แรดเทา หงส์ดำ และมังกรราชัน”อาละดินกับลัดไดต์”หนังสือที่คนเป็นพ่อเป็นแม่ควรได้อ่าน

Aladdin & Luddite | อาละดินกับลัดไดต์” เป็นหนังสือเล่มใหม่จาก openbooks หลังจากสำนักพิมพ์แห่งนี้ “จำศีล” ไปนานเกือบสามปี

อาละดินคือเจ้าของตะเกียงวิเศษที่สามารถเรียกยักษ์จินนี่ออกมารับใช้ตามที่ใจนายปรารถนา ปัญหาคือยักษ์จินนี่ที่มีชื่อว่าเอไอถูกเรียกออกมา และไม่อาจส่งกลับเข้าตะเกียงได้อีกต่อไป

ลัดไดต์ คือชื่อเรียกของกลุ่มช่างทอผ้าชาวอังกฤษช่วงต้นศตวรรษที่ 19 ที่ลุกขึ้นมาประท้วงการนำเครื่องจักรมาใช้ในโรงงาน เพราะกลัวว่ามันจะมาทำลายการเลี้ยงชีพของพวกเขา

การประท้วงของลัดไดต์บางกลุ่มรุนแรงถึงขั้นทำลายเครื่องจักร จนนำไปสู่การล้อมปราบของรัฐบาล ลัดไดต์จำนวนมากได้รับโทษจำคุก ประหารชีวิต หรือถูกส่งไปยังเมืองอาณานิคมอย่างออสเตรเลีย

ผมอ่านอาละดินกับลัดไดต์จบด้วยความอิ่มเอมและความกังวล

อิ่มเอม เพราะได้เห็นภาพใหญ่ที่พี่ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา บรรณาธิการคัดสรร (curator) ได้ร้อยเรียงเรื่องราวจากหนังสือเล่มหนา 5 เล่มของนักคิดนักเขียนระดับปรมาจารย์

กังวล เพราะรู้ตัวว่าหากไม่ลงมือทำอะไรที่ต่างออกไปตั้งแต่ตอนนี้ ผมอาจต้องมานั่งเสียดายในภายหลัง

หนังสือที่ปรากฎตัวใน Aladdin & Luddite ได้แก่

  1. World Order ของเฮนรี คิสซิงเจอร์ (Henry Kissinger) นักยุทธศาสตร์ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศผู้ทรงอิทธิพลที่สุดคนหนึ่งในโลก
  2. Doom ของนีลล์ เฟอร์กูสัน (Niall Ferguson) นักประวัติศาสตร์แถวหน้าของอังกฤษ
  3. The Technology Trap ที่นิตยสาร Financial Times ยกย่องให้เป็นหนังสือที่ดีที่สุดประจำปี 2019 ในหมวดเทคโนโลยี เขียนโดย คาร์ล เบเนดิกต์ เฟรย์ (Carl Benedikt Frey) นักประวัติศาสตร์เศรษฐกิจเทคโนโลยี
  4. Redesigning Work ของลินดา แกรตตัน (Lynda Gratton) อาจารย์ดีเด่นแห่งปีของ London Business School และผู้เขียนหนังสือ “ชีวิตศตวรรษ” (The 100-Year Life) ที่พิมพ์ไปแล้วนับล้านเล่ม
  5. The Metaverse – ของ คิมซังกยุน (Sangkyun Kim) หนึ่งในหนังสือที่สร้างปรากฏการณ์ในเกาหลี

เมื่อระเบียบโลกที่เราคุ้นเคยกำลังพังทลาย สัตว์มหัศจรรย์ทั้งหลายเริ่มปรากฎตัว ไม่ว่าจะเป็นแรดเทา (อันตรายที่เรามองเห็นและพอคาดเดาได้) หงส์ดำ (อันตรายที่เรามิอาจคาดการณ์) และมังกรราชัน (เหตุการณ์รุนแรงเกินจินตนาการ)

เทคโนโลยีที่มาใหม่ อาจเป็น labor-enabling technology ที่ช่วยให้เราทำงานได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น หรืออาจเป็น labor-replacing technology อย่างเครื่องทอผ้าที่ทำให้แรงงานฝีมือนั้นด้อยคุณค่าในข้ามคืน

เราจึงต้องวางแผนชีวิตและการงานของเราใหม่ ต้องเพิ่มทักษะเพื่อจะไม่ต้องเป็นลัดไดต์ที่ต่อต้านจักรกลและเอไอโดยไม่เห็นหนทางชนะ

การเรียนเต็มเวลา ทำงานเต็มเวลา และจบลงด้วยการเกษียณอาจไม่ตอบโจทย์ชีวิตอีกต่อไป เพราะเงินที่เรากันไว้ยามชราอาจไม่พอใช้สำหรับชีวิตที่อาจยืนยาวถึงหนึ่งร้อยปี

เมื่อ Metaverse แพร่หลายไปกว่านี้ เราจะมีตัวตนใหม่อยู่ในโลกคู่ขนานที่กำกับโดยเอไอ จนเราไม่อาจแน่ใจได้เลยว่า ตัวเองเป็นจวงจื่อที่ฝันว่าเป็นผีเสื้อ หรือเราเป็นผีเสื้อที่ฝันว่าเป็นจวงจื่อกันแน่

Aladdin & Luddites จึงเป็นเหมือน wake-up call ให้เราตื่นจากฝันและตื่นจากความชะล่าใจ เผลอคิดว่าอนาคตคือเส้นตรงที่ลากไปจากปัจจุบัน ทั้งที่จริงแล้วทุกอย่างกำลังเปลี่ยนไปในอัตราเร่ง

“เมื่อวิกฤติยังมาไม่ถึง
เรามีแนวโน้มที่จะประเมินสถานการณ์
ต่ำกว่าความเป็นจริง

เราจึงไม่คิดว่า
แรดเทา จะกลายเป็น หงส์ดำ
และ หงส์ดำ จะกลายร่าง
เป็น มังกรราชัน ได้…

เราจึงไม่ตัดสินใจกระทำการใหญ่
ได้แต่ผัดผ่อนการแก้ปัญหา
คล้ายการเตะกระป๋องไปเบื้องหน้า

ด้วยเชื่อว่าปัญหา
อาจจะมีใครบางคนช่วยคลี่คลาย
และเรื่องจริงคงไม่เลวร้ายขนาดนั้น

นี่คืออันตรายที่สุด
ในการเตรียมตัวรับมือวิกฤติ
ในทุกมิติของชีวิต”

อาละดินกับลัดไดต์ไม่ใช่หนังสือ How To มันไม่ได้ให้คำตอบสำเร็จรูป จริงๆ แล้วเมื่ออ่านจบแล้วเราจะมีคำถามมากกว่าเดิมด้วยซ้ำ

เราจะออกแบบชีวิตอย่างไรให้มีภูมิคุ้มกันจากแรดเทา หงส์ดำและมังกรราชัน?

เราควรลงมือทำสิ่งใดเพื่อลดโอกาสที่เราจะกลายเป็นลัดไดต์แห่งศตวรรษที่ 21?

เราจะให้การศึกษาอะไรกับลูกในวันที่ AI จะทำได้ดีกว่าลูกเราเกือบทุกอย่าง?

เป็นคำถามที่เราต้องสบตาและใช้เวลาขบคิดให้มาก ไม่อย่างนั้นเราอาจเสียแรงและเวลาอย่างผิดที่ผิดทางและเปล่าดาย

“เราจะรักษาความสัมพันธ์กับผู้คนได้อย่างไร
ในโลกที่เต็มไปด้วยความขัดแย้งแบ่งฝ่าย
ความเกลียดชัง ความเย้ยหยัน ความริษยา
และความปรารถนาอันไม่สิ้นสุด

อะไรคือการศึกษายุคใหม่
ที่เราต้องมอบให้ลูกหลาน
เพื่อเตรียมพวกเขาให้เข้าสู่โลกอนาคต
อนาคตซึ่งเราเองก็ไม่เข้าใจ…

นอกจากมีเงินเก็บเท่าไรจึงจะมั่นคง
เราอาจจะต้องคิดถึงคำถามใหม่ที่ว่า
เราจะรู้สึกมั่นคงได้อย่างไร
โดยไม่จำเป็นต้องมี
เงินเก็บมากมายตามตำรา”

ผมเชื่อว่า “อาละดินกับลัดไดต์” เป็นหนังสือที่คนเป็นพ่อเป็นแม่ควรได้อ่าน เผื่อว่ามันจะกระตุกให้เราได้หยุดคิดพิจารณา เริ่มวางแผนสำรองให้กับชีวิตและครอบครัว เพื่อเตรียมตัวกับอนาคตที่ไร้ซึ่งความแน่นอนครับ


ขอบคุณเนื้อหาและประกายความคิดจากหนังสือ Aladdin & Luddite | อาละดินกับลัดไดต์ ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา เรียบเรียง สำนักพิมพ์ openbooks (หนังสือมีสองปกคือสีฟ้าและสีส้มอมชมพู ขอบคุณภาพจากเพจ openbooks ครับ)

ทุกสิ่งที่เราทำคือการเตรียมของขวัญให้ตัวเองในอนาคต

20190627_gift

พอตื่นเช้า ไม่ต้องเสียเวลากับรถติด เราก็จะมีเวลา me time พอสมควร

วันนี้ผมได้ออกกำลังกาย 7 นาที ได้อ่านหนังสือ 20 นาที ได้เขียนไดอารี่ประจำวัน (พิมพ์ใส่ notepad) ได้กินน้ำอร่อยๆ และได้มานั่งเขียนบทความนี้

การออกกำลังกาย 7 นาทีนั้นทำได้เลยที่บ้าน ช่วยให้ร่างกายตื่นตัว มีแรงทำอะไรได้ทั้งวัน สลับกับบางวันที่ผมจะวิ่ง 5-10 กิโลเมตร เมื่อร่างกายดี จิตใจก็ดี ทำอะไรก็มักจะได้ดั่งใจ

ปีนี้ผมตั้งใจจะอ่านหนังสือมากขึ้น ด้วยการทำมันเป็นสิ่งแรกเมื่อเดินทางถึงที่ทำงาน เพราะรู้ตัวแล้วว่าถ้าเก็บไว้อ่านระหว่างวันหรือตอนกลางคืนก็มักจะไม่ได้อ่านเพราะงานยุ่งและลูกก็ต้องการเวลาจากเรา

ผมอ่านหนังสือเฉลี่ยปีละ 30-50 เล่มมาอย่างน้อย 15 ปีแล้ว แสดงว่าอ่านหนังสือไปไม่น้อยกว่า 500 เล่ม ซึ่งทำให้ผมมองอะไรๆ ได้ลึกขึ้น กว้างขึ้น เชื่อมโยงอะไรๆ ได้มากขึ้น ถ้าไม่ได้อ่านหนังสือ ก็คงไม่มีบล็อกชื่อ Anontawong’s Musings

ผมเพิ่งกลับมาเขียนไดอารี่ได้ไม่นาน ด้วยระลึกได้ว่ามันเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า เพราะสมองคนเราความจำแย่มาก 3 วันที่แล้วกินอะไรเป็นข้าวเที่ยงยังจำไม่ได้เลย แต่ถ้าเราจดลงสมุดหรือลงคอมพิวเตอร์มันจะอยู่กับเราไปอีก 3 ปีหรือแม้กระทั่ง 30 ปี

ส่วนการเขียนบล็อกวันละตอนที่เริ่มต้นเมื่อ 4.5 ปีที่แล้ว ก็นำพาโอกาสดีๆ เข้ามามากมาย รู้สึกขอบคุณตัวเองสุดๆ ที่วันนั้นได้ตัดสินใจทำสิ่งนี้

แล้วผมก็ปิ๊งขึ้นมาว่า ทุกสิ่งที่เราทำคือการเตรียมของขวัญให้ตัวเองในอนาคต

ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความสัมพันธ์กับคนสำคัญ ความใส่ใจในงานที่ตัวเองทำ หรือการค่อยๆ เดินตามความฝันวันละก้าว

ถ้าวันนี้เราทำสิ่งที่ดีมีคุณค่า กล่องของขวัญนี้ก็จะสวยงามขึ้นเรื่อยๆ

ถ้าวันนี้เราทำสิ่งที่ไร้แก่นสาร กล่องของขวัญก็จะไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง

และถ้าวันนี้เราทำสิ่งที่เป็นโทษ เราก็กำลังเอาเศษขยะมาทิ้งไว้ในกล่อง

สุดท้าย คนที่จะกลับมาเปิดกล่องนี้ก็คือตัวเราในอนาคต

ในวันนั้นที่เปิดกล่อง เขาจะกล่าวขอบคุณหรือกล่าวสบถ ก็ขึ้นอยู่กับเราในวันนี้แล้วครับ