เมื่อถึงวัย 40 เราควรเริ่มสร้างภูมิคุ้มกัน

พี่อ้น วรรณิภา ภักดีบุตร CEO ของโอสถสภา และ mentor ของผมและเพื่อนอีกสองคนในโครงการ IMET MAX เคยบอกเราไว้ว่า วัยสี่สิบคือช่วงที่ดี เพราะเรามีประสบการณ์มากพอ ยังมีกำลังวังชา ลูกยังฟังเราอยู่ คนรอบตัวยังไม่เจ็บไม่ตาย นี่คือช่วงชีวิตที่เราสามารถทำอะไรได้อย่างเต็มที่ ในวัยนี้เราจึงควรมีเวลาได้คุยกับตัวเอง ตอบตัวเองให้ได้ว่าแท้จริงแล้วเราต้องการอะไร อะไรคือสิ่งสำคัญสำหรับเรา

หนึ่งในสิ่งที่ผมคิดว่าสำคัญเป็นอย่างยิ่งสำหรับช่วงวัยนี้ คือการสร้างภูมิคุ้มกันให้ตัวเองในทุกมิติ

1. ภูมิคุ้มกันทางการเงิน

เรื่องการลงทุนและเก็บเงินสำหรับวัยเกษียณทุกคนน่าจะเข้าใจกันดีอยู่แล้ว ผมจึงอยากเสริมประเด็นที่คนอาจไม่ค่อยคิดถึงเท่าไหร่นัก

นั่นคือการทำตัวให้ “ฆ่าไม่ตายทางการเงิน” หรือ financially unbreakable เหมือนที่ Morgan Housel เขียนไว้ในหนังสือ The Psychology of Money

Housel บอกว่าเราควร invest like an optimist, save like a pessimist – ลงทุนอย่างคนมองโลกในแง่ดี และออมเงินแบบคนมองโลกในแง่ร้าย

เราควรมีเงินสดอยู่ในบัญชีมากเกินพอ เพราะถึงแม้ว่ามันจะไม่ได้สร้างผลตอบแทนให้เรา แต่ในวันที่เราจำเป็นต้องใช้มันจริงๆ มันจะคุ้มค่ามาก

อีกอย่างหนึ่งที่คนลงทุนอาจจะมองข้ามไป คือการ cap the downside หรือจำกัดการสูญเสีย

ผมเพิ่งตัดสินใจซื้อประกันคุ้มครองโรคร้าย โดยหวังว่าจะ “ขาดทุน” คือไม่ต้องใช้มันเลย แต่หากเกิดโชคร้ายป่วยหนักขึ้นมา ต้องเสียเงินรักษาตัวเป็นหลักล้าน ประกันนี้ก็น่าจะครอบคลุมค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น ไม่สร้างภาระให้คนที่เรารักและรักเราต้องเดือดร้อน

การซื้อประกันสุขภาพคือ downside protection เสียเงินแน่ๆ ปีละเป็นหมื่น แต่มันคือการเสียที่เรารับได้และจัดการได้

หลายคนไม่ยอมซื้อประกันเพราะรู้สึกว่า “ซื้อทิ้ง” คิดว่าตัวเองคงไม่เป็นอะไรหรอก ซึ่งถ้ามองให้ลึกไปกว่านั้น มันคือความเชื่อฝังลึกของมนุษย์ที่ชอบคิดว่าตัวเองเป็นข้อยกเว้น ชอบคิดว่าตัวเองเป็นคนพิเศษ ชอบคิดว่าเรื่องร้ายๆ จะเกิดกับคนอื่นแต่จะไม่เกิดกับเรา ซึ่งในแง่หนึ่งมันก็ทำให้เรามีกำลังใจในการใช้ชีวิต แต่ในอีกแง่หนึ่งมันคือการหลอกตัวเอง และจะหยุดหลอกได้ก็ต่อเมื่อโดนความจริงอันโหดร้ายตบหน้า และเตือนให้เราตระหนักว่าเราเป็นเพียงคนธรรมดาอีกคนหนึ่งเท่านั้น


2. ภูมิคุ้มกันทางอัตลักษณ์

เรื่องนี้ไม่ค่อยมีคนพูดถึง แต่วัยสี่สิบคือวัยที่กำลังโลดแล่นในหน้าที่การงาน บางคนได้เป็นผู้บริหารระดับสูง บางคนเป็นเจ้าของธุรกิจที่กำลังเติบโต และเราก็มักจะใช้ช่วงชีวิตนี้กับการ “ลงทุนในหน้าที่การงาน” มาก – จนอาจจะมากเกินไป

ในโลกที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอน บริษัทที่เคยใหญ่คับฟ้าในปีนี้อาจตกที่นั่งลำบากในปีหน้า นามบัตรที่เคยบอกตำแหน่งของเราอาจกลายเป็นแค่แผ่นกระดาษที่ใช้ประโยชน์อะไรไม่ได้

หากเรานิยามตัวเองโดยใช้งานที่เราทำเป็นตัวตั้งแต่เพียงอย่างเดียว ในวันที่เราสูญเสียงานของเราไป ไม่ว่าจะเร็วๆ นี้หรือในปีที่เราเกษียณ เราอาจหลงทางเพราะไม่เหลืออะไรให้ยึดเหนี่ยว

ดังนั้น เราควร diversify อัตลักษณ์ของตัวเอง อย่าให้งานประจำเป็นเพียงสิ่งเดียวที่นิยามเราได้

เราควรจะมีชีวิตนอกที่ทำงาน เป็นนักเรียนโยคะ เป็นนักวิ่ง เป็นบล็อกเกอร์ เป็นลูก เป็นพ่อเป็นแม่ เป็นสมาชิกชมรม หรือเป็นอะไรก็ตามที่เอื้อให้เราสวมบทบาทที่หลากหลาย เพราะในวันที่เราสูญเสียอัตลักษณ์หลักของเรา เรายังมีอัตลักษณ์รองเหล่านี้เป็นที่พึ่งพิง


3. ภูมิคุ้มกันทางสุขภาพ

ความแข็งแรงทางกายของเราจะพุ่งสู่จุดสูงสุดในช่วงยี่สิบปลายๆ หรือสามสิบต้นๆ นี่คือเหตุผลที่นักกีฬาอาชีพแทบทุกประเภทจะเกษียณก่อนอายุ 40

สำหรับคนปกติที่ไม่ได้เล่นกีฬาในระดับสูงสุด เราอาจไม่ได้รู้สึกว่าร่างกายของเราต่างออกไปมากนัก แถมเรายังชอบคิดเข้าข้างตัวเองว่าร่างกายของเรายังเหมือนตอนหนุ่มสาว ก็เลยยังใช้ชีวิตแบบเดิม กินแบบเดิม บ้างานแบบเดิม

ทำให้ผมนึกถึงเพลง “ทรัพย์สินออกไป” ของวงอพาร์ตเมนต์คุณป้า

“ทำงานโอทีมาเกือบ 40 ปี จนเก็บเงินได้เป็นสิบๆ ล้าน
พอเกษียนออกมา เราก็ผลาญมันไปกับค่ารักษาพยาบาล
ไหนจะโรคหัวใจ ไหนจะโรคความดัน โรคข้อ โรคกระดูก โรคไต
ความเครียดมันโจมตี สุขภาพไม่เคยดี มีมะเร็งในลำใส้ใหญ่”

วัยสี่สิบปี คือช่วงชีวิตที่เราต้องหันมาสนใจสุขภาพอย่างจริงจัง หนึ่งเพราะว่าเรายังมีแรง สองเพราะว่าเรายังมีเงิน สามเพราะว่ายังมีเวลาพอที่จะ “สะสมสุขภาพ” เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับวัยชรา

ส่วนคนที่บอกว่าชีวิตช่วงนี้ยุ่งมาก ไม่มีเวลาออกกำลังกาย นั่นเป็นเพราะว่าเรายังไม่เห็นสุขภาพเป็นเรื่องสำคัญ หากเราเห็นอะไรเป็นเรื่องสำคัญอย่างแท้จริง เราจะมีเวลาให้มันเอง


4. ภูมิคุ้มกันทางความสัมพันธ์

พี่ตูน บอดี้แสลม เคยให้สัมภาษณ์ไว้ในนิตยสาร a day เล่มที่ 166

“คนดีๆ สักคนสองคนที่เรียกได้ว่าเป็นพี่น้องกัน พร้อมที่จะอยู่ด้วยกันในวันที่ลำบากนี่มันดีกว่าชื่อเสียงเงินทองอีกนะ เรารู้แล้วว่าในวันที่เราป่วยใครจะพาเราไปหาหมอ สมมติเรามีเงินมากมายแต่ไม่มีตรงนี้ ผมก็ไม่เอา”

เวลาผมสอนเรื่อง time management ให้น้องที่บริษัท ผมจะบอกเขาเสมอว่าเขาต้องดูแลตัวเองให้ดี และดูแลคนในครอบครัวให้ดี อย่าบ้างานจนทอดทิ้งคนที่ใกล้ชิด เพราะถึงเวลาที่เขาป่วย ต้องล้มหมอนนอนเสื่อหรือนอนโรงพยาบาล ไม่มีใครในบริษัทไปนอนเฝ้าไข้หรอกนะ คนที่จะคอยดูแลเราคือคนในครอบครัว ดังนั้นจงอย่าละเลยคนเหล่านี้ เพราะเขาคือคนกลุ่มสุดท้ายที่จะอยู่กับเราอย่างแท้จริงในวันที่เราไม่สบาย

ผมรู้ว่ามันไม่ง่ายที่จะรักษาความสัมพันธ์ที่ดี เพราะเรามีเวลาและพลังงานที่จำกัด แค่จัดการเรื่องงานให้ดี จัดการเรื่องเงินให้ดีก็ตึงมือมากพออยู่แล้ว

คำแนะนำที่ผมพอจะมี คือได้แค่ไหนก็เอาแค่นั้น และเวลาที่ได้อยู่กับคนที่เรารัก ก็จงอยู่กับเขาอย่างแท้จริง ใช้เวลาที่น้อยนิดให้มีคุณภาพ เราไม่ต้องทำอะไรที่มันถูก แค่อย่าทำอะไรที่มันผิดก็พอ


5. ภูมิคุ้มกันความทุกข์

ตั้งแต่เด็กเราถูกสอนว่าการเกิดแก่เจ็บตายเป็นเรื่องธรรมดา แต่เราก็รู้สึกว่ามันเป็นเรื่องไกลตัว

พออายุเกิน 40 ความแก่ ความเจ็บ ความตาย มันจะดู “จริง” และ “จับต้อง” ได้มากขึ้นเรื่อยๆ เวลาไปงานศพ เขาก็เชิญให้เรามานั่งแถวหน้า (ใกล้โลงศพ) บ่อยขึ้น

จะโดยรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม เราพยายามวิ่งหนีความแก่เจ็บตายด้วยการทาครีม ด้วยการฉีดโบท็อกซ์ ด้วยการย้อมผม ด้วยการบ้าออกกำลังกาย ด้วยการเป็นคน super productive เพื่อจะได้รู้สึกว่าชีวิตเรายังทำอะไรได้อีกเยอะ ชีวิตของเราไม่มีขีดจำกัด

แต่ความเป็นจริงก็คือชีวิตนั้นจำกัดเป็นอย่างยิ่ง แถมยังไร้ความแน่นอนเป็นอย่างยิ่ง ถ้าเราไม่ครุ่นคิดหรือศึกษาเรื่องการเผชิญหน้ากับความชราหรือการจากลาตั้งแต่ตอนนี้ ก็ไม่ต่างอะไรกับการรออ่านหนังสือคืนสุดท้ายก่อนสอบไฟนอล

แท้จริงแล้วยังมีภูมิคุ้มกันอื่นๆ ที่ผมยังไม่ได้พูดถึง แต่คิดว่าห้าข้อนี้น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี

ที่เขียนมาไม่ได้แปลว่าต้องรีบ แต่แปลว่าต้องเริ่ม และต้องมองให้ครบด้าน

ขอเป็นกำลังใจให้คนวัยสี่สิบทุกท่านในการสร้างภูมิคุ้มกันให้ตัวเองในทุกมิติครับ