ทำให้ได้ทั้ง Go! และ No Go!

เมื่อนานมาแล้วผมเคยอ่านหนังสือ The Game ของ Neil Strauss ที่พูดถึงวงการ Pickup Artists (PUA) หรือเหล่าผู้ชายที่เข้าวงการจีบสาวด้วยการเรียนรู้จากเหล่ากูรู

หนึ่งในกฎสำคัญของ PUA ก็คือ 3-second rule – หากเจอสาวคนไหนที่คุณสนใจ คุณมีเวลาแค่ 3 วินาทีเท่านั้นในการเข้าไปหาและพูดคุย

เพราะเมื่อคุณลงมือเร็วขนาดนั้น สมองของคุณจะไม่มีเวลาคิดเยอะ ยังไม่ต้องคิดด้วยซ้ำว่าจะคุยเรื่องอะไร แค่ทักทายแล้วก็ปล่อยไหลตามธรรมชาติ ถ้าพังก็ไม่เป็นไร ยังมีโอกาสเข้าหาสาวคนอื่นได้อีก สุดท้ายคุณจะเก่งขึ้นแน่นอน

แต่ถ้าคุณรอเวลาให้เกิน 3 วินาที สมองของคุณจะมีเวลามากพอให้คิดข้ออ้างต่างๆ นานา คุณกลัวและลังเล และสุดท้ายก็จะไม่ได้คุยกับใครเลย


Mel Robbins เป็นอีกคนที่โด่งดังจากกฎคล้ายๆ กัน นั่นคือ 5-Second Rule

หากเราคิดจะทำอะไรซักอย่างที่เราไม่อยากทำ ให้นับถอยหลัง 5 4 3 2 1 0

เมื่อ 0 เมื่อไหร่ให้ทำทันที

เช้าแล้ว อยากนอนต่อ แต่รู้ว่าต้องลุก ก็นับ 5 4 3 2 1 0 แล้วลุกขึ้นมาทันที

หรือนอนไถเฟซอย่างเพลิดเพลิน แต่รู้ว่าควรหยุด ก็นับ 5 4 3 2 1 0 แล้วเลิกเล่นทันที

การนับถอยหลังจะมีความรู้สึกเหมือนจรวดกำลังจะปล่อยตัว หรือนักวิ่ง 100 เมตรกำลังรอสัญญาณปืน ดังนั้นมันจึงกระตุ้นให้เรารู้สึกว่าเราต้องลงมือทำ


เมื่อปี 2014 พลเรือเอก William H. McRaven ของสหรัฐอเมริกา ขึ้นกล่าวสุนทรพจน์ในพิธีจบการศึกษาของ University of Texas

ประโยคทองของแม็คเรเวนก็คือ “If you want to change the world, start off by making your bed.” – หากคุณอยากเปลี่ยนโลก จงเริ่มต้นด้วยการเก็บเตียง

เมื่อเราเก็บเตียงได้สำเร็จเสียหนึ่งอย่าง เราจะมีกำลังใจและโมเมนตัมในการทำอะไรสำเร็จได้อีกหลายอย่างในวันนั้น และหากเราเก็บเตียงได้เป็นอย่างดีและไร้ที่ติ มันก็จะเป็นการฝึกให้เราทำสิ่งอื่นๆ อย่างเต็มความสามารถด้วยเช่นกัน


ทั้งกฎ 3 วินาทีของหนุ่มที่อยากจีบสาว กฎ 5 วินาทีของคนที่อยากบังคับตัวเองให้ทำในสิ่งที่มีแรงต้าน และการเก็บเตียงทุกเช้า คือเทคนิคที่จะช่วยให้เราเป็นคนที่กล้าลงมือทำมากขึ้น

มันคือการบอกสมองให้ “Go!” ลงมือทำไปเลย ไม่ต้องคิดเยอะ ไม่ต้องหาข้ออ้าง ทำ ทำ ทำ เดี๋ยวก็ดีเอง

แต่ดีเกินดีคือไม่ดี เหรียญย่อมมีสองด้าน และความสมดุลนั้นเป็นสิ่งสำคัญ

สำหรับคนที่ทำงานในองค์กรที่เป็น fast-paced environment ต้อง Go Go Go มาตลอดทั้งวันหรือทั้งสัปดาห์ เราอาจจะเสพติดการ Go มากเกินไปก็ได้

ใครที่ติดเช็ค Slack / Email / LINE คือแค่มีความอยากเกิดขึ้นเมื่อไหร่ หรือเห็น noti เมื่อไหร่ ก็อดไม่ได้ที่จะหยิบมือถือขึ้นมาเช็คและพิมพ์ตอบ พอได้ทำแล้วโดพามีนมันหลั่ง ทำให้เรามีความสุข

เหล่า Social Media ทั้งหลายก็รู้ถึงความจริงข้อนี้ จึงออกแบบโปรดักท์ของตัวเองให้เราติดงอมแงม

ดังนั้น ถ้าเราติดความเป็นคน “Go!” มากเกินไป เราควรจะฝึกความเป็น “No Go!” ด้วยเช่นกัน

เมื่อมีคนทัก Slack มา ให้กลั้นใจเอาไว้ แล้วกลับมาจดจ่อกับงานตรงหน้า

เมื่ออยากกินขนม ให้รออีกซัก 5 นาทีแล้วดูว่ายังอยากกินอยู่มั้ย

เมื่อใครมาพูดจาไม่ดีแล้วรู้สึกว่าอยากจะโต้ตอบเสียเหลือเกิน ก็ห้ามตัวเองไม่ให้ทำแล้วหันกลับไปสนใจงานอื่นแทน

เราเสียเวลา เงิน และสุขภาพไปไม่น้อยเพราะขาดความสามารถที่จะบอกตัวเองให้ No Go กับสิ่งเหล่านี้

การลับดาบควรให้คมทั้งสองฝั่งฉันใด การลับสมองให้คมทั้งสองฝั่งก็สำคัญฉันนั้น

ขอให้เป็นคนที่พร้อม Go กับสิ่งที่มีแรงต้าน และมีสติพอที่จะ No Go กับสิ่งเย้ายวนครับ


ขอบคุณประกายความคิดจาก Andrew Huberman | Farnam Street (The Knowledge Project Podcast) | How to Control Your Impulses So You Don’t Ruin Your Life

อธิบายกฎแรงดึงดูด

20170925_lawofattraction

เมื่อประมาณ 10 ปีที่แล้ว มีหนังสือฝรั่งเล่มหนึ่งที่ดังมาก

หนังสือเล่มนั้นชื่อ The Secret ที่เขียนโดยรอนดา เบิร์น (Rhonda Byrne)

เนื้อหาหลักของหนังสือเล่มนี้ว่าด้วยกฎแรงดึงดูด – Law of Attraction

กฎนี้บอกง่ายๆ ว่าให้คิดถึงสิ่งดีๆ แล้วจะมีแต่เรื่องดีๆ เข้ามาหาเอง

เช่นขับรถเข้าไปในห้างใหญ่ แล้วจินตนาการว่าจะมีที่จอดรถว่าง เดี๋ยวก็จะเจอที่จอดรถว่างจริงๆ

หรือให้คิดถึงความมั่งคั่งร่ำรวยเข้าไว้ แล้วจักรวาลจะนำพาความมั่งคั่งนั้นมาให้

มีคนไม่น้อยที่มองว่ากฎแรงดึงดูดเป็นเรื่องไร้สาระ เพราะถ้าเอาแต่คิดว่าจะมีเงินล้านแต่ไม่ลงมือทำ มันจะไปมีเงินล้านได้อย่างไร

วันนี้เลยอยากจะมานำเสนอกฎแรงดึงดูดในอีกมุมหนึ่งครับ

—–

ในหนังสือ Thinking, Fast and Slow ของเจ้าของรางวัลโนเบล Daniel Kahneman บอกว่าคนเรานั้นมีระบบการคิดอยู่สองแบบ

ระบบที่ 1 (System 1) คือความคิดที่รวดเร็ว ใช้อารมณ์และสัญชาติญาณ

ระบบที่ 2 (System 2) คือความคิดที่ช้ากว่า ใช้ตรรกะและความรอบคอบ

ผมขอเรียกระบบแรกว่าระบบอัตโนมัติ (automatic) และระบบที่สองว่าระบบตั้งใจ (deliberate)

“ระบบตั้งใจ” นั้นจะถูกใช้งานเมื่อจำเป็น เช่นการคิดคำนวณและการวิเคราะห์ ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับการทำงาน แต่ระบบนี้เชื่องช้าและมีขีดจำกัด สังเกตง่ายๆ ว่าตอนค่ำๆ หลังจากทำงานมาทั้งวัน สมองของเราเหนื่อยล้าเกินกว่าจะทำอะไรที่เป็นเหตุเป็นผล เราจึงนอนไถเฟซบุ๊คอยู่ได้เป็นชั่วโมงทั้งๆ ที่เราก็รู้ว่ามันไม่ดี

ส่วน “ระบบอัตโนมัติ” นั้นรวดเร็วกว่าและทำงานได้ทั้งวันอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย มันจึงจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับการใช้ชีวิต เช่นการอาบน้ำแต่งตัว ขับรถไปทำงานและอะไรก็ตามที่เป็นกิจวัตร รวมถึงการตัดสินใจอะไรไวๆ เช่นเจอหน้าคนนี้แล้วเราไม่ถูกชะตา หรือการที่นิ้วโป้งเราหยุดชะงักเมื่อไถฟีดไปเจอเรื่องที่เราสนใจ พูดรวมๆ ก็คือมันเอื้อให้เราทำสิ่งต่างๆ ได้โดยไม่ต้องคิดนั่นเอง

ในแต่ละวันข้อมูลปริมาณมหาศาลจะประเดประดังเข้ามาผ่านประสาทสัมผัสทั้ง 5 โดยระบบอัตโนมัติจะรับเอาไว้เองเกือบทั้งหมด ระบบอัตโนมัติจึงทำหน้าที่เป็น “ตัวกรอง” เพื่อให้เหลือข้อมูลเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่จะหลุดรอดเข้าไปถึง “ระบบตั้งใจ” ซึ่งก็เป็นเรื่องจำเป็น เพราะระบบตั้งใจนั้นทำงานได้ช้าและเหนื่อยง่ายกว่าระบบอัตโนมัติมาก

นั่นคือเหตุผลที่เราสามารถมองเห็นหน้าคนนับร้อยในฝูงชนโดยไม่คิดอะไรจนกว่าจะเจอหน้าคนที่เรารู้จัก

—–

ตั้งแต่เริ่มทำงานมา ผมขับรถอยู่สองยี่ห้อเท่านั้นคือโตโยต้าและนิสสัน และผมก็คิดมาตลอดว่ารถสองยี่ห้อนี้คือรถที่มีจำนวนมากที่สุดในท้องถนนกรุงเทพ

แต่พอวันนึงแฟนอยากจะซื้อรถฮอนด้า จู่ๆ ผมก็เริ่มสังเกตเห็นว่าท้องถนนมีรถฮอนด้ามากกว่าที่คิดไว้เยอะเลย

ตลอดสิบกว่าปีที่ผ่านมาผมก็คงเห็นรถฮอนด้าอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน แต่ฮอนด้าที่ผมเห็นมันถูกกรองด้วยระบบอัตโนมัติออกไปเกือบหมด ผมเลยไม่มีภาพจำอยู่เลยว่าจริงๆ แล้วรถฮอนด้านั้นอาจมีมากกว่านิสสันหรือโตโยต้าซะอีก

สมัยเรียนประถม เวลาผมฟังเพลงผมก็จะได้ยินแต่ “เสียงนักร้อง” และ “เสียงดนตรี”

แต่พอเริ่มเล่นดนตรีตอนชั้นมัธยม ผมก็ฟังเพลงได้ละเอียดกว่าเดิม เริ่มได้ยินเสียงที่ไม่เคยได้ยินอย่าง “เสียงเบส” “เสียงประสาน” หรือเสียงแบ็คกราวด์ที่ทำให้ดนตรีแน่นขึ้น

เมื่อเราใส่ใจกับสิ่งใด เราจะเห็นสิ่งนั้นและได้ยินสิ่งนั้นมากขึ้น เพราะข้อมูลเหล่านั้นจะไม่ถูกคัดออกโดย “ระบบอัตโนมัติ” อีกต่อไป

และนี่น่าจะเป็นคำอธิบายที่ดีสำหรับกฎแรงดึงดูดครับ

หากเราคาดหวังที่จะเจอสิ่งดีๆ ในวันนี้ เราก็จะมองหาแต่สิ่งดีๆ และเมื่อเรามองหามัน มันก็จะถูกส่งมายัง “ระบบตั้งใจ” โดยที่ไม่ถูกคัดทิ้งโดย “ระบบอัตโนมัติ” ไปเสียก่อน

หากเราอารมณ์ดี เราก็จะคาดหวังให้คนอื่นอารมณ์ดีด้วย เราจึงยิ้มง่าย คนอื่นจึงยิ้มตอบ ซึ่งมันก็ทำให้เราเชื่อมั่นเข้าไปอีกว่าวันนี้จะมีสิ่งดีๆ เกิดขึ้น

แต่ในวันที่เราอารมณ์ไม่ดี คิดว่าวันนี้เจอแต่เรื่องแย่ๆ พอสิ่งดีๆ เกิดขึ้น ระบบอัตโนมัติก็จะกรองสิ่งนั้นออกไปจนเรามองไม่เห็น แต่พอมีเรื่องแย่ๆ เกิดขึ้นเพียงหน่อยเดียวเราก็จะมองเห็นมันทันทีและคิดในใจว่า “นั่นไง เอาอีกแล้ว วันนี้วันซวยจริงๆ”

นั่นคือเหตุผลที่เวลาเรามีอคติกับใคร เราจะจับผิดเค้าได้ตลอดเวลา ในขณะที่เวลาเรารักเราหลงใคร ต่อให้เค้ามีสัญญาณไม่ดีอย่างไรเรากลับไม่รู้ตัว ทั้งๆ ที่เพื่อนทุกคนก็เตือนแล้วเตือนอีก

ดังนั้นเราอาจมองกฎแรงดึงดูดว่าเป็นการ “สับสวิทช์ตัวกรองข้อมูล”

จริงๆ ทุกอย่างมันก็เกิดขึ้นตามครรลองของมันนั่นแหละ

แต่เมื่อเราคาดหวังสิ่งดีๆ เราก็จะ “มอง” และ “เห็น” สิ่งดีๆ มากขึ้นเท่านั้นเอง

คนที่จดจ่อเรื่องช่องทางธุรกิจ จึงมองเห็นโอกาสทางธุรกิจตลอดเวลา ในขณะที่คนที่สนใจเรื่องใต้เตียงดารา ก็จะได้รับข่าวเมาธ์ดาราตลอดวันเช่นกัน ยิ่งเดี๋ยวนี้ Facebook มันมีกลไกที่ดึงแต่เรื่องที่เราสนใจขึ้นมาให้ดูเสียด้วย

ก็แล้วแต่เราแล้วล่ะครับว่าจะใช้กฎแรงดึงดูดให้เป็นคุณหรือเป็นโทษกับตัวเอง

——

หนังสือ “Thank God It’s Monday ขอบคุณโลกนี้ที่มีงานประจำ” เริ่มขาดตลาดแล้ว หากหาซื้อไม่ได้ สามารถสั่งออนไลน์กับผม (พร้อมลายเซ็น) ได้ที่ whatisitpress.com ครับ

BookAdvertise