ถ้าเรือล่มและที่นั่งบนเรือชูชีพไม่พอ เราจะตัดสินใจยังไงว่าใครจะอยู่ใครจะไป?

ผมไปอ่านเจอคำถามหนึ่งใน Quora ที่คิดว่าน่าสนใจเลยนำมาเล่าสู่กันฟังครับ

Question: ถ้าเรือกำลังจะจมและมีผู้โดยสาร 11 คน แต่บนเรือชูชีพนั่งได้แค่ 10 คน คุณจะใช้อะไรเป็นตัวตัดสินว่าใครจะได้ขึ้นเรือ และใครจะต้องถูกทิ้งไว้ข้างหลัง?

(The classic “lifeboat dilemma”, where there are only 10 spaces in the lifeboat, but there are 11 passengers on the sinking ship. What decision must be made as to who will stay behind?)

คำตอบมาจาก James Abbgy ที่ทำงานอยู่บนเรือสำราญ

ผมมีใบรับรองในการขับเรือชูชีพ

ปัญหาที่ผมมีกับคำถามข้อนี้คือคนถามไม่ได้มีความรู้เพียงพอ

เรือชูชีพที่ไหนกันมีแค่ 10 ที่นั่ง? เรือชูชีพของผมจุได้ 150 คน

ในเมนท์มีหลายคนแนะนำให้เวียนเอาคนลงไปแช่ในน้ำทีละคน แต่เรือชูชีพของผมเป็นเรือแบบปิด…แล้วก็มีพื้นที่ว่างด้านบนด้วย

ทำไมถึงมีที่นั่งบนเรือชูชีพไม่พอล่ะ? อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยความปลอดภัยแห่งชีวิตในทะเล (The International Convention for the Safety of Life at Sea) ระบุว่าต้องมีที่นั่งเพียงพอสำหรับทุกคนบนเรือ แถมยังต้องมีบัฟเฟอร์อีก 25% ด้วย!

ผู้โดยสายคนที่ 11 จะมีที่นั่งที่จัดเตรียมไว้แล้วบนเรือชูชีพอีกลำนึง แล้วทำไมเค้าถึงต้องมาอยู่บนเรือผม? ในกรณีที่เลวร้ายที่สุดผมคงนำผู้โดยสารขึ้นมาบนเรือแล้วให้เค้ารอที่จุดรวมพล ผมจะใช้วิทยุสื่อสารเพื่อหาว่าเรือลำไหนยังมีที่ว่าง จากนั้นก็ส่งเขาขึ้นเรือลำนั้น

แล้วทำไมต้องมีคนถูกทิ้งไว้ข้างหลังด้วย? สมมติว่าผมมีอาหารเพียงพอสำหรับ 10 วันสำหรับผู้โดยสาร 10 คน นั่นแปลว่าเราอยู่ได้ถึง 9 วันสำหรับผู้โดยสาร 11 คน การที่เราอยู่กลางทะเลได้น้อยลงหนึ่งวันไม่ใช่เรื่องใหญ่อะไรเลย เรือสำราญทุกลำจะมีระบบติดตาม และจะแล่นอยู่แต่ในเส้นทางที่มีเรือผ่านไปผ่านมาเท่านั้น ยังไงต้องมีเรือลำอื่นผ่านเส้นทางนี้ภายใน 9 วันแน่นอน

เรามีวิทยุสื่อสารและเครื่องส่งสัญญาณ และเส้นทางเดินเรือส่วนใหญ่จะไม่ได้ทำให้เราอยู่ห่างไกลจากชายฝั่งมากนัก เรือชูชีพมีเครื่องยนต์ดังนั้นผมอาจตัดสินใจขับเข้าชายฝั่งก็ได้ ไม่อย่างนั้นเราก็จะเอาเรือชูชีพสีเหลืองสดมาผูกรวมกันเพื่อให้ทีมช่วยเหลือพบเห็นพวกเราได้โดยง่าย

คำถามที่คุณถามจะเกิดขึ้นได้จริงก็ต่อเมื่อเรามีระบบฉุกเฉินที่ถูกออกแบบโดยไอ้งั่งที่ไม่เคยเรียนรู้จากอุบัติเหตุทางท้องทะเลในอดีต และถ้าเป็นอย่างนั้นจริง ผมเองนี่แหละที่จะขอถูกทิ้งไว้ข้างหลัง เพราะผมจะไม่ยอมขึ้นเรือแบบนั้นโดยเด็ดขาด

เอาล่ะๆ ผมเดาว่าเจตนารมณ์ของคำถามคือ “ไม่มีทางเลือกอื่น หนึ่งใน 11 คนนี้ต้องตาย และคุณต้องเลือกว่าใครจะต้องตาย” ผมมองว่ามันเป็นคำถามที่ไม่ creative เอาซะเลย ผมคิดไม่ออกเลยว่าจะเป็นไปได้ไงที่คุณจะมีของพร้อมทุกอย่างที่จะช่วยเหลือคนได้ 10 คน แต่กลับไม่มีทางออกที่จะช่วยเหลือผู้โดยสารคนที่ 11


ขอบคุณเนื้อหาจาก Quora: James Abbgy’s answer to The classic “lifeboat dilemma”, where there are only 10 spaces in the lifeboat, but there are 11 passengers on the sinking ship. What decision must be made as to who will stay behind?

อย่างนี้ก็ได้ด้วยเหรอ(วะ?)

20160906_possible

ประโยคนี้ ผมได้มาจากการดูดีวีดีคอนเสิร์ต Bodyslam ที่ตูนพูดถึงพี่ป๊อด โมเดิร์นด๊อก

ตูนบอกว่าพี่ป๊อดเป็นไอดอลของเขา เป็นคนเปิดโลกทัศน์ของการเป็นนักร้อง

สมัยเรียนหนังสือ ตูนได้ดูพี่ป๊อดออกคอนเสิร์ตแล้วลงไปชักดิ้นชักงอยู่กลางเวที ตูนก็อุทานกับตัวเองว่า “อย่างนี้ก็ได้ด้วยเหรอ(วะ?)”

หรือบางครั้ง ป๊อดร้องเพลงอยู่ดีๆ ก็กระโดดขึ้นไปปีนเสาไฟ ตูนก็ถามตัวเองว่า “อย่างนี้ก็ได้ด้วยเหรอ(วะ?)”

ที่ประโยคนี้ติดอยู่ในใจผมมานาน เพราะผมรู้สึกว่า มันช่วยเตือนสติเราดี

ว่าเราอาจกำลังติดอยู่ในกรอบที่เราเองไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามีอยู่

บางครั้ง สิ่งที่เราต้องการ ก็แค่ใครบางคนมาโชว์ให้เห็นว่า เฮ้ย มันทำอย่างนี้ก็ได้นี่หว่า ที่ผ่านมาเราคิดไปเองว่าทำไม่ได้ เพราะเราได้ตั้งสมมติฐานที่ปิดกั้นความเป็นไปได้นั้นโดยไม่รู้ตัว

ขอยกตัวอย่างที่ผมพอจะคิดออก

ถ้าเข้าใจไม่ผิด ในโลกอินเตอร์เน็ตก่อนปี 2009 นั้น วิธีการเดียวที่เราจะมีส่วนร่วมกับเนื้อหาในแต่ละหน้าได้ คือการกดปุ่ม Comment แล้วเขียนอะไรลงไป

แม้กระทั่งเฟซบุ๊คเองก็เป็นเช่นนั้น คือถ้าใครอยากจะแสดงความชอบใจในรูปของเพื่อน ก็ต้องเข้าไปคอมเม้นท์ด้วยถ้อยคำ

จนกระทั่งวันที่ 9 กุมภาพันธ์ปี 2009 เฟซบุ๊คก็เปิดตัวปุ่ม Like 

และโลกอินเตอร์เน็ตก็ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป เพราะนั่นเป็นครั้งแรกที่เราสามารถแสดงความเห็นได้โดยไม่ต้องแตะคีย์บอร์ด

ซึ่งก็ทำให้อดสงสัยไม่ได้ว่า ทำไมปุ่ม Like ถึงไม่มีใครคิดทำมาก่อนหน้านี้ ทั้งๆ ที่อินเตอร์เน็ตก็มีคนใช้เป็นพันล้านคนมาตั้งแต่ก่อนปี 2009 แล้ว


อีกตัวอย่างหนึ่ง ที่ทำให้เกิดคำอุทานในใจว่า “อย่างนี้ก็ได้ด้วยเหรอ(วะ?)” ก็คือโปรแกรมที่เราใช้ทุกวันอย่าง Microsoft Office

พวก Tips & Tricks บางอย่างที่ทำให้เราทำงานง่ายขึ้น แต่ก่อนหน้านั้นไม่เคยคิดแม้แต่จะหา เพราะไม่เคยตั้งคำถามด้วยซ้ำว่ามันทำได้หรือเปล่า

ยกตัวอย่างเช่น ถ้ามีคนส่งไฟล์พาวเวอร์พ้อยท์มาให้คุณ แล้วคุณถูกใจรูปบางรูปในนั้น คุณจะทำยังไง?

ถ้าวิธีบ้านๆ หน่อยก็คือกดปุ่ม PrintScrn แล้วแปะลงใน Paint จากนั้นก็ครอปรูปแล้วค่อยเซฟไฟล์อีกที

แต่ถ้ามีรูปที่อยากได้หลายรูป เราต้องมานั่งทำทีละรูปเหรอ?

มันมีวิธีที่ง่ายกว่านั้นมาก คือตั้งนามสกุลใหม่จาก .pptx ให้เป็น .zip

เช่นไฟล์ชื่อว่า Anontawong.pptx ก็ให้แก้เป็น Anontawong.zip

แล้วพอคลิ้กเข้าในซิปไฟล์และเข้าโฟลเดอร์ ppt\media ก็จะเจอรูปภาพและวีดีโอทั้งหมด

อีกทริคหนึ่งใน Powerpoint ที่ผมชอบมาก คือเวลาที่เราพรีเซ้นต์เสร็จแล้ว และยังต้องคุยกันต่อ และไม่อยากให้จอโชว์สไลด์ แต่ก็ไม่อยากปิดโปรเจ็คเตอร์

วิธีที่ง่ายที่สุดคือให้กดปุ่ม b บนแป้นคีย์บอร์ด ซึ่งจะทำให้จอเป็นสีดำ (black) ทันที

หรือถ้าอยากให้จอขาว ก็แค่กดปุ่ม w ที่มาจากคำว่า white นั่นเอง (ต้องกดตอนที่อยู่ในโหมด slide show นะครับ)


ตัวอย่างที่ผมยกมาวันนี้อาจจะดูหลากหลายไปนิดนึง แต่ก็น่าจะช่วยให้เห็นภาพว่า เรามีกรอบที่มองไม่เห็นอยู่มากมาย

และเมื่อใดก็ตามที่เราติดปัญหาอะไร ให้คิดเผื่อไว้ก่อนเลยว่า ใครบางคนก็เคยเจอปัญหานี้ และหาทางแก้ให้เราไว้เรียบร้อยแล้ว

เราจะได้ใช้ Google ให้เป็นประโยชน์ ซึ่งก็อาจจะทำให้เราเจอทางออกที่ทำให้เราต้องอุทานว่า

“อย่างนี้ก็ได้ด้วยเหรอ(วะ?)”


ขอบคุณข้อมูลจาก Quora: What’s the history of the Awesome Button (that eventually became the Like button) on Facebook? 

อ่านตอนใหม่ๆ ได้ทุกวันที่ Facebook Page Anontawong’s Musings (กดไลค์แล้วเลือก See First หรือ Get Notifications ก็จะไม่พลาดตอนใหม่ครับ)

อ่านตอนเก่าๆ ได้ที่ https://anontawong.com/archives/

ดาวน์โหลดอีบุ๊ค “เกิดใหม่

ขอบคุณภาพจาก Pixabay.com