The Black Swan ตอนที่ 6 – โยนเหรียญเสี่ยงทาย

20200531

ขอแนะนำตัวละครใหม่ 2 ตัว

“Fat Tony” หรือน้าอ้วนโทนี่ เป็นชายจากเมือง Brooklyn รูปร่างอ้วนท้วนตามฉายา ตอนเด็กเรียนไม่เก่ง จบแล้วมาเริ่มต้นชีวิตการทำงานด้วยการเป็นเสมียน แล้วค่อยๆ เรียนรู้การลงทุนอย่างเช่นการซื้ออสังหาธุรกิจที่ล้มละลายแล้วนำมาขายต่อ โทนี่มักมีวิธีการหาเงินโดยแทบไม่ต้องลงแรง คำขวัญประจำตัวของโทนี่คือ “มองหาไอ้หน้าโง่” (Finding who the sucker is) ซึ่งส่วนใหญ่มักจะเป็นพนักงานแบงค์ ถ้าคุณได้ไปเดินคุยกับโทนี่ซักครึ่งชั่วโมง คุณจะเข้าใจวิถีชีวิตของชาวโลกและธรรมชาติของธุรกิจขึ้นอีกเยอะ

“Dr.John” จบด็อกเตอร์ด้านวิศวกรรมไฟฟ้า ใส่สูทสีดำ ใส่แว่นตา ทำงานด้านการคำนวณความเสี่ยงให้กับบริษัทประกัน จอห์นขับรถคาดิลแล็คและเป็นคนตรงต่อเวลามาก ในขณะที่โทนี่มักจะไปกินข้าวที่ร้านอาหาร จอห์นจะพกแซนด์วิชใส่กล่องไปทานเป็นอาหารกลางวันเสมอ จอห์นเป็นคนจริงจังกับงานมาก แต่ก็ขีดเส้นชัดเจนว่าช่วงไหนคือเวลาทำงาน ช่วงไหนคือเวลาพักผ่อน

Nassim Nicolas Taleb (NNT) ผู้เขียนหนังสือ The Black Swan เชิญสองคนนี้มาร่วมพูดคุยกันในจินตนาการ

NNT: สมมติว่ามีเหรียญที่มีโอกาสออกหัวและก้อยเท่าๆ กัน ผมโยนเหรียญ 99 ครั้งและออกหัว 99 ครั้ง ถ้าผมโยนเหรียญครั้งที่ 100 โอกาสที่เหรียญจะออกก้อยคือเท่าไหร่?

Dr.John: ง่ายมาก ก็ต้อง 50% สิ เพราะคุณบอกแล้วว่าเหรียญมีโอกาสออกหัวและก้อยเท่ากัน และการโยนเหรียญแต่ละครั้งไม่ได้มีผลกับการโยนเหรียญครั้งต่อไปเลย

NNT: แล้วคุณคิดว่าไงโทนี่

Fat Tony: ผมว่าไม่เกิน 1% อยู่แล้ว

NNT: ทำไมถึงคิดอย่างนั้นล่ะ ผมบอกไปแล้วไงว่าเหรียญนี้มีโอกาสออกหัวและก้อยเท่ากัน

Fat Tony: คุณต้องเป็นคนตอแหลหรือไม่ก็โง่มากๆ ที่ไปหลงเชื่อว่าเหรียญนี้มีโอกาสออกหัวและก้อยเท่ากัน เหรียญนี้แม่งต้องถูกดัดแปลงมาชัวร์ป้าป (แปลไทยเป็นไทย: โอกาสที่สมมติฐานของคุณจะผิดนั้นสูงกว่าโอกาสที่เหรียญปกติจะออกหัวติดกัน 99 ครั้ง)

NNT: แต่ดร.จอห์นบอกว่า 50% นะ

Fat Tony (กระซิบใส่หู NNT): พวกเนิร์ดๆ แบบนี้มีอยู่เต็มธนาคารเลย คนพวกนี้คิดช้าเกินไปแถมยังคิดเหมือนๆ กันหมดด้วย หลอกง่ายจะตายชัก

“เนิร์ด” (nerd) ในความหมายของหนังสือเล่มนี้ไม่ได้จำเป็นต้องเป็น “เด็กเรียน” มันคือชื่อที่ผู้เขียนเอาไว้เรียกพวกที่ “คิดในกรอบ” แบบสุดๆ

ถ้า Fat Tony กับ Dr.John ลงสมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด คุณจะเลือกคนไหน?

ถ้าให้ทำแบบทดสอบ IQ หรืออะไรในโลกวิชาการ ดร.จอห์นคงเอาชนะน้าอ้วนโทนี่อย่างขาดลอย แต่ในโลกธุรกิจและชีวิตจริงน้าอ้วนโทนี่มีภาษีดีกว่าเยอะ

 

Ludic Fallacy – โลกไม่ใช่คาสิโน

Ludic มาจากคำว่า Ludus ซึ่งเป็นภาษาละตินที่แปลว่า “เกมส์” (Taleb บอกว่าอะไรก็ตามที่ตั้งชื่อให้เป็นภาษาละตินจะฟังดูมีภูมิความรู้ขึ้นมาทันที)

Ludic Fallacy คือตรรกะวิบัติที่เชื่อว่าความรู้ในโลกแห่งเกมส์นั้นจะสามารถเอามาใช้ในชีวิตจริงได้

เวลาเราเรียนวิชาอย่าง statistics และหัวข้ออย่าง probability ตัวอย่างที่เอามาใช้มักจะเป็นลูกเต๋าหรือไพ่ ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่อยู่ในคาสิโน

แต่คาสิโนเป็น “พื้นที่ที่ผ่านการฆ่าเชื้อแล้ว” (sterile environment) ที่เรารู้กฎกติกาชัดเจนและเราสามารถคำนวณความน่าจะเป็นได้เกือบทั้งหมด

แต่โลกแห่งความจริงไม่เหมือนในคาสิโนสักนิด เราไม่สามารถรู้ได้เลยว่า “ลูกเต๋า” ที่เรากำลังจะทอยในเกมธุรกิจนั้นออกได้กี่หน้า และลูกเต๋านี้โดนดัดแปลงจนทำให้หน้าไหนหน้าหนึ่งมีโอกาสออกมากกว่าหน้าอื่นๆ รึเปล่า

ดร.จอห์นนั้นเป็นเหยื่อของ Ludic Fallacy ที่คิดไปเองว่าโลกนี้มันแฟร์และกฎกติกานั้นจะเป็นไปตามที่เขาเคยได้อ่านตอนเรียนหนังสือ

Black Swan มันซ่อนอยู่ใน silent evidence เรามัวแต่กังวลกับเรื่องที่เคยเกิดขึ้นไปแล้ว แต่ไม่เคยกังวลกับเรื่องที่ยังไม่เคยเกิดขึ้น เราเลยชอบฟังเรื่องราวที่สื่อสารและจัดหมวดหมู่ได้ง่าย มีกฎกติกาที่ชัดเจน และนี่คือเหตุผลที่คนที่เรียนดีมักจะไม่ได้เรื่องเวลาออกไปเผชิญโลกแห่งความจริงเพราะพวกเขามี ludic fallacy เหมือนดร.จอห์นและคนอย่างดร.จอห์นนี่แหละที่มักจะโดน Black Swan เล่นงาน

 

อ่อนด้อยแล้วยังไม่เจียม

ลองบอกชื่ออุปกรณ์หรือเทคโนโลยีที่มีอิทธิพลต่อโลกเราในวันนี้มากที่สุดมา 3 ข้อ

คนไม่น้อยจะตอบว่า คอมพิวเตอร์ อินเตอร์เน็ต และเลเซอร์ ทั้งสามอย่างนี้เป็น Black Swans ในเชิงบวก มันล้วนเกิดขึ้นโดยไม่ได้มีการวางแผน ไม่เคยมีใครคาดเดาเอาไว้ และไม่ค่อยมีใครเห็นคุณค่าในช่วงแรกๆ ด้วยซ้ำ

มนุษย์ไม่เคยจดจำว่าเรามีสถิติการพยากรณ์ที่แย่เอามากๆ เราชอบทำนายอนาคตโดยแทบไม่เคยกลับไปดูเลยว่าที่ผ่านมาสิ่งที่เราทำนายเอาไว้นั้นมักจะผิดเป็นส่วนใหญ่  เราจึงชอบคาดการณ์ล่วงหน้าโดยไม่เคยเอา “เหตุการณ์ไม่คาดฝัน” เข้ามาอยู่ในกระบวนการการประเมินด้วยเลย

ไม่ว่าโมเดลหรือเครื่องมือในการทำนายของเราจะดีขึ้นแค่ไหน แต่ความซับซ้อนของโลกเพิ่มขึ้นในอัตราที่สูงกว่ามากนัก และยิ่ง Black Swan ตัวใหม่มี impact มากแค่ไหน อนาคตก็ยิ่งเป็นเรื่องที่คาดเดาไม่ได้

 

หยิ่งทะนงในความรู้

ความหยิ่งทะนงในความรู้ หรือ Epistemic Arrogance (epistḗmē เป็นภาษากรีก แปลว่า knowledge หรือความรู้ การใช้ภาษากรีกก็ทำให้เราดูมีภูมิมากขึ้นเช่นกัน) คือปรากฎการณ์ที่ “ความเชื่อมั่นในสิ่งที่เรารู้” นั้นสูงกว่า “สิ่งที่เรารู้จริงๆ” และช่องว่างระหว่างสองสิ่งนี้นี่แหละที่ทำให้เราต้องเดือดร้อนมาโดยตลอด

ลองเดาคำตอบสำหรับคำถามดังต่อไปนี้

ราชินีแคทเธอรีนที่ 2 แห่งรัสเซียเคยมีคนรักกี่คน

จังหวัดสุพรรณบุรีมีประชากรเท่าไหร่

โดยคุณสามารถให้คำตอบแบบเป็น range ได้ โดยปรับ range จนกว่าคุณจะมั่นใจว่าคำตอบของคุณมีโอกาสถูก 98% และโอกาสผิดเพียง 2% ยกตัวอย่างเช่น

“ผมมั่นใจ 98% ว่าราชินีแคทเธอรีนที่ 2 แห่งรัสเซียเคยมีคนรักระหว่าง 34 ถึง 63 คน”

หรือ

“ผมมั่นใจ 98% ว่าจังหวัดสุพรรณบุรีมีประชากรระหว่าง 1-2 ล้านคน”

ขออย่างเดียวว่าอย่าบอกตัวเลขแบบครอบจักรวาล เช่น “1 คน ถึง 1 พันล้านคน” เพราะอย่างนั้นก็เท่ากับว่าคุณไม่ได้ทายอะไรเลย

เคยมีนักวิจัยทำการทดลองนี้ ปรากฎว่า ที่คนคิดว่าตัวเองมีโอกาสตอบผิดเพียง 2% สุดท้ายแล้วตอบผิดกันถึง 45%! (คำตอบที่ถูกไม่ได้อยู่ใน range ที่ให้มา) แถมกลุ่มตัวอย่างที่ตอบคำถามเหล่านี้ยังเป็นนักศึกษา MBA จาก Harvard อีกด้วย (คนกลุ่มนี้มีความมั่นใจสูงลิ่วอยู่แล้ว พอลองไปสอบถามกลุ่มตัวอย่างที่มีพื้นเพต่างออกไป อัตราการตอบผิดลดลงมาอยู่ที่ 15-30% แต่ก็ยังเกิน 2% ไปมากอยู่ดี)

Epistemic Arrogance ทำให้เราประเมินความรู้ของเราสูงเกินไป และประเมินความไม่แน่นอนต่ำเกินไป (จึงทำให้ range ของเราแคบกว่าที่ควรจะเป็น)

 

ข้อมูลมากไปยิ่งเสียหาย

นักวิจัยเคยเอาภาพของหัวดับเพลิงมาเบลอจนดูไม่ออกว่าเป็นภาพอะไร แล้วแบ่งคนออกเป็นสองกลุ่ม กลุ่มแรกให้เห็นภาพนี้ที่ค่อยๆ ชัดขึ้นเรื่อยๆ เป็น 10 สเต็ป ส่วนกลุ่มที่สองให้เห็นภาพที่ค่อยๆ ชัดขึ้น 5 สเต็ป โดยภาพสุดท้ายที่ทั้งสองกลุ่มเห็นเป็นภาพที่ชัดเท่ากันแต่ก็ยังเบลอประมาณหนึ่งอยู่ดี

ปรากฎว่า กลุ่มที่เห็นภาพเพียง 5 สเต็ปนั้นมีโอกาสทายถูกมากกว่ากลุ่มที่เห็นภาพ 10 สเต็ป

การทดลองนี้สอนให้รู้ว่า ถ้าคุณให้ข้อมูลกับใครมากขึ้น เขาก็มีแนวโน้มที่จะตั้งสมมติฐานมากกว่าเดิม และถ้าลองได้ตั้งสมมติฐานที่ผิดแล้ว ก็เป็นการยากที่เขาจะละทิ้งสมมติฐานนั้น เพราะดันปักใจเชื่อไปเสียแล้ว

ข้อมูลบางอย่างเป็นเพียงคลื่นรบกวน (noise) แต่เราดันไปยึดถือว่ามันเป็นสัญญาณ (signal) การฟังข่าวทุกชั่วโมงนั้นแย่กว่าการอ่านหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์มากมายนัก เพราะอย่างน้อยหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ก็กลั่นกรอง noise ออกไปได้ระดับนึงแล้ว

อีกการทดลองหนึ่ง – การแข่งขันม้านั้นมีข้อมูลหลายด้านให้วิเคราะห์ว่าม้าตัวไหนจะมาวิน นักวิจัยได้ดึงข้อมูลออกมา 84 ตัวแปร (variables) แล้วเลือก 10 ตัวแปรที่มีผลต่อการแข่งขันมากที่สุดส่งไปให้นักพนันม้าลองประเมินว่าม้าตัวไหนจะชนะ

จากนั้นนักวิจัยเพิ่มข้อมูลเข้าไปให้อีก 10 ตัวแปร (รวมเป็น 20 ตัว) ปรากฎว่าอัตราการทายถูกนั้นไม่ได้เพิ่มขึ้นเลย แต่ “ความมั่นใจว่าตัวเองน่าจะทายถูก” ของนักพนันนั้นสูงขึ้นอย่างชัดเจน

ความรู้ที่เพิ่มขึ้นไม่ได้ทำให้เราทายผลได้ดีขึ้น แต่มักจะทำให้เรามั่นใจมากขึ้น การได้รับข้อมูลที่มากเกินจึงเป็นอันตรายด้วยประการฉะนี้

 

ตัวจริง-ตัวปลอม

โอกาสที่ “expert” จะเป็นผู้เชี่ยวชาญตัวจริงหรือตัวปลอมนั้นขึ้นอยู่กับว่าเขาอยู่ในวงการไหน

ผู้เชี่ยวชาญที่มักจะเป็นผู้เชี่ยวชาญจริงๆ ก็อย่างเช่นกรรมการปศุสัตว์ นักดาราศาสตร์ เซียนหมากรุก นักฟิสิกส์ นักบัญชี คนคัดเมล็ดพืช

ผู้เชี่ยวชาญที่มักจะไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญจริงๆ ก็อย่างเช่นโบรกเกอร์ นักจิตวิทยา อาจารย์แนะแนว นักเศรษฐศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญความเสี่ยง

อะไรก็ตามที่ชุดความรู้ไม่ค่อยเปลี่ยนแปลงมักจะมีผู้เชี่ยวชาญ อะไรก็ตามที่สถานการณ์เปลี่ยนไปได้เรื่อยๆ และมักจะเกี่ยวพันกับอนาคตมักจะไม่ค่อยมีผู้เชี่ยวชาญตัวจริง เราจึงไม่ควรเชื่อมั่นคนที่อ้างตัวว่าเป็น expert ในกลุ่มนี้มากนัก

คนที่ทำอาชีพที่ต้องวิเคราะห์ข้อมูลจากอดีตเพื่อทำนายอนาคตมักจะทำนายได้แค่ “สถานการณ์ปกติ” แต่เหตุการณ์ที่มันจะส่งผลต่ออนาคตได้จริงๆ ล้วนแล้วแต่เป็น “สถานการณ์ไม่ปกติ” ทั้งนั้น อย่างเช่นการลดค่าดอกเบี้ยจาก 6% เป็น 1% ระหว่างปี 2000-2001 ก็ย่อมทำให้ 5-year projection ที่คุณทำเอาไว้ผิดไปได้มากมายมหาศาลแล้ว

และเวลาคนในอาชีพเหล่านี้พบว่าตัวเองทำนายผิดพลาด ก็มักจะโทษว่าเขามีข้อมูลไม่เพียงพอ หรือเป็นข้อมูลจาก “ศาสตร์แขนงอื่น” ที่เขาเข้าไม่ถึง เช่นนักเศรษฐศาสตร์อาจจะไม่ได้เอาความเสี่ยงทางการเมืองหรือภัยพิบัติทางธรรมชาติมาใส่ไว้ในการคำนวณเพราะถือว่ามันอยู่นอกแขนงวิชาของเขา คนเหล่านี้เป็นพวก nerd ที่โฟกัสแต่สิ่งที่ตัวเองรู้และคิดแต่ในกรอบโมเดลที่ตัวเองคุ้นเคย

เราไม่สามารถสร้างแผนที่เพอร์เฟกต์ได้ก็จริง แต่อย่างน้อยที่สุดเราควรจะวางแผนโดยรู้ว่าแผนการของเรามีขีดจำกัดและเผื่อใจไว้ว่าสถานการณ์ไม่คาดฝันนั้นเกิดขึ้นได้เสมอ

 

ค่าเฉลี่ยไม่สำคัญเท่าโอกาสผิดพลาด

เวลาเราทำนายหรือพยากรณ์อะไรก็ตาม สิ่งที่สำคัญยิ่งกว่าผลลัพธ์ก็คือโอกาสในความผิดพลาด (error rate)

ถ้าจะไปเที่ยวเมืองนอก แล้วพยากรณ์อากาศบอกว่าอุณหภูมิจะประมาณ 25 องศา โดยมีโอกาสผิดพลาด 15 องศา เราต้องเตรียมเสื้อผ้าเผื่อทั้งหนาวจัดและร้อนจัดไปด้วย (เพราะอุณหภูมิเป็นไปได้ตั้งแต่ 10-40 องศา) แต่ถ้าโอกาสผิดพลาดแค่ 2 องศาเราก็จัดเสื้อผ้าไปแบบเดียวก็พอ

เวลาจะตัดสินใจอะไรก็ตาม จึงห้ามดูแค่ expected outcome แต่ต้องดูด้วยว่า range of possible outcomes นั้นกว้างแค่ไหน เพราะสิ่งสำคัญที่สุดคือการรู้ว่าถ้ามันเกิด worst-case scenario หรือสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุด เราพร้อมรับความเสี่ยงนั้นรึเปล่า ถ้าแม่น้ำลึกเฉลี่ย 120 เซนติเมตร แต่ส่วนที่ลึกที่สุดนั้นลึก 2 เมตร การเดินลุยแม่น้ำนั้นไปทั้งๆ ที่ว่ายน้ำไม่เป็นก็เป็นการฆ่าตัวตายชัดๆ

 

ช้าแล้วยังช้าได้อีก

Sydney Opera House เป็นหนึ่งในแลนด์มาร์คที่เราคุ้นตากันดี ตามแผนการเดิมโรงละครแห่งนี้จะเปิดทำการในปี 1963 และใช้ค่าก่อสร้าง 7 ล้านเหรียญออสเตรเลีย แต่ในความเป็นจริงก็คือกว่าจะเปิดได้ก็ปี 1973 แถมยังใช้เงินไปทั้งหมดถึง 104 ล้านเหรียญแถมยังได้ของที่ไม่ดีเท่าที่วางแผนไว้ตอนแรก

นี่คือความแตกต่างระหว่าง Mediocristan กับ Extremistan

ในโลกแห่ง Mediocristan อย่างอายุขัย เด็กผู้หญิงที่เกิดในประเทศที่พัฒนาแล้วมีอายุคาดเฉลี่ย (life expectancy) 79 ปี

พอเธออายุครบ 79 เธอจะมีอายุคาดเฉลี่ยเหลืออีก 10 ปี

พอเธออายุครบ 90 เธอจะมีอายุคาดเฉลี่ยเหลืออีก 4.7 ปี

พอเธออายุครบ 100 เธอจะมีอายุคาดเฉลี่ยเหลืออีก 2.5 ปี

และหากเธอมีอายุถึง 119 ปี เธอจะเหลือเวลาอีกเพียง 9 เดือน

ในดินแดน Mediocristan นั้น distribution จะอยู่ในรูปแบบกราฟระฆังคว่ำหรือ bell curve ยิ่งอายุมากเท่าไหร่ อายุคาดเฉลี่ยที่เหลือจะต่ำลงไปเรื่อยๆ

แต่ถ้าเราเข้าไปอยู่ในดินแดน Extremistan ผลลัพธ์จะตรงกันข้ามเลย

สมมติว่ามีโปรเจคหนึ่งที่คาดว่าจะแล้วเสร็จใน 79 วัน

ถ้าครบ 79 วันแล้วยังไม่เสร็จ ก็เผื่อใจไว้เลยว่ามันอาจต้องใช้เวลาอีก 25 วัน

ถ้าครบ 90 วันแล้วยังไม่เสร็จ ก็อาจต้องใช้เวลาอีก 58 วัน

ถ้าครบ 100 วันแล้วยังไม่เสร็จ ก็อาจต้องใช้เวลาอีก 89 วัน

ถ้าครบ 119 วันแล้วยังไม่เสร็จ ก็อาจต้องใช้เวลาอีก 149 วัน

ถ้าครบ 600 วันแล้วยังไม่เสร็จ ก็เผื่อใจได้เลยว่าต้องใช้เวลาอีก 1,590 วัน

ยิ่งรอมานานเท่าไหร่ ยิ่งต้องรอเพิ่มนานขึ้นเท่านั้น

ปรากฎการณ์เช่นนี้จะเกิดขึ้นกับโปรเจ็คอย่างการสร้าง Sydney Opera House การรอจดหมายตอบกลับจากนักเขียนคนโปรด การสิ้นสุดของสงคราม หรือการรอคอยจะได้กลับบ้านเกิดของคนที่ลี้ภัยทางการเมือง

ติดตามตอนต่อไปสัปดาห์หน้าครับ


ราชินีแคทเธอรีนที่ 2 แห่งรัสเซียเคยมีคนรัก 12 คน และจังหวัดสุพรรณบุรีมีประชากร 850,000 คน

ขอบคุณข้อมูลจากหนังสือ The Black Swan – The Impact of the Highly Improbable โดย Nassim Nicolas Taleb

The Black Swan ตอนที่ 1 – โควิดเป็นหงส์ดำรึเปล่า
The Black Swan ตอนที่ 2 – ความเปราะบางของความรู้
The Black Swan ตอนที่ 3 – ไก่งวงหน้าโง่
The Black Swan ตอนที่ 4 – อันตรายของ “story”
The Black Swan ตอนที่ 5 – หลักฐานอันเงียบงัน

สรุปหนังสือ Sapiens – A Brief History of Humankind by Yuval Noah Harari (20 ตอน)

สรุปหนังสือ Brave New Work by Aaron Dignan (15 ตอน)

“ช้างกูอยู่ไหน” หนังสือเล่มใหม่ของผมที่ว่าด้วยการค้นหาสิ่งที่สำคัญกับเราอย่างแท้จริง มีขายที่ whatisitpress.com ครับ อ่านรายละเอียดได้ที่ bit.ly/eitrfacebook และอ่านรีวิวได้ที่นี่ครับ markpeak.net/elephant-in-the-room/

ความสุขไม่มีอยู่จริง

20200530

เมื่อวานนี้ผมแปลนิทานเรื่อง “พระเจ้ามีจริงรึเปล่า” ลงในบล็อก ซึ่งก็มีคนเข้ามาคอมเม้นท์กันอุ่นหนาฝาคั่งทั้งทางเฟซบุ๊คเพจและในบล็อกดิท

ใครที่ยังไม่ได้อ่านนิทานเรื่องนี้ อยากให้อ่านกันก่อนนะครับ เพราะผมลงนิทานก็เพื่อที่จะปูทางให้กับบทความที่ผมจะเขียนในวันนี้

หลายคนถามว่านิทานเรื่องนี้มาจากไหน ถ้าลองกูเกิ้ลคำว่า professor god absence of heat absence of light ก็จะเจอนิทานในหลากหลายเวอร์ชั่น แถมนักศึกษาที่เถียงกับอาจารย์ในเรื่องนี้มักถูกอ้างว่าเป็น Albert Einstein อีกด้วย (ซึ่งไม่ใช่เรื่องจริง)

ไอน์สไตน์คือผู้ให้กำเนิดสมการที่โด่งดังที่สุดในโลก นั่นคือ E = mc2

และทฤษฎีสัมพัทธภาพของไอน์สไตน์ก็ทำให้โลกรู้ว่า ที่มนุษย์เคยคิดว่า “เวลา” เป็นค่าคงที่สากล (universal constant) นั้นเป็นการเข้าใจผิดมาโดยตลอด สิ่งที่เป็น universal constant จริงๆ คือความเร็วแสงต่างหาก

เวลานั้นไม่เคยคงที่ แต่ยืด-หดได้โดยขึ้นอยู่กับ “ผู้สังเกตการณ์” ว่ากำลังเคลื่อนที่เร็วแค่ไหน ยิ่งเคลื่อนที่ใกล้ความเร็วแสง เวลาก็จะยิ่งเดินช้าลง เราจึงเคยได้ยินเรื่องราวของนักบินอวกาศที่จากโลกไปเพียงปีเดียว แต่พอกลับมาเวลาบนโลกกลับผ่านไปแล้ว 50 ปี

 


 

Mark Manson ได้เขียนในหนังสือ Everything is F*cked: A Book About Hope ถึงการทดลองของนักจิตวิทยาที่ต้องการจะศึกษา “ความสุข” ของผู้คนด้วยการให้อาสาสมัครหลายร้อยคนพกเพจเจอร์ติดตัว

(สำหรับใครที่เกิดไม่ทันเพจเจอร์ มันคืออุปกรณ์อิเลคโทรนิกส์ขนาดประมาณนามบัตร หนาประมาณสองเซ็น เราสามารถโทรเข้า call center เพื่อส่งข้อความเข้าเครื่องเหล่านี้ได้)

เมื่อไหร่ก็ตามที่เพจเจอร์ดังขึ้น อาสาสมัครต้องตอบคำถามสองข้อ

1. คะแนนความสุขของคุณตอนนี้ เต็ม 10 ให้เท่าไหร่
2. เกิดอะไรขึ้นกับชีวิตคุณบ้าง

ผลลัพธ์ที่ได้คือคนส่วนใหญ่จะให้คำตอบว่า 7 เต็ม 10 ไม่ว่าชีวิตจะผ่านอะไรมาก็ตาม

จะกินข้าว ดูหนัง ฟังเพลง คุยงาน ก็ให้ 7 คะแนน และแม้ว่าจะเกิดเหตุการณ์เลวร้าย เช่นเพิ่งประสบอุบัติเหตุหรือคนใกล้ตัวป่วยหนัก คะแนนก็จะลดลงไปแค่ไม่กี่วัน จากนั้นก็จะกลับมาอยู่ที่ 7 เท่าเดิม

ไม่มีใครสุขล้นเป็นอาจิณ แต่ก็ไม่มีใครทุกข์ทนตลอดเวลาเช่นกัน

ถ้าให้แปลความหมายของ 7 เต็ม 10 ก็น่าจะประมาณว่า “ชีวิตฉันก็โอเคนะ แต่ยังดีกว่านี้ได้อีก” แถมเรายังบอกตัวเองอีกว่า “ถ้าได้ xxx มาชีวิตคงจะดีน่าดู และความสุขของเราก็จะสิบเต็มสิบ!”

แต่ไม่ว่าจะได้ของที่อยากได้แค่ไหน งานในฝัน รถในฝัน คนในฝัน ไม่นานคะแนนความสุขของเราก็จะกลับมาอยู่ที่ 7 เต็ม 10 อยู่ดี

ชีวิตมนุษย์จึงเป็นชีวิตที่ไล่ล่า “สิบคะแนนเต็มในจินตนาการ” อยู่ร่ำไป ยอมทำทุกอย่างเพื่อให้ได้มันมา แต่ความสุขก็ไม่เคยอยู่กับเราได้นานอย่างที่หวังสักที

เราคิดมาตลอดว่า “ตัวเรา” นั้นคือ “ค่าคงที่” (universal constant) แต่จริงๆ แล้วตัวเราเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เพราะเมื่อสถานการณ์เปลี่ยน ความคาดหวังของเราก็เปลี่ยนตามไปด้วย

Mark Manson จึงบอกว่า universal constant นั้นไม่ใช่ “ตัวเรา” แต่คือ “pain” หรือความทุกข์ในจิตใจ-ของเราต่างหาก

มันคือ “3 แต้มที่ยังขาดหายไป” ที่ทำให้เรามีความสุขแค่ 7 เต็ม 10 อยู่เสมอไม่ว่าชีวิตจะดีหรือจะร้ายแค่ไหนก็ตาม

 


 

เดือนเมษายนที่หลายคน work from home กันนานๆ ผมได้เขียนบทความเรื่อง “นี่คือชีวิตที่เราเคยฝันไว้ไม่ใช่หรือ

เราเคยฝันมานานว่าอยากทำงานที่มีรายได้ดี นอนตื่นสายได้ ไม่ต้องแต่งตัว ไม่ต้องออกไปเจอรถติด ได้มีเวลาอยู่กับครอบครัว และการ WFH ก็มอบสิ่งนี้ให้กับเราหมดเลย

แต่มันกลับไม่ฟินอย่างที่คิด

เรากลับเจอเรื่องอื่นๆ ที่เราไม่พอใจขึ้นมาอีก ทั้งความเหงา ความเฉา ความรู้สึกเหมือนคนทำงานตลอดเวลาไม่ได้พัก

นี่ขนาดเราได้ชีวิตที่เราเคยฝันหวานมาอยู่ในมือแล้ว เรายังมีความสุขไม่ได้เลย แล้ว “อนาคตที่ดีในวันข้างหน้า” ที่เราเคยวาดหวังเอาไว้ มันจะไม่ได้เป็นเพียงภาพลวงตาหรอกหรือ มันคือสิบคะแนนเต็มในจินตนาการที่มนุษย์สร้างไว้หลอกตัวเองรึเปล่า

 


 

วันก่อนผมได้ฟัง Youtube การเสวนาหัวข้อเรื่อง “ว่าง…จึงสร้างสรรค์” ที่จัดขึ้นที่หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2562

ผู้ร่วมวงเสวนามีดังต่อไปนี้

นักปรัชญา – อาจารย์ประมวล เพ็งจันทร์
นักเกษตรกร – อาจารย์เดชา ศิริภัทร
นักเศรษฐศาสตร์ – คุณบรรยง พงษ์พานิช
นักสื่อสารวิทยาศาสตร์ – อาจารย์บัญชา ธนบุญสมบัติ
นักศิลปะ – อาจารย์คามิน เลิศชัยประเสริฐ
นักชวนคิด ชวนคุย – คุณภิญโญ ไตรสุริยธรรมา

เรื่องที่สะดุดใจผมที่สุดคือคำพูดของอาจารย์เดชาในช่วงท้ายๆ ที่การเสวนาดำเนินมาแล้ว 1:43:45 ชั่วโมง

“ผมสัมผัสมาแล้วว่าความทุกข์นั้นมันจริง เหมือนความร้อนมันจริง ความร้อนทางฟิสิกส์เนี่ยมีจริงแล้วก็ไม่มีกำหนดเลย เท่าไหร่ก็ได้ แต่ความเย็นไม่จริงครับ ความเย็นเป็นแต่เพียงความร้อนน้อยเท่านั้นเอง

แล้วถ้าความร้อนไม่มีเนี่ย ความเย็นมันอยู่แค่นั้นเอง ไม่มีทางมากกว่านั้นอีกแล้ว ความเย็นขึ้นอยู่กับความร้อน ความร้อนไม่มีความเย็น(ก็)อยู่ตรงนั้นเอง ไม่ต่ำกว่านั้นอีกแล้ว เพราะฉะนั้นความร้อนจริงครับ ความเย็นไม่จริง

ผมสรุปว่า ความทุกข์น่ะมันจริง ไม่มีกำหนดหรอกครับ แต่ความสุขมันไม่จริงครับ ความสุขคือความทุกข์น้อย ถ้ามันไม่ทุกข์เลย ความสุขคุณสูงสุดครับ”

 


 

อาจารย์ปราโมทย์ ปาโมชโช เคยสอนไว้ว่า คนทั่วไปจะรู้สึกว่าชีวิตนี้เป็นสุขบ้างเป็นทุกข์บ้าง แต่หากเราได้ภาวนามาถึงจุดๆ หนึ่งเราจะพบว่าชีวิตนี้มีแต่ทุกข์ล้วนๆ มีแค่ทุกข์มากหรือทุกข์น้อยเท่านั้นเอง

ศาสนาพุทธจึงเป็นศาสนาแห่งความทุกข์ เป็นการเรียนรู้ทุกข์ซึ่งเป็นความจริงของชีวิต นอกจากทุกข์ไม่มีอะไรเกิดขึ้น นอกจากทุกข์ไม่มีอะไรตั้งอยู่ นอกจากทุกข์ไม่มีอะไรดับไป มันคือ universal constant ทางจิตใจไม่ต่างอะไรกับความเร็วแสงที่เป็น universal constant ทางกายภาพ

เมื่อความทุกข์เป็นสากล การแสวงหาความสุขหรือ the persuit of happiness ที่เขียนอยู่ในรัฐธรรมนูญของอเมริกาจึงเป็นเกมที่เราไม่มีวันชนะ ไม่ว่าเราจะทำอะไร ต่อให้ชีวิตเราจะดีแค่ไหน ความสุขของเราก็จะอยู่ที่ 7 เต็ม 10 อยู่ดี

หากเราเข้าใจเช่นนี้ เราก็จะไม่เหนื่อยเกินไปกับการแสวงหาสิบคะแนนเต็มในจินตนาการ และดำรงสติเอาไว้ได้เมื่อชีวิตต้องผ่านความยากลำบากครับ

 


 

ฟังเสวนา ว่าง…จึงสร้างสรรค์ https://bit.ly/2XLJUht

อ่านนิทาน พระเจ้ามีจริงรึเปล่า https://bit.ly/36KR89j

อ่านบทความ นี่คือชีวิตที่เราฝันไว้ไม่ใช่หรือ https://bit.ly/2Mct3yW

“ช้างกูอยู่ไหน” หนังสือเล่มล่าสุดของผมที่ว่าด้วยการตัดสิ่งที่ไม่ใช่ออกไปจากชีวิต หาซื้อได้ที่ whatisitpress.com และร้านหนังสือที่ตอนนี้กลับมาเปิดแล้วครับ

นิทานพระเจ้ามีจริงรึเปล่า

20200529

วันนีัวันศุกร์ มาฟังนิทานยาวๆ กันสักเรื่องนะครับ

“ผมจะอธิบายให้พวกคุณฟังว่าวิทยาศาสตร์มีปัญหากับศาสนายังไงบ้าง”

อาจารย์วิชาปรัชญาผู้ไม่เคยเชื่อเรื่องพระเจ้าหยุดพูดครู่หนึ่ง มองนักเรียนคลาสใหม่ของเขาในวันเปิดเทอม แล้วเรียกนักศึกษาคนหนึ่งให้ยืนขึ้น

“คุณนับถือคริสต์ใช่มั้ย”

“ใช่ครับ”

“พระเจ้าเป็นคนดีรึเปล่า?”

“แน่นอนอยู่แล้วสิครับ”

“พระเจ้าทรงพลานุภาพ และทรงทำได้ทุกอย่างใช่มั้ย?”

“ใช่ครับ”

“แล้วคุณเป็นคนดีหรือคนไม่ดีล่ะ?”

“คัมภีร์ไบเบิ้ลบอกว่าผมเป็นคนไม่ดีครับ”

“ใช่ๆ ไบเบิ้ล!” อาจารย์ยิ้ม “สมมติว่ามีคนๆ หนึ่งไม่สบาย และคุณสามารถรักษาเขาให้หายได้ คุณจะรักษาเขามั้ย?”

“ผมจะรักษาเค้าครับ”

“งั้นคุณก็เป็นคนดีสิ”

“ผมคงไม่คิดอย่างนั้นหรอกครับ”

“ทำไมล่ะ คุณบอกว่าจะช่วยเหลือคนป่วย พวกเราเกือบทุกคนก็น่าจะทำแบบนั้นเหมือนกัน แต่พระเจ้าไม่ช่วยนะ”

นักศึกษานิ่งเงียบ อาจารย์เลยพูดต่อ

“ท่านไม่ช่วยจริงมั้ยล่ะ พี่ชายผมตายด้วยโรคมะเร็ง ทั้งๆ ที่เขาสวดมนต์อ้อนวอนต่อพระเยซูให้ช่วยรักษาเขา คุณตอบได้มั้ยว่าพระเยซูเป็นคนดีรึเปล่า?”

นักศึกษายังคงเงียบอยู่

“ตอบไม่ได้ใช่มั้ยล่ะ” อาจารย์จิบน้ำก่อนถามต่อ

“ลองใหม่นะ คุณคิดว่าพระเจ้าเป็นคนดีรึเปล่า?”

“…เป็นครับ”

“แล้วซาตานเป็นคนดีรึเปล่า?”

“ไม่ครับ”

“แล้วซาตานมาจากไหนล่ะ”

นักศึกษาพูดตะกุกตะกักเล็กน้อย “มาจากพระเจ้าครับ”

“ใช่แล้ว พระเจ้าสร้างซาตาน คุณคิดว่าโลกนี้มีเรื่องเลวๆ มั้ย”

“มีครับ”

“เรื่องเลวร้ายมีอยู่ทุกหนแห่งจริงมั้ย และพระเจ้าเป็นผู้สร้างทุกอย่างจริงมั้ย”

“ใข่ครับ”

“ถ้าพระเจ้าสร้างทุกอย่าง พระเจ้าก็ต้องสร้างความเลวด้วย แสดงว่าพระเจ้าก็ต้องเป็นคนไม่ดีสิ”

นักศึกษาไม่มีคำตอบ

“ความเจ็บป่วย ความเกลียดชัง ความไร้มนุษยธรรม เรื่องร้ายๆ เหล่านี้ใครเป็นคนสร้าง?”

“ใครเป็นคนสร้าง?”

อาจารย์เริ่มเดินไปพูดไป

“คุณเชื่อเรื่องพระเยซูมั้ย”

“เชื่อครับอาจารย์”

อาจารย์หยุดเดิน

“วิทยาศาสตร์บอกว่าคุณมีสัมผัสทั้งห้าที่ทำให้คุณรับรู้สิ่งรอบตัวคุณได้ คุณเคยเห็นพระเยซูมั้ย”

“ไม่เคยครับ”

“คุณเคยได้ยินเสียงพระเยซูมั้ย”

“ไม่เคยครับ”

“คุณเคยได้กลิ่น ได้ลิ้มรส ได้สัมผัสพระเยซูมั้ย?”

“ไม่เคยครับ”

“แล้วคุณก็ยังเชื่อในพระเยซู?”

“ใช่ครับ”

“ตามหลักของวิทยาศาสตร์ที่เชื่อในสิ่งที่จับต้องได้ พระเยซูไม่มีอยู่จริงนะ คุณมีหลักฐานอะไรพิสูจน์มั้ย”

“ผมไม่มีหลักฐานครับ ผมมีเพียงแค่ความเชื่อ”

“ใช่ ความเชื่อ และนั่นแหละคือปัญหา ไม่มีหลักฐานอะไรเลย มีแค่ความเชื่อเท่านั้น”

นักศึกษายืนนิ่งอยู่ครู่หนึ่งก่อนจะเอ่ยปากถามอาจารย์บ้าง

“อาจารย์ครับ โลกนี้มีความร้อนมั้ยครับ?”

“มีสิ”

“แล้วโลกนี้มีความเย็นมั้ยครับ?”

“มีแน่นอน”

“ไม่ครับอาจารย์ โลกนี้ไม่มีความเย็น”

อาจารย์หยุดกึก หันมามองหน้านักศึกษาคนนั้น ทั้งห้องตกอยู่ในความเงียบ

นักศึกษากล่าวต่อ

“เรามีความร้อนเท่าไหร่ก็ได้ จะร้อนกี่พันกี่หมื่นองศาก็ได้ แต่เราไม่สามารถมี ‘ความเย็น’ ได้ เราสามารถลงไปถึง -273 องศาเซลเซียสได้ แต่เราทำให้เย็นกว่านั้นไม่ได้อีกแล้ว ถ้าความเย็นมีอยู่จริง เราต้องลงไปต่ำกว่า -273 องศาได้จริงมั้ยครับ ณ อุณหภูมิศูนย์สัมบูรณ์หรือ absolute zero นั้น คือจุดที่ไม่มีความร้อนเหลืออยู่เลย “ความเย็น” จึงเป็นเพียงคำที่เราใช้อธิบายการขาดหายไปของความร้อนเท่านั้นเอง ความเย็นจึงไม่ใช่สิ่งที่ตรงข้ามกับความร้อน เป็นเพียงการขาดหายไปของมันเฉยๆ

อาจารย์นิ่ง ทั้งห้องนิ่ง

“แล้วความมืดล่ะครับอาจารย์ ความมืดมีอยู่จริงมั้ย”

“มีสิ ไม่งั้นจะมีกลางคืนได้ยังไง”

“ผิดอีกแล้วครับอาจารย์ ความมืดไม่ใช่สิ่งใดเลย มันเป็นแค่ชื่อเรียกการขาดหายไปของแสงสว่างต่างหาก ถ้าความมืดมีอยู่จริง อาจารย์ย่อมทำให้ห้องที่มืดสนิทอยู่แล้วมืดลงกว่านี้ได้อีก จริงมั้ยครับ”

อาจารย์เริ่มยิ้มออก สอนเทอมนี้คงสนุกน่าดู อาจารย์คิดในใจ

“แล้วประเด็นของคุณคือ?”

“ประเด็นของผมก็คือ กระบวนการคิดของอาจารย์นั้นบกพร่อง ดังนั้นข้อสรุปของอาจารย์จึงบกพร่องเช่นกัน”

“บกพร่องเหรอ? บกพร่องยังไง?”

“อาจารย์กำลังมองโลกแบบทวินิยม อาจารย์บอกว่ามี “ชีวิต” และมี “ความตาย” มี “พระเจ้าที่ดี” กับ “พระเจ้าที่ร้าย” อาจารย์มองพระเจ้าเป็นเหมือนสิ่งที่จับต้องและวัดตวงได้ แต่วิธีการมองอย่างนั้นมันไม่ถูก การมองว่าความตายเป็นสิ่งที่ตรงข้ามกับชีวิตนั้นแสดงว่าเราลืมไปว่าความตายนั้นอยู่อย่างโดดๆ ไม่ได้ ความตายไม่ได้เป็นสิ่งที่ตรงข้ามกับชีวิต แต่เป็นเพียงความไร้ซึ่งชีวิตเท่านั้น

“อาจารย์สอนเด็กมั้ยครับว่าลิงเป็นบรรพบุรุษของมนุษย์”

“ถ้าคุณหมายถึงเรื่องวิวัฒนาการล่ะก็แน่นอน”

“อาจารย์เคยได้เห็นกระบวนการวิวัฒนาการด้วยตาของอาจารย์เองมั้ยครับ”

อาจารย์ส่ายหัว เทอมนี้มันส์จริงๆ

“ในเมื่อไม่เคยมีใครเห็นวิวัฒนาการด้วยตาเปล่า อาจารย์ไม่ได้กำลังสอนเรื่องความเชื่อเหรอครับ นี่อาจารย์เป็นครูหรือเป็นนักเทศน์กันแน่”

เสียงเด็กในห้องฮือฮา นักศึกษาคนเดิมพูดต่อ

“ในห้องนี้มีใครเคยเห็นสมองของอาจารย์บ้าง?”

ทั้งห้องหัวเราะกันคิกคัก

“มีใครเคยได้ยินเสียงสมองของอาจารย์บ้าง เคยสัมผัส ได้กลิ่น หรือลิ้มรสสมองของอาจารย์บ้างมั้ย?…ไม่มีเลยเหรอ…ดังนั้นในทางวิทยาศาสตร์ที่เชื่อในหลักฐานที่จับต้องได้ ผมคงต้องขอสรุปว่าอาจารย์ไม่มีสมองนะครับ และถ้าวิทยาศาสตร์บอกว่าอาจารย์ไม่มีสมอง แล้วผมจะรู้ได้ยังไงว่าผมยังควรฟังอาจารย์อยู่รึเปล่า”

อาจารย์นิ่ง สีหน้าเรียบเฉย ก่อนจะเอ่ยขึ้นว่า “ก็คงต้องใช้ความเชื่อล่ะมั้ง”

“ตอนนี้อาจารย์ยอมรับแล้วว่าความเชื่อนั้นมีอยู่จริง แล้วอาจารย์เชื่อว่าความเลวมีอยู่จริงมั้ยครับ”

อาจารย์ชักเริ่มไม่แน่ใจ “มีสิ ไม่งั้นจะมีข่าวอาชญากรรมทุกวันเหรอ”

“ความเลวไม่มีอยู่จริงครับอาจารย์ ความเลวเป็นเพียงความขาดหายไปของพระเจ้าต่างหาก ความเลวก็เหมือนความมืดหรือความเย็น เป็นเพียงคำที่มนุษย์สร้างขึ้นเพื่ออธิบายถึงการขาดหายไปของอะไรบางอย่าง ความเลวจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อมนุษย์ไม่ได้มีความรักและความเมตตาของพระเจ้าอยู่ในจิตใจเท่านั้นเอง”

มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่ชอบคิดเข้าข้างตัวเอง

20200528

Daniel Kahneman นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลผู้ศึกษาพฤติกรรมมนุษย์มายอย่างโชกโชนเคยถูกถามว่าในบรรดา bias หรือ “อคติ” ที่คนเรามีนั้น bias ไหนรุนแรงที่สุด

คาห์เนแมนตอบอย่างแทบไม่ต้องคิดว่า overconfidence bias หรือความมั่นใจตัวเองสูงเกินไป

จากการสำรวจพบว่าคนสวีเดน 78% เชื่อว่าตัวเองขับรถได้ดีกว่าค่าเฉลี่ย

อาจารย์ในอเมริกา 94% เชื่อว่าตัวเองสอนได้ดีกว่ามาตรฐาน

ผู้ชายฝรั่งเศส 82% เชื่อว่าตัวเองเป็นนักรักที่ดีกว่าคนฝรั่งเศสทั่วไป

เหล่านี้เป็นหลักฐานถึงการคิดเข้าข้างตัวเองของมนุษย์ เพราะเป็นไปไม่ได้อยู่แล้วที่
94% ของประชากรจะสูงกว่า “ค่าเฉลี่ย” เพราะโดยนิยามของค่าเฉลี่ยจะมีเพียง 50% เท่านั้นที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยได้และอีก 50% จะต้องต่ำกว่าค่าเฉลี่ย

เมื่อเราต่างเชื่อว่าตัวเองเป็นคนพิเศษ เรื่องร้ายๆ อาจเกิดขึ้นกับคนอื่น แต่มันจะไม่เกิดขึ้นกับเรา คนอื่นอาจจะทำอะไรโง่ๆ แต่เราจะไม่พลาดอย่างนั้นแน่ๆ เราจึงมักจะประเมินอะไรได้ผิดพลาดเสมอ (เคยเห็นโปรเจคสร้างอุโมงค์ตรงสี่แยกที่เสร็จตรงเวลามั้ย?)

และต่อให้เราประเมินพลาดมาซักกี่ครั้ง เราก็ยังมีแนวโน้มที่จะประเมินพลาดอีกอยู่ดี overconfidence bias เป็นเหมือนคำสาปที่ติดตัวคนบางคนไปจนตลอดชีวิต

ลองถามตัวเองก็ได้ครับว่า เรารู้สึกว่าตัวเองหน้าตาดีกว่าค่าเฉลี่ยมั้ย ทำงานได้ดีกว่าคนอื่นๆ ในออฟฟิศมั้ย มีความยุติธรรมในจิตใจมากกว่าคนทั่วไปรึเปล่า ถ้าคำตอบคือใช่ เราก็มี overconfidence bias เช่นกัน

หรือถ้าใครคิดว่าตัวเองไม่มี overconfidence bias ก็เป็นไปได้อย่างยิ่งว่าคุณมี overconfidence bias เช่นกัน

ทางออกสำหรับปัญหานี้อาจไม่มี แต่อย่างน้อยเราก็รู้ทางเข้าแล้ว เวลาทำอะไรจะได้ไม่ประมาทครับ

องค์กรที่ดีต้องมีทั้ง Superstars และ Rockstars

20200527

Kim Scott ซึ่งเคยเป็นผู้บริหารที่ Google และ Apple ได้กล่าวไว้ในหนังสือ Radical Candor ว่า องค์กรต้องมีทั้ง Superstars และ Rockstars

Superstars คือคนที่เป็นดาวรุ่ง ทำงานเก่ง มีความทะเยอะทะยาน คนเหล่านี้ต้องการความท้าทายใหม่ๆ อยู่เสมอ

ส่วน Rockstars นั้นเป็นคนอีกกลุ่มหนึ่งที่สำคัญต่อองค์กรมากๆ แต่เราไม่ค่อยนึกถึง โดย “rock” ในที่นี้คุณคิม สก๊อตบอกว่าไม่ใช่ “เพลงร็อค” แต่หมายถึง “ภูผา”

ภูผาแสดงถึงความมั่นคงแข็งแรงฉันใด Rockstars ในองค์กรก็มีความมั่นคงและแข็งแรงฉันนั้น คนที่เป็นร็อคสตาร์นั้นทำงานของตัวเองได้ดี เข้าใจเนื้องานที่ตัวเองทำ สนุกกับงาน แต่ไม่ได้ต้องการจะไต่เต้าขึ้นไปในองค์กรเหมือนซูเปอร์สตาร์ เพราะร็อคสตาร์อาจจะมีบางอย่างที่เขาให้ความสำคัญมากกว่า เช่นครอบครัว สุขภาพ งานอดิเรก

วิธีการจัดการ Superstars กับ Rockstars จึงต่างกัน

พวก Superstars ต้องการแสดงผลงาน ต้องการความก้าวหน้า ต้องการความรับผิดชอบที่มากขึ้น (และค่าตอบแทนที่สูงขึ้น) ดังนั้นองค์กรจึงต้องพยายามหางานใหม่ๆ ป้อนให้เขา ไม่อย่างนั้นเขาอาจจะไปแสวงหาความก้าวหน้าและความท้าทายที่อื่นแทน

ส่วน Rockstars นั้นตรงกันข้าม แม้จะทำงานได้ดี แต่พวกเขาให้ค่ากับ “เสถียรภาพ” หรือ stability มากกว่า ถ้าองค์กรรีบไปโปรโมตหรือจับเขาทำอะไรที่ไม่อยากทำ องค์กรก็อาจจะเสียคนทำงานฝีมือดีไป ไม่ใช่เพราะเขาลาออก แต่เพราะเขาอาจทำงานใหม่ได้ไม่ดีและกลายเป็นพนักงานที่มี engagement ต่ำ ดังนั้นการดูแลร็อคสตาร์ที่เหมาะสมคือการ recognize และให้เกียรติคนเหล่านี้โดยไม่จำเป็นต้องไปประเคนความรับผิดชอบอะไรให้เขาเพิ่ม

องค์กรจำเป็นต้องมีคนทั้งสองประเภท ต้องมี Superstars ที่พร้อมจะลองทำสิ่งใหม่เพื่อให้ธุรกิจเติบโตกว่าเดิม แต่องค์กรก็จำเป็นต้องมี “กองกลางตัวรับ” ที่แข็งแกร่งอย่าง Rockstars เพื่อให้ธุรกิจดำเนินต่อไปได้โดยไม่มีสะดุด ถ้าให้ความสำคัญแต่กับซูเปอร์สตาร์ ก็จะมีโปรเจ็คใหม่ๆ มากมายที่ถูกทิ้งไว้กลางทาง เพราะซูเปอร์สตาร์นั้นอยู่กับอะไรนานๆ ไม่ได้เหมือนร็อคสตาร์

จัดการคนเก่งให้ถูกวิธี ดาวดีๆ จะได้ไม่ออกไปนอกวงโคจรครับ

—–

ป.ล. คนไทยอ่านแล้วคงมีคำถามต่อว่า แล้วพวก dead stars หรืออุกกาบาตนี่ต้องทำยังไง อันนี้คุณคิม สก๊อตไม่ได้เขียนเอาไว้ แต่พวกเราก็รู้คำตอบอยู่แก่ใจ เหลือแค่ว่าจะกล้าทำในสิ่งที่ควรทำรึเปล่าเท่านั้นเอง

ติดตาม Anontawong’s Musings ทาง LINE: https://lin.ee/2VZMu59

ตามหาหนังสือ “ช้างกูอยู่ไหน” และ “Thank God It’s Monday” ได้ที่ whatisitpress.com และร้านหนังสือชั้นนำทั่วไปครับ

80507942_579966649467475_5144866110411112448_n