ดีหรือเลวขึ้นอยู่กับบริบท

20190224_context

ค่ำวันนี้ ผมไปทานข้าวกับลูกๆ ภรรยา และพ่อแม่มาครับ

ร้านนี้ราคาค่อนข้างสูงแต่ก็ให้ปริมาณเยอะและรสชาติดีทุกจาน พอร์คช็อปติดมันเนื้อนุ่ม สเต็กเนื้อแกะก็สุกกำลังดี หรือสุกี้แห้งทะเลก็วัตถุดิบสดทุกอย่าง

ขากลับ พอถึงปากซอยตรงข้ามหมู่บ้าน แม่เปรยว่า 7-Eleven ที่เคยมีสองสาขาอยู่ใกล้กัน ตอนนี้สาขาที่เล็กกว่าปิดตัวไปเรียบร้อยแล้ว

ผมไม่รู้ว่าทั้งสองสาขานี้มีใครเป็นเจ้าของบ้าง แต่ก็อดไม่ได้ที่จะนึกถึงเรื่องราวที่เคยได้ยินมา ว่าหากใครซื้อแฟรนไชส์ 7-Eleven ไปเปิดแล้วขายดี ซีพีก็จะลงไปเปิดเองอีกสาขาใกล้ๆ กัน เพียงแต่จะทำให้ดีกว่า ใหญ่กว่า จนร้านที่อยู่มาก่อนสู้ไม่ไหวและปิดตัวไป

—–

เมื่อวานซืน ผมอ่านเจอคำถามใน Quora ว่ามีใครที่จะพอขึ้นมาแข่งกับ Amazon ได้มั้ย

คำตอบคือแทบจะเป็นไปไม่ได้

เคยมีเว็บขายอุปกรณ์เด็กอย่าง diapers.com ที่กำลังไปได้สวย Amazon จึงติดต่อเพื่อขอซื้อเว็บนี้ แต่เจ้าของปฏิเสธ

สิ่งที่ Amazon ทำก็คือการใช้เงินซื้อโฆษณา Adwords เพื่อให้คนที่กูเกิ้ลสินค้าเด็ก เจอเว็บ Amazon ก่อน แถม Amazon ยังขายของเหมือนกับของที่คนเห็นใน diapers.com แต่ราคาถูกกว่ากันมาก จนแย่งลูกค้าของ diapers.com ไปเกือบหมด

Amazon สายป่านยาว จึงพร้อมยอมขายราคาขาดทุนเพื่อบีบให้ diapers.com ขายไม่ออก ภายในเวลาเพียง 6 เดือนเจ้าของ diapers.com จึงต้องยอมขายเว็บนี้ให้กับ Amazon และเว็บ diapers.com ก็ถูกปิดตัวลงในเวลาต่อมา

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกและไม่ใช่ครั้งสุดท้ายที่ Amazon ทำแบบนี้

—–

สองสัปดาห์ที่แล้ว “อาจารย์ป้า” ซึ่งเป็นเจ้าของตึกที่บริษัทของผมเช่าอยู่ จัดงานเลี้ยงโต๊ะจีนและเชิญผมไปร่วมรับประทานอาหารด้วย

พอเห็นผมช่วยแฟนเลี้ยง “ปรายฝน” ลูกสาววัยสามขวบ อาจารย์ป้าก็เปรยขึ้นมาว่า ผู้ชายสมัยนี้นี่ดีนะ ช่วยภรรยาเลี้ยงลูก สมัยป้าเลี้ยงลูก สามีป้าไม่เคยช่วยป้าเลย

—–

หลายคนอาจเคยได้ยินเรื่องราวเหลือเชื่อของคุณหมออาจินต์ บุณยเกตุ

คุณหมอป่วยเป็นไมเกรนหนักมาก กินยาเท่าไหร่ก็ไม่หายจนสุดท้ายต้องเข้าโรงพยาบาล

ระหว่างที่นอนทรมานกับอาการปวดหัวอยู่นั้น คุณหมอก็เห็นเด็กผู้หญิงคนหนึ่งเดินมาหาที่เตียง ทั้งๆ ที่คนรอบตัวหมอไม่มีใครมองเห็นเด็กคนนี้เลย

เธอบอกกับหมอว่าในอดีตชาติเธอกับหมอเคยเป็นพ่อลูกกัน ในชาติล่าสุดเธอมีชื่อว่า พิมพวดี โหสกุล จมน้ำตายตั้งแต่ 9 ขวบ บัดนี้เธอมาช่วยพ่อ พอเธอเอามือวางบนจุดที่เป็นไมเกรน อาการปวดหัวก็ค่อยๆ หายไป

เมื่อไหร่ก็ตามที่หมอปวดหัวจนทนไม่ไหว ก็จะเรียกหาพิมพวดี และเธอก็จะมาปรากฎตัวทุกครั้ง หมอเอ่ยปากถามว่าเหตุใดพ่อถึงต้องมาปวดหัวเช่นนี้ พิมพวดีก็บอกว่าเพราะเป็นเพราะกรรมที่พ่อก่อไว้

หมอเถียงว่าเขาไม่เคยคิดทำร้ายใคร ช่วยคนมาทั้งชีวิตด้วยซ้ำ

พิมพวดีเลยตอบว่า ไม่ใช่วิบากจากชาตินี้ แต่เป็นผลจากสมัยรัชกาลที่ 3 ที่หมอเคยเป็นราชมัลหรือคนสอบสวนผู้ต้องหา ราชมัลไขเครื่องบีบขมับผู้ต้องหาที่ไม่ยอมรับสารภาพและสร้างความทรมานอย่างแสนสาหัส ก่อนสิ้นใจผู้ต้องหาได้ลั่นวาจาไว้ว่า “กูจะจองล้างจองผลาญทุกชาติไป”

——

Sapiens ตอนที่ 16 – สวัสดีทุนนิยม ฉายให้เห็นภาพของการค้าทาสในยุคล่าอาณานิคมได้อย่างชัดเจน

หลังจากทวีปอเมริกาถูกค้นพบ หนึ่งในธุรกิจที่เฟื่องฟูที่สุดคือการทำไร่อ้อย คนยุโรปจึงเข้าถึงน้ำตาลได้ในราคาที่ถูกลงมาก ต้นศตวรรษที่ 17 ไม่มีชาวอังกฤษคนไหนบริโภคน้ำตาลเลย แต่ในศตวรรษที่ 19 ชาวอังกฤษบริโภคน้ำตาลถึงปีละ 8 กิโลกรัม

น้ำตาลนั้นมาจากต้นอ้อย แต่การทำไร่อ้อยนั้นเป็นสิ่งที่ไม่มีใครอยากทำ เพราะต้องตากแดดแถมยังมีโอกาสสูงที่จะเป็นโรคมาเลเรียอีกด้วย หากจะยอมจ่ายเงินจ้างใครมาย่อมจะทำให้ต้นทุนสูงเกินไป

พ่อค้าหัวใสก็เลยพบทางออกด้วยการใช้แรงงานทาส

ในช่วงศตวรรษที่ 16-19 ชาวแอฟริกาถึง 10 ล้านคนถูกขายไปเป็นแรงงานทาสในอเมริกา โดย 70% ของคนเหล่านั้นถูกส่งมาทำงานในไร่อ้อย เรารู้กันดีอยู่แล้วว่าทาสเหล่านี้มีชีวิตที่แย่แค่ไหน ต้องถูกกดขี่ข่มเหงราวกับเขาไม่ใช่มนุษย์เพียงเพื่อให้คนยุโรปได้จิบชากาแฟใส่น้ำตาล

การขายแรงงานทาสนี้ไม่ได้ถูกจัดระเบียบโดยรัฐบาลประเทศไหนเลย มันเป็นเรื่องทางการค้าล้วนๆ บริษัทค้าทาสมากมายขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ในกรุงลอนดอน ปารีส และอัมเสตอร์ดัม เพื่อนำเงินไปซื้อเรือ หาลูกเรือและทหาร จากนั้นจึงแล่นเรือไปซื้อทาสในแอฟริกา นำทาสไปขายให้กับเจ้าของสวนอ้อยในอเมริกา นำเงินนั้นไปซื้อน้ำตาล เมล็ดกาแฟ โกโก้ ยาสูบ แล้วนำกลับมาขายทำกำไรในยุโรปก่อนจะออกเรือใหม่อีกครั้ง ธุรกิจค้าทาสเป็นธุรกิจที่ทำกำไรดี และผู้ถือหุ้นบริษัทเหล่านี้จะได้ผลตอบแทนเฉลี่ยปีละ 6%

นาซีและสงครามครูเสดฆ่าคนไปมากมายเพราะความเกลียดชัง แต่ทุนนิยมนั้นฆ่าคนไปมากมายเพราะความโลภและความเมินเฉย การค้าทาสไม่ได้เกิดจากการเหยียดสีผิวหรือความรังเกียจต่อคนแอฟริกา จริงๆ แล้วเจ้าของไร่อ้อยแทบไม่เคยเจอทาสเหล่านี้ด้วยซ้ำเพราะเจ้าของส่วนใหญ่ไม่ได้อาศัยอยู่ในไร่อ้อย สิ่งเดียวที่เขาสนใจคือตัวเลขในบัญชีกำไรขาดทุน ส่วนผู้ถือหุ้นบริษัทค้าทาสก็เป็นชนชั้นกลางคล้ายๆ กับเราที่เป็นคนจิตใจดี ทำงานสุจริต ชอบฟังเพลง แถมยังใจบุญสุนทานอีกด้วย

—–

เราอาจรู้สึกว่า Amazon นั้นใหญ่โตและแข็งแกร่งเกินไป คุกคามจนคู่แข่งอื่นไม่มีโอกาสโงหัว ส่วนซีพีก็ดูจะเลือดเย็นกับเจ้าของแฟรนไชส์เซเว่นเหลือเกิน

แต่คำถามคือคนที่คิดยุทธวิธีเช่นนี้เป็นคนเลวรึเปล่า?

อาจจะไม่ก็ได้ ทั้งสองบริษัทอยู่ในตลาดหุ้น และหน้าที่ของผู้บริหารก็คือการทำให้ผู้ถือหุ้นพึงพอใจ การสร้างการเจริญเติบโตและการทำกำไรเป็นครรลองของระบอบทุนนิยม เขาอาจไม่ได้คิดร้ายกับธุรกิจ SME แต่ด้วยขนาดขององค์กรและสภาพตลาดมันเอื้อให้เกิดสถานการณ์อย่างนี้ขึ้นเอง ไม่ต่างอะไรกับการค้าทาสที่ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะความเกลียดชังหรือถูกคนใจร้ายที่ไหนบงการ

ผมมีคนรู้จักอยู่ซีพีหลายคนและเขาก็ล้วนคนจิตใจดี ทำงานสุจริต ชอบฟังเพลง แถมยังใจบุญสุนทานอีกด้วย

การที่ผมช่วยเลี้ยงลูก แต่สามีอาจารย์ป้าไม่เคยช่วยเลี้ยงลูก ก็ไม่ได้หมายความว่าสามีอาจารย์ป้าเป็นคนที่ใช้ไม่ได้ แต่เพราะสมัยนั้นค่านิยมที่ว่าการเลี้ยงลูกเป็นหน้าที่ของแม่คนเดียวนั้นเป็นสิ่งที่คนส่วนใหญ่ยึดถือกันต่างหาก

คนธรรมดาที่เกิดในยุคปัจจุบันมีโอกาสน้อยมากที่จะทำร้ายใครจนเลือดตกยางออกหรือถึงแก่ชีวิต เพราะสภาพแวดล้อมหรือวิถีสังคมมันไม่ได้เอื้อให้เราทำแบบนั้น ผิดกับสมัยรัชกาลที่ 3 ที่ยังมีราชมัลคอยทรมานผู้ต้องหาอย่างทารุณ หรือสมัยกรุงศรีอยุธยาที่มีศึกสงครามอยู่เนืองๆ และผู้คนจำนวนไม่น้อยต้องจับดาบสู้รบเข่นฆ่าศัตรู

คนเราจะดีจะร้าย จะก่อกรรมดีหรือกรรมชั่ว จึงไม่ได้ขึ้นอยู่กับเจตนาหรือสันดานของคนๆ นั้นแต่เพียงอย่างเดียว แต่ยังขึ้นอยู่กับบริบทและค่านิยมของสังคมนั้นด้วย

เราอาจจะเชื่อว่าเราเป็นคนดีแล้ว โดยถือเอาว่าเราไม่เคยทำร้ายใคร ใช้ชีวิตถูกต้องตามระเบียบสังคมและกฎหมาย

แต่อีก 100 ปีข้างหน้า คนรุ่นโหลนอาจมองว่าคนรุ่นเราโหดร้ายป่าเถื่อนก็ได้

ในวันที่เทคโนโลยีก้าวล้ำจนเราสามารถสังเคราะห์พืชให้มีรสชาติเหมือนเนื้อสัตว์

ในวันที่คนรวมร่างกับเครื่องมือต่างๆ จนเป็นไซบอร์กและ “อิ่มได้” ด้วยพลังงานแสงอาทิตย์

วันนั้น มนุษย์ไม่จำเป็นต้องฆ่าปศุสัตว์ปีละหลายพันล้านตัวเพื่อนำมาเป็นอาหารอันโอชะอีกต่อไป

ในปี 2119 หากมีคนผ่านมาเห็นย่อหน้าที่สองของบทความนี้

“พอร์คช็อปติดมันเนื้อนุ่ม สเต็กเนื้อแกะก็สุกกำลังดี หรือสุกี้แห้งทะเลก็วัตถุดิบสดทุกอย่าง”

เขาจะมองผมด้วยสายตาเช่นไร?

—–

เปิดรับสมัคร Time Management รุ่นที่ 12 วันเสาร์ที่ 9 มีนาคมนี้ อ่านรายละเอียดได้ที่ bit.ly/tgimtimemar19 (เหลือ 12 ที่)

ทำดีเทวดาเห็น

20181219c

และเทวดาที่ว่าก็ไม่ใช่จิตวิญญาณเบื้องบนที่สอดส่องลงมา

แต่เป็นเทวดาที่อยู่ในใจเราเอง

ใจที่มีทั้งเทวดาและมาร

ความดีเป็นอาหารของเทวดา แต่เป็นของแสลงของมาร

ทำดีบ่อยๆ เทวดาในใจก็จะเติบโต

ทำชั่วบ่อยๆ มารในใจก็จะเติบโต

เราเลือกเองได้ว่าจะให้อาหารกับเทวดาหรือกับมารในใจเราครับ

—–

บทความวันละตอนจาก Anontawong’s Musings:

LINE: bit.ly/tgimline

Facebook: bit.ly/tgimfb

Twitter: bit.ly/tgimtwt

ในนามของความดี

20180804_goodness

ผมคิดว่าคนส่วนใหญ่เชื่อว่าตัวเองเป็นคนดี

แต่การเป็นคนดีหรือการเชื่อว่าตัวเองเป็นคนดีนั้นเป็นอันตราย เพราะเรามีแนวโน้มที่จะยกตนเหนือท่าน

เมื่อคนอื่นมีความคิดหรือโลกทัศน์ที่ไม่สอดคล้องกับเรา เราก็จะมองว่าคนเหล่านั้นเป็นคนไม่ดี และคนไม่ดีก็คือศัตรูคนดีๆ อย่างเรา

ถ้ามองย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์ มนุษย์เราสร้างความทุกข์เข็ญไว้มากมาย และความทุกข์เข็ญเหล่านั้น เกิดจากคนที่เชื่อว่าตัวเองทำสิ่งที่ดี ทำสิ่งที่ถูกต้องอยู่

1095-1291: สงครามครูเสดที่กินเวลานับ 200 ร้อยปีและคร่าชีวิตคนไปนับแสนคน ก็เกิดจากการต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งดินแดนศักดิ์สิทธิ์เยรูซาเล็ม แต่ละฝ่ายต่างทำเพื่อพระเจ้าที่ถูกต้องเที่ยงแท้เพียงหนึ่งเดียวของตน

1939-1945: ในสงครามโลกครั้งที่สอง นาซีเข่นฆ่ายิวไปหลายล้านคน เพราะนาซีเชื่อว่าเผ่าพันธุ์อารยันของตนเองนั้นเป็นเผ่าพันธุ์ที่มีวิวัฒนาการสูงสุดและจำเป็นต้องได้รับการปกป้อง ในขณะที่ชาวยิว ชาวโรม เกย์ และคนที่ป่วยทางจิตนั้นจะต้องถูกกักขังหรือแม้กระทั่งโดนกวาดล้าง (อ่านเพิ่มเติมได้ใน Sapiens ตอนที่ 12 – ศาสนไร้พระเจ้า)

2003-2006: ในการ์ตูนเรื่อง Death Note พระเอกที่ชื่อ ยางามิ ไลท์ เก็บสมุดเด๊ธโน๊ตที่ยมฑูตทำตกเอาไว้ หากเขียนชื่อใครลงไป คนๆ นั้นก็จะตาย ไลท์ ซึ่งหัวดีและรักความถูกต้อง จึงตั้งตนเป็น “คิระ” (Kill) และเขียนชื่ออาชญากรตัวฉกาจหลายต่อหลายคนลงในเด๊ธโน๊ต ด้วยความตั้งใจว่าเมื่ออาชญากรทยอยกันล้มตายและเป็นข่าวครึกโคม ก็จะไม่มีใครกล้าทำผิด แล้วโลกก็จะเข้าสู่ดินแดนพระศรีอาริย์อย่างแท้จริง แต่คิระกลับกลายเป็นอาชญากรที่ทั่วโลกต้องการตัวเสียเอง จนเขา “จำเป็น” ต้องฆ่าคนที่เป็นอุปสรรคต่ออุดมการณ์ของคิระ ซึ่งหนึ่งในนั้นรวมถึงพ่อของตัวเอง

คนที่คิดว่าตัวเองกำลังทำชั่วอยู่นั้นทำชั่วได้ไม่มากนักหรอก

มีแต่คนที่คิดว่าตัวเองกำลังทำดี-ทำสิ่งที่ถูกต้องเท่านั้น ที่จะก่อกรรมทำเข็ญต่อคนจำนวนมากได้

อยากเป็นคนดีไม่ว่ากัน แต่อย่าตั้งตนเป็นคนดี เพราะเราอาจกลายเป็นคนที่เลวร้ายได้อย่างไม่น่าเชื่อครับ

ฉันมันไม่ดีตรงไหน

20180605_howhaveiwrongedyou

เป็นคำถามที่ไม่สร้างสรรค์

แถมยังอาจไม่จริงใจอีกด้วย

“ฉันมันไม่ดีตรงไหน” เป็นคำถามที่มีนัยว่า ฝ่ายหนึ่งผิด ฝ่ายหนึ่งถูก

ดูเผินๆ เหมือนจะบอกว่า ฉันมันผิดเอง เธอเป็นฝ่ายถูก ดังนั้นช่วยบอกฉันทีสิว่า ฉันผิดตรงไหน ฉันมันไม่ดียังไง

แต่ถ้ามองลงไปอีกชั้นหนึ่ง ก็จะพบว่าคนที่พูดคำนี้ คือคนที่มั่นใจว่าตัวเองทำดีมาทุกอย่าง ทำถูกมาทุกอย่างแล้ว จึงไม่เข้าใจว่าทำไมเธอถึงยังไม่รักฉันอีก ดังนั้น เธอนั่นแหละที่ตัดสินใจผิด

ซึ่งอาจจะไม่ใช่เลยก็ได้

เพราะเรื่องบางเรื่องมันไม่เกี่ยวกับดีหรือไม่ดี มีแค่เหมาะหรือไม่เหมาะ

แทนที่จะถามว่า ฉันมันไม่ดีตรงไหน คำถามที่อาจสร้างสรรค์กว่าก็คือ เราไม่เหมาะกันตรงไหน

เปลี่ยนจากฉันเป็นเรา เปลี่ยนจากดีเป็นเหมาะ

แล้วคราวนี้มันก็จะไม่ใช่เรื่องใครผิดใครถูก ไม่ใช่เรื่อง subjective แต่เป็นเรื่อง objective เช่นนิสัยบางอย่างหรือรสนิยมบางเรื่องที่ไม่ตรงกัน

เราไม่ได้ไปต่อด้วยกัน ไม่ใช่เพราะว่าเธอไม่ดี หรือฉันดีเกินไป แต่เพียงเพราะว่าเราไม่เหมาะกัน ก็เท่านั้นเอง

“เธอ” ในที่นี้อาจจะเป็นสาวงาม หนุ่มเซอร์ ลูกค้า หรือแม้กระทั่งบริษัทเราใฝ่ฝันอยากร่วมงานก็ได้

เพราะฉะนั้นเลิกถามได้แล้วว่าฉันมันไม่ดีตรงไหน หาให้เจอว่าเราไม่เหมาะกันยังไง ถ้าปรับได้ก็ปรับ แต่ถ้าปรับไม่ได้ก็วางมันลงแล้วดำเนินชีวิตของเราต่อไปเท่านั้นเอง

—–

หาซื้อหนังสือ Thank God It’s Monday ขอบคุณโลกนี้ที่มีงานประจำ ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 3 ได้ที่ Zombie Books RCAร้านหนังสือเดินทาง ถ.พระสุเมรุ, ซีเอ็ด นายอินทร์ B2S ศูนย์หนังสือจุฬา คิโนะคุนิยะ เอเชียบุ๊คส์  และร้านหนังสือทั่วไปครับ

ถ้าอยากให้คนจดจำ

20171029_remember

จงทำในสิ่งที่เราไม่ต้องทำก็ได้

เดือนกันยายน พ.ศ.2537 หลังจากเรียนจบม.3 เทอมต้นที่เตรียมพัฒน์ ผมก็เดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลไปอยู่เมืองเล็กๆ ชื่อเทมูก้า ประเทศนิวซีแลนด์ ทันเปิดเทอมสองของที่นั่นพอดี

วิชาที่ได้เรียนก็เช่นวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ สังคมศึกษา ฯลฯ รู้เรื่องบ้าง ไม่รู้เรื่องบ้าง เพราะทักษะภาษาอังกฤษของผมยังอ่อนด้อยยิ่งนัก

เรียนไปได้ไม่ถึงสามเดือน ก็ต้องสอบไล่ประจำปี (ที่นิวซีแลนด์ ปีการศึกษาจะจบกลางเดือนธันวาคม) ที่สำคัญคือข้อสอบนั้นมีเนื้อหาของเทอมแรกที่ผมไม่ได้เรียนอยู่ด้วย

ปรากฎว่าผมสอบตกทุกวิชา ยกเว้นวิชาเลข

ที่นิวซีแลนด์ เวลาตรวจข้อสอบเสร็จ อาจารย์เขาจะแจกกระดาษคำตอบคืนให้นักเรียนด้วย เห็นแต่ละวิชาที่ได้ไม่กี่สิบคะแนนจากคะแนนเต็มร้อยก็ปวดใจไม่น้อย

วิชาสุดท้ายที่ผมได้คะแนนสอบคืนมาคือวิชาเศรษฐศาสตร์ (Economics) ซึ่งสอนโดยมิสเตอร์แชนนอน (Mr.Shannon) ถ้าจำไม่ผิดผมน่าจะได้ประมาณสามสิบกว่าคะแนน

พอหมดชั่วโมงซึ่งเป็นวิชาสุดท้ายของวัน แทนที่จะปล่อยให้ผมกลับบ้าน มิสเตอร์แชนนอนกลับบอกให้ผมอยู่ต่อ

หลังจากนักเรียนทุกคนออกจากห้องไปหมดแล้ว มิสเตอร์แชนนอนก็เดินมานั่งลงข้างๆ ผม แล้วชมว่า “You’ve done well, young man”

ในขณะที่ผมกำลังงงว่าหูฝาดไปรึเปล่า มิสเตอร์แชนนอนก็เปิดข้อสอบขึ้นมาให้ดูอีกครั้ง ชี้ไปที่กระดาษคำตอบของผม และอธิบายให้ฟังทีละข้อว่า ตรงไหนที่ผมทำถูก ตรงไหนที่ผมทำเกือบถูก หรือถ้ามีจุดที่ผมทำพลาดมันเกิดจากอะไร

มิสเตอร์แชนนอนใช้เวลากับผมร่วมครึ่งชั่วโมง เมื่อทบทวนคำถามข้อสุดท้ายเสร็จ เขาก็ทิ้งทวนว่า มาอยู่สามเดือนทำได้ขนาดนี้ถือว่าดีมากๆ แล้ว ไอมั่นใจว่าปีหน้ายูจะทำคะแนนได้ดีแน่นอน

ลองนึกภาพห้องเรียนที่มีเพียงอาจารย์ฝรั่งตัวโตคนหนึ่งใช้เวลาหลังเลิกเรียนนั่งอยู่กับเด็กตัวเล็กๆ จากแดนไกลเพื่อดึงความมั่นใจและความเคารพตัวเองของเด็กคนนั้นกลับคืนมา มันจะมีความหมายแค่ไหน?

ก็มีความหมายขนาดที่ว่า แม้เวลาจะผ่านไป 23 ปีแล้วผมยังจำภาพในวันนั้นได้ราวกับมันเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อวานนี้เอง

และต่อให้เวลาผ่านไปอีกซักกี่สิบปี ผมก็มั่นใจว่าจะยังจำเหตุการณ์นี้ได้แน่นอน และคงจะเล่าให้ลูกให้หลานฟังด้วย

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงเพราะอาจารย์คนหนึ่งได้ลงมือทำในสิ่งที่เขาไม่ต้องทำก็ได้

—–

เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2554 บริษัทรอยเตอร์ซอฟท์แวร์ประเทศไทยกำลังจะมีอายุครบ 10 ปี

ผมคิดถึง “ฟิลลิป” และ “สจ๊วต” สองผู้บริหารระดับสูง ที่แม้ตัวจะอยู่ที่อเมริกาและอังกฤษ แต่ก็มีลูกทีมอยู่ในเมืองไทยร่วมพันคน

ผมคิดเล่นๆ ว่าถ้าในงานเลี้ยงครบรอบ 10 ปี พนักงานไทยได้รับข้อความแสดงความยินดีจากสองคนนี้ก็น่าจะเป็น “เซอร์ไพรส์” ที่ดี

ผมเลยส่งเมลหา “เมลินดา” ซึ่งเป็น Communication Manager ที่ดูแลแผนกของฟิลลิปและสจ๊วต ถามว่าพอจะเป็นไปได้มั้ยที่เธอจะช่วยขอให้ทั้งสองช่วยพูดอะไรซักหน่อย เอาแค่ง่ายๆ สั้นๆ แล้วใช้มือถือถ่ายส่งมาให้ก็พอแล้ว

ปรากฎว่าเมลินดาลงทุนประสานงานหาทีมถ่ายวีดีโอมืออาชีพ จัดหางบประมาณสำหรับการถ่ายทำและตัดต่อวีดีโอมาให้ เขียนสคริปต์เป็นเรื่องเป็นราว แถมยังกำกับฟิลลิปและสจ๊วตด้วยตัวเธอเองอีกต่างหาก และวีดีโอนั้นก็ได้ถูกเปิดในงานเลี้ยงครบรอบตามที่ตั้งใจไว้

ผ่านไป 5 ปีแล้ว ทั้งผมและเมลินดาต่างก็ออกจากรอยเตอร์มาซักพักแล้ว แต่ผมก็ยังจำการทำเกินหน้าที่และเกินคำขอของเมลินดามาได้จนถึงวันนี้

—–

วันนี้ วันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ.2560 เป็นวันสุดท้ายของพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพในหลวงรัชกาลที่ 9

พระมหากษัตริย์ผู้ทรงงานหนักที่สุดในโลก

พระมหากษัตริย์ผู้ได้ทรงทำในสิ่งที่ท่านไม่ต้องทำก็ได้มาตลอด 70 ปีแห่งการครองแผ่นดินโดยธรรม

และด้วยเหตุผลนี้ แม้พระองค์ท่านจะเสด็จสู่สวรรคาลัยแล้ว แต่ผมเชื่อว่าเรื่องราวของพระองค์จะยังคงถูกเล่าขานในโลกมนุษย์นี้ไปอีกนับร้อยนับพันปีครับ