เราไม่ใช่วัยรุ่นอีกต่อไปแล้ว

สมัยเรายังเด็ก เราอาจรู้สึกว่าพ่อแม่ของเราเขาเป็นผู้ใหญ่เหลือเกิน

ความเป็นผู้ใหญ่อาจนิยามได้ในหลายแง่มุม ทั้งเรื่องความรับผิดชอบ การแบกรับภาระ การดูแลคนในครอบครัว การทำงานหนัก ความเสียสละ

แต่ถ้าชีวิตใครเดินทางขึ้นเลขสี่เหมือนผม อายุพอๆ กับพ่อแม่สมัยที่เรายังเป็นเด็ก แม้ว่าความร่วงโรยของร่างกายจะเริ่มแวะเวียนมาทักทาย แต่ “ข้างใน” ของเราไม่ได้เป็นผู้ใหญ่เหมือนอย่างที่เราเคยจินตนาการไว้ มันยังมีความเป็นวัยรุ่นอยู่มากพอสมควร

ความเป็นวัยรุ่นอาจนิยามได้หลายแง่มุม ทั้งเรื่องความรักสนุก ความรักสบาย ความเห็นแก่ตัว ความวู่วาม ความตีโพยตีพาย ความอยากเอาชนะ

เวลามีปัญหาในที่ทำงานหรือในความสัมพันธ์ เจ้าวัยรุ่นคนนี้มักจะโผล่มาบ่อยๆ พาให้เราหัวร้อน พาให้เราทำอะไรโดยใช้อารมณ์ ทำลงไปทั้งที่รู้ว่าที่ถูกที่ควรมันไม่ใช่แบบนี้

วัยสามสิบปลายๆ และสี่สิบต้นๆ จึงเป็นช่วงของการต่อสู้กันระหว่าง “ผู้ใหญ่” และ “วัยรุ่น” ในตัวเรา เป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อว่าเราจะเลือกสวมหัวใจแบบไหน การสวมหัวใจวัยรุ่นนั้นอาจจะสนุกกว่า แซ่บกว่าก็จริง แต่อาจไม่ใช่สิ่งที่จะทำให้เรามีความสุขความสงบได้ในระยะยาว

สำหรับคนวัยนี้ เรามีเรื่องที่ต้องรับผิดชอบ มีคนที่เราต้องดูแล เราไม่ได้ใช้ชีวิตเพื่อตัวเราคนเดียวอีกต่อไป เกือบทุกอย่างที่เราตัดสินใจและทำลงไปจะมีผลกระทบกับคนที่พึ่งพาเรามากกว่าแต่ก่อน

เมื่อไหร่ก็ตามที่ปัญหามาเคาะประตู ถ้ารู้ตัวว่าสวมหัวใจวัยรุ่นแล้วจะยิ่งย่ำแย่ ก็ให้ย้ำเตือนตัวเองว่า “ทำตัวให้เป็นผู้ใหญ่หน่อย ไม่ใช่วัยรุ่นแล้วนะ”

หนึ่งทักษะสำคัญของ Top Performer

ผมได้อ่านข้อความนี้ใน 3-2-1 Newsletter ของ James Clear แล้วชอบมาก จึงขอแปลมาให้ได้อ่านกันครับ:

ชีวิตคนเรานั้นเต็มไปด้วยการถูกขัดจังหวะและสิ่งที่รบกวนสมาธิ (interruptions & distractions)

เราจะถูกดึงจากงานของเราเพื่อไปช่วยดับไฟให้คนอื่น ผู้คนจะล้ำเส้นและขโมยเวลาเราอยู่บ่อยๆ พวกเขาไม่ได้ตั้งใจจะกลั่นแกล้งอะไรเราหรอกนะ แต่เพราะว่าคนส่วนใหญ่มักคิดว่าเรื่องของตัวเองสำคัญที่สุดเสมอ

เมื่อเราถูกขัดจังหวะและงานของเราต้องล่าช้า ก็เป็นเรื่องง่ายที่ใจเราจะรวนไปด้วย เราอาจจะรู้สึกผิดที่ไม่สามารถทำตามแผนที่วางไว้ แต่แท้จริงแล้วเราไม่ได้ผิดอะไรเลย เราก็เป็นแค่คนธรรมดาคนหนึ่งเท่านั้น

ไม่มีใครที่จะไม่ถูกขัดจังหวะ ความแตกต่างจึงอยู่ระหว่างคนที่กลับมาทำงานใหม่ (back on track) ได้อย่างรวดเร็ว กับคนที่เสียกระบวนแล้วไม่เป็นอันทำอะไรไปเลยทั้งวัน

คนที่เป็น top performers คือคนที่กลับมา back on track ได้เร็วกว่าคนส่วนใหญ่ และนี่คือทักษะที่เราควรพัฒนา

เราจะถูกทำให้เสียจังหวะอย่างแน่นอน แต่บ่อยครั้งเราเลือกได้ว่าจะให้มันสั้นหรือยาวครับ

ลมจะดับเปลวเทียน แต่จะโหมกองไฟ

วัตถุที่เคลื่อนที่ทุกชิ้นย่อมมีแรงเสียดทาน

หากชีวิตเรากำลังเคลื่อนที่ ก็ย่อมมีแรงเสียดทานเช่นกัน

การทำงานจึงไม่เคยราบรื่นเหมือนที่วางแผนเอาไว้ มันจะมีบางอย่างที่ผิดแผนไปได้เสมอ

ความตั้งใจที่จะบรรลุเป้าหมายบางอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการลดน้ำหนัก การออกกำลังกาย การทำธุรกิจ ย่อมมีอุปสรรคที่คอยพิสูจน์ว่าเราเอาจริงแค่ไหน

ถ้าเรายังเอาจริงไม่พอ ความตั้งใจของเราก็เปรียบดังเปลวเทียน โดนลมนิดเดียวก็ดับวูบ

แต่ถ้าเราเอาจริงพอ ลมแห่งความยากลำบากนั้นจะยิ่งปลุกไฟในใจเราให้ลุกโชนยิ่งกว่าเดิม ให้เราสู้ยิ่งกว่าเดิม

เมื่อชีวิตต้องเจออุปสรรค บอกตัวเองว่าอุปสรรคนี่แหละคือเส้นทาง – the obstacle is the way.

เพราะลมจะดับเปลวเทียน แต่จะโหมกองไฟครับ


ขอบคุณเนื้อหาจากหนังสือ “สโตอิก ปรัชญาเสริมแกร่งเพื่อชีวิตไม่สั่นคลอน The Little Book of Stoicism” Jonas Salzgeber เขียน วิไลรัตน์ เอมเอี่ยม แปล สำนักพิมพ์ Be(ing)

Fossilization – เมื่อบางอย่างในตัวเราถูกแช่แข็ง

“ฟอสซิล” (fossil) คือซากของสิ่งมีชีวิตดึกดำบรรพ์ที่ถูกเก็บรักษาไว้ในชั้นหิน

ตอนที่ผมเรียนปริญญาโทด้านภาษาและการสื่อสารที่นิด้า ในหัวข้อการเรียนภาษาที่สอง (Second Language Acquisition – SLA) คำว่าฟอสซิลถูกนำมาใช้ในบริบทที่ผมนึกไม่ถึง

ในเชิง SLA นั้น fossilization คือการที่ภาษาที่สองของเราไม่สามารถพัฒนาไปได้มากกว่านี้แล้ว

เราอาจเคยเห็นใครหลายคนย้ายถิ่นฐานไปอยู่เมืองนอกตอนโตแล้ว แต่แม้จะอยู่มาแล้วหลายสิบปีก็ยังพูดภาษาอังกฤษไม่คล่องอยู่ดี ยังใช้แกรมม่าร์ผิด ยังติดสำเนียงไทย ต่อให้รับ input เป็นภาษาที่สองอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันแต่ก็ไม่ได้ช่วยให้พูดได้ดีขึ้น ภาษาชาวบ้านเรียกว่า “ลิ้นแข็ง” ไปแล้วนั่นเอง

ผิดกับคนที่ไปต่างประเทศตั้งแต่วัยเด็ก ได้เรียนที่นั่นแค่ไม่กี่ปีก็สามารถพูดอังกฤษได้อย่างเป็นธรรมชาติ

สำหรับคนที่อยากเก่งภาษาที่สอง กระบวนการ fossilization จึงเป็นเรื่องน่ากลัว เพราะหากถูก fossilized หรือแช่แข็งไปแล้ว ความฝันที่จะพูดได้เหมือนเจ้าของภาษาก็เหมือนจะดับลงไปด้วย*


สำหรับคนวัย 30 ปลายๆ ถึง 40 กลางๆ ที่โตมาในยุคเฟื่องฟูของแกรมมี่และอาร์เอส เชื่อว่าเราน่าจะร้องเพลงของศิลปินคนโปรดได้หลายคน

ส่วนคนที่ชอบฟังเพลงฝรั่ง ก็อาจตกหลุมรักวงดนตรีเท่ๆ อย่าง Nirvana, Greenday, Metallica, Radiohead, และ Oasis

การเป็นวัยรุ่นในยุค 90 นั้นมันแสนจะคลาสสิคในความทรงจำของเรา และทุกวันนี้เราก็ยังฟังเพลงของพวกเขาเหล่านั้นอยู่แม้วันเวลาจะผ่านมาเกือบ 30 ปีแล้วก็ตาม

ถ้าเปิดเพลงดังๆ ที่เกิดในช่วง 1990-2000 เราน่าจะร้องได้เกือบทุกเพลง แต่ถ้าเป็นเพลงที่เกิดในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เราอาจจะร้องได้แค่ไม่กี่เพลงทั้งๆ ที่จำนวนศิลปินและจำนวนเพลงมีให้เลือกฟังหลากหลายมากกว่าเดิมตั้งไม่รู้กี่เท่า

เคยมีคนวิเคราะห์ว่า ที่เราหยุดฟังเพลงใหม่ๆ เพราะว่าวัยรุ่นเป็นวัยแห่งการก่อร่างสร้างตัวตน เราจึงเปิดโอกาสให้มีสิ่งที่จะประทับใจและฝังใจเราได้ง่าย (impressionable) แถมเรายังมีเวลาเหลือเฟือจนสามารถฟังเพลงเดิมๆ ซ้ำๆ ได้เป็นสิบเป็นร้อยรอบ

แต่พอเราโตขึ้นมา มีภาระหน้าที่ต้องทำ ก็เลยไม่ค่อยเหลือเวลามาเริ่มต้นกับเพลงใหม่ๆ และศิลปินใหม่ๆ เท่าไหร่ เราจึงสบายใจที่จะฟังเพลงที่เราคุ้นเคยมากกว่า

การฟังเพลงของใครหลายคนจึงเหมือนถูก fossilized เอาไว้เช่นกัน


ในหนังสือ Think Again ของ Adam Grant มีย่อหน้าหนึ่งเขียนไว้ว่า

“Rethinking isn’t a struggle in every part of our lives. When it comes to our possessions, we update with fervor. We refresh our wardrobes when they go out of style and renovate our kitchens when they’re no longer in vogue. When it comes to our knowledge and opinions, though, we tend to stick to our guns. Psychologists call this seizing and freezing. We favor the comfort of conviction over the discomfort of doubt, and we let our beliefs get brittle long before our bones. We laugh at people who still use Windows 95, yet we still cling to opinions that we formed in 1995.”

ถ้าเป็นเรื่องข้าวของเรามักจะอัพเดตกันอย่างขยันขันแข็ง แต่พอเป็นเรื่องความรู้หรือความคิดเห็นเรากลับยึดมั่นถือมั่นกันน่าดู

ถ้าเราเห็นใครใช้ Windows 95 เราคงหัวเราะในใจ แต่เราเองกลับยึดติดในความเชื่อที่เราสร้างเอาไว้ตั้งแต่ปี 1995

ลองสำรวจตัวเองว่าใน 1 ปีที่ผ่านมาเรามีเปลี่ยนความเชื่อในเรื่องใดบ้าง ถ้ายังคิดไม่ออกก็ลองขยายเวลาเป็น 3 ปี 5 ปีดู

หากพบว่าผ่านมา 5 ปีแล้ว ความเชื่อของเรายังเหมือนเดิม ก็มีความเป็นไปได้สองทาง หนึ่งคือความเชื่อของเรานั้นถูกต้องแน่แท้ หรือไม่อย่างนั้นความเชื่อของเราก็ถูก fossilized ไปเรียบร้อยแล้ว

Fossilization ทางการฟังเพลงนั้นอาจไม่เสียหาย อย่างมากก็แค่พลาดโอกาสที่จะได้ฟังอะไรใหม่ๆ

Fossilization ทางภาษาที่สองนั้นถือเป็นเรื่องน่าเศร้า เพราะส่วนหนึ่งเป็นเรื่องทางกายภาพด้วย แต่ตราบใดที่เรายังสื่อสารให้คนเข้าใจได้ ผลกระทบทางลบคงมีไม่มากนัก

แต่ Fossilzation ทางความคิดและความเชื่อนั้นอันตราย เพราะในโลกนี้ได้เปลี่ยนแปลงไปมากมาย สิ่งที่เคยใช่มันอาจจะไม่ใช่อีกต่อไป

ข่าวดีคือ fossilzation ทางความคิดนี้ไม่มีข้อจำกัดทางกายภาพ หากเรากล้าเปิดใจ กล้าจะยอมรับว่าที่ผ่านมาเราอาจไม่ได้มีมุมมองที่สอดคล้องกับความเป็นจริงเสมอไป เราก็จะ think again ได้อีกครั้ง

อย่าปล่อยให้ fossilization ทำให้เรากลายเป็นมนุษย์ดึกดำบรรพ์กันเลยนะครับ


* การพูดได้เหมือนเจ้าของภาษาไม่จำเป็นต้องเป็นเป้าหมายสูงสุดของคนที่เรียนภาษาที่สองนะครับ บางคนพูดติดสำเนียงภาษาแม่ก็มีเสน่ห์ไปอีกแบบ

นิทานไก่คนละตัว

วันนี้วันศุกร์ มาฟังนิทานกันนะครับ

กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว พระเจ้าตัดสินใจยึดทรัพย์สมบัติของมนุษย์ทุกคนบนโลก

ประชาชนต่างไม่มีอาหารกินและต้องอยู่กันอย่างอดอยาก

เมื่อผ่านไปได้สามวันสามคืน พระเจ้าจึงประทานไก่มาให้มนุษย์คนละ 1 ตัว

มนุษย์กลุ่มแรกดีใจอย่างล้นเหลือ พวกเขาลงมือฆ่าไก่และทำอาหารกินกันอย่างเอร็ดอร่อย มีบางคนที่ตอนแรกยังไม่รู้จะเอายังไงดี แต่พอได้เห็นสีหน้าของคนที่ได้กินไก่อย่างมีความสุขจึงอดไม่ได้ที่จะฆ่าไก่ของตัวเองมาทำกินบ้าง

มนุษย์กลุ่มที่สองนั้นก็หิวมากเหมือนกัน แต่บางคนก็รู้ว่าไก่ที่เขาได้นั้นเป็นไก่ตัวเมีย พวกเขาเลยทนหิวและดูแลแม่ไก่จนมันออกไข่วันละฟองมาให้พวกเขาได้กิน แน่นอนว่ามันไม่พอให้ท้องอิ่ม แต่ก็มากพอที่พวกเขาจะไม่อดตาย ส่วนคนที่ได้ไก่ตัวผู้แต่ก็กลั้นใจไม่ฆ่ามันก็เลี้ยงไก่ไว้เพื่อให้มันคอยขันปลุกให้คนในกลุ่มตื่นขึ้นมาเลี้ยงดูไก่ตัวเมีย และพวกเขาก็ได้ไข่เป็นค่าตอบแทน

ส่วนมนุษย์กลุ่มที่สามนั้น เข้าไปเชิญชวนมนุษย์กลุ่มที่สองว่า “เอาไก่ของคุณมาผสมพันธุ์กับไก่ของเราสิ เราจะได้มีลูกไก่ เมื่อลูกไก่โตขึ้น มันจะวางไข่ให้คุณทุกวันเลยนะ มนุษย์กลุ่มที่สองคิดว่าไม่มีอะไรเสียหาย แถมยังได้ไข่เพิ่มวันละฟองด้วย ก็เลยตอบตกลง

แล้วเรื่องราวก็ดำเนินไปเช่นนี้วันแล้ววันเล่า

มนุษย์กลุ่มแรกนั้นหิวโหยและผอมโซ พวกเขาตัดพ้อพระเจ้าว่าทำไมถึงหยุดประทานไก่มาให้พวกเขา

มนุษย์กลุ่มที่สองนั้นได้กินไข่ไก่ของตัวเอง และได้ไข่ไก่อีกฟองมาจากกลุ่มที่สาม จึงใช้ชีวิตอันน้อยนิดของตนอย่างมีความสุข

มนุษย์กลุ่มที่สามนั้นมีลูกไก่เยอะจนตัวเองเลี้ยงไม่ไหว ก็เลยกลับไปถามกลุ่มที่หนึ่งว่าสนใจมาเลี้ยงไก่ให้พวกเขามั้ย จะให้ค่าตอบแทนเป็นไข่วันละฟอง

สังคมแห่งความเท่าเทียมที่เริ่มต้นจากทุกคนมีไก่คนละตัว เมื่อวันเวลาผ่านไปจึงเริ่มมีคนจน คนชั้นกลาง และคนรวย

แล้วไม่นานนักบทสวดมนต์โศลกนี้จึงเกิดขึ้น

“ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า ได้โปรดยึดทรัพย์สินของทุกคนและมอบความยุติธรรมแด่ผองเราด้วย”


ขอบคุณนิทานจาก Quora: Forrest Taylor’s answer to Why do the rich become richer and the poor poorer?