Asian U Always

20170731_asianualways

วันเสาร์ที่ผ่านมาผมไปร่วมงานศิษย์เก่าของ Asian U มาครับ

Asian U ย่อมาจาก Asian University (แต่ก่อนมีห้อยท้ายว่า of Science and Technology ด้วย) คือมหาวิทยาลัยที่ตั้งอยู่บนทางหลวง 331 อ.บางละมุง จังหวัดชลบุรี

Asian U ถูกก่อตั้งโดยดร.วิพรรธ์ เริงพิทยา (หรืออีกฉายาหนึ่งคือ “ดอกเตอร์วิป”) เปิดรับนักศึกษารุ่นแรกเมื่อปี พ.ศ.2541 เป็นนักศึกษาปริญญาตรี 20 คน และ MBA 25 คน

ในนักศึกษาปริญญาตรี เป็นเด็กคณะวิศวรรมศาสตร์ 10 คน และเด็กคณะบริหารธุรกิจ 10 คนเท่ากันพอดี

ผมเป็นหนึ่งในเด็กวิดวะ 10 คนนั้นครับ (รหัสนักศึกษา 4110411004)

สภาพการณ์ตอนที่เปิดมหาลัยนั้นไม่ค่อยเป็นใจเท่าไหร่ เมืองไทยกำลังประสบวิกฤติต้มยำกุ้ง ตอนแรกที่ดร.วิปตั้งใจจะระดมทุนมาให้ได้ 1500 ล้านบาทเพื่อสร้างมหาลัยนี้จึงระดมได้เพียงครึ่งเดียว ทำให้มหาวิทยาลัยต้องรัดเข็มขัดกับหลายๆ เรื่อง แต่สิ่งหนึ่งที่ดร.วิปไม่ยอมประหยัดเลยคือการจ้างครูดีๆ

ชีวิต 4 ปีที่นั่นเป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุดช่วงหนึ่งของผม ผมอยู่ที่หอจึงมีเวลาได้ทำอะไรมากมาย ได้แต่งเพลงให้มหาวิทยาลัย ได้เป็นประธานนักศึกษา ได้จีบสาว ได้แชมป์มินิมาราธอน ได้ไปแข่งกีฬากับม.บูรพาและม.ธรรมศาตร์ ได้คุ้นเคยกับการเป็นมวยรอง (underdog) ได้ตั้งชมรมดูดาว ได้ทำวงดนตรี ได้เล่นเรือใบ ได้ไปฝึกงานสวิตเซอร์แลนด์ และได้สนิทกับเพื่อนและอาจารย์ทุกคน และได้สิ่งที่เรียกว่า Asian U Spirit ซึ่งนิยามได้ยากมาก แต่คนที่จบจากที่นี่มาจะเข้าใจกันดี

ผมมั่นใจว่า 4 ปีที่ผมเรียนอยู่ที่นั่น มหาวิทยาลัยขาดทุนทุกปี เพราะตอนที่ผมเรียนจบน่าจะมีนักศึกษาอยู่ไม่เกิน 150 (แถม 1 ใน 3 ยังเป็นนักเรียนทุน) ผมก็ได้แต่หวังว่าพอนักเรียนเยอะขึ้นมหาวิทยาลัยจะถึงจุดคุ้มทุนเสียที

แต่หลังจากนั้นนักศึกษากลับไม่ได้เพิ่มขึ้นอย่างที่หวัง ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะการแข่งขันที่สูง เพราะหลักสูตรอินเตอร์กลายเป็นสิ่งที่มหาวิทยาลัยเกือบทุกที่ก็มีกัน และเราเองก็อาจทำการตลาดได้ไม่ดีนัก จำนวนนักศึกษาของเราจึงมีแต่ทรงกับทรุด บางรุ่นมีเด็กเข้าเรียนปี 1 ไม่ถึง 10 คนด้วยซ้ำ

งานเลี้ยงที่ดำเนินมาร่วม 20 ปีจึงต้องถึงวันเลิกรา

วันนี้ วันจันทร์ที่ 31 กรกฎาคม 2560 นักศึกษารุ่น 16 จะเข้าร่วมพิธีประทานปริญญาบัตรเป็นรุ่นสุดท้าย และเมื่อจบงานนี้ไป มหาวิทยาลัยเอเชี่ยนยูก็จะปิดตัวโดยถาวร (แต่ผู้ที่เข้ามาถือหุ้นใหญ่จะปรับปรุงสถานที่ให้เป็นอย่างอื่นแทน)

พวกเราเหล่าศิษย์เก่าที่ธรรมดาจะนัดพบกันที่กรุงเทพ จึงตัดสินใจกลับไปจัดงาน Reunion ที่แคมปัส เพื่อเป็นการกล่าวคำอำลากับมหาวิทยาลัยเป็นครั้งสุดท้าย

ระหว่างที่ผมขับรถกลับไป Asian U นั้น ก็มีภาพความทรงจำไหลมาเทมา ขับผ่านประตูทางเข้าก็จะเห็นสนามหญ้าหน้าอาคารเรียนที่มีต้นไม้สูงใหญ่รายล้อม ผมขับรถวนไปที่บ่อปลาซึ่งเป็นที่ๆ หนุ่มสาวทุกคู่ต้องเดินมาให้อาหารปลาช่วงจีบกันใหม่ๆ ก่อนจะไปจอดรถที่สปอร์ตคลับเพื่อเจอน้องๆ และเล่นกีฬาด้วยกัน ซึ่งกีฬาสองอย่างที่ผมได้เล่นคือแชร์บอลกับฟุตบอล

ผมคงไม่เล่ารายละเอียดของงานไปมากกว่านี้ แต่อยากจะเล่าให้ฟังถึงความเข้าใจ 3 อย่างที่ผมได้จากงานวันนั้น

อย่างแรก ตอนที่ภาพความทรงจำไหลเข้ามาในหัวนั้น แทบจะไม่มีภาพในห้องเรียนเลย มีแต่ภาพตอนขึ้นไปนอนดูฝนดาวตกที่ดาดฟ้า ภาพตอนที่แข่งฟุตซอลตรงลาน activity square ภาพเล่นดนตรีหน้าสปอร์ตคลับ ภาพนั่งแต่งเพลงอยู่คนเดียวใน ห้อง study room ภาพที่ผมกับเพื่อนกระโดดกอดกันในห้อง common room ตอนรุ่งสางในวินาทีที่โซลชาร์ยิงประตูพาแมนยูคว้าสามแชมป์ รวมไปถึงภาพเล็กๆ อย่างการนั่งบรรจงเขียนอีเมลหารุ่นน้องที่ผมชอบผ่านโปรแกรมเก่าแก่อย่าง Pine

ทำให้คิดได้ว่า ภาพที่มักจะกลายมาเป็นความทรงจำ มักเกิดจาก extra moments ที่อยู่นอกเหนือจากหน้าที่หลักของเรา

หน้าที่หลักของผมตอนนั้นคือการเรียน แต่ภาพที่ผมจำได้กลับอยู่นอกห้องเรียน

หน้าที่หลักของผมตอนนี้คือการทำงาน แต่ภาพที่ผมจะจำได้ในอีกหลายสิบปีข้างหน้าน่าจะเกิดนอกออฟฟิศ

เรื่องที่สอง ตอนที่ผมลงเล่นแชร์บอลนั้น เราแบ่งทีมกันอย่างง่ายๆ ข้างละ 10 คน ชายหญิงคละกันไป ไม่มีการใส่เอี๊ยมด้วย แค่จะจำหน้าว่าใครอยู่ทีมไหนยังยาก

แต่เราสนุกกันมาก ผมรู้สึกเสียดายทุกครั้งที่ลูกชู๊ตของเราโดนประตูฝ่ายตรงข้ามปัดได้ ผมดีใจทุกครั้งที่ฝ่ายเราชู๊ตลง แต่ผมก็ตบมือทุกครั้งเวลาที่ฝ่ายตรงข้ามชู๊ตลงเช่นกัน เพราะสุดท้ายแล้ว เป้าหมายไม่ใช่การเอาชนะ เป้าหมายคือเรามาสนุกร่วมกัน

หรือจริงๆ แล้วชีวิตก็เป็นแบบนั้น?

เราไม่จำเป็นต้องชนะตลอดก็ได้ บางทีเราก็ยิงได้ บางทีเค้าก็ยิงได้ แต่สิ่งสำคัญคือเรามีส่วนร่วมกับเกมแค่ไหน เราได้ส่งบอลให้เพื่อนมั้ย เราได้ลองชู้ตเองบ้างรึเปล่า และที่สำคัญที่สุด คือเรามีความสุขและสนุกไปกับมันรึเปล่า

Maybe it’s not about winning. Maybe it’s about having a good time together.

เรื่องสุดท้าย ตอนที่ผมเล่าว่าผมขับรถเข้ามามหาวิทยาลัยแล้วเห็นต้นไม้สูงใหญ่ หนึ่งในต้นไม้เหล่านั้นผมเป็นคนปลูกเองกับมือเมื่อ 19 ปีที่แล้ว

ในอนาคต Asian U จะถูกเปลี่ยนไปเป็นอะไรก็ตาม ผมก็เชื่อว่าต้นไม้ที่ผมปลูกเอาไว้จะยังคงเติบโตและให้ร่มเงาไปอีกหลายสิบปี

“ต้นไม้” ที่ Asian U ปลูกเอาไว้จริงๆ ก็คือพวกเราศิษย์เก่านั่นเอง และผมก็เชื่อว่าเด็ก Asian U จะยังคงเติบโตและสร้างร่มเงาให้สังคมไทยไปได้อีกหลายสิบปีเช่นกัน

Dr.Seuss เคยกล่าวไว้ว่า

“Don’t cry because it’s over. Smile because it happened.”

ผมใจหายเพราะ Asian U จะไม่อยู่แล้ว แต่อีกมุมหนึ่ง ผมก็รู้สึกโชคดีมากๆ ที่ได้เป็นหนึ่งในไม่กี่คนที่ได้มีโอกาสมาใช้ชีวิตอยู่ในมหาวิทยาลัยอันแสนพิเศษแห่งนี้

ขอบคุณสำหรับทุกๆ อย่าง

Asian U Always.

ปากกาในความทรงจำ

20150402_Pen

ปากกาในความทรงจำ

ย้อนกลับไปประมาณเดือนกันยายน ปี 2537

ผมกำลังเรียนชั้นมัธยมปลายอยู่ที่โรงเรียน Temuka High School* บนเกาะใต้ของประเทศนิวซีแลนด์

เทมูก้าไฮคูลมีนักเรียนอยู่ประมาณ 450 คน โดยมี Overseas Students (นักเรียนต่างชาติ) 14 คน เป็นเด็กไทย 9 คนและเด็กฮ่องกง 4 คน

เด็กไทยที่ผมสนิทด้วยในช่วงนั้นคือกวิน สมบูรณ์ สิธี และโยน

กวินเป็นนักเรียนไทยคนแรกที่มาเรียนที่โรงเรียนนี้ เขาอายุมากกว่าผมหนึ่งปี เรียนอยู่ชั้น Form 5 (เทียบเท่าม.5) เหมือนสมบูรณ์ ขณะที่ผมอยู่ Form 4 ร่วมกับสิธีและโยน

ผมมีปากกาอยู่ด้ามนึง ที่ใช้มาตั้งแต่สมัยอยู่เมืองไทย เป็นปากกาแลนเซอร์ทรงมนๆ ตัวด้ามสีขาว ท่อนบนสีน้ำเงิน และมีฝาปิดสีน้ำเงิน

ที่ผมเอาปากกาด้ามนี้มาจากเมืองไทย เพราะว่ามันเขียนดี

แต่เหตุผลที่สำคัญกว่าก็เพราะว่าผมเห็นว่าหมึกในปากกามันลดลงจนเกือบจะหมดหลอดแล้ว ผมเลยตั้งใจว่า จะเอาปากกาด้ามนี้มาใช้ที่นิวซีแลนด์จนกว่าหมึกจะหมดให้จงได้

พอมาอยู่นิวซีแลนด์ได้ประมาณสามสัปดา์ ผมก็ใช้ปากกาจนหมึกหมดจริงๆ

ผมภูมิใจมากจนตอนพักเที่ยง ผมก็มาเล่าให้กวินฟังว่า ตั้งแต่เกิดมา นี่เป็นครั้งแรกเลยนะที่ใช้ปากกาจนหมึกหมด จะเก็บปากกาด้ามนี้ไว้เป็นที่ระลึกเลย

ตอนเย็นหลังเลิกเรียน อยู่ๆ กวินก็มาหาเรื่องผม

ด้วยความที่กวินเป็นคนขี้เล่นอยู่แล้ว ผมเลยไม่แน่ใจว่ามันหาเรื่องจริงๆ หรือแกล้งหาเรื่องอำผมกันแน่

ผมจำได้เพียงแค่ว่า กวินเอาปากกาผมไป ผมจะขอคืนก็ไม่ให้

แย่งกันไปแย่งกันมา สุดท้ายปากกาของผมหัก

ท่อนบนสีน้ำเงินกระเด็นลงพื้น ส่วนด้ามติดอยู่ที่มือผม

ผมยืนนิ่ง พูดอะไรไม่ออก แล้วน้ำตาผมก็ไหลออกมา (ตอนนั้นเพิ่ง 14 ปี อารมณ์ยังอ่อนไหวเกิ๊น)

คงจะเพราะว่าทั้งโกรธ ทั้งเสียใจ แต่ไม่รู้จะทำยังไง

กวินหน้าถอดสี ก้มลงไปเก็บปลอกและท่อนสีน้ำเงินขึ้นมาแล้วขอด้ามสีขาวของผมไปเพื่อเอาไปพันสก๊อตเทป แล้วพูดว่า “ขอโทษว่ะเพื่อน” ซ้ำๆ ซึ่งก็ทำให้ผมรู้ว่า ที่กวินมาหาเรื่องผมคงกะจะแกล้งเล่นๆ เฉยๆ แต่พอมันเลยเถิดจนทำให้ปากกาที่ผมเฝ้าทะนุถนอมต้องหักลง ก็คงรู้สึกผิดไม่น้อย

ผมเก็บปากกาคอหักที่ใส่เฝือกด้วยสก๊อตเทปไว้จนจบม.ปลาย

และผมไม่เคยใช้ปากกาหมดด้ามอีกเลยนับจากวันนั้น

—–

ทำไมวันนี้ผมมาเล่าเรื่องปากกาให้ฟังเหรอครับ?

พอดีเมื่อสองสามวันก่อน ผมได้ยินข่าวทางทีวีว่าจะมีหนังสือเล่มใหม่กำลังจะวางแผง

ผมจำชื่อหนังสือไม่ได้แล้ว รู้แค่ว่าเป็นหนังสือที่ผู้ใหญ่ในเมืองไทยหลายท่านเล่าถึงความประทับใจที่มีต่อสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

ผู้ใหญ่ท่านหนึ่งได้เล่าไว้ว่า คนไทยจะรู้ดีว่าเวลาที่สมเด็จพระเทพฯ ทรงเสด็จฯ ไปที่ไหนก็ตาม ท่านจะมีสมุดและปากกาติดตัวอยู่เสมอ

แต่สิ่งที่คนไทยอาจไม่รู้ก็คือพระองค์ทรงใช้ปากกาจนหมึกหมดทุกด้าม

“พระองค์ยังทรงเป็นนักจดบันทึก สมัยก่อนคนเรียนอักษรไม่จดไม่ได้ ท่านจะมีสมุดบันทึก 2 อย่าง แบบแรกเป็นเล่มเล็ก จดย่อๆ แบบเร็วๆ จดเฉพาะคำสำคัญ พอมีเวลาว่างระหว่างนั่งรถ หรือเสวยพระกระยาหารเสร็จ ถึงจะนั่งบันทึกสิ่งที่จดมาในสมุดเล่มใหญ่อย่างถูกต้อง ท่านจดทุกเรื่อง แม้แต่เกร็ดเล็กเกร็ดน้อย ผมคิดว่า ถ้าบันทึกเล่มใหญ่คงมีเป็นพันเล่ม ท่านทรงใช้หมดทุกเล่ม ไม่มีหน้าเปล่า ปากกาก็เหมือนกัน ทรงใช้หมดทุกแท่ง”

– ผศ.ดร.ประพจน์ อัศววิรุฬหการ คณบดีคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ผมนึกถึงปากกาที่กวินทำหัก

แล้วผมก็นึกถึงปากกานับร้อยนับพันที่สมเด็จพระเทพฯ ทรงใช้อย่างคุ้มค่า

ผมรู้สึกละอายใจ

แล้วก็รู้สึกว่า คนไทยโชคดีจริงๆ

ขอพระองค์ ทรงพระเจริญ

—–

Credits

หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์: สมเด็จพระเทพรัตนฯ “เจ้าฟ้านักปราชญ์ขวัญใจมหาชน”

Office Mate: ปากกาลูกลื่น 0.8 มม. น้ำเงิน แลนเซอร์ 915

—–
* ตอนนี้เปลี่ยนชื่อเป็น Opihi College แล้ว