สิ่งที่เราเคยต้องการ เรายังต้องการมันอยู่จริงหรือ

หนึ่งในบทเรียนที่สำคัญที่สุดที่ผมได้จากหนังสือ Think Again ของ Adam Grant ก็คือการตั้งคำถามกับชุดความเชื่อที่เรามี

ชุดความเชื่อบางอย่างเข้ามายึดครองพื้นที่ในใจหรือในอุดมการณ์ของเราตั้งแต่เมื่อ 5 ปี 10 ปี หรือแม้กระทั่ง 20 ปีที่แล้ว

เรามี “ภาพฝัน” ว่าชีวิตที่ดีควรเป็นแบบนี้ การงานที่ดีควรเป็นแบบนี้ ความรักที่ดีควรเป็นแบบนี้

และภาพฝันที่สลัดยากที่สุด คือตัวตนของเราควรเป็นแบบนี้

ผมขอยกตัวอย่างสองเรื่องของตัวเอง

ฤดูกาล 1998/99 คือฤดูกาลที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของทีมแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด เพราะทำสิ่งที่ไม่เคยมีใครเชื่อว่าจะทำได้ นั่นคือการกวาดสามแชมป์ ทั้ง Premier League, FA Cup และ Champions League

ผมยังเรียนอยู่ปี 1 ในตอนนั้น และอดตาหลับขับตานอนเชียร์ทุกนัดที่แมนยูลงแข่ง

นัดชิงแชมเปี้ยนส์ลีกที่แมนยูเตะกับบาเยิร์นมิวนิค รู้ทั้งรู้ว่าเช้านั้นมีสอบปลายภาควิชาฟิสิกส์ ผมก็ยังตื่นมาดู กว่าจะได้นอนอีกทีก็เกือบตีห้า และตื่นเจ็ดโมงเช้าเพื่อไปสอบ

จากนั้นมาผมก็ติดตามแมนยูตลอด ต่อให้แมทช์จะดึกแค่ไหนก็จะต้องดูถ่ายทอดสด เวลาทีมแพ้ในนัดสำคัญก็จะซึมไปหลายวัน

แต่หลังจากมีครอบครัว มีลูก ผมดูถ่ายทอดสดแมนยูเตะน้อยลงไปเยอะ ฤดูกาลนี้ยังไม่ได้ดูเต็มแมทช์เลยซักนัด ใช้วิธีดูไฮไลท์ในวันรุ่งขึ้นแทน

ถ้าเป็นตัวผมสมัยก่อน คงจะดูแคลนตัวผมในตอนนี้ เพราะถ้าจะเป็น “เด็กผีตัวจริง” มันต้องทุ่มเทกว่านี้ ต้องตื่นมาดูถ่ายทอดสดแม้ว่ามันจะทำให้เราง่วงไปทั้งวัน ต้องเดือดเนื้อร้อนใจเวลาทีมที่ตัวเองแพ้ ต้อง ฯลฯ

แต่เมื่อระลึกได้ว่า จริงๆ แล้วเรา “ไม่ต้อง” ทำอะไรทั้งนั้น ความคาดหวังต่างๆ เป็นสิ่งที่เราคิดไปเอง เราสามารถเชียร์ทีมที่ตัวเองรักโดยไม่จำเป็นต้องทุ่มเทเหมือนสมัยก่อน


อีกตัวอย่างหนึ่ง

ผมเริ่มเขียนบล็อกแบบจริงจังมาตั้งแต่ปี 2015 โดยตั้งเป้าว่าจะเขียนทุกวัน ซึ่งเอาจริงๆ ก็มีหลุดบ้าง แต่ทุกปีก็จะเขียนได้ประมาณปีละ 350 บทความ

เมื่อปี 2017 ตอนที่เขียนได้ครบ 1,000 บทความ ผมก็ประกาศว่าถ้าเขียนได้ (เกือบ) ทุกวันแบบนี้ ผมจะเขียนครบ 10,000 บทความก่อนอายุ 72 ปี ซึ่งเป็นเป้าหมายที่ผมยึดถือมาตลอด

แต่ถ้าใครติดตามบล็อกนี้มานาน อาจจะพบว่าในช่วงเดือนที่ผ่านมา ความถี่ในการเขียนบทความของผมลดลง บางสัปดาห์อาจจะโพสต์แค่ 2-3 ตอนเท่านั้น

เหตุผลก็คือผมอยากทดลองดูว่าถ้าไม่เขียนทุกวันมันจะเป็นยังไง

ซึ่งเป็นสิ่งที่ผมไม่เคยกล้าทำ เพราะกลัวจะเสียชื่อ “คนที่เขียนบล็อกทุกวัน” และกลัวว่าจะไปไม่ถึง 10,000 บทความตามที่เคยประกาศเอาไว้

แต่ผมก็ได้พบว่า การนิยามตัวเองว่า “เป็นคนเขียนบล็อกทุกวัน” และ “ต้องไปให้ถึง 10,000 บทความ” เป็นเป้าหมายของตัวเองเมื่อนานมาแล้ว

มาถึงวันนี้ “ส่วนผสม” และ “สัดส่วน” ของสิ่งสำคัญในชีวิตไม่ได้เหมือนแต่ก่อน แล้วเหตุใดผมถึงต้องยึดติด – หรือติดกับ – กับเป้าหมายที่ตัวเองในวัยเด็ก(กว่า) ตั้งเอาไว้

สิ่งที่ผมเคยต้องการ ไม่ใช่สิ่งที่ผมต้องการขนาดนั้นอีกต่อไป

ในวันนี้ สิ่งที่ผมต้องการคือการมีเวลาว่างมากขึ้น ใช้เวลากับลูกและภรรยามากขึ้น โดยไม่ต้องคอยพะวงหรือรู้สึกผิดว่าวันนี้ยังไม่ได้เขียนบล็อก และถ้ามันจะไปไม่ถึง 10,000 บทความก็ไม่เป็นไร


เขียนมายืดยาว เพียงเพื่อต้องการจะบอกว่าอย่าไปยึดติดกับเป้าหมาย หรือตัวตนของเราในอดีต

เราไม่จำเป็นต้องหวงแหนตัวตนที่สร้างเอาไว้ในจินตภาพ ตัวเราในวันนี้ไม่จำเป็นต้องคิดหรือทำเหมือนกับตัวเราเมื่อสิบปีที่แล้ว โดยเฉพาะเมื่อคำนึงว่าตัวเราในวันนี้ฉลาดและมีประสบการณ์มากกว่าตัวเราในวันก่อนตั้งเยอะ

แต่คนไม่น้อยก็ยังยืนยัน – หรือดึงดัน – ที่จะทำแบบเดิม ด้วยเหตุผลที่ว่า “เพราะเราเป็นคนแบบนี้”

นั่นย่อมทำให้เราสูญเสียโอกาสที่จะ “ได้ลองเป็นคนแบบอื่น” ซึ่งผมว่ามันเป็นเรื่องน่าเสียดาย และปิดกั้นความเป็นไปได้เกินไปหน่อย

ถ้าเรากล้าปล่อยมือจากเป้าหมายหรือตัวตนที่เรายึดถือมันมานาน เราอาจพบว่ามันไม่ได้แย่อย่างที่เราคิด

สิ่งที่เราเคยต้องการ เรายังต้องการมันอยู่จริงหรือ

นี่คือคำถามสำคัญ ที่อาจเปลี่ยนทิศทางชีวิตเราได้นะครับ

ทำมากได้น้อย-ทำน้อยได้มาก

ช่วงนี้ผมได้ใช้เวลาคิดทบทวนเรื่อง The Law of Diminishing Returns พอสมควร

บางคนแปลชื่อเป็นไทยว่า “กฎแห่งผลตอบแทนที่ลดลง”

ใครที่ไม่เคยได้ยินกฎนี้ สามารถดูภาพประกอบที่มีน้องเพนกวินเป็นผู้สอน

แกนนอนคือ input หรือแรงที่เราลงไป

แกนตั้งคือ output หรือผลลัพธ์ที่เราได้กลับมา

ในช่วงแรกจะเห็นว่ากราฟค่อนข้างชัน เราลงแรงไปหนึ่งหน่วย แต่ได้รับผลตอนแทนมากกว่าหนึ่งหน่วย (increasing returns)

แต่พอถึงจุดหนึ่ง ความชันของกราฟจะน้อยลง การเพิ่ม input ไม่ได้สร้าง output มากเท่ากับก่อนหน้านี้ (diminishing returns)

และยิ่งเราเพิ่ม input เข้าไปเรื่อยๆ กราฟกลับทิ่มหัวลง กลายเป็นว่ายิ่งทำผลลัพธ์ยิ่งแย่ (negative returns)

ลองนึกถึงการกินพิซซ่า

เวลาที่เราหิวโซ แล้วมีพิซซ่าถาดใหญ่มาส่ง การได้กินหยิบพิซซ่าชิ้นแรกขึ้นมากินนั้นจะทำให้เรามีความสุขมาก (increasing returns)

แน่นอนว่าพิซซ่าชิ้นเดียวยังไม่อิ่มท้อง เราก็เลยกินชิ้นที่สอง ชิ้นที่สาม ชิ้นที่สี่ ซึ่งมันก็ทำให้เรามีความสุขมากขึ้นไปอีก แต่พิซซ่าชิ้นที่สี่ไม่ได้ทำให้ความสุขของเราเพิ่มมากขึ้นเท่ากับพิซซ่าชิ้นแรก นั่นแปลว่าเราอยู่ในโซนของ diminishing returns เรียบร้อยแล้ว

และถ้าเราโดนบังคับให้กินพิซซ่าจนหมดถาด พอถึงชิ้นที่ 6 เราจะเริ่มรู้สึกหนืดๆ และเมื่อถึงชิ้นที่ 8 เราอาจจะรู้สึกผะอืดผะอม (negative returns)

The Law of Diminishing Returns นี้เอามาปรับใช้ในชีวิตจริงได้ในหลายสถานการณ์และในหลากหลายแง่มุม

.

หนึ่ง เรื่องการเรียน

ตอนที่ผมเรียนปริญญาตรี ผมจบด้วยเกรดเฉลี่ยค่อนข้างดีเยี่ยม

แต่ระหว่างที่เรียนผมก็ทำกิจกรรมนักศึกษาค่อนข้างเยอะมาก เป็นสี่ปีที่ชีวิตเต็มไปด้วยสีสัน

ถามว่าผมสามารถทำกิจกรรมให้น้อยกว่านี้ได้มั้ย เพื่อจะได้มีเวลาทบทวนตำรามากขึ้น

คำตอบคือทำได้ แต่ต่อให้ผมไม่ทำกิจกรรมเลย และเอาเวลาทั้งหมดมาทุ่มให้กับการเรียน เกรดเฉลี่ยของผมก็คงดีขึ้นประมาณ 0.1 หรือ 0.2 เท่านั้น เพราะเมื่อเกรดเราสูงอยู่แล้ว การพยายามเพิ่มเกรดเฉลี่ยให้สูงขึ้นไปอีกมันคือการทำงานในโซนของ diminishing returns ที่ลงแรงไปมาก แต่ได้ผลตอบแทนกลับมาไม่คุ้มค่าเท่าไหร่

เมื่อมองย้อนกลับไป คิดว่าตัวเองตัดสินใจถูกที่เอาเวลาที่เราควรจะได้อ่านหนังสือไปทำกิจกรรม เพราะมันคือสิ่งที่เราจดจำได้และมีประโยชน์กว่าเนื้อหาในตำราไหนๆ

.

สอง เรื่องการทำงาน

สิ่งหนึ่งที่หัวหน้าผมมักจะบอก คือ Done is better than perfect

งานหลายๆ อย่างไม่จำเป็นต้องทำให้เรียบร้อยไร้ที่ติ ทำได้ซัก 80-90% ก็โอเคแล้ว

ยกตัวอย่างเช่นการทำสไลด์ให้ดูดีประมาณ 80% อาจใช้เวลา 2 ชั่วโมง แต่ถ้าจะทำให้เพอร์เฟ็คต้องใช้เวลาเพิ่มอีก 2 ชั่วโมง ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่ควรทำหากสไลด์นั้นถูกใช้เพื่อการพูดคุยกันภายในบริษัทแค่ครั้งเดียว สู้เอาเวลาสองชั่วโมงนั้นไปทำงานชิ้นอื่นจะดีกว่า

แต่ถ้าเราจะทำอะไรที่ออกไปพรีเซนต์ลูกค้า หรือต้องส่งให้พนักงานทั้งองค์กรได้ใช้ 80-90% อาจยังไม่พอ ต้องทำให้ใกล้เคียง 100% ให้มากที่สุด

.

สาม เรื่องเวลาที่มีให้ลูก

ผมเคยเขียนบทความ “10% ของงาน = 50% ของลูก”

เพราะหนึ่งชั่วโมงของงาน กับหนึ่งชั่วโมงของลูกไม่เท่ากัน

สมมติว่าเราทำงานนอกบ้าน และลูกเข้านอนตอนสามทุ่ม

ถ้าเราทำงานถึงหกโมงเย็น และกลับถึงบ้านตอนหนึ่งทุ่ม ลูกจะได้อยู่กับเราสองชั่วโมง

ถ้าเราทำงานถึงหนึ่งทุ่ม และกลับถึงบ้านตอนสองทุ่ม ลูกจะมีเวลาอยู่กับเราแค่ชั่วโมงเดียว

เราได้ทำงานมากขึ้น 1 ชั่วโมง ซึ่งคิดเป็นประมาณ 10% ที่เราจะได้งานเยอะขึ้น

แต่ลูกได้อยู่กับเราน้อยลง 1 ชั่วโมง ซึ่งเท่ากับ 50% ของเวลาทั้งหมดที่เขาจะได้อยู่กับเราในวันนั้น

1 ชั่วโมงของการที่ลูกได้อยู่กับเรา อยู่ในโซนของ increasing returns

1 ชั่วโมงของการทำงานเพิ่มขึ้น อยู่ในโซนของ diminishing returns

ดังนั้น 1 ชั่วโมงจึงมีค่าไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับว่าเราใช้มันไปกับโซนไหน

.

สี่ ผลตอบแทนมหาศาลของการเป็น Elite

โดยเฉลี่ยแล้วนักเตะใน Premier League ได้ค่าตอบแทน 60,000 ปอนด์ต่อสัปดาห์หรือเดือนละ 10.5 ล้านบาท*

ส่วนเงินเดือนของนักเตะที่อยู่ลีกต่ำกว่านั้นได้แก่

EFL Championship เดือนละ 1.2 ล้านบาท (7,000 GBP/week)
EFL League One เดือนละ 8 แสนบาท (4,753 GBP/week)
EFL League Two เดือนละ 3.5 แสนบาท (2,000 GBP/week)

ทั้ง 4 ลีกรวมกันมีทั้งหมด 92 ทีม (20+24+24+24) สมมติว่าทีมชุดใหญ่มีทีมละ 25 คน แสดงว่ามีนักเตะทั้งหมด 2300 คน

ในอังกฤษมีคนเตะบอลได้ 11 ล้านคน*

ถ้าเราเก่งพอที่จะเป็นนักเตะ League Two แสดงว่าเราเก่งระดับ 2300 คนแรกใน 11 ล้านคน คิดเป็น 99.98th percentile ได้ค่าเหนื่อยเดือนละสามแสนห้า

แต่ถ้าเราอยากเก่งพอที่จะค้าแข้งในพรีเมียร์ลีก ซึ่งมี 20 ทีม เราต้องเป็น 500 คนที่เก่งที่สุดใน 11 ล้านคน คิดเป็น 99.9955th percentile ได้ค่าเหนื่อยเดือนละ 10.5 ล้านบาท

Percentile ต่างกันนิดเดียว แต่ผลตอบแทนต่างกัน 30 เท่า

บทเรียนก็คือการไปให้ถึงระดับ elite ในแต่ละวงการหรือแต่ละวิชาชีพนั้นยากมาก เพราะการแข่งขันนี้อยู่ในโซน diminishing returns ล้วนๆ มีไม่กี่คนที่จะมีทั้งพรสวรรค์และพรแสวงจนไปถึงระดับท็อปของวงการได้ แต่คนที่ทำได้ก็จะได้รับผลตอบแทนที่มากกว่าเป็นสิบเท่า โดยที่เราไม่ได้เก่งกว่าคนอื่นเป็นสิบเท่า

นักวิ่ง 100 เมตรที่เร็วที่สุดในโลกอาจจะเร็วกว่าคนอื่นเพียงเสี้ยววินาที แต่นั่นก็เพียงพอแล้วที่เขาจะมีรายได้มากกว่านักวิ่งคนอื่นเป็นสิบหรือเป็นร้อยเท่า

ดังนั้น ถ้าคิดจะเอาจริงเอาจังในด้านใด ก็ลองตั้งเป้าที่จะไปให้สุดทาง แม้ระหว่างทางจะแห้งแล้งและไม่ค่อยมีอะไรให้เก็บเกี่ยวในเชิงผลตอบแทน (diminishing returns) แต่หากเราไปถึงปลายทางได้ก็จะมีรางวัลใหญ่รออยู่

.

ห้า ทำมากได้น้อย -> ทำน้อยได้มาก

ลองสำรวจตัวเองว่าเราใช้เวลาอยู่ในโซน diminishing returns กับเรื่องใดบ้าง

ไม่ว่าจะเป็นเรื่องงาน การหาเงิน การแสวงหาความยอมรับ การเสพสื่อต่างๆ

และเรากำลังละเลยเรื่องอะไรบ้าง

การออกกำลังกาย การใช้เวลากับคนที่เรารัก การมีเวลานั่งคุยกับตัวเอง

สมมติว่าเราทำงานวันละ 10 ชั่วโมง แต่เราลดเวลาทำงานเหลือแค่ 9 ชั่วโมง แล้วเอา 1 ชั่วโมงที่ได้คืนมานั้นไปออกกำลังกาย 20 นาที โทรหาพ่อแม่ 20 นาที นั่งคุยกับตัวเองอีก 20 นาที ผลตอบแทนจะคุ้มค่ามาก มันคือ “พิซซ่าชิ้นแรก” ที่อยู่ในโซน increasing returns

มองดูว่าเราใช้เวลาไปกับเรื่องอะไรที่ทำมากแต่ได้น้อย แล้วแบ่งเวลาส่วนนั้นไปทำในสิ่งที่เราไม่ค่อยได้ทำ แล้วมันจะเป็นการทำน้อยแต่ได้มากครับ


* ขอบคุณข้อมูลจากเว็บ MansionBet และ The FA

บางทีเราก็แค่ต้องเลิกขัดขาตัวเอง

การทำสิ่งที่มีคุณค่ากับชีวิตบางทีมันก็ยากลำบากเหมือนกัน

ยิ่งโปรเจ็คนั้นมีความหมายมากเท่าไหร่ เราก็ยิ่งกลัวจะผิดหวังมากเท่านั้น

เราจึง “หลบซ่อน” ด้วยการ “ทำการบ้าน” เยอะๆ อ่านโน่นอ่านนี่ ถามคนนั้นคนนี้ ทำทุกอย่างเพื่อประวิงเวลาให้ไม่ต้องเริ่มต้นตัวโปรเจ็คจริงๆ เสียที

อุปสรรคที่สำคัญที่สุดจึงไม่ใช่ความยากลำบากในตัวงาน แต่เป็นความขี้กลัวในตัวเรา

เมื่องานสำคัญมันไม่เกิด เราก็จะต่อว่าตัวเองว่าเรานี่ช่างไม่มีวินัย ไม่มีความเข้มแข็ง ไม่มีความกล้าหาญ เราจึงวางโปรเจ็คนั้นลงและหันเหความสนใจไปทำสิ่งอื่นๆ พอขึ้นปีใหม่หรือได้ดูคลิปสร้างแรงบันดาลใจ เราก็เอาโปรเจ็คนี้ขึ้นมาปัดฝุ่น เป็นวังวนอยู่อย่างนี้

บางทีอาจมีทางเลือกที่ดีกว่า หากเราเลิกคาดหวังว่ามันจะต้องดีเลิศ และเลิกมองว่าเราคือตัวเอกของละคร

แทนที่จะมองว่าเราต้อง motivate ตัวเองให้ลุกขึ้นมาทำสิ่งต่างๆ ลองมองว่าสิ่งต่างๆ มันจะเกิดขึ้นตามครรลองอยู่แล้วถ้าเราไม่มัวขัดขาตัวเองอยู่

แทนที่จะถามว่า “เราต้องทำยังไง” (How do I do this?)

ลองถามว่า “อะไรต้องเกิดขึ้นโดยมีเราเป็นตัวกลาง?” (What needs to happen through me?)

เมื่อเอา “ตัวกู” ออกจากสมการ และใช้ร่างกายและจิตใจของเราเป็นเพียงแค่ทางผ่านของการกระทำ

สิ่งดีๆ และมีคุณค่าอาจเกิดขึ้นได้โดยที่เราไม่ต้องคาดคั้นกับตนเองจนเกินไปครับ


ขอบคุณประกายความคิดจาก Oliver Burkeman: The Imperfectionist: In Your Own Way

ความเร็วไม่สำคัญเท่ากับการไม่ล้มเลิก

ชีวิตเราเดี๋ยวนี้สะดวกสบายกว่าแต่ก่อนมาก อยากดูอะไรก็ได้ดูทันที อยากกินอะไรก็ได้กินแทบจะในทันที (รอพี่ไรเดอร์มาส่ง) อยากซื้ออะไรก็ซื้อได้ทันทีและไม่เกิน 2 วันก็ได้ของกันแล้ว

เมื่อทุกอย่างมันง่ายดาย เราก็อาจจะกลายเป็นคนที่รอไม่เป็น

เมื่อการรอมันยากเย็น เราจึงอยากบรรลุเป้าหมายให้ได้โดยเร็ว

ไม่ว่าจะเป็นรายได้ ตำแหน่งหน้าที่ หรือยอดผู้ติดตาม

การมีเป้าหมายเป็นเรื่องดี เพราะมันทำให้ชีวิตมีทิศทาง ทำให้เราไม่ใช้พลังงานและวันเวลาอันจำกัดไปอย่างสะเปะสะปะ

เมื่อเป้าหมายมีแล้ว ทิศทางมีแล้ว ก็เหลือแต่ว่าเราจะเข้าหาเป้าหมายด้วยความเร็วแค่ไหน

ถ้าเราเร่งเครื่องเต็มสูบ ก็อาจจะถึงเส้นชัยก่อนคนอื่น แต่ความเร็วนี้ก็มีต้นทุนของมัน ไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์ สุขภาพ และความเคารพที่มีต่อตนเอง

ที่ต้องระวังก็คือ ยิ่งเรารีบเท่าไหร่ ความเสี่ยงที่จะเกิด “อุบัติเหตุ” ที่ทำให้การเดินทางต้องยุติก็มากขึ้นเช่นกัน

หรือหากเรารีบเกินไปจนไม่สนุกและไม่ชอบตัวเองเอาเสียเลย ก็มีโอกาสสูงยิ่งที่เราจะล้มเลิกเสียกลางคัน

หากรู้ตัวว่าเราไม่ใช่คนประเภท go-getter ที่อยากได้อะไรแล้วต้องได้ให้เร็วที่สุด เราก็ไม่จำเป็นต้องฝืน

เราสามารถไปสู่เป้าหมายด้วยความเร็วที่เหมาะสมกับตัวเอง จะถึงช้ากว่าคนอื่นก็ไม่เป็นไร ข้อดีของการไปอย่างช้าๆ คือเราจะได้เพลิดเพลินกับการเดินทาง

ตราบใดที่เรายังอยู่บนเส้นทางที่ถูกต้อง และโชคชะตาไม่ใจร้ายกับเราเกินไปนัก เราก็จะไปถึงที่หมายได้เช่นกัน

เพราะความเร็วไม่สำคัญเท่ากับการไม่ล้มเลิกครับ

Outcome สำคัญกว่า Output

นี่เป็นเครื่องเตือนใจที่ดีสำหรับคนที่ชอบความ productive

เราบอกตัวเองว่าต้องเก่งขึ้น เร็วขึ้น ทำให้มากขึ้น มีผลงานให้มากขึ้น

แต่คำถามสำคัญก็คือสิ่งต่างๆ ที่เราทำออกมา สุดท้ายแล้วนำมาสู่อะไรบ้าง

เหมือนเราเล่นเกม เก็บไอเท็มมาได้มากมาย (output) แต่สุดท้ายแล้วเราเอาชนะตัวบอสและช่วยเจ้าหญิงได้รึเปล่า (outcome)

ปี 2564 กำลังจะหมดลง เป็นเวลาที่ดีที่จะได้ทบทวนตัวเอง ว่า what you’ve got to show for all the hard work you have done

ถ้าพบว่า เหนื่อยแทบตาย แต่สุดท้ายไม่ค่อยมีอะไรที่เราจะหยิบขึ้นมาบอกได้ว่าอันนี้แหละคือสิ่งที่มีความหมายและเราภาคภูมิใจ

ก็อาจต้องกลับมาทบทวน game plan ของตัวเองใหม่ ว่าปีหน้าจะวางตัว-วางใจอย่างไร อะไรคือสิ่งที่มีแต่เราเท่านั้นที่ทำได้และทำได้ดี

โจทย์นี้ไม่ได้ง่าย แต่คุ้มค่าต่อการใช้เวลาใคร่ครวญ

ไม่อย่างนั้นเราจะติดกับดักตัวเลขและการวัดผล ซึ่งมันอาจไม่ได้มีความหมายอะไรจริงๆ ก็ได้ครับ


ขอบคุณประกายความคิดจากหนังสือ ทำมากเหนื่อยฟรี ทำถูกวิธีไม่เหนื่อยเลย โดย ฮิโรคาซึ ยามานาชิ (Hirokazu Yamanashi)