The Black Swan ตอนที่ 4 – อันตรายของ “Story”

20200516

อีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ทำให้เรามองไม่เห็น Black Swans ก็คือการชอบ “เล่าเรื่อง” ของมนุษย์

เราชอบเรื่องราวที่ปะติดปะต่อ เป็นเหตุเป็นผล เข้าใจได้ง่าย ซึ่งเพื่อให้เราเล่าเรื่องได้ถนัด หลายครั้งเราจึงมัก oversimplify หรือทำให้เรื่องมันซับซ้อนน้อยกว่าความจริงไปหลายเท่า

มนุษย์ยังเป็นสิ่งมีชีวิตที่ชอบหาเหตุผลและข้ออธิบายให้กับทุกเรื่องที่พบเจอ ลองสังเกตตัวเองดูก็ได้ว่า ไม่ว่าเราจะเจอเรื่องอะไรก็ตามแต่ เราจะพยายามตั้งสมมติฐานหรือทฤษฎีมาอธิบายเหตุการณ์นั้นเสมอ การไม่ตั้งสมมติฐานหรือไม่พยายามอธิบายนั้นเป็นเรื่องที่ฝืนธรรมชาติมนุษย์เป็นอย่างมาก

คำอธิบายจะเป็นตัวเชื่อมข้อเท็จจริงแต่ละข้อและทำให้เรื่องราวนั้น “เมคเซ้นส์” ซึ่งไม่ใช่เรื่องผิดอะไร เพียงแต่ว่ามันมักจะทำให้เราสำคัญตนผิดคิดว่าเราเข้าใจเรื่องนี้อย่างทะลุปรุโปร่งทั้งๆ ที่จริงๆ แล้วเราเข้าใจมันน้อยมาก

การสรรหาคำอธิบายหรือการตีความนั้นมักจะเป็นหน้าที่ของสมองซีกซ้าย ซึ่งหลายต่อหลายครั้งเราก็จะมองข้ามข้อเท็จจริงที่ไม่ได้สอดคล้องกับ story ที่เรามีอยู่ในหัวทำให้เรามักพลาดรายละเอียดบางอย่างไป

A BIRD IN THE
THE HAND IS WORTH
TWO IN THE BUSH

เห็นอะไรผิดปกติในประโยคด้านบนรึเปล่า? ถ้าไม่เห็นให้ลองอ่านดูอีกรอบ

นักวิทยาศาสตร์เคยทดลองส่งสัญญาณแม่เหล็กเข้าไปทำให้การทำงานของสมองซีกซ้ายทำงานได้เฉื่อยลง ซึ่งจะทำให้ผู้เข้าร่วมทดลองอ่านเจอจุดผิดปกติในประโยคข้างต้นได้มากกว่าเดิม*

 

 

ข้อมูลที่ย่อได้กับข้อมูลที่ย่อไม่ได้

ข้อมูลหรือ information นั้นมีคุณสมบัติสามอย่าง

หนึ่ง มันต้องออกแรงในการได้มาซึ่งข้อมูล

สอง มันต้องออกแรงในการจัดเก็บ

สาม มันต้องออกแรงในการดึงกลับมาใช้หรือเอามาดัดแปลง

เรามีจำนวนเซลส์ในสมองมากมาย ปัญหาจึงไม่ใช่เรื่องพื้นที่ในการจัดเก็บ แต่เป็นเรื่องของการจัดการข้อมูลเพราะสมองคนเรา working memory ค่อนข้างน้อย เปรียบเหมือนห้องสมุดแห่งชาติที่มีหนังสือเป็นแสนเล่ม แต่โต๊ะทำงานของบรรณารักษ์นั้นวางหนังสือได้คราวละแค่ 10 กว่าเล่มเท่านั้น

[หรือลองนึกภาพคอมพิวเตอร์ที่อาจมีฮาร์ดดิสก์ที่เก็บข้อมูลได้ 2 terabytes (2,000 gigabytes) ขณะที่ RAM มีขนาดแค่ 8 gigabytes เท่านั้น]

ลองจินตนาการถึงหนังสือที่มีความยาว 500 หน้าและเต็มไปด้วยคำมากมายในพจนานุกรมที่สุ่มเอามาใส่เอาไว้ตั้งแต่หน้าแรกยันหน้าสุดท้าย เป็นเรื่องเป็นไปไม่ได้เลยที่เราจะ “สรุป” เนื้อหาของหนังสือเล่มนี้ ถ้าเราต้องออกเดินทางไปอลาสก้าและเมคชัวร์ว่าเรามีเนื้อหาของหนังสือเล่มนี้ครบถ้วน วิธีเดียวก็คือต้องแบกหนังสือเล่มนี้ไปเท่านั้น

คราวนี้ลองจินตนาการหนังสืออีกเล่มหนึ่งที่มีประโยค “ประธานบริษัทคือคนที่อยู่ถูกที่ถูกเวลาและมักอ้างเอาความดีความชอบในความสำเร็จของบริษัทโดยไม่ได้เผื่อใจไว้เลยว่าบางทีเขาก็แค่โชคดีเท่านั้นเอง” เขียนซ้ำๆ กันติดต่อกันเป็นเนื้อหา 500 หน้า คุณแค่จดประโยคนี้ใส่กระดาษและพับใส่กระเป๋าเสื้อ เดินทางไปอลาสก้าแล้วเอาข้อความนี้มาผลิตหนังสือเล่มใหม่ได้โดยที่ไม่สูญเสียเนื้อหาอะไรไปซักนิดเดียว

เมื่อข้อมูลนั้นต้องลงแรงในการจัดเก็บและในการดึงขึ้นมาใช้ มนุษย์อย่างเราจึงมักจะมองหาภาพใหญ่ หาทางเล่าข้อสรุปเพื่อให้การจัดเก็บข้อมูลนั้นเปลืองแรงน้อยที่สุด

แต่เหตุการณ์ยิ่งซับซ้อนและไร้แบบแผนเท่าไร การสรุปของเราก็จะยิ่งสูญเสียแง่มุมต่างๆ มากขึ้นเท่านั้น เมื่อเราพยายาม simplify เรื่องราวต่างๆ ให้เป็น story ที่ถ่ายทอดได้ง่าย มันก็ทำให้เราเข้าใจ(ไปเอง)ว่าโลกใบนี้ซับซ้อนน้อยกว่าความเป็นจริง – it makes us think that the world is less random than it actually is.

 

 

ข้อใดไม่เข้าพวก

ลองเปรียบเทียบสองประโยคต่อไปนี้

ราชาสิ้นพระชนม์และราชินีสิ้นพระชนม์

ราชาสิ้นพระชนม์และราชินีก็สิ้นพระชนม์ด้วยความตรอมพระทัย

แม้ว่าประโยคหลังจะยาวกว่า แต่เรากลับรู้สึกว่าจดจำได้ง่ายกว่า เพราะสองเหตุการณ์ถูกร้อยเรียงเป็นเรื่องราวเดียวกัน นี่คือประโยชน์ของ “เรื่องเล่า” หรือ “narrative” หรือที่เราเรียกติดปากว่า “สตอรี่” (story)

ทั้ง Narrativity (เรื่องเล่า) และ Causality (คำอธิบายว่าสิ่งนี้เกิดขึ้นเพราะอะไร) ล้วนนำไปสู่การลดทอนของรายละเอียด

เมื่อเราจำสิ่งที่เป็น narrative ได้ดีกว่า เราจึงมักจะเลือกจำแต่รายละเอียดที่สอดคล้องกับ narrative นั้น และมองข้ามรายละเอียดอื่นๆ ที่ “ดูไม่เข้าพวก”

เมื่อรายละเอียดที่ดูไม่เข้าพวกถูกคัดออกไปจาก narrative มันจึงทำให้หลายเหตุการณ์ดูเข้าใจและอธิบายได้ง่ายกว่าความเป็นจริง – history appears to be far more explainable than it actually is.

 

 

ซัดดัมคนเดิม

วันหนึ่งในเดือนธันวาคมปี 2003 ตอนที่ซัดดัม ฮุสเซนถูกจับกุมตัวได้ สำนักข่าวบลูมเบิร์กพาดหัวข่าวตอน 13:01 ว่า

“U.S. TREASURIES RISE; HUSSEIN CAPTURE MAY NOT CURB TERRORISM”

“ราคาพันธบัตรรัฐบาลปรับตัวสูงขึ้น การจับกุมตัวซัดดัมอาจไม่ช่วยยับยั้งการก่อการร้าย”

เมื่อไหร่ก็ตามที่ตลาดมีการเปลี่ยนแปลง สำนักข่าวต่างรู้สึกว่าต้องหา “เหตุผล” มาอธิบายความเปลี่ยนแปลงนั้นเสมอ

แต่สักพัก ราคาพันธบัตรรัฐบาลกลับปรับตัวลดลง (ซึ่งจริงๆ แล้วราคามันก็ปรับขึ้น-ปรับลงอยู่เป็นประจำอยู่แล้ว) บลูมเบิร์กจึงรายงานตอน 13:31 ว่า

“U.S. TREASURIES FALL; HUSSEIN CAPTURE BOOSTS ALLURE OF RISKY ASSETS”

“ราคาพันธบัตรรัฐบาลปรับตัวลดลง การจับกุมตัวซัดดัมทำให้นักลงทุนกล้าเสี่ยงมากขึ้น”

เมื่อครึ่งชั่วโมงที่แล้วเพิ่งบอกว่าจับซัดดัมแล้วคนยังไม่กล้าลงทุนอยู่หยกๆ มาตอนนี้กลับบอกว่าการจับตัวซัดดัม (ซัดดัมคนเดิมนี่แหละ) ทำให้คนกล้าลงทุนมากขึ้น!

นี่คือเรื่องที่เกิดขึ้นเป็นประจำในวงการข่าว พวกเขาจะสรรหาคำอธิบายเพื่อให้ข่าวนั้นจับต้องได้และจดจำได้ง่ายขึ้น

หลังจบการเลือกตั้งทุกครั้ง สำนักข่าวทุกสำนักจะออกมาอธิบาย “เหตุผล” ที่ทำให้พรรคใดพรรคหนึ่งพ่ายแพ้ แถมนักข่าวก็ยังไปหาข้อมูลต่างๆ มากมายเพื่อมาสนับสนุนคำอธิบายเหล่านั้นราวกับว่าสำนักข่าวพร้อมจะ “ผิดพลาดด้วยความแม่นยำอย่างยิ่ง” (to be wrong with infinite precision) มากกว่าจะยอมรับการ “ถูกต้องโดยประมาณ” (to be approximately right)

การพยายามสรรหาคำอธิบายจนเกินเลย (overcausation) นั้นไม่ใช่ความผิดของนักข่าวหรอก แต่เป็นเพราะพวกเราคนเสพข่าวนี่แหละ เราอยากฟัง stories มากกว่าจะฟังแค่ข้อเท็จจริง แต่เราก็ควรเตือนตัวเองด้วยว่าข่าวที่ถูกลดทอนเป็น stories นั้นมันทำให้ความจริงบิดเบี้ยวมากเกินไปรึเปล่า

บางทีการอ่านนิยายอาจจะทำให้เราเข้าถึงความจริงมากกว่าการอ่านข่าวที่ถูกปรุงแต่งด้วยคำอธิบายก็ได้

 

 

ภาพจำลำเอียง

สมมติให้คุณนึกถึงโอกาสที่จะเกิดเหตุการณ์ดังต่อไปนี้

“เกิดน้ำท่วมใหญ่ในญี่ปุ่นซึ่งทำให้ประชาชนเสียชีวิต 1000 คน”

คุณจะได้ตัวเลขในใจมาหนึ่งตัว

คราวนี้ลองประเมินความน่าจะเป็นของอีกสถานการณ์หนึ่ง

“เกิดแผ่นดินไหวในญี่ปุ่นซึ่งนำไปสู่น้ำท่วมใหญ่ที่ทำให้ประชาชนเสียชีวิต 1000 คน”**

คนส่วนใหญ่จะรู้สึกว่าเหตุการณ์หลังมีโอกาสเกิดได้มากกว่า นั่นเป็นเพราะเรามีภาพจำเกี่ยวกับแผ่นดินไหวในญี่ปุ่นมากกว่าเรื่องน้ำท่วมนั่นเอง

หรือถ้าผมให้คุณประมาณการว่ามีคนไทยเป็นมะเร็งปอดกี่คน แล้วให้คุณบอกตัวเลขมาหนึ่งตัว กับผมถามว่า “มีคนไทยเป็นมะเร็งปอดเพราะสูบบุหรี่กี่คน” คำตอบที่ได้มามักจะสูงกว่าคำตอบจากคำถามแรก เพราะภาพของการเป็นมะเร็งปอดจากการสูบบุหรี่นั้นชัดเจนในใจเรามาก

อีกตัวอย่างหนึ่ง

โจอี้ดูมีความสุขกับชีวิตสมรส เขาฆ่าภรรยาของตัวเอง

โจอี้ดูมีความสุขกับชีวิตสมรส เขาฆ่าภรรยาของตัวเองเพื่อเอามรดก

แว้บแรกเราจะรู้สึกว่าประโยคหลังดูมีความเป็นไปได้มากกว่า ทั้งๆ ที่จริงๆ ในเชิงตรรกะแล้วประโยคแรกต้องเป็นไปได้มากกว่า เพราะเหตุผลที่จะฆ่าภรรยามีได้มากกว่าแค่การทำเพื่อมรดก (เช่นทะเลาะกันรุนแรง สามีสติแตก ฯลฯ)

เมื่อเรา “ลำเอียง” กับเรื่องราวที่เป็นเหตุเป็นผลหรือเรื่องราวที่หวือหวาเราจึงอาจตัดสินใจผิดพลาดได้ง่ายๆ เช่นคนอเมริกันที่พร้อมจะซื้อประกันการก่อการร้ายมากกว่าการซื้อประกันปกติ ทั้งที่จริงประกันทั่วไปก็ครอบคลุมความเสียหายจากการก่อการร้ายอยู่แล้ว

[หรืออย่างล่าสุดที่คนไทยแห่ซื้อประกันโควิดกันมากมาย ทั้งๆ ที่ประกันปกติก็คุ้มครองอยู่แล้วเช่นกัน]

 

เรื่องราวเร้าอารมณ์

เรามักจะถูกดึงดูดด้วยเรื่องราวที่เร้าใจ ในช่วงปี 1970 มีเด็กคนหนึ่งในอิตาลีตกลงไปในบ่อน้ำบาดาลและออกมาไม่ได้ เรื่องราวกลายเป็นข่าวหน้าหนึ่งและคนทั้งอิตาลีทั้งประเทศก็ตามลุ้นการช่วยชีวิตของเด็กคนนี้

ในช่วงเดียวกันนั้น ประเทศเลบานอน (บ้านเกิดของผู้เขียน) กำลังมีสงครามกลางเมือง แต่หนังสือพิมพ์และประชาชนกลับให้ความสนใจว่าเด็กอิตาลีคนนี้จะรอดหรือไม่ มากกว่าที่จะสนใจเพื่อนร่วมชาติที่กำลังล้มตายจากการสู้รบ

เช่นเดียวกัน ถ้าคุณมีงานที่ต้องบินไปพักที่นิวยอร์ค และเพื่อนร่วมงานเล่าให้คุณฟังว่าในปี 1989 มีคนที่เขารู้จักถูกฆ่าตายใน Central Park คุณก็มีแนวโน้มที่จะหลีกเลี่ยงการไปเดินที่นั่น แม้จะรู้ว่ามันผ่านมานานแล้วและสถิติการก่ออาชญากรรมจะต่ำมาก คุณก็ยังคงกลัวอยู่ดี สถิติและข้อเท็จจริงไม่ได้มีน้ำหนักเท่าเรื่องราวเร้าอารมณ์ (sensational stories)

 

System 1 และ System 2

Daniel Kahneman [นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล และผู้เชียนหนังสือ Thinking, Fast & Slow] บอกว่าคนเรานั้นมีการคิดอยู่สองโหมด

โหมดแรกคือ System 1 เป็นการคิดแบบใช้สัญชาติญาณที่รวดเร็วและใช้ทรัพยากร (สมอง) น้อย มันถูกขับเคลื่อนด้วยสมองส่วน limbic brain

โหมดที่สองคือ System 2 ที่เป็นการคิดแบบจริงจังที่เชื่องช้าและใช้พลังงานเยอะกว่า มันถูกขับเคลื่อนโดย neo cortex brain

ความผิดพลาดจะเกิดขึ้นเมื่อเรานึกว่าตัวเองใช้ System 2 ทั้งๆ แต่จริงๆ แล้วเราใช้ System 1 แบบไม่รู้ตัว เหมือนที่เราสับสนระหว่าง No Evidence of Black Swans และ Evidence of no Black Swans

 

 

หงส์ดำผิดตัว

หงส์ดำที่เรากลัวมักจะไม่ใช่หงส์ดำที่เกิด ส่วนหงส์ดำที่เกิดมักจะไม่ใช่หงส์ดำที่เราจินตนาการถึง

เหตุการณ์ที่ไม่จะไม่เกิดซ้ำ (non-repeatable events) มักจะไม่เคยถูกกล่าวถึงก่อนที่มันจะเกิด แต่พอมันเกิดแล้วคนมักจะประเมินว่ามันจะเกิดซ้ำอีกแต่มันก็ไม่เคยเกิดซ้ำอีกเลย เช่นหลังเหตุการณ์ 9/11 คนจำนวนไม่น้อยยังคงหวาดกลัวว่าจะมีการขับเครื่องบินชนตึกอีก ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้วโอกาสจะเกิดเหตุการณ์อย่างนี้ลดลงไปมากแล้ว (เพราะทุกคนระวังมากขึ้น)

กล่าวโดยสรุป เรามักจะเข้าใจ Black Swans ผิดเพราะว่า

1. เราใช้ System 1 thinking ที่รวดเร็วและขี้เกียจ

2. เราชื่นชอบใน narrative ที่เข้าใจได้ง่ายๆ มีคำอธิบาย เป็นเหตุเป็นผล จนทำให้เราพลาด/หลงลืม รายละเอียดอื่นๆ ที่ดูเหมือนจะไม่เกี่ยวข้อง และทำให้เราอธิบายเรื่องที่ซับซ้อนให้มันดูง่ายกว่าความเป็นจริง

3. เราใส่ใจและให้น้ำหนักกับเรื่องราวที่กระตุ้นอารมณ์มากกว่าเรื่องราวแบบอื่น

เมื่อ Black Swan เกิดขึ้นแล้ว เราจึงจับจดกับ Black Swan ตัวเดิมที่เราหาเหตุผลมาอธิบายได้ แถมยังมีเรื่องราวกระตุ้นอารมณ์ให้เราตามติด

ในขณะที่เรามัวแต่กังวลหงส์ดำตัวนี้ หงส์ดำอีกตัวหนึ่งก็กำลังย่างกรายเข้ามา

เราหวาดกลัวหงส์ดำโดยที่ไม่รู้เลยว่าเรากำลังกลัวผิดตัว

ติดตามตอนต่อไปสัปดาห์หน้าครับ

—-

* มีคำว่า THE ซ้ำสองรอบ

** ในหนังสือยกตัวอย่างเป็นแผ่นดินไหวที่แคลิฟอร์เนีย แต่ผมเปลี่ยนประเทศญี่ปุ่นเพราะคนไทยน่าจะเห็นภาพได้ง่ายกว่า

ขอบคุณข้อมูลจากหนังสือ The Black Swan – The Impact of the Highly Improbable โดย Nassim Nicolas Taleb

Black Swan ตอนที่ 1 – โควิดเป็นหงส์ดำรึเปล่า
Black Swan ตอนที่ 2 – ความเปราะบางของความรู้
Black Swan ตอนที่ 3 – ไก่งวงหน้าโง่ 

สรุปหนังสือ Sapiens – A Brief History of Humankind by Yuval Noah Harari (20 ตอน)

สรุปหนังสือ Brave New Work by Aaron Dignan (15 ตอน)

“ช้างกูอยู่ไหน” หนังสือเล่มใหม่ของผมที่ว่าด้วยการค้นหาสิ่งที่สำคัญกับเราอย่างแท้จริง มีขายที่ whatisitpress.com ครับ อ่านรายละเอียดได้ที่ bit.ly/eitrfacebook และอ่านรีวิวได้ที่นี่ครับ markpeak.net/elephant-in-the-room/