Outlive ตอนที่ 5 – KPI ที่สำคัญที่สุดสำหรับอายุที่ยืนยาว

มาถึงตอนที่ 5 กันแล้วสำหรับการสรุปเนื้อหาจากหนังสือ Outlive ของ Dr.Peter Attia ที่ผมยกให้เป็นหนังสือเปลี่ยนชีวิตประจำปี 2024

ใน 4 ตอนแรกเราทำได้ความรู้จักสี่พญามารอันได้แก่โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคมะเร็ง และโรคอัลไซเมอร์ หากเราลดความเสี่ยงและหลีกเลี่ยงโรคนี้ได้นานที่สุด เราก็จะมีแนวโน้มที่อายุยืนยาวได้

======

5 เสาหลักในการดูแลสุขภาพ

หนังสือ Outlive บอกว่า 5 เสาหลักในการดูแลสุขภาพนั้นได้แก่

  1. การออกกำลังกาย – Exercise
  2. อาหารการกิน – Nutrition
  3. อาหารเสริม – Exogenous Molecules
  4. การนอนหลับ – Sleep
  5. สุขภาพทางอารมณ์ – Emotional Health

โดยหนังสือบอกว่าใน 5 เสาหลักนี้ การออกกำลังกายนั้นเป็น “ยาอายุวัฒนะที่ทรงพลังที่สุด”

เราทุกคนรู้ดีว่า “กีฬา กีฬา เป็นยาวิเศษ” ไม่มีใครปฏิเสธว่าการออกกำลังกายนั้นสำคัญ แต่หนังสือเล่มนี้ทำให้ผมตระหนักว่าการออกกำลังกายสำคัญยิ่งกว่าที่ผมเคยคิดเสียอีก

คนที่ออกกำลังกายมีแนวโน้มที่จะอายุยืนยาวกว่าคนไม่ออกกำลังกายถึง 1 ทศวรรษ และที่ทศวรรษที่ยืนยาวกว่านั้นยังเป็นชีวิตที่มีคุณภาพมากกว่าอีกด้วย

======

4 เสาหลักในการออกกำลังกาย

เวลามีคนไข้มาหา Dr.Attia โดยมีเป้าหมายที่จะมีสุขภาพ (healthspan) และอายุขัย (lifespan) ที่ยืนยาว เขาจะให้คนไข้เข้าโปรแกรมการออกกำลังกายที่มีสี่มิติด้วยกัน

  1. Aerobic Efficiency – ประสิทธิภาพในการใช้ออกซิเจน
  2. Maximum Aerobic Output (VO2 Max) – อัตราการใช้ออกซิเจนสูงสุดที่ร่างกายสามารถนำเข้าและนำไปใช้ได้
  3. Strength – ความเข้มแข็งของกล้ามเนื้อและกระดูก
  4. Stability – ถ้าแปลตรงๆ อาจจะใช้คำว่าความมั่นคง แต่ความหมายที่แท้จริงมันลึกไปกว่านั้น คำที่ใกล้เคียงที่สุดที่ผมคิดออกก็คือบาลานซ์หรือความสมดุล

แต่ก่อนจะไปถึงจุดนั้น Dr.Attia จะชวนคนไข้คุยก่อนว่า “เป้าหมาย” ของพวกเขาคืออะไร เพราะแค่บอกว่า “อยากแข็งแรงตอนแก่” นั้นเป็นเป้าหมายที่จับต้องได้ยากเกินไป

Dr.Attia จึงมีลิสต์ของเป้าหมายให้เลือกช็อปปิ้ง โดยให้จินตนาการถึงตัวเองตอนอายุ 70 ปี 80 ปี หรือแม้กระทั่ง 90 ปี ว่าเรายังอยากทำอะไรได้เองบ้าง

Dr.Attia เรียกสิ่งนี้ว่า Centenarian Decathlon

======

Centenarian Decathlon

Centenarian หมายถึงคนที่มีอายุถึง 100 ปี

คำว่า Decathlon แปลว่าทศกรีฑา ซึ่งเป็นรายการสำคัญในโอลิมปิก

โดยผู้เข้าแข่งขันต้องเข้าร่วมแข่งกีฬา 10 ประเภทได้แก่

  1. วิ่ง 100 เมตร
  2. กระโดดไกล
  3. ทุ่มน้ำหนัก
  4. กระโดดสูง
  5. วิ่ง 400 เมตร
  6. วิ่งข้ามรั้ว 110 เมตร
  7. ขว้างจักร
  8. กระโดดค้ำ
  9. พุ่งแหลน
  10. วิ่ง 1,500 เมตร

ผู้ชนะก็คือคนที่ทำคะแนนรวมได้มากที่สุด

นักทศกรีฑานั้นได้รับการกยกย่องเป็นอย่างมาก ไม่ใช่เพราะว่าเขา “เก่งที่สุด” ในด้านใดด้านหนึ่ง แต่เป็นเพราะว่าเขา “เก่งรอบด้าน”

ในขณะที่นักกีฬาทั่วไป หรือคนทั่วไปอย่างเรา มักจะเก่งแค่กีฬาบางชนิด คนที่ปั่นจักรยานเก่งๆ ก็อาจจะไม่เตะบอล คนเตะบอลอาจจะไม่ว่ายน้ำ คนว่ายน้ำอาจจะไม่สนใจยกน้ำหนัก เป็นต้น

เมื่อเรา optimize ร่างกายสำหรับกีฬาใดกีฬาหนึ่งมากเกินไป จึงมีความเสี่ยงที่เรากำลัง “ละเลย” อวัยวะบางส่วน

เช่นคนที่ปั่นจักรยานระยะทางไกล หรือวิ่งมาราธอน ก็มีความเป็นไปได้ว่าปอดและร่างกายท่อนล่างจะแข็งแกร่งอย่างมาก แต่ร่างกายท่อนบนนั้นกลับไม่ค่อยแข็งแรง

ในทางกลับกัน คนที่เล่นเวทกล้ามโตๆ อาจจะไม่สามารถวิ่งจบฮาล์ฟมาราธอนได้

สิ่งที่ Dr.Attia แนะนำ คือเราไม่จำเป็นต้องเก่งสุดๆ ในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง แต่เราควรเก่งกว่าค่าเฉลี่ยในทุกมิติ ซึ่งนี่ต่างหากที่จะทำให้เราโตไปเป็นคนแก่ที่สุขภาพแข็งแรงและสมบูรณ์และมีโอกาส Outlive หรืออายุยืนยาวกว่าคนทั่วไป

Centenarian Decathlon แปลตรงตัวก็คือการตั้งเป้าหมายว่ามีกิจกรรมใดบ้างที่เราอยากทำให้ได้ในวันที่เราอายุ 70 ปี 80 ปี หรือแม้กระทั่ง 90 ปี เช่น

  1. ลุกขึ้นจากพื้นเองได้โดยใช้แขนดันเพียงข้างเดียว
  2. ย่อตัวลงไปเอาหลานวัย 4 ขวบขึ้นมาอุ้ม
  3. ถือถุงช้อปปิ้งหนักข้างละ 3 กิโลเดินไปเก็บที่รถ
  4. ยกกระเป๋าขึ้นเก็บในล็อกเกอร์เหนือศีรษะบนเครื่องบิน
  5. ยืนบนขาข้างเดียวเป็นเวลา 30 วินาที (เพิ่มความยากได้ด้วยการหลับตา)
  6. เดินขึ้นบันไดบ้านสามชั้นโดยไม่ต้องหยุดพักเหนื่อย
  7. เปิดฝากระป๋อง
  8. ดันตัวขึ้นจากสระว่ายน้ำโดยไม่ต้องใช้บันได
  9. กระโดดเชือก 30 ครั้ง
  10. มีเซ็กส์

สิ่งที่เราเลือกมาเป็นเรื่องธรรมดาในชีวิตประจำวัน ในวันนี้เรายังไม่เห็นคุณค่าเพราะเรายังทำมันได้สบาย แต่ในวันหนึ่งที่เราอายุ 80 แล้วร่างกายเราอ่อนแอลง ในสิบอย่างนี้อาจจะเหลือไม่กี่อย่างที่เราทำเองได้ ในวันนั้นเราจะกลายเป็นคนแก่ที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ต้องพึ่งพาคนอื่นอยู่ตลอด

ยกตัวอย่างเช่นหลานวัย 4 ขวบน้ำหนัก 15 กิโลกรัม ตัวเราในวัย 40 ปีน่าจะยังอุ้มไหว แต่กล้ามเนื้อเราจะอ่อนแอลงประมาณ 8%-17% ทุกทศวรรษ ดังนั้นถ้าเราอยากจะอุ้มหลานวัย 4 ขวบตอนเราอายุ 80 ปี แปลว่าตอนนี้เราต้องแข็งแรงพอที่จะอุ้มเด็กวัยประถมน้ำหนัก 30 กิโลกรัม ถ้าตอนนี้เราทำแบบนั้นไม่ไหว ก็แสดงว่าตอนแก่ตัวไปเราก็จะอุ้มหลานไม่ไหวเหมือนกัน

ดังนั้น ผู้เขียนจึงขอให้จินตนาการว่าตัวเราในวัยชรายังอยากทำกิจกรรมอะไรได้อยู่บ้าง เมื่อเป้าหมายชัด เราจะรู้แล้วว่าเราจะออกกำลังกายไปเพื่ออะไร มันจะไม่ใช่แค่การออกกำลังกาย (exercise) อีกต่อไป แต่มันคือการ “ฝึกซ้อม” (training) เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับทศกรีฑาของคนชรานั่นเอง

=======

ทำความรู้จักกับ Hazard Ratio

Hazard Ratio (HR) คือตัวเลขที่ช่วยในการเปรียบเทียบระหว่างคนสองกลุ่ม

ถ้าคนสองกลุ่มมีทุกอย่างเหมือนกัน ค่า HR จะเท่ากับ 1.0 เพราะไม่มีกลุ่มไหนเสี่ยงกว่ากลุ่มไหน

คนความดันสูงมี HR = 1.21 แสดงว่ามีโอกาสเสียชีวิตจากทุกสาเหตุ (all-cause mortality) มากกว่าคนที่ความดันปกติถึง 21%

คนเป็นเบาหวานมี HR = 1.4 และคนสูบบุหรี่ก็มี HR = 1.4 เช่นกัน แสดงว่าคนสูบบุหรี่มีโอกาสเสียชีวิตมากกว่าคนไม่สูบบุหรี่ถึง 40%

ส่วนคนเป็นโรคไตเรื้อรังระยะสุดท้ายมี HR = 2.78 แสดงว่ามีความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตมากกว่าคนปกติถึง 178%

=======

2 KPI ที่ทำนายอายุขัยของเราได้ดีที่สุด

สองค่าที่ Peter Attia ให้ความสำคัญอย่างมาก คือค่า VO2 Max และค่า Grip Strength

VO2 Max หรือ maximal oxygen consumption คือ อัตราการใช้ออกซิเจนสูงสุดของร่างกายในขณะออกกำลังกาย มีหน่วยเป็นมิลลิลิตรต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมในเวลา 1 นาที [ถ้าใครใส่นาฬิกาออกกำลังกาย เวลาวิ่งเสร็จมันจะมีค่านี้ขึ้นมาโชว์]

ในการทดลองที่ตีพิมพ์ในปี 2022 ในวารสาร Journal of the American College Cardiology ทำการศึกษาค่า VO2 Max ของทหารปลดระวาง 750,000 คนอายุตั้งแต่ 30-95 ปีทั้งหญิงและชายและทุกสีผิว

หากเอาคนในเพศเดียวกันในช่วงอายุเดียวกันมาวัดค่า VO2 Max แล้วแบ่งออกเป็น 6 กลุ่ม ได้แก่

ฟิตน้อยที่สุด Least = <20th percentile
ฟิตน้อย Low = 21st-40th percentile
กลางๆ Moderate = 41st-60th percentile
ฟิต Fit = 61st-80th percentile
ฟิตมาก High = 81st-97th percentile
ฟิตที่สุด Extreme = 98th percentile

ค่า Hazard Ratio ระหว่าง Least กับ Extreme จะเท่ากับ 4.09 แสดงว่าคนที่ฟิตน้อยที่สุดมีโอกาสเสียชีวิตมากกว่าคนที่ฟิตที่สุดถึง 309%!

ค่า HR ระหว่าง Moderate กับ Extreme เท่ากับ 2.13 แสดงว่าคนกลุ่ม Moderate มีโอกาสเสียชีวิตมากกว่าคนที่ฟิตที่สุดถึงเท่าตัว

มีงานวิจัยอีกมากมายที่ให้ผลไปในทางเดียวกัน นั่นคือกลุ่มคนที่ VO2 Max สูงนั้นมักจะอายุยืนกว่าคนที่ VO2 Max ต่ำ และแค่เราขยับจากกลุ่ม Least มาเป็นกลุ่ม Moderate ก็ลดความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตได้มากพอสมควรแล้ว

นอกจาก VO2 Max แล้ว อีก KPI หนึ่งที่ Peter Attia ให้ความสนใจ คือ Grip Strength หรือแรงบีบของมือ ซึ่งเป็นเหมือน proxy หรือตัวแทนของความแข็งแรงของกล้ามเนื้อในร่างกาย

คนที่มีค่า grip strength ใน bottom 25% มีโอกาสเป็นโรคสมองเสื่อม (dementia) มากกว่าคนที่มี grip strength ในกลุ่ม top 25% ถึง 72%

อ่านถึงตรงนี้แล้วอย่าเพิ่งรีบสั่งซื้อ “ที่บีบมือ” มาใช้นะครับ เพราะเอาที่จริงแล้วทั้ง VO2 Max และ Grip Strength เป็นเพียงตัวแทนของความแข็งแรงของร่างกายทั้งหมด ซึ่งต้องใช้เวลาสร้างและสั่งสมหลายปีหรือแม้กระทั่งหลายสิบปี

ถ้าใครเคยเรียนวิชา Calculus มันคือ “พื้นที่ใต้กราฟ” (integral) ของ “การออกกำลังกายทั้งหมดของเราที่ผ่านมา”

ดังนั้นการเพิ่มค่า VO2 Max และค่า Grip Strength จึงไม่มีทางลัด มีแต่ต้องลงมือทำอย่างสม่ำเสมอและเป็นระยะเวลายาวนานเท่านั้น

ในตอนหน้า เราจะมาลงรายละเอียดว่าจะออกกำลังกายอย่างไร เพื่อให้มีค่า VO2 Max และ Grip Strength ที่ดี เพราะนี่คือ KPI ที่สำคัญที่สุด – อย่างน้อยก็ในมุมของผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ – สำหรับการมีชีวิตที่ยืนยาวครับ


Outlive ตอนที่ 1: โรคเบาหวานและเหตุผลที่ Outlive เป็นหนังสือเปลี่ยนชีวิตประจำปี 2024

Outlive ตอนที่ 2: โรคหัวใจและความเข้าใจผิดเกี่ยวกับคอเลสเตอรอล

Outlive ตอนที่ 3: ความหวังของการรักษามะเร็งให้หายขาด

Outlive ตอนที่ 4: โรคอัลไซเมอร์

Outlive ตอนที่ 5: KPI ที่สำคัญที่สุดสำหรับอายุที่ยืนยาว

Outlive ตอนที่ 6: VO2 Max และความสับสนเกี่ยวกับ Zone 2 Training

Outlive ตอนที่ 7: Strength และ Stability มิติที่คนออกกำลังกายมองข้าม

Outlive ตอนที่ 8: กินน้อย / ทำ IF แล้วสุขภาพดีจริงหรือ

Outlive ตอนที่ 9: การนอนหลับและสุขภาพทางอารมณ์

Outlive ตอนที่ 4 – โรคอัลไซเมอร์

ดังที่เคยกล่าวไปในตอนแรกว่า ยุทธศาสตร์สำคัญที่จะช่วยให้เรามีอายุยืนยาวและสุขภาพที่แข็งแรงจวบจนสิ้นอายุขัย คือการหยุดยั้งและป้องกัน 4 พญามาร (The Four Horsemen) ให้ได้นานที่สุด

โดยพญามารทั้งสี่ได้แก่ โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคมะเร็ง และโรคสมองเสื่อม

สามตอนที่ผ่านมาเราได้คุยถึงพญามารทั้งสามตัวไปแล้ว ตอนนี้มาถึงพญามารตัวสุดท้าย ซึ่งก็คือโรคสมองเสื่อม (dementia) และหนึ่งในโรคสมองเสื่อมที่คนไทยคุ้นหูที่สุดก็คือโรคอัลไซเมอร์นั่นเอง

ในบรรดาสี่พญามารนั้น โรคสมองเสื่อมเป็นโรคที่ ‘tricky’ ที่สุด เพราะการแพทย์ยังไม่สามารถระบุได้อย่างแน่ชัดว่าอะไรคือต้นเหตุ และถ้าเริ่มมีอาการแล้วก็ยังไม่มีวิธีชะลอหรือการรักษาที่ได้ผล ดังนั้นคนไข้ที่มาหาหมอ Peter Attia ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ จึงมักจะกลัวโรคสมองเสื่อมที่สุด

นอกจากอัลไซเมอร์แล้ว ก็ยังมีโรคสมองเสื่อมอื่นๆ เช่น Lewy body dementia และ Parkinson’s disease [คนดังที่เป็นโรคนี้ก็เช่นมูฮัมหมัด อาลี และ Michael J. Fox พระเอกหนังเรื่อง Back To The Future] ซึ่งแม้จะมีการทุ่มเงินไปหลายพันล้านดอลลาร์เพื่อหาทางรักษาแต่ก็ยังไม่พบแม้แต่วิธีเดียว

ดังนั้นทางเลือกที่ดีที่สุดที่เรามีในตอนนี้ คือหาหนทางป้องกันหรือลดความเสี่ยงของโรคนี้ให้มากที่สุด

=====

กำเนิดอัลไซเมอร์

=====

ในปี 1906 จิตแพทย์ชาวเยอรมันนาม Alois Alzheimer ได้ทำการชันสูตรผู้ป่วยคนหนึ่งที่เสียชีวิตไปแล้ว

ผู้เสียชีวิตเป็นผู้หญิงวัยห้าสิบกลางๆ โดยช่วงปีท้ายๆ ของชีวิตเธอมีอาการสูญเสียความทรงจำ เห็นภาพหลอน และมีอาการก้าวร้าว

คุณหมออัลไซเมอร์พบว่าสมองของเธอนั้นไม่ปกติ เพราะเซลล์ประสาท (neuron) นั้นพันกันยุ่งเหยิงเหมือนใยแมงมุมและมีคราบพลาก (plaque) เกาะอยู่ไม่น้อย คุณหมออัลไซเมอร์เลยวาดรูปเพื่อบันทึกกรณีศึกษานี้เอาไว้

คุณหมอเสียชีวิตไปในปี 1915 และไม่มีใครพูดถึงโรคนี้ไปอีกเกือบ 50 ปี จนกระทั่งคุณหมอชาวอังกฤษสามคนได้ทำการชันสูตรสมองผู้เสียชีวิตที่มีอาการสมองเสื่อมถึง 70 ราย และพบว่าหลายคนมีคราบพลากและมีเซลล์ประสาทที่พันกันยุ่งเหยิงเหมือนที่คุณหมออัลไซเมอร์เคยวาดภาพเอาไว้

เมื่อศึกษาคราบพลากนั้นก็พบว่ามีสารแอมิลอยด์บีตา (amyloid beta) ซึ่งเมื่อนำคราบพลากมาทำให้เกิดกับสมองของหนูทดลอง ก็พบว่าหนูทดลองจะใช้เวลามากขึ้นในการเดินหาอาหารในทางเดินเขาวงกตที่ออกแบบมาง่ายๆ และแอมิลอยด์บีตายังส่งผลให้เกิดการสะสมของเทาว์โปรตีน (Tau) ซึ่งน่าจะเป็นสาเหตุที่ทำให้เซลล์ประสาทพันกันยุ่งเหยิงอีกด้วย

วงการยาจึงผลิตยาออกมาหลายตัวเพื่อกำจัดสารแอมีลอยด์บีตาที่ว่านี้ แต่ผลปรากฎว่าแม้สารแอมีลอยด์บีตาในสมองจะลดลง แต่กลับไม่ได้ช่วยชะลอหรือลดอาการสมองเสื่อมแต่อย่างใด

แถมยังเคยมีการชันสูตรสมองของผู้เสียชีวิตที่ไม่ได้มีอาการสมองเสื่อม และพบว่า 25% ของคนกลุ่มนี้ก็มีคราบพลากแอมีลอยด์บีตาเช่นกัน บางคนมีพอๆ กับคนที่เสียชีวิตจากโรคสมองเสื่อมขั้นรุนแรงด้วยซ้ำไป

=====

ผู้หญิงกับโรคอัลไซเมอร์

=====

มีผู้หญิงที่ป่วยเป็นโรคอัลไซเมอร์มากกว่าผู้ชายถึง 2 เท่า ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะผู้หญิงอายุยืนกว่า แต่แม้จะตัดปัจจัยเรื่องอายุขัยไปแล้ว ตัวเลขก็ยังสูงกว่าผู้ชายอย่างชัดเจนอยู่ดี

หนึ่งในข้อสันนิษฐานคือการหมดระดู (menopause) และการลดลงของฮอร์โมนบางตัวเช่น estradiol (ซึ่งเป็นฮอร์โมนหลักในกลุ่มฮอร์โมน estrogen) น่าจะเป็นปัจจัย ส่วนปัจจัยอื่นๆ ที่อาจมีผลต่อความเสี่ยงของโรคอัลไซเมอร์ก็ได้แก่จำนวนบุตรที่มี วัยที่มีประจำเดือนครั้งแรก และการใช้ยาคุมกำเนิด 

แต่สำหรับโรคพาร์กินสันและโรค Lewy body ผู้ชายจะมีโอกาสเป็นมากกว่าผู้หญิงถึง 2 เท่า

======

สังเกตอาการสมองเสื่อมแต่เนิ่นๆ

======

แม้โรคสมองเสื่อมมักจะเกิดกับคนชรา แต่จริงๆ แล้วโรคนี้อาจเริ่มมีอาการสะสมยาวนานหลายสิบปี

ยกตัวอย่างเช่นโรคพาร์กินสัน จะเริ่มจากอาการเล็กน้อยเช่นการเคลื่อนไหวร่างกายผิดปกติ การแสดงออกทางสีหน้าที่เกร็งๆ การย่างเท้าที่ไม่สม่ำเสมอ หรือแม้กระทั่งลายมือที่เริ่มเขียนตัวหนังสือเล็กลง

หากใครมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคสมองเสื่อม คุณหมอจะต้องให้ผู้เชี่ยวชาญพาคนไข้ทำแบบทดสอบอย่างละเอียด ทั้งเรื่องการจดจ่อ ความเร็วในการคิด การเลือกใช้คำต่างๆ การจำชื่อคนได้ การจำได้ว่าของวางอยู่ตรงไหน หรือให้บอกชื่อสัตว์ต่างๆ ภายในเวลาหนึ่งนาที หรือแม้กระทั่งการระบุกลิ่น เพราะนิวรอนที่เกี่ยวข้องกับการรับรู้กลิ่นมักจะเป็นนิวรอนกลุ่มแรกๆ ที่โดนอัลไซเมอร์เล่นงาน

ความยากของการวินิจฉัยโรคจำพวกนี้ก็คือ สมองนั้นเก่งกาจในการชดเชยความสามารถ จนอาจปกปิดความเสียหายของนิวรอนส่วนที่เริ่มพังไปแล้ว เพราะสมองทำงานแต่ละครั้งต้องใช้ neuron networks หลายส่วน หากส่วนใดส่วนหนึ่งเสียหายไป ก็อาจมีส่วนอื่นขึ้นมาทำงานทดแทนกันได้

ในทางกลับกัน ยิ่งเราสร้าง neuron network ที่ซับซ้อนและแข็งแรงมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งมีแนวโน้มที่จะช่วยชะลออาการสมองเสื่อมได้เท่านั้น เราเรียกสิ่งนี้ว่า cognitive reserve ซึ่งพบได้ในคนที่พูดได้หลายภาษา หรือคนที่เล่นดนตรีเป็น คนกลุ่มนี้มีแนวโน้มที่อาการสมองเสื่อมจะไม่ทรุดเร็วมากเท่ากับคนปกติ

สำหรับโรคอย่างพาร์กินสัน สิ่งที่ช่วยได้ก็คือ movement reserve หรือ “คลังสำรองเคลื่อนไหว” หากเราเคยเรียนรู้การเคลื่อนไหวที่ซับซ้อนมาอย่างการเต้นรำหรือต่อยมวย ก็มีแนวโน้มจะช่วยชะลออาการของโรคพาร์กินสันได้

======

สมมติฐานใหม่เรื่องต้นเหตุของโรคสมองเสื่อม

======

ในงานวิจัยล่าสุดเริ่มบ่งชี้ว่า แอมิลอยด์บีตาไม่ใช่ “สาเหตุ” ของโรคสมองเสื่อม แต่เป็นเพียงแค่ “ผลลัพธ์” ของโรคสมองเสื่อมเท่านั้น

สมมติฐานใหม่ๆ ที่เป็นต้นเหตุของโรคสมองเสื่อมก็ได้แก่

หนึ่ง “เลือดไปหล่อเลี้ยงสมองไม่พอ” เป็นทฤษฎีที่นำเสนอโดย Jack de la Torre ในการทดลองหนึ่ง เขาได้นำเอาหนูทดลองมาปรับให้เลือดไปเลี้ยงสมองน้อยลง แล้วพบว่าหนูมีอาการคล้ายคลึงกับโรคอัลไซเมอร์ แถมสมองส่วน cortex และ hippocampus ก็หดตัวลงด้วย พอเขาปล่อยให้เลือดไหลเข้าสมองมากขึ้น อาการเหล่านี้ในหนูทดลองก็ลดน้อยลง

สมองนั้น “กินจุ” มาก มันมีน้ำหนักเพียง 2% ของร่างกาย แต่ใช้พลังงานถึง 20% ดังนั้นร่างกายจึงจำเป็นต้องส่งทั้งออกซิเจนและกลูโคสไปหล่อเลี้ยงสมองให้เพียงพอ

คนที่เคยเป็นสโตรค (สมองขาดเลือด) มาก่อน มีแนวโน้มที่จะเป็นโรคอัลไซเมอร์มากกว่าคนที่ไม่เคยเป็นสโตรค และคนที่มีอาการโรคหัวใจก็มีโอกาสเป็นอัลไซเมอร์มากกว่าเช่นกัน อะไรก็ตามที่ทำให้หลอดเลือดตีบและส่งผลให้การไหลเวียนของเลือดไม่ทั่วถึง ย่อมส่งผลต่อการทำงานของสมองได้

สมมติฐานที่สอง ก็คือโรคนี้อาจเกิดจากการเผาผลาญกลูโคสที่ผิดปกติของสมอง คนไข้โรคเบาหวานชนิดที่ 2 นั้นมีความเสี่ยงเป็นอัลไซเมอร์มากขึ้นถึง 2 หรือ 3 เท่า และแค่การมีภาวะดื้ออินซูลิน (insulin resistance) ก็เพิ่มความเสี่ยงของโรคสมองเสื่อมได้แล้ว ในหลายงานวิจัย การฉีดอินซูลินทางจมูก เพื่อให้มันไปถึงสมองได้มากที่สุด ช่วยเพิ่มความสามารถทางสมองและความจำให้กับผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ได้

======

วิธีลดความเสี่ยงโรคสมองเสื่อม

======

เนื่องจากโรคสมองเสื่อมเป็นเพียงโรคเดียวใน 4 พญามารที่ยังไม่มีหนทางรักษา ทางเลือกเดียวที่เรามีในตอนนี้คือการป้องกันและลดความเสี่ยง

วิธีแรกที่ได้ผลมากที่สุด คือการออกกำลังกาย เพราะมันช่วยให้กลูโคสในร่างกายอยู่ในระดับที่สมดุล (glucose homeostasis) และช่วยให้หลอดเลือดแข็งแรง โดย Peter Attia ผู้เขียนหนังสือ จะให้คนไข้ที่มีความเสี่ยงเป็นโรคอัลไซเมอร์ ออกกำลังกายแบบ steady endurance exercise เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพของไมโทรคอนเดรีย [ผมจะกล่าวถึงเรื่องนี้อย่างละเอียดในบทต่อๆ ไป]

การออกกำลังกายแบบ strength training ก็ช่วยได้เช่นกัน ในหลายงานวิจัยพบว่า ยิ่งเรามีแรงบีบมือ (grip strength) มากเท่าไหร่ โอกาสเป็นอัลไซเมอร์ยิ่งน้อยลงเท่านั้น คนที่มีแรงบีบมือน้อยที่สุด 25% ของกลุ่ม (bottom quartile) มีโอกาสเป็นอัลไซเมอร์มากกว่าคนที่แรงบีบมือมากที่สุด 25% ของกลุ่ม (top quartile) ถึง 72%

การใส่ใจเรื่องการรับประทานอาหารสไตล์ Mediterranean Diet ก็อาจช่วยลดความเสี่ยงได้บ้างเช่นกัน โดยเน้นไปที่ไขมันไม่อิ่มตัวจากเนื้อปลา และการกินอาหารเสริมเพื่อช่วยเพิ่มกรดไขมัน DHA ในน้ำมันปลาก็อาจช่วยรักษาสมรรถภาพของสมองได้

การนอนหลับก็เป็นสิ่งสำคัญ เพราะมันคือช่วงเวลาที่สมองเยียวยาตัวเองด้วยการ “กวาดขยะนิวรอน” ที่เกิดขึ้นระหว่างวัน การพักผ่อนที่ไม่เพียงพออาจเพิ่มความเสี่ยงของภาวะดื้ออินซูลินเพิ่มขึ้น และทำให้ฮอร์โมนความเครียดอย่างคอร์ติซอล (cortisol) เพิ่มมากขึ้น

อีกปัจจัยหนึ่งที่อาจจะแปลกหน่อยแต่ก็น่าสนใจ ก็คือการดูแลสุขภาพเหงือกและฟันด้วยการใช้ไหมขัดฟัน แบคทีเรียอย่าง P.gingivalis ซึ่งมักก่อให้เกิดโรคเหงือกอักเสบนั้นบางทีก็ไปโผล่อยู่ในสมองของคนที่เป็นอัลไซเมอร์ด้วย แม้ว่ามันอาจไม่ใช่ต้นเหตุของโรคสมองเสื่อม แต่ความเชื่อมโยง (association) นี้ก็มากเกินกว่าที่เราจะไม่สนใจมันเลย

ความน่ากลัวของอัลไซเมอร์ก็คือกระบวนทัศน์แบบ Medicine 2.0 ที่แพทย์ส่วนใหญ่ใช้กันในปัจจุบันนี้ไม่สามารถช่วยอะไรเราได้ เพราะ Medicine 2.0 จะต้องรอให้วินิจฉัยว่าเป็นโรคนี้เสียก่อนถึงจะเริ่มลงมือทำอะไร ซึ่งปล่อยให้ถึงตอนนั้นก็สายเกินไปแล้ว เพราะโรคนี้ไม่มีทางรักษา

ดังนั้นเราต้องใช้กระบวนทัศน์ของ Medicine 3.0 คือป้องกันและลดความเสี่ยงตั้งแต่เนิ่นๆ แม้ว่าเราจะอายุเพียงเลขสามหรือเลขสี่ก็ควรเริ่มทำ เพราะมันยังเป็นเพียงทางเลือกเดียวที่เรามี

เราได้ทำความรู้จักกับ 4 พญามารครบเรียบร้อยแล้ว ในตอนต่อๆ ไปเราจะเริ่มเข้าถึงหัวใจของหนังสือ Outlive นั่นคือเราควรทำอะไรบ้างเพื่อที่จะมีชีวิตที่ยืนยาว (lifespan) และมีสุขภาพที่แข็งแรง (healthspan) แม้ในช่วงทศวรรษสุดท้ายของชีวิตครับ


Outlive ตอนที่ 1: โรคเบาหวานและเหตุผลที่ Outlive เป็นหนังสือเปลี่ยนชีวิตประจำปี 2024

Outlive ตอนที่ 2: โรคหัวใจและความเข้าใจผิดเกี่ยวกับคอเลสเตอรอล

Outlive ตอนที่ 3: ความหวังของการรักษามะเร็งให้หายขาด

Outlive ตอนที่ 4: โรคอัลไซเมอร์

Outlive ตอนที่ 5: KPI ที่สำคัญที่สุดสำหรับอายุที่ยืนยาว

Outlive ตอนที่ 6: VO2 Max และความสับสนเกี่ยวกับ Zone 2 Training

Outlive ตอนที่ 7: Strength และ Stability มิติที่คนออกกำลังกายมองข้าม

Outlive ตอนที่ 8: กินน้อย / ทำ IF แล้วสุขภาพดีจริงหรือ

Outlive ตอนที่ 9: การนอนหลับและสุขภาพทางอารมณ์