สิ่งที่เราเคยต้องการ เรายังต้องการมันอยู่จริงหรือ

หนึ่งในบทเรียนที่สำคัญที่สุดที่ผมได้จากหนังสือ Think Again ของ Adam Grant ก็คือการตั้งคำถามกับชุดความเชื่อที่เรามี

ชุดความเชื่อบางอย่างเข้ามายึดครองพื้นที่ในใจหรือในอุดมการณ์ของเราตั้งแต่เมื่อ 5 ปี 10 ปี หรือแม้กระทั่ง 20 ปีที่แล้ว

เรามี “ภาพฝัน” ว่าชีวิตที่ดีควรเป็นแบบนี้ การงานที่ดีควรเป็นแบบนี้ ความรักที่ดีควรเป็นแบบนี้

และภาพฝันที่สลัดยากที่สุด คือตัวตนของเราควรเป็นแบบนี้

ผมขอยกตัวอย่างสองเรื่องของตัวเอง

ฤดูกาล 1998/99 คือฤดูกาลที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของทีมแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด เพราะทำสิ่งที่ไม่เคยมีใครเชื่อว่าจะทำได้ นั่นคือการกวาดสามแชมป์ ทั้ง Premier League, FA Cup และ Champions League

ผมยังเรียนอยู่ปี 1 ในตอนนั้น และอดตาหลับขับตานอนเชียร์ทุกนัดที่แมนยูลงแข่ง

นัดชิงแชมเปี้ยนส์ลีกที่แมนยูเตะกับบาเยิร์นมิวนิค รู้ทั้งรู้ว่าเช้านั้นมีสอบปลายภาควิชาฟิสิกส์ ผมก็ยังตื่นมาดู กว่าจะได้นอนอีกทีก็เกือบตีห้า และตื่นเจ็ดโมงเช้าเพื่อไปสอบ

จากนั้นมาผมก็ติดตามแมนยูตลอด ต่อให้แมทช์จะดึกแค่ไหนก็จะต้องดูถ่ายทอดสด เวลาทีมแพ้ในนัดสำคัญก็จะซึมไปหลายวัน

แต่หลังจากมีครอบครัว มีลูก ผมดูถ่ายทอดสดแมนยูเตะน้อยลงไปเยอะ ฤดูกาลนี้ยังไม่ได้ดูเต็มแมทช์เลยซักนัด ใช้วิธีดูไฮไลท์ในวันรุ่งขึ้นแทน

ถ้าเป็นตัวผมสมัยก่อน คงจะดูแคลนตัวผมในตอนนี้ เพราะถ้าจะเป็น “เด็กผีตัวจริง” มันต้องทุ่มเทกว่านี้ ต้องตื่นมาดูถ่ายทอดสดแม้ว่ามันจะทำให้เราง่วงไปทั้งวัน ต้องเดือดเนื้อร้อนใจเวลาทีมที่ตัวเองแพ้ ต้อง ฯลฯ

แต่เมื่อระลึกได้ว่า จริงๆ แล้วเรา “ไม่ต้อง” ทำอะไรทั้งนั้น ความคาดหวังต่างๆ เป็นสิ่งที่เราคิดไปเอง เราสามารถเชียร์ทีมที่ตัวเองรักโดยไม่จำเป็นต้องทุ่มเทเหมือนสมัยก่อน


อีกตัวอย่างหนึ่ง

ผมเริ่มเขียนบล็อกแบบจริงจังมาตั้งแต่ปี 2015 โดยตั้งเป้าว่าจะเขียนทุกวัน ซึ่งเอาจริงๆ ก็มีหลุดบ้าง แต่ทุกปีก็จะเขียนได้ประมาณปีละ 350 บทความ

เมื่อปี 2017 ตอนที่เขียนได้ครบ 1,000 บทความ ผมก็ประกาศว่าถ้าเขียนได้ (เกือบ) ทุกวันแบบนี้ ผมจะเขียนครบ 10,000 บทความก่อนอายุ 72 ปี ซึ่งเป็นเป้าหมายที่ผมยึดถือมาตลอด

แต่ถ้าใครติดตามบล็อกนี้มานาน อาจจะพบว่าในช่วงเดือนที่ผ่านมา ความถี่ในการเขียนบทความของผมลดลง บางสัปดาห์อาจจะโพสต์แค่ 2-3 ตอนเท่านั้น

เหตุผลก็คือผมอยากทดลองดูว่าถ้าไม่เขียนทุกวันมันจะเป็นยังไง

ซึ่งเป็นสิ่งที่ผมไม่เคยกล้าทำ เพราะกลัวจะเสียชื่อ “คนที่เขียนบล็อกทุกวัน” และกลัวว่าจะไปไม่ถึง 10,000 บทความตามที่เคยประกาศเอาไว้

แต่ผมก็ได้พบว่า การนิยามตัวเองว่า “เป็นคนเขียนบล็อกทุกวัน” และ “ต้องไปให้ถึง 10,000 บทความ” เป็นเป้าหมายของตัวเองเมื่อนานมาแล้ว

มาถึงวันนี้ “ส่วนผสม” และ “สัดส่วน” ของสิ่งสำคัญในชีวิตไม่ได้เหมือนแต่ก่อน แล้วเหตุใดผมถึงต้องยึดติด – หรือติดกับ – กับเป้าหมายที่ตัวเองในวัยเด็ก(กว่า) ตั้งเอาไว้

สิ่งที่ผมเคยต้องการ ไม่ใช่สิ่งที่ผมต้องการขนาดนั้นอีกต่อไป

ในวันนี้ สิ่งที่ผมต้องการคือการมีเวลาว่างมากขึ้น ใช้เวลากับลูกและภรรยามากขึ้น โดยไม่ต้องคอยพะวงหรือรู้สึกผิดว่าวันนี้ยังไม่ได้เขียนบล็อก และถ้ามันจะไปไม่ถึง 10,000 บทความก็ไม่เป็นไร


เขียนมายืดยาว เพียงเพื่อต้องการจะบอกว่าอย่าไปยึดติดกับเป้าหมาย หรือตัวตนของเราในอดีต

เราไม่จำเป็นต้องหวงแหนตัวตนที่สร้างเอาไว้ในจินตภาพ ตัวเราในวันนี้ไม่จำเป็นต้องคิดหรือทำเหมือนกับตัวเราเมื่อสิบปีที่แล้ว โดยเฉพาะเมื่อคำนึงว่าตัวเราในวันนี้ฉลาดและมีประสบการณ์มากกว่าตัวเราในวันก่อนตั้งเยอะ

แต่คนไม่น้อยก็ยังยืนยัน – หรือดึงดัน – ที่จะทำแบบเดิม ด้วยเหตุผลที่ว่า “เพราะเราเป็นคนแบบนี้”

นั่นย่อมทำให้เราสูญเสียโอกาสที่จะ “ได้ลองเป็นคนแบบอื่น” ซึ่งผมว่ามันเป็นเรื่องน่าเสียดาย และปิดกั้นความเป็นไปได้เกินไปหน่อย

ถ้าเรากล้าปล่อยมือจากเป้าหมายหรือตัวตนที่เรายึดถือมันมานาน เราอาจพบว่ามันไม่ได้แย่อย่างที่เราคิด

สิ่งที่เราเคยต้องการ เรายังต้องการมันอยู่จริงหรือ

นี่คือคำถามสำคัญ ที่อาจเปลี่ยนทิศทางชีวิตเราได้นะครับ

ออกกำลังกายวันนี้ ทำงานดีขึ้นวันพรุ่งนี้

ผมเพิ่งได้อ่านบทความของ Harvard Business Review คิดว่าน่าจะมีประโยชน์สำหรับคนที่อยากออกกำลังกายแต่ยังทำได้ไม่สม่ำเสมอครับ

ตามสถิติ โลกนี้มีผู้ใหญ่ประมาณ 1.4 พันล้านคนที่เคลื่อนไหวร่างกายไม่เพียงพอ (physical inactivity) ยิ่งตอนนี้หลายคนทำงานที่บ้าน โอกาสได้ขยับเขยื้อนร่างกายยิ่งน้อยลงไปอีก

ว่ากันว่าการออกกำลังกายจะช่วยให้ทำงานดีขึ้น หลายคนอาจจะเคยมีลูกฮึด ตื่นมาวิ่งแต่เช้า แล้วกลับพบว่าระหว่างวันง่วงมาก ทำงานไม่ค่อยไหว ก็เลยรู้สึกเข็ด

ความจริงก็คือ การออกกำลังกายมักจะไม่ได้ส่งผลต่อการทำงานในวันนี้ แต่ส่งผลต่อการทำงานในวันพรุ่งนี้มากกว่า

มีปัจจัยหลัก 3 ข้อที่การออกกำลังกายช่วยให้เราทำงานได้ดีขึ้นในวันถัดมา

  1. เราจะนอนหลับอย่างมีคุณภาพ เพราะการเคลื่อนไหวจะกระตุ้นให้ร่างกายสร้างโปรตีนชนิดหนึ่งที่ช่วยให้เราหลับได้ลึก
  2. เราจะมี vigor หรือความรู้สึกมีชีวิตชีวากว่าเดิม
  3. เราจะมีสมาธิกับการทำงานมากขึ้น

งานวิจัยพบว่า การได้ออกกำลังกายเพียงวันละ 20 นาที ก็มากพอที่จะเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานในวันถัดไปแล้ว

ใครที่ไม่อาจหาเวลา 20 นาทีออกกำลังกาย หรืออุปกรณ์ไม่พร้อม ผมแนะนำให้ลองเสิร์ช 7-minute scientific workout ซึ่งเป็นท่าออกกำลังกาย 12 ท่าที่ทำที่บ้านได้ ไม่ต้องใช้อุปกรณ์อะไรนอกจากเก้าอี้ และใช้เวลาทั้งหมดไม่เกิน 9 นาที (ออกกำลังกาย 7 นาที พัก 2 นาที)

ที่ผ่านมา บางคนไม่ค่อยออกกำลังกายเพราะเอาเวลาไปทุ่มเทกับการทำงาน

แต่ยิ่งถ้าเราเป็นคนชอบทำงาน การออกกำลังกายคือหนึ่งในวิธีที่เพิ่มพูน productivity ได้ดีที่สุดครับ


ขอบคุณข้อมูลจาก Harvard Business Review: To Improve Your Work Performance, Get Some Exercise

เราชอบคิดว่าเราไม่มีทางเลือก

พอโตเป็นผู้ใหญ่ ประสบการณ์มักจะหล่อหลอมและแช่แข็งให้เรามีชุดความเชื่อว่า สิ่งนี้ทำได้-สิ่งนั้นทำไม่ได้

เมื่อคิดว่ารู้คำตอบอยู่แล้ว เราจึงเลิกตั้งคำถาม

พอปิดกั้นความเป็นไปได้ใหม่ๆ แต่ละวันจึงตายตัวและวนลูป

หากเราไม่โอเคกับสภาพที่เป็นอยู่ สิ่งที่ควรถามก็คือ “เราอยากใช้ชีวิตแบบนี้ไปอีกนานแค่ไหน?”

ถ้าคำตอบคือ “ไม่ได้อยากเป็นแบบนี้ตลอดไป” นั่นคือสัญญาณว่าเราควรทำอะไรต่างไปจากเดิม

แล้วเสียงในหัวก็จะเถึยงขึ้นมาอีกว่า ก็มันเลือกไม่ได้นี่

จริงๆ แล้วเราสามารถเลือกได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องงาน เรื่องเงิน เรื่องครอบครัว เรื่องความรัก ที่คิดว่าเราเลือกไม่ได้ เพราะเรากลัวผลลัพธ์ที่จะตามมา

สมมติว่างานปัจจุบันนั้นไร้ความสุขและไร้อนาคต แต่เราก็ไม่ยอมเปลี่ยนงาน เพราะว่ามีภาระต้องดูแล เราจึงบอกว่าไม่มีทางเลือก แต่แท้จริงแล้วเราเลือกที่จะเปลี่ยนงานได้ถ้าเราพร้อมรับความเสี่ยง เช่นงานใหม่ไม่เวิร์ค ได้เงินน้อยกว่าเดิม ไม่ได้มีหน้ามีตาเท่าเดิม ไม่สามารถดูแลคนที่เรารักได้ดีเหมือนแต่ก่อน

แน่นอนว่าไม่ได้ง่าย แต่ในทางปฏิบัตินั้นเป็นไปได้ถ้าเราพร้อมเผชิญหน้ากับมัน

โจทย์จึงไม่ได้อยู่ที่เราขาดแคลนทางเลือก โจทย์อยู่ที่เราขาดแคลนความกล้า

เมื่อเรานิยามโจทย์เสียใหม่ ความเป็นไปได้ก็เปิดกว้าง เราจะเริ่มตั้งคำถามและมองหาทางออก แทนที่จะพร่ำบอกตัวเองว่ามันคือทางตัน

คิดให้ดี คิดให้ถี่ถ้วน แล้วถ้าสุดท้ายได้ข้อสรุปเหมือนเดิมก็ไม่เห็นเป็นไร โลกกำลังหมุนไว เดือนหน้ากลับมาคิดใหม่ก็อาจได้ข้อสรุปที่แตกต่าง

เราชอบคิดว่าเราไม่มีทางเลือก

แต่ถ้าเรากล้าตั้งคำถาม และกล้าเผชิญผลลัพธ์ที่ตามมา เราจะรู้ตัวว่าเรามีทางเลือกเสมอครับ

คิดอย่างไรถึงจะไม่อิจฉาคนที่ชีวิตดีกว่าเรา

เคยมีการทดลองหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่ามนุษย์เรานั้นช่างเปรียบเทียบแค่ไหน

ต้องขออภัยที่ผมจำแหล่งข้อมูลไม่ได้แล้ว เลยขอยกตัวอย่างเนื้อหาที่น่าจะช่วยให้เห็นภาพตามได้

สมมติให้เลือกระหว่าง

A เราได้รับเงินเดือน 100,000 บาทเท่าเพื่อนทุกคนในทีม

B เราได้รับเงินเดือน 110,000 บาท โดยที่เพื่อนคนอื่นๆ ในทีมได้เงินเดือน 120,000 บาท

ข้อไหนที่จะทำให้เรามีความสุขมากกว่ากัน?

แม้ว่าการเลือกข้อ B จะทำให้เรามีเงินมากกว่าข้อ A ถึง 10,000 บาท แต่เชื่อว่าคนจำนวนไม่น้อยที่ลังเล บางคนอาจจะเลือกข้อ A ด้วยซ้ำ

“ความสุข” หรือ “ความสำเร็จ” ของปุถุชนจึงไม่ได้วัดจากค่าสัมบูรณ์ในตัวมันเอง แต่ต้องดูที่ค่าสัมพัทธ์ด้วย เผลอๆ ค่าสัมพัทธ์นี่เป็นตัววัดหลักเลยด้วยซ้ำ

เมื่อมนุษย์นั้นช่างเปรียบเทียบและขี้อิจฉา โซเชียลมีเดียก็เหมือนถูกสร้างมาเพื่อจี้จุดอ่อนนี้

ไม่ว่าชีวิตเราจะก้าวหน้าไปแค่ไหน มันจะมีคนที่การงานดีกว่าเรา ได้ไปเที่ยวบ่อยกว่าเรา ขับรถหรูกว่าเรา แฟนสวยกว่าเราโผล่ขึ้นมาในฟีดให้ “ความสุขสัมพัทธ์” ของเราลดลงเสมอ

วิธีแก้อย่างหนึ่งก็คือเล่นโซเชียลให้น้อยลง แต่ถ้าเลี่ยงไม่ได้หรืออดไม่ได้ ก็อาจจะมีวิธีคิดที่ช่วยให้เราสบายใจขึ้น

จากการสังเกตของผมเอง คนรอบตัวผมที่ทำงานเก่งระดับเทพนั้นไม่ค่อยโพสต์เรื่องงานลงโซเชียลเท่าไหร่ ส่วนใหญ่จะโพสต์เรื่องสัพเพเหระหรือเรื่องครอบครัว

และหลายคนที่แสดงตนในโลกโซเชียลว่าเก่งมาก จัดการชีวิตได้ดีมาก เมื่อเจอตัวตนจริงๆ กลับพบว่าเขาก็เป็นคนธรรมดาคนหนึ่ง ไม่ต่างจากศิลปินหลังเดินลงจากเวที

Morgan Housel ผู้เขียนหนังสือ The Psychology of Money เคยเขียนไว้ว่า

“Social media makes more sense when you view it as a place people go to perform rather than a place to communicate.”

เราจะเข้าใจโซเชียลมีเดียมากขึ้นหากเรามองว่ามันคือพื้นที่เพื่อการแสดง ไม่ใช่พื้นที่เพื่อการสื่อสาร

หนึ่งในสิ่งที่มีอานุภาพที่สุดของโซเชียลมีเดียคือ validation หรือความยอมรับ

สมัยก่อนถ้าเขียนบล็อกลงในเว็บเฉยๆ ผมไม่มีทางรู้เลยว่าคนที่เข้ามาอ่านนั้นชอบรึเปล่า แต่หากผมโพสต์บทความนี้ลงในเพจ Facebook แล้วมีคนกดไลค์กดแชร์เยอะ ผมก็ใจฟู เพราะแสดงว่ามีคนชอบและยอมรับบทความของผม

ผมจึงมีสมมติฐานอย่างหนึ่งว่า คนที่โพสต์ลงโซเชียลบ่อยๆ บางคนก็ทำไปเพราะต้องการ validation หรือการแสวงหาความยอมรับว่าตัวเขามีความสำคัญ

ขณะที่บางคนที่ได้รับการเติมเต็มจากโลก offline ไปเรียบร้อยแล้ว ก็อาจไม่มีความจำเป็นต้องโพสต์ลงโซเชียลเพื่อแสวงหาความยอมรับจากใคร

เมื่อห้าปีที่แล้วผมเคยเขียนไว้ในบทความ “ไม่มีอะไรต้องพิสูจน์”

“คนที่หน้าตาดีจริงๆ ไม่ต้องพิสูจน์ว่าตัวเองหน้าตาดี คนที่มีฐานะจริงๆ ไม่จำเป็นต้องพิสูจน์ว่าตัวเองมีฐานะ และคนที่มีบารมีจริงๆ ไม่จำเป็นต้องพิสูจน์ว่าตัวเองมีบารมี

การที่เราต้องพิสูจน์ อาจแปลว่าเรายังขาดสิ่งนั้นอยู่ก็ได้

ในทางกลับกัน การเติบโตอย่างแท้จริง หรือการประสบความสำเร็จอย่างแท้จริง อาจหมายถึงการไปถึงจุดที่ไม่มีอะไรต้องพิสูจน์อีกต่อไป

ไม่ใช่เพราะว่าเก่งทุกอย่าง แต่เพราะเข้าใจแล้วว่าเราไม่ต้องเก่งไปเสียทุกอย่าง

ถ้าทำได้ เราก็แค่รู้ตัวว่าทำได้ ไม่จำเป็นต้องอวดใคร

ถ้าทำไม่ได้ ก็แค่ยอมรับว่าเราทำไม่ได้ ไม่จำเป็นต้องอายใคร

ถ้าเราสามารถใช้ชีวิตแบบนี้ ผมว่ามันก็น่าจะดีนะครับ”

ดังนั้น ถ้ากลับมาที่โจทย์หลักของบทความนี้ ว่าในเมื่อเราเป็นมนุษย์สัมพัทธ์โดยกำเนิด เราควรจะมีความคิดเห็นอย่างไรถึงจะไม่อิจฉาคนที่(ดูเหมือน)ชีวิตดีกว่าเรา

ก็คือการตระหนักว่า snapshot บนโซเชียลที่แสดงถึงชีวิตดีๆ นั้น บางทีมันเป็นเพียงแค่ performance พอวางกล้องลงแล้วเขาก็เป็นคนธรรมดา เผลอๆ จะมีบางมุมที่เขาขาดแคลนกว่าเราด้วยซ้ำ

ฟังดูเหมือนนิทานองุ่นเปรี้ยว แต่ผมว่ามันเป็นวิธีคิดที่น่าจะสอดคล้องกับความเป็นจริงมากกว่าการมองเห็นแต่มุมสวยงามแล้วเผลอคิดว่าชีวิตเราควรจะเป็นแบบนั้นบ้างครับ

ทำมากได้น้อย-ทำน้อยได้มาก

ช่วงนี้ผมได้ใช้เวลาคิดทบทวนเรื่อง The Law of Diminishing Returns พอสมควร

บางคนแปลชื่อเป็นไทยว่า “กฎแห่งผลตอบแทนที่ลดลง”

ใครที่ไม่เคยได้ยินกฎนี้ สามารถดูภาพประกอบที่มีน้องเพนกวินเป็นผู้สอน

แกนนอนคือ input หรือแรงที่เราลงไป

แกนตั้งคือ output หรือผลลัพธ์ที่เราได้กลับมา

ในช่วงแรกจะเห็นว่ากราฟค่อนข้างชัน เราลงแรงไปหนึ่งหน่วย แต่ได้รับผลตอนแทนมากกว่าหนึ่งหน่วย (increasing returns)

แต่พอถึงจุดหนึ่ง ความชันของกราฟจะน้อยลง การเพิ่ม input ไม่ได้สร้าง output มากเท่ากับก่อนหน้านี้ (diminishing returns)

และยิ่งเราเพิ่ม input เข้าไปเรื่อยๆ กราฟกลับทิ่มหัวลง กลายเป็นว่ายิ่งทำผลลัพธ์ยิ่งแย่ (negative returns)

ลองนึกถึงการกินพิซซ่า

เวลาที่เราหิวโซ แล้วมีพิซซ่าถาดใหญ่มาส่ง การได้กินหยิบพิซซ่าชิ้นแรกขึ้นมากินนั้นจะทำให้เรามีความสุขมาก (increasing returns)

แน่นอนว่าพิซซ่าชิ้นเดียวยังไม่อิ่มท้อง เราก็เลยกินชิ้นที่สอง ชิ้นที่สาม ชิ้นที่สี่ ซึ่งมันก็ทำให้เรามีความสุขมากขึ้นไปอีก แต่พิซซ่าชิ้นที่สี่ไม่ได้ทำให้ความสุขของเราเพิ่มมากขึ้นเท่ากับพิซซ่าชิ้นแรก นั่นแปลว่าเราอยู่ในโซนของ diminishing returns เรียบร้อยแล้ว

และถ้าเราโดนบังคับให้กินพิซซ่าจนหมดถาด พอถึงชิ้นที่ 6 เราจะเริ่มรู้สึกหนืดๆ และเมื่อถึงชิ้นที่ 8 เราอาจจะรู้สึกผะอืดผะอม (negative returns)

The Law of Diminishing Returns นี้เอามาปรับใช้ในชีวิตจริงได้ในหลายสถานการณ์และในหลากหลายแง่มุม

.

หนึ่ง เรื่องการเรียน

ตอนที่ผมเรียนปริญญาตรี ผมจบด้วยเกรดเฉลี่ยค่อนข้างดีเยี่ยม

แต่ระหว่างที่เรียนผมก็ทำกิจกรรมนักศึกษาค่อนข้างเยอะมาก เป็นสี่ปีที่ชีวิตเต็มไปด้วยสีสัน

ถามว่าผมสามารถทำกิจกรรมให้น้อยกว่านี้ได้มั้ย เพื่อจะได้มีเวลาทบทวนตำรามากขึ้น

คำตอบคือทำได้ แต่ต่อให้ผมไม่ทำกิจกรรมเลย และเอาเวลาทั้งหมดมาทุ่มให้กับการเรียน เกรดเฉลี่ยของผมก็คงดีขึ้นประมาณ 0.1 หรือ 0.2 เท่านั้น เพราะเมื่อเกรดเราสูงอยู่แล้ว การพยายามเพิ่มเกรดเฉลี่ยให้สูงขึ้นไปอีกมันคือการทำงานในโซนของ diminishing returns ที่ลงแรงไปมาก แต่ได้ผลตอบแทนกลับมาไม่คุ้มค่าเท่าไหร่

เมื่อมองย้อนกลับไป คิดว่าตัวเองตัดสินใจถูกที่เอาเวลาที่เราควรจะได้อ่านหนังสือไปทำกิจกรรม เพราะมันคือสิ่งที่เราจดจำได้และมีประโยชน์กว่าเนื้อหาในตำราไหนๆ

.

สอง เรื่องการทำงาน

สิ่งหนึ่งที่หัวหน้าผมมักจะบอก คือ Done is better than perfect

งานหลายๆ อย่างไม่จำเป็นต้องทำให้เรียบร้อยไร้ที่ติ ทำได้ซัก 80-90% ก็โอเคแล้ว

ยกตัวอย่างเช่นการทำสไลด์ให้ดูดีประมาณ 80% อาจใช้เวลา 2 ชั่วโมง แต่ถ้าจะทำให้เพอร์เฟ็คต้องใช้เวลาเพิ่มอีก 2 ชั่วโมง ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่ควรทำหากสไลด์นั้นถูกใช้เพื่อการพูดคุยกันภายในบริษัทแค่ครั้งเดียว สู้เอาเวลาสองชั่วโมงนั้นไปทำงานชิ้นอื่นจะดีกว่า

แต่ถ้าเราจะทำอะไรที่ออกไปพรีเซนต์ลูกค้า หรือต้องส่งให้พนักงานทั้งองค์กรได้ใช้ 80-90% อาจยังไม่พอ ต้องทำให้ใกล้เคียง 100% ให้มากที่สุด

.

สาม เรื่องเวลาที่มีให้ลูก

ผมเคยเขียนบทความ “10% ของงาน = 50% ของลูก”

เพราะหนึ่งชั่วโมงของงาน กับหนึ่งชั่วโมงของลูกไม่เท่ากัน

สมมติว่าเราทำงานนอกบ้าน และลูกเข้านอนตอนสามทุ่ม

ถ้าเราทำงานถึงหกโมงเย็น และกลับถึงบ้านตอนหนึ่งทุ่ม ลูกจะได้อยู่กับเราสองชั่วโมง

ถ้าเราทำงานถึงหนึ่งทุ่ม และกลับถึงบ้านตอนสองทุ่ม ลูกจะมีเวลาอยู่กับเราแค่ชั่วโมงเดียว

เราได้ทำงานมากขึ้น 1 ชั่วโมง ซึ่งคิดเป็นประมาณ 10% ที่เราจะได้งานเยอะขึ้น

แต่ลูกได้อยู่กับเราน้อยลง 1 ชั่วโมง ซึ่งเท่ากับ 50% ของเวลาทั้งหมดที่เขาจะได้อยู่กับเราในวันนั้น

1 ชั่วโมงของการที่ลูกได้อยู่กับเรา อยู่ในโซนของ increasing returns

1 ชั่วโมงของการทำงานเพิ่มขึ้น อยู่ในโซนของ diminishing returns

ดังนั้น 1 ชั่วโมงจึงมีค่าไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับว่าเราใช้มันไปกับโซนไหน

.

สี่ ผลตอบแทนมหาศาลของการเป็น Elite

โดยเฉลี่ยแล้วนักเตะใน Premier League ได้ค่าตอบแทน 60,000 ปอนด์ต่อสัปดาห์หรือเดือนละ 10.5 ล้านบาท*

ส่วนเงินเดือนของนักเตะที่อยู่ลีกต่ำกว่านั้นได้แก่

EFL Championship เดือนละ 1.2 ล้านบาท (7,000 GBP/week)
EFL League One เดือนละ 8 แสนบาท (4,753 GBP/week)
EFL League Two เดือนละ 3.5 แสนบาท (2,000 GBP/week)

ทั้ง 4 ลีกรวมกันมีทั้งหมด 92 ทีม (20+24+24+24) สมมติว่าทีมชุดใหญ่มีทีมละ 25 คน แสดงว่ามีนักเตะทั้งหมด 2300 คน

ในอังกฤษมีคนเตะบอลได้ 11 ล้านคน*

ถ้าเราเก่งพอที่จะเป็นนักเตะ League Two แสดงว่าเราเก่งระดับ 2300 คนแรกใน 11 ล้านคน คิดเป็น 99.98th percentile ได้ค่าเหนื่อยเดือนละสามแสนห้า

แต่ถ้าเราอยากเก่งพอที่จะค้าแข้งในพรีเมียร์ลีก ซึ่งมี 20 ทีม เราต้องเป็น 500 คนที่เก่งที่สุดใน 11 ล้านคน คิดเป็น 99.9955th percentile ได้ค่าเหนื่อยเดือนละ 10.5 ล้านบาท

Percentile ต่างกันนิดเดียว แต่ผลตอบแทนต่างกัน 30 เท่า

บทเรียนก็คือการไปให้ถึงระดับ elite ในแต่ละวงการหรือแต่ละวิชาชีพนั้นยากมาก เพราะการแข่งขันนี้อยู่ในโซน diminishing returns ล้วนๆ มีไม่กี่คนที่จะมีทั้งพรสวรรค์และพรแสวงจนไปถึงระดับท็อปของวงการได้ แต่คนที่ทำได้ก็จะได้รับผลตอบแทนที่มากกว่าเป็นสิบเท่า โดยที่เราไม่ได้เก่งกว่าคนอื่นเป็นสิบเท่า

นักวิ่ง 100 เมตรที่เร็วที่สุดในโลกอาจจะเร็วกว่าคนอื่นเพียงเสี้ยววินาที แต่นั่นก็เพียงพอแล้วที่เขาจะมีรายได้มากกว่านักวิ่งคนอื่นเป็นสิบหรือเป็นร้อยเท่า

ดังนั้น ถ้าคิดจะเอาจริงเอาจังในด้านใด ก็ลองตั้งเป้าที่จะไปให้สุดทาง แม้ระหว่างทางจะแห้งแล้งและไม่ค่อยมีอะไรให้เก็บเกี่ยวในเชิงผลตอบแทน (diminishing returns) แต่หากเราไปถึงปลายทางได้ก็จะมีรางวัลใหญ่รออยู่

.

ห้า ทำมากได้น้อย -> ทำน้อยได้มาก

ลองสำรวจตัวเองว่าเราใช้เวลาอยู่ในโซน diminishing returns กับเรื่องใดบ้าง

ไม่ว่าจะเป็นเรื่องงาน การหาเงิน การแสวงหาความยอมรับ การเสพสื่อต่างๆ

และเรากำลังละเลยเรื่องอะไรบ้าง

การออกกำลังกาย การใช้เวลากับคนที่เรารัก การมีเวลานั่งคุยกับตัวเอง

สมมติว่าเราทำงานวันละ 10 ชั่วโมง แต่เราลดเวลาทำงานเหลือแค่ 9 ชั่วโมง แล้วเอา 1 ชั่วโมงที่ได้คืนมานั้นไปออกกำลังกาย 20 นาที โทรหาพ่อแม่ 20 นาที นั่งคุยกับตัวเองอีก 20 นาที ผลตอบแทนจะคุ้มค่ามาก มันคือ “พิซซ่าชิ้นแรก” ที่อยู่ในโซน increasing returns

มองดูว่าเราใช้เวลาไปกับเรื่องอะไรที่ทำมากแต่ได้น้อย แล้วแบ่งเวลาส่วนนั้นไปทำในสิ่งที่เราไม่ค่อยได้ทำ แล้วมันจะเป็นการทำน้อยแต่ได้มากครับ


* ขอบคุณข้อมูลจากเว็บ MansionBet และ The FA