Outlive หนังสือเปลี่ยนชีวิตแห่งปี 2024 – ตอนที่ 2: โรคหัวใจและความเข้าใจผิดเกี่ยวกับคอเลสเตอรอล

ความเดิมจากตอนที่ 1 – Outlive ที่เขียนโดย Peter Attia เป็นหนังสือเปลี่ยนชีวิตแห่งปี 2023/2024 เพราะมันทำให้ผมตระหนักได้ว่า ถ้าไม่ดูแลสุขภาพเสียแต่ตอนนี้ ตอนแก่เราจะเจ็บป่วยและทุกข์ทรมาน จาก “สี่พญามาร” อันได้แก่ เบาหวาน โรคหัวใจ มะเร็ง และโรคสมองเสื่อม

ตอนที่แล้วเราได้คุยถึงพญามารตัวแรกคือเบาหวานไปแล้ว ตอนนี้เราจะมาคุยกันถึงโรคหัวใจครับ โดยส่วนไหนที่ผมหาข้อมูลมาเอง ไม่ได้เอามาจากหนังสือ Outlive ผมจะใส่ไว้ในวงเล็บ [ ] ครับ

[โรคหัวใจหรือ cardiovascular disease เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับหนึ่งของเกือบทุกประเทศในโลก

ซึ่งโรคหัวใจที่เราคุ้นหูกันก็คือหัวใจวาย กับ สโตรค (stroke) ซึ่งไม่เหมือนกัน

หัวใจวาย หรือ heart attack เกิดจากหัวใจขาดเลือด

สโตรค เกิดจากสมองขาดเลือด หรือจะเรียกว่า brain attack ก็จะจำได้ง่ายขึ้น

ทั้งสองโรค เกิดจากภาวะหลอดเลือดแดงแข็ง (Atherosclerosis ออกเสียงว่า “แอ๊ธธะโร สะเค ลอโร้ซิส”) คือการมีไขมันไปสะสมระหว่างหลอดเลือด ทำให้ผนังหลอดเลือดชั้นในหนาตัวขึ้นเรื่อยๆ จนเกิดหลอดเลือดตีบตัน

โรคหัวใจคือสาเหตุการเสียชีวิตอันดับหนึ่งของเกือบทุกประเทศทั่วโลก (ของไทยเป็นอันดับสองรองจากมะเร็ง)

ในปี 2021 มีผู้เสียชีวิตทั่วโลกทั้งหมดประมาณ 58.5 ล้านคน มากกว่า 1 ใน 3 หรือ 20.5 ล้านคนเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจ 

อเมริกามีผู้เสียชีวิตจากโรคหัวใจ 7 แสนคน คิดเป็น 210 คนในประชากรทุกหนึ่งแสนคน

ส่วนประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตจากโรคหัวใจปีละประมาณ 60,000 คน คิดเป็น 84 คนในประชากรทุกแสนคน ซึ่งผมคิดว่าตัวเลขต่ำผิดปกติจนไม่ค่อยอยากเชื่อสถิตินี้ เพราะประเทศอื่นๆ อย่างญี่ปุ่นหรือมาเลเซียล้วนมีอัตราส่วนเกิน 200 คนต่อหนึ่งแสนทั้งนั้น

แม้ตัวเลขจะยังสูงอยู่ แต่ความรู้ความเข้าใจเรื่องโรคหัวใจของเราก็ยังก้าวหน้ากว่าโรคมะเร็งหรือสมองเสื่อม เมื่อเทียบกับ 100 ปีที่แล้ว อัตราการป่วยและเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจลดลงมากที่สุดในบรรดาสี่พญามาร]

เราถูกสอนมาว่า ให้ระวังคอเลสเตอรอลสูง ใครที่คอเลสเตอรอลเกิน 200 นี่น่าเป็นห่วงและควรกินยา

แต่ Dr.Attia บอกว่า ค่า total cholesterol ที่เป็นผลรวมของ HDL, LDL และ Triglyceride นั้นแทบไม่มีประโยชน์ในการทำนายความเสี่ยงของโรคหัวใจ

จริงๆ แล้วคอเลสเตอรอลไม่ได้มีอันตรายต่อร่างกาย เป็นสิ่งที่จำเป็นต่อร่างกายในการสร้างฮอร์โมน วิตามินดี และกรดน้ำดี

สิ่งที่หลายคนอาจไม่รู้ คือคอเลสเตอรอลที่เราได้จากอาหาร เป็นเพียง 20% ของคอเลสเตอรอลทั้งหมดในร่างกายของเราเท่านั้น

อีก 80% ที่เหลือ เป็นคอเลสเตอรอลที่ร่างกายของผลิตขึ้นมาด้วยตัวเอง โดยมีตับเป็นผู้ผลิตหลัก แต่ลำไส้และสมองก็ผลิตคอเลสเตอรอลด้วยเช่นกัน

เรามักจะบอกว่า HDL คือไขมันดี ส่วน LDL คือไขมันร้าย เราจึงนึกว่าไขมันกับคอเลสเตอรอลคือสิ่งเดียวกัน แต่จริงๆ แล้วมันมีอะไรลึกไปกว่านั้น

เนื่องจากคอเลสเตอรอลนั้นไม่ละลายน้ำ จึงไม่อาจเดินทางไปในกระแสเลือดได้ด้วยตัวเองเหมือนกลูโคสหรือโซเดียม คอเลสเตอรอลจำเป็นต้องอาศัยยานพาหนะที่ชื่อว่า lipoprotein (“ลิโปโปรตีน”)

HDL ย่อมาจาก High Density Lipoprotein ส่วน LDL ก็ย่อมาจาก Low Density Lipoprotein

Density ในที่นี้หมายถึงความหนาแน่นของอะไร?

มันคือความหนาแน่นของโปรตีนเมื่อเทียบกับไขมัน

HDL ก็คือ lipoprotien ที่มีสัดส่วนของโปรตีนสูงเมื่อเทียบกับไขมัน และ Low Density ก็แปลว่ามีความเข้มข้นของโปรตีนไม่เยอะ หรือแปลว่ามีไขมันเยอะนั่นเอง

ทั้ง HDL และ LDL คือยานพาหนะที่ลำเลียงคอเลสเตอรอลไปยังส่วนต่างๆ ของร่างกาย แถมยังมีการถ่ายเทคอเลสเตอรอลระหว่าง HDL กับ LDL อีกด้วย

พูดง่ายๆ ก็คือ คอเลสเตอรอลเป็น “สัมภาระ” ส่วน HDL หรือ LDL เป็น “เรือดำน้ำ” ที่เคลื่อนย้ายสัมภาระไปมา

คอเลสเตอรอลซึ่งเป็นสัมภาระและจำเป็นต่อการใช้ชีวิตจึงไม่ได้เป็นอันตรายต่อร่างกาย สิ่งที่เป็นอันตรายคือเรือดำน้ำอย่าง LDL ต่างหาก

เวลาตรวจเลือด เรามักจะดูค่า LDL-C โดย C ย่อมาจาก Cholestorol

LDL-C ก็คือคอเลสเตอรรอลที่ถูกขนส่งด้วยเรือดำน้ำ LDL

หมอบอกว่า LDL-C ไม่ควรสูงกว่า 130 mg/dL (dL = decilitre)

แต่ตัวปัญหาจริงๆ คือสิ่งที่ติดมากับ LDL ที่เรียกว่า apoB อ่านว่า “เอโพบี” โดย apo ย่อมาจาก apolipoprotein และ apo คือ prefix มีความหมายว่า away

apoB เป็นเหมือนขดลวดหุ้มอยู่รอบตัว LDL อีกที แถม apoB ไม่ได้มีแค่ใน LDL แต่มีอยู่ใน VLDL และ IDL ด้วย (VL = Very Low, I = Intermediate) อีกด้วย

ขณะที่ HDL ก็มีขดลวดรอบๆ เหมือนกัน ชื่อว่า apoA แต่มีพฤติกรรมต่างออกไป 

ดังนั้น ถ้าอยากรู้ว่าเรามีความเสี่ยงโรคหัวใจแค่ไหน ตอนตรวจเลือดควรบอกพยาบาลว่าอยากดูค่า apoB ด้วย [ซึ่งธรรมดาเขาไม่ค่อยวัดกัน ผมกลับไปดูประวัติการตรวจสุขภาพของตัวเองก็ไม่มีค่านี้ ดังนั้นถ้าอยากวัดอาจต้องจ่ายเงินเพิ่ม]

เพื่อให้เห็นภาพว่า apoB สร้างปัญหาอย่างไร ให้ลองนึกถึงบ้านเรือนในเมืองนอกที่อยู่กันเป็นบล็อคเรียงรายอย่างเป็นระเบียบ 

ถนนหรือ street ที่พาดผ่านหน้าบ้านคือเส้นเลือดของเรา และรั้วบ้านด้านนอกคือผนังหลอดเลือด

เวลา HDL วิ่งผ่านมา apoA ที่หุ้ม HDL อยู่ก็จะติดอยู่ตามรั้วบ้าน อาจเข้ามาทักทายเจ้าของบ้านตรงระเบียงหน้าบ้าน (porch – พื้นที่ระหว่างรั้วบ้านกับตัวบ้าน) แต่พอสักพักก็จะร่ำลาและจากไป

แต่พอเวลา LDL/VLDL/IDL วิ่งผ่านมา apoB จะติดตามรั้วบ้าน เข้ามาตรงระเบียงบ้าน แล้วก็นั่งแช่อยู่อย่างนั้นไม่ยอมจากไปไหน แถมยังช่วนเพื่อนๆ apoB ตัวอื่นๆ ที่ผ่านมาให้มาปูเสื่อจัดปาร์ตี้กันอย่างอิ่มหนำสำราญในรั้วบ้านคนอื่นหน้าตาเฉย

ซึ่งเมื่อ apoB มาซ่องสุมอยู่นานๆ เข้า ก็จะเกิดกระบวนการ oxidation และเริ่มเกาะติดแน่น 

จากนั้น ร่างกายก็จะแก้ปัญหาด้วยการโทร 191 เรียกเม็ดเลือดขาวชื่อ monocyte ที่ทำตัวเหมือนแพ็คแมน (Pac-Man) ออกมากินพวก apoB เกเรเหล่านี้

แต่ถ้ากินมากเกินไปเม็ดเลือดขาวก็จะท้องแตกกลายร่างเป็นสิ่งที่มีหน้าตาคล้ายๆ กับเมล็ดโฟมสีขาว (foam cell) เมื่อมีเมล็ดโฟมสีขาวเรียงรายกันเยอะ ผนังเลือดก็จะมี “ลายไขมัน” (fatty streak) ติดอยู่ 

ซึ่งลายไขมันนี้เกิดได้ตั้งแต่คนวัยหนุ่มสาวเลยทีเดียว ผลการชันสูตรศพของคนที่เสียชีวิตจากสาเหตุอื่นๆ เช่นอุบัติเหตุหรือการฆาตรกรรม ก็ล้วนเจอลายไขมันเกาะผนังหลอดเลือด จึงมีการคาดการณ์ว่าประมาณ 1 ใน 3 ของคนอายุ 16-20 ปีก็มีลายไขมันบนผนังหลอดเลือดกันแล้ว

แสดงว่าผู้อ่านหนังสือเล่มนี้ (หรือบทความนี้) ก็น่าจะมีลายไขมันเกาะผนังหลอดเลือดแล้วเช่นกัน แถมยังไม่มีวิธีการตรวจพบได้อีกด้วย

แต่ไม่ต้องเป็นกังวลไป เราคงไม่ได้เป็นโรคหัวใจเร็วๆ นี้ สิ่งที่เราต้องตระหนักก็คือ กว่าเราจะหัวใจวายหรือเป็นสโตรค ต้องใช้เวลาสะสมของปัจจัยนานเป็นสิบปี ไม่มีใครเป็นสโตรคจากสาเหตุเพียงชั่วข้ามคืน

เมื่อ foam cell สะสมขึ้นมากๆ ก็จะกลายเป็นคราบที่ยังไม่ได้เกาะตัวแน่น (non-calcified plaque) พอนานๆ ไปก็จะพัฒนาไปเป็นคราบหินปูนหรือตะกรัน (calcified plaque) ซึ่งเมื่อถึงขั้นนี้เราสามารถใช้เครื่อง Calcium Scan ในการตรวจหาคราบหินปูนได้

ตัวคราบหินปูนนั้นเอาจริงๆ ไม่ได้อันตรายเท่าไหร่เพราะว่าเกาะติดแน่นอนและข้างเสถียร แต่การมีอยู่ของคราบหินปูนในหลอดเลือดคือสัญญาณที่บอกเราว่าเส้นเลือดของเรามีคราบที่ไม่เสถียรเกาะอยู่ไม่น้อย และถ้าคราบนี้หลุดออกจากผนังหลอดเลือด ล่องลอยไปตามกระแสเลือดและไปขัดขวางการจราจร ก็ย่อมนำไปสู่ heart attack (หัวใจวาย) หรือ brain attack (สโตรค) ได้นั่นเอง

นอกจาก apoB แล้ว ยังมีวายร้ายอีกตัวหนึ่งที่คนไม่ค่อยรู้จัก ชื่อว่า Lp(a) (“แอลพีลิทเทิ่ลเอ”) ซึ่งคนที่มีค่านี้สูงๆ มีโอกาสที่จะ “หัวใจวายก่อนวัยอันควร” (premature heart attacks)

ค่า Lp(a) สูงเกิดจากกรรมพันธุ์ บางคนมีค่านี้สูงกว่าคนปกติถึงร้อยเท่า ดังนั้นถ้าใครมีคนในครอบครัวมีประวัติเป็นโรคหัวใจ ก็ควรตรวจเลือดหาค่านี้ด้วยเช่นกัน

คำถามสำคัญก็คือเราจะลดความเสี่ยงจากโรคหัวใจได้อย่างไร

แม้จะมีความเชื่อว่าการมี “ไขมันตัวดี” อย่าง HDL สูงๆ จะช่วย แต่ Dr.Attia บอกว่าจากงานวิจัยยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจนว่า HDL ที่สูงจะลดความเสี่ยงจากโรคหัวใจได้จริงๆ

ถ้าอยากลดความเสี่ยงโรคหัวใจ สิ่งที่ต้องโฟกัสคือการลดค่า LDL ให้ต่ำที่สุด (ซึ่งก็จะทำให้ apoB ซึ่งเป็นวายรายตัวจริงน้อยลงไปโดยปริยาย)

การออกกำลังกาย ไม่ได้ช่วยให้ค่า LDL ลดลง (อย่างน้อยก็ไม่ใช่ในทางตรง) การลดค่า LDL ที่ได้ผล ก็คือการปรับพฤติกรรมการกินและการใช้ยา

เพื่อจะลด LDL เราควรหลีกเลี่ยงไขมันอิ่มตัว (saturated fats) ที่มาจากเนื้อสัตว์บก และกินไขมันไม่อิ่มตัว (unsaturated fats) ที่มาจากพืชหรือปลา

[จากประสบการณ์ตรงของคนที่ไม่ได้สนใจเรื่องอาหารการกินเท่าไหร่ ผมไม่เคยจำได้ว่าเลยว่า อะไรคือไขมันอิ่มตัว อะไรคือไขมันไม่อิ่มตัว แต่ผมพบวิธีจำได้ง่ายๆ แล้ว นั่นก็คือ อะไรที่กินแล้ว “อิ่มท้อง” ก็มักจะมีไขมัน “อิ่มตัว” (เนื้อ หมู ไก่ แกะ) อะไรที่กินแล้วไม่ค่อยอยู่ท้องเท่าไหร่ ก็คือไขมันไม่อิ่มตัว (ปลา อะโวคาโด แอลมอนด์ฯลฯ)

เมื่อ 20 กว่าปีที่แล้ว มีหลายองค์กรออกมาเตือนให้ระวังการบริโภคไข่ไก่ เพราะจะทำให้คอเลสเตอรอลสูง แต่ในเมื่อไข่ไก่ไม่ได้มีไขมันอิ่มตัว การกินไข่จึงไม่ได้เพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหัวใจแต่อย่างใด เพราะมันไม่ได้ไปเพิ่ม LDL

Peter Libby หนึ่งในผู้เชี่ยวชาญด้านนี้ เคยกล่าวไว้ว่า โรคหัวใจอาจจะสูญพันธุ์ ถ้าประชากรทุกคนมีค่า LDL-C เท่ากับตอนที่เราอยู่ในวัยทารก คือประมาณ 20 mg/dL เท่านั้น

Dr.Attia บอกว่า LDL ยิ่งต่ำเท่าไหร่ยิ่งดี ไม่มีค่า LDL ที่ต่ำเกินไป ยิ่งโดยเฉพาะคนที่ครอบครัวมีประวัติโรคหัวใจ ควรหาทางทำให้ LDL ต่ำที่สุดเท่าที่จะทำได้ การตั้งเป้าให้ LDL-C ต่ำกว่า 100 จึงเป็นสิ่งที่ควรทำ แม้ว่าจะต้องใช้ยาอย่างสแตติน (Statin) ก็ตาม

[ผมคิดว่า Dr.Attia อาจจะสุดโต่งเกินไปหน่อย การยอมใช้ยาเพื่อให้ได้ตามเป้าหมายอาจจะไม่ค่อยเหมาะสมกับบริบทคนไทยที่หาซื้อยา Statin จากร้านขายยาได้โดยง่าย และอาจบริโภคมากเกินไปโดยที่ไม่ได้ปรึกษาหมอ]

[อีกประเด็นไม่ได้กล่าวไว้ในหนังสือ แต่ผมอยากจะชวนคุย ก็คือเรื่องการกินอาหารทะเล ซึ่งคนไทยชอบแซวกันว่า ก่อนไปตรวจสุขภาพ ห้ามกินอาหารทะเล ไม่งั้นจะโดนหมอดุเพราะคอเลสเตอรอลสูง

แต่ก็เช่นเดียวกับไข่ไก่ อาหารทะเลอย่างกุ้งหรือปลาหมึกนั้นไม่ได้มีไขมันอิ่มตัวเหมือนเนื้อหมู เนื้อไก่ เนื้อวัว (ซึ่งทำให้ตับผลิต LDL มาก และมี apoB ที่สร้างปัญหาให้หลอดเลือดแข็ง) แถมอาหารทะเลยังมีโอเมกา 3 ที่ทำให้ HDL สูงขึ้นอีกด้วย

ดังนั้น แม้การกินอะไรทะเลอาจทำให้ค่า total cholestorol ที่มาจาก HDL+LDL+Triglyceride สูงขึ้นก็จริง แต่จะเป็นการสูงในส่วนของ HDL ซึ่งเป็นเรื่องดี และไม่ได้ทำให้ LDL สูงขึ้นแต่อย่างใด

ตราบใดที่เรากินอาหารทะเลอย่างพอประมาณ ก็อาจไม่มีความจำเป็นต้องกังวลว่ามันจะทำให้สุขภาพของเราแย่ครับ]

ในตอนต่อไป เราจะพูดถึงพญามารตัวที่ 3 ซึ่งคนไทยน่าจะหวาดกลัวมากที่สุด

โรคมะเร็งครับ


Outlive ตอนที่ 1: โรคเบาหวานและเหตุผลที่ Outlive เป็นหนังสือเปลี่ยนชีวิตประจำปี 2024

Outlive ตอนที่ 2: โรคหัวใจและความเข้าใจผิดเกี่ยวกับคอเลสเตอรอล

Outlive ตอนที่ 3: ความหวังของการรักษามะเร็งให้หายขาด

Outlive ตอนที่ 4: โรคอัลไซเมอร์

Outlive ตอนที่ 5: KPI ที่สำคัญที่สุดสำหรับอายุที่ยืนยาว

Outlive ตอนที่ 6: VO2 Max และความสับสนเกี่ยวกับ Zone 2 Training

Outlive ตอนที่ 7: Strength และ Stability มิติที่คนออกกำลังกายมองข้าม

Outlive ตอนที่ 8: กินน้อย / ทำ IF แล้วสุขภาพดีจริงหรือ

Outlive ตอนที่ 9: การนอนหลับและสุขภาพทางอารมณ์

บทเรียนสำคัญจาก Outlive หนังสือเปลี่ยนชีวิตแห่งปี 2024 (ตอนที่ 1)

ผมได้อ่านหนังสือ Outlive: The Science & Art of Longevity ของ Peter Attia จบเมื่อตอนต้นเดือนพฤศจิกายน 2023 และอ่านซ้ำอีกครั้งช่วงกลางเดือนธันวาคม 2023 ตั้งใจจะเขียนบล็อกนี้ให้เสร็จก่อนสิ้นปี แล้วตั้งชื่อบทความว่า หนังสือเปลี่ยนชีวิตแห่งปี 2023 แต่ปรากฎว่าไม่ทัน ก็เลยขอตั้งชื่อบทความนี้ว่าเป็น “หนังสือเปลี่ยนชีวิตแห่งปี 2024” แทนแล้วกันนะครับ

โดยตอนแรกผมตั้งใจว่าจะเขียนให้จบแล้วปล่อยเป็นตอนเดียวไปเลย แต่กลับใช้เวลานานกว่าที่คิดไว้มาก จึงเปลี่ยนแผนมาทยอยปล่อยบทความเป็นตอนๆ โดยคิดว่าน่าจะจบบริบูรณ์ภายในเดือนกุมภาพันธ์

Key Message ของหนังสือเล่มนี้คือ “จงอย่าคิดไปเองว่าเราจะยังแข็งแรงในวัยชรา จงดูแลตัวเองตั้งแต่วันนี้ และวิธีที่ดีที่สุดคือการออกกำลังกาย”

เรื่องออกกำลังกายเป็นสิ่งที่พูดซ้ำกันจนเบื่อ ใครที่อายุเกินสี่สิบอาจมีทำนองเพลง “กีฬากีฬาเป็นยาวิเศษ” ลอยเข้ามาในหัวด้วยซ้ำ

—–

คนเราเวลาแก่ตัวลง มักจะมีเรื่องกลัวอยู่ไม่กี่อย่าง

หนึ่งคือกลัวไม่มีเงินใช้ สองคือกลัวเจ็บป่วย สามคือกลัวตาย

ข้อหนึ่งมีคนพูดถึงเยอะแล้ว ส่วนข้อสามก็ยากมาก ต้องพึ่งความเข้าใจทางจิตวิญญาณ ซึ่งไม่รู้จะเข้าถึงได้เมื่อไหร่หรือจะมีวันเข้าถึงได้หรือเปล่า

ส่วนข้อสอง การกลัวความเจ็บป่วยนั้น สิ่งที่หลายคนทำคือซื้อประกัน ซึ่งเอาเข้าจริงมันไม่ได้ป้องกันให้เราไม่เจ็บป่วย แค่ช่วยให้เราไม่หมดตัวเวลาป่วยหนักเท่านั้น

ด้วยวิถีชีวิตของคนเราทุกวันนี้ที่ทำงานที่บ้าน ขยับตัวน้อยกว่าแต่ก่อน (sedentary lifestyle) และความจริงที่ว่าประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมสูงวัย ผมคิดว่าการกลับมาใส่ใจเรื่องสุขภาพตั้งแต่วัยขึ้นเลขสามหรือเลขสี่เป็นการปรับกระบวนทัศน์ (paradigm shift) ที่จำเป็นมากๆ สำหรับการมีคุณภาพชีวิตที่ดีในวัยเกษียณ สามารถช่วยเหลือตัวเองได้โดยที่ไม่เดือดร้อนลูกหลาน (แถมหลายคนเลือกที่จะไม่มีลูกด้วย) ไม่ต้องอยู่อย่างทุกข์ทรมานกับอาการเจ็บป่วยเรื้อรังในช่วง 10 ปีสุดท้ายของชีวิต

มันคือการสบตากับความจริงที่ว่า สังขารของเราต้องโรยรา และอาจโรยราเร็วกว่ารุ่นพ่อรุ่นแม่ของเราด้วยซ้ำ ใครจะไปนึกว่าตอนอายุ 40 เราจะปวดหลังได้ขนาดนี้ ตอนพ่อแม่อายุเท่าเราเขาดูแข็งแรงกว่าเราตอนนี้อย่างชัดเจน

การเตรียมพร้อมตั้งแต่เนิ่นๆ ย่อมง่ายกว่าและมีโอกาสสำเร็จมากกว่าไปเริ่มเตรียมพร้อมตอนอายุ 50 หรือ 60 (แต่ถึงคุณจะอายุ 60 แล้วจะเริ่มก็ยังไม่สายเกินไปนะครับ)

ผมใช้เวลาเขียนบทความนี้ข้ามปี เนื่องจากผมไม่ค่อยมีความรู้เรื่องโรคภัยไข้เจ็บและอาหารการกิน เลยต้องหาข้อมูลอ่านเพิ่มเองเยอะมาก หากมีข้อผิดพลาดประการใด รบกวนท้วงติงด้วยนะครับ

ความหวังสำคัญของผม คือให้บทความชิ้นนี้เปลี่ยนทิศทางชีวิตของผู้อ่าน ด้วยการหันมาเริ่มดูแลสุขภาพของตัวเองอย่างจริงจังตั้งแต่วันนี้

แล้วอีก 20 หรือ 30 ปีข้างหน้า เราจะนึกกลับมาขอบคุณตัวเองที่ใช้ชีวิตด้วยความไม่ประมาทครับ

======

เกี่ยวกับหนังสือและผู้เขียน

======

Outlive อ่านว่า เอ๊าท์ลีฟ

Live แปลว่าการมีชีวิตอยู่

Out ในที่นี้คือ “การทำให้มากกว่า” เช่น 

outrun – วิ่งเร็วกว่า 

outnumber – มีจำนวนมากกว่า

outdo – ทำได้ดีกว่า

Outlive จึงแปลว่าอยู่ได้นานเกินกว่าคนทั่วไปหรือนานเกินกว่าค่าเฉลี่ย

ผู้เขียนชื่อ Dr.Peter Attia เคยเรียนจบตรีด้านวิศกรรมเครื่องกล ก่อนไปเรียนจบปริญญาเอกที่ Stanford University School of Medicine ได้ทำงานกับ John Hopkins Hospital อยู่ 5 ปี และที่ National Cancer Institute อีก 2 ปีในฐานะหมอโรคมะเร็งผิวหนัง (melanoma)

ผมได้ยินชื่อ Peter Attia โดยบังเอิญจาก YouTube ถ้าลองไปเสิร์ชดูจะเห็นว่าเขาได้ให้สัมภาษณ์และทำพ็อดแคสต์เอาไว้เยอะมาก 

Dr.Attia บอกว่าเขาใช้เวลาเขียน Outlive อยู่ถึง 6 ปี เป็นหนังสือเล่มแรกและน่าจะเป็นหนังสือเล่มสุดท้ายในชีวิตของเขา ผมเลยลองไปหาที่ร้าน AsiaBooks สาขาซีคอนแสควร์ตอนเดือนตุลาคม 2023 ปรากฎว่ามีแค่เล่มเดียวแถมยังเป็นปกแข็ง ราคาก็แรงอยู่ แต่ก็ตัดสินใจซื้อมาอ่าน

ปรากฎว่าสนุกกว่าที่คิด เป็นหนังสือที่ผมขีดไฮไลต์มากที่สุดในปี 2023 ความลำบากคือมีข้อเสียตรงที่ศัพท์ทางเทคนิคเยอะ แถมผู้เขียนก็ค่อนข้างสุดโต่งในหลายเรื่องเพราะแก geek มากๆ

ผมอ่าน Outlive จบตอนต้นเดือนพฤศจิกายน แต่ก็ยังไม่ได้เขียนถึงในบล็อกนี้เพราะยังไม่แน่ใจว่ามันจะมีอิมแพ็กต์กับชีวิตผมมากแค่ไหน

แต่เมื่อเวลาผ่านไป ก็พบว่าตัวเองคิดถึงหลายประเด็นที่ Outlive พูดถึงอยู่หลายครั้ง จึงคิดว่าคงถึงเวลาที่จะฮึดขึ้นมาเขียนบล็อกยาวๆ อีกสักตอน เพื่อเป็นของขวัญให้ตัวเองและเป็นของขวัญให้ผู้อ่านบล็อก Anontawong’s Musings สำหรับปีใหม่

เพื่อเรียกน้ำย่อย ขอจั่วหัวบางประเด็นที่จะพูดถึงในบทความนี้เอาไว้หน่อย

– หนึ่งในปัจจัยการเสียชีวิตที่สำคัญที่สุดของคนวัยเกษียณคือ “การล้ม” – เราคงเคยได้ยินเรื่องราวของญาติผู้ใหญ่หลายคนที่ล้มทีนึงแล้วสุขภาพทรุดเลย – เราจะทำอะไรได้บ้างเพื่อที่จะลดโอกาสที่พ่อแม่ของเราจะล้ม รวมถึงโอกาสที่เราจะล้มในวันที่เราแก่กว่านี้?

– ลักษณะอะไรที่คนอายุยืนเกิน 100 ปีมีเหมือนกัน?

– ทำไมการดื่มน้ำผลไม้จึงอาจไม่ดีต่อสุขภาพ?

– คอเลสเตอรอลสูงไม่ดีจริงหรือ?

– จะเพิ่มโอกาสในการรักษามะเร็งให้หายขาดได้อย่างไร?

– อัลไซเมอร์มีทางรักษาหรือไม่?

– KPI ตัวไหนที่ทำนายอายุขัยของเราได้ดีที่สุด?

เนื่องจากบางหัวข้อจำเป็นต้องมีการปูพื้นฐาน เนื้อหาส่วนไหนที่ผมเพิ่มเติมเข้าไปเอง จะใส่ไว้ในวงเล็บ [ ] กำกับไว้นะครับ

=======

Lifespan vs Healthspan

=======

แน่นอนว่าทุกคนอยากอายุยืน ซึ่งเป็นสิ่งที่การแพทย์ยุคใหม่ทำได้ดี อายุคาดเฉลี่ยของมนุษย์ในศตวรรษที่ผ่านมานั้นเพิ่มขึ้นถึงเท่าตัว

นั่นหมายความว่าถ้าตอนนี้เราคิดว่าจะอายุถึง 80 ปี เมื่อร้อยปีที่แล้วเราจะมีอายุคาดเฉลี่ยเพียง 40 ปีเท่านั้น คิดแล้วก็สั้นจนน่าใจหาย

แต่แม้ว่าการแพทย์สมัยนี้จะทำให้เราอายุยืนยาวขึ้น แต่คุณภาพชีวิตในช่วง 10 ปีสุดท้ายนั้นไม่น่าอภิรมย์เท่าไหร่

พอเลยวัย 65 หรือ 70 ปี สุขภาพของเราจะทรุดโทรมเร็วมาก บางคนต้องเข้า-ออกโรงพยาบาลเป็นกิจวัตร บางคนนั่งรถเข็น บางคนช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ บางคนเป็นผู้ป่วยติดเตียง ทศวรรษสุดท้ายจึงเป็น”ทศวรรษชายขอบ” (marginal decade) ของคนจำนวนไม่น้อย คือยังหายใจอยู่ แต่ชีวิตก็เต็มไปด้วยความเจ็บป่วยและความทุกข์ทางกายและทางใจ จนไม่แน่ใจว่าอายุที่ยืนยาวนั้นเป็นพรหรือเป็นคำสาป

สิ่งที่เราควรใส่ใจไม่น้อยกว่า lifespan ก็คือ healthspan คือนอกจากอายุขัยจะยืนยาวแล้ว เราควรตั้งความหวังและตั้งใจที่จะมีสุขภาพดีไปจนถึงช่วงทศวรรษสุดท้าย และแม้กระทั่งช่วงเดือนปีสุดท้ายของชีวิตด้วย

=======

Medicine 3.0

=======

ในมุมมองของ Peter Attia การแพทย์ของเรามีอยู่สามยุค

Medicine 1.0 – เริ่มต้นจากชาวกรีกนาม ฮิปโปเครติส Hippocrates ในสมัย 460 ปีก่อนคริสตกาล ผู้ได้รับฉายาว่าเป็น “บิดาแห่งการแพทย์”

Medicine 2.0 – เริ่มต้นในช่วงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 19 จากคนอย่าง Louis Pasteur ที่ค้นพบแบคทีเรียที่ทำให้อาหารเน่า และ Robert Kosch ที่พบว่าจุลินทรีย์เป็นต้นเหตุของวัณโรคและอหิวาตกโรค

การค้นพบว่าโรคติดต่อเกิดจากเชื้อโรคนั้น ทำให้ Medicine 2.0 ช่วยมนุษชาติเอาชนะโรคโปลิโอและโรคฝีดาษ รวมถึงจำกัดการทำลายล้างของเชื้อ HIV ได้

แต่ Medicine 2.0 ก็ยังมีข้อจำกัด คือส่วนใหญ่แล้วมันช่วยรักษามนุษย์จากอุบัติเหตุและโรคติดต่อ (fast death) แต่กลับไม่ได้สร้างความคืบหน้ามากนักสำหรับโรคเรื้อรัง (slow death) อย่างเช่นโรคมะเร็ง

ในระหว่างปีค.ศ. 1900-2000 อัตราการเสียชีวิตจากการเจ็บป่วยต่อประชากร 100,000 ลดจาก 1,600 เหลือ 800 คน

แต่ถ้าตัดการเสียชีวิตจากโรคติดต่อ 8 อันดับแรกออกไป อัตราการเสียชีวิตต่อประชากร 100,000 คนลดลงจาก 1100 คน เหลือ 800 คนเท่านั้น

Medicine 3.0 คือสิ่งที่ Peter Attia พยายามจะผลักดัน โดยมีข้อแตกต่างจาก Medicine 2.0 สี่ข้อด้วยกัน

หนึ่ง เน้นการป้องกันมากกว่าการรักษา

สอง มองคนไข้แต่ละคนเป็นปัจเจก และออกแบบการรักษาเพื่อคนไข้คนนั้นโดยเฉพาะ

สาม ประเมินความเสี่ยงต่างๆ อย่างตรงไปตรงมา รวมถึงความเสี่ยงที่จะไม่ทำอะไรเลยด้วย

สี่ ซึ่งเป็นข้อสำคัญที่สุด ในขณะที่ Medicine 2.0 ให้ความสำคัญกับ lifespan และการยื้อยุดกับความตายบนเตียงโรงพยาบาล Medicine 3.0 จะให้ความสำคัญกับ healthspan และการมีคุณภาพชีวิตที่ดีให้ได้ยาวนานที่สุด

ระบบสาธารณสุขและธุรกิจประกันสุขภาพยังใช้โลกทัศน์แบบ Medicine 2.0 แทบไม่มีบริษัทประกันเจ้าไหนที่จะยอมจ่ายเงินให้หมอสั่งคนไข้ให้ระมัดระวังเรื่องการกินและคอยมอนิเตอร์ค่าน้ำตาลในเลือด แต่หากคนไข้เป็นเบาหวานเมื่อไหร่ บริษัทประกันพร้อมจะจ่ายค่ายาฉีดอินซูลินซึ่งใช้เงินสิ้นเปลืองกว่ามาก

“Nearly all the money flows to treatment rather than prevention – and when I say “prevention,” I mean prevention of human suffering.”

Medicine 3.0 เชื่อว่าการป้องกันนั้นใช้เงินน้อยกว่าและทรงประสิทธิภาพมากกว่ามากนัก โดยเฉพาะเมื่อวัดกันในเรื่องการลดความทุกข์ทรมานของมนุษย์

=======

สี่พญามาร

=======

[ในพระคัมภีร์ศาสนาคริสต์ ในยามที่โลกถึงวันพิพากษา จตุรอาชา (The Four Horsemen of Apocalypse) จะปรากฎตัวและนำไปสู่วันสิ้นโลก โดยจตุรอาชาได้แก่ โรคระบาด สงคราม ความอดอยาก และความตาย]

ในหนังสือ Outlive Dr.Attia บอกว่าจตุรอาชาของโรคเรื้อรัง ได้แก่

1.เบาหวาน (Metabolic Dysfunction)

2.โรคหัวใจ

3.มะเร็ง

4.สมองเสื่อม เช่นอัลไซเมอร์

เพื่อให้เข้ากับบริบทไทย ผมขอเปลี่ยนคำว่า จตุรอาชา เป็น “พญามาร” แล้วกันนะครับ

ทั้งสี่โรคนี้เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้นๆ ทั่วโลก เป็นโรคที่ไม่ติดต่อ กินเวลายาวนานกว่าจะออกอาการ และทั้งสี่โรคนี้อาจมีความเชื่อมโยงกันมากกว่าที่เราคิด

ในบรรดาคนที่อายุยืนเกิน 100 ปี (centenarian) พวกเขาจะเริ่มเป็นโรคเหล่านี้ช้ากว่าคนอื่นๆ นับทศวรรษ

ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเราเป็นคนทั่วไป เมื่อเราอายุถึง 72 ปี เราจะมีโอกาสเป็นมะเร็งชนิดใดชนิดหนึ่งถึง 20%

แต่ในคนที่อายุยืนยาวเกิน 100 ปี กว่าที่พวกเขาจะมีโอกาสเป็นมะเร็งถึง 20% นั้น ต้องรอถึงอายุ 92 ปีเลยทีเดียว

โรคอื่นๆ อย่างสโตรค (stroke) หรือสมองเสื่อมก็เกิดกับคนกลุ่มนี้ช้ามาก หรืออาจจะไม่เกิดเลย

เราอาจเคยได้ยินเรื่องราวของฝรั่งหรือแม้กระทั่งคนไทยที่อายุยืนทั้งๆ ที่สูบบุหรี่และดื่มเหล้าเยอะ แต่ขอให้รู้ว่านั่นเป็นเพราะพวกเขาโชคดีกว่าเรา

คนที่อายุยืนโดยไม่ต้องพยายามนั้นเกิดจากพันธุกรรมเป็นหลัก ถ้าพ่อแม่หรือพี่น้องของเราอายุยืน เราก็มีโอกาสที่จะอายุยืนเช่นกัน

แต่ถ้าพ่อแม่ของเราเป็นคนปกติ เราก็มีแนวโน้มที่จะมีอายุขัยเท่าคนปกติ และมีแนวโน้มที่จะป่วยด้วยหนึ่งใน 4 โรคพญามาร

ดังนั้น ถ้าเราอยาก Outlive และหลบหลีกพญามาร เราต้องทำความรู้จักกับพญามารว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร และเริ่มดูแลตัวเองให้ดีเสียแต่เนิ่นๆ เพื่อลดโอกาสหรือถ่วงเวลาของการมาถึงของพญามารให้นานที่สุด

=======

พญามารตัวที่ 1 – เบาหวาน

=======

[โรคเบาหวานชนิดที่ 2 (Type 2 Diabetes) เป็นโรคเบาหวานที่พบบ่อยที่สุด เกิดจากร่างกายมีภาวะดื้ออินซูลิน ต่างจากโรคเบาหวานชนิดที่ 1 ที่ตับอ่อนไม่ผลิตอินซูลินเลย

อินซูลินเป็นฮอร์โมนที่ผลิตจากตับอ่อน ทำหน้าที่เผาผลาญคาร์โบไฮเดรตและไขมัน และเปลี่ยนน้ำตาลในร่างกายไปเป็นไขมัน ถ้าตับอ่อนผลิตสารอินซูลินได้น้อย หรือไม่ได้เลย น้ำตาลก็จะตกค้างอยู่ที่กระแสเลือด และทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น]

ธรรมดาน้ำตาลที่อยู่ในกระแสเลือดเราทั้งร่างกายนั้นมีอยู่แค่ 5 กรัมหรือประมาณ 1 ช้อนชา

ส่วนคนที่เป็นเบาหวานนั้นมีน้ำตาลอยู่ในกระแสเลือด 7 กรัมหรือ 1 ช้อนชาครึ่ง

เรามีเลือดในร่างกายประมาณ 5 ลิตร แต่ความแตกต่างของคนปกติกับคนเป็นเบาหวาน อยู่ที่น้ำตาลในเลือดที่มากขึ้นแค่ครึ่งช้อนชาเท่านั้น!

เบาหวาน เป็นหนึ่งในอาการของ Metabolic Dysfunction คือกระบวนการเผาผลาญที่ผิดปกติ

อีกหนึ่งอาการของ Metabolic Dysfunction ก็คือภาวะไขมันพอกตับ (Non-alcoholic fatty liver disease – NAFLD)

หนังสือบอกว่าประชากรถึง 1 ใน 4 ของโลกมีภาวะนี้อยู่ และเป็นกันตั้งแต่วัยรุ่น! และหากอาการแย่ลงก็อาจกลายเป็นภาวะตับอักเสบ (nonalcoholic steatohepatitis – NASH )

เราอาจจะคิดว่าเราผอม เราไม่อ้วน เราไม่เป็นไร แต่แท้จริงแล้วคนผอมอาจจะมีความเสี่ยงภาวะไขมันพอกตับมากกว่าคนอ้วนด้วยซ้ำ

เพราะพื้นที่ที่ปลอดภัยที่สุดในการสะสมไขมันในร่างกาย คือไขมันใต้ผิวหนัง (subcutaneous fat) คนที่อ้วน จ้ำม่ำ หรือตุ้ยนุ้ย ก็คือคนที่มีไขมันใต้ผิวหนังอยู่ทั่วร่างกาย ไขมันก็จะไปเก็บอยู่ตามแขนตามขาซึ่งไม่เป็นอันตราย

แต่สำหรับคนผอม ที่ไม่มีพื้นที่ให้สะสมไขมันใต้ผิวหนัง ไขมันเหล่านั้นจะหลุดไปสะสมอยู่ตามอวัยวะที่ไม่ควรอยู่ เช่นตามอวัยวะช่องท้องอย่างตับ ไขมันที่อยู่ตรงนั้นเรียกว่า – visceral fat

ซึ่ง visceral fat นี่อันตรายมาก

ลองจินตนาการถึงอ่างอาบน้ำว่าเป็นร่างกายของคนเรา น้ำที่ไหลเข้าอ่างอาบน้ำคือไขมัน ส่วนท่อระบายน้ำคือการเผาผลาญ

คนอ้วน ก็คือคนที่มีอ่างขนาดใหญ่ น้ำไหลเข้ามาเยอะ ถ้าระบายน้ำไม่ทัน ก็จะเก็บน้ำเอาไว้อยู่ในอ่างได้เพราะมีไขมันใต้ผิวหนังเยอะ

ส่วนคนผอม คือคนที่มีอ่างขนาดเล็ก น้ำไหลเข้ามาเยอะ ระบายไม่ทัน น้ำก็จะล้นอ่าง แล้วท่วมไปตามพื้นห้องน้ำ ลามไปที่ห้องนอน และส่วนอื่นๆ ของบ้าน ซึ่งอาจสร้างความเสียหายได้อย่างมาก

เหตุผลที่คนยุคนี้เป็นไขมันพอกตับและเบาหวานมากกว่าคนยุคก่อน ก็เพราะว่าร่างกายของเราไม่ได้วิวัฒนาการมาเพื่อให้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ “อุดมสมบูรณ์” ขนาดนี้

ก่อนจะเริ่มทำการเกษตร บรรพบุรุษของพวกเราหาอาหารด้วยการล่าสัตว์และเก็บพืชผลอยู่หลายแสนปี

อาหารจึงเป็นของหายาก ได้กินมื้อนี้แล้วยังไม่แน่ว่ามื้อถัดไปจะเป็นเมื่อไหร่ ดังนั้นร่างกายของเราจึงถูกออกแบบให้เก็บไขมันและน้ำตาลได้ดีเพื่อสามารถดึงออกมาใช้ได้ในยามฉุกเฉิน

แต่ในยุคนี้เราเข้าถึงแหล่งอาหารได้ง่ายดายมาก เราจึงมักบริโภคไขมันและน้ำตาลเยอะเกินกว่าร่างกายจะระบายหรือใช้ได้ทัน ไขมันจึงพอกตับ และน้ำตาลในเลือดจึงสูง และอย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่า แค่น้ำตาลสูงขึ้นเพียงครึ่งช้อนชาในเลือดห้าลิตรก็เป็นเบาหวานแล้ว)

แม้กระทั่งเครื่องดื่มสุขภาพอย่างน้ำผลไม้สมูทตี้ ก็มีน้ำตาล fructose มากเกินกว่าที่ตับจะจัดการไหว หนังสือแนะนำว่าให้กินผลไม้เป็นลูกๆ จะดีกว่า เพราะมีกากใยและช่วยให้กระบวนการการดูดซึมเกิดขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป

เมื่อหลายคนเติมน้ำ(ตาล) มากเกินไปจนล้นอ่าง วิธีแก้ไขและลดความเสี่ยง ก็คือต้องเอาน้ำใส่อ่างให้น้อยลง หรือไม่ก็ต้องทำให้น้ำระบายออกได้ง่ายขึ้น ด้วยการออกกำลังกาย ที่จะช่วยดูแลระบบเผาผลาญของเราให้อยู่ในสภาพที่สมบูรณ์

ใครที่ต้องการดูว่าตัวเองมีความเสี่ยงเป็น Metabolic Dysfunction หรือไม่ ให้ดูห้าข้อนี้ 

1. ความดันสูงกว่า 130/85

2. ไตรกลีเซอไรด์สูงกว่า 150 mg/dL

3. HDL ต่ำกว่า 40 mg/DL ในผู้ชาย และต่ำกว่า 50 mg/DL ในผู้หญิง

4. รอบเอวใหญ่กว่า 40 นิ้วสำหรับผู้ชาย และใหญ่กว่า 35 นิ้วสำหรับผู้หญิง

5. น้ำตาลในเลือดขณะอดอาหาร (elevated fasting glucose) สูงกว่า 110 mg/DL

ถ้าเรามี 3 ใน 5 ข้อนี้ ก็ให้ระวังว่าอาจจะมีอาการเบาหวานหรือก่อนเบาหวาน (pre-diabetes) แม้จะไม่ได้อ้วนเลยก็ตาม

ในตอนต่อไป เราจะไปทำความรู้จักพญามารตัวที่ 2 ที่ชื่อว่าโรคหัวใจ สาเหตุการเสียชีวิตอันดับหนึ่งของคนทั่วโลกครับ


Outlive ตอนที่ 1: โรคเบาหวานและเหตุผลที่ Outlive เป็นหนังสือเปลี่ยนชีวิตประจำปี 2024

Outlive ตอนที่ 2: โรคหัวใจและความเข้าใจผิดเกี่ยวกับคอเลสเตอรอล

Outlive ตอนที่ 3: ความหวังของการรักษามะเร็งให้หายขาด

Outlive ตอนที่ 4: โรคอัลไซเมอร์

Outlive ตอนที่ 5: KPI ที่สำคัญที่สุดสำหรับอายุที่ยืนยาว

Outlive ตอนที่ 6: VO2 Max และความสับสนเกี่ยวกับ Zone 2 Training

Outlive ตอนที่ 7: Strength และ Stability มิติที่คนออกกำลังกายมองข้าม

Outlive ตอนที่ 8: กินน้อย / ทำ IF แล้วสุขภาพดีจริงหรือ

Outlive ตอนที่ 9: การนอนหลับและสุขภาพทางอารมณ์

สิ่งที่เกิดขึ้นหลังอ่าน Four Thousand Weeks ครบ 1 ปี

Four Thousand Weeks | Time Management for Mortals เป็นหนังสือที่เขียนโดย Oliver Burkeman ชาวอังกฤษ ตีพิมพ์เมื่อปี 2021

Four Thousand Weeks ได้รับการแปลเป็นไทยโดยอมรินทร์ How to ภายใต้ชื่อ “ชีวิตเรามีแค่สี่พันสัปดาห์” เมื่อปลายปี 2022 และติดอันดับ Bestseller อย่างรวดเร็ว

ซึ่งถือเป็นเรื่องน่ายินดีที่คนไทยได้อ่านหนังสือเล่มนี้กันมากขึ้น เพราะตอนที่ผมคิดจะอ่าน Four Thousand Weeks ฉบับภาษาอังกฤษ ผมหาซื้อในเมืองไทยไม่ได้ ต้องสั่งออนไลน์จากเว็บ Book Depository และต้องรออยู่หลายเดือนกว่าหนังสือจะมาส่ง

ผมอ่าน Four Thousand Weeks จบภายใน 2 สัปดาห์เมื่อเดือนมีนาคม 2022 และใช้เวลาอยู่นานนับเดือนกว่าจะตกผลึกพอที่จะเขียนบทความ “17 บทเรียนจาก Four Thousand Weeks หนังสือเปลี่ยนชีวิตแห่งปี 2022

เวลาล่วงเลยมา 1 ปีแล้ว มีเวลาว่างช่วงหยุดสงกรานต์ จึงนึกครึ้มอกครึ้มใจอยากเขียนรีวิว

ไม่ใช่รีวิวหนังสือ แต่รีวิวชีวิตตัวเอง เพื่อให้ผู้ติดตาม Anontawong’s Musings ได้พอเห็นภาพว่า Four Thousand Weeks นั้นได้เปลี่ยนมุมมองและการกระทำของผมไปอย่างไรบ้างในรอบ Fifty Two Weeks ที่ผ่านมาครับ

1.กระบวนการ “ถอนพิษ” ที่บังคับให้เราสบตากับความจำกัดของชีวิต

คนที่ควรอ่านหนังสือเล่มนี้เป็นอย่างยิ่ง คือคนที่หลงใหลหรือหมกมุ่นกับการเป็นคน productive เพื่อจะได้มี work-life balance ที่ดี

ถ้าคุณอ่านหนังสืออย่าง Eat That Frog, Getting Things Done, The 7 Habits of Highly Effective People, Atomic Habits คุณควรอ่าน Four Thousand Weeks มากกว่าใครเพื่อน

เพราะมันจะช่วย “ถอนพิษ” และ “ปรับสมดุล” ให้กับมายด์เซ็ตของคุณ

เพื่อนร่วมงานชาวสิงคโปร์ของผมคนหนึ่งเป็นคนอ่านหนังสือเยอะมาก ตอนที่เขามาเริ่มงานใหม่ๆ ผมเล่าให้เขาฟังว่าผมเพิ่งอ่าน Four Thousand Weeks จบ เพื่อนร่วมงานคนนี้บอกว่าเขาก็ได้อ่านแล้วเหมือนกัน

แล้วเขาก็เอ่ยประโยคหนึ่งที่ผมจำได้ไม่มีวันลืม:

“He’s basically saying that everything you know about time management is wrong.”

อาจฟังดูโอเวอร์ไปนิด แต่ก็เป็นบทสรุปรวบยอดที่เหมาะสมสำหรับหนังสือ Four Thousand Weeks

Oliver Burkeman ผู้เขียนหนังสือชี้ให้เราเห็นว่า ที่เราพยายามจะ productive กันอยู่นี้ เพราะว่าเราไม่อยากสบตากับความจริงที่ว่าสักวันหนึ่งเราต้องตาย

ความจริงของชีวิตคือความจำกัดของมัน (finitude) แต่เราไม่สบายใจกับความจริงข้อนี้ เราเลยพยายามสร้างความไม่จำกัด (infinite) ด้วยการหาวิธีทำอะไรให้ได้เยอะที่สุด ภายในเวลาที่น้อยที่สุด

.

2.เกิดอาการ “ช็อคน้ำ”

ประเด็นที่ทำให้ผม “สลดใจ” ได้มากที่สุดในหนังสือเล่มนี้ ก็คือเมื่อเราพยายามใช้เวลาให้คุ้มค่า ไม่ว่าจะกับเรื่องงานหรือเรื่องส่วนตัวก็แล้วแต่ เราก็กำลัง “ใช้ชีวิตเพื่อวันพรุ่งนี้” อยู่

สำหรับคน productive ที่พยายามใช้เวลาไปกับ “สิ่งสำคัญแต่ไม่เร่งด่วน” (Q2) ทุกอย่างที่เราทำในวันนี้ ก็เพื่อให้เรามีอนาคตที่ดียิ่งขึ้น เราทำงานเพื่อจะได้เก็บเงินสร้างอนาคต เราซ้อมวิ่งเพื่อจะทำลายสถิติเดิม เราอ่านหนังสือเพื่อที่จะได้พัฒนาตัวเอง เราใช้เวลากับลูกเพื่อให้เขาเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ดี

แต่เมื่อเราทำทุกอย่างเพื่อวันพรุ่งนี้ตลอดเวลา เราก็กำลังตัดโอกาสที่ตัวเองจะได้มีความสุขในวันนี้เช่นกัน

เหมือนคนอดเปรี้ยวไว้กินหวานจนเคยตัว ทุกวันของชีวิตเขาเลยอดเปรี้ยวไปเรื่อยๆ พอวันสุดท้ายมาถึง คิดจะกินหวานก็ไม่ทันการแล้ว

ที่ผมสลดใจ เพราะว่าผมใช้ชีวิตแบบนี้มาโดยตลอด พยายามสร้าง routine/habits ที่ลงตัวที่สุด หา time management system ที่ดีที่สุดเพื่อจะได้ทำงานอย่าง productive และจะได้สร้างอนาคตที่ดีอย่างที่วาดภาพเอาไว้

“วันนี้” จึงกลายเป็นเพียงเครื่องมือของการสร้าง “วันพรุ่งนี้” ที่ดีกว่าเรื่อยไป – จนกว่าเราจะไม่มีวันพรุ่งนี้เหลืออีกแล้ว

เมื่ออ่านหนังสือเล่มนี้จบใหม่ๆ ผมจึงมีอาการ “ช็อคน้ำ” อยู่ร่วม 2 เดือน – routine และ time management techniques ต่างๆ ที่ผมเคยมั่นใจ ผมทิ้งมันไปเกือบหมด

ถ้าจะเปรียบชีวิตช่วงนั้นให้เห็นภาพก็น่าจะเหมือนคนตกงานที่ไม่โกนหนวดโกนเครา ไม่ออกจากบ้าน นอนแฉะๆ สั่งจั๊งก์ฟู้ดมากินทุกมื้อ (อันนี้แค่เปรียบเปรยนะครับ ไม่ได้ทำจริงๆ) ทำงานแต่ละวันอย่างสะเปะสะปะ และความ productive ลดลงอย่างเห็นได้ชัด ใช้เวลาหลายสัปดาห์กว่าจะกลับมาเป็นปกติ

เมื่อมองย้อนกลับไป ผมว่ามันเป็นกระบวนการหนึ่งที่ผมต้องผ่าน มันคือการถอนรากถอนโคนสิ่งที่ผมเคยยึดมั่นถือมั่น เป็นการทุบตัวเองทิ้งให้แหลกละเอียดเป็นผุยผงเพื่อก่อร่างสร้างตนขึ้นมาใหม่

.

3.ทำเรื่อง “ไร้สาระ” มากขึ้น

ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่าสิ่งแรกๆ ที่ผมทำหลังอ่าน Four Thousand Weeks จบ คือโหลดเกม Championship Manager 01/02 มาเล่น

เกมนี้อายุยี่สิบกว่าปีแล้ว มันคือการสวมบทบาทผู้จัดการทีมฟุตบอลที่สามารถซื้อ-ขายนักเตะ เพื่อสร้างทีมที่เราอยากเห็น แล้วให้เกมมัน simulate ว่าทีมเราชนะทีมคู่แข่งได้รึเปล่า คนที่เล่มเกมนี้จะรู้จักตัวเทพๆ อย่าง Maxim Tsigalko หรือ Arjen Robben เป็นอย่างดี

เหตุผลที่ผมกลับมาเล่นเกมนี้ใหม่ เพราะสำนึกได้ว่าผมห้ามตัวเองไม่ให้มีความสุขมานานเกินไป ก็เลยคิดว่าควรทำสิ่งที่เคยสร้างความสุขให้ตัวเองอีกครั้ง แม้มันจะไม่ค่อยมีสาระก็ตาม

อีกอย่างที่ผมเริ่มทำ คือดูซีรี่ส์เกาหลีในเน็ตฟลิกซ์กับแฟน ไม่ว่าจะเป็น Extraordinary Attorney Woo (อูยองอู ทนายอัจฉริยะ), Business Proposal (นัดบอดวุ่น ลุ้นรักท่านประธาน) รวมถึงเรื่องดังล่าสุดอย่าง The Glory

การทำสิ่ง “ไร้สาระ” หรือเรื่องไม่สำคัญและไม่เร่งด่วน (Q4) คือการถอนพิษของคนที่พยายาม productive ตลอดเวลา

การเล่นเกมหรือการดูซีรี่ส์ ไม่ได้ทำไปเพื่อสร้างอนาคตที่ดีขึ้น แต่เป็นการทำเพื่อความสุขในวันนี้ล้วนๆ

ไม่ได้หมายความว่าการเล่นเกมนานๆ หรือดูซีรี่ส์ติดกันหลายๆ ตอนเป็นเรื่องที่ดีนะครับ เพียงแต่มันเป็นสิ่งที่มีประโยชน์และจำเป็นสำหรับผมที่คุ้นเคยกับการใช้ชีวิตแบบมีสาระมานานเกินไปเท่านั้นเอง

.

4.ไม่รีรอที่จะทำความดี เล็กๆ น้อยๆ

แม้จะไม่ใช่หนังสือแนว How To ทั่วไป ในบทท้ายๆ ของหนังสือ Oliver Burkeman ก็ยังใจดีให้ tips & tricks สำหรับการจัดการเวลาในแบบฉบับ Four Thousand Weeks

เช่นการ ‘อย่า’ ทำทีละหลายโปรเจ็คพร้อมกัน (serialize, serialize, serialize) หรือการตัดสินใจล่วงหน้าไปเลยว่าเราจะล้มเหลวในเรื่องอะไร (decide in advance what you want to fail at) เช่นถ้าตอนนี้เรามีลูกเล็ก ก็บอกตัวเองเลยว่าเราจะไม่พยายามจัดบ้านให้เรียบร้อยแบบ KonMari (ขนาด Marie Kondo ยังทำไม่ได้เลย)

แต่คำแนะนำที่ดูผิดที่ผิดทางที่สุด คือคำแนะนำที่ว่า ถ้าอยากทำเรื่องดีๆ เล็กๆ น้อยๆ ให้ทำมันตอนนี้เลย

เช่น เราอ่านหนังสือเล่มนี้แล้วชอบมาก ให้หาอีเมลหรือเพจของผู้เขียนและส่งข้อความสั้นๆ ไปขอบคุณเขาได้เลย

เพราะสิ่งที่เรามักจะทำกัน คือเราจะรอให้มีเวลาก่อน จะได้บรรจงเขียนข้อความอย่างตั้งใจให้สมน้ำสมเนื้อกับความรู้สึกขอบคุณที่เรามีต่อเขา

แต่สิ่งที่จะเกิดขึ้นก็คือ เราจะหาเวลาแบบนั้นไม่ได้ และข้อความขอบคุณของเราก็ไม่เคยถูกส่งหาผู้เขียนหนังสือเลย

ดังนั้น ถ้ารู้สึกอยากทำเรื่องดีๆ ที่เรารู้ว่าจะสร้างความชุ่มชื่นให้หัวใจ ก็จงทำมันเสียตอนนี้ อย่ารอให้พร้อม เพราะวันที่พร้อมมักไม่เคยมาถึง

ผมลองทำตามคำแนะนำนี้แล้วมันเวิร์คจริงๆ เขียนไปขอบคุณหรือชมคนหลายคนโดยที่เขาไม่ได้คาดหวัง ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือตัว Oliver Burkeman ด้วย

.

5.จ้องหน้าลูกนานขึ้น

นิสัยอย่างหนึ่งของคน productive คือเราจะมีชีวิตที่ “มุ่งไปข้างหน้า” ตลอดเวลา

เมื่อสายตาจับจ้องที่จุดหมายเราจึงละเลยคนข้างกายอยู่เสมอ (แล้วก็มารู้สึกผิดทีหลัง)

เมื่อได้อ่าน Four Thousand Weeks มันทำให้ผมลดการ “ทำทุกอย่างเพื่อวันพรุ่งนี้” มาเป็นคนที่หัด “ทำบางอย่างเพื่อวันนี้-ตอนนี้”

เมื่อชีวิตไม่ได้เอาแต่รุดไปข้างหน้า ก็เลยสังเกตสังกามากขึ้น

พฤติกรรมหนึ่งที่เปลี่ยนไป คือผมมีเวลาพินิจพิเคราะห์หน้าตาของลูก

ทั้งดวงตา รูปหน้า คิ้ว ใบหู ขี้แมลงวัน หรือแม้กระทั่งโพรงจมูก

ดูแล้วก็เพลินดี ว่านี่คือสิ่งมีชีวิตที่เราสร้างขึ้นมาเองกับมือ

เมื่อเราหยุดมุ่งไปข้างหน้า เราอาจจะทำอะไรได้น้อยลงกว่าเดิมก็จริง แต่เราจะได้ทำในสิ่งที่เราไม่เคยทำ และเราจะทำมันได้ “ลึก” กว่าเดิม

.

6.เลิกเขียนบล็อกทุกวัน

ผมคิดว่าการเขียนบล็อกทุกวัน หรือการตั้งเป้าว่าจะอ่านหนังสือให้ได้เท่านั้นเท่านี้ คือหนึ่งในอาการของการทำตัวให้ infinite เพื่อจะได้ไม่ต้องสบตากับ finitude ในตัวเรา

เราพยายามจะทำสถิติ เราพยายามจะ beat yesterday เพื่อบอกตัวเองว่าเราดีกว่านี้ได้ เราสามารถเป็นคนที่เข้าใกล้ความสมบูรณ์แบบกว่านี้ได้

การพยายามเขียนบล็อกทุกวัน ถ้ามองให้ลึกลงไปมันคือการพยายามสร้างความประทับใจให้กับคนที่ผมไม่รู้จัก คือการโหยหาการยอมรับและคำชมเชย

แต่การทำอย่างนั้นมันสร้างความตึงเครียดให้ชีวิต วันไหนที่ผมคิดหัวข้อบล็อกไม่ออกผมจะอารมณ์ขุ่นมัวไปทั้งวัน และการคาดคั้นกับตัวเองมากเกินไปอาจจะนำไปสู่การ compromise สิ่งที่สำคัญกว่าสถิติ นั่นคือคุณภาพของงานที่เราผลิตออกมา

เมื่อตอนต้นปีนี้ ผมเลยประกาศไปว่า จะไม่เขียนบล็อกทุกวันแล้ว แต่จะเขียนบล็อก “เกือบ” ทุกวันแทน

การทำอะไรเกือบทุกวัน Oliver Burkeman เรียกมันว่า “dailyish”

เพราะเราไม่ใช่หุ่นยนต์ที่จะสร้างงานทุกชิ้นออกมาได้มาตรฐานแบบสายพานการผลิต

เราเป็นมนุษย์ที่เต็มไปด้วยความไม่เพอร์เฟ็กต์ บางวันก็ทำได้ดี บางวันก็ทำได้แย่ เราจึงควรยอมรับ finitude ที่เรามี และล้มเลิกความคิดที่จะสร้างมาตรฐานอันสูงส่งเกินกว่าที่มนุษย์คนหนึ่งจะทำได้

Eigenzeit เป็นภาษาเยอรมัน มีความหมายว่า “เวลาที่จำเป็นต้องใช้โดยธรรมชาติสำหรับงานหรือกิจกรรมนั้นๆ”

แทนที่จะคาดคั้นว่าจะต้อง “ได้งาน” ภายในเวลานั้นเวลานี้ หากเราเลือกได้ เราควรปล่อยให้สิ่งต่างๆ ใช้เวลาอย่างที่มันควรจะเป็นน่าจะดีกว่า

เมื่อล้มเลิกความตั้งใจที่จะต้องเขียนบล็อกทุกวัน ผมสังเกตว่ามีความผ่อนคลายกว่าเดิม มีเรื่องที่อยากจะเขียนมากขึ้น และพอใจกับผลงานของตัวเองมากกว่าเดิมด้วย

ส่วนวันไหนไม่มีเรื่องจะเขียน หรือไม่มีเวลาจะเขียน ผมก็ถือโอกาสพักโดยไม่รู้สึกผิดเหมือนแต่ก่อน

.

7.มองผ่านเลนส์วิเศษ

หนึ่งในคุณูปการที่สำคัญที่สุดของหนังสือ Sapiens – A Brief History of Humankind ของ Yuval Noah Harari ก็คือมันชี้ให้เราเห็นว่าอะไรเป็นของจริง และอะไรคือสิ่งสมมติ

คน สัตว์ ต้นไม้ เป็นของจริง ส่วน เงิน บริษัท ประเทศชาติ เป็นสิ่งสมมติที่มนุษย์สร้างขึ้นเองจากจินตนาการร่วม

สิ่งสมมตินั้นมีประโยชน์ เพราะมันทำให้เราร่วมมือกันในระดับที่ไม่เคยมีสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์ใดทำได้มาก่อน แต่มันก็มีโทษหากเราเอาเป็นเอาตายกับมันมากเกินไป

การอ่าน Sapiens จึงทำให้เราได้เลนส์วิเศษ ที่ส่องเห็นความเป็นสมมติของสิ่งต่างๆ รอบตัว ทำให้เราไม่ take things too seriously.

หนังสือ Four Thousand Weeks ก็มีคุณูปการคล้ายๆ กับ Sapiens ในแง่ที่มันได้มอบเลนส์วิเศษที่ทำให้เรามองเห็นสิ่งเดิมๆ ด้วยสายตาที่เปลี่ยนไป

“5 วิธีลดอาการผัดวันประกันพรุ่ง” “ทำให้น้อยลงแต่เสร็จมากขึ้น” “วิธีจดโน้ตที่ช่วยให้จำได้ไม่ลืม”

บทความเหล่านี้ล้วนมีเป้าประสงค์ที่ดี แต่เมื่อมองจากเลนส์ Four Thousand Weeks เราก็จะเห็นว่าบทความทั้งหมดนี้ตั้งอยู่บนสมมติฐานเดียวกัน

สมมติฐานที่ว่าหากเรารู้จักเครื่องมือและเทคนิคต่างๆ มากพอ วันหนึ่งเราจะได้มาซึ่งชีวิตที่จัดการทุกอย่างได้อยู่หมัด ทำงานเสร็จแบบไม่มีอะไรค้างคา แถมยังมีเวลาเหลือให้ทำในทุกสิ่งที่อยากทำ

แต่สถานการณ์แบบนั้นจะไม่มีวันมาถึง เพราะชีวิตเราเต็มไปด้วยข้อจำกัดและเรื่องไม่คาดฝัน

เมื่อเราล้มเลิกความคิดที่จะ “เอาอยู่” ในทุกๆ เรื่อง เราก็จะปลดปล่อยตัวเองจากความคาดหวังที่เป็นไปไม่ได้ และกลับมาใช้ชีวิตอยู่กับปัจจุบันและความเป็นจริงมากยิ่งขึ้น

ที่เขียนอย่างนี้ใช่ว่าจะให้ปฏิเสธทุกเรื่องราวของความ productive นะครับ เพียงแต่ถ้าเราเข้าใจเรื่อง finitude เราจะเห็นบทความเหล่านี้ในแบบที่มันเป็น ไม่ใช่ในแบบที่เราอยากให้เป็น ดังคำกล่าวที่ว่า

“ก่อนเรียนรู้เซน ภูเขาคือภูเขา แม่น้ำคือแม่น้ำ

ขณะเรียนรู้เซน ภูเขาไม่ใช่ภูเขา แม่น้ำไม่ใช่แม่น้ำ

หลังถ่องแท้ในเซน ภูเขาคือภูเขา แม่น้ำคือแม่น้ำ”

กล่าวโดยสรุป – Four Thousand Weeks เป็นหนังสือที่ดีที่สุดเล่มหนึ่งที่ผมได้อ่านในชีวิต และเชื่อว่าจะได้กลับมาอ่านซ้ำอีกหลายครั้งในอีกประมาณ 2000 สัปดาห์ที่เหลือครับ

22 คมคำ หนังสือผู้นำล่องหน

1.”ในการปกครองชั้นเยี่ยม ผู้คนจะไม่รู้สึกตัวว่าถูกปกครอง” -เหล่าจื้อ

2.”ความยิ่งใหญ่ที่แท้จริงหาใช่เป็นการนั่งอยู่บนหัวคน หากเป็นการนั่งอยู่ในหัวใจคน” -หลวงวิจิตรวาทการ

3.เคยมีคนบอกผมว่า ความเสี่ยงสูงสุดของ THE STANDARD คือตัวผมเอง

4.ผู้คนต้องการให้งานร้อยเรียงเข้ากับชีวิตด้านอื่นของตน ไม่ใช่ต้องปรับชีวิตที่เหลือให้เข้ากับตารางงานเพียงอย่างเดียว -แอนโทนี คลอตซ์

5.”ผู้นำคือผู้ที่มีคนอยากตาม” -อานันท์ ปันยารชุน

6.ผู้นำต้องเป็นคนแรกๆ ที่มองเห็นความเปลี่ยนแปลง ไม่ใช่เพราะผู้นำเก่งที่สุด แต่เพราะคุณคือคนที่ว่างที่สุดในองค์กร คุณไม่ได้พายเรือเหมือนคนอื่นๆ แต่คุณคือคนที่นั่งอยู่ท้ายเรือ หรืออาจจะถือกล้องส่องทางไกลอยู่บนกระโดงเรือ ถ้าในองค์กรขนาดเล็ก คุณอาจเป็นคนเดียวด้วยซ้ำที่มองเห็นความเปลี่ยนแปลงนั้น เนื่องจากคนอื่นกำลังง่วนอยู่กับงานประจำตรงหน้า

7.เราไม่ได้กลัวความเปลี่ยนแปลง แต่เรากำลังสู้กับอัตตาของตัวเองที่กระซิบข้างหูว่า “คุณประสบความสำเร็จดีอยู่แล้ว ไม่ต้องเปลี่ยนหรอก”…เผชิญหน้ากับสิ่งที่เราไม่รู้ สบตากับสิ่งที่เราไม่เห็นอย่างแท้จริง จนเห็นว่าความจริงมันไม่ได้ยิ่งใหญ่เท่าจินตนาการของเรา กลัวสิ่งใด จงเป็นส่วนหนึ่งของความกลัวนั้น ผมพบว่าความกลัวนี่น่ากลัวกว่าสิ่งที่เรากลัวอีก

8.การเรียนรู้ที่สมบูรณ์เกิดขึ้นเมื่อสิ่งที่คุณเรียนรู้นั้นถูกนำมาใช้จริง ตัวชี้วัด (KPI) ของคอร์สอบรมในองค์กรจึงต้องไม่ใช่จำนวนการเข้าร่วมอบรม จำนวนหนังสือที่อ่าน หรืองานเสวนาที่เข้าไปฟัง หากต้องวัดด้วยผลงานที่ได้มาจากการเรียนรู้นั้น

9.เราต้องฆ่าตัวเองในความหมายของการรื้อถอนสิ่งเก่าทิ้งก่อน เพื่อให้สิ่งใหม่มีที่ทางของมัน และธรรมชาติที่วิวัฒน์ไปเช่นนี้เองจะช่วยซ่อมแซมให้เราแกร่งกว่าเดิม

10.ไม่ว่าจะเป็นผู้นำรุ่นใหญ่หรือรุ่นใหม่ เขามักทำสิ่งหนึ่งที่คล้ายกัน คือเขามักจะถามผมว่ามีอะไรจะสอนเขาบ้างไหม

11.”คุณต้องเห็นในสิ่งที่คนอื่นไม่เห็น เห็นในสิ่งที่ดาต้าไม่ได้บอก ถามผู้เชี่ยวชาญการตลาดก็ไม่รู้หรอก คุณจะต้องเดินเข้าไปในตลาดด้วยตัวเอง” -เสถียร เศรษฐสิทธิ์

12.”คนสร้างสรรค์กับคนเพ้อฝันเหมือนกันเกือบทุกอย่าง ต่างกันแค่อย่างเดียวคือผลลัพธ์” -สมโภชน์ อาหุนัย

13.หัวใจของกลยุทธ์มี 3 คุณลักษณะ – Superior ต้องทำให้คุณเหนือกว่าคู่แข่ง Long Term ต้องเป็นความสำเร็จอย่างยั่งยืน Performance ต้องเป็นผลงานที่วัดได้ -โรเบิร์ต แอล. มาร์ติน

14.[ถาม: ถ้าย้อนเวลากลับไปได้ มีอะไรที่อยากแก้ไขไหมครับ]

“ผมอยากนอนให้น้อยลง คุยกับคนให้เยอะกว่านี้” -ทักษิณ ชินวัตร

[ตอนเป็นนายก คุณทักษิณทำทุกอย่างด้วยความมั่นใจ ทว่าให้ความสำคัญกับการสื่อสารน้อยเกินไป จนเมื่อถึงจุดหนึ่งเขาขาดแคลน Engagement จากผู้คนในหลายระดับ โดยเฉพาะบรรดาคนสำคัญที่เขาจำเป็นต้องได้รับความร่วมมือ]

15.”เวลาพูดอะไรแล้วคนไม่เข้าใจ ให้โทษตัวเอง อย่าโทษคนฟัง” -อานันท์ ปันยารชุน

16.”เราไม่ได้ทำงานให้ Microsoft แต่ Microsoft ต่างหากที่ทำงานให้เรา” -สัตยา นาเดลลา พูดกับพนักงาน

17.ในคัมภีร์เต้าเต๋อจิง ‘ผู้ปกครองสี่ระดับ’ ได้แก่

ระดับหนึ่ง ผู้ปกครองที่ประชาชนเกลียด
ระดับสอง ผู้ปกครองที่ประชาชนกลัว
ระดับสาม ผู้ปกครองที่ประชาชนรักใคร่
ระดับสี่ ผู้ปกครองที่ประชาชนไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามีอยู่ แต่เมื่องานการสำเร็จ พวกเขาจะพูดกันว่าประหลาดจัง เราทำสำเร็จได้ด้วยตัวเราเอง

18.ผู้นำที่จะพัฒนาตนจนสูงสุดถึงระดับที่สี่และทำให้ผู้คนสามารถปกครองกันเองได้ แปลว่าเขาสามารถพัฒนาภาวะผู้นำให้เกิดขึ้นในตัวผู้ตามของเขาทุกคน จากผู้ตามจึงเป็นผู้นำในชีวิตของตน มีอิสรเสรีในการตัดสินใจ ขณะเดียวกันก็มีวุฒิภาวะพอที่จะตัดสินใจในสิ่งที่ถูกต้อง

19.หลายคนกลัวลูกน้องเก่งกว่าตัวเอง แต่คุณต้องไม่ลืมว่ายิ่งลูกน้องเก่งแค่ไหน คุณจะยิ่งสบายแค่นั้น

20.ความผิดพลาดที่กระทบถึงชื่อเสียงหรือภาพลักษณ์องค์กร ผู้นำต้องเป็นคนแรกที่ออกหน้ารับกระสุนก่อน ไม่ใช่ปล่อยให้ลูกน้องรับมือกันไปตามยถากรรม

21.ไม่มีปลาตัวไหนรอดได้ในน้ำที่เน่าเสีย ไม่ว่าปลาตัวนั้นจะใหญ่ แข็งแรง หรือว่ายเร็วเพียงใด

22.”อีกเรื่องหนึ่งที่ผมรู้สึกเสียดาย คือผมคิดว่าเมืองไทยเรามักเสียโอกาสอยู่เรื่อยมา ทั้งที่เรามีศักยภาพจะเป็นฮับได้ทุกอย่าง ทั้งในแง่ตำแหน่งที่ตั้ง การเดินทาง การขนส่ง การผลิต แม้กระทั่งสติปัญญา ความฉลาด ผมว่าเราก็ไม่ได้ด้อยกว่าใคร คนรุ่นหลังๆ เขามีความสามารถ มีความคิด เวลาผมคุยกับคนรุ่นเด็กๆ ผมมีความหวังนะ ขอแค่พวกผู้ใหญ่ ผู้มีอำนาจ เปิดใจกว้าง แล้วยอมรับให้ได้ว่ายุคสมัยของตัวเองผ่านพ้นไปแล้ว” -อานันท์ ปันยารชุน


ขอบคุณเนื้อหาจากหนังสือ “The Invisible Leader ผู้นำล่องหน” เคน นครินทร์ วนกิจไพบูลย์ เขียน

รีวิวหนังสือ ความสุขปัจจุบันสุทธิ

20200105b

เมื่อวานนี้อาจารย์นภดล ร่มโพธิ์เพิ่งรีวิวหนังสือ “ช้างกูอยู่ไหน” ลงในพอดคาสท์ Nopadol’s Story และระบุว่าช้างกูอยู่ไหนเป็นหนังสือเล่มสุดท้ายที่อ่านจบในปี 2019

วันนี้ผมก็เลยอยากจะมาบอกว่า หนังสือเล่มแรกที่ผมอ่านจบในปี 2020 คือ “ความสุขปัจจุบันสุทธิ” ของอาจารย์นภดลนี่แหละครับ อ่านจบวันปีใหม่พอดีเลย

ผมได้รู้จักอาจารย์นภดลในงานที่ PMAT จัดขึ้นเมื่อ 2 ปีที่แล้ว ซึ่งทั้งอาจารย์และผมได้พูดใน session เดียวกันว่าด้วยเรื่อง OKR

ก่อนถึงวันงานผมก็เลยค้นประวัติของอาจารย์ดู แล้วก็ amazing มากเพราะอาจารย์นภดลได้เป็นศาสตราจารย์ตั้งแต่อายุสี่สิบกว่าๆ ซึ่งหลายคนน่าจะรู้ว่าการได้ตำแหน่งศาสตราจารย์ในเมืองไทยเป็นเรื่องที่ยากมาก ยากกว่าการเป็น Professor ในเมืองนอกเสียอีก

ชื่อหนังสือ “ความสุขปัจจุบันสุทธิ” เป็นชื่อที่ชวนให้ค้นหาว่ามันคืออะไร ดังนั้นตอนที่ผมเปิดหนังสือขึ้นมา ผมก็รีบตรงไปที่หน้าสารบัญแล้วพลิกไปดูเรื่องนี้เป็นบทแรกเลย

ใครที่พอจะเข้าใจเรื่องการเงินอยู่บ้าง ย่อมจะเคยได้ยินคำว่า NPV หรือ Net Present Value

เพราะเงิน 100 บาทในอนาคต ย่อมมีมูลค่าน้อยกว่าเงิน 100 บาทในตอนนี้ ดังนั้นวิชาการเงินจึงมีสูตรเพื่อคำนวณว่าเงิน 100 บาทใน 10 ปีข้างหน้านั้นจะมี “มูลค่าปัจจุบันสุทธิ” หรือ NPV เท่าไหร่นั่นเอง ซึ่งถ้าให้ผมกะๆ เอาก็น่าจะประมาณ 60-70 บาท

มันก็เลยเป็นที่มาของคอนเซ็ปต์ Net Present Happiness หรือ “ความสุขปัจจุบันสุทธิ” ของอาจารย์นภดล ที่บอกว่าความสุขในอนาคต ไม่เท่ากับความสุขในตอนนี้ เราจึงยังไม่ทำสิ่งที่เรารู้อยู่แก่ใจว่าดีกับตัวเราในระยะยาว และเลือกสิ่งที่จะทำให้เรามีความสุข “ที่นี่เดี๋ยวนี้” เลยมากกว่า

ยกตัวอย่างเช่น ฉันก็อยากหุ่นดีนะ แต่ความสุขที่จะได้หุ่นดีในอนาคตอาจจะมีมูลค่า 100 แต้ม พอคำนวณ NPH แล้วเหลือแค่ 70 แต้ม ขณะที่ถ้าฉันอยากกินชานมไข่มุกแล้วต้องอดใจไว้ คะแนนความสุขฉันจะลดฮวบทันที 100 แต้ม

70-100 = -30

พอค่าความสุขปัจจุบันสุทธิเป็นติดลบ ฉันเลยขอเลือกกินชานมไข่มุกดีกว่า

ดังนั้น ถ้าอยากจะให้ชีวิตเราดีขึ้น เราควรทำให้ค่า NPH ของเราเป็นบวกในทุกการตัดสินใจ อันจะนำมาซึ่งพฤติกรรมที่เป็นคุณกับเราในระยะยาว โดยอาจารย์นภดลก็ได้ให้คำแนะนำไว้ 3 ข้อ ส่วนจะมีวิธีใดบ้างลองไปหาอ่านดูนะครับ 🙂

—–

ผมขอยกตัวอย่างอีก 3 เรื่องที่ผมชอบเป็นพิเศษในหนังสือเล่มนี้

เรื่องแรกคือการผัดวันประกันพรุ่ง ซึ่งนับเป็นศัตรูของเรามาโดยตลอด เพราะมันทำให้เราไม่ได้เริ่มอะไรซักอย่าง

แต่เราสามารถใช้นิสัยนี้ให้เป็นคุณกับเราได้ ด้วยการ “ผัดผ่อนการทำไม่ดี” ออกไป

ยกตัวอย่างเช่น เราอยากจะกินข้าวให้เยอะกว่านี้ แต่ก็บอกตัวเองว่า พรุ่งนี้ค่อยกินดีกว่า จะกินให้เต็มที่เลย แล้วพอพรุ่งนี้มาถึงเราก็ผัดผ่อนการกินเยอะๆ ไปอีกรอบ กว่าจะรู้ตัวอีกทีก็ผอมเสียแล้ว

หรือถ้าเวลาไปเดินห้างแล้วเห็นเสื้อที่อยากซื้อ ก็บอกตัวเองว่าเอาไว้ก่อน ไว้กลับถึงบ้านแล้วถ้ายังอยากซื้อค่อยมาซื้อใหม่ก็ยังไม่สาย ซึ่งมันจะทำให้เรารู้ว่าเราต้องการเสื้อตัวนั้นจริงๆ อยู่รึเปล่า

—–

เรื่องที่สองคือประโยคสั้นๆ แต่กินใจมาก

คำว่ารักสะกดว่า “เ-ว-ล-า”

เป็นคำแนะนำในการเลี้ยงลูกแต่จริงๆ มันก็ใช้ได้กับทุกความสัมพันธ์

พ่อแม่สมัยนี้ภารกิจมากมายเหลือเกิน ขนาดวันเสาร์อาทิตย์ก็ยังไม่ค่อยได้พัก (เช่นผมที่มานั่งเขียนบล็อกเป็นต้น!)

แต่ของขวัญที่มีค่าที่สุด และวิธีที่จะทำให้ลูกรับรู้ได้ดีที่สุดว่าเรารักเขาก็คือการให้เวลากับเขานั่นเอง

ส่วนจะไปจัดการยังไงก็ขึ้นอยู่กับข้อจำกัดของแต่ละคน ขอแค่ให้เราระลึกเสมอว่าลูกจะเป็นเด็กอยู่แค่แป๊บเดียวเท่านั้น เมื่อผ่านช่วงนี้ไป มันก็คือโอกาสที่ไม่อาจย้อนกลับ

—–

เรื่องสุดท้ายที่ผมจะนำมาฝากจากหนังสือเล่มนี้คือคำถามสำคัญ:-

“ถ้าตัวเราในอีก 5 ปี ข้างหน้ามาคุยกับตัวเราตอนนี้ คิดว่าเขาจะบอกอะไรเรา”

เขาจะขอบคุณหรือเขาจะโกรธเคือง เขาจะเตือนหรือเขาจะชมเชย

เป็นคำถามที่อาจต้องใช้เวลาคิดค่อนข้างนาน แต่ผมเชื่อว่าคำถามที่ดีที่มาถูกที่ถูกเวลามันมีพลังมากพอที่จะเปลี่ยนทิศทางของชีวิตคนคนหนึ่งได้เลย

—–

ยังมีอีกหลายข้อความที่ชวนให้คิดให้ค้นต่อในหนังสือเล่มนี้ เช่น

– บางทีเราก็ไม่ควรมีความอดทน
– เราไม่เคยยุ่งจนไม่ได้กินข้าวติดต่อกัน 3 วัน
– ที่มันยากเพราะมันยังไม่ใช่นิสัย ถ้าเป็นนิสัยมันก็ไม่ยาก

และอาจารย์นภดลได้แชร์เทคนิคที่ช่วยให้อาจารย์ทำงานวิจัยออกมาได้มากมาย ไขข้อสงสัยของผมว่าทำไมถึงได้ตำแหน่งศาสตราจารย์รวดเร็วเช่นนี้

โดยสรุป ความสุขปัจจุบันสุทธิจึงเป็นหนังสือที่ดี อ่านง่าย ควรแก่การซื้อเป็นของขวัญให้ตัวเองและคนรักในปีใหม่นี้ครับ


ป.ล. ถ้าเข้าเว็บของซีเอ็ด แล้วหาหนังสือความสุขปัจจุบันสุทธิ จะเห็นว่าคนที่ซื้อหนังสือเล่มนี้ มักจะซื้อหนังสือช้างกูอยู่ไหน และหนังสือ วิธีแก้ปัญหายากให้ง่ายฯ ไปอ่านด้วยกันครับ 😉