำ แถมแต่ละคำก็ยังรู้สึกว่ายังสดใหม่และอร่อยกว่ากินที่ร้านเสียอีก

เทคโนโลยีตามทันกันเหลือแค่คนจะตามทันกันมั้ย เทคโนโลยีในระดับ consumer market ไม่รู้สึกว่ามีอะไรที่คนไทยจะหาซื้อหรือนำเข้าไม่ได้ ดังนั้นเครื่องไม้เครื่องมือเราจึงตามทันกันหมดทั่วทั้งโลก สิ่งเดียวที่จะสร้างความเหลื่อมล้ำ คือวัฒนธรรมของคนในพื้นที่นั้นๆ มากกว่า คำถามสำคัญคือเรามีความเติบโตทางความคิดและการบริโภคเทคโนโลยีในระดับไหน ถ้าเรายังเติบโตไม่พอ เราก็คงไม่อาจใช้เทคโนโลยีที่มีอยู่ให้เกิดประสิทธิภาพได้ทัดเทียมกันบ้านเมืองที่วัฒนธรรมการใช้เทคโนโลยีเขาก้าวหน้าไปกว่าเรา

ใช้ Sim2Fly สะดวกกว่าใช้ pocket wifi – ก่อนที่จะเดินทางผมก็คิดอยู่ว่าเราจะต้องมีอินเตอร์เน็ตไหม และถ้ามีควรจะใช้แบบไหนดี ตอนแรกผมคิดจะใช้ pocket wifi เพราะมีเน็ตให้ใช้ได้ไม่อั้น แต่เพื่อนที่เคยไปกับครอบครัวแนะนำให้ใช้ Sim2Fly เพราะราคาไม่แพง ก็เลยตัดสินใจตามนั้น ผม แฟน และพี่ชายแฟนเลยซื้อติดเครื่องไว้คนละ 1 ซิม ซึ่งสะดวกมาก ยิ่งเราไม่ค่อยได้เล่นมือถือด้วย จึงมีดาต้าเหลือเฟือ และประโยชน์อีกอย่างที่นึกไม่ถึงมาก่อนก็คือเมื่อเรามีเหตุให้ต้องแยกกันชั่วคราว (เช่นจอดรถส่งทุกคนลงในย่านช็อปปิ้ง ส่วนผมไปวนหาที่จอดรถ) เราก็ยังติดต่อกันได้ตลอด ซึ่งถ้าเราใช้ pocket wifi ที่มีอยู่เครื่องเดียวย่อมจะไม่สามารถติดต่อกันแบบนี้ได้

ทำประกันเดินทางจะได้อุ่นใจ ผมเคยอ่านเจอว่าค่ารักษาพยาบาลญี่ปุ่นค่อนข้างแพงมาก ก่อนออกเดินทางผมเลยซื้อประกันกับ Tokio Marine ทั้งครอบครัวราคาพันกว่าบาทเท่านั้น ถือว่าคุ้มมากเพราะมีเหตุให้ต้องได้ใช้จริงๆ

เมื่อเกิดเหตุไม่คาดฝัน ให้มองหาตำรวจเป็นอันดับแรก ในวันที่ 3 ของการอยู่ที่ฮอกไกโด ะหว่างที่อยู่ที่ตรอกราเม็งที่ฮอกไกโด ใกล้รุ่งลูกคนเล็กของเราตกลงจากรถเข็น หน้าโดนตะแกรงคูน้ำบาดจนเลือดออกและจมูกบวมตุ่ย ผมอุ้มลูกเข้าไปถามเจ้าของร้านราเม็งว่าแถวนี้มีหมอมั้ย เขาทำหน้าตกใจและบอกให้ผมไปหาตำรวจก่อน โดยอธิบายว่าอยู่ห่างออกไปอีกสองบล็อค เมื่อเดินหาจนเจอแล้วผลักประตูเข้าไปในสถานีตำรวจ พวกเราก็พบตำรวจอย่างน้อย 5-6 นายอยู่ในนั้น ท่าทีตกใจกว่าเราอีก สื่อสารกันซักพักเขาก็บอกว่าจะเรียกรถพยาบาลมาให้ ไม่เกิน 15 นาทีรถพยาบาลก็มาถึง เราขึ้นไปนั่งบนรถและบรุษพยาบาลก็สอบถามว่าเหตุการณ์เกิดขึ้นได้อย่างไร เด็กหมดสติมั้ย อายุเท่าไหร่ ฯลฯ ซึ่งทั้งหมดนี้เขาทำโดยการพูดภาษาญี่ปุ่นลงในแอปบนไอแพดซึ่งแปลเป็นไทยให้เราอ่านกันอีกที จากนั้นเขาก็ตัดสินใจพาเราไปส่งโรงพยาบาลเมืองข้างๆ ที่มีความเชี่ยวชาญเรื่องผู้ป่วยเด็กโดยเฉพาะ สรุปใกล้รุ่งไม่เป็นอะไรมาก กลับบ้านได้และวันรุ่งขึ้นก็ไปเที่ยวต่อได้เลย แม้ไม่มีใครอยากให้เกิดแต่ก็ถือว่าโชคดีที่ลูกเราปลอดภัยแถมยังได้ประสบการณ์นั่งรถพยาบาลในต่างแดนอีกด้วย

ไม่เขียนบล็อกก็ไม่เห็นเป็นไร ตอนแรกผมตั้งใจจะทำเหมือนตอนไปยุโรป ลอนดอน อินเดีย และมาเลเซีย คือเขียนบล็อกทุกวันเพื่อเล่าถึงการเดินทางของตัวเอง แต่แล้วก็ได้พบว่า กว่าจะพาลูกเข้านอนได้ก็ดึกแล้ว แม้จะพอมีแรงเหลือ แต่พรุ่งนี้ผมก็ต้องขับรถอีก หากเขียนบล็อกจนดึกดื่นและนอนไม่พอ ก็จะกลายเป็นว่าผมกำลังรับผิดชอบต่อลูกเพจ แต่ไม่รับผิดชอบต่อลูกตัวเอง ดังนั้นเมื่อพ้นวันที่สองของการเดินทางและก้าวข้ามความรู้สึกผิดได้ ก็เลยตัดสินใจที่จะไม่เขียนบล็อกตลอดทริปนี้ ซึ่งมันก็ทำให้ผมสบายใจอย่างประหลาด เพราะเป็นการเที่ยวที่ไม่ต้องคอยกังวลว่าจะเก็บเรื่องอะไรไปเขียนในคืนนี้ดีนะ ยังไงผมก็ต้องขอโทษที่ทำให้บางคนรอคอยและคิดถึง เอาเป็นว่าถ้าคราวหน้าจะไปเที่ยวไหนไกลๆ อีก จะรีบแจ้งแต่เนิ่นๆ นะครับ 🙂

ส่วนถ้าใครอยากอ่านรายละเอียดการเดินทางแบบเต็มๆ ก็เข้าไปดูได้ที่ https://www.wongnai.com/travel/trips/a0bf6c2dc8ca4013918b44c0821c5861  หรือถ้าอยากจะเขียนทริปของตัวเองก็ทำได้เช่นกันที่ https://www.wongnai.com/me/trips ครับ

10 คำถามที่เราควรถามตัวเองทุกวัน

20180727_10questions

ทุกเช้าเราจะตื่นมาพร้อมคำถามมากมายเต็มหัว ทั้งที่รู้ตัวและไม่รู้ตัว ทั้งบนที่นอน ในห้องน้ำ และหน้าตู้เสื้อผ้า

ขออีก 10 นาทีได้มั้ย?

สายแล้ว รถจะติดมั้ยเนี่ย?

ใส่เสื้อสีอะไร?

เช้านี้กินอะไรดี?

มีงานอะไรที่ยังทำไม่เสร็จบ้างเนี่ย?

และอื่นๆ อีกมากมาย

Tony Robbins บอกว่า ไหนๆ เราก็มีคำถามให้ตัวเองทุกเช้าแล้ว เราจึงควรถามคำถามที่มันสร้างสรรค์ด้วย

โทนี่แนะนำให้เราถามคำถาม 7 ข้อนี้ทุกเช้าครับ

1. ตอนนี้เราแฮปปี้กับเรื่องอะไร (What am I happy about?)

2. เรากำลังตื่นเต้นกับเรื่องอะไร (What am I excited about?)

3. มีเรื่องอะไรบ้างที่เราภูมิใจ (What am I proud of?)

4. เรารู้สึกขอบคุณเรื่องอะไร? (What am I grateful for?)

5. เรากำลังสนุกกับเรื่องอะไร? (What am I enjoying?)

6. มีเรื่องอะไรบ้างที่เรามุ่งมั่นจะทำให้สำเร็จ? (What am I committed to?)

7. ใครที่รักเรา / ใครที่เรารัก? (Who do I love / Who loves me?)

แต่ละคำถามอาจมีคำตอบได้ถึง 2-3 คำตอบ แต่ถ้าเรารู้สึกว่าตอบไม่ได้ เช่นตอนนี้ไม่ได้แฮปปีักับเรื่องอะไรเลย ก็ลองเปลี่ยนคำถามเล็กน้อยให้เป็น What could I be happy about – เราน่าจะแฮปปี้กับเรื่องอะไรได้บ้าง?

ผมลองถามและตอบคำถามเหล่านี้ดูแล้วก็รู้สึกว่ามันสร้างพลังงานบวกให้กับตัวเองได้ไม่น้อย

พอหมดวันโทนี่ยังแนะนำให้เราถามเพิ่มอีก 3 คำถาม นั่นคือ

8. วันนี้เราได้มอบอะไรให้กับโลกบ้าง? (What have I given today?)

9. วันนี้เราได้เรียนรู้อะไรบ้าง? (What did I learn today?)

10. สิ่งที่เกิดขึ้นในวันนี้ทำให้ชีวิตเราดีขึ้นยังไง หรือเราจะใช้วันนี้เป็นการลงทุนเพื่ออนาคตได้อย่างไร? (How has today added to the quality of my life or how can I use today as an investment in my future?)

บางคนอาจรู้สึกว่า 7 ข้อยามเช้าอาจจะเยอะไปหน่อย ก็อาจจะลดทอนลงเหลือ 3-4 ข้อที่เราชอบก็ได้ แต่ผมว่า 3 ข้อก่อนนอนนี่กำลังดีนะครับ มันน่าจะช่วยให้เราใช้ชีวิตอย่างรู้เนื้อรู้ตัวได้เป็นอย่างดี

ลองนำไปปรับใช้ดูครับ

—–
ขอบคุณเนื้อหาจากหนังสือ Awaken the Giant Within by Anthony Robbins 

นิทานแซนวิชแฮม

20180726_sandwich

นักการฑูตต่างชาติท่านหนึ่งพูดภาษาอังกฤษไม่ได้ ในตอนที่กระดิ่งพักกลางวันดังขึ้นในหอประชุมใหญ่สหประชาชาติ ที่เคาน์เตอร์อาหารเขายืนอยู่ข้างหลังชายผู้หนึ่ง และได้ยินเสียงชายผู้นั้นสั่งพายแอปเปิลกับกาแฟ ดังนั้นเค้าจึงสั่งพายแอปเปิลกับกาแฟด้วย

เป็นเวลาสองสัปดาห์เต็มที่เขาสั่งแต่พายแอปเปิ้ลกับกาแฟ จนในท้ายที่สุดเขาก็ตัดสินใจว่าจะลองสั่งอย่างอื่นดูบ้าง ดังนั้นเขาจึงพยายามฟังอย่างตั้งใจในขณะที่ชายผู้ที่ยืนอยู่ข้างหน้าสั่งแซนด์วิชแฮม

“แซนวิชแฮม” เขาสั่งอาหาร

“ขนมปังธรรมดาหรือโฮลวีต” คนขายถาม

“แซนวิชแฮม” นักการทูตพูดซ้ำ

“ขนมปังธรรมดาหรือโฮลวีต” คนขายถามอีกครั้ง

“แซนวิชแฮม” นักการทูตพูดซ้ำ

คนขายเริ่มมีอารมณ์ “ฟังให้ดี” เขาแผดเสียงออกมาพร้อมกับชูกำปั้น “ท่านต้องการขนมปังธรรมดาหรือว่าโฮลวีต”

“พายแอปเปิ้ลกับกาแฟ” นักการทูตตอบ

—–

ขอบคุณนิทานจาก เต๋า : วิถีที่ไร้เส้นทาง โดย Osho แปลโดย ดร.ประพนธ์ ผาสุขยืด