กำลังใจจากผู้อ่านหนังสือ ช้างกูอยู่ไหน

สวัสดีค่า คุณรุตม์ เพิ่งได้มีโอกาสอ่านผลงานเขียนของคุณรุตม์ค่า เลยอยากแชร์ความรู้สึกและความประทับใจ หลังจากที่ได้อ่านหนังสือ ช้างกูอยู่ไหน ยาวหน่อยนะคะ

🙏🙏 ขอบคุณคุณรุตม์นะคะ ที่เขียนหนังสือ ช้างกูอยู่ไหน ออกมา

มันมาในจังหวะที่ตรงกับชีวิตในวัยย่างเข้า 40 ของตัวเองพอดี

ที่มีภาระหน้าที่ที่ต้องทำมากมาย ทั้งดูแลบ้าน และลูกสองคน

(น่าจะใกล้ๆเคียงกับคุณรุตม์เลยค่ะ คนโตผู้หญิงอายุ 3 ขวบ 10 เดือน คนเล็กผู้ชายอายุ 1 ขวบ 4 เดือน)

เป็นทั้งหมอตรวจคนไข้ อาจารย์สอนนิสิตแพทย์ ทำงานบริหาร รพ.

เขียนเพจเลี้ยงลูกโตไปด้วยกันกับหมออร เป็น influencer ครอบครัว/แม่และเด็ก และดูแลคอนโดปล่อยเช่า

https://facebook.com/hormoneforkids

แต่ก็ยังมีความคิดที่อยากหาอะไรทำเพิ่ม อยากเติบโตในหน้าที่การงานและสร้างความมั่งคั่งให้ได้มากกว่านี้ เหมือนที่ใครๆเค้าทำกัน

รู้สึกว่าถ้าไม่ได้ทำอะไรเพิ่ม แปลว่าชีวิตไม่ก้าวหน้า อยู่นิ่งกับที่ อยากได้รับการยอมรับ ทั้งๆ ที่ก็ได้รับโอกาสเรื่องงานมากมาย

แต่ก็ไม่รู้จะเอาเวลาที่ไหน เพราะงานเต็มมือไปหมด

อีกอย่างนึงคือ รู้สึกว่าชีวิตเราก็ดีมากแล้วนะ แต่ทำไมถึงยังไม่มีความสุข

จนมาได้คำตอบจากหนังสือเล่มนี้แหละค่า ว่าบางทีความสุขไม่ได้เกิดจากการเติมเต็ม แต่มันอาจจะเกิดจากการตัดสิ่งที่ไม่ใช่ในชีวิตออกไปต่างหาก

อาจจะไม่หวือหวาหรือขาดสีสัน แต่ก็สบายดี ไม่ต้องดื้นรนออกไปหาความสุขข้างนอก เพราะที่บ้านมีครบแล้ว

อันนี้ก็เป็นเหมือนกัน คือ ตั้งแต่มีลูกสอง รู้สึกว่าการอยู่บ้านเป็นอะไรที่สบายที่สุดแล้ว เพราะอย่างที่รู้ ออกจากบ้านแต่ละที คือ วุ่นวายมาก

แต่บางครั้งก็มีแอบคิดว่า ชีวิตเราดูธรรมดาเกินไปมั้ย เราเป็นพ่อแม่ที่ขี้เกียจไปรึป่าวเนี่ย ไม่ได้พาลูกออกไปเรียนรู้โลกข้างนอก เหมือนพ่อแม่คนอื่นที่มาโพสต์โชว์ พาลูกไปเที่ยวที่นั้น ที่นี่ ดูดี ดูน่าอิจฉา จนบางทีเราก็ต้องมีไปบ้าง

อีกเรื่องหนึ่งที่ชอบ คือ เรื่องราวของชายผู้ถึงจุดสูงสุดในหน้าที่การงานที่คุณรุตม์พูดถึงว่า การก้าวขึ้นไปอีกขั้นในหน้าที่การงานนั้นมีราคาที่ต้องจ่าย ทั้งแรงกายและเวลา

ซึ่งนั่นหมายความว่าอาจจะเบียดเบียนเวลาของลูกและกระทบความสัมพันธ์กับคนในบ้าน ซึ่งไม่คุ้มกัน

เพราะถ้าเราพยายามจะทำทุกอย่าง จะเอาทุกอย่าง สุดท้ายเราอาจไม่เหลืออะไรเลยสักอย่าง

ก็เลยทำให้ได้หันกลับมาคุยกับตัวเองอีกครั้ง ว่ามันจำเป็นจริงๆ มั้ยที่เราต้องมีรายได้เพิ่มขึ้น โดยแลกกับเวลาที่ได้อยู่กับลูกน้อยลง

และวัยเด็กของลูก ผ่านแล้วผ่านเลย ไม่สามารถย้อนกลับมาได้อีก

คำตอบคือ ในระยะสั้น รายได้เราอาจจะเพิ่มขึ้น แต่มันไม่คุ้มค่ากันเลยในระยะยาว ที่เราต้องตามแก้ปัญหาเรื่องลูก

อีกบทหนึ่งที่โดนใจมากๆ คือ การที่เราไม่ลาออกจากงานประจำ ไม่ได้แปลว่าเราไม่กล้าออกจาก comfort zone

เพราะนิทาน comfort zone ที่เราได้ยินมา มักจะผูกติดกับเรื่องงานเสียเป็นส่วนใหญ่ แต่มันแทบไม่เคยพูดถึงความสัมพันธ์และเวลาให้ครอบครัว

มันไม่ง่ายเลยที่จะเลือกให้ความสำคัญกับครอบครัว ในขณะที่ทั้งโลกตะโกนบอกว่า เราต้องให้ความสำคัญกับการเติบโตในหน้าที่การงานและความมั่นคงทางการเงิน

สังคมยกย่องและให้คุณค่ากับคนที่ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน กิจการใหญ่โต ยอดขายหลายล้านบาทต่อปี

แต่แทบไม่มีใครเลย ที่ออกมาปรบมือชื่นชม คนที่อ่านนิทานให้ลูกฟังก่อนนอนทุกคืน คนที่กลับถึงบ้านก่อนพระอาทิตย์ตกดิน หรือคนที่สามารถรับ-ส่งลูกไปโรงเรียนทุกวัน

ซึ่งจริงๆแล้ว ในมุมมองส่วนตัว การเลี้ยงลูกเนี่ยแหละ คือ การก้าวออกจาก comfort zone ครั้งที่ยิ่งใหญ่สุดในชีวิต ต้องเรียนรู้และรับมือกับพฤติกรรมของลูกที่นับวันจะเยอะขึ้นเรื่อยๆ

สำหรับตัวเองแล้ว ถึงแม้จะทำงานประจำ แต่ก็ยังสามารถออกจาก comfort zone ทุกวัน ได้ด้วยการ

กล้ารับงานที่ท้าทายมากขึ้น
ออกกำลังกายทั้งๆที่ขี้เกียจ
FB Live ทั้งๆที่ไม่รู้ว่าคนจะสนใจมั้ย
เขียนเพจ ทั้งๆที่ไม่รู้ว่าจะมีคนอ่านรึป่าว
อ่านหนังสือในเรื่องที่ไม่ถนัดและไม่เคยอ่าน

ทั้งหมดนี้ ก็คือ การก้าวออกจาก comfort zone ด้วยกันทั้งนั้น

และเรื่องสุดท้ายที่ชอบ ก็คือ หา “ช้าง” ของตัวเองให้เจอ

สิ่งที่คนอื่นมี การใช้ชีวิตที่ดูน่าอิจฉาของเพื่อน อาจไม่ใช่ สิ่งสำคัญ สำหรับเรา การที่เราไม่มีเท่าคนอื่น ไม่ได้แปลว่าเราขาด เพราะเราได้ค้นพบแล้วว่า สิ่งนั้นไม่ใช่ “ช้าง” ของเรานั่นเอง

เพื่อนอาจจะแซงหน้าเราในบางเรื่อง แต่ในด้านที่เขาไม่ได้เปิดเผย เขาอาจจะตามเราอยู่ก็ได้

ชีวิตคือการวิ่งมาราธอน จุดประสงค์จึงไม่ใช่เพื่อเอาชนะใคร แต่เป็นการประคับประคองตัวเองให้วิ่งได้จนจบการแข่งขัน

ถ้าเรามัวแต่กลัวว่าจะตามคนอื่นไม่ทัน และรีบเร่งฝีเท้า เราอาจจะเหนื่อยและหมดแรงก่อน

ทางที่ดีที่สุด คือ วิ่งในสปีดที่เหมาะกับตัวเองโดยไม่ต้องเปรียบเทียบกับใคร

ขอบคุณที่สละเวลาอ่านมาจนถึงบรรทัดนี้นะคะ

สารภาพตามตรงว่านี่เป็นหนังสือเล่มแรกในรอบหลายๆปีที่อ่านจบแบบรวดเดียว และอยากส่งข้อความมาหาผู้เขียน

หวังว่าจะมีโอกาสได้เจอตัวจริง แลกเปลี่ยนมุมมองในการใช้ชีวิต และร่วมงานกันนะคะ

หมออร
พญ.กัลย์สุดา อริยะวัตรกุล

Elephant in the Room ช้างกูอยู่ไหน

ช้างกูอยู่ไหน_๒๐๐๑๐๓_0017

วันนี้มาขายของครับ 

หนังสือเล่มที่สองของผมจะตีพิมพ์เสร็จวันนี้และน่าจะกระจายสู่แผงหนังสือทั่วประเทศภายในอีกสองสัปดาห์ข้างหน้า

ผมเองยังไม่ได้เห็นตัวหนังสือเล่มจริง ก็เลยตื่นเต้นมาก ลุ้นว่ามันจะออกมาเหมือนที่เราจินตนาการไว้รึเปล่า อารมณ์ไม่ต่างอะไรกับว่าที่คุณพ่อที่กระวนกระวายอยู่หน้าห้องผ่าตัดเพื่อรอเจอเจ้าตัวน้อยที่กำลังจะลืมตาดูโลก

หนังสือเล่มนี้มีชื่อว่า Elephant in the Room ช้างกูอยู่ไหน

เห็นคำว่า “ช้างกูอยู่ไหน” อาจจะพลันทำให้เรานึกถึงคุณจา พนม ที่ออกตามหาช้างในภาพยนตร์ “ต้มยำกุ้ง” ของพี่ปรัชญา ปิ่นแก้ว

หนังสือเล่มนี้ไม่มีจา พนมและไม่มีฉากบู๊ใดๆ ทั้งสิ้น แต่ผมเลือกชื่อนี้เพราะคนไทยคุ้นหู และมันบ่งบอกถึงแก่นแกนของหนังสือเล่มนี้ได้เป็นอย่างดี

เพื่อให้คุณผู้อ่านเห็นภาพว่า “ช้างกูอยู่ไหน” เกี่ยวกับอะไร ผมขอยกคำนำของหนังสือมาไว้ตรงนี้นะครับ

—–

ป๋าเต็ด ยุทธนา บุญอ้อม เคยเล่านิทานเรื่องหนึ่งให้ผมฟัง

ว่ากันว่ามีช่างไม้ที่แกะสลักไม้เป็นรูปช้างได้เหมือนจริงมาก

ชายหนุ่มคนหนึ่งจึงดั้นด้นไปหาช่างไม้คนนั้นที่รังสรรค์งานอยู่ในกระท่อมกลางป่า

เมื่อได้เจอช่างไม้ ชายหนุ่มจึงถามถึงเคล็ดลับในการแกะสลักช้าง

ช่างไม้ตอบว่า

“ก่อนอื่นเราต้องมีไม้ที่ดีก่อน เมื่อได้ไม้ที่ดีแล้ว เราก็แกะส่วนที่ไม่ใช่ช้างออกไป”

ก็เท่านั้นเอง

ไม้ที่ดีจะมาพร้อมกับความเป็นไปได้และข้อจำกัดของมัน เช่น ถ้าไม้ขนาดเท่าท่อนแขน เราก็ไม่สามารถแกะช้างให้ใหญ่กว่าท่อนแขนได้อยู่แล้ว

เมื่อได้ไม้ที่ดีแล้ว เราก็ต้องหาช้างของเราให้เจอด้วยการกะเทาะส่วนที่ไม่ใช่ช้างออกไป

—–

หนังสือเล่มนี้เขียนขึ้นมาเพื่อคนวัยสามสิบต้นๆ ถึงสี่สิบกลางๆ

วัยที่กำลังสร้างครอบครัว มีการงานที่มั่นคง หลายคนเป็นหัวหน้าหรือผู้บริหาร มีลูกน้องต้องดูแล หลายคนมีเงินเก็บหลายแสนหรือแม้กระทั่งหลายล้านบาท อะไรๆ กำลังไปได้สวย

แต่ถึงกระนั้นกลับรู้สึกไม่ค่อยมีความสุข

อาจเพราะมีเงิน แต่ไม่มีเวลาใช้เงิน มีงานที่ดี แต่งานก็ดึงพลังชีวิตไปมากมายเสียจนกระทบความสัมพันธ์และสุขภาพ

ถ้าวัยยี่สิบกว่าๆ คือวัยแห่งการเพิ่มพูนและเติมเต็ม ผมคิดว่าวัยสามสิบกว่าๆ คือวัยแห่งการเรียนรู้ที่จะลดทอนสิ่งที่ไม่จำเป็นออกไปจากชีวิต

เพราะถ้าเราพยายามจะทำทุกอย่าง จะเอาทุกอย่าง สุดท้ายเราอาจไม่เหลืออะไรเลยสักอย่าง

เราวกวนว้าวุ่นโดยไม่มีเวลาหยุดพัก รู้ตัวอีกทีก็พบว่า “ช้าง” ของเราหายไปไหนก็ไม่รู้

แต่ถ้าเราหยุดวิ่งและหันมาสำรวจตัวเองว่าอะไรบ้างที่มีความสำคัญกับเราอย่างแท้จริง

เราอาจจะพบว่า “ช้าง” นั้นอยู่ใกล้ตัวเรานิดเดียว

ขอให้คุณผู้อ่านสนุกกับการแกะสลัก “ช้าง” ของตัวเองนะครับ

—–

หนังสือเล่มนี้จะอ่านยากกว่า “Thank God It’s Monday ขอบคุณโลกนี้ที่มีงานประจำ” แต่ก็จะพาคุณผู้อ่านสำรวจตัวเองไปได้ลึกกว่าเดิมเช่นกัน

โดยหนังสือจะแบ่งออกเป็นทั้งหมด 4 ภาค

Work – งาน
Relationships – ความสัมพันธ์
Society – สังคม
Self – ตนเอง

โดยความมุ่งหวังของผมคือเมื่อคุณผู้อ่านได้อ่านจบแล้ว จะเห็น “ช้าง” ของตัวเองได้ชัดขึ้น ดิ้นรนน้อยลง และมีความสุขความพึงพอใจกับวิถีทางของต้นมากขึ้นครับ

ขอบคุณพี่ปิ๊กแห่งเพจ Trick of the Trade และเจ้าของสำนักพิมพ์อะไรเอ่ยที่ให้ความไว้วางใจตีพิมพ์หนังสือของผมอีกครั้ง

ขอบคุณน้องพีทและน้องพลอยเซ่แห่ง C’est Design ที่ออกแบบหนังสือเล่มนี้ด้วยความทุ่มเทและใส่ใจในทุกรายละเอียด

ขอบคุณอาจารย์เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ สำหรับบทกวีเปิดเล่ม

ขอบคุณโค้ชจิมมี่ พจนารถ ซีบังเกิด และพี่แท็บ รวิศ หาญอุตสาหะ สำหรับคำนิยม

ขอบคุณป๋าเต็ดที่จุดประกายไอเดียอันเป็นแก่นของหนังสือเล่มนี้

ขอบคุณคุณจา พนม และพี่ปรัชญา ปิ่นแก้ว ที่สร้างหนังต้มยำกุ้ง

ขอบคุณภรรยา ลูกๆ แม่ พ่อ น้องชาย น้องสะใภ้ และคนใกล้ชิดที่สนับสนุนให้หนังสือเสร็จสมบูรณ์

และแน่นอน ขอบคุณคุณผู้อ่านที่ติดตามกันมาโดยตลอด

ขอฝาก Elephant in the Room ช้างกูอยู่ไหน ไว้ในอ้อมอกอ้อมใจของทุกท่านด้วยนะครับ

—–

เป็นเจ้าของหนังสือ ช้างกูอยู่ไหน พร้อมลายเซ็น​ผู้เขียนได้ก่อนใครด้วยการสั่ง pre-order 100 เล่มแรก ผ่าน link นี้ครับ

http://www.whatisitpress.com/…/product/575145/product-575145