รองประธานฝ่ายคอขวด

รองประธานฝ่ายคอขวด

ปัญหาอย่างหนึ่งที่ผู้จัดการหรือผู้บริหารมักจะเจอกันคือทำงานไม่ทัน

เหตุผลมีด้วยกันหลายอย่าง แต่ถ้าเป็นเหตุผลคลาสสิคก็จะประมาณ 3 ข้อนี้

– งานเกือบทุกอย่างยังต้องให้เราอนุมัติอยู่

– ลูกทีมยังทำงานไม่ได้ดั่งใจ

– เราชอบเอางานมาทำเอง เพราะว่าเสร็จเร็วกว่า คุณภาพดีกว่า ไม่ต้องเสียเวลาสอน

เมื่อเรายังปล่อยวางความรู้สึกอยากเป็นคนสำคัญไม่ได้จนต้องเข้าไปเกี่ยวข้องกับทุกเรื่องในทีม ต่อให้เราทำงานวันละ 10 ชั่วโมงก็ยังทำงานไม่ทันไม่อยู่ดี

ยิ่งมีเรื่องให้เราต้องตัดสินใจมากเท่าไหร่ งานก็ยิ่งคั่งค้างมากเท่านั้น เมื่อตัดสินใจไม่ได้งานก็ไม่ออก ทุกอย่างเลยช้าไปหมด

หัวหน้าหลายคนเลยมีตำแหน่งกิตติมศักดิ์ที่ชื่อว่า VP of Bottlenecking – รองประธานฝ่ายคอขวด

ถ้าเราไม่ได้นิยมชมชอบตำแหน่งนี้ ก็แก้ไขได้โดยการ

– ไว้ใจลูกทีมให้มากขึ้น แม้ว่าที่ผ่านมาเขายังไม่ได้แสดงหลักฐานให้เราไว้ใจก็ตาม

– กระจายอำนาจ โดยเริ่มต้นจากงานที่ไม่ได้ critical มากนัก

– หักห้ามใจไม่ลงไปทำงานที่ไม่ต้องเป็นเราทำก็ได้

– ให้เวลากับการโค้ชน้อง เขาจะได้เก่งขึ้น มีอนาคต และมาช่วยแบ่งเบาภาระเราได้

ขอให้หลุดพ้นจากการเป็น VP of Bottlenecking ในเร็ววันนะครับ

—–


ขอบคุณประกายความคิดจากหนังสือ The Coaching Habit by Michael Bungay Stanier

จุดอ่อนของ Marshmallow Test

หลายคนคงเคยได้ยินการทดสอบจิตใจด้วยมาร์ชเมลโล่ ที่ทำขึ้นในปี 1972 โดยนักจิตวิทยานาม Watler Mischel และทีมงานแห่งมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด

การทดลองก็ง่ายๆ คือให้เด็กรุ่นเตรียมอนุบาลนั่งอยู่ตามลำพังกับขนมมาร์ชเมลโล่ โดยเลือกได้ว่าจะกินมันทันที หรือถ้ายอมอดทนรอ 15 นาที พี่ๆ นักทดลองก็จะเอามาร์ชเมลโล่มาเพิ่มให้อีก 1 ชิ้น

จากการทดลองพบว่า มีเด็กๆ 1 ใน 3 ที่รอจนครบ 15 นาที หลังจากผ่านไปประมาณ 20 ปี Mischel ก็กลับมาติดตามผลของเด็กๆ กลุ่มนี้ แล้วก็พบว่าเด็กที่อดทนรอได้มีแนวโน้มที่จะมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง รับมือกับความเครียดได้ดี และสอบได้คะแนน SAT ได้สูงกว่าเด็กอีกกลุ่มที่รอไม่ได้

ข้อสรุปของ Marshmellow Test ก็คือ คนที่มี willpower และสามารถ “อดเปรี้ยวไว้กินหวาน” (delayed gratification) จะมีโอกาสประสบความสำเร็จในชีวิตมากกว่า

งานวิจัยนี้โด่งดังและถูกนำมาเล่าขานซ้ำแล้วซ้ำเล่า

แต่วันนี้อยากมาเล่าอีกมุมหนึ่งที่เราอาจไม่เคยรู้มาก่อนครับ

จากงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในปี 2018 ของ Tyler Watts, Greg Duncan และ Haonan Quan ระบุว่างานวิจัยของ Mischel นั้นทดลองกับเด็กเนอสเซอรี่เพียง 90 คนเท่านั้น และทุกคนล้วนมาจากโรงเรียน Bing ที่อยู่ในแคมปัสของสแตนฟอร์ด

ในการทดลองครั้งใหม่ Watts และเพื่อนๆ จึงได้ทำการทดลองนี้อีกครั้งกับเด็ก 900 คน และเมคชัวร์ว่าเด็กๆ เหล่านี้มาจากพื้นเพที่หลากหลาย รวมถึงเด็กที่มีฐานะทางบ้านไม่ได้ดีมากนักด้วย

ผลที่ได้จากการทดลองก็คือ มันไม่ได้เกี่ยวกับ willpower แต่เกี่ยวกับ money

เด็กที่ฐานะยากจนกว่านั้นมีแนวโน้มสูงที่จะกินมาร์ชเมลโล่ทันที เพราะประสบการณ์สอนให้เด็กกลุ่มนี้รู้ว่าพรุ่งนี้อาจไม่มีข้าวกิน และคำสัญญาของผู้ใหญ่บางคนนั้นเชื่อถือไม่ได้

ในขณะที่สำหรับเด็กที่มีฐานะดีกว่านั้นมันตรงกันข้าม เพราะเขาคุ้นเคยกับสภาพแวดล้อมที่คาดการณ์ได้ ที่บ้านของเด็กเหล่านี้อาหารไม่เคยขาดแคลน และผู้ใหญ่ก็เป็นคนรักษาคำพูด

ในการทดลองของ Watts จึงได้ข้อสรุปว่า ถ้าอยากให้เด็กๆ ประสบความสำเร็จ การสอนเขาเรื่องอดเปรี้ยวไว้กินหวานอาจไม่สำคัญเท่ากับการดูแลให้พวกเขามีสภาพความเป็นอยู่ที่ดีครับ


ขอบคุณเนื้อหาจากหนังสือ What’s Your Problem by Thomas Wedell-Wedellsborg

เหตุผลที่คนเราควรได้ผิดพลาดซ้ำสอง

เรารู้กันดีว่า Henry Ford คือผู้ปฏิวัติวงการผลิตรถยนต์ด้วยการประกอบรถผ่านสายพานการผลิตจนสามารถสร้างรถยนต์ในราคาที่ทุกคนเข้าถึงได้

ฟอร์ดชอบให้คนงานได้ทดลองอะไรใหม่ๆ เปลี่ยนนู่นเปลี่ยนนี่เพื่อจะดูว่ามันสามารถเพิ่มประสิทธิภาพและผลิตภาพได้รึเปล่า

หนึ่งในกฎเหล็กของฟอร์ดที่อาจะฟังดูแปลกประหลาดก็คือ เขาไม่ยอมให้มีการจดบันทึกไว้ว่ามีการทดลองใดที่ล้มเหลวบ้าง

ฟอร์ดกล่าวในหนังสือที่ชื่อ My Life and Work ไว้ว่า

“ผมไม่ค่อยสนใจว่าคนงานจะจำได้หรือไม่ว่าคนอื่นๆ เคยลองอะไรมาแล้วบ้าง เพราะถ้าเราจดเก็บเอาไว้ รายการของ “สิ่งที่ทำไม่ได้” จะยาวเป็นหางว่าว

นี่คือปัญหาของการบันทึกอย่างละเอียดลออ ถ้าเราจดทุกความล้มเหลวเอาไว้ เราก็จะมีเอกสารที่บอกเป็นนัยว่าไม่เหลืออะไรให้เราลองได้อีกแล้ว

แต่การที่คนคนหนึ่งทำวิธีนี้แล้วล้มเหลว ก็ไม่ได้แปลว่าอีกคนจะทำแล้วล้มเหลวเสมอไป”


เราได้ยินกันมาตลอดว่า คนเราผิดพลาดกันได้ แต่ไม่ควรผิดพลาดซ้ำสอง

อะไรที่เคยเจ็บก็ควรจำ ไม่ใช่ผิดซ้ำให้เจ็บใหม่

แต่แนวคิดเช่นนี้ก็มีจุดอ่อนในตัวมันเองเหมือนกัน

เพราะไม่มีสิ่งใดคงทนถาวร สถานการณ์และบริบทในวันนี้ย่อมต่างจากสถานการณ์และบริบทของ 10 ปีที่แล้ว

เมื่อสภาพแวดล้อมเปลี่ยนไป บางไอเดียที่เคยดูไม่เข้าท่าอาจจะกลายเป็นไอเดียที่ดี

เรียนรู้จากอดีตได้ แต่อย่าให้มันตีตราเราไว้

เมื่อสถานการณ์เปลี่ยนไป ผลลัพธ์ก็เปลี่ยนได้เช่นกันครับ


ขอบคุณเนื้อหาบางส่วนจาก Collaborative Fund: Experts From A World That No Longer Exists

คำขอบคุณทำให้เราใจดีขึ้น

ในงานวิจัยชิ้นหนึ่งของ Adam Grant และ Francesca Gino อาสาสมัครถูกขอให้เขียนจดหมายแนะนำเพื่อใช้สมัครงาน (recommendation letter) ให้กับนักศึกษาคนหนึ่งที่ชื่อว่า “อีริค”

เมื่อเขียนจดหมายเสร็จแล้ว อาสาสมัครครึ่งหนึ่งจะได้จดหมายจากอีริคที่เขียนกลับมาขอบคุณ ในขณะที่อาสาสมัครอีกครึ่งหนึ่งได้รับจดหมายตอบรับที่มีข้อความกลางๆ

จากนั้น อาสาสมัครก็ได้รับการร้องขอจากนักศึกษาอีกคนที่ชื่อว่า “สตีฟ” ให้เขียนจดหมายแนะนำให้เขาเหมือนกัน

ปรากฎว่า อาสาสมัครที่ได้รับจดหมายขอบคุณนั้น เขียนจดหมายให้สตีฟมากกว่าอาสาสมัครที่ได้จดหมายกลางๆ ถึงสองเท่า

นั่นแสดงว่าการได้รับคำขอบคุณนั้นทำให้เราใจดีและใจกว้างขึ้นกว่าเดิม แถมไม่ใช่การใจดีแค่กับคนที่ขอบคุณเราเท่านั้นด้วย

เมื่อเราได้รับคำขอบคุณ เราจะรู้สึกว่าโลกนี้มันปลอดภัย น่าอยู่ และทำให้เรามีกำลังใจที่จะทำสิ่งดีๆ ต่อไป

อ่านงานวิจัยชิ้นนี้แล้วก็ต้องหันกลับมามองตัวเองครับว่า ที่ผ่านมาเราปากหนักเกินไปรึเปล่า เราแสดงความขอบคุณกับคนที่บ้านและที่ทำงานน้อยไปหรือไม่

เพราะคำคำนี้ไม่ได้ส่งผลระหว่างคนสองคนอีกต่อไป แต่มันอาจจะช่วยให้บรรยากาศที่บ้านและที่ทำงานดีขึ้นได้อย่างไม่น่าเชื่อครับ


ขอบคุณเนื้อหาจาก The Culture Playbook by Daniel Coyle

เหตุผลที่คนเราควรมีความหวัง

ในช่วงทศวรรษ 1950’s นักวิจัยนาม Curt Richter จากมหาวิทยาลัย John Hopkins ได้ทำการทดลองที่ค่อนข้างจะโหดร้าย

เขาเอาหนูทดลองใส่ไปในโถก้นลึกที่มีน้ำ แล้วปล่อยให้หนูว่ายน้ำไปเรื่อยๆ เพื่อดูว่าหนูจะว่ายน้ำอยู่ได้นานแค่ไหนก่อนจะหมดแรงและจมน้ำตาย

หลังจากทดลองกับหนูหลายสิบตัว ปรากฎว่าโดยเฉลี่ยแล้วหนูจะหมดแรงและจมน้ำหลังจากผ่านไป 15 นาที

จากนั้นนาย Richter ก็ทำการทดลองอีกรอบ แต่คราวนี้เขาจะรอจนหนูใกล้จะหมดแรงแล้วดึงมันขึ้นมาจากน้ำ เช็ดตัวให้แห้ง ปล่อยให้มันได้พักสักครู่หนึ่ง ก่อนจะจับมันโยนลงน้ำอีกรอบ

คุณคิดว่า “ยกสอง” นี้หนูจะว่ายน้ำอยู่ได้นานแค่ไหน?

5 นาที? 15 นาที? 30 นาที?

คำตอบคือ 60 ชั่วโมง

ใช่ครับ หนูที่ได้รับการช่วยเหลือในครั้งแรก จะว่ายน้ำได้นานถึง 60 ชั่วโมงโดยเฉลี่ย นานกว่าเดิมถึง 240 เท่า โดยสถิติสูงสุดคือ 81 ชั่วโมงหรือเกือบสามวันครึ่งที่หนูตัวหนึ่งว่ายน้ำติดต่อกันไม่หยุด

ข้อสรุปจากการทดลองครั้งนี้ก็คือ หากหนูเชื่อว่าสุดท้ายแล้วมันจะได้รับการช่วยเหลือ มันจะมีความอดทนจนอาจก้าวข้ามขีดจำกัดทางร่างกายของตัวเองได้

“ความหวัง” จึงเป็นสิ่งที่มีค่าและสร้างความเข้มแข็ง

หากเรามีความหวังกับสิ่งใด มีศรัทธากับสิ่งใด เราก็จะไม่ยอมแพ้ง่ายๆ เพราะเราเชื่อว่าทุกอย่างมันมีโอกาสดีขึ้นได้

และในฐานะผู้นำ หนึ่งในสิ่งสำคัญที่สุดที่เราจะสร้างได้ก็คือความหวังและความศรัทธาของผู้คนเช่นกันครับ