ปีนี้เราจะเหลือเงินเท่าไหร่เป็นสิ่งที่ถูกกำหนดเอาไว้แล้ว

ปีนี้เราจะเหลือเงินเท่าไหร่เป็นสิ่งที่ถูกกำหนดเอาไว้แล้ว / Anontawong’s Musings

เมื่อหลายเดือนก่อน ผมได้ฟังพอดแคสต์ที่ชื่อว่า KO$HER MONEY ซึ่งสัมภาษณ์รับบี Manis Friedman

รับบี (ภาษาอังกฤษออกเสียงว่า “แรบาย”) คืออาจารย์สอนศาสนายิว

มีคอนเซ็ปต์หนึ่งที่รับบีฟรีดแมนกล่าวเอาไว้ที่ผมรู้สึกว่ายากที่จะเชื่อแต่ก็น่าสนใจเกินกว่าจะโยนทิ้ง

รับบีกล่าวว่า ปีนี้คุณจะมีเงินเท่าไหร่นั้น มันถูกกำหนดไว้ตั้งแต่วันขึ้นปีใหม่ของชาวยิวแล้ว

วันขึ้นปีใหม่ยิวนั้นมีชื่อเรียกว่า Rosh Hashanah ซึ่งในปี 2022 นี้คือช่วงค่ำวันอาทิตย์ที่ 25 กันยายนถึงค่ำวันอังคารที่ 27 กันยายน

เมื่อพระเจ้าได้กำหนดไว้แล้วว่าปีนี้คุณจะทำเงินได้เท่าไหร่ จึงไม่จำเป็นต้องไปกังวลหรือเอาเป็นเอาตายเรื่องเงินๆ ทองๆ ให้มากเกินไป เพราะสุดท้ายแล้วมันไม่ได้สร้างความแตกต่างอะไรเลย

ความฉลาดไม่ได้ทำให้ร่ำรวย เราก็เห็นอยู่ว่ามีคนรวยหลายคนที่ไม่ได้ฉลาดขนาดนั้น

ขณะเดียวกันเราก็เห็นคนยากจนมากมายที่ทั้งฉลาด ทั้งขยัน ทั้งทดลองทำแล้วทุกอย่าง แต่ก็ไม่รวยขึ้นเสียที

เราอาจจะเถียงว่า อ้าว ถ้าวันนี้เราทำงาน OT เราก็จะได้เงินเพิ่มไม่ใช่เหรอ หรือถ้าเปิดร้านเกินเวลาก็ได้รายได้เพิ่มขึ้นเช่นกัน

แต่รับบีบอกว่า อย่าดูแค่ขาเข้าอย่างเดียว ต้องดูขาออกด้วย ถ้าคุณเปิดร้านเกินเวลา อาจได้เงินมาเพิ่มก็จริง แต่ถ้าต้องเสียค่าปรับหรือต้องขึ้นโรงขึ้นศาลก็อาจจะเหลือเงินน้อยกว่าเดิมก็ได้

หรือถ้าคุณทำงานเยอะๆ อดหลับอดนอนจนล้มหมอนนอนเสื่อ เงินส่วนต่างที่ได้มาอาจต้องเอาไปจ่ายค่ารักษาพยาบาลอยู่ดี

ดังนั้นเงินที่คุณจะได้ในปีนี้นั้นได้ถูกกำหนดไว้แล้ว อย่าไปซีเรียสกับมันนัก

พิธีกรจึงถามต่ออีกว่า ถ้าเงินถูกกำหนดไว้แล้ว อย่างนั้นก็ไม่มีประโยชน์ที่จะทำอะไรเลยน่ะสิ เพราะยังไงพระเจ้าก็จะให้เงินเราใช้เท่านี้อยู่แล้ว

รับบีบอกว่าเป็นคำถามที่ดี การทำมาหาเลี้ยงชีพนั้นเป็นเรื่องศักดิ์สิทธิ์ เป็นเรื่องของปาฏิหาริย์ เป็นการอำนวยพรของพระเจ้า แต่ปาฎิหาริย์ไม่อาจเกิดขึ้นแบบไม่มีปี่ไม่มี่ขลุ่ย มันต้องอาศัยช่องทางของเรื่องปกติธรรมดานี่แหละ

เราอาจจะเคยได้ยินนิทานของชายผู้เชื่อมั่นในพระเจ้า:

วันหนึ่งน้ำท่วมหนัก รถบรรทุกลุยน้ำมาเพื่อมารับชายคนนั้นออกจากพื้นที่

“ไม่เป็นไร ผมเชื่อมั่นว่าพระเจ้าจะมาช่วยผมอย่างแน่นอน”

ระดับน้ำยังสูงขึ้นเรื่อยๆ จนถึงชั้นสอง ชายคนนั้นต้องมาอยู่บนหลังคาบ้าน มีเรือของหน่วยกู้ภัยเข้ามาช่วย

“ไม่เป็นไร ผมเชื่อมั่นว่าพระเจ้าจะมาช่วยผมอย่างแน่นอน”

น้ำยังคงสูงขึ้นไม่หยุด แม้จะยืนบนหลังคาน้ำก็ท่วมอกขายคนนั้นแล้ว มีเฮลิคอปเตอร์บินมาช่วยชายคนนั้น

“ไม่เป็นไร ผมเชื่อมั่นว่าพระเจ้าจะมาช่วยผมอย่างแน่นอน”

แล้วชายคนนั้นก็จมน้ำตาย เมื่อเขาไปถึงสวรรค์และได้พบกับพระเจ้า เขาก็ต่อว่าพระเจ้าเป็นการใหญ่

“ทำไมท่านไม่มาช่วยผม?”

“ไม่ได้ช่วยตรงไหน เราส่งทั้งรถบรรทุก เรือ และเฮลิคอปเตอร์ไปให้เจ้าแล้วนะ”

ปาฏิหาริย์เกิดขึ้นได้ แต่ต้องเกิดผ่านเรื่องที่เป็นธรรมชาติและเรื่องที่เป็นธรรมดา

ถ้าคุณเปิดร้านขายของ ยอดขายเดือนละ 500,000 บาท แล้วตอนนี้คุณอยากได้ยอดขายเดือนละ 1,000,000 บาท คุณก็ต้องทำอะไรสักอย่าง เช่นขยายร้านให้ใหญ่ขึ้น มีสินค้าให้เลือกเยอะกว่าเดิม เพิ่มช่องทางออนไลน์ ฯลฯ

เมื่อเราต้องการจะมีรายได้มากขึ้น เราก็ต้องขยาย “ภาชนะ” เพื่อจะรองรับมันเช่นกัน

แต่ถ้าเราบอกว่า อยากมีรายได้มากขึ้นสองเท่า แต่ทำทุกอย่างเหมือนเดิม แล้วพระเจ้าจะช่วยเราได้อย่างไร หากเราอยากได้เงิน แต่เราไม่ยื่นมือออกมา คิดเหรอว่าจะมีใครเอาเงินมายัดใส่กระเป๋ากางเกงให้เรา

ดังนั้น อย่างน้อยที่สุด เราต้องยื่นมือออกมาก่อน แสดงให้คนอื่นเห็นก่อนว่าเราพร้อมจะรับแล้ว

แน่นอนว่าสิ่งที่รับบีพูดมาอาจจะยังมีช่องโหว่ คนช่างคิดและเต็มไปด้วยตรรกะคงเถียงกันได้ไม่จบสิ้น

แต่ผมก็ยังเชื่อว่าบางแง่มุมของเรื่องนี้ยังมีประโยชน์อยู่ดี จึงตัดสินใจนำมาเล่าสู่กันฟังในวันนี้

ข้อสรุปที่ผมได้สำหรับตัวเอง คือเราควรทำตามหน้าที่ของเราไปด้วยความซื่อตรงและขยันขันแข็ง เพื่อเป็นการเปิดทางให้พระเจ้าได้แสดงปาฏิหาริย์ผ่าน “ภาชนะ” ที่เราตระเตรียมเอาไว้แล้ว

แต่ถ้ามันไม่ได้เป็นไปตามที่เราคาดการณ์เอาไว้ ก็ไม่เป็นไร ให้นึกถึงสุภาษิตจีนที่ว่า ความพยายามเป็นเรื่องของมนุษย์ ความสำเร็จเป็นเรื่องของฟ้าดินครับ


ขอบคุณเนื้อหาจาก The Secret to Becoming TRULY Rich (with Rabbi Manis Friedman)| KOSHER MONEY Episode 20 นาทีที่ 25-30

เอาชนะความขี้เกียจด้วยเคล็ดลับจากหน่วย SEAL

Sean Kernan เป็นนักเขียนที่มีผู้ติดตามมากที่สุดคนหนึ่งใน Quora

มีคนเคยตั้งคำถามไว้ว่า มีเทคนิคไหนบ้างที่จะเอาชนะความขี้เกียจได้

นี่คือคำตอบของ Sean Kernan ครับ


พ่อเคยเล่าให้ผมฟังว่า วันที่หนักหนาที่สุดของ Hell Week คือวันอังคาร

(Hell Week คือการฝึกซ้อมของหน่วย SEAL ที่ขึ้นชื่อว่าหฤโหดสุดๆ)

“สัปดาห์นรก” เริ่มต้นในเช้าวันอาทิตย์ และเต็มไปด้วยบททดสอบที่ทรมานทั้งกายและใจ ทุกคนต้องอยู่กันแบบอดหลับอดนอนไปจนถึงวันศุกร์

วันอาทิตย์คุณจะถูกปลุกด้วยเสียงปืนกล ทั้งวันทั้งคืนคุณต้องวิ่ง คุณต้องแบกขอนไม้ คุณจะโดนดุด่าสารพัด คุณต้องอยู่ในน้ำเย็นยะเยือก

ส่วนวันจันทร์ก็เช่นกัน

น้ำเย็นเฉียบ บทดทดสอบ ขอนไม้ วิ่งลงทะเล

มีแบบฝึกหัดท้าทายมากมายที่ต้องทำตามคำสั่งเป๊ะๆ ถ้าไม่ทำตามก็จะโดนลงโทษ

นี่คือสิ่งที่นักเรียนทหารต้องเจอตลอดทั้งวันจันทร์

พอคืนวันจันทร์มาถึง ในขณะที่คนอื่นกำลังนอนหลับอยู่บนเตียงอุ่นๆ คุณกลับต้องมานอนอย่างหนาวสั่น หลังปวด แขนร้าว ขาก็เกร็งราวกับไม้กระดาน

แล้ววันอังคารก็มาถึง

คุณอ่อนล้าเหลือเกิน อ่อนล้ามากที่สุดเท่าที่เคยล้ามาทั้งชีวิต

แล้วคุณก็เริ่มคิดคำนวณในใจ ผ่านมาแค่สองวันยังเหนื่อยขนาดนี้ แล้วนี่ยังมาไม่ถึงครึ่งทางเลย วันศุกร์ช่างดูห่างไกลเหลือเกิน

ในวันอังคาร ตารางการฝึกที่รอคุณอยู่นั้นดูยากเย็นเกินกว่าที่มนุษย์จะทำได้

แล้วนักเรียนทหารก็จะเริ่มรู้สึกสงสารตัวเอง เริ่มรู้สึกว่าทำไมชีวิตต้องยากเย็นขนาดนั้น ทำไมต้องมาเจ็บปวดและเหน็ดเหนื่อยกันขนาดนี้

วันอังคารจึงเป็นวันที่มีคนสั่นระฆังเพื่อลาออกจากหน่วย SEAL เป็นจำนวนมาก

แล้วพ่อผมและคนที่ได้อยู่ต่อเขารับมือได้อย่างไรน่ะเหรอ?

พวกเขาใส่ใจกับการฝึกที่อยู่ตรงหน้าเพียงอย่างเดียว

ไม่มองไปไกลกว่านั้น ไม่คิดถึงวันศุกร์ ไม่คิดถึงวันพรุ่งนี้ ไม่คิดถึงชั่วโมงถัดไปด้วยซ้ำ

แค่อยู่กับปัจจุบัน กับภารกิจเล็กๆ ตรงหน้า กับงานทีละชิ้น

เราสามารถประยุกต์เทคนิคนี้ได้กับหลายสิ่งในชีวิต

ไปฟิตเนส: โฟกัสกับการใส่รองเท้า ใส่ข้างหนึ่งก่อน แล้วก็อีกข้าง แล้วดูว่าเป็นยังไง

จากนั้นก็หยิบกุญแจ แล้วเดินขึ้นรถ แล้วโฟกัสไปที่การสตาร์ทรถ แล้วก็ขับรถไปที่ฟิตเนส

เตรียมสอบ: แค่ไปนั่งที่โต๊ะ ลองเปิดหนังสือ แล้วดูว่ารู้สึกยังไง

ลองอ่านสักหนึ่งหรือสองประโยค ลองดูว่าเป็นยังไง จากนั้นก็ค่อยอ่านสักหนึ่งย่อหน้า

ถ้าเราลดการมองเห็นของเราให้เหลือแค่ไม่กี่ขณะต่อจากนี้ เราก็จะลดภาระทางจิตใจที่จะเกิดขึ้นด้วย

แค่เราจดจ่อกับสิ่งที่อยู่ตรงหน้า ก็สามารถลดแรงต้านที่ก่อให้เกิดความขี้เกียจและการผัดวัดประกันพรุ่งได้มากมายแล้ว


ขอบคุณเนื้อหาจาก Quora: Sean Kernan’s answer to What are some subtle behavioral tactics that defeat laziness?

นิทานพระจันทร์ในบ่อน้ำ

วันนี้วันศุกร์ มาฟังนิทานกันนะครับ

ณ คืนวันเพ็ญ มีพ่อค้าจากต่างแดนเดินทางไกลมายังหมู่บ้านเล็กๆ แห่งหนึ่ง

ที่ใจกลางหมู่บ้านนั้นมีบ่อน้ำขนาดใหญ่ที่รายล้อมด้วยเหล่าช่าวบ้านซึ่งล้วนแต่ถือข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ อยู่ครบมือ และชาวบ้านต่างก็ดูวุ่นอยู่กับบางสิ่งบางอย่างตรงใจกลางบ่อน้ำนั้น

พ่อค้าสงสัยว่าชาวบ้านกำลังทำอะไรอยู่ เขาจึงเอ่ยถามกับชาวบ้านคนหนึ่งว่า

“พวกท่านกำลังจะทำอะไรกัน”

ชาวบ้านคนนั้นจึงตอบว่า

“พระจันทร์ตกลงไปในบ่อน้ำของพวกข้า และตอนนี้พวกข้าก็กำลังพยายามช่วยพระจันทร์ขึ้นมาอีกครั้ง”

เมื่อได้เช่นนั้พ่อค้าก็หัวเราะและพูดออกไปว่า

“ฮ่า…ฮ่า…ฮ่า…สิ่งที่พวกท่านเห็นเป็นเพียงเงาสะท้อนของพระจันทร์จากฟากฟ้าเท่านั้นแหละ พวกท่านไม่น่าเสียเวลามาทำเรื่องไร้สาระนี้เลย

แต่ไม่มีชาวบ้านคนใดเชื่อที่พ่อค้ากล่าว ซ้ำยังนำข้าวของเครื่องใช้ที่อยู่ในมือไล่ตีพร้อมขับไล่พ่อค้าออกไปจากหมู่บ้านในทันที


ขอบคุณนิทานจากหนังสือ นิทานอีสป 50 เรื่องสอนหนูน้อยให้เป็นเด็กดี 2 ภาษา อังกฤษ-ไทย สำนักพิมพ์ เอ็มไอเอส

คำแนะนำการใช้ชีวิตจากชายหนุ่มอายุ 21 ปี

Hunter S. Thompson เป็นนักข่าวชาวอเมริกันที่เกิดเมื่อปี 1937 และเสียชีวิตเมื่อปี 2005

ผลงานที่สร้างชื่อให้เขามากที่สุดคือหนังสือ Fear and Loathing in Las Vegas ซึ่งถูกนำไปสร้างเป็นหนังฮอลลีวูด นำแสดงโดย Johnny Depp

ในปี 1958 เพื่อนของทอมป์สันชื่อ Hume Logan ได้เขียนจดหมายมาขอคำแนะนำเรื่องแนวทางการใช้ชีวิต

จดหมายตอบกลับของทอมป์สันเป็นหนึ่งในคำแนะนำที่ลึกซึ้งที่สุดที่ผมเคยอ่านมา

เลยขอนำมาถอดความให้ผู้ติดตาม Anontawong’s Musings ได้นำไปขบคิดกันต่อนะครับ


22 เมษายน 1958
57 เพอรี่สตรีท
นิวยอร์ค

สวัสดีฮูม

คุณอยากได้คำแนะนำจากผม – นี่เป็นเรื่องธรรมดาของมนุษย์และเป็นเรื่องอันตรายมาก! การที่คนคนหนึ่งจะไปแนะนำคนอื่นว่าควรใช้ชีวิตแบบไหนแสดงว่าเขาต้องหลงตัวเองประมาณหนึ่งเลยนะ การที่จะไปชี้ว่าอะไรคือเป้าหมายสูงสุด – ชี้ด้วยนิ้วมืออันสั่นระริกไปในทิศทางที่ “ถูกต้อง” เป็นเรื่องที่มีแต่คนโง่เท่านั้นที่จะกล้าทำ

ผมไม่ใช่คนโง่ แต่ผมก็เคารพในความจริงใจของคุณที่มาขอคำชี้แนะ ผมจึงขอออกตัวก่อนว่าเวลาที่คุณอ่านสิ่งที่ผมจะเขียน คุณควรระลึกไว้เสมอว่าคำแนะนำทุกอย่างล้วนเป็นผลผลิตของคนที่ให้คำแนะนั้น ความจริงของคนคนหนึ่งอาจจะเป็นหายนะของอีกคนก็ได้ ผมไม่อาจมองชีวิตผ่านสายตาของคุณ และคุณก็ไม่อาจมองชีวิตผ่านสายตาผม ถ้าผมพยายามจะให้คำแนะนำที่เฉพาะเจาะจงมันก็คงไม่ต่างอะไรกับคนตาบอดนำทางให้คนตาบอดอีกคน

“To be, or not to be: that is the question: Whether ’tis nobler in the mind to suffer the slings and arrows of outrageous fortune, or to take arms against a sea of troubles … ” (Shakespeare)

“จะอยู่หรือจะตาย นั่นแหละคือคำถาม: อะไรเล่าจะดีกว่ากัน ระหว่างอยู่สู้ทนกับชีวิตที่มีความสุขเพียงครั้งคราว หรือจะจบมันลงเสียเพื่อจะไม่ต้องเผชิญความทุกข์อันท่วมท้น”
-เชกสเปียร์

ใช่ นี่แหละคือคำถาม ว่าเราควรจะล่องลอยไปกับเกลียวคลื่น หรือควรจะว่ายน้ำฝ่าฟันไปให้ถึงจุดหมาย มันคือสิ่งที่เราต้องเลือกไม่ว่าจะโดยรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม น้อยคนนักที่จะเข้าใจความจริงข้อนี้! ลองคิดย้อนกลับไปถึงการตัดสินใจที่มีผลต่ออนาคตของคุณดูสิ ผมอาจจะคิดผิดก็ได้ แต่ผมว่าสุดท้ายแล้วมันคือการเลือกระหว่างทางสองแพร่งที่กล่าวมานั่นแหละว่าจะลอยน้ำหรือจะว่ายน้ำ

แต่ถ้าไม่มีเป้าหมายแล้ว การลอยตามน้ำก็เป็นเรื่องเข้าท่าไม่ใช่หรือ? นั่นก็เป็นอีกหนึ่งคำถามเช่นกัน ผมว่ามันดีกว่ามากเลยนะที่จะรื่นรมย์ไปกับการลอยคอเมื่อเทียบกับการต้องแหวกว่ายอย่างไร้จุดหมาย

แล้วคนเรานั้นจะหาเป้าหมายได้อย่างไร? ไม่ใช่เป้าหมายฝันเฟื่องอย่างการสร้างปราสาทท่ามกลางหมู่ดาวนะ แต่เป็นเป้าหมายที่จับต้องได้จริงๆ เราจะรู้ได้อย่างไรว่าตัวเองไม่ได้กำลังออกตามหา “ภูเขาลูกกวาด” อันเป็นเพียงเป้าหมายที่สวยแต่รูปจูบไม่หอมและไม่มีแก่นสารอันใด

คำตอบ – ซึ่งในอีกมุมหนึ่งก็เป็นโศกนาฏกรรมของชีวิตด้วย ก็คือเราพยายามที่จะเข้าใจเป้าหมาย แต่เรากลับไม่ได้พยายามเข้าใจตนเอง เราตั้งเป้าหมายขึ้นมา และเป้าหมายนั้นก็เรียกร้องให้เราทำอะไรบางอย่าง แล้วเราก็ลงมือทำสิ่งเหล่านั้น เราเปลี่ยนแปลงตัวเองเพื่อตอบสนองต่อข้อเรียกร้องของเป้าหมาย ซึ่งผมว่ามันไม่สมเหตุสมผลเอาเสียเลย

ตอนที่คุณเป็นเด็ก คุณอาจเคยอยากเป็นนักดับเพลิง แต่ตอนนี้ผมค่อนข้างมั่นใจว่าคุณไม่ได้อยากเป็นนักดับเพลิงแล้ว ทำไมล่ะ? เพราะมุมมองของคุณได้เปลี่ยนไปแล้วยังไงล่ะ นักดับเพลิงไม่ได้เปลี่ยนไปเลย คนที่เปลี่ยนคือคุณต่างหาก มนุษย์ทุกคนคือผลรวมของการตอบสนองต่อประสบการณ์ที่ผ่านเข้ามาในชีวิต เมื่อประสบการณ์เริ่มหลากหลายและทวีคูณ คุณก็จะกลายเป็นอีกคนหนึ่ง และมุมมองของคุณก็ย่อมเปลี่ยนไป กระบวนการนี้จะยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทุกการตอบสนองคือการเรียนรู้ และทุกประสบการณ์ที่สำคัญจะเปลี่ยนมุมมองและทัศนคติของคุณ

มันจึงเป็นเรื่องไม่ฉลาดเท่าไหร่ที่เราจะปรับแต่งชีวิตของเราเพื่อให้สอดคล้องกับสิ่งที่เป้าหมายเรียกร้อง เพราะมุมมองที่เรามีต่อเป้าหมายนั้นเปลี่ยนไปทุกวัน ยิ่งพยายามเท่าไหร่ยิ่งอาจทำให้เป็นโรคประสาทได้

ดังนั้นคำตอบจึงไม่ได้อยู่ในเป้าหมายอย่างแน่นอน อย่างน้อยก็ไม่ใช่ในเป้าหมายที่จับต้องได้ คงต้องใช้กระดาษหลายรีมถึงจะสาธยายเรื่องนี้ได้อย่างหมดจด ไม่มีใครรู้หรอกว่ามีคนเขียนหนังสือเกี่ยวกับ “ความหมายของชีวิต” ออกมาแล้วกี่เล่ม และไม่มีใครรู้หรอกว่ามีคนขบคิดเรื่องนี้มาแล้วกี่ครั้ง จึงไม่มีประโยชน์อันใดที่ผมจะพยายามให้คำตอบโดยสังเขป เพราะผมขาดคุณสมบัติทุกข้อที่จะมาบอกเล่าความหมายของชีวิตได้ภายในไม่กี่ย่อหน้า

ผมจะพยายามหลีกเลี่ยงคำว่า “อัตถิภาวนิยม” [existentialism ปรัชญาที่ว่าคนเรานั้นอิสระ] แต่คุณอาจจะอยากทดคำนี้ไว้ในใจ ถ้าสนใจคุณลองอ่านหนังสือ Being and Nothingness ของ Jean-Paul Sartre ดูก็ได้ ส่วนหนังสือชื่อ Existentialism from Dostoevsky to Sartre นั่นก็ดี แต่นี่เป็นแค่คำแนะนำเฉยๆ นะ ถ้าคุณรู้สึกพึงพอใจกับชีวิตอยู่แล้วก็ควรหนีห่างจากหนังสือทั้งสองเล่มนี้

เอาล่ะ กลับเข้าเรื่อง อย่างที่บอกไป การที่คุณยึดมั่นในเป้าหมายที่จับต้องได้นั้นอาจเป็นเรื่องที่ไม่ฉลาดนัก เพราะเราไม่ได้มุ่งหมายที่จะเป็นนักดับเพลิง เราไม่ได้มุ่งหมายที่จะเป็นนายธนาคาร เราไม่ได้มุ่งหมายที่จะเป็นตำรวจหรือเป็นหมอ – เรามุ่งหมายที่จะเป็นตัวของตัวเองต่างหาก (we strive to be ourselves)

แต่อย่าเข้าใจผิดนะ ผมไม่ได้หมายความว่าเราจะเป็นนักดับเพลิงหรือเป็นหมอไม่ได้ แต่เราต้องทำให้เป้าหมายนั้นสอดคล้องกับคน ไม่ใช่ทำให้คนสอดคล้องกับเป้าหมาย (we must make the goal conform to the individual, rather than make the individual conform to the goal.)

มนุษย์ทุกคนถูกโปรแกรมมาโดยพันธุกรรมและสภาพแวดล้อมให้มีความสามารถและความมุ่งมาดปรารถนาที่จะทำอะไรบางอย่างให้ชีวิตของเขามีความหมาย คนเราล้วนมุ่งหวังจะเป็นอะไรสักอย่าง เราทุกคนล้วนอยากมีคุณค่า

สำหรับผม ผมคิดว่าสมการน่าจะเป็นประมาณนี้ – คนคนหนึ่งจะต้องเลือกทางเดินที่เอื้อให้เขาได้ใช้ความสามารถอย่างเต็มที่เพื่อบรรลุในสิ่งที่เขามุ่งมาดปรารถนา

เมื่อทำตามกระบวนการนี้ เขาจะได้สนองความต้องการที่จะสร้างอัตลักษณ์ด้วยการทำอะไรตามแบบแผนเพื่อเข้าสู่เป้าหมายที่วางไว้ เขาจะปลดปล่อยศักยภาพของตนด้วยการเลือกเส้นทางที่จะไม่จำกัดโอกาสในการพัฒนาตัวเอง และเขาจะไม่ต้องเจอว่าเป้าหมายที่มีนั้นเสื่อมสิ้นมนต์ขลังในช่วงที่เขาเข้าใกล้เป้าหมาย เพราะแทนที่เขาจะเปลี่ยนตัวเองเพื่อให้สอดคล้องกับสิ่งที่เป้าหมายเรียกร้อง เขาจะปรับเปลี่ยนเป้าหมายเพื่อให้มันสอดคล้องกับความสามารถและความปรารถนาที่เขามีในปัจจุบัน

หรือถ้าจะให้พูดสั้นๆ ก็คือ เราไม่ควรทุ่มเททั้งชีวิตเพื่อไปให้ถึงเป้าหมายที่ได้วางเอาไว้ แต่เราควรเลือกเส้นทางชีวิตที่เรารู้ว่าเราจะสนุกไปกับมัน เป้าหมายนั้นเป็นเพียงเรื่องรอง การเดินทางไปสู่เป้าหมายต่างหากที่เป็นเรื่องสำคัญจริงๆ

และอาจฟังดูตลกที่ผมจะต้องขอย้ำเตือนว่า คนเราต้องได้เดินไปในเส้นทางที่เขาเป็นคนเลือก เพราะการปล่อยให้คนอื่นมาขีดเส้นทางให้เรานับเป็นการทิ้งขว้างสิ่งสำคัญที่สุดอย่างหนึ่งของชีวิต นั่นคือเจตจำนงเสรีที่มอบความเป็นปัจเจกให้มนุษย์คนหนึ่ง

สมมติว่าคุณมีทางเดินให้เลือก 8 ทาง (และแน่นอนว่าเป็นเส้นทางที่กำหนดเอาไว้แล้ว) และสมมติว่าคุณไม่เห็นประโยชน์ที่จะเดินทางใดทางหนึ่งใน 8 เส้นทางนี้เลย ถ้าอย่างนั้นคุณก็ต้องมองหาเส้นทางที่ 9 – และนี่คือใจความสำคัญทั้งหมดที่ผมต้องการจะสื่อ

แน่นอนว่าเรื่องแบบนี้พูดง่ายแต่ทำยาก เพราะที่ผ่านมาชีวิตของคุณค่อนข้างคับแคบ เป็นชีวิตแนวดิ่งมากกว่าชีวิตแนวราบ จึงเข้าใจได้ไม่ยากว่าทำไมคุณถึงกำลังรู้สึกเช่นนี้ แต่ใครก็ตามที่ไม่ยอมตัดสินใจเลือกทางเดินของตน สุดท้ายเขาจะต้องจำใจเลือกเพราะถูกสถานการณ์บังคับอยู่ดี

ถ้าคุณกำลังท้อแท้ คุณก็มีเพียงสองทางเลือก นั่นคือยอมรับสิ่งต่างๆ อย่างที่มันเป็น หรือไม่อย่างนั้นก็ต้องเสาะแสวงหาหนทางใหม่อย่างจริงจัง แต่ขอเตือนว่าอย่าเผลอไปแสวงหาเป้าหมาย แต่ขอให้แสวงหา way of life – จงตัดสินใจว่าคุณอยากจะมีชีวิตแบบไหน แล้วค่อยดูว่าคุณจะทำอะไรได้บ้างในการหาเลี้ยงชีพเพื่อที่จะได้มีชีวิตอย่างที่คุณอยากมี

คุณอาจจะตัดพ้อว่า “ผมไม่รู้ว่าจะมองหาที่ไหน ผมไม่รู้ด้วยซ้ำว่าผมกำลังมองหาอะไร”

ประเด็นมันก็อยู่ตรงนี้แหละ มันคุ้มกันมั้ยที่จะยอมทิ้งสิ่งที่เรามีเพื่อออกแสวงหาสิ่งใหม่? ผมก็ไม่รู้เหมือนกัน คุณคิดว่ามันคุ้มรึเปล่าล่ะ? ไม่มีใครตัดสินเรื่องนี้แทนคุณได้หรอกนะ แต่อย่างน้อยแค่เราตัดสินใจว่า “จะลองมองหาดู” ก็ช่วยให้เราเข้าใกล้คำตอบมากขึ้นแล้ว

ถ้าผมไม่หยุดเขียนเสียแต่ตอนนี้ สงสัยจะได้หนังสือเป็นเล่มๆ แน่ ผมหวังว่าข้อความนี้จะไม่ทำให้สับสนเท่ากับตอนที่คุณเห็นมันครั้งแรกนะ แน่นอนว่าคุณต้องทดไว้ในใจเสมอว่านี่คือวิธีการมองโลกในแบบของผม ผมคิดว่ามันน่าจะประยุกต์ใช้ได้กับคนทั่วไป แต่ถ้าคุณไม่เห็นด้วยก็ไม่เป็นไร เราทุกคนล้วนต้องยึดมั่นชุดความเชื่ออะไรบางอย่าง และนี่ก็เป็นเพียงชุดความเชื่อของผมเท่านั้นเอง

หากเจอข้อความใดในจดหมายนี้ที่อ่านแล้วไม่รู้เรื่องก็บอกผมได้เลย ผมไม่ได้พยายามจะส่งคุณไปตามหาปราสาทในเทพนิยาย แค่อยากจะชี้ให้เห็นว่าเราไม่จำเป็นต้องยอมรับทางเลือกที่คนอื่นยื่นมาให้เรา ชีวิตมีอะไรมากกว่านั้น ไม่มีใครต้องทำสิ่งที่เขาไม่อยากทำไปชั่วชีวิต แต่ถ้าสุดท้ายแล้วคุณต้องตกอยู่ในสถานการณ์แบบนั้นก็ขอให้บอกตัวเองว่ามันเป็นเรื่องที่คุณเลี่ยงไม่ได้ มีคนที่ตกอยู่ในกลุ่มนี้มากมายดังนั้นคุณไม่ต้องกลัวเหงาเลย

ผมคงต้องพอแต่เพียงเท่านี้ จนกว่าผมจะได้ยินข่าวจากคุณอีกครั้ง ผมยังคงเป็น

เพื่อนคุณเสมอ
ฮันเตอร์


ขอบคุณเนื้อหาจาก Farnam Street: Hunter S. Thompson’s Letter on Finding Your Purpose and Living a Meaningful Life

ความจริงที่ควรพูดกับความจริงที่ไม่ควรพูด

ใช่ มันเป็นเรื่องจริง อย่างน้อยก็ในมุมของเรา แต่ในขณะเดียวกันเราก็ควรมองด้วยว่า

ความจริงนี้มันเยียวยาหรือทำร้าย

ความจริงนี้มันมีประโยชน์หรือไม่มีประโยชน์

ความจริงนี้มันช่วยกระชับหรือทำลายความสัมพันธ์

ความจริงนี้มันมีวิธีพูดแบบอื่นที่จะรักษาน้ำใจกันไว้ได้หรือเปล่า

สุดท้ายแล้วเราจะเลือกพูดความจริงข้อไหน หรือพูดความจริงด้วยวิธีใด คงแล้วแต่ว่าเรายึดอะไรเป็นสรณะ

ถ้าเรายึดว่าพูดความจริงเสียอย่างจะไปกลัวอะไร ก็ต้องยอมรับผลกระทบที่จะตามมา

แต่ถ้าเราเชื่อว่า ในบางบริบทความจริงบางข้อก็ไม่ควรหลุดออกจากปาก ชีวิตก็อาจสงบสุขกว่านี้

“Everything you say should be true but not everything true should be said.”
-Voltaire

ขอให้แยกแยะให้ออก ว่าเวลาไหนควรพูด และเวลาไหนควรสงวนวาจาครับ