ถ้าเราเครียดเรื่องงานถือเป็นสัญญาณที่ดี

หนึ่ง แปลว่าเรามีงานทำ

สอง เครียดเรื่องงาน ดีกว่าเครียดเรื่องคน ปัญหาเรื่องงานมักมีทางออก ปัญหาเรื่องคนหาทางออกได้ยากกว่า

สาม การที่เราเครียดเรื่องงานเป็นหลัก แสดงว่าเรื่องอื่นๆ ในชีวิตค่อนข้างราบรื่น เช่นเรื่องเงินทอง เรื่องสุขภาพ เรื่องครอบครัว เพราะถ้าเรามีปัญหาใดในสามเรื่องนี้ เราจะไม่ค่อยเหลือแรงมานั่งเครียดเรื่องงานแล้ว

เวลารู้สึกว่าชีวิตกำลังแย่กับปัญหาใด ถ้ามองเห็น “ปัญหาที่เราไม่มี” กำกับไว้ด้วย ก็น่าจะช่วยให้รู้สึกดีขึ้นบ้างไม่มากก็น้อยครับ

เราอาจหลงลืมไปว่าเราโชคดีแค่ไหนแล้ว

Jimmy Carr นักแสดงตลกชื่อดังชาวอังกฤษวัย 51 ปี เพิ่งให้สัมภาษณ์กับ Steven Barlett วัย 31 ปีในพ็อดแคสต์ The Diary of a CEO ไว้ว่า

“หลังจากไตร่ตรองอยู่นาน ผมก็ได้ข้อสรุปว่า ‘การรู้คุณค่า’ (gratitude) น่าจะเป็นคุณธรรมตัวแม่ของคุณธรรมทั้งมวล

และผมขอเดาว่า คุณน่าจะยอมแลกทุกอย่างที่คุณจะมีในครอบครองในอีก 30 ปีข้างหน้า เพื่อให้คุณได้กลับมาอายุเท่าตอนนี้ และมีสุขภาพแข็งแรงเหมือนตอนนี้

ผมว่ามันเป็นการทดลองทางความคิดที่น่าสนใจดีนะ

ลองจินตนาการถึงตัวเองในอีก 30 ปีข้างหน้า และถ้าตอนนั้นคุณมีของวิเศษที่สามารถเสกให้คุณกลับมามีสุขภาพแข็งแรงเท่าตอนนี้ รู้สึกดีขนาดนี้ และมีอายุเท่าตอนนี้ ผมว่าคุณน่าจะยอมสละสมบัติทางวัตถุทั้งหมดที่คุณมี เพื่อจะได้กลับมานั่งอยู่ตรงนี้

ลองหยุดคิดดูสักครู่ แล้วมันอาจเปลี่ยนความรู้สึกและการกระทำของคุณในวันนี้ก็ได้

ผมคิดว่าพวกเราในโลกตะวันตกกำลังเจ็บป่วยด้วยภาวะ “การมองชีวิตที่ผิดเพี้ยน” (life dysmorphia)

คนไม่น้อยคิดว่าชีวิตของตนนั้นแย่มาก เพราะมนุษย์เราคุ้นชินกับชีวิตดีๆ ได้อย่างง่ายดายเหลือเกิน

ลองคิดดูนะ คนส่วนใหญ่ไม่มีเครื่องทำน้ำอุ่นจนกระทั่งเมื่อ 50 ปีที่แล้ว

เพื่อนคนนึงเคยบอกผมว่า ตอนที่คุณกำลังอาบน้ำอุ่นจากฝักบัว ให้ลองหยุดนึกดูสักครู่ ว่าไม่มีบุคคลใดที่มีชีวิตอยู่ 100 ปีก่อนหน้านี้ ไม่ว่าจะร่ำรวยหรือมีชีวิตน่าอิจฉาแค่ไหน ไม่มีใครเคยได้รับความสุขอันแสนธรรมดาอย่างการอาบน้ำอุ่นจากฝักบัวเลย

โลกใบนี้เคยมีมนุษย์เกิดขึ้นมาแล้วทั้งหมด 1 แสนล้านคน คนในยุคปัจจุบันจัดอยู่ใน Top 1% ในแง่ของคุณภาพชีวิต เรามีอาหารให้กินโดยแทบไม่เคยต้องกังวล ลูกหลานของเราไม่เสียชีวิตในขวบปีแรก เรามีการแพทย์สมัยใหม่ เรามีความบันเทิงให้เลือกเสพมากมาย

เรามีชีวิตที่สุขสบายยิ่งกว่าเจ้าหญิงและเจ้าชาย และแม้ว่าคุณภาพชีวิตของเราจะดีกว่ายุคก่อนอย่างไม่มีใครปฏิเสธได้ แต่ความรู้สึกทางจิตใจของเรากลับย่ำแย่”


Jimmy Carr พูดถึงความโชคดีในสองระดับ

หนึ่งคือความโชคดีทางอายุ สองคือความโชคดีของยุคสมัย

เริ่มจากความโชคดีทางอายุก่อน

เราเองถูกสังคมคาดหวังให้ “สร้างอนาคต” ให้อดเปรี้ยวไว้กินหวาน ให้พัฒนาตนเองเพื่อที่จะสุขสบายในวันข้างหน้า

แต่เมื่อเลยวัย 40 มาแล้ว ผมเริ่มคิดว่า “ภาพฝันของอนาคต” มันเป็นเหมือนมิราจกลางทะเลทราย ที่ล่อหลอกให้เราเดินไปเรื่อยๆ แต่ไม่เคยมีอยู่จริง

ผมเคยเขียนบทความ “วัยสี่สิบกว่าคือนาทีทอง” หลังจากได้นั่งพูดคุยกับ “พี่อ้น” วรรณิภา ภักดีบุตร mentor ของผมในโครงการ IMET MAX

พี่อ้นบอกว่าวัยสี่สิบคือช่วงที่ดี เพราะเรามีประสบการณ์มากพอ ยังมีกำลังวังชา ลูกยังฟังเราอยู่ คนรอบตัวยังไม่เจ็บไม่ตาย นี่คือช่วงชีวิตที่เราสามารถทำอะไรได้อย่างเต็มที่

จะว่าไป วัยสี่สิบกว่านี่อาจจะเป็น “ช่วงพีคสุด” ของชีวิตแล้วก็ได้ เพราะแม้ร่างกายจะเริ่มโรยราแต่ก็ยังดูแลตัวเองและคนรอบข้างไหว หน้าที่การงานก็ยังมีความก้าวหน้าและมีความหวังว่ามันจะยังไปต่อได้อีก

ถ้าเราไม่หัดพอใจในปัจจุบัน เพียงเพราะภาพฝันในอนาคตมันดีกว่าตอนนี้ เราก็อาจจะผ่านพ้นช่วงที่ดีที่สุดไปโดยได้แต่กลับมานั่งเสียดายภายหลัง

อีก 30 ปีข้างหน้า คงยังไม่มีของวิเศษชิ้นใดที่จะพาเรากลับมาอยู่ในร่างกายแบบตอนนี้ได้ ดังนั้นจงเห็นคุณค่าของวัยหนุ่มสาวและใช้มันให้เต็มที่ในการสร้างอนาคตโดยไม่ละเลยที่จะมีความสุขในวันนี้ด้วย


ส่วนความโชคดีของยุคสมัย Jimmy Carr ยกตัวอย่างการมีน้ำอุ่นให้ใช้ ซึ่งอากาศร้อนแบบนี้คนไทยคงไม่อิน ผมเลยลองไปค้นข้อมูลว่าคนไทยเริ่มมีแอร์ใช้เมื่อไหร่ ก็พบว่าเมื่อประมาณ 40-50 ปีที่แล้วนี้เอง

แค่เทียบกับสมัยที่รุ่นพ่อรุ่นแม่เรายังหนุ่มสาว ชีวิตเราก็สุขสบายกว่าในหลายมิติแล้ว อยากหาข้อมูลก็ไม่ต้องเข้าห้องสมุด อยากเดินทางไปไหนก็ไม่ต้องกลัวหลง ทำงานได้จากทุกที่ ทางเลือกในการหาเลี้ยงชีพก็เปิดกว้าง ขนาดมีโรคระบาดหนักไปทั่วโลก มนุษยชาติก็ยังผ่านมันมาได้ไวกว่าที่คิด ถ้าเกิดโรคระบาดระดับเดียวกันเมื่อ 50 ปีที่แล้ว ผมว่า Homo Sapiens อาจถึงขั้นสูญพันธุ์เลยด้วยซ้ำ

ยิ่งถ้าย้อนกลับไปเทียบกับชีวิตเจ้าหญิงเจ้าชายเมื่อ 200 ปีที่แล้ว ต่อให้ภาพจำจากในหนังจะสวยงามเพียงใด เพียงแค่คิดว่าสมัยนั้นเขาไม่มีส้วมและน้ำประปาให้ใช้เหมือนตอนนี้ ก็รู้สึกว่าอยู่ยากแล้ว

แน่นอนว่ายุคนี้ก็มีปัญหาที่คนยุคก่อนไม่เคยต้องเจอ ทั้งเรื่องโลกร้อนและภูมิรัฐศาสตร์อันผันผวน แต่ในเมื่อเรามีชีวิตอยู่ในยุคนี้แล้วก็ต้องปรับตัวและเดินหน้ากันต่อไป

การตระหนักว่าเราโชคดีแค่ไหน ทั้งในแง่อายุและยุคสมัย จึงไม่ใช่การปลอบประโลมหรือหลอกตัวเอง แต่เป็นการมองให้เห็นคุณค่าในสิ่งที่เราเคยมองข้ามมาโดยตลอด เพื่อจะได้ตระหนักว่าเรามีทรัพยากรอะไรให้หยิบใช้บ้าง

ชีวิตตอนนี้คือชีวิตที่ดีที่สุด และสิ่งเดียวที่เราทำได้ คือทำมันให้ดีที่สุดตามกำลังที่เรามีครับ

อ่านหนังสือยังไงให้ลืมได้เร็วๆ

ช่วงหยุดยาวถือเป็นฤกษ์งามยามดีที่จะได้หยิบหนังสือจากกองดองขึ้นมาอ่าน

สำหรับใครที่ชอบหนังสือประเภท non-fiction อาจจะมีเรื่องไม่สบายใจอยู่อย่างหนึ่ง คือพออ่านจบได้ไม่นาน ก็มักจะลืมเนื้อหา หรือแทบไม่ได้หยิบอะไรจากหนังสือมาใช้ในชีวิตจริง จนรู้สึกว่าการอ่านหนังสือเล่มมันนั้นมันสูญเปล่าหรือไม่ คนกลุ่มนี้จึงเฟ้นหาวิธีที่จะช่วยให้เขาจดจำเนื้อหาได้มากกว่านี้

เขาว่ากันว่า การไฮไลต์หนังสือเฉยๆ นั้นไม่ได้ช่วยในการจดจำ เพราะสมองของเราไม่ได้มีปฏิสัมพันธ์กับเนื้อหามากเพียงพอ

เทคนิคที่จะช่วยให้อ่านแล้วไม่ลืมก็เช่น

  • จดโน๊ตตรงพื้นที่ว่างในหนังสือว่ามันเชื่อมโยงกับสิ่งที่เรารู้อยู่แล้วอย่างไร
  • สร้าง Output เช่น สรุปหนังสือออกมาในคำพูดของเรา เอาไปเล่าให้เพื่อนฟัง หรือเขียนเป็นบทความ
  • จดโน้ตด้วยเทคนิค Zettelkasten ของเยอรมัน ที่สามารถเอาทุกอย่างมาเชื่อมโยงกันได้ ไม่ว่าจะเป็นโน้ตเก่าหรือโน้ตใหม่

บทความวันนี้จะมาบอกว่า บางทีเราไม่จำเป็นต้องทำอะไรแบบข้างบนเลยก็ได้นะครับ

เพราะถ้าหากเรารู้สึกว่าจะต้อง “รีดประโยชน์” จากการอ่านหนังสือให้ได้มากที่สุด กิจกรรมพักผ่อนหย่อนใจก็จะกลายเป็น “งานอีกหนึ่งชิ้น” ขึ้นมาทันที

การจดเพื่อให้จำได้นั้นเป็นการทำเพื่อตัวเราในอนาคต แต่มันกลับทำให้ตัวเราในวันนี้ไม่ค่อยมีความสุขกับการอ่านหนังสือ

มีบทความหนึ่งที่ผมชอบมากของ Oliver Burkeman ผู้เขียนหนังสือ Four Thousand Weeks

บทความนี้มีชื่อว่า “How to forget what you read

คุณ Burkeman เขาเป็นคนแบบนี้แหละครับ ชอบเขียนบทความที่ตั้งคำถามกับกระแสหลัก ในเมื่อกูรูส่วนใหญ่สอนว่าจะอ่านหนังสือยังไงให้จำได้นานๆ เขาก็เลยตั้งชื่อบทความว่าอ่านยังไงให้ลืมได้เร็วๆ ผมเลยขออัญเชิญมาเป็นชื่อของบทความวันนี้ด้วยเสียเลย


Burkeman เคยเป็น productivity geek มาก่อน ลองเครื่องมือ productivity มาแล้วแทบทุกชนิด

เขาเคยตั้งกฎกับตัวเองว่าจะอ่านหนังสือวันละ 30 นาที จากนั้นจะใช้เวลาอีกวันละ 30 นาทีเพื่อจดโน้ตและจัดระเบียบโน้ต โดยไม่ได้สำเหนียกเลยว่าเขาต้องหาเวลาเพิ่มอีก 60 นาทีเพื่อทำสองสิ่งนี้ในตารางชีวิตที่ยุ่งมากพออยู่แล้ว

หลังจากลองแล้วล้มเหลว เขาก็ได้ข้อสรุปว่าเราไม่ต้องพยายามจดจำทุกอย่างที่อ่านก็ได้

Burkeman ให้เหตุผล 3 ข้อดังนี้

1.การลืมคือตัวกรองอย่างหนึ่ง

      “Forgetting is a filter.”

      อะไรที่ไม่สำคัญ สมองจะทำหน้าที่ลืมให้เราโดยอัตโนมัติ

      แต่ถ้าสิ่งที่เราอ่านมันมีความหมายกับเรามากพอ เราจะจำมันได้โดยไม่ต้องพยายาม

      แน่นอนว่ามีบางบริบทเช่นการเรียนหรือการทำงานที่เราจำเป็นต้องจำให้ได้เยอะที่สุด แต่สำหรับการอ่านส่วนใหญ่ เราไม่จำเป็นต้องทำอะไรแบบนั้น

      การที่สมองทำหน้าที่เป็นตัวกรองให้นั้นจึงเป็นเรื่องที่ถูกต้องอยู่แล้ว อะไรที่เราอินก็จะติดอยู่ในหัว อะไรที่เราไม่อิน สมองก็จะช่วยคัดออกให้

      แต่ถ้าเราทดแทนกลไกนี้ด้วยการจดโน้ตและจัดระเบียบ สมองของเราจะเต็มไปด้วย “ประเด็นที่น่าจะสำคัญ” จน “ประเด็นที่สำคัญที่สุด” ถูกกลืนหายไป

      Paulo Coelho ผู้เขียนนิยาย Alchemist เคยให้สัมภาษณ์กับ Tim Ferriss เอาไว้ว่า*

      “Forget notebooks. Forget taking notes. Let what is important remains. What’s not important goes away.”

      ไม่ต้องไปสนใจสมุด ไม่ต้องไปสนใจการจดโน้ต อะไรที่สำคัญจะยังคงอยู่กับเรา อะไรที่ไม่สำคัญมันจะจากเราไปเอง


      2.ยิ่งเทคนิคที่เราใช้ต้องลงแรงมากเท่าไหร่ เรายิ่งมีแนวโน้มที่จะหลีกเลี่ยงการอ่านหนังสือมากขึ้นเท่านั้น

        ถ้าเรารู้สึกว่าการหยิบหนังสือขึ้นมาอ่านนั้นจะต้องตามมาด้วยการจดโน้ต ความน่าจะเป็นก็คือเราอาจจะไม่ได้อ่านหนังสือเล่มนั้นไปเลย เพราะเรารู้สึกว่าไม่มีเวลาหรือไม่มีแรงมากพอ

        แทนที่จะได้อ่านหนังสือที่เราอยากอ่านจริงๆ เราจึงอาจจะเลือกอ่านหนังสือที่อ่านง่าย เพียงเพราะเรารู้สึกว่ายังพอจดโน้ตไหว ยังพอเขียนสรุปไหว


        3.เราไม่ได้อ่านหนังสือเพื่อดาวน์โหลดข้อมูลมาเก็บไว้ในสมอง เราอ่านหนังสือเพื่อหล่อหลอมตัวตน

          “The point of reading, much of the time, isn’t to vacuum up data, but to shape your sensibility.”

          งานทุกชิ้นที่เราอ่านนั้นจะมีผลกับเราเสมอ แม้จะเล็กน้อยเพียงใดก็ตาม ดังนั้นวิธีการที่เรามองโลกก็จะเปลี่ยนแปลงไป โดยที่เราไม่จำเป็นต้องจดจำเนื้อหาได้เป๊ะๆ

          สุดท้ายแล้ว สิ่งที่จะสร้างความแตกต่างอย่างแท้จริง ก็คือมุมมองที่เรามีต่อโลก ต่อผู้คนและสิ่งรอบตัว และนำมุมมองนั้นมาสร้างเป็นผลงานและสร้างคุณประโยชน์ในแบบของเราเอง


          จุดประสงค์ของบทความนี้ไม่ได้จะบอกให้ลืมทุกสิ่งที่เราอ่าน หรือให้ทิ้งการจดโน้ตไปทั้งหมด

          หากเราเป็นคนชอบจดโน้ต ก็จงจดต่อไปในรูปแบบที่เราถนัด

          ส่วนใครที่ไม่ชอบจดโน้ต ก็ขอให้มีความสุขกับการได้อ่านหนังสือดีๆ โดยไม่ต้องมีกฎกติกามากมาย

          มาถึงวัยนี้แล้ว การอ่านหนังสือควรเป็นไปด้วยความเพลิดเพลิน ไม่ใช่ด้วยความกล้ำกลืนหรือด้วยความมีระเบียบวินัย

          และขอให้เชื่อเถอะครับว่า เมื่อได้อ่านหนังสือดีๆ สักเล่ม หรือบทความดีๆ สักตอน ต่อให้เราจดจำเนื้อหาได้เล็กน้อยเพียงใด การอ่านนั้นย่อมไม่มีวันสูญเปล่าแน่นอน


          * บทสัมภาษณ์ที่ Paulo Coelho ให้ไว้กับ Tim Ferriss ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของบทความ How to forget what you read ของ Oliver Burkeman แต่ระหว่างที่เขียนบทความนี้ ผมนึกถึงคำพูดของ Coelho ขึ้นมาได้พอดี แม้จะเคยฟังบทสัมภาษณ์นี้เพียงครั้งเดียวเมื่อเกือบสิบปีที่แล้ว เป็นข้อพิสูจน์อย่างหนึ่งว่า อะไรที่มีความหมายกับเรา เราจะจำมันได้โดยไม่ต้องพยายามจริงๆ

          หัดเป็นคนมองใกล้

          เมื่อเช้านี้ผมไปวิ่งที่สวนหลวง ร.9 มาครับ

          บ้านผมอยู่ใกล้สวนสาธารณะแห่งนี้มาก ขับรถ 10 นาทีก็ถึง แต่ไม่ค่อยได้มาเท่าไหร่ ปีหนึ่งน่าจะได้มาวิ่งหรือมาเดินเล่นไม่เกิน 5 ครั้ง

          ระหว่างวิ่ง ผมเจอน้องคนหนึ่งที่มาวิ่งกับเพื่อนอีกสองคน พอถามเขาว่าบ้านอยู่แถวนี้เหรอ เขาบอกว่าเปล่า บ้านอยู่แถวถนนจันทน์ แต่มาวิ่งที่นี้เพราะเพื่อนชวนมา

          ผมคิดว่าน่าจะมีคนที่อยู่บ้านไกลกว่าผมหลายเท่า อาจต้องขับรถครึ่งชั่วโมงหรือมากกว่านั้นเพื่อจะมาสวนหลวง ร.9 ซึ่งเป็นสวนสาธารณะที่ใหญ่เป็นอันดับต้นๆ ของกรุงเทพ

          มันทำให้ผมนึกถึงบทความ “คนปารีสไม่ขึ้นหอไอเฟล” ที่ผมเขียนเอาไว้เมื่อหลายปีที่แล้ว

          เพื่อนผมที่เป็นชาวฝรั่งเศสและอาศัยอยู่ในปารีสเคยบอกผมว่า เขามีเพื่อนชาวปาริสหลายคนที่ไม่เคยขึ้นหอไอเฟลเลย อาจจะเป็นเพราะว่าคุ้นเคยและอยู่ตรงนั้นมานาน ก็เลยไม่ได้รู้สึกว่ามันพิเศษอะไร

          ในขณะที่คนทั่วโลก 40 กว่าล้านคนเดินทางมาปารีสเพื่อมาชมหอไอเฟลทุกปี แต่คนท้องถิ่นกลับรู้สึกเฉยๆ


          เมื่อสามปีที่แล้ว มีเพื่อนชาวเกาหลีคนหนึ่งมาทำงานที่กรุงเทพ

          เมื่อต้นปีที่แล้วเขาตัดสินใจลาออกและเดินทางกลับเกาหลี แต่ก่อนจะกลับประเทศเขาลางานหนึ่งสัปดาห์เพื่อจะได้ไปเที่ยวเกาะต่างๆ ในกระบี่

          เขาบอกผมว่าอยู่เมืองไทยมาเกือบสองปี ยังไม่เคยไปเที่ยวหาดดังๆ ในเมืองไทยเลย ตอนนี้จะกลับประเทศแล้วก็เลยต้องเที่ยวทิ้งทวนเสียหน่อย

          เมื่อสองปีที่แล้วมีเพื่อนชาวเกาหลีอีกคนหนึ่งมาทำงานที่เมืองไทย และต้นปีนี้เขาต้องย้ายไปประจำที่สิงคโปร์

          แล้วก็เหมือนหนังม้วนเดิม เขาลางานเพื่อไปเที่ยวเกาะต่างๆ ในเมืองไทยเพราะอยู่มาหนึ่งปีกว่าไม่เคยได้เที่ยวเลย

          เหมือนกับว่า เราต้องรอให้มีเส้นตายหรือรอให้เวลาใกล้หมดเสียก่อน เราถึงจะลงมือทำสิ่งที่เราอยากทำมานาน


          คนเราชอบมองไปข้างหน้า ชอบมองไปไกลๆ ชอบมองไปอนาคต

          เวลาผมสัมภาษณ์ผู้สมัครงาน ว่าอยากไปเที่ยวที่ไหน เกือบร้อยเปอร์เซ็นต์จะตอบว่าญี่ปุ่น เกาหลี หรือยุโรป แทบไม่มีคนพูดถึงสถานที่เที่ยวในเมืองไทย

          ซึ่งจะว่าไปก็ไม่ใช่เรื่องผิด เพราะคนไทยย่อมรู้สึกว่าเที่ยวเมืองไทยจะทำเมื่อไหร่ก็ได้

          แต่ความคิดที่ว่าอยู่ใกล้ จะทำเมื่อไหร่ก็ได้ อาจกลับมาหลอกหลอนเราในภายหลัง

          ผมเคยอ่านบทสัมภาษณ์ตากล้องมืออาชีพคนหนึ่งที่คุณแม่เพิ่งเสีย

          พอต้องหารูปคุณแม่มาตั้งที่งานศพ เขาจึงรู้ตัวว่าเขาไม่เคยถ่ายรูปดีๆ ของแม่เก็บเอาไว้เลย

          เป็นตลกร้ายที่ตากล้องคนหนึ่งจะถ่ายภาพผู้คนเอาไว้มากมายยกเว้นรูปแม่ตัวเอง


          คนเราจะอยากได้เฉพาะสิ่งที่เรายังไม่มี

          เมื่อเราได้สิ่งหนึ่งสิ่งใดมา เราก็จะเห็นคุณค่าของสิ่งนั้นน้อยลงไปทันที

          ไม่ว่าจะเป็นสิ่งของ คู่ครอง หรือแม้กระทั่งทายาท

          มันคือการเล่นกลของโดพามีน ที่จะหลั่งออกมาก็ต่อเมื่อเรามีความอยากไขว่คว้าสิ่งที่อยู่ไกลออกไป แต่เมื่อได้มันมาแล้วโดพามีนก็จะหยุดหลั่ง ถ้าอยากจะให้โดพามีนหลั่งอีกต้องไปไขว่คว้าอย่างอื่นต่อ

          สายตาของเราจึงมักจับจ้องแต่สิ่งที่อยู่ไกลตัว

          เมื่อตระหนักถึงความจริงข้อนี้ บางทีเราอาจอยากกลับมามองสิ่งใกล้ตัวให้มากขึ้น

          หลายคนเดินทางมาไกลมาก ถ้าให้ตัวเราเมื่อ 10 หรือ 20 ปีที่แล้วมาเห็นว่าเราวันนี้ได้บรรลุและครอบครองอะไรแล้วบ้าง เขาน่าจะอิจฉาเราไม่น้อย และเขาคงคิดว่าเราน่าจะมีความสุขมาก

          แต่ความจริงก็คือเราไม่ได้มีความสุขขนาดนั้น ไม่ว่าชีวิตจะดีแค่ไหน มนุษย์ก็จะหาเรื่องไม่พอใจได้อยู่ดี

          บางที การมีความสุขความพอใจอาจไม่ใช่การคว้าสิ่งที่ยังไม่มีให้ได้มา แต่คือการกลับมามองสิ่งใกล้ตัวที่เรามี มองให้เห็นคุณค่า และใช้เวลากับมัน (หรือกับเขา) ให้มากขึ้น

          ถ้ามองไกลอยู่เรื่อยไปเราอาจไม่มีวันพึงพอใจ

          หัดเป็นคนมองใกล้ แล้วเราอาจพบความสุขที่ไม่ต้องออกไปไขว่คว้าครับ

          จะซื้อหนังสือดีๆ อย่าไปดูราคา

          ผมเพิ่งสังเกตเห็นว่าการตั้งราคาหนังสือนั้นแตกต่างจากการตั้งราคาสินค้าชนิดอื่น

          หนังสือพ็อกเก็ตบุ๊คภาษาไทยราคาเริ่มต้นที่ประมาณ 200 บาท ส่วนหนังสือภาษาอังกฤษปกแข็งเล่มหนาๆ ราคาจะอยู่ที่ประมาณ 1,200 บาท จากราคาต่ำสุดไปสูงสุดต่างกันเพียง 6 เท่า

          โรงแรม 2 ดาวคืนละ 600 บาท
          โรงแรม 5 ดาวคืนละ 6,000 บาท
          ต่างกัน 10 เท่า

          ข้าวมันไก่จานละ 60 บาท
          โอมากาะเสะหัวละ 3,000 บาท
          ต่างกัน 50 เท่า

          เสื้อยืดตลาดนัดตัวละ 150 บาท
          เสื้อยืด Balenciaga ตัวละ 15,000 บาท
          ต่างกัน 100 เท่า

          สินค้าส่วนใหญ่จะมีช่วงราคาต่างกันระดับสิบเท่าหรือร้อยเท่าเสมอ ยกเว้นสินค้าที่เป็นสื่ออย่างหนังสือหรือภาพยนตร์

          ภาพยนตร์นั้นต่อให้หนังทุ่มทุนสร้างเท่าไหร่ ผู้กำกับหรือนักแสดงจะเทพแค่ไหน หนังจะยาวเท่าไหร่ ตั๋วโรงหนังก็แพงกว่าหนังเกรดบีไม่เกินสองเท่า

          หนังสือก็เช่นกัน แต่เพิ่มเติมตรงที่เราเก็บเกี่ยวได้นานกว่า ภาพยนตร์หนึ่งเรื่องสร้างความบันเทิงได้ 2-3 ชั่วโมงและดูจบภายในวันเดียว ส่วนหนังสือหนึ่งเล่มสร้างความบันเทิงได้เป็นสิบชั่วโมงและกินเวลาหลายสัปดาห์หรือแม้กระทั่งหลายเดือน

          ธรรมดาราคาของสินค้าชิ้นหนึ่งจะแปรผันตามต้นทุน คุณภาพ แบรนด์ และความต้องการในตลาด

          ยิ่งคุณภาพดีราคายิ่งแพง ยิ่งแบรนด์ดังราคายิ่งแพง ยิ่งคนต้องการเยอะราคายิ่งแพง

          แต่หนังสือระดับ Bestseller ขายได้เป็นล้านเล่ม จากนักเขียนชื่อดังระดับโลก ก็ราคาแทบไม่แตกต่างจากหนังสือของนักเขียนโนเนมที่ขายไม่ออกเลย ราวกับว่ากฎการตั้งราคาสินค้านั้นใช้ไม่ได้กับราคาหนังสือ หรือถึงจะมีผลก็น้อยกว่าสินค้าชนิดอื่นๆ อย่างแน่นอน

          นั่นหมายความว่าอะไร?

          หมายความว่า ถ้าเรารู้ว่าหนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือดี และเราตั้งใจจะอ่านมัน เราก็ไม่ควรกังวลเรื่องราคา เพราะยังไงก็คุ้ม

          หนังสือหนึ่งเล่มใช้เวลาเขียนหลายปี เป็นการรวบรวมความรู้ของคนหนึ่งคนมาเกือบทั้งชีวิต มันผ่านการคัดกรองจากผู้เขียน กองบ.ก. และสำนักพิมพ์มาแล้วเป็นอย่างดี และไม่ว่าต้นทุนหนังสือเล่มนี้ – ทั้งในเชิงปัญญา ในเชิงเศรษฐศาสตร์ และในเชิงแบรนดิ้ง – จะสูงมากขนาดไหน สุดท้ายราคาขายของมันก็แทบจะไม่ได้ต่างจากหนังสือเล่มอื่นที่มีต้นทุนต่ำกว่านี้เป็นสิบเท่าเลย

          ดังนั้น หนังสือราคา 500 บาท หรือ 1,000 บาท จึงไม่ใช่หนังสือราคาแพง ตราบใดที่มันเป็นหนังสือที่ดี ที่เราได้อ่าน และเราเอาไปใช้งานต่อได้

          จะซื้อหนังสือดีๆ อย่าไปดูราคาครับ