4 ระยะของวัยเกษียณ

เราทุกคนล้วนถูกสอนให้เตรียมตัวเข้าสู่วัยเกษียณด้วยการวางแผนทางการเงินให้ดี

แต่ทำไมมีแต่คนสอนให้เตรียมพร้อมทางการเงิน (financial) แต่กลับไม่มีคนสอนให้เตรียมพร้อมด้านจิตใจ (psychological) กันบ้างเลย?

ทุกๆ วันจะมีชาวอเมริกันเกษียณวันละ 10,000 คน และจะเป็นแบบนี้ไปอีก 10-15 ปี คิดเป็นคนหลายสิบล้านคน อารมณ์ไม่ต่างกับสึนามิแห่งคนชรา

และเนื่องจากอายุคาดเฉลี่ยของเราจะยืนยาวขึ้น จึงมีความเป็นไปได้ที่เราจะต้องใช้เวลาถึง 1 ใน 3 ของชีวิตเราในวัยเกษียณ

ไรลี่ย์ มอยนส์ (Riley Moynes) ไม่ค่อยมีความสุขกับชีวิตหลังเกษียณเท่าไหร่ เขารู้ว่า “ความสำเร็จ” ในวัยทำงานต้องทำยังไงบ้าง แต่ความสำเร็จในวัยเกษียณนั้นเขาไม่รู้ว่ามีหน้าตาเป็นอย่างไร

เขาจึงไปนั่งคุยกับคนวัยเกษียณหลายสิบคนและได้ข้อสรุปออกมาว่าวัยเกษียณมี 4 ระยะด้วยกัน

ระยะที่ 1 – พักร้อน (Vacation)

นี่คือภาพจำที่คนส่วนใหญ่มีสำหรับวัยเกษียณ จะตื่นกี่โมงก็ได้ จะทำอะไรก็ได้ จะไปไหนก็ได้ ไม่ต้องทำตามคำสั่งใคร ใช้ชีวิตได้อย่างสบายใจ

ระยะที่ 1 นี้จะมีความยาวประมาณหนึ่งปีเท่านั้น แล้วเราก็จะเริ่มเบื่อ แล้วเราจะเริ่มตั้งคำถามกับตัวเองว่าวัยเกษียณมีแค่นี้เองหรือ และนั่นคือสัญญาณว่าเรากำลังเข้าสู่…

ระยะที่ 2 – สูญเสียและหลงทาง (Loss and Lost)

นี่คือช่วงที่เราจะรู้สึกสูญเสีย Big Five อันได้แก่

สูญเสียกิจวัตร (routine) เนื่องจากตื่นไม่เป็นเวลา นอนไม่เป็นเวลา ใช้ชีวิตแบบไร้แบบแผนมานาน

สูญเสียอัตลักษณ์ (identity) เนื่องจากถอดหมวกการทำงานออกไปแล้ว ไม่มีตำแหน่งแห่งหนใดๆ ก็เลยเริ่มไม่แน่ใจว่าตัวเองเป็นใครหรือยังเป็นอะไรได้อยู่รึเปล่า

สูญเสียความสัมพันธ์กับเพื่อนที่ทำงาน (relationships with people at work) เมื่อไม่ได้ทำงาน ความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงานก็ย่อมต้องห่างเหินไปด้วย

สูญเสียจุดมุ่งหมาย (sense of purpose) ไม่รู้ว่าวันนี้จะตื่นมาเพื่ออะไร

สูญเสียอำนาจ (power) เมื่อถอดหัวโขนออก สิ่งที่เคยทำได้ก็ทำไม่ได้อีกต่อไป

นอกจาก Big Five ที่หายไปแล้ว เราอาจยังต้องเจอ 3D อีกด้วย

Divorce – แยกทางกับคู่ชีวิต

Depression – ความซึมเศร้าเหงาหงอยไร้ค่า

Decline – ความทรุดโทรมทั้งทางร่างกายและสติปัญญา

นี่คือระยะที่ยากลำบากที่สุด เพราะผู้คนส่วนใหญ่ไม่ได้เตรียมใจจะเจอสิ่งเหล่านี้ จึงรู้สึกเจ็บปวดและหลงทางอยู่พอสมควร จนกว่าจะถึงวันที่ลุกขึ้นมาบอกกับตัวเองว่า “เราจะอยู่แบบนี้ไปจนชั่วชีวิตไม่ได้” ก็แสดงว่าเรากำลังจะเข้าสู่…

ระยะที่ 3 – ลองผิดลองถูก (Trial & Error)

นี่คือการตั้งคำถามกับตัวเองว่า เราจะกลับมามีคุณค่าได้อย่างไร

ช่วงนี้เราอาจจะได้ลองทำอะไรหลายๆ อย่างที่เคยอยากทำ เช่นไปลงเรียนเพิ่มเติม ไปเป็นอาสาสมัครหรือกรรมการหมู่บ้าน หรือเปิดคอร์สสอนวิชาที่เราช่ำชอง

ช่วงที่ลองผิดลองถูกนั้นเราอาจจะเจอความผิดหวังมากกว่าสมหวัง แต่เราก็ต้องหาให้เจอว่าเหตุผลของการตื่นนอนตอนเช้าของเราคืออะไร ไม่เช่นนั้นแล้วเราอาจจะกลับไปอยู่ระยะที่ 2 อีกก็ได้

แต่หากไม่หยุดค้นหาและให้เวลากับตัวเองมากพอ เราก็จะเดินทางถึง…

ระยะที่ 4 – สร้างตัวตนใหม่ (Reinvent & Rewire)

นี่คือระยะที่เราสามารถหากิจกรรมที่ทำให้เรามีจุดมุ่งหมายและได้สัมผัสความสำเร็จ ซึ่งเกือบจะร้อยทั้งร้อยล้วนเป็นการทำอะไรเพื่อคนอื่น

บิลเป็นชายวัยเกษียณที่เชื่อว่าเราควรทำกิจกรรมที่ลับสมองอยู่เป็นประจำ เขาจึงไปชวนเพื่อนวัยเดียวกันมาเปิดคลาสสอนเรื่องที่พวกเขาถนัด

ปีแรกเปิดสอนไป 9 วิชา มีคนเข้าเรียน 200 คน

ปีที่สองเปิดสอน 45 วิชา คนเรียน 700 คน

ปีที่สามเปิดสอน 90 วิชา และมีคนเรียน 2,100 คน

วิชาที่สอนก็เช่นวาดรูป ปั่นจักรยาน ไพ่บริดจ์ ไพ่นกกระจอก รวมถึงสอนภาษาอังกฤษให้กับเด็กต่างชาติด้วย แน่นอนว่าต้องใช้พลังมหาศาลทั้งคนสอนและคนเรียนแต่ก็สนุกสนานกันมากเลยทีเดียว

ที่สำคัญ Big Five ที่เคยทำหล่นหายไปในระยะที่ 2 ก็กลับมาด้วย ไม่ว่าจะเป็นกิจวัตร อัตลักษณ์ ความสัมพันธ์ จุดมุ่งหมาย และความรู้สึกว่าตัวเองมีสิทธิ์มีเสียง

ดังนั้น สำหรับคนที่กำลังจะเกษียณ:

ขอให้สนุกกับการพักร้อนในระยะที่ 1

เตรียมใจพบกับความสูญเสียในระยะที่ 2

พร้อมจะลองผิดลองถูกในระยะที่ 3

และใช้วัยเกษียณให้คุ้มค่าและอิ่มเอมในระยะที่ 4 ครับ


ขอบคุณข้อมูลจาก TedX Talks: The 4 phases of retirement | Dr. Riley Moynes | TEDxSurrey