ทำไม Introverts ถึง Burnout จากการ Work from Home

ผมคิดว่าตัวเองเป็น introvert คนหนึ่ง

Introvert คือคนที่ชอบสภาพแวดล้อมที่มีตัวกระตุ้นน้อย (low stimuli environment)

การได้ทำงานเงียบๆ ได้อยู่กับตัวเอง คือการชาร์จพลังที่ดี ในขณะที่ extrovert นั้นได้พลังจากการได้พบปะพูดคุยกับผู้คนเยอะๆ

การ work from home นั้นทำให้ extrovert “เฉา” ได้ไม่ยาก เพราะไม่ค่อยได้เจอใคร

แต่สิ่งที่ได้พบกับตัวเองก็คือ introvert ที่ต้อง WFH ก็เฉาได้ไม่แพ้กัน ซึ่งน่าสนใจว่าเป็นเพราะอะไร

เรา WFH กันมาสองปีกว่าแล้ว สิ่งที่ประสบกันถ้วนทั่ว ก็คือการอยู่กับหน้าจอมากเกินไป และไม่มีขอบเขตระหว่างงานและชีวิตส่วนตัว

สิ่งที่ทำให้เราสูญเสียพลังงานได้มากที่สุดคือ video call เพราะการอยู่ต่อหน้ากล้องนั้นไม่ต่างอะไรกับการต้องแสดงบนเวทีที่มีสายตามากมายจับจ้อง

การมีประชุมติดๆ กันทั้งวัน ย่อมไม่ต่างอะไรกับการขึ้นแสดงบนเวทีวันละ 8-10 ชั่วโมง ซึ่งสำหรับ introvert นั้นมันกินพลังอย่างมหาศาล

แถมตอน video call เราก็เห็นแค่หน้าหรือครึ่งตัวบน เราแทบไม่เคยเห็นแขน-ขา และภาษากายอื่นๆ เลย จึงทำให้เรา “อ่าน” คนได้ยากขึ้นกว่าเดิม

ดังนั้น ถ้าอยากจะลดอาการ burnout เราต้องจัดการพลังงานของเราให้ดี ซึ่งมีสามเรื่องหลักๆ ดังนี้

.

หนึ่ง เราควรจะมี routine ที่ดี

แม้ว่าเราจะเกลียดการเดินทางไปออฟฟิศ แต่การเดินทางนี้ก็เป็นเส้นแบ่งระหว่างเรื่องงานและเรื่องที่บ้าน

และเวลาเราเข้าออฟฟิศ เราก็มีโอกาสพักเบรคค่อนข้างบ่อย เช่นเดินไปชงกาแฟ หรือเมาธ์มอยกับเพื่อนร่วมงาน

สิ่งเหล่านี้แทบจะอันตรธานไปหมดในช่วง WFH ถ้าเราปล่อยให้ทุกอย่างเลยตามเลย

ดังนั้น เราควจะนำสิ่งเหล่านี้กลับมา อาจจะผ่านการฟังเพลง การคุยเล่นกับเพื่อนก่อนเริ่มการประชุม การไปเดินเล่นแถวบ้านหากแดดไม่ทารุณเกินไปนัก หรืออย่างน้อยที่สุดก็ยืดเส้นยืดสายหรือกลับมาอยู่กับลมหายใจก่อนที่เราจะเริ่มทำงานชิ้นต่อไป

.

สอง เราต้องจัดการจังหวะการทำงาน (pace)

pace คือจังหวะการทำงาน เราควรพยายามจัดสรรกิจกรรมที่ดูดพลังกับกิจกรรมทีเติมพลังให้มีความบาลานซ์กัน

เราอาจจะมี video call ให้น้อยลง เพราะอย่างที่กล่าวไปว่า video call นั้นเปรียบเหมือนการขึ้นแสดงบนเวที

เราอาจจะจองเวลาไว้ใน calendar เพื่อ “มีนัดกับตัวเอง” สำหรับการชาร์จแบตหลังประชุมเสร็จ และเราควรรู้ตัวเองด้วยว่าจะใช้เวลาช่วงไหนทำงานที่ต้องใช้สมาธิ และเวลาช่วงไหนที่เราพร้อมจะ “ขึ้นเวที”

.

สาม ในฐานะหัวหน้า เราสามารถช่วยป้องกันอาการ burnout ได้ด้วยการมี agenda การประชุมที่ชัดเจน ให้โอกาสทุกคนได้แสดงความคิดเห็น และพร้อมตัดบทคนที่พูดยาวและพูดมากเกินไป (extroverts!)

หัวหน้าควรปรับวิธีการระดมสมองหรือ brain storming ด้วย เพราะสำหรับ introverts แล้วการระดมสมองกันสดๆ ทำให้เขารู้สึกกังวลและไม่กล้าแสดงความคิดเห็นอะไรมากนัก วิธีที่อาจจะดีกว่า คือให้แต่ละคนได้เขียนไอเดียของตัวเองส่งมาก่อนที่จะเริ่มการประชุม

อีกสิ่งหนึ่งที่หัวหน้าทำได้ คือแนะนำให้คนในทีมใช้ audio call แทน video call ในบางงานวิจัยการคุยกันโดยใช้เสียงอย่างเดียวสามารถสื่อสารอารมณ์และข้อความระหว่างบรรทัดได้ดีกว่าด้วยซ้ำไป

อีกท่าหนึ่งที่น่าสนใจ คือ asynchronous communication หรือการสื่อสารแบบ “ว่างแล้วค่อยมาตอบ” นักเขียนชื่อ Robert Glazer ชอบอัดเสียงหรืออัดวีดีโอเพื่อเล่าความคิดของตัวเองส่งให้เพื่อนร่วมงาน พอเพื่อนสะดวกเมื่อไหร่ก็จะได้มีเวลาขบคิดให้ดีแล้วค่อยส่งคำตอบกลับมา

.

การทำงานแบบ WFH หรือ WFA (Work from Anywhere) จะอยู่กับเราไปอีกนาน ดังนั้นเราจึงไม่ควรเอานิสัยเก่าๆ หรือวัฒนธรรมองค์กรเดิมๆ มาใช้กับ remote work

หากไม่รู้จะเริ่มยังไง ลองถาม introverts ที่ทำงานของเราดูก็ได้ว่าวันทำงานในอุดมคติของเขาหน้าตาเป็นยังไง แล้วค่อยเริ่มจากตรงนั้นครับ


ขอบคุณข้อมูลจาก The Way We Work TED Series: 3 steps to stop remote work burnout by Morra Aarons-Mele

6 สิ่งที่ต้องปรับสำหรับการ WFH (ก่อนทุกอย่างจะสายเกินไป)

Gwen Moran เป็นนักเขียนฟรีแลนซ์ด้าน Leadership ให้กับนิตยสารชั้นนำอย่าง Fast Company

เธอทำงานที่บ้านมานานแล้ว แต่ในช่วงสองปีที่ผ่านมา ความไม่แน่นอนในด้านเศรษฐกิจทำให้คุณ Moran รู้สึกไม่มั่นคง เธอจึงรับงานเยอะกว่าเดิมเพื่อจะได้มีเงินเก็บมากขึ้น

แต่ผลของการทำงานอยู่กับโต๊ะนานเกินไป ทำให้วันหนึ่งเธอมีอาการหายใจลำบากและต้องเข้าไอซียูเพราะโรคลิ่มเลือดอุดกั้นในปอด (pulmonary embolism – มักเกิดกับผู้ที่ไม่ได้เคลื่อนไหวร่างกายเป็นเวลานานเช่นผู้ป่วยติดเตียง)

แม้ว่าจะรอดมาได้อย่างหวุดหวิด แต่หมอก็เตือนว่าถ้าเธอไม่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ครราวหน้าเธออาจจะไม่ได้โชคดีอย่างนี้

Moran จึงขอแนะนำ 6 เรื่องที่เราควรทำเพื่อให้ยังมีสุขภาพที่ดีช่วงที่เรา WFH ครับ

1. ดื่มน้ำให้เพียงพอ

การดื่มน้ำให้เพียงพอจะช่วยให้เราลดการบริโภคน้ำตาลและโซเดียม ช่วยให้สมองของเราทำงานได้ดีขึ้น และลดความเสี่ยงภาวะหัวใจล้มเหลวอีกด้วย

แต่เราไม่จำเป็นต้อง “ดื่มน้ำวันละ 8 แก้ว” อย่างที่เราได้ยินได้ฟังกันมา เพราะปริมาณน้ำที่จำเป็นนั้นขึ้นอยู่กับว่าเราทำกิจกรรมอะไรและกินอาหารประเภทไหนบ้าง (ผลไม้อย่างแตงโมหรือสตรอเบอรี่นั้นมีส่วนประกอบเป็นน้ำถึง 90%)

สิ่งที่ควรทำคือหาน้ำไว้ใกล้ๆ มือ และจิบน้ำเมื่อรู้สึกว่าปากเริ่มแห้ง

2. พักเบรค

บริษัทด้านสุขอนามัยในที่ทำงานอย่าง Tork เคยทำการสำรวจและพบว่า 91% ของคนทำงานในสหรัฐทำงานหนักขึ้นในช่วง WFH และ 40% ไม่ได้พักเบรคตอนเที่ยง แถมมีถึง 1 ใน 5 ที่รู้สึกว่าจะโดนคนอื่นมองไม่ดีถ้าตัวเองไม่ได้อยู่ที่โต๊ะตลอดเวลา

แต่การพักเบรคนั้นช่วยเพิ่ม productivity ให้เราได้ ถ้ารู้สึกว่าเราใช้เวลาติดอยู่กับโต๊ะมากเกินไป เราควรบล็อคเวลาพักไว้ทุกๆ 60 หรือ 90 นาที

3. เคลื่อนไหวร่างกายให้มากขึ้น

การออกกำลังกายคือยาวิเศษทั้งในเชิงป้องกันและการรักษา เราจึงควรให้เวลากับการออกกำลังกายวันละ 30 ถึง 60 นาที

สิ่งที่ควรระวังคืออย่าออกกำลังกายโดยใช้ร่างกายเพียงส่วนเดียวทุกวัน เพราะอาจจะทำให้เกิดอาการบาดเจ็บได้ เราควรออกกำลังกายหลากหลายประเภทสลับกันไป เช่นวันนี้ทำ bodyweight training ส่วนพรุ่งนี้ก็ไปจ็อกกิ้ง และวันถัดมาก็เล่นโยคะเป็นต้น

อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญคือเราควรจะเปลี่ยนท่านั่งทุก 30 นาที เพราะการนั่งนานเกินไปจะทำให้เลือดไหลเวียนไม่สะดวกและเพิ่มโอกาสการเป็นภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำส่วนลึก (Deep Vein Thrombosis: DVT) และระหว่างที่เปลี่ยนอิริยาบถก็ควรใช้โอกาสนี้ยืดเส้นด้วย

สำหรับคนที่พอมีสตางค์และมีพื้นที่ในบ้าน อาจจะหา standing desk หรือโต๊ะที่ใช้ยืนทำงานมาติดตั้งเอาไว้ แต่ถ้าใครปัจจัยไม่เอื้ออำนวย ก็หาโอกาสที่จะยื่นคุยโทรศัพท์หรือยืนคุยตอนประชุมก็ยังดี

4. หาความสงบให้จิตใจ (finding calm)

จากการสำรวจของ Gallup ในปี 2021 พบว่าคนทำงานในสหรัฐถึง 45% บอกว่าสถานการณ์ช่วงนี้มีผลกระทบต่อชีวิต “เป็นอย่างมาก” และ 57% บอกว่าประสบภาวะเครียดทุกวัน

ดังนั้นเราจึงควรมี “ท่าลดความเครียด” ติดตัวเอาไว้ เช่นสูดลมหายใจลึกๆ โทรหาเพื่อน หางานอดิเรกทำ หรือหาสิ่งที่ทำแล้วได้เป็นตัวของตัวเอง

การตกอยู่ใต้ภาวะเครียดนานๆ คือทางด่วนสำหรับการ burnout ดังนั้นเราจึงต้องสังเกตร่างกายของเราให้ดี เช่นถ้ารู้สึกตึงๆ ที่หัวไหล่ หรือหัวใจเต้นแรงขึ้น เราควรจะทำอะไรสักอย่างเพื่อผ่อนคลาย

5. ขีดเส้นเวลางานและเวลาส่วนตัว

ช่วง WFH จำนวนชั่วโมงการทำงานของหลายคนสูงขึ้นมาก บางทีค่ำแล้วเราก็ยังกลับมานั่งที่โต๊ะเพื่อเตรียมงานสำหรับโปรเจ็คถัดไป

เราจึงควรเซ็ตเวลาว่าจะเริ่มงานและเลิกงานเมื่อไหร่ แล้วหาทางที่จะใช้เวลาให้สอดคล้องกับตารางนั้น

วิธีหนึ่งที่อาจจะช่วยได้ คือการ “กลับบ้านเทียม” (fake commute) ตอนหมดวัน ด้วยการเปลี่ยนชุดและออกไปเดินเล่นหรือทำอะไรก็ได้ที่เราชอบ เพื่อเป็นการส่งสัญญาณกับตัวเองว่าตอนนี้ไม่ใช่เวลาทำงานแล้วนะ

6. ใส่ใจเรื่องการตรวจสุขภาพ

สมาคมการแพทย์อเมริกันพบว่า ช่วง WFH ที่ผ่านมา มีคนถึง 40% ที่ “โดด” การตรวจสุขภาพ

หากเราไม่ได้ตรวจสุขภาพมานานเกินหนึ่งปี ก็ควรหันมาสนใจเรื่องนี้ให้มากขึ้น เผื่อเจออะไรที่ผิดปกติจะได้รักษาตั้งแต่เนิ่นๆ

เราไม่จำเป็นต้องพยายามปรับเปลี่ยนทั้ง 6 ข้อโดยทันที เพราะถ้าเราพยายามเปลี่ยนอะไรมากเกินไปเราก็อาจจะล้มเหลวอยู่ดี แค่เลือกขึ้นมาทำสัก 1 หรือ 2 ข้อจนกลายเป็นนิสัยแล้วค่อยทำข้ออื่นๆ ต่อน่าจะได้ผลมากกว่า

เราน่าจะยังต้อง WFH หรือ Hybrid Work ไปอีกนาน – เผลอๆ จะตลอดไปด้วย

เราจึงควรจะมีอุปนิสัยที่เหมาะสม เพื่อจะได้ WFH ได้อย่างยั่งยืนครับ


ขอบคุณเนื้อหาจาก Fast Company: After a health scare, here’s how I’m changing up my remote work habits by Gwen Moran

นักบินอวกาศบอกเคล็ดลับการ Work from home

20200322

ใครหลายคนที่เริ่มทำงานจากที่บ้านไปบ้างแล้วอาจจะเจอปัญหาคล้ายๆ กับผม

– เฉา เหงา
– ตารางเวลาจะเละๆ หน่อย
– หมดวันแล้วหมดแรงกว่าไปทำงานที่ออฟฟิศเสียอีก

วันนี้อ่านเจอบทความของ The New York Times ที่เขียนโดย Scott Kelly อดีตนักบินอวกาศของ NASA ที่เคยใช้ชีวิตบนสถานีอวกาศนานาชาติอยู่เกือบ 1 ปี

ในสถานการณ์ที่ COVID-19 กำลังยกระดับในเมืองไทย ผมเห็นว่าสิ่งที่คุณเคลลี่เขียนมีประโยชน์สำหรับคนที่ต้อง Work from home และทุกคนที่ต้องเก็บตัวอยู่ที่บ้าน เลยขอนำมาถอดความไว้ตรงนี้ครับ

—–

การต้องเก็บตัวอยู่กับบ้านเป็นเรื่องที่ท้าทายมาก ตอนที่ผมต้องขึ้นไปอยู่ที่ International Space Station เป็นเวลาเกือบปีก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเช่นกัน เวลาผมเข้านอนผมก็อยู่ที่ทำงาน พอผมตื่นขึ้นมาผมก็ยังอยู่ที่ทำงาน การทำงานอยู่ในอวกาศน่าจะเป็นเพียงอาชีพเดียวที่เราลาออกกลางคันไม่ได้จริงๆ

แต่ผมก็ได้เรียนรู้อะไรบางอย่างที่น่าจะเป็นประโยชน์สำหรับสถานการณ์ในตอนนี้ที่เราต้องเก็บตัวอยู่ในบ้านเพื่อหยุดยั้งการแพร่ระบาดของโคโรนาไวรัส

และนี่คือคำแนะนำสำหรับการใช้ชีวิตอย่างโดดเดี่ยวจากคนที่เคยผ่านจุดนั้นมาแล้ว

 

มีตารางเวลาที่ชัดเจน (Follow a schedule)
ตอนอยู่ในสถานีอวกาศ ผมมีตารางที่เข้มงวดมากตั้งแต่ตื่นยันเข้านอน บางวันผมต้องเดินท่องอวกาศเป็นเวลา 8 ชั่วโมง ส่วนงานบางชิ้นก็ใช้เวลาแค่ 5 นาทีเช่นเช็คการเจริญเติบโตของดอกไม้ที่เราทดลองปลูกในอวกาศ

คุณจะพบว่าการมีแผนการจะช่วยให้คุณและครอบครัวปรับตัวกับสภาพแวดล้อมการทำงานที่เปลี่ยนไปได้ หลังจากที่ผมเดินทางกลับมายังโลก ผมอดคิดถึงชีวิตที่มีแบบแผนในอวกาศไม่ได้

 

แต่ก็ต้องคุมจังหวะให้ดี (But pace yourself)
ถ้าคุณใช้ชีวิตและทำงานอยู่ในที่เดียวกันเป็นเวลาหลายเดือน งานมักจะเทคโอเวอร์ทุกอย่างถ้าคุณปล่อยไปตามยถากรรม ตอนที่อยู่ในอวกาศผมตั้งใจใช้ชีวิตแบบผ่อนหนักผ่อนเบาเพราะผมรู้ว่าผมต้องอยู่แบบนี้ไปอีกสักพัก – ซึ่งก็ไม่ต่างกับสถานการณ์ของพวกเราในตอนนี้

อย่าลืมให้เวลากับกิจกรรมสนุกๆ ผมมักจะมีนัดดูหนังกับเพื่อนนักบินอวกาศพร้อมกับขนมนมเนยครบเซ็ท ผมได้ดู Game of Thrones จนจบสองรอบเลยนะจะบอกให้

อย่าลืมเข้านอนให้เป็นเวลาด้วย นักวิทยาศาสตร์ของนาซ่าได้ศึกษาพฤติกรรมการนอนของนักบินอวกาศและพบว่าคุณภาพการนอนส่งผลต่อความเฉลียวฉลาด สภาพอารมณ์และความสัมพันธ์ ซึ่งล้วนแล้วแต่มีความจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับการประกอบภารกิจบนอวกาศหรือการทำงานอยู่ที่บ้าน

 

ออกไปข้างนอกบ้าง (Go outside)
หนึ่งในสิ่งที่ผมคิดถึงมากที่สุดตอนอยู่ในอวกาศคือการได้ออกไปอยู่ท่ามกลางธรรมชาติ หลังจากต้องเก็บตัวอยู่ในพื้นที่แคบๆ เป็นเวลาหลายเดือน ผมเริ่มทุรนทุรายที่จะได้สัมผัสกับธรรมชาติ – สีเขียวของต้นไม้ใบหญ้า กลิ่นดินกรุ่นๆ และไออุ่นจากแสงอาทิตย์ การทดลองปลูกดอกไม้ในอวกาศกลายเป็นงานที่มีความหมายมากกว่าที่ผมคิด

เพื่อนนักบินของผมมักเปิด “เสียงของโลก” ให้ผมฟังซ้ำๆ ไม่ว่าจะเป็นเสียงนกร้อง เสียงพุ่มไม้ในสายลมหรือแม้กระทั่งเสียงหึ่งๆ ของยุง เสียงเหล่านี้ทำให้ผมได้รู้สึกเหมือนได้กลับบ้าน แม้บางครั้งผมจะเผลอตบหูเพราะนึกว่ามียุงมาบินใกล้ๆ ก็เถอะ

สำหรับนักบินอวกาศ การออกไปข้างนอกยานนั้นเป็นเรื่องอันตรายและต้องเตรียมตัวอย่างเข้มข้น ดังนั้นผมจึงรู้สึกดีที่แม้ขณะนี้เราจะตกอยู่ในสถานการณ์โรคระบาด แต่ผมก็ยังเดินออกจากบ้านได้โดยไม่จำเป็นต้องใส่ชุดนักบินอวกาศ

งานวิจัยหลายชิ้นพบว่าการใช้เวลาท่ามกลางธรรมชาตินั้นเป็นคุณต่อสุขภาพกายและสุขภาพใจเช่นเดียวกับการออกกำลังกาย คุณไม่จำเป็นต้องออกกำลังกายวันละสองชั่วโมงครึ่งเหมือนนักบินอวกาศหรอก แต่การได้ได้ออกกำลังกายวันละหนึ่งครั้งควรจะเป็นส่วนหนึ่งในตารางของคุณ ขอแค่อย่าลืมที่จะอยู่ห่างกันอย่างน้อย 2 เมตรก็พอ

 

คุณต้องมีงานอดิเรก (You need a hobby)
เมื่อคุณถูกจำกัดบริเวณคุณจำเป็นต้องมี “พื้นที่ปลดปล่อย” ที่ไม่เกี่ยวกับเรื่องงาน

หลายคนแปลกใจที่รู้ว่าผมเอาหนังสือไปอ่านในอวกาศด้วย การได้ดำดิ่งอยู่ในหนังสือกระดาษโดยไม่มีเสียง notifications มากวนใจนั้นเป็นประสบการณ์ที่ล้ำค่ามาก ร้านหนังสือเล็กๆ หลายร้านเริ่มมีบริการส่งหนังสือตามบ้านหรือไปรับหนังสือได้ที่ร้าน ซึ่งแปลว่าคุณสามารถช่วยซัพพอร์ตธุรกิจในละแวกบ้านคุณแถมยังได้พักสายตาจากอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์

คุณยังฝึกเล่นเครื่องดนตรีได้อีกด้วย (ผมเพิ่งสมัครคลาสสอนกีตาร์ออนไลน์) ลองทำงานฝีมือหรืองานศิลปะ นักบินอวกาศล้วนจัดเวลาให้กับกิจกรรมเหล่านี้กันทั้งนั้น ลองดูวีดีโอที่นักบินอวกาศ Chris Handfield ร้องและเล่นคัฟเวอร์เพลง Space Oddity ของ David Bowie ดูก็ได้

 

เขียนไดอารี่ (Keep a journal)
เป็นเวลาหลายทศวรรษที่นาซ่าศึกษาผลของการ isolation ที่มีต่อมนุษย์ และเรื่องน่าประหลาดใจอย่างหนึ่งที่พวกเขาค้นพบคือประโยชน์ของการจดบันทึกประจำวัน

ตลอดระยะเวลาเกือบหนึ่งปีที่ผมขึ้นไปปฏิบัติภารกิจในอวกาศ ผมแบ่งเวลามาเขียนบันทึกประสบการณ์ของผมเกือบทุกวัน ถ้าคุณพบว่าตัวเองแค่จดสิ่งที่เกิดขึ้นในแต่ละวันแล้วมันค่อนข้างซ้ำซาก ลองเปลี่ยนไปเขียนเกี่ยวกับสิ่งที่คุณรู้สึกผ่านสัมผัสทั้งห้าหรือเกี่ยวกับความทรงจำของคุณดู แม้ว่าสุดท้ายแล้วคุณจะไม่ได้ตีพิมพ์หนังสือเหมือนที่ผมทำ การเขียนไดอารี่จะช่วยให้คุณรับรู้ประสบการณ์จากอีกมุมมองหนึ่งและในวันข้างหน้ามันจะช่วยให้คุณหันกลับมามองช่วงเวลาสำคัญนี้ว่ามันมีความหมายต่อชีวิตคุณอย่างไร

 

ให้เวลากับคนที่คุณรัก (Take time to connect)
แม้ว่าผมจะมีภาระมากมายของการเป็นผู้บัญชาการสถานีอวกาศ แต่ผมก็ไม่เคยพลาดโอกาสที่จะทำ video conference กับคนในครอบครัวและกับเพื่อนฝูง นักวิทยาศาสตร์พบว่าการอยู่อย่างโดดเดี่ยวนั้นไม่เพียงส่งผลเสียต่อสุขภาพจิตเท่านั้น แต่ยังส่งผลเสียต่อภูมิคุ้มกันร่างกายด้วย

เทคโนโลยีช่วยให้การติดต่อสื่อสารกันง่ายดายแค่ปลายนิ้ว ดังนั้นการให้เวลากับการพูดคุยกับคนสำคัญของคุณทุกวันนั้นเป็นเรื่องที่สุดคุ้ม ใครจะไปรู้ มันอาจจะช่วยให้ร่างกายของคุณต่อสู้ไวรัสได้ดีขึ้นก็ได้

 

ฟังคนที่ควรฟัง (Listen to experts)
ผมได้เรียนรู้ว่าปัญหาส่วนใหญ่ในชีวิตไม่ใช่ rocket science (rocket science = “วิทยาศาสตร์ในการขับเคลื่อนจรวด” เป็นสำนวนอังกฤษที่แปลว่าเรื่องที่ยากและซับซ้อนเกินกว่าที่คนธรรมดาจะเข้าใจได้)

แต่เมื่อใดก็ตามที่ปัญหานั้นเป็น rocket science เราก็ควรถามคนที่เป็น rocket scientist

การใช้ชีวิตอยู่ในอวกาศฝึกให้ผมเชื่อฟังคำแนะนำของคนที่มีความรู้เรื่องนั้นดีกว่าผม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องวิทยาศาตร์ วิศวกรรม หยูกยา หรือดีไซน์อันซับซ้อนของสถานีอวกาศที่ทำให้ผมยังมีชีวิตอยู่ได้

ในช่วงเวลาหน้าสิ่วหน้าขวานแบบนี้ เราต้องหาความรู้จากคนที่รู้จริงและฟังพวกเขาอย่างตั้งใจ โซเชียลมีเดียและสื่อที่ไม่มีการตรวจสอบมักจะแพร่ข้อมูลเท็จ ไม่ต่างอะไรกับการจับมือที่แพร่ไวรัส เราจึงควรฟังแต่คนที่ควรฟังอย่าง WHO และ Johns Hopkins Coronavirus Resource Center

 

เราล้วนเชื่อมโยงกัน (We are all connected)
เมื่อมองจากอวกาศ โลกนี้ไม่มีพรมแดน การระบาดของโคโรนาไวรัสแสดงให้เห็นว่าสิ่งที่เรามีเหมือนกันนั้นทรงพลังกว่าสิ่งที่แบ่งแยกเรามากมายนัก เราทุกคนเชื่อมโยงกันอย่างแยกไม่ออก และยิ่งเราร่วมมือกันเพื่อแก้ปัญหาได้ดีเท่าไหร่ เรายิ่งมีโอกาสรอดมากขึ้นเท่านั้น

หนึ่งในผลข้างเคียงจากการที่ได้มองโลกจากอวกาศ – อย่างน้อยก็สำหรับผม – คือความรู้สึกเห็นอกเห็นใจคนอื่น แม้ว่าเราจะรู้สึกว่าทำอะไรไม่ได้ในช่วงที่ต้องกักตัวอยู่ที่บ้าน แต่จริงๆ แล้วยังมีอีกหลายอย่างที่เราทำได้ ผมเห็นคนที่สอนหนังสือเด็กผ่านวีดีโอคอนเฟอเรนซ์ เห็นคนบริจาคเงินและสละเวลาให้กับองค์กรการกุศล และเห็นคนที่ช่วยเป็นธุระให้กับคนเฒ่าคนแก่และเพื่อนบ้านที่สุขภาพไม่แข็งแรง ทุกคนได้ประโยชน์กันหมดไม่ว่าจะเป็นคนที่ถูกช่วยเหลือหรือตัวอาสาสมัครเอง

ผมเคยเห็นความร่วมมือร่วมใจของมนุษยชาติจนสามารถเอาชนะปัญหาที่ยากเย็นเกินจินตนาการมานักต่อนักแล้ว และผมก็มั่นใจว่าเราจะสามารถเอาชนะวิกฤติครั้งนี้ได้เช่นกันหากเราร่วมมือและทำงานกันเป็นทีม

อ้อ แล้วก็อย่าลืมล้างมือบ่อยๆ ด้วยล่ะ

—–

ขอบคุณเนื้อหาจากหนังสือพิมพ์ The New York Times: I Spent a Year in Space, and I Have Tips on Isolation to Share by Scott Kelly

“ช้างกูอยู่ไหน” หนังสือเล่มใหม่ของผมวางแผงแล้วนะครับ ถ้าช่วงนี้ไม่สะดวกไปร้านหนังสือ ก็ซื้อได้ที่ whatisitpress.com ครับ

ติดตาม Anontawong’s Musings ทาง LINE: https://lin.ee/2VZMu59