สิ่งที่อยากบอกหลังเขียนบล็อกครบ 1,000 ตอน

20171008_1000blogposts

เมื่อวานนี้ (เสาร์ที่ 7 ตุลาคมปี 2560) ผมเขียนบทความลง Anontawong’s Musings ครบ 1,000 ตอนครับ

เลยอยากเฉลิมฉลองด้วยการแชร์สิ่งที่ได้เรียนรู้จากการเขียนบล็อกอย่างจริงจังมา 2 ปีกับอีก 9 เดือนนิดๆ ครับ

จะเขียนบล็อกไปทำไม
หนึ่ง – มันเป็นสมุดบันทึกเรื่องราวและความคิดที่วันหนึ่งเราจะอยากกลับมาอ่านอีก
สอง – มันช่วยให้เราแบ่งปันความคิดที่เรามีให้เพื่อนๆ หรือคนที่สนใจเรื่องเดียวกัน
สาม- มันเป็นการสร้าง “เรซูเม่ออนไลน์” ที่ทรงพลังที่สุดวิธีหนึ่ง

จะเริ่มยังไง?
วิธีที่ง่ายที่สุดเลยคือเข้าไปที่ wordpress.com แล้วสมัครสมาชิก เลือกธีม (ดีไซน์) ที่ชอบ จากนั้นก็เขียนได้เลย ถ้าเขียนได้ซักพักแล้วอยากจะมีโดเมนเป็นของตัวเอง ก็ค่อยศึกษาในลิงค์นี้ครับ

จะตั้งชื่อบล็อกว่าอะไรดี?
ตอนแรกผมก็คิดชื่อบล็อกไปต่างๆ นานาเหมือนกัน แต่ชื่อที่ชอบก็มีคนเอาไปหมดแล้ว สุดท้ายเลยมาตายรังที่ชื่อตัวเอง

การตั้งเป้าหมาย
ผมขอแนะนำว่าอย่าไปตั้งเป้าหมายในเรื่องที่เราควบคุมไม่ได้ เช่นจะต้องมีคนอ่านเท่านั้นหรือต้องมีคนแชร์เท่านี้ เพราะมันจะทำให้เรากดดันตัวเองเปล่าๆ

เป้าหมายของผมตอนที่เริ่มเขียนบล็อกอย่างจริงจังในวันที่ 2 มกราคม 2558 คือ “เขียนให้ได้วันละตอน สามวันติดต่อกัน” พอทำได้ก็ค่อยขยับเป็น 7 วัน…1 เดือน…3 เดือน แล้วค่อยตั้งเป้าหมายว่าจะเขียนทุกวัน

ส่วนคนอื่นๆ อาจจะเขียนสัปดาห์ละตอนหรือเดือนละตอนก็ได้ ไม่มีผิดหรือถูก สำหรับผม การเขียนบล็อกทุกวันมันง่ายกว่าการเขียนบล็อกสัปดาห์ละครั้ง เพราะถ้าเราบอกว่าเราจะทำมันทุกวัน เราก็จะไม่เหลือข้ออ้างที่วันนี้จะไม่เขียน ขณะที่ถ้าเป้าของเราคือสัปดาห์ละครั้งเรายังมีโอกาสผัดผ่อนไปได้อีกตั้ง 6 วันแน่ะ

จะเผยแพร่อย่างไร?
เปิดเพจเลยครับ จากนั้นก็เชิญเพื่อนๆ ให้มาไลค์เพจเรา พอเขียนบทความในบล็อกเสร็จก็แชร์ลงเพจนี้ แล้วเราก็แชร์บทความจากเพจมาไว้ในโปรไฟล์เราอีกทีให้เพื่อนๆ ได้เห็นได้อ่านกัน

ความกลัวที่ทำให้คนไม่กล้าเขียนบล็อก
กลัวว่าเขียนห่วย – งั้นก็เขียนโดยไม่ต้องแชร์ก็ได้นะครับ ไม่มีใครมาเห็นหรอก

กลัวโดนวิจารณ์ – แน่นอนว่าไม่มีใครอยากโดนวิจารณ์ ดังนั้นคุณใช้นามแฝงก็ได้ ทีนี้เค้าก็จะไม่รู้แล้วว่าคุณเป็นใครมาจากไหน

กลัวว่าเขียนแล้วจะไม่มีคนอ่าน – ก็ดีสิครับ จะได้ไม่ต้องกลัวใครมาวิจารณ์ ช่วงแรกๆ ที่ไม่ค่อยมีคนอ่านนี่แหละคือโอกาสทองในการลองผิดลองถูกและฝึกฝนเพื่อเพิ่มความมั่นใจไปเรื่อยๆ

วิธีหาเรื่องมาเขียนบล็อก
เข้าเว็บเนื้อหาดีๆ – เว็บ/แอป ที่ผมเข้าบ่อยๆ ก็คือ Quora, Medium และ TED ครับ

ถ้าภาษาอังกฤษเราไม่แข็งแรงล่ะ? ยิ่งควรต้องอ่านเลยครับ จะได้แข็งแรงขึ้นซักที

อ่านหนังสือดีๆ – ผมบอกตัวเองว่าจะอ่านหนังสือวันละ 5 หน้า ซึ่งแค่นั้นก็เพียงพอแล้วที่จะได้เรื่องดีๆ มาเล่าต่อ (แต่ถ้าเป็นนิยายก็อาจไม่ช่วยเท่าไหร่นะ)

เอาคำคมมาเป็นตัวจุดประกาย – ผมจะเข้าเว็บพวก Pinterest, AZ Quotes หรือ Goalcast เมื่อได้คำคมที่ตรงใจ เราก็จะคิดได้เองว่าจะเขียนเรื่องอะไรดี

เอาเรื่องที่พูดคุยกับแฟน/เพื่อน มาเล่าต่อ – เรื่องอย่างกุ้งแป๊บเดียวก็เกิดขึ้นตอนนั่งทำสุกี้กินที่บ้าน ส่วนเรื่องม้าตีนต้น-ม้าตีนปลาย ก็ได้ไอเดียตอนนั่งอยู่ในรถกับแฟน สำคัญคือถ้าคิดประเด็นอะไรออกให้รีบจดเอาไว้กันลืมครับ

ไปเอานิทานมาจากไหน?
ถ้าใครติดตามบล็อกผมมาซักพักอาจจะรู้จัก “นิทาน” ที่ผมจะเอามาเล่าทุกวันศุกร์ มีคนถามกันเยอะว่าไปเอามาจากไหน คำตอบก็คือเอามาจากในเน็ตและเว็บที่ผมกล่าวถึงนั่นแหละครับ เพียงแต่ต้องออกแรงเยอะหน่อย อ่าน 20 เรื่อง อาจจะมีเรื่องที่พอใช้ได้แค่เรื่องเดียวเท่านั้น

หารูปประกอบจากที่ไหน?
เว็บที่ผมใช้บ่อยที่สุดคือ Pixabay, Pexels และ Unsplash ครับ เราสามารถเอามาใช้ได้โดยไม่ผิดลิขสิทธิ์ แต่ถ้าอยากให้ชัวร์สุดก็ใช้รูปที่เราถ่ายเองก็ได้ เช่นรูปประกอบบทความนี้เป็นต้น

ควรเขียนเรื่องที่อยู่ในกระแสมั้ย?
ส่วนตัวผมไม่ค่อยตามข่าวเท่าไหร่อยู่แล้ว เรื่องส่วนใหญ่ที่ผมเขียนจึงไม่ได้อยู่ในกระแส ข้อเสียคือโอกาสที่คนจะกดแชร์อาจจะน้อยกว่าเรื่องที่กำลังอินเทรนด์ แต่ข้อดีคือสิ่งที่เราเขียนจะไม่มีวันหมดอายุ

พอตัน คิดไม่ออกแล้วทำยังไง?
ก็ดิ้นรนครับ ผมเองก็ตันอยู่บ่อยๆ วิธีแก้คือบ่นให้แฟนฟัง จากนั้นก็เปิดหนังสือเล่มนู้นเล่มนี้ เข้าเว็บที่กล่าวถึงไปข้างต้น สุดท้ายมันต้องเจออะไรบ้างล่ะ

6 เดือนแรกคือช่วงวัดใจ
เพราะมันคือช่วงที่เพจไลค์มีแค่หลักร้อย จำนวนคนที่จะเห็นบทความของเราจึงน้อยมาก คนส่วนใหญ่จะเห็นจากโพสต์ที่เราแชร์ลงหน้าโปรไฟล์ของตัวเองมากกว่า ช่วงนี้อย่าไปคิดมากเรื่องยอดไลค์หรือยอดแชร์เลยครับ แค่มีคนกดแชร์ซัก 5-10 คนก็แสดงว่าบทความเรามีดีพอให้คนไม่อายที่จะบอกต่อแล้ว

มันจะมีจุดพลิกผัน
ช่วง 7 เดือนแรกของการเขียนบล็อก 95% ของบทความมีคนแชร์แค่หลักสิบ แต่พอถึงเดือนสิงหาคม บล็อกสามตอนของผมก็ฮิตขึ้นมาอย่างไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ย

3 สิงหาคม 2558: 10 สิ่งอำนวยความสะดวกของคนไทยที่ฝรั่งไม่มี (2,500 Shares)

9 สิงหาคม 2558: ความเคารพ (74,000 shares)

10 สิงหาคม 2558: วิธีการจัดบ้านแบบ KonMari (46,000 shares)

ยอดเพจไลค์ผมเพิ่มขึ้นมาประมาณพันกว่า แถมยังมีคนเชิญไปออกทีวีเรื่องการจัดบ้านด้วย ทั้งๆ ที่ทักษะการจัดบ้านผมต่ำที่สุดในครอบครัวแล้ว

เขียนลงบล็อกหรือเขียนลงเพจดี?
การเขียนลงเพจมีข้อดีคือคนจะเห็นเยอะกว่า เพราะกลไกของเฟซบุ๊คย่อมอยากโปรโมตเนื้อหาที่อยู่บนแพลตฟอร์มของตัวเองมากกว่าเนื้อหาที่แชร์มาจากเว็บอื่นอยู่แล้ว แต่โดยส่วนตัวผมชอบเขียนลงบล็อกแล้วมาแชร์ลงเพจมากกว่า เพราะว่าบล็อกมันเป็นอะไรที่คงทนถาวรดี เขียนไปแล้วสามเดือนก็ยังค้นเจอได้ง่ายทั้งทาง Google และในหน้า Archive

อีกข้อดีอย่างหนึ่งของการเขียนลงเพจคือยอดคนติดตามเพจจะโตเร็วกว่า เพราะคนจะแชร์บทความจากเพจเราเลย ทำให้คนที่เห็นรู้ว่าบทความนี้มาจากเพจไหน แต่ถ้าเราเขียนลงบล็อก คนจะแชร์บทความจากบล็อกเราแทน คนที่ผ่านมาเห็นจะไม่รู้ว่าบล็อกนี้เป็นของเพจอะไร

ช่วงสองปีแรกผมโพสต์ลงบล็อกตลอด ยอดเพจไลค์เลยไม่ค่อยขึ้น แต่ช่วงหลังๆ ผมเริ่มนำเนื้อหามาใส่ไว้ในเพจด้วย เพราะได้รับคำแนะนำมาว่าก่อนหนังสือจะออกควรจะมียอดไลค์เพจซัก 30,000 (ตอนนั้นมีแค่ 13,000) แต่ถึงแม้จะทำอย่างนั้นแล้วยอดเพจไลค์ก็ไม่ค่อยขึ้นอยู่ดี (ตอนนี้อยู่ที่ 17,000)

ยอดไลค์ไม่สำคัญเท่าความผูกพัน
แม้ยอดไลค์เพจของผมจะน้อย แต่ engagement ของเพจ Anontawong’s Musings กลับสูงพอๆ กับเพจที่มียอดไลค์มากกว่าผมหลายเท่า ดังนั้น ผมเลยเลิกซีเรียสเรื่องยอดไลค์เพจมาซักพักแล้ว กลับมาสนใจสิ่งที่เราทำได้ดีที่สุดคือการเขียนดีกว่า

ระวังจะโดนเข้าใจผิด
ผมเคยโดนน้องที่ทำงานเก่าเข้าใจว่าผมไปเขียนตำหนิเขาในบทความหนึ่ง ซึ่งพอกลับไปอ่านก็พอเข้าใจว่าทำไมเขาจึงคิดอย่างนั้น ยิ่งเราเพิ่งรู้จักกันได้ไม่นานด้วยจึงเป็นสิทธิ์ของเขาที่จะสงสัยผมได้ จากนั้นมาเวลาจะเขียนบล็อกผมเลยต้องระวังด้วยว่ามันจะไปทำให้คนรอบข้างเราไม่สบายใจรึเปล่า

คนก๊อปไปใช้ไม่ให้เครดิต
อันนี้ถือเป็นเรื่องปกติ โดยเฉพาะเวลาคนก๊อปไปส่งต่อทางไลน์ ไม่รู้เพราะความขี้เกียจหรือไม่เห็นความสำคัญในการให้เครดิตเจ้าของเรื่อง

ที่หนักกว่าคือแอบอ้างว่าเขาเขียนขึ้นเอง เรื่องอย่างนี้เราทำได้เพียงทักท้วงไป ซึ่งส่วนใหญ่เขาจะยอมแก้ไขหรือยอมขอโทษครับ แต่ถ้าเราทำใจไว้ว่า สิ่งที่เราปล่อยออกไปบนโลกอินเตอร์เน็ตถือเป็นสมบัติสาธารณะแล้ว เราก็จะไม่ทุกข์ใจมากนัก

การหารายได้จากการลงโฆษณาในบล็อก
ผมเคยลองติดตั้ง Word Ads ลงในบล็อกของผม ทำให้ท้ายบทความของผมทุกบทมีวีดีโอโฆษณา แต่ทำได้อยู่ประมาณ 2 เดือนก็เลิกไป เพราะแม้จะมีคนอ่านบล็อกเดือนละเป็นหมื่นครั้ง แต่ผมได้ส่วนแบ่งรายได้แค่ร้อยกว่าบาท คิดแล้วไม่คุ้มกันเห็นๆ กับการบังคับให้ผู้อ่านของเราต้องมาเจอโฆษณาอะไรก็ไม่รู้

การทำรายได้จากการเขียนบล็อก
ผมขอยึดแนวทางของ Seth Godin ที่เคยบอกว่า เราไม่ควรเขียนบล็อกเพื่อหาเงิน แต่เราควรเขียนบล็อกเพื่อ “หาพวก” (build a tribe) ซึ่งก็คือคนที่เขาสนใจงานเขียนของเรา เมื่อเรามีแฟนคลับที่ไว้เนื้อเชื่อใจเราแล้วค่อยต่อยอดจากตรงนั้นก็ยังไม่สาย

ผมเอง “เขียนบล็อกฟรี” อยู่สองปีครึ่ง ใช้เวลากับมันไปไม่ต่ำกว่า 1000 ชั่วโมง (ถ้าคิดเป็นวันทำงานก็คือ 125 วัน) โดยไม่ได้ค่าตอบแทนเป็นตัวเงินเลย แต่พอเดือนมิถุนายนผมก็เปิด Time Management Course ครั้งแรก (ตอนนี้จัดไปแล้วทั้งหมด 5 ครั้ง) และเดือนสิงหาคมผมก็ได้ออกหนังสือ “Thank God It’s Monday ขอบคุณโลกนี้ที่มีงานประจำ” ซึ่งก็ได้คนที่อ่านบล็อกนี่แหละมาอุดหนุน โดยผลตอบแทนจากตรงนี้มากกว่าที่ผมจะได้จากการลงโฆษณาในบล็อกผมเป็นไหนๆ

ผมขอยกคำที่ยอด ชินสุภัคกุล (ผู้ก่อตั้งและ CEO ของวงใน) เคยกล่าวไว้ว่า เราต้องสร้าง “ความดีสะสม” (value creation) เอาไว้ เหมือนเป็นการปลูกต้นไม้และรอให้มันแตกกิ่งก้านและออกดอกออกผล เมื่อถึงเวลาที่สุกงอมเราจึงค่อยเก็บเกี่ยวหรือทำ value extraction

การเขียนบล็อกก็คือการสร้างความดีสะสมอย่างหนึ่ง อย่าเพิ่งรีบทำเงินจากมันด้วยการลงโฆษณาหรือรับจ้างเขียนเชียร์ใครเลย เพราะถ้าเราทำอย่างนั้นเราจะสูญเสียความไว้ใจจากคนที่ตามบล็อกเราไปไม่น้อย สู้เขียนสิ่งที่เราเชื่อและอยากเขียนจริงๆ ดีกว่า เมื่อเราได้รับความไว้วางใจแล้ว โอกาสอื่นๆ จะตามมาเอง

การเขียนบล็อกจะพาเราไปเจอคนดีๆ และโอกาสดีๆ
ข้อสุดท้ายนี่ต้องยอมรับว่าเป็นเรื่องที่ผมคาดไม่ถึงมากที่สุด เพราะการเขียนบล็อกทำให้ผมได้รู้จักกับเพื่อนใหม่มากมาย และคนเหล่านี้ก็กลายมาเป็นผู้มีพระคุณของผมทั้งนั้น

ไม่ว่าจะเป็นพี่ปิ๊ก แห่ง Trick of the Trade ที่ติดต่อมาเพราะชอบงานเขียนและชวนผมออกหนังสือเป็นเล่มแรกของ “สำนักพิมพ์อะไรเอ่ย” ที่พี่เขาตั้งขึ้นมา ถ้าไม่มีพี่ปิ๊ก ก็ไม่มีหนังสือ “Thank God It’s Monday ขอบคุณโลกนี้ที่มีงานประจำ” แน่นอน

หรือครูณัชร สยามวาลา ที่นอกจากจะส่งหนังสือ “วิถีดาบ วิถีเซ็น” มาให้ผมอ่านแล้ว ยังกรุณาเขียนคำนิยมลงหนังสือขอบคุณโลกนี้ที่มีงานประจำฯ ช่วยโปรโมตหนังสือของผมผ่านเพจของครูณัชร แถมยังเสนอตัวมาเป็นโค้ชให้ผมและผลักดันให้ผมเปิดคอร์ส Time Management เป็นครั้งแรกอีกต่างหาก

หรือจะเป็นคุณบิวแห่งวิศวกรรีพอร์ต ผมจำไม่ได้แล้วว่าเรามาเจอกันได้ยังไง แต่คลับคล้ายคลับคลาว่าคุณบิวเคยเอาบทความ รอยยิ้มบนรถไฟฟ้า ของผมไปแชร์ลงเพจของเขา แถมยังเขียนแนะนำหนังสือ Thank God It’s Monday จนคนแห่สั่งซื้อ TGIM จากผมไปร่วมร้อยเล่ม

และล่าสุดคือ “คุณบุ๊ค” พนักงานประจำที่เพิ่งเปิดเพจ “สิ่งที่เกิดขึ้นแล้วดีเสมอ” ที่หลังจากได้อ่าน TGIM แล้วยังกลับมาซื้อเพิ่มไปอีกหลายสิบเล่มเพื่อเอาไปแจกเพื่อน-พี่-น้องที่รู้จักกัน

ถ้าผมไม่ได้มาเขียนบล็อก ผมจะไม่มีโอกาสได้เจอคนดีๆ เหล่านี้เลย

ผมเสียเวลาเกิน 1,000 ชั่วโมงไปกับการเขียนบล็อกก็จริง แต่ผมถือว่ามันเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าที่สุด เพราะแค่มีคอมหนึ่งเครื่องกับอินเตอร์เน็ตก็สามารถเขียนบทความให้มีคนอ่านเป็นล้านครั้งได้

แค่คิดว่าความคิดจากคนตัวเล็กๆ อย่างเราได้ผ่านสายตาคนเยอะขนาดนี้ก็เป็นเรื่องมหัศจรรย์มากแล้วครับ

ขอบคุณทุกๆ คนอีกครั้งที่ติดตามกันมาตลอด 1,000 ตอน สัญญาครับว่าจะเขียนต่อไปตราบที่ยังมีแรง ถ้าทุกอย่างเป็นไปตามแผน ผมน่าจะเขียนครบ 10,000 ตอนตอนอายุครบ 72 ปีพอดี

แค่คิดก็สนุกแล้ว 😉


อ่านบทความทั้งหมดได้ที่ anontawong.com/archives