3 วันแรกกับ IMET MAX รุ่นที่ 5

Who are you?

นี่คือหนึ่งคำถามบนสไลด์ที่ทำให้ผมครุ่นคิดตลอด 2 วันที่ผ่านมา

มันไม่ใช่คำถามสัมภาษณ์งาน แต่เป็นคำถามเพื่อให้เราทบทวน ว่าหากเราต้องแนะนำตัวให้ใครฟังโดยมีเวลาไม่เกิน 1 นาที เราจะพูดอะไร

อะไรที่บอกถึงความเป็นเราได้ดีที่สุด อะไรคือ passion ของเรา คนแบบไหนที่จะไปกับเราได้ คนแบบไหนถึงจะเป็นครูของเราได้

มันคือการคิด elevator pitch และมันคือการบ้านที่ผมต้องส่งสิ้นเดือนนี้

ผมเพิ่งกลับมาจาก Mentee Get Together Trip เป็น 2 วัน 1 คืนที่เข้มข้นและคุ้มค่าที่สุดครั้งหนึ่งในชีวิต

ผมเป็นหนึ่งใน 36 mentee(s) ที่ได้รับโอกาสเข้าร่วมโครงการ IMET MAX รุ่นที่ 5

IMET = Institute for Management Education for Thailand

MAX = Mentorship Academy for Excellent Leaders

IMET หรือมูลนิธิสถาบันการศึกษาวิชาจัดการแห่งประเทศไทย เป็นองค์กรไม่แสวงกำไรที่ก่อตั้งเมื่อปี 2525

IMET MAX คือโครงการ “อุทยานผู้นำ” ซึ่งเริ่มต้นเมื่อปี 2561 โดยมีความมุ่งหวังจะสร้างผู้นำรุ่นใหม่ที่มีคุณธรรมเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้ประเทศไทย

ผมไม่เคยได้ยินชื่อ IMET MAX มาก่อนจนกระทั่ง “แม็กซ์” น้องที่บริษัทและศิษย์เก่า IMET MAX รุ่นที่ 1 มาเล่าให้ผมฟัง

แม็กซ์บอกว่าโครงการนี้ดีตรงที่ไม่มีปาร์ตี้ ไม่มีหลักสูตร และไม่มีค่าหลักสูตร โดย mentee 36 คนจะถูกแบ่งเป็นกลุ่มละ 3 คนเพื่อจับคู่กับ Mentor 12 ท่านเป็นเวลา 8 เดือน แต่ละกลุ่มจะได้เจอกันประมาณเดือนละครั้งเพื่อพูดคุยและเรียนรู้จากประสบการณ์ของกันและกัน

Mentor ล้วนเป็นผู้บริหารระดับสูงที่แทบไม่มีเวลาว่าง แต่ก็ยังยินดีมาร่วมโครงการนี้โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายใดๆ แถมบางครั้งยังต้องเลี้ยงข้าว mentee ด้วย เป็นการ “ทำให้” ไม่ใช่ “ทำเอา” อย่างแท้จริง

ส่วน Mentee คือผู้นำอายุ 35-45 ปีที่มาจากหลายภาคส่วน – เอกชนไทยและเทศ ธุรกิจครอบครัว สื่อมวลชน สตาร์ตอัพ SME สถาบันการศึกษา หน่วยงานราชการ และมูลนิธิ โดยผู้สมัครต้องเขียน essay อธิบายว่าทำไมจึงอยากเข้าร่วมโครงการนี้ และต้องมี mentee รุ่นพี่เขียนจดหมายแนะนำให้ด้วย

โดยโครงการนี้ถูกขับเคลื่อนโดย Organising Committee ที่มาจากคณะกรรมการ IMET MAX และศิษย์เก่า ทุกคนอาสาเข้ามาทำโดยไม่รับค่าตอบแทนใดๆ

IMET MAX รุ่นที่ 5 ปิดรับสมัครสิ้นเดือนมกราคม ประกาศผลช่วงวันวาเลนไทน์ มี Mentee Orientation วันอาทิตย์ถัดมา ตามด้วย Mentee Get Together Trip ที่เพิ่งผ่านไปเมื่อวานนี้

และสิ้นเดือนมีนาคม mentee กลุ่มละ 3 คนจะต้องทำ elevator pitch ต่อหน้า mentor ทั้ง 12 ท่านเพื่อให้ mentor เลือกว่าจะดูแล mentee กลุ่มไหน

Orientation + Get Together Trip รวมแล้ว 3 วัน เป็นเวลาที่สั้นมาก แต่ก็ยาวนานพอให้ผมรู้ตัวว่ากำลังเป็นสักขีพยานของอะไรที่มันเจ๋งสุดๆ อยู่

เลยอยากนำความประทับใจบางส่วนมาเล่าให้ฟัง โดยจะพยายามสปอยให้น้อยที่สุดครับ

[บทความนี้ตั้งใจหลีกเลี่ยงการใช้ชื่อจริงและตำแหน่ง เพราะทุกคนต่างจำเป็นต้อง “ถอดหมวก” เพื่อให้โครงการนี้เกิดประโยชน์สูงสุด]

1.ไอเดียหลักของ IMET MAX

พี่วู้ดดี้ หัวเรี่ยวหัวแรงของโครงการ พูดถึงสุภาษิตจากคัมภีร์ไบเบิลในวันที่ 1:

“Iron sharpens iron, so one person sharpens another.”

เหล็กลับคมด้วยเหล็ก คนลับคมด้วยคน

และพี่วู้ดดี้ก็พูดถึงพุทธสุภาษิตนี้ในวันที่ 3:

“ปัณฑิตานัญจะ เสวะนา”

คบบัณฑิต บัณฑิตพาไปหาผล

โครงการนี้คือการนำพาคนที่มีศักยภาพมาลับคมให้กันและกันเพื่อสร้างคุณค่าให้กับชีวิตและสังคม – Wisdom for Life and Social Values

2.วันนี้ดีกว่าวันพรุ่งนี้ แต่วันพรุ่งนี้ต้องดีกว่าวันนี้

ไม่ได้พิมพ์ผิดครับ มันเป็นคำสอนของพี่ใหญ่ ซึ่งเป็น mentor ของรุ่นที่แล้ว และมาแชร์ประสบการณ์ให้เราฟังในวัน Orientation

พี่ใหญ่บอกว่าวันนี้ดีกว่าวันพรุ่งนี้ เพราะอนาคตเป็นสิ่งไม่แน่นอน เรามีแค่วันนี้เท่านั้น เราจึงต้องทำมันให้ดีที่สุด

แต่วันพรุ่งนี้ต้องดีกว่าวันนี้ เพราะเราไม่หยุดที่จะพัฒนาตัวเอง

3.อย่าบ่นว่าเหนื่อย เพราะต่อไปจะไม่มีโอกาสเหนื่อย

สมัยหนุ่มๆ พี่ใหญ่ต้องทำงานเยอะมาก ทั้งประชุมพรรค ประชุมสภา ลงพื้นที่ ทำงานเหนื่อยสายตัวแทบขาด แต่เมื่อมองย้อนกลับไปก็ไม่เสียดาย เพราะถ้าให้กลับไปทำแบบนั้นในตอนนี้ก็คงทำไม่ไหวแล้ว

ดังนั้น หากเรายังมีเรี่ยวแรงและกำลังวังชาอยู่ ก็จงทำหน้าที่ต่อไปโดยไม่ปริปากบ่น เพราะประตูแห่งโอกาสที่จะได้เหนื่อยนั้นมันเปิดให้เราแค่ชั่วคราวเท่านั้น

4.ความน่ารักของ Mentor

กว่าจะได้ mentor แต่ละท่านมาร่วมโครงการ IMET MAX ทั้งพี่วู้ดดี้และพี่หมี (ผู้ออกแบบโครงการ) ต้องไปขอเข้าพบกับ mentor แต่ละท่านเพื่ออธิบายว่าโครงการนี้มันสำคัญอย่างไร

พี่หมีบอกว่า การหา mentor นั้นยากเย็นแสนเข็ญ เพราะคนเหล่านี้ล้วนเป็นผู้ที่มีผลงานระดับประเทศมาแล้ว แถมยังต้องมาดูแล mentee ที่เป็นคนรุ่นใหม่ที่มีความมั่นใจและมี “ความดื้อ” พอตัว จะหา mentor ที่ไหนที่ “Been there, done that” แต่ยังพร้อมนั่งฟังพวกเราอยู่อีก

แต่ก็มีพี่ๆ ที่ยินดีสละเวลามาเป็น mentor แถมยังต้องเตรียมตัวด้วยการเข้า Mentor Orientation เพื่อการเป็น mentor ที่ดีอีกด้วย

พวกเราเห็นรายชื่อ mentor แล้วมีแต่เทพๆ ทั้งนั้น อดตัวเกร็งไม่ได้ แต่พี่ใหญ่และพี่วู้ดดี้ก็บอกว่าอย่าไปคิดมาก เพราะ mentor เองก็เกร็งเหมือนกัน mentor หลายคนไม่มั่นใจว่าตัวเองจะเอาอะไรมาสอน mentee เพราะยุคของเขากับยุคนี้ก็ต่างกันไม่น้อย

แต่สุดท้ายแล้วมันจะเกิดสิ่งที่เรียกว่า reverse mentoring ที่ mentor ก็ได้เรียนรู้อะไรบางอย่างจาก mentee เช่นกัน เหมือนดาบสองเล่มที่ลับคมให้กันและกันนั่นเอง

5.ค่าความเข้มข้นของคนมีฝีมือ

วันแรกของทริปนั้นมีกิจกรรม ice breaking ที่ทำให้ผมได้เรียนรู้เรื่องราวของเพื่อนร่วมรุ่นหลายคน

บางคนบริจาคเลือดมาแล้ว 96 ครั้ง

บางคนลดเงินเดือนตัวเอง 80% เพื่อจะได้ทำงานที่ตัวเองเชื่อ

บางคนกำลังหาที่ทางของตัวเองหลังจากต้องอยู่ในร่มเงาอันยิ่งใหญ่ของคนในครอบครัวมาเนิ่นนาน

บางคนกำลังแก้ปัญหาเรื่องยาเสพติดอย่างยั่งยืน

บางคนกำลังแก้ปัญหาราคาข้าวให้ชาวนา

บางคนกำลังช่วยร่างกฎหมาย

บางคนเคยพบประสบการณ์เฉียดตายและตระหนักว่าเราไม่สามารถเอาอะไรติดตัวไปได้ สิ่งสำคัญคือเราจะทิ้งอะไรไว้ต่างหาก

ในวันสุดท้ายที่ได้ฟังแต่ละคนขึ้นมาซ้อม elevator pitch ผมก็ระลึกได้ว่าโลกนี้ไม่มีเรื่องบังเอิญ และผมโชคดีแค่ไหนที่ได้มาอยู่ในกลุ่มคนที่มี talent density ระดับนี้

Talent density เป็นคำที่ Reed Hastings ใช้ในหนังสือ No Rules Rules ที่บอกว่าหากองค์กรให้ความสำคัญกับการรวมคนเก่งและนิสัยดีเอาไว้ด้วยกันอย่างแน่นหนา สิ่งดีๆ จะเกิดขึ้นโดยไม่ต้องไปกะเกณฑ์อะไรนัก

6.เลขมงคล

ในวันที่ 3 พี่เพ็ชร เจ้าของคำถาม Who are you? ทักขึ้นมาว่า เมื่อรวมรุ่นที่ 5 แล้ว เราจะมี mentee ทั้งสิ้น 168 คน (รุ่นแรก 24 คน รุ่นที่เหลือรุ่นละ 36 คน)

ซึ่ง 168 หรือ “ฮก ลก ซิ่ว” เป็นเลขมงคลตามตำราจีน

มันทำให้ผมนึกถึงเลขอีกตัวหนึ่งที่พี่ภิญโญ ไตรสุริยธรรมาเคยมาพูดไว้ที่ WeShare

“ผมจึงพยายามกำลังสื่อสารกับคนรุ่นใหม่ว่า ช่วยมีความมั่นใจและสร้างอนาคต เดินทางต่อไปเถอะ แม้ว่าจะเป็นเรื่องยาก คนรุ่นผมฝ่าฟันกันมาเยอะ ล้มเหลวเป็นส่วนใหญ่ สำเร็จบ้างก็มี ผลงานไม่ได้มากมายนัก แต่ประเทศนี้จะเดินทางต่อไปสู่อนาคตท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมือง ความยากลำบากขนาดนี้ได้ ไม่มีใครที่จะฟันฝ่าไปได้นอกจากคนรุ่นใหม่ที่จะร่วมมือร่วมใจกันเพื่อที่จะฟันฝ่าไปให้ได้

คนรุ่นใหม่คือบริษัทเหล่านี้ที่เกิดขึ้นมา คือ Wongnai และอื่นๆ อีก 500 บริษัท นี่ผมใช้คำเปรียบเปรย ห้าร้อยไม่ได้หมายถึงตัวเลข 500 นะ ห้าร้อยมาจากทหารพระเจ้าตาก ทหารเสือที่ฟันฝ่าและสร้างธนบุรีให้ประเทศไทยเดินต่อไปได้

วันนี้เราต้องการ 500 ธุรกิจต้องการ 500 ชีวิต ต้องการ 500 ผู้มีวิสัยทัศน์เพื่อที่จะสร้างอนาคตให้มันเดินต่อไปได้ ไม่งั้นเราจะอยู่อย่างไร เราจะส่งมอบอนาคตแบบไหนให้กับสังคมไทย คนรุ่นเก่าต้องเข้าใจว่าประเทศมันต้องสร้างด้วยคนรุ่นใหม่ หน้าที่ของคนรุ่นเก่าคือให้ทรัพยากร ให้เวลา ให้ปัญญา ให้โอกาสกับคนรุ่นใหม่ที่จะสร้างอนาคตให้กับประเทศนี้ในทุกๆ ภาคส่วน เศรษฐกิจ สังคม การเงิน วัฒนธรรม ศิลปะ ต้องให้เขาสร้าง ต้องเปิดโอกาส อย่ากดสังคมนี้ไว้อีกต่อไป มันเดินต่อไปไม่ไหวแล้ว

[ถาม]: คราวนี้จะทำยังไงดี ในเมื่อคนรุ่นเก่าเขาไม่เห็นความจำเป็นต้องหลีกทาง ต้องเปิดพื้นที่ให้กับคนตัวเล็กๆ 500 คน

เรื่องแบบนี้ตอบง่ายที่สุดและสั้นที่สุด ท่านท่องไว้หนึ่งคำ 3 ครั้ง disruption, disruption, disruption

สวดมนต์ไว้ disruption, disruption, disruption

คุณไม่มีทางไปร้องขออำนาจหรือความเปลี่ยนแปลงจากคนที่หวงอำนาจและไม่อยากเปลี่ยนแปลง คุณขอสิ่งที่เขาไม่อยากให้มากที่สุดได้อย่างไร สิ่งที่คนรุ่นเก่าหวงมากที่สุดก็คืออำนาจ สิ่งที่คนรุ่นเก่ากลัวมากที่สุดคือความเปลี่ยนแปลง คืออยากจะรักษาอำนาจและไม่อยากเปลี่ยนแปลงอะไรเลย เพราะการเปลี่ยนแปลงคือการสูญเสียอำนาจในทุกๆ มิติ

ฉะนั้นสิ่งเดียวที่คุณจะทำได้คือการ disruption สร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นจากจุดเล็กๆ โดยไม่ต้องร้องขออำนาจ เมื่อคุณ disruption ไปทีละจุด ทีละจุด ทีละจุด 500 จุดหรือมากกว่าไปเรื่อยๆ สังคมจะเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นเอง

อย่าร้องขอ อย่ากลัวที่จะเปลี่ยนแปลง แต่จงเป็นความเปลี่ยนแปลงที่ตัวเองอยากเป็นด้วยตัวของคุณเอง แล้วใช้พลังของการ disruption สร้างมันขึ้นมาทุกจุดในสังคม แล้วสังคมจะเปลี่ยน อยากทำงานธุรกิจสร้างธุรกิจ อยากทำงานวัฒนธรรมสร้างวัฒนธรรมใหม่ อยากทำงานสังคมสร้างสังคม อยากทำงานการเมืองสร้างการเมือง อยากเขียนหนังสือเขียนหนังสือ อยากทำอะไรทำ ใช้พลังแห่งความเชื่อมั่น disrupt มันไปทีละส่วน แล้วสังคมจะเปลี่ยนแปลงจากความเปลี่ยนแปลงมวลรวมของปัจเจกชนขึ้นมาได้”

7.ปัญญาที่หายไป

พี่หมี ผู้ออกแบบหลักสูตรถามพวกเราว่า ปัญญามาจากไหน?

หนึ่ง Study & Learn นั่นคือการเรียนกับครูและอ่านจากหนังสือ

สอง Development & Practice ก็คือการเรียนรู้ด้วยการลงมือทำ

แต่ยังมีขุมทรัพย์ปัญญาอีกหนึ่งแห่งที่เรามักละเลย นั่นก็คือ

สาม Reflection & Thought Out มันคือการคิดทบทวนตัวเองอย่างละเอียดและใคร่ครวญ

พี่หมีบอกว่า ในทางพุทธ ข้อแรกคือสุตมยปัญญา ข้อที่สองคือภาวนามยปัญญา ส่วนข้อสุดท้ายคือจินตามยปัญญา

จินตามยปัญญานี่เองที่เราไม่ค่อยได้ใช้ประโยชน์เท่าไหร่ เพราะเราไม่เคยนั่งลงและคุยกับตัวเองอย่างจริงจัง

มันทำให้นึกถึงอีกคำพูดหนึ่งของพี่ภิญโญที่เคยให้สัมภาษณ์ไว้ในหนังสือ “ครู่สนทนา” และเว็บ The Cloud:

“ความกล้าหาญสูงสุดของมนุษยชาติคือคุณต้องกล้าตั้งคำถามที่ยากที่สุดกับตัวเอง แล้วก็ต้องกล้าตั้งคำถามที่ยากที่สุดกับสังคม เพราะว่าถ้าคุณไม่ตั้งคำถามที่ยากที่สุดกับตัวเอง คุณจะไปไม่ถึงแก่นของตัวเองว่าความกลัวของคุณคืออะไร ความต้องการสูงสุดของคุณคืออะไร ความมุ่งมาดปรารถนาสูงสุดของคุณคืออะไร

ถ้าคุณไม่กล้าตั้งคำถามที่ลึกที่สุดไปที่ตัวเอง คุณจะไปต่อไม่ได้ เพราะคุณยังไม่รู้จักตัวเอง คุณไม่กล้าเผชิญหน้ากับตัวเอง แล้วคุณก็จะอยู่ในคำถามกลางๆ เช่น กูจะย้ายงานดีมั้ย กูจะอยู่บริษัทนี้หรือบริษัทนั้น คำถามมันกลางมาก มันไม่ได้ไปถึงแก่นที่ลึกที่สุดว่าตกลงกูเกิดมาเพื่ออะไร อะไรคือสิ่งสำคัญสูงสุดของชีวิตกู กูทำอะไรได้ดีที่สุดในชีวิต ถ้ากูจะตายในวันรุ่งขึ้นกูจะทำอะไรฝากไว้ในโลกนี้ ซึ่งคุณภาพของคำถามต่างกัน คุณภาพของคำตอบก็ต่างกัน”

ความท้าทายของผมในปีนี้ ก็คือการตั้งคำถามที่ยากที่สุดกับตัวเอง หาให้เจอว่าเราคือใคร จุดแข็งของเราคืออะไร เราต้องการทิ้งอะไรเอาไว้บ้าง

Who are you?

Who are you?

Who are you?

นี่คือบทสวดมนต์ที่ผมต้องท่องให้ขึ้นใจก่อนจะขึ้นไปแนะนำตัวต่อหน้า mentor ทั้ง 12 ท่านในอีก 3 สัปดาห์

ขอบคุณ IMET MAX ที่กระตุกและกระตุ้นให้ผมตั้งคำถามสำคัญ และจัดสรรให้พวกเราได้มาพบเจอเพื่อลับคมและบ่มปัญญาทั้งสามระดับเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงทีละจุดทีละจุดจนครบ 36 จุด 168 จุด และ 500 จุด

Everything is connected และคนตัวเล็กๆ สามารถเปลี่ยนแปลงประเทศชาติได้

โปรดติดตามตอนต่อไปครับ

Jack Ma แนะนำการทำงานในแต่ละช่วงอายุ

20-30 ปี ลองหางานในบริษัทเล็กๆ ถ้าได้ทำงานบริษัทใหญ่ แม้จะได้เรียนรู้เรื่อง process และ system แต่เราจะเป็นเพียงฟันเฟืองเล็กๆ ในเครื่องจักรขนาดมหึมา แต่ถ้าเราทำงานบริษัทเล็ก เราจะได้เรียนรู้เรื่อง passion และความใฝ่ฝัน เราจะได้ลองทำอะไรหลายอย่างไปพร้อมๆ กัน ในช่วงชีวิตนี้ การทำงานกับบริษัทไหนจึงไม่สำคัญเท่ากับว่าเราทำงานให้กับหัวหน้าคนไหน เพราะหัวหน้าที่ดีจะมีวิธีสอนที่ไม่เหมือนใคร

30-40 ปี ถ้าคุณอยากจะทำอะไรของตัวเอง คุณควรจะเริ่มทำ ในช่วงวัยนี้

40-50 ปี ควรจะทำในสิ่งที่เราชำนาญอยู่แล้ว อย่าพยายามข้ามไปทำด้านอื่นเพราะมันอาจจะช้าเกินไป แม้ว่าเปลี่ยนสายแล้วอาจจะรุ่ง แต่โอกาสสำเร็จนั้นต่ำเกินไปหน่อย ในช่วงวัยนี้เราจึงควรคิดให้ดีว่าจะทำยังไงได้โฟกัสในสิ่งที่เราเก่งและถนัด

50-60 ปี เราควรสนับสนุนคนหนุ่มสาว เพราะคนเหล่านี้เขาจะทำได้ดีกว่าเรา จงลงทุนในตัวพวกเขา วางใจในตัวพวกเขา และปลุกปั้นให้เขาเป็นคนที่เก่งและดี

60 ปีขึ้นไป จงใช้เวลาเพื่อตัวเอง ไปนอนเล่นริมชายหาดก็ได้ ช้าเกินไปที่จะเปลี่ยนแปลงอะไรแล้ว


ขอบคุณเนื้อหาจาก Youtube: JACK MA Advice for Young People

หากคิดว่าชีวิตตัวเองมันแย่นัก ขอแนะนำให้รู้จัก Walter Summerford

Walter Summerford เป็นทหารยศพันตรีที่รับใช้กองทัพอังกฤษในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1

  1. ในปี 1918 ช่วงปีสุดท้ายของสงครามโลก ขณะที่ Summerford กำลังขี่ม้าในเบลเยี่ยม เขาถูกฟ้าผ่า ซึ่งทำให้ร่างกายนับตั้งแต่บั้นเอวลงมาเป็นอัมพฤกษ์อยู่ 1 ปี
  2. เนื่องด้วยสุขภาพไม่เอื้ออำนวย Summerford จึง early retire แล้วย้ายไปใช้ชีวิตอันแสนสงบใน Vancouver ประเทศแคนาดา ในปี 1924 เขาล่องเรือตกปลาในแม่น้ำและจอดเรือพักใต้ต้นไม้ใหญ่ ระหว่างที่นั่งเย็นใจอยู่ใต้ต้นไม้ ฟ้าก็ผ่าลงมายังต้นไม้ต้นนั้นและเขาเองก็โดนไปด้วย ร่างกายซีกขวาเป็นอัมพฤกษ์ ต้องพักฟื้นอยู่ 2 ปีถึงจะกลับมาเดินได้
  3. ปี 1930 ระหว่างที่เดินเล่นอยู่ในสวนสาธารณะ เขาถูกฟ้าผ่าเป็นครั้งที่สาม รอบนี้รักษาไม่หาย และเกิดอาการแทรกซ้อนจนเสียชีวิตในอีก 2 ปีต่อมา ศพของเขาถูกฝังไว้ในสุสาน Mountain View Cemetery ในแวนคูเวอร์
  4. คืนหนึ่งในช่วงฤดูใบไม้ผลิปี 1936 หินหลุมศพของ Summerford ก็ถูกฟ้าผ่า

หากคิดว่าชีวิตตัวเองมันแย่นัก ขอแนะนำให้รู้จัก Walter Summerford ชายผู้โดนฟ้าผ่า 4 ครั้ง

นี่สินะที่เรียกว่าฟ้ากลั่นแกล้ง


ขอบคุณข้อมูลจาก The Vintage News: The British officer who was struck by lightning four separate times

3 ประโยคสำหรับคนที่แคร์สายตาคนอื่นมากเกินไป

ประโยคที่ 1 จาก Morgan Housel ผู้เขียน The Psychology of Money

“No one is impressed with your possessions as much as you are.”

เราอยากจะขับรถดีๆ อยากใส่เสื้อผ้าแบรนด์เนม อยากใช้นาฬิกาสวยๆ โดยหวังว่ามันจะทำให้เราเป็นที่ยอมรับและเป็นที่รักมากขึ้น

แต่แท้จริงแล้ว เราจะเป็นที่รักด้วยการเป็นคนนิสัยดีและมีความถ่อมตัวต่างหาก

เมื่อรู้ตัวว่าเราไม่จำเป็นต้องมีข้าวของเพื่อ impress คนอื่น เราก็จะหันมาใส่ใจกับสิ่งที่เราต้องการจริงๆ มากกว่า ถ้าเราจะยอมจ่ายแพงก็เพราะว่าเราชอบหรือเพราะว่ามันคุณภาพดี ไม่ใช่เพราะว่าเราแอบหวังว่ามันจะทำให้เราดูดี

ประโยคที่ 2 จาก Mark Manson ผู้เขียน The Subtle Art of Not Giving a F**k

“Nobody remembers your mistakes as much as you do.”

นอกจากเราอยากจะดูดีและได้รับการยอมรับแล้ว ในมุมกลับกันเราก็ไม่อยากขายหน้าและไม่อยากโดนดูแคลน

ความกังวลนี้จึงทำให้หลายคนไม่กล้าออกไปพูดหน้าชั้นเรียน ไม่กล้ายกมือถามคำถาม ไม่กล้าอาสาทำงานที่ท้าทาย เพราะเราเอาแต่คิดว่า ถ้าเกิดพลาดขึ้นมาคนอื่นจะมองเราอย่างไร

แต่ความผิดพลาดที่เกิดโดยสุจริตใจหรือเกิดเพราะว่าเรายังไม่เก่งพอนั้นแทบไม่มีใครจำได้หรอก

ลองถามตัวเองดูก็ได้ว่าเราฝังใจกับความผิดพลาดโดยสุจริตใจของใครบ้าง ส่วนตัวผมเองให้นั่งนึกตั้งนานก็มีแค่ไม่กี่เรื่อง และความผิดพลาดเหล่านั้นก็ไม่ได้ทำให้ผมรู้สึกแย่กับคนทำพลาดแม้แต่นิดเดียว เพราะการทำงานกับความผิดพลาด (ซึ่งก็คือการเรียนรู้) นั้นเป็นของคู่กัน

ประโยคที่ 3 จาก Will Rogers นักแสดงนำภาพยนตร์เรื่อง Life Begins at 40

“At twenty we don’t care what the world thinks of us. . . at thirty we worry about what it thinks of us. . . at forty we’re sure it doesn’t think of us.”

ตอนวัยรุ่นเราไม่ค่อยแคร์สื่อ อยากโพสต์อะไรก็โพสต์ อยากทวีตอะไรก็ทวีต

พอทำงานมาได้สักพัก มีภาพลักษณ์ที่ต้องรักษา มีคนรู้จักมากขึ้นแต่มีเพื่อนน้อยลง เราจึงไม่กล้าเป็นตัวของตัวเองมากนัก

พอทำงานมาได้ 20 ปี พอเข้าใจแล้วว่าโลกทำงานยังไง ตระหนักได้ว่าเราคิดเรื่องของตัวเองมากเพียงใด และคิดถึงเรื่องคนอื่นน้อยแค่ไหน เราก็จะเริ่มมีส่วนผสมที่ลงตัวของวัย 20 กับ 30 ปี คือไม่แคร์สายตาคนอื่นมากจนเกินไป แต่ขณะเดียวกันก็ประคองตนไม่ทำเรื่องที่ไม่เหมาะสมหรือเบียดเบียนใครทั้งกายและวาจา

เมื่อเข้าใจว่าสายตาคนอื่นที่คอยมองเราอยู่นั้น แท้จริงแล้วคือสายตาของเราที่มองตัวเอง เราก็จะเป็นอิสระจากข้อจำกัดและความคาดหวังปลอมๆ ครับ

ถ้าคิดว่าตัวเองแก่แล้ว

ให้ระลึกว่าตัวเราในอนาคตจะอิจฉาตัวเราตอนนี้

เมื่อผ่านพ้นวัย 35 ปี หลายคนจะเริ่มรับรู้ได้ถึงร่างกายที่ไม่เหมือนเดิม

กินดึกหน่อยอาหารก็ไม่ย่อย นอนน้อยก็ทำงานไม่ไหว นั่งนานๆ ก็ปวดหลังจนต้องไปนวด

เราจะเริ่มตัดพ้อว่า นี่เราแก่แล้วสินะ

แต่ถ้าตอนนี้เราอายุ 35 พอตอนเราอายุ 50 เราจะรู้สึกว่า 35 นี่ยังหนุ่ม-สาวกันอยู่

และตอนเราอายุ 65 เราจะรู้สึกว่าวัย 50 นั้นยังมีกำลังวังชาเหลืออีกมาก

และตัวเราในวัย 80 จะมองตัวเองในวัย 65 ด้วยความคิดถึง

ดังนั้นไม่ว่าเราจะอยู่ในวัยไหน ตอนนี้ก็เป็นช่วงเวลาที่ดีเสมอ เพราะไม่มีวันที่เราจะเด็กไปกว่านี้อีกแล้ว

มาใช้ “ความหนุ่มสาว” ของเราให้เต็มที่ตั้งแต่วันนี้กันครับ


ขอบคุณประกายความคิดจาก James Clear 3-2-1 newsletter