อ่านหนังสือยังไงให้ลืมได้เร็วๆ

ช่วงหยุดยาวถือเป็นฤกษ์งามยามดีที่จะได้หยิบหนังสือจากกองดองขึ้นมาอ่าน

สำหรับใครที่ชอบหนังสือประเภท non-fiction อาจจะมีเรื่องไม่สบายใจอยู่อย่างหนึ่ง คือพออ่านจบได้ไม่นาน ก็มักจะลืมเนื้อหา หรือแทบไม่ได้หยิบอะไรจากหนังสือมาใช้ในชีวิตจริง จนรู้สึกว่าการอ่านหนังสือเล่มมันนั้นมันสูญเปล่าหรือไม่ คนกลุ่มนี้จึงเฟ้นหาวิธีที่จะช่วยให้เขาจดจำเนื้อหาได้มากกว่านี้

เขาว่ากันว่า การไฮไลต์หนังสือเฉยๆ นั้นไม่ได้ช่วยในการจดจำ เพราะสมองของเราไม่ได้มีปฏิสัมพันธ์กับเนื้อหามากเพียงพอ

เทคนิคที่จะช่วยให้อ่านแล้วไม่ลืมก็เช่น

  • จดโน๊ตตรงพื้นที่ว่างในหนังสือว่ามันเชื่อมโยงกับสิ่งที่เรารู้อยู่แล้วอย่างไร
  • สร้าง Output เช่น สรุปหนังสือออกมาในคำพูดของเรา เอาไปเล่าให้เพื่อนฟัง หรือเขียนเป็นบทความ
  • จดโน้ตด้วยเทคนิค Zettelkasten ของเยอรมัน ที่สามารถเอาทุกอย่างมาเชื่อมโยงกันได้ ไม่ว่าจะเป็นโน้ตเก่าหรือโน้ตใหม่

บทความวันนี้จะมาบอกว่า บางทีเราไม่จำเป็นต้องทำอะไรแบบข้างบนเลยก็ได้นะครับ

เพราะถ้าหากเรารู้สึกว่าจะต้อง “รีดประโยชน์” จากการอ่านหนังสือให้ได้มากที่สุด กิจกรรมพักผ่อนหย่อนใจก็จะกลายเป็น “งานอีกหนึ่งชิ้น” ขึ้นมาทันที

การจดเพื่อให้จำได้นั้นเป็นการทำเพื่อตัวเราในอนาคต แต่มันกลับทำให้ตัวเราในวันนี้ไม่ค่อยมีความสุขกับการอ่านหนังสือ

มีบทความหนึ่งที่ผมชอบมากของ Oliver Burkeman ผู้เขียนหนังสือ Four Thousand Weeks

บทความนี้มีชื่อว่า “How to forget what you read

คุณ Burkeman เขาเป็นคนแบบนี้แหละครับ ชอบเขียนบทความที่ตั้งคำถามกับกระแสหลัก ในเมื่อกูรูส่วนใหญ่สอนว่าจะอ่านหนังสือยังไงให้จำได้นานๆ เขาก็เลยตั้งชื่อบทความว่าอ่านยังไงให้ลืมได้เร็วๆ ผมเลยขออัญเชิญมาเป็นชื่อของบทความวันนี้ด้วยเสียเลย


Burkeman เคยเป็น productivity geek มาก่อน ลองเครื่องมือ productivity มาแล้วแทบทุกชนิด

เขาเคยตั้งกฎกับตัวเองว่าจะอ่านหนังสือวันละ 30 นาที จากนั้นจะใช้เวลาอีกวันละ 30 นาทีเพื่อจดโน้ตและจัดระเบียบโน้ต โดยไม่ได้สำเหนียกเลยว่าเขาต้องหาเวลาเพิ่มอีก 60 นาทีเพื่อทำสองสิ่งนี้ในตารางชีวิตที่ยุ่งมากพออยู่แล้ว

หลังจากลองแล้วล้มเหลว เขาก็ได้ข้อสรุปว่าเราไม่ต้องพยายามจดจำทุกอย่างที่อ่านก็ได้

Burkeman ให้เหตุผล 3 ข้อดังนี้

1.การลืมคือตัวกรองอย่างหนึ่ง

      “Forgetting is a filter.”

      อะไรที่ไม่สำคัญ สมองจะทำหน้าที่ลืมให้เราโดยอัตโนมัติ

      แต่ถ้าสิ่งที่เราอ่านมันมีความหมายกับเรามากพอ เราจะจำมันได้โดยไม่ต้องพยายาม

      แน่นอนว่ามีบางบริบทเช่นการเรียนหรือการทำงานที่เราจำเป็นต้องจำให้ได้เยอะที่สุด แต่สำหรับการอ่านส่วนใหญ่ เราไม่จำเป็นต้องทำอะไรแบบนั้น

      การที่สมองทำหน้าที่เป็นตัวกรองให้นั้นจึงเป็นเรื่องที่ถูกต้องอยู่แล้ว อะไรที่เราอินก็จะติดอยู่ในหัว อะไรที่เราไม่อิน สมองก็จะช่วยคัดออกให้

      แต่ถ้าเราทดแทนกลไกนี้ด้วยการจดโน้ตและจัดระเบียบ สมองของเราจะเต็มไปด้วย “ประเด็นที่น่าจะสำคัญ” จน “ประเด็นที่สำคัญที่สุด” ถูกกลืนหายไป

      Paulo Coelho ผู้เขียนนิยาย Alchemist เคยให้สัมภาษณ์กับ Tim Ferriss เอาไว้ว่า*

      “Forget notebooks. Forget taking notes. Let what is important remains. What’s not important goes away.”

      ไม่ต้องไปสนใจสมุด ไม่ต้องไปสนใจการจดโน้ต อะไรที่สำคัญจะยังคงอยู่กับเรา อะไรที่ไม่สำคัญมันจะจากเราไปเอง


      2.ยิ่งเทคนิคที่เราใช้ต้องลงแรงมากเท่าไหร่ เรายิ่งมีแนวโน้มที่จะหลีกเลี่ยงการอ่านหนังสือมากขึ้นเท่านั้น

        ถ้าเรารู้สึกว่าการหยิบหนังสือขึ้นมาอ่านนั้นจะต้องตามมาด้วยการจดโน้ต ความน่าจะเป็นก็คือเราอาจจะไม่ได้อ่านหนังสือเล่มนั้นไปเลย เพราะเรารู้สึกว่าไม่มีเวลาหรือไม่มีแรงมากพอ

        แทนที่จะได้อ่านหนังสือที่เราอยากอ่านจริงๆ เราจึงอาจจะเลือกอ่านหนังสือที่อ่านง่าย เพียงเพราะเรารู้สึกว่ายังพอจดโน้ตไหว ยังพอเขียนสรุปไหว


        3.เราไม่ได้อ่านหนังสือเพื่อดาวน์โหลดข้อมูลมาเก็บไว้ในสมอง เราอ่านหนังสือเพื่อหล่อหลอมตัวตน

          “The point of reading, much of the time, isn’t to vacuum up data, but to shape your sensibility.”

          งานทุกชิ้นที่เราอ่านนั้นจะมีผลกับเราเสมอ แม้จะเล็กน้อยเพียงใดก็ตาม ดังนั้นวิธีการที่เรามองโลกก็จะเปลี่ยนแปลงไป โดยที่เราไม่จำเป็นต้องจดจำเนื้อหาได้เป๊ะๆ

          สุดท้ายแล้ว สิ่งที่จะสร้างความแตกต่างอย่างแท้จริง ก็คือมุมมองที่เรามีต่อโลก ต่อผู้คนและสิ่งรอบตัว และนำมุมมองนั้นมาสร้างเป็นผลงานและสร้างคุณประโยชน์ในแบบของเราเอง


          จุดประสงค์ของบทความนี้ไม่ได้จะบอกให้ลืมทุกสิ่งที่เราอ่าน หรือให้ทิ้งการจดโน้ตไปทั้งหมด

          หากเราเป็นคนชอบจดโน้ต ก็จงจดต่อไปในรูปแบบที่เราถนัด

          ส่วนใครที่ไม่ชอบจดโน้ต ก็ขอให้มีความสุขกับการได้อ่านหนังสือดีๆ โดยไม่ต้องมีกฎกติกามากมาย

          มาถึงวัยนี้แล้ว การอ่านหนังสือควรเป็นไปด้วยความเพลิดเพลิน ไม่ใช่ด้วยความกล้ำกลืนหรือด้วยความมีระเบียบวินัย

          และขอให้เชื่อเถอะครับว่า เมื่อได้อ่านหนังสือดีๆ สักเล่ม หรือบทความดีๆ สักตอน ต่อให้เราจดจำเนื้อหาได้เล็กน้อยเพียงใด การอ่านนั้นย่อมไม่มีวันสูญเปล่าแน่นอน


          * บทสัมภาษณ์ที่ Paulo Coelho ให้ไว้กับ Tim Ferriss ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของบทความ How to forget what you read ของ Oliver Burkeman แต่ระหว่างที่เขียนบทความนี้ ผมนึกถึงคำพูดของ Coelho ขึ้นมาได้พอดี แม้จะเคยฟังบทสัมภาษณ์นี้เพียงครั้งเดียวเมื่อเกือบสิบปีที่แล้ว เป็นข้อพิสูจน์อย่างหนึ่งว่า อะไรที่มีความหมายกับเรา เราจะจำมันได้โดยไม่ต้องพยายามจริงๆ