17 บทเรียนจาก Four Thousand Weeks หนังสือเปลี่ยนชีวิตแห่งปี 2022

เมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว ผมได้เล่าผ่านบทความ “17 ข้อคิดจาก The Psychology of Money หนังสือเปลี่ยนชีวิตแห่งปี 2021” ว่าผมมักจะได้อ่านหนังสือระดับเปลี่ยนความคิดแบบถอนรากถอนโคนแค่ปีละ 1 เล่มเท่านั้น

ส่วนใหญ่ผมจะเจอหนังสือแบบนี้ในช่วงครึ่งปีหลัง แต่ปีนี้โชคดีที่ได้เจอหนังสือแห่ง 2022 ตั้งแต่ไตรมาสแรก

หนังสือเล่มนั้นมีชื่อว่า Four Thousand Weeks – Time and How to Use It ที่เขียนโดย Oliver Burkeman (บางประเทศใช้ชื่อว่า Four Thousand Weeks – Time Management for Mortals หรือ “4,000 สัปดาห์ – การจัดการเวลาสำหรับปุถุชน”)

หนังสือเล่มนี้ไม่มีขายที่ Asia Books ส่วนในเว็บ Kinokuniya ก็ของหมดสต็อค ผมจึงสั่ง Four Thousand Weeks จาก Book Depository ตั้งแต่ปลายเดือนพฤศจิกายน กว่าจะได้หนังสือก็ต้นเดือนมีนาคมและอ่านจบภายในสองสัปดาห์

ที่เพิ่งจะได้มาเขียนถึงก็เพราะว่ามันเป็นหนังสือที่ต้องใช้เวลาครุ่นคิดและใคร่ครวญอยู่เนิ่นนานทีเดียว

ผมเคยอ่านหนังสือและข้อเขียนด้าน Time Management และ Self-Improvement มามากมาย ไม่ว่าจะเป็นของ Stephen Covey, Brian Tracy, David Allen, Tim Ferriss, Mark Manson, Garry Keller (The ONE Thing), Cal Newport (Deep Work), หรือ Greg McKeown (Essentialism)

พูดได้เต็มปากว่าไม่มีหนังสือเล่มไหนที่ท้าทายมุมมองและวิถีชีวิตของผมได้เท่ากับหนังสือ Four Thousand Weeks

และนี่คือ 17 บทเรียนที่ผมอยากนำมาเล่าสู่กันฟังครับ

1. คำสารภาพของ Productivity Guru

Oliver Burkeman เคยเป็นนักเขียนคอลัมน์ “This Column Will Change Your Life” ให้กับหนังสือพิมพ์ The Guardian โดยช่วงแรกก็เอาเทคนิคหรือเครื่องมือด้าน productivity มาเขียนในเชิงล้อเลียนหรือประชดประชัน แต่พอผ่านไปสักพักเขาก็เริ่มมองเห็นประโยชน์ของเครื่องมือเหล่านี้ จึงนำหลายเทคนิคไปทดลองใช้แบบจริงจัง

ไม่ว่าจะเป็นการทำ Inbox Zero, การจัด priority แบบ A B C, การทำงาน 25 นาทีพัก 5 นาทีตามหลัก Pomodoro Technique, การจัดตารางเวลาแบบละเอียดยิบระดับสล็อตละ 15 นาที หรือการตั้งเป้าหมายให้สอดคล้องกับค่านิยมของตน และการกำหนดกิจกรรมประจำวันให้สอดคล้องกับเป้าหมายเหล่านั้น

การได้ลองเทคนิคเหล่านี้ทำให้ Burkeman รู้สึกว่าตัวเองกำลังเข้าใกล้ภาพที่เคยฝันเอาไว้ นั่นคือวันที่เขาจะจัดการงานทุกอย่างได้เสร็จเรียบร้อยแบบคูลๆ

แต่วันนั้นไม่เคยมาถึง เขาเครียดขึ้นและมีความสุขน้อยลงด้วยซ้ำ

จนอยู่มาวันหนึ่งในปี 2014 ขณะที่เขากำลังนั่งอยู่บนม้านั่งในสวนสาธารณะ เขาก็คิดขึ้นได้ว่า “วิธีพวกนี้ไม่เวิร์คแหงๆ” ไม่มีวันที่เขาจะมีประสิทธิภาพมากพอ หรือมีวินัยมากพอจนสามารถจัดการทุกอย่างจนไม่มีอะไรต้องกังวลอีกต่อไป

ที่น่าแปลกก็คือ เมื่อตระหนักได้ว่าสิ่งที่เขาทำมาตลอดเป็นยุทธศาสตร์ที่ใช้การไม่ได้ Burkeman กลับพบความสงบในจิตใจ

เพราะเมื่อรู้ตัวว่าที่ผ่านมาเขาพยายามทำสิ่งที่เป็นไปไม่ได้มาโดยตลอด ก็ไม่มีเหตุผลที่จะต้องตีอกชกตัวเองอีกต่อไป

2. ทำความรู้จักกับ Finitude

Finitude (อ่านว่า “ฟินิทูด”) เป็นคีย์เวิร์ดที่สำคัญที่สุดในหนังสือเล่มนี้ มันหมายถึง “ความจำกัดของสิ่งต่างๆ ในชีวิต”

โดยเฉลี่ยแล้ว เรามีเวลาบนโลกนี้เพียง 4,000 สัปดาห์ (หนึ่งปีมีประมาณ 50 สัปดาห์ และเราอยู่กันประมาณ 80 ปี)

มันเป็นเรื่องเจ็บปวดที่จะเผชิญความจริงที่ว่าชีวิตคนเรามันแสนสั้น ความจริงที่ว่าเราจะไม่มีเวลาพอที่จะทำทุกอย่างที่เราอยากทำ ความจริงที่ว่าเราไม่สามารถควบคุมอะไรให้เป็นไปได้ดั่งใจ และความจริงที่ว่าเราอาจต้องยอมทิ้งบางสิ่งบางอย่างออกไปจากชีวิตแม้ว่ามันจะสำคัญกับเราแค่ไหนก็ตาม

การมุ่งเพิ่มพูน productivity ให้ตัวเองจึงเป็นการหลีกเลี่ยง finitude ที่ว่านี้ เพราะมันช่วยให้เราได้รู้สึก (อย่างปลอมๆ) ว่าเรานั้นไร้ขีดจำกัด และเราก็ฝันหวานถึงวันที่เราจะค้นพบวิธีการบริหารจัดการเวลาที่จะช่วยให้เรามีแรงและเวลามากพอที่จะทำทุกอย่างที่เราอยากทำ และวันนั้นเราจะมี work-life balance อย่างแท้จริง

Productivity จึงเป็นกับดักอย่างหนึ่ง Burkeman ยังไม่เคยเห็นใครครอบครอง work-life balance และเราไม่มีทางได้มันมาด้วยการทำตามคำแนะนำในบทความจำพวก “6 สิ่งที่คนสำเร็จทำเสร็จก่อน 7 โมงเช้า” ที่เราชอบอ่านกันเหลือเกิน

3. ยิ่งเร่งยิ่งหงุดหงิด ยิ่งวางแผนยิ่งวิตก

ยิ่งเราทำงานอย่างมีประสิทธิภาพมากเท่าไหร่ เรายิ่งกลายเป็น “บ่อน้ำไร้ก้นที่เอาไว้เติมเต็มความคาดหวังของคนรอบข้าง” และเราก็จะพยายามยัดทุกอย่างลงไปในตารางชีวิต

เมื่อเราตอบเมลเร็ว คนอื่นก็จะตอบเมลกลับมาหาเราเร็วเช่นกัน เมื่อเราทำงานได้เร็วขึ้น ก็จะได้รับมอบหมายงานมากขึ้นเช่นกัน (หัวหน้าเราไม่ได้โง่ เรื่องอะไรเขาจะเอางานไปให้คนที่ทำได้ช้ากว่าเราด้วย?)

ทุนนิยมนั้นชอบคนทำงานหนักอยู่แล้ว เพราะเราจะผลิตได้มากขึ้น และเราก็จะเสพมากขึ้นด้วย นิสัยทำงานหนักจึงไม่ค่อยมีคนห้ามปราม มีแต่จะคอยชื่นชมด้วยซ้ำไป

แต่แม้ว่าเราจะทำงานและใช้ชีวิตอย่างเต็มประสิทธิภาพแค่ไหน ของบางอย่างมันก็ไม่ยอมให้เราเร่งเร้า

คนมีลูกเล็กจะรู้ว่า เราไม่สามารถไปกะเกณฑ์ให้เขาช้าลงหรือเร็วขึ้นได้ ส่วนคนที่อ่านหนังสือมาเยอะก็จะเข้าใจว่าหนังสือบางเล่มนั้นไม่สามารถอ่านให้จบได้ไวๆ

ในภาษาเยอรมันจะมีคำว่า Eigenzeit ซึ่งแปลว่า “เวลาที่จำเป็นต้องใช้โดยธรรมชาติสำหรับงานหรือกิจกรรมนั้นๆ”

คน productive มักจะวัดกันที่ว่าเราจะทำอะไรเสร็จได้เร็วแค่ไหน และเราก็มักจะต้องหงุดหงิดกับงานบางงาน (หรือเด็กบางคน!) ที่ไม่ยอมปรับสปีดให้เป็นไปดั่งใจเรา เพราะทุกอย่างมีความเร็วที่เหมาะสมของมัน

อีกสิ่งหนึ่งที่คนสมัยนี้ชอบทำกันก็คือการวางแผน แล้วพอมันไม่เป็นไปตามแผน เราก็จะหงุดหงิดและวิตกกังวล

การวางแผนนั้นมีประโยชน์แน่นอน แต่บางทีเราก็คาดหวังกับแผนการมากเกินไป สุดท้ายแล้วแผนการก็เป็นเพียงความคิด เป็นเพียงเจตนาในปัจจุบันของเราว่าอยากจะทำอะไรให้เกิดขึ้นบ้าง

แต่เราหลายคนกลับมองแผนการเป็นเหมือนบ่วงบาศที่เราโยนจากปัจจุบันเพื่อจะจับอนาคตไว้ให้มั่นแล้วควบคุมมันไว้ให้อยู่ในกำมือ แต่อนาคตนั้นมักจะพยศกับเราเสมอ

นี่คือความย้อนแย้งของชีวิต ยิ่งเราอยากจะรู้สึกว่าเราคุมได้ทุกอย่าง เราจะยิ่งหงุดหงิดและเคร่งเครียดมากขึ้น

4. สิ่งดีๆ มากมายเกิดขึ้นโดยที่เราไม่ได้บงการ

เราเอาแต่กังวลถึงอนาคตเพราะเราไม่อาจควบคุมมันได้ดั่งใจ แต่หากมองกันอย่างแฟร์ๆ ที่ชีวิตเรามาถึงจุดนี้ได้นั้นไม่ได้เกิดจากฝีมือของเราไปเสียทั้งหมด

สิ่งดีๆ ที่เรามีในวันนี้ ถ้ามองย้อนกลับไปจะพบว่า หลายครั้งมันเกิดจากสิ่งที่เราวางแผนไม่ได้และควบคุมไม่ได้ด้วยซ้ำ

ถ้าคืนนั้นเราไม่ได้ไปร่วมงานปาร์ตี้ เราอาจจะไม่ได้เจอผู้หญิงที่ต่อมาจะเป็นภรรยาของเรา และถ้าพ่อแม่ไม่ได้ส่งเราไปโรงเรียนที่ทำให้เราได้พบกับคุณครูคนนั้น ก็อาจไม่มีตัวเราในวันนี้

ยิ่งถ้าเรามองย้อนกลับไปไกลกว่านั้น ว่าพ่อแม่เราเจอกันได้ยังไง ปู่เจอกับย่า ตาเจอกับยายได้ยังไง เราจะยิ่งเห็นความบังเอิญอันพ้องพานที่ทำให้เราเป็นเราอย่างทุกวันนี้

แม้ที่ผ่านมาจะเกิดสิ่งที่เราไม่อาจควบคุมได้ขึ้นมากมาย แต่ชีวิตเราก็ยังมาถึงจุดนี้ได้ เราจึงไม่จำเป็นต้องกังวลถึงอนาคตจนเกินเหตุ เพราะเมื่อมันมาถึง เราก็จะรับมือกับมันได้เช่นกัน

5. เราไม่ได้มีเวลา – เรานี่แหละคือเวลา

นักปรัชญานาม Martin Heidegger เคยตั้งคำถามว่าความเป็นมนุษย์คืออะไร

Heidegger คิดว่าชีวิตคนเรานั้นผูกติดกับเวลาอย่างแยกไม่ออก เราแค่ “มีขึ้นอย่างชั่วคราว” ระหว่างการเกิดและการตาย

เราชอบบอกว่า “เรามีเวลาอันจำกัด” แต่ในมุมของ Heidegger นั้น “เราคือเวลาอันจำกัด” ต่างหาก

เราถูกโยนลงมาในกระแสแห่งเวลา ไม่ต่างอะไรกับการถูกโยนลงแม่น้ำ และเราต้องไหลไปกับมันโดยไม่สามารถก้าวออกจากวารีแห่งเวลาที่นำไปสู่มรณานี้ได้

คำถามที่สำคัญคือเราพร้อมยอมรับและเผชิญความจริงข้อนี้แค่ไหน ชีวิตเรานับถอยหลังมานานแล้ว และอาจจะหมดลงวันนี้ พรุ่งนี้หรือเดือนหน้าก็ได้ เราจึงไม่สามารถฝากความหวังไว้กับอนาคตได้เลย

ฟังดูเหมือนโศกนาฏกรรม แต่โศกนาฏกรรมที่แท้จริงคือการที่พวกเราส่วนใหญ่ไม่ยอมสบตากับความจริงข้อนี้ แล้วเราก็หลีกเลี่ยงมันด้วยการทำโน่นทำนี่ ด้วยการทำตัวให้ยุ่งเข้าไว้ ด้วยการพยายามทำทุกอย่างให้เสร็จ เพียงเพื่อที่เราจะได้ไม่ต้องมานั่งครุ่นคิดอย่างจริงจังว่าเราจะใช้วันเวลาที่เหลือของเราอย่างไร

6. วันข้างหน้าที่ไม่เคยมาถึง

เราถูกสอนให้ใช้เวลาอย่างคุ้มค่า ให้มองว่าเวลาคือทรัพยากรที่สำคัญที่สุด

แต่ยิ่งเราอยากใช้เวลาให้คุ้มค่าเท่าไหร่ วันแต่ละวันจะกลายเป็นเพียง “ด่านที่ต้องผ่านไป” สู่วันพรุ่งนี้เท่านั้น

เมื่อเราฝากชีวิตไว้กับอนาคต (future-focused attitude) เราจึงมักจะพูดประโยค “ไว้…แล้วฉันจะ” อยู่เสมอ (when I finally mindset)

“ไว้จัดการงานต่างๆ ได้อยู่หมัด / ไว้ได้นายกที่ชื่นชอบ / ไว้ได้พบเนื้อคู่ แล้วฉันก็จะได้ใช้ชีวิตแบบที่ฉันต้องการจริงๆ เสียที”

เราเชื่อว่าการที่ชีวิตยังไม่ถูกเติมเต็ม เพราะเรายังทำเป้าหมายบางอย่างไม่สำเร็จ แต่ความเป็นจริงก็คือการใช้วันนี้เพื่อตอบโจทย์วันพรุ่งนี้เรื่อยไปนั้นไม่มีวันเติมเต็มเราได้ และต่อให้เราจัดการงานทุกอย่างได้อยู่หมัดหรือเจอเนื้อคู่แล้วก็ตาม เราก็จะหาเป้าหมายอย่างอื่นและผัดผ่อนความรู้สึกเติมเต็มนั้นไปยังวันข้างหน้าอยู่ดี

นักเศรษฐศาสตร์ John Maynard Keynes เรียกคนที่ใช้เวลาให้คุ้มค่าเพื่ออะไรบางอย่างในอนาคตว่า “Purposive man” หรือ “มนุษย์ที่เต็มไปด้วยจุดประสงค์” ถ้าใช้ภาษาปัจจุบันก็คือมนุษย์ productive นี่แหละ

“มนุษย์จุดประสงค์นั้นพยายามที่จะสั่งสมความเป็นอมตะด้วยการผลักผลประโยชน์ของเขาสู่วันข้างหน้าเรื่อยไป เขาไม่ได้รักแมวของเขา แต่เขารักลูกของแมวตัวนี้ จริงๆ แล้วเขาไม่ได้รักลูกแมวด้วยซ้ำ แต่รักลูกของลูกของลูกแมวตราบจนสิ้นตระกูลแมว สำหรับเขาแล้ว แยมไม่ใช่แยมเว้นเสียแต่ว่ามันจะเป็นแยมเพื่อวันพรุ่งนี้ เมื่อเขาผลักไสแยมสู่วันข้างหน้าเรื่อยไป เขาจึงได้ฝังความเป็นอมตะของเขาลงไปในทุกอณูของแยม”

เมื่อไม่เคย “ถอนทุน” กับสิ่งที่ได้ทำ มนุษย์จุดประสงค์จึงรู้สึกว่าตัวเองเปรียบเหมือนเทพเจ้าผู้ยิ่งใหญ่ ผลตอบแทนคือการได้จินตนาการว่าสิ่งที่เขาทำนั้นจะส่งผลไปชั่วลูกชั่วหลาน

แต่ราคาที่ต้องจ่ายนั้นสูงยิ่ง เพราะเขาจะไม่มีวันได้รักแมวที่อยู่ตรงหน้า และไม่มีวันได้อร่อยไปกับรสชาติหวานหอมของแยมแท้ๆ

เมื่อพยายามมากเกินไปที่จะใช้เวลาให้คุ้มค่า เขาจึงพลาดที่จะใช้ชีวิตไปเสียสิ้น

7. ความจริงของ Distractions

โดยนิยามแล้ว เวลาที่เราว่อกแว่กหรือ distracted มันมักจะเป็นการเสียสมาธิจาก “สิ่งสำคัญ” ที่อยู่ตรงหน้า เช่นงานที่ยากและท้าทาย แล้วเราก็แสวงหา distractions อย่างการไถเฟซบุ๊ค

แต่แปลกมั้ยว่าทำไมเราถึงว่อกแว่กจากสิ่งที่เราอยากทำและรู้ว่ามันดี เพียงเพื่อจะเทความสนใจไปสู่สิ่ง “ไร้สาระ” ที่เราก็รู้ทั้งรู้ว่ามันไม่ดี

เหตุผลหนึ่งที่เราว่อกแว่ก ก็เพราะว่าเราไม่อยากจะสบตากับ finitude นั่นเอง

สิ่งที่เราให้ความสำคัญนั้นมันมักจะยากลำบาก และเราก็ไม่ชอบการถูกบังคับให้เผชิญกับความจริงที่ว่าเราไม่อาจบงการสิ่งที่อยู่ตรงหน้าให้เป็นไปได้ดั่งใจ การต้องเผชิญกับความจำกัดของตัวเองเช่นนี้ไม่ใช่เรื่องน่าอภิรมย์เลย

เราจึงชอบโลกออนไลน์ เพราะที่ตรงนั้นไม่มีขีดจำกัด จะเสิร์ชอะไรก็ได้ จะดูอะไรก็ได้ จะโพสต์อะไรก็ได้ จะไถฟีดเท่าไหร่ก็ได้โดยไม่มีสิ้นสุด distractions เหล่านี้จึงเป็นการหลีกหนีจากชีวิตจริงอันเต็มไปด้วยข้อจำกัดนั่นเอง

8. หัดใช้เวลาว่างอย่างเปล่าประโยชน์

การ “พักผ่อนหย่อนใจ” ของคนสมัยนี้มีความซับซ้อนมากขึ้น การนอนเล่นเฉยๆ นั้นทำให้เรารู้สึกผิด เพราะเรารู้สึกว่าต้อง “ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์” ผ่านการทำอะไรให้เกิด self-improvement

เราจึงใช้เวลาว่างไปกับการเข้าฟิตเนส เรียนออนไลน์ นั่งสมาธิ สร้างรายได้เสริม ทั้งหมดทั้งมวลก็เพื่อที่เราจะได้มีอนาคตที่ดี – ซึ่งมันก็คือการผัดผ่อนการใช้ชีวิตไปสู่วันข้างหน้าในอีกรูปแบบหนึ่ง

หากรู้ตัวว่าที่ผ่านมาเราใช้ชีวิตให้มีประโยชน์มากเกินไป (an overly instrumentalised life) วิธีหนึ่งที่จะช่วยได้คือเพิ่มสิ่งที่เราอยากทำลงไปในแต่ละวันให้มากขึ้น ทำเพื่อที่จะทำ ไม่ใช่ทำเพราะมุ่งหวังจะได้ผลตอบแทนอะไรจากมันในอนาคต

เมื่อมองในมุมนี้ การใช้เวลาว่างให้มีความหมายอย่างแท้จริง คือการใช้มันไปกับเรื่องที่ “เปล่าประโยชน์” ต่างหาก

จะนอนอ่านการ์ตูน ฟังเพลง เล่นเกม จะทำงานอดิเรกที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรืออะไรก็ตามแต่ที่เราทำเพราะว่าเรามีความสุขที่ได้ทำโดยไม่ได้หวังผล สิ่งเดียวที่เราต้องการคือการได้ทำมันเท่านั้นเอง

“The truth then, is that spending some of your leisure time ‘wastefully’, focused solely on the pleasure of the experience, is the only way not to waste it – to be truly at leisure, rather than covertly engaged in future-based self-improvement.”

Burkeman ชอบไปเดินเล่นตามทางธรรมชาติ (country walk) มันเป็นกิจกรรมยามว่างที่ดูจืดชืด แต่มีสองสิ่งที่น่าสนใจในกิจกรรมนี้

หนึ่ง เขาไม่เคยต้องสนใจว่าเขาเดินได้ดีรึเปล่า สิ่งเดียวที่ต้องเขาทำก็คือแค่เดินไปเรื่อยๆ

สอง การเดินนี้ไม่ได้มีเป้าหมายใดๆ ไม่ได้มี “จุดหมายที่ต้องไปให้ถึง” และไม่ได้ต้องการเดินสะสมระยะทางเพื่อทำสถิติอะไรทั้งนั้น

เขาเดินก็เพราะว่ามีความสุขจากการได้เดิน แค่นั้นก็เพียงพอแล้ว

9. รู้จักพัก-รู้จักรอ

Robert Boice ได้ศึกษาวิธีการทำงานของนักเขียนมากมายและได้พบว่า นักเขียนที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดมักจะเป็นคนที่ทำให้งานเขียนเป็นเพียงส่วนเล็กๆ ของชีวิต

พวกเขายอมรับข้อจำกัดของตัวเองได้ว่า แต่ละวันคงสร้างงานดีๆ ได้ไม่เยอะนัก ดังนั้นจึงเขียนเพียงวันละไม่กี่ชั่วโมง แต่นั่นแหละที่ทำให้พวกเขามีแรงจูงใจที่จะกลับมาเขียนในวันต่อๆ ไป ซึ่งสุดท้ายแล้วพวกเขากลับสร้างสรรค์ผลงานได้ดีกว่าคนที่ทุ่มเทกับงานเขียนมากจนเกินไป

สิ่งหนึ่งที่เราควรทำแม้ว่ามันอาจจะขัดกับสามัญสำนึกของเราก็คือ เมื่อหมดเวลาทำงาน ให้หยุดทำ หยุดแม้ว่าเรากำลังท็อปฟอร์ม หยุดแม้ว่าเราจะมีแรงเหลืออีกเยอะก็ตาม

เหตุผลก็เพราะว่าการทำงานเกินเวลาที่ตั้งใจไว้นั้นเป็นอาการหนึ่งของคนที่ขาดความอดทน – อดทนต่อสภาวะที่ยังทำงานไม่เสร็จ อดทนต่อความรู้สึกว่าเรายัง productive ไม่พอ อดทนที่จะรอให้ถึงวันพรุ่งนี้

การหยุดทำงานจึงเป็นการเสริมกล้ามเนื้อความอดทน มันจะช่วยให้เรารู้สึกอยากกลับมาทำงานนี้อีกในวันถัดไป และช่วยให้เราทำสิ่งที่เรารักได้อย่างยั่งยืน

10. จะเตรียมตัวกันไปถึงไหน?

พ่อแม่แต่ละคนมีวิธีการเลี้ยงลูกที่แตกต่างกัน บางคนเลี้ยงแนววิชาการ จะได้โตไปแข่งขันกับคนอื่นได้ บางคนเลี้ยงแนวมอนเตสซอรี่เพื่อจะได้โตไปเป็นคนที่มีความคิดสร้างสรรค์และเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ได้อย่างรวดเร็ว

แต่ทำไมเราถึงตัดสินว่าการเลี้ยงลูกแบบไหนดีที่สุดบนบรรทัดฐานที่ว่ามันจะสร้างผู้ใหญ่แบบไหน?

Alexander Herzen นักปรัชญาชาวรัสเซียกล่าวไว้ว่า

“เพราะเด็กๆ นั้นเติบโต เราจึงเผลอคิดว่าจุดประสงค์ของเด็กคือการเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ดี แต่จริงๆ แล้วจุดประสงค์ของเด็กคือการได้เป็นเด็กต่างหาก”

Alan Watts นักปรัชญาชาวอังกฤษก็เคยกล่าวว่า

“ดูอย่างระบบการศึกษาสิ นี่มันเรื่องลวงโลกชัดๆ ตอนเรายังเด็กเราถูกส่งไปเนอสเซอรี่เพื่อจะเตรียมพร้อมสำหรับการเป็นนักเรียนอนุบาล จากนั้นก็เรียนป.1 ป.2 ป.3…แล้วพอเราขึ้นชั้นมัธยม เขาก็บอกว่านี่คือการเตรียมพร้อมสำหรับเข้ามหาวิทยาลัย แล้วพอเราอยู่มหาวิทยาลัยเขาก็บอกให้เราเตรียมพร้อมสำหรับโลกการทำงาน มนุษย์จึงเหมือนกับลาที่มีไม้ยื่นออกมาจากปลอกคอ ปลายไม้มีแครอทผูกไว้ให้มันวิ่งไล่งับอยู่ร่ำไป มันไม่เคยอยู่ที่นี่ มันไม่เคยไปถึงที่นั่น มันช่างไร้ซึ่งชีวิตชีวา (They are never here. They never get there. They are never alive.)

11. วิกฤติวัยกลางคนเกิดขึ้นเพราะเราไม่อาจทนหลอกตัวเองได้อีกต่อไป

เมื่อเราใช้ชีวิตแบบ project-driven life ที่เต็มไปด้วยกิจกรรมและงานที่ทำเพื่อหวังผลในวันข้างหน้า ปัจจุบันจึงสูญเสียคุณค่าและความหมาย และความรู้สึกนี้อาจก่อตัวขึ้นเป็นวิกฤติวัยกลางคน

เพราะเราจะเริ่มรู้ตัวแล้วว่าความตายมัน “จริง” ขึ้นเรื่อยๆ และกำลังคืบคลานเข้ามาใกล้ขึ้นทุกที เราจึงไม่อาจเพิกเฉยต่อความไร้สาระของการใช้ชีวิตเพียงเพื่อวันข้างหน้าอีกต่อไป มันเมคเซนส์ตรงไหนที่จะเอาแต่ผัดวันที่จะใช้ชีวิตอย่างที่เราอยากมีไปสู่วันข้างหน้าอยู่เรื่อยไป ในเมื่อไม่ช้าก็เร็วเราจะไม่เหลือ “วันข้างหน้า” อีกแล้ว

“Mortality makes it impossible to ignore the absurdity of living solely for the future. Where’s the logic in constantly postponing fulfillment until some later point in time when soon enough you won’t have any ‘later’ left?”

การที่เรามีวิกฤติวัยกลางคนไม่ใช่เรื่องแย่ แท้จริงมันคือสัญญาณว่าเราเริ่มรู้ตัวแล้วว่าเราจะใช้ชีวิตแบบนี้ต่อไปอีกไม่ได้

12. ผู้ชายที่มีความสุขที่สุดในโลก(?)

ก่อนหน้านี้ซัก 5 ปี digital nomad เป็นคำยอดฮิตที่เอาไว้เรียกคนที่ทำธุรกิจด้วยแล็ปท็อปเพียงเครื่องเดียวจากที่ไหนก็ได้ในโลก คนกลุ่มนี้มักจะโพสต์โชว์ภาพถ่ายจากเก้าอี้ริมชายหาดซักแห่งในเอเชียพร้อมด้วยแล็ปท็อปและเครื่องดื่มค็อกเทลซักแก้ว

แต่คนที่เดินทางไปทั่วโลกเช่นนี้มีความสุขจริงหรือ?

นาย Mario Salcedo เป็นชาวคิวบัน-อเมริกันวัยเกษียณที่ใช้ชีวิตอยู่บนเรือสำราญมากว่า 20 ปี พนักงานบนเรือเรียกเขาว่า Super Mario

แน่นอนว่าเขามีอิสระทางเวลามาก “ผมไม่เคยต้องขนขยะไปทิ้ง ไม่เคยต้องทำความสะอาดห้อง ไม่เคยต้องซักผ้า ผมขจัดงานที่ไม่มีคุณค่าออกไปหมด ผมจึงมีเวลาเหลือเฟือที่จะทำอะไรก็ได้ที่ผมอยากทำ” มาริโอผู้ไม่ได้แต่งงานและไม่มีบุตรกล่าว

ถ้าเข้ายูทูบแล้วค้นหาหนังสั้นชื่อ The Happiest Guy in the World คุณจะเห็น Super Mario ถือแก้วค็อกเทล เหม่อมองทะเล เขาจะเดินทักทายคนนั้นคนนี้ที่เขาเรียกว่า “เพื่อน” (ซึ่งก็คือพนักงานบนเรือ) และพร่ำบอกกับผู้โดยสารที่เขาได้คุยด้วยว่า “ผมเป็นผู้ชายที่มีความสุขที่สุดในโลกเลยนะ!” แล้วผู้โดยสารก็มักจะยิ้มแห้งๆ พร้อมชนแก้วแสดงความยินดีให้กับ “ชีวิตที่น่าอิจฉา” ของเขา

13. จะมีเวลามากมายไปทำไม ถ้าไม่ได้ใช้ร่วมกับคนที่เราแคร์

ก็เหมือนกับการมีเงิน การมีเวลาเยอะๆ ย่อมเป็นเรื่องที่ดี แต่การมีเวลาถมเถอาจจะไม่ค่อยมีความหมาย หากเราต้องใช้เวลานั้นด้วยตัวคนเดียว

สิ่งสำคัญและสิ่งที่เป็นสีสันของชีวิต ไม่ว่าจะนัดเจอเพื่อน ออกเดต เลี้ยงลูก สร้างธุรกิจ เตะบอล เคลื่อนไหวทางการเมือง ล้วนจำเป็นต้องทำร่วมกับผู้อื่น

ในสมัยก่อน หนึ่งในโทษที่สาหัสสากรรจ์ที่สุดคือการถูก ‘ostracise’ หรือการถูกเนรเทศออกจากสังคมไปใช้ชีวิตตัวคนเดียวและไม่สามารถร่วมกิจกรรมกับใครได้

เหมือนเป็นตลกร้ายของ Super Mario ที่แม้จะเป็นนายของเวลา แต่ก็เหมือนเขากำลังเนรเทศตัวเองอยู่เช่นกัน

เราจึงไม่ควรมองว่าการจัดการเวลาที่ดีคือการได้ใช้เวลาตามใจเราโดยไม่มีใครมาขวางทาง เพราะหลายครั้งเราจำเป็นต้อง “สละเอกสิทธิ์ทางเวลา” เพื่อที่จะใช้มันร่วมกับคนอื่นและทำกิจกรรมที่มีความหมายกับเราอย่างแท้จริง

14. ครั้งสุดท้ายที่เราจะได้ทำอะไรบางอย่าง

นักเขียนและนักจัดพอดแคสต์อย่าง Sam Harris เคยกล่าวไว้ว่า ชีวิตคนเรานั้นเต็มไปด้วย “กิจกรรมที่เราทำเป็นครั้งสุดท้าย”

ครั้งสุดท้ายที่เราไปรับลูกที่โรงเรียน ครั้งสุดท้ายที่เราได้เล่นน้ำทะเล ครั้งสุดท้ายที่เราจะนั่งคุยอะไรอย่างลึกซึ้งกับเพื่อนสนิทคนหนึ่ง

ที่น่าเศร้าก็คือหลายครั้งเราไม่รู้ตัวด้วยซ้ำว่ามันเป็นครั้งสุดท้าย

และหากเราเอาแต่ใช้ชีวิตแบบมองไปข้างหน้า เราก็จะยิ่งพลาดโมเมนต์เหล่านี้ไปอย่างน่าเสียดาย

15. ยี่สิบกว่าคนนั่งอยู่ในห้อง หนึ่งในนั้นเคยพบพระพุทธองค์

ด้วยโลกที่หมุนเร็วขึ้นทุกที เราอาจจะรู้สึกว่า “โลกสมัยเก่า” นั้นอยู่ห่างไกลออกไปในอดีตเหลือเกิน ไม่ว่าจะเป็นยุคกลาง สมัยพุทธกาล หรือการก่อสร้างพีระมิด

ลองมาทำการทดลองทางความคิดกันเล่นๆ:

ในสมัยก่อน แม้คนเราจะอายุคาดเฉลี่ยต่ำกว่านี้ แต่ในทุกยุคทุกสมัยก็น่าจะมีคนที่มีอายุถึง 100 ปีอาศัยอยู่ที่ใดที่หนึ่งบนโลกใบนี้

และหากย้อนกลับไปตอนที่คนคนนั้นเกิด ก็ย่อมจะมีคนที่มีอายุ 100 ปี อยู่แล้วด้วยเช่นกัน

เราจึงสามารถจินตนาการถึงคนที่อายุครบ 100 ปีเหล่านี้อยู่ต่อกันเป็นทอดๆ ถอยกลับไปในประวัติศาสตร์

สมัยฟาโรห์จึงห่างออกไปแค่เพียง 35 ชีวิตที่แล้ว พระพุทธเจ้าก็ห่างออกไปเพียง 26 ชีวิตที่แล้ว และยุคกลางก็ห่างออกไปเพียง 10 ชีวิตเท่านั้น

จำนวนชีวิตที่ต้องใช้สำหรับการนับย้อนหลังไปถึงจุดตั้งต้นของอารยธรรมมนุษย์นั้นก็ใช้แค่เพียง 60 ชีวิต ซึ่งพอๆ กับจำนวนคนในงานปาร์ตี้ขนาดย่อมเท่านั้นเอง เราสามารถเอาคนเหล่านั้นมานั่งอยู่ในห้องรับแขกได้สบายๆ

ประวัติศาสตร์ของมนุษย์ที่ดูเหมือนจะยาวนาน แท้จริงแล้วมันสั้นนิดเดียว

ส่วนชีวิตของเราแต่ละคนนั้นสั้นยิ่งกว่า เราเป็นเพียงแสงสว่างที่วูบไหวขึ้นเพียงชั่วพริบตา และถูกปิดหัวปิดท้ายด้วยความความมืดมิดแห่งอนันตกาล

16. จักรวาลไม่แคร์เราแม้สักนิด

เป็นเรื่องปกติที่คนเราจะมองอะไรโดยเอาตัวเองเป็นที่ตั้ง เรามักจะมองว่า 4,000 สัปดาห์ของชีวิตเรานี้ว่ามันสำคัญมาก และหากเราอยากจะ “ใช้ชีวิตให้สมกับที่เกิดมาทั้งที” เราก็ควรทำอะไรที่มันเจ๋งๆ ให้เป็นตำนาน

เหล่าผู้ประกอบการสตาร์ตอัพจึงอยาก “สร้างรอยบุ๋มให้จักรวาล” (make a dent in the universe) นักการเมืองอยากสร้างมรดกทิ้งไว้ให้ประเทศชาติ และนักเขียนมือใหม่ก็อยากรจนาวรรณกรรมคลาสสิคระดับเดียวกับตอลสตอย

แต่ถ้าเราถอยห่างออกมาเพียงสักหน่อย เราจะมองเห็นว่าสิ่งต่างๆ ที่เรากำลังสาละวนอยู่นั้น ไม่ว่าจะเป็นปัญหาความสัมพันธ์ การชิงดีชิงเด่น ปัญหาเรื่องเงินๆ ทองๆ หรือแม้กระทั่งโรคระบาดก็ล้วนแต่ไร้ความหมายทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเกิดอะไรกับมนุษยชาติ จักรวาลก็จะยังคงดำเนินต่อไปโดยไม่สนใจเราแม้แต่น้อย

เมื่อตระหนักได้ว่าเรานั้นไร้ความหมายเพียงใด เราก็อาจมอง “การใช้ชีวิตให้คุ้มค่า” ต่างไปจากเดิม และหลายสิ่งหลายอย่างที่เราเคยคิดว่ามันเจ๋งไม่พอก็อาจจะเริ่มมีความหมายสำหรับเรามากขึ้น

บางทีการเตรียมอาหารเช้าให้ลูกก็อาจสำคัญไม่น้อยกว่าการสร้างอาณาจักรทางธุรกิจ และการได้เขียนนิยายที่มีคนอ่านแล้วชอบเพียงไม่กี่คนก็เป็นเรื่องควรค่าแก่การลงมือทำ

ไม่จำเป็นต้องทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่ ไม่ต้องตั้งเป้าหมายเลิศเลอ เพราะทั้งหมดล้วน “เท่ากัน” ในสายตาของจักรวาล

17. เลิกหวังสิ่งในที่เป็นไปไม่ได้

เมื่อเรายอมรับข้อจำกัดของการเป็นมนุษย์ปุถุชน เราจะเลิกหวัง ว่าถ้าเราเจอเทคนิคที่ดีกว่านี้และถ้าเราขยันขันแข็งกว่านี้ เราจะสามารถตอบสนองความต้องการอันไม่สิ้นสุดของคนอื่น เราจะทำทุกความฝันของเราให้เป็นจริง และเราจะทำทุกหน้าที่ได้อย่างไร้ที่ติ

และเมื่อเราอยู่กับปัจจุบันในความหมายที่แท้จริง เราจะล้มเลิก “ความหวังตัวแม่” ที่ซ่อนอยู่ในส่วนลึกที่สุดของเรา

นั่นก็คือความหวังที่ว่าทั้งหมดของชีวิตไม่ได้มีอยู่แค่นี้ ความหวังที่ว่าตอนนี้เป็นแค่การซ้อมใหญ่และเป็นแค่การเตรียมตัวสำหรับวันที่เราจะเพียบพร้อมไปทุกอย่าง

ชีวิตไม่ได้รออยู่ข้างหน้า ชีวิตรออยู่ตรงหน้านี้แล้ว – This is it.

เมื่อเลิกหวังในสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เราจะได้เริ่มลงมือทำในสิ่งที่เป็นไปได้เสียที

“It’s a cause of relief. You get to give up on something that was always impossible – the quest to become the optimised, infinitely capable, emotionally invincible, fully independent person you’re officially supposed to be. Then you get to roll up your sleeves and start work on what’s gloriously possible instead.”


ขอบคุณเนื้อหาจากหนังสือ Four Thousand Weeks: Time Management for Mortals by Oliver Burkeman

[UPDATE April 2023]: เมื่อปลาย 2022 หนังสือเล่มนี้ได้รับการแปลเป็นไทยโดยสำนักพิมพ์ อมรินทร์ How to ภายใต้ชื่อ “ชีวิตเรามีแค่สี่พันสัปดาห์” แต่ผมคิดว่าสำนวนการแปลยังไม่ค่อยลื่นไหล ใครที่พออ่านภาษาอังกฤษได้ ผมแนะนำว่าให้อ่านฉบับภาษาอังกฤษจะได้อรรถรสมากกว่า หาซื้อได้ที่ Asia Books และ Kinokuniya เลย

อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง – สิ่งที่เกิดขึ้นหลังอ่าน Four Thousand Weeks ครบ 1 ปี