3 แง่มุมของ AI ที่เราควรตระหนัก จากมุมมองของผู้เขียน Sapiens

3 แง่มุมของ AI ที่เราควรตระหนัก จากมุมมองของผู้เขียน Sapiens

ผมเพิ่งได้ฟังการสัมภาษณ์ที่นักข่าว Pedro Pinto พูดคุยกับ Yuval Noah Harrari ผู้เขียนหนังสือ Sapiens: A Brief History of Humankind

การสัมภาษณ์นี้เกิดขึ้นในเมืองลิสบอนเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2023 เนื้อหาหลักของการพูดคุยคือ AI จะมีผลกระทบต่อการเมืองและประชาธิปไตยอย่างไร

ในช่วงต้นของการสัมภาษณ์ ฮารารีได้พูดถึงบางแง่มุมของ AI ที่ผมคิดว่าน่าสนใจ จึงขอนำมาแชร์ไว้ตรงนี้ครับ

.

1. AI ที่เราเห็นยังเป็นแค่อะมีบา

AI ที่เราใช้งานกันอยู่มีอายุประมาณ 10 ปี

วิวัฒนาการต้องใช้เวลาถึง 4 พันล้านปีกว่าจะสร้างสิ่งมีชีวิตต่างๆ ที่เราเห็นในทุกวันนี้ ทั้งพืช สัตว์ และมนุษย์

เมื่อสี่พันล้านปีที่แล้ว สิ่งมีชีวิตบนโลกยังเป็นแค่อะมีบา (amoeba) อยู่เลย

ChatGPT จึงเป็นแค่อะมีบาในโลกของ AI

ถ้า AI ระดับอะมีบายังทำได้ขนาดนี้ ลองนึกภาพดูว่า AI ระดับ T-Rex จะทำได้ขนาดนี้

และต้องใช้เวลาเท่าไหร่ที่ “อะมีบา AI” จะวิวัฒนาการเป็น “ทีเร็กซ์ AI”

คงไม่ได้ใช้เวลาเป็นพันล้านปีแน่ๆ อาจจะใช้เวลาแค่ระดับทศวรรษหรือไม่กี่ปีเท่านั้น เพราะว่าวิวัฒนาการของ AI อยู่บนคนละ time scale กับสิ่งมีชีวิตโดยสิ้นเชิง เนื่องจาก AI ทำงานได้ตลอดเวลา ไม่จำเป็นต้องพักผ่อนเหมือนสิ่งมีชีวิตอื่นๆ

.

2. AI เป็นเทคโนโลยีชนิดแรกที่ตัดสินใจได้เอง

เราคงเคยได้ยินบางคนพูดว่า AI ไม่ได้อันตรายอย่างที่เราคิด ที่ผ่านมาเวลาเกิดเทคโนโลยีใหม่ๆ คนก็มักจะกลัวกันไปก่อน แต่สุดท้ายแล้วทุกอย่างมันก็โอเค ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีสิ่งพิมพ์หรือการบิน ดังนั้นสุดท้ายแล้ว AI ก็จะเป็นแบบนั้นเช่นกัน

แต่เราไม่อาจเทียบ AI กับเทคโนโลยีอื่นได้ เพราะไม่เคยมีเทคโนโลยีใดในประวัติศาสตร์ที่สามารถตัดสินใจได้ด้วยตัวเอง

ยกตัวอย่างระเบิดปรมาณู (atomic bomb) – แม้ว่ามันจะทำลายเมืองทั้งเมืองได้ แต่มันไม่สามารถตัดสินใจเองได้ว่าจะไประเบิดที่เมืองไหน เรายังต้องใช้มนุษย์ในการเลือกอยู่ดี

แต่ AI นั้นตัดสินใจเองได้ เวลาเรายื่นขอเงินกู้ หลายธนาคารใช้ AI ในการตัดสินใจว่าจะปล่อยกู้ให้เราหรือไม่

.

3. AI เป็นเทคโนโลยีชนิดแรกที่สร้างไอเดียใหม่ๆ ได้

เทคโนโลยีการพิมพ์ วิทยุ หรือโทรทัศน์ทำได้เพียงกระจายไอเดียที่ถูกสร้างขึ้นมาโดยมันสมองของมนุษย์

โยฮันเนส กูเตนเบิร์ก เป็นผู้ปฎิวัติการพิมพ์จนทำให้สามารถพิมพ์ไบเบิลออกมาได้ในช่วงศตวรรษที่ 15

“The printing press printed as many copies of the Bible as Gutenberg instructed it, but it did not create a single new page”

แท่นพิมพ์เหล่านั้นจะพิมพ์ไบเบิลออกมากี่ร้อยกี่พันเล่มก็ได้ แต่มันไม่สามารถ “เขียน” ไบเบิลหน้าใหม่ออกมาได้เลยแม้แต่หน้าเดียว

แท่นพิมพ์เหล่านั้นไม่มีไอเดียเป็นของตัวเอง มันไม่รู้หรอกว่าไบเบิลที่มันผลิตออกมานั้นดีหรือไม่ดี

แต่ AI สามารถสร้างไอเดียใหม่ๆ ได้ มันอาจจะสามารถเขียนไบเบิลใหม่ทั้งเล่มได้เลยด้วยซ้ำ

หลายศาสนามักจะเคลมว่าพระคัมภีร์ของศาสนาตัวเองนั้นถูกเขียนขึ้นโดยบางสิ่งที่มีภูมิปัญญาเหนือมนุษย์ (superhuman intelligence)

แต่ไม่กี่ปีต่อจากนี้ อาจจะเกิดศาสนาใหม่ที่มี AI เป็นผู้เขียนพระคัมภีร์จริงๆ ก็ได้


ขอบคุณข้อมูลจาก YouTube: Humanity is not that simple | Yuval Noah Harari & Pedro Pinto