Asian U Always

20170731_asianualways

วันเสาร์ที่ผ่านมาผมไปร่วมงานศิษย์เก่าของ Asian U มาครับ

Asian U ย่อมาจาก Asian University (แต่ก่อนมีห้อยท้ายว่า of Science and Technology ด้วย) คือมหาวิทยาลัยที่ตั้งอยู่บนทางหลวง 331 อ.บางละมุง จังหวัดชลบุรี

Asian U ถูกก่อตั้งโดยดร.วิพรรธ์ เริงพิทยา (หรืออีกฉายาหนึ่งคือ “ดอกเตอร์วิป”) เปิดรับนักศึกษารุ่นแรกเมื่อปี พ.ศ.2541 เป็นนักศึกษาปริญญาตรี 20 คน และ MBA 25 คน

ในนักศึกษาปริญญาตรี เป็นเด็กคณะวิศวรรมศาสตร์ 10 คน และเด็กคณะบริหารธุรกิจ 10 คนเท่ากันพอดี

ผมเป็นหนึ่งในเด็กวิดวะ 10 คนนั้นครับ (รหัสนักศึกษา 4110411004)

สภาพการณ์ตอนที่เปิดมหาลัยนั้นไม่ค่อยเป็นใจเท่าไหร่ เมืองไทยกำลังประสบวิกฤติต้มยำกุ้ง ตอนแรกที่ดร.วิปตั้งใจจะระดมทุนมาให้ได้ 1500 ล้านบาทเพื่อสร้างมหาลัยนี้จึงระดมได้เพียงครึ่งเดียว ทำให้มหาวิทยาลัยต้องรัดเข็มขัดกับหลายๆ เรื่อง แต่สิ่งหนึ่งที่ดร.วิปไม่ยอมประหยัดเลยคือการจ้างครูดีๆ

ชีวิต 4 ปีที่นั่นเป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุดช่วงหนึ่งของผม ผมอยู่ที่หอจึงมีเวลาได้ทำอะไรมากมาย ได้แต่งเพลงให้มหาวิทยาลัย ได้เป็นประธานนักศึกษา ได้จีบสาว ได้แชมป์มินิมาราธอน ได้ไปแข่งกีฬากับม.บูรพาและม.ธรรมศาตร์ ได้คุ้นเคยกับการเป็นมวยรอง (underdog) ได้ตั้งชมรมดูดาว ได้ทำวงดนตรี ได้เล่นเรือใบ ได้ไปฝึกงานสวิตเซอร์แลนด์ และได้สนิทกับเพื่อนและอาจารย์ทุกคน และได้สิ่งที่เรียกว่า Asian U Spirit ซึ่งนิยามได้ยากมาก แต่คนที่จบจากที่นี่มาจะเข้าใจกันดี

ผมมั่นใจว่า 4 ปีที่ผมเรียนอยู่ที่นั่น มหาวิทยาลัยขาดทุนทุกปี เพราะตอนที่ผมเรียนจบน่าจะมีนักศึกษาอยู่ไม่เกิน 150 (แถม 1 ใน 3 ยังเป็นนักเรียนทุน) ผมก็ได้แต่หวังว่าพอนักเรียนเยอะขึ้นมหาวิทยาลัยจะถึงจุดคุ้มทุนเสียที

แต่หลังจากนั้นนักศึกษากลับไม่ได้เพิ่มขึ้นอย่างที่หวัง ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะการแข่งขันที่สูง เพราะหลักสูตรอินเตอร์กลายเป็นสิ่งที่มหาวิทยาลัยเกือบทุกที่ก็มีกัน และเราเองก็อาจทำการตลาดได้ไม่ดีนัก จำนวนนักศึกษาของเราจึงมีแต่ทรงกับทรุด บางรุ่นมีเด็กเข้าเรียนปี 1 ไม่ถึง 10 คนด้วยซ้ำ

งานเลี้ยงที่ดำเนินมาร่วม 20 ปีจึงต้องถึงวันเลิกรา

วันนี้ วันจันทร์ที่ 31 กรกฎาคม 2560 นักศึกษารุ่น 16 จะเข้าร่วมพิธีประทานปริญญาบัตรเป็นรุ่นสุดท้าย และเมื่อจบงานนี้ไป มหาวิทยาลัยเอเชี่ยนยูก็จะปิดตัวโดยถาวร (แต่ผู้ที่เข้ามาถือหุ้นใหญ่จะปรับปรุงสถานที่ให้เป็นอย่างอื่นแทน)

พวกเราเหล่าศิษย์เก่าที่ธรรมดาจะนัดพบกันที่กรุงเทพ จึงตัดสินใจกลับไปจัดงาน Reunion ที่แคมปัส เพื่อเป็นการกล่าวคำอำลากับมหาวิทยาลัยเป็นครั้งสุดท้าย

ระหว่างที่ผมขับรถกลับไป Asian U นั้น ก็มีภาพความทรงจำไหลมาเทมา ขับผ่านประตูทางเข้าก็จะเห็นสนามหญ้าหน้าอาคารเรียนที่มีต้นไม้สูงใหญ่รายล้อม ผมขับรถวนไปที่บ่อปลาซึ่งเป็นที่ๆ หนุ่มสาวทุกคู่ต้องเดินมาให้อาหารปลาช่วงจีบกันใหม่ๆ ก่อนจะไปจอดรถที่สปอร์ตคลับเพื่อเจอน้องๆ และเล่นกีฬาด้วยกัน ซึ่งกีฬาสองอย่างที่ผมได้เล่นคือแชร์บอลกับฟุตบอล

ผมคงไม่เล่ารายละเอียดของงานไปมากกว่านี้ แต่อยากจะเล่าให้ฟังถึงความเข้าใจ 3 อย่างที่ผมได้จากงานวันนั้น

อย่างแรก ตอนที่ภาพความทรงจำไหลเข้ามาในหัวนั้น แทบจะไม่มีภาพในห้องเรียนเลย มีแต่ภาพตอนขึ้นไปนอนดูฝนดาวตกที่ดาดฟ้า ภาพตอนที่แข่งฟุตซอลตรงลาน activity square ภาพเล่นดนตรีหน้าสปอร์ตคลับ ภาพนั่งแต่งเพลงอยู่คนเดียวใน ห้อง study room ภาพที่ผมกับเพื่อนกระโดดกอดกันในห้อง common room ตอนรุ่งสางในวินาทีที่โซลชาร์ยิงประตูพาแมนยูคว้าสามแชมป์ รวมไปถึงภาพเล็กๆ อย่างการนั่งบรรจงเขียนอีเมลหารุ่นน้องที่ผมชอบผ่านโปรแกรมเก่าแก่อย่าง Pine

ทำให้คิดได้ว่า ภาพที่มักจะกลายมาเป็นความทรงจำ มักเกิดจาก extra moments ที่อยู่นอกเหนือจากหน้าที่หลักของเรา

หน้าที่หลักของผมตอนนั้นคือการเรียน แต่ภาพที่ผมจำได้กลับอยู่นอกห้องเรียน

หน้าที่หลักของผมตอนนี้คือการทำงาน แต่ภาพที่ผมจะจำได้ในอีกหลายสิบปีข้างหน้าน่าจะเกิดนอกออฟฟิศ

เรื่องที่สอง ตอนที่ผมลงเล่นแชร์บอลนั้น เราแบ่งทีมกันอย่างง่ายๆ ข้างละ 10 คน ชายหญิงคละกันไป ไม่มีการใส่เอี๊ยมด้วย แค่จะจำหน้าว่าใครอยู่ทีมไหนยังยาก

แต่เราสนุกกันมาก ผมรู้สึกเสียดายทุกครั้งที่ลูกชู๊ตของเราโดนประตูฝ่ายตรงข้ามปัดได้ ผมดีใจทุกครั้งที่ฝ่ายเราชู๊ตลง แต่ผมก็ตบมือทุกครั้งเวลาที่ฝ่ายตรงข้ามชู๊ตลงเช่นกัน เพราะสุดท้ายแล้ว เป้าหมายไม่ใช่การเอาชนะ เป้าหมายคือเรามาสนุกร่วมกัน

หรือจริงๆ แล้วชีวิตก็เป็นแบบนั้น?

เราไม่จำเป็นต้องชนะตลอดก็ได้ บางทีเราก็ยิงได้ บางทีเค้าก็ยิงได้ แต่สิ่งสำคัญคือเรามีส่วนร่วมกับเกมแค่ไหน เราได้ส่งบอลให้เพื่อนมั้ย เราได้ลองชู้ตเองบ้างรึเปล่า และที่สำคัญที่สุด คือเรามีความสุขและสนุกไปกับมันรึเปล่า

Maybe it’s not about winning. Maybe it’s about having a good time together.

เรื่องสุดท้าย ตอนที่ผมเล่าว่าผมขับรถเข้ามามหาวิทยาลัยแล้วเห็นต้นไม้สูงใหญ่ หนึ่งในต้นไม้เหล่านั้นผมเป็นคนปลูกเองกับมือเมื่อ 19 ปีที่แล้ว

ในอนาคต Asian U จะถูกเปลี่ยนไปเป็นอะไรก็ตาม ผมก็เชื่อว่าต้นไม้ที่ผมปลูกเอาไว้จะยังคงเติบโตและให้ร่มเงาไปอีกหลายสิบปี

“ต้นไม้” ที่ Asian U ปลูกเอาไว้จริงๆ ก็คือพวกเราศิษย์เก่านั่นเอง และผมก็เชื่อว่าเด็ก Asian U จะยังคงเติบโตและสร้างร่มเงาให้สังคมไทยไปได้อีกหลายสิบปีเช่นกัน

Dr.Seuss เคยกล่าวไว้ว่า

“Don’t cry because it’s over. Smile because it happened.”

ผมใจหายเพราะ Asian U จะไม่อยู่แล้ว แต่อีกมุมหนึ่ง ผมก็รู้สึกโชคดีมากๆ ที่ได้เป็นหนึ่งในไม่กี่คนที่ได้มีโอกาสมาใช้ชีวิตอยู่ในมหาวิทยาลัยอันแสนพิเศษแห่งนี้

ขอบคุณสำหรับทุกๆ อย่าง

Asian U Always.

6B ในที่ทำงาน

20170731_6b

ตอนนี้ผมกำลังอ่านหนังสือ “วิธีอยู่ร่วมกับเจ้านายอย่างสันติ” ของอาจารย์วรภัทร์ ภู่เจริญ อยู่ครับ

เรื่องหนึ่งที่อาจารย์วรภัทร์พูดถึงในหนังสือเล่มนี้คือนิสัย 6B ที่เราควรลด ละ เลิก เวลาอยู่ที่ออฟฟิศ จะเป็นอะไรบ้างมาดูกัน

Bluff – บลัฟ – ดูถูก ทับถม สบประมาท

Bee – บี้ – กดดัน เร่งรัด ทำให้คนเครียด ลนลาน

Bai – ใบ้ – เงียบไว้ อมภูมิ แกล้งโง่ (เพราะเลี่ยงงาน) ไม่ตัดสินใจ

Boi – โบ้ย – โยนงานให้คนอื่น โยนความผิด

Block – บล็อก – ทำลายจินตนาการ ดับความคิดคนอื่น ไม่กล้าเสี่ยง กลัวไปหมด

Blame – เบลม – ด่วนพิพากษา ตำหนิ ต่อว่า

ถ้าที่ทำงานของเราเต็มไปด้วยคนแบบนี้ สภาพแวดล้อมคงเป็นพิษน่าดู

แต่ที่สำคัญที่สุดคือกลับมาดูที่ตัวเองก่อนว่าเรามี B ไหนในนี้บ้างรึเปล่า?

ส่วนตัวผมมี B-บี้ กับ B-ใบ้ อยู่บ้าง ซึ่งคงต้องระวังมากกว่านี้

แล้วคุณล่ะครับ มีกี่ B?


ขอบคุณข้อมูลจากหนังสือ วิธีอยู่ร่วมกับเจ้านายอย่างสันติ โดย ดร.วรภัทร์ ภู่เจริญ

facebook.com/anontawongblog
anontawong.com/archives

นิทานตกปลา

20170728_fishing

วันนี้วันศุกร์ มาฟังนิทานกันนะครับ

นักธุรกิจอเมริกันเดินทางไปยังท่าเทียบเรือของหมู่บ้านเล็กๆ ในคอสตาริกา

มีเรือลำเล็กและชาวประมงจอดเทียบท่าเพียงลำเดียว ในเรือนั้นมีปลาทูนาครีบเหลืองขนาดใหญ่หลายตัว

นักธุรกิจอเมริกันกล่าวชมผลงานการจับปลา สอบถามว่าใช้เวลานานเท่าใดก่อนจะได้หลายตัวแบบนี้

“ก็ไม่นาน” ชาวประมงตอบ

นักธุรกิจอเมริกันเสนอแนะว่า “ทำไมไม่ใช้เวลามากกว่านี้จับปลาได้อีกหลายเท่าตัว?”

ชาวประมงตอบว่า “จับมาแค่นี้ก็พออยู่พอกิน พอเลี้ยงคนในครอบคัวได้แล้วซินญอร์”

นักธุรกิจอเมริกันงุนงง สอบถามต่อว่า “เวลาที่เหลือ คุณเอาไปทำอะไรกัน?”

“ก็นอนตื่นสาย ตกปลาสักหน่อย เล่นกับลูก นอนตอนบ่ายกับมาเรียเมียของผม ตกเย็นก็เดินเข้าหมู่บ้านนั่งจิบไวน์สบายอารมณ์ เล่นกีตาร์กับเพื่อนๆ ผมมีอะไรต่อมิอะไรต้องทำทั้งวันไม่มีเวลาว่างเลยซินญอร์”

นักธุรกิจอเมริกันเบะปากหยามหมิ่น

“ผมเป็นนักบริหารตลาดหุ้นวอลล์สตรีท ผมช่วยคุณได้ คุณน่าจะใช้เวลาจับปลาให้นานกว่านี้ ผลกำไรที่ได้มาจะนำไปซื้อเรือขนาดใหญ่ หากป่าวประกาศโฆษณาในเว็บ และมีแผนการดำเนินงานที่ดี ก็จะมีเงินทุนหลั่งไหลเข้ามาร่วมทุนซื้อเรือขนาดใหญ่ได้อีกหลายลำ ท้ายที่สุด แทนที่จะขายปลาให้พ่อค้าคนกลาง คุณควรจะขายให้กับผู้แปรรูปโดยตรง ในไม่ช้า คุณก็จะมีโรงงานทำปลากระป๋องเป็นของตนเอง

“แล้วยังไงต่อ ซินญอร์” ชาวประมงถาม

“จากนั้นคุณจะต้องย้ายออกจากหมู่บ้านเล็กๆ แห่งนี้ไปอยู่ในซานโฮเซ จากนั้นก็ย้ายไปแคลิฟอร์เนีย และท้ายที่สุดไปนิวยอร์ก ที่ซึ่งคุณจะว่าจ้างมืออาชีพให้รับช่วงดำเนินธุรกิจของคุณต่อได้”

ชาวประมงนิ่วหน้า “เรื่องแบบนี้ต้องใช้เวลานานสักแค่ไหนกัน? แล้วจะเกิดอะไรต่อไปล่ะ ซินญอร์”

นักธุรกิจหัวเราะ “ก็คงซักประมาณ 15 ปี แต่หลังจากนี้คือตอนไคลแม็กซ์ล่ะ เมื่อถึงเวลาเหมาะสม คุณก็ทำโรดโชว์ นำบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ ขายหุ้นให้ประชาชนทั่วไปได้ รวยกันใหญ่ คุณจะทำเงินได้หลายล้านเหรียญ”

“เป็นล้านเชียวเรอะ แล้วไงต่อ ซินญอร์?”

นักธุรกิจอเมริกันตอบด้วยแววตาเคลิ้มฝัน

“จากนั้นคุณก็ปลดเกษียณตัวเอง ใช้ชีวิตสุขสบาย ย้ายไปอยู่ในหมู่บ้านประมงเล็กๆ นอนตื่นสาย ตกปลาสักหน่อย เล่นกับลูก นอนตอนบ่ายกับเมียคุณ ตกเย็นก็เดินเข้าหมู่บ้านนั่งจิบไวน์สบาย เล่นกีตาร์กับเพื่อนๆ…”


ขอบคุณนิทานจากบล็อกต้นโศกดอกแก้ว นักธุรกิจ กับ ชาวประมง

Time Management Workshop วันอาทิตย์ที่ 6 สิงหาคม ยังมีที่ว่างอีก 2 ที่ ดูรายละเอียดการสมัครได้ที่ https://goo.gl/wF7mS2

facebook.com/anontawongblog
anontawong.com/archives

เราเกิดมาเพื่อมีความสุข(?)

20170727_purposeoflife

ผมว่าเป็นเรื่องที่ดีหากเราจะคอยถามตัวเองบ้างว่า “จริงๆ แล้วเราต้องการอะไร”

เพราะบางทีเราก็ก้มหน้าก้มตามากเกินไป

ก้มหน้าก้มตากับงาน ก้มหน้าก้มตาดูแลลูก ก้มหน้าก้มตากับมือถือ ก้มหน้าก้มตากับการสังสรรค์เฮฮา

เรายุ่งกับการทำๆๆ จนบางทีก็อาจหลงลืมไปว่า ทั้งหมดนี้นั้นทำไปเพื่ออะไร

คำตอบหนึ่งก็คือ เพื่อจะได้มีความสุข

เราทำงาน จะได้มีเงินมาดูแลคนที่เรารัก จะได้เอาเงินมาซื้อความสุขได้

เราทำหน้าที่ของพ่อแม่ จะได้เห็นลูกมีความสุข แล้วเราก็มีความสุขได้

เราเล่นมือถือ จะได้รู้เรื่องชาวบ้าน จะได้เห็นอะไรแปลกๆ ใหม่ๆ ซึ่งก็ทำให้มีความสุขได้

แล้วเราก็สังสรรค์เฮฮากับเพื่อน เพราะเชื่อว่ามันสนุกและทำให้เรามีความสุขได้

แต่แม้เป้าหมายปลายทางคือความสุข แต่มันก็มีความทุกข์ปนอยู่ไม่น้อย

เพราะตอนที่ทำงานก็โดนเจ้านายกดดัน โดนลูกค้าด่า โดนปัญหาสารพัดสารพัน

เวลาดูแลลูก เราก็ต้องอดหลับอดนอน ไม่มีเวลาพักผ่อน ไม่มีเวลาให้ตัวเอง

ตอนเล่นมือถือ ถ้าอยู่กับมันนานเกินไป ยิ่งไถฟีดเท่าไหร่ก็จะยิ่งค่อยๆ รู้สึกผิดและรู้สึกแย่ลงเท่านั้น

และมีหลายครั้งที่อยู๋ในวงสังสรรค์ แต่กลับเหงายิ่งกว่าอยู่คนเดียว แถมถ้าดื่มเยอะ วันรุ่งขึ้นยังปวดหัวอีก

มันจึงมีคนอีกกลุ่มหนึ่งเชื่อว่าเราไม่ได้เกิดมาเพื่อมีความสุข

“I cannot believe that the purpose of life is to be “happy.” I think the purpose of life is to be useful, to be responsible, to be honorable, to be compassionate. It is, above all, to matter: to count, to stand for something, to have made some difference that you lived at all.”

“ผมไม่อาจเชื่อได้ว่าเป้าหมายของชีวิตคือการมีความสุข ผมคิดว่าเป้าหมายของชีวิตคือการทำตัวให้เป็นประโยชน์ มีความรับผิดชอบ มีคุณธรรม มีเมตตา และที่สำคัญที่สุดคือมีแก่นสาร มีความหมาย ได้ยืนหยัดเพื่ออะไรบางอย่าง และได้สร้างความแตกต่างให้สมกับที่เกิดมาในชาตินี้”

—Leo C. Rosten

สำหรับคุณ Leo Rosten เป้าหมายของชีวิตคือการทำให้ชีวิตนี้มีความหมายด้วยการทำตัวให้มีประโยชน์

ผมว่าเราไม่จำเป็นต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่งนะ

ผมว่าเราสามารถมีชีวิตที่สร้างประโยชน์และมีความสุขได้ด้วย เพียงแต่สองอย่างนี้บางทีมันก็อาจไม่ได้มาพร้อมกันเท่านั้นเอง

ช่วงที่งานหนักๆ หรือลูกยังอายุไม่เกิน 3 เดือน ความสุขทางกายภาพคงเป็นสิ่งหาได้ยาก แต่อย่างน้อยเราก็ยังบอกตัวเองได้ว่า สิ่งที่ทำอยู่ตอนนี้มีมีประโยชน์ ทั้งต่อสังคมโดยรวมและต่อมนุษย์ตัวน้อยๆ คนหนึ่ง

แม้กระทั่งการเล่นมือถือหรือการสังสรรค์ เราก็ยังสามารถสร้างประโยชน์ได้ เช่นเมื่ออ่านเจอบทความดีๆ แล้วแชร์ต่อให้เพื่อนอ่าน หรือเวลาไปงานปาร์ตี้ก็อาจจะบอกกับตัวเองว่าหน้าที่ของเราในคืนนี้คือทำให้เพื่อนมีรอยยิ้มและเสียงหัวเราะ

ไม่ว่าจะอยู่ในสถานการณ์หรือบริบทไหน เราสามารถทำตัวให้มีประโยชน์ได้เสมอ

และเมื่อเราทำหน้าที่อย่างเต็มที่แล้ว ผลลัพธ์ที่ตามมาก็น่าจะนำมาซึ่งความสุขและความอิ่มใจครับ


Time Management Workshop วันอาทิตย์ที่ 6 สิงหาคม ยังมีที่ว่างอีก 2 ที่ ดูรายละเอียดการสมัครได้ที่ https://goo.gl/wF7mS2

facebook.com/anontawongblog
anontawong.com/archives

นิยามความสำเร็จ

20170725_successdefinition

“Success is liking yourself, liking what you do, and liking how you do it.”

ความสำเร็จคือสภาวะที่เราชอบตัวเอง ชอบสิ่งที่ตัวเองทำ และชอบวิธีที่เราทำมัน

-Maya Angelou

คนเราเกิดมาไม่เท่ากันอยู่แล้ว คนที่คาบช้อนเงินช้อนทองมาเกิดจึงอาจมีทรัพย์สินมากมายโดยไม่ได้ทำอะไร “สำเร็จ” เลยก็ได้

และเอาที่จริง การวัดความสำเร็จโดยดูที่เงินเก็บ เงินเดือน หรือเงินได้เป็นหลัก ก็เป็นเพียงกรอบความคิดที่เพิ่งมาพร้อมกับลัทธิทุนนิยมในช่วง 500 ปีหลังนี่เอง

ผมจึงชอบนิยามความสำเร็จที่คุณมายา แองเจลู กวีผิวสีชาวอเมริกันได้กล่าวเอาไว้

เพราะมันไม่มีตัวเลขเข้ามาเกี่ยวข้องเลย

มาตรวัดเดียวที่จะดูว่าเรา “ประสบความสำเร็จ” รึเปล่า คือตอบคำถามง่ายๆ ว่า “เราชอบตัวเองมั้ย”?

(ซึ่งสามารถนำมาใช้กับความรักได้เช่นกัน -> อ่านบทความ “ชอบตัวเองรึเปล่า“)

ถ้าเราชอบตัวเอง มีความสุขกับสิ่งที่ตัวเองทำ และสิ่งนั้นไม่ขัดกับมโนธรรม ก็เป็นสัญญาณที่ดีว่าเรากำลังเดินมาถูกทางแล้ว ส่วนเงินทองจะตามมาหรือไม่เป็นเรื่องของแถมเสียมากกว่า

ถ้าคิดดีๆ เป้าหมายที่ว่าจะรวย 10 ล้าน 100 ล้านนั้นก็เป็นเพียงตัวเลขสมมติ

ที่คนเราชอบตั้งเป้าเป็นตัวเลขนี้เป็นเพียงเพราะว่ามนุษย์มีสิบนิ้ว ก็เลยใช้เลขฐานสิบ และเงินล้านก็ฟังดูเยอะดี

สุดท้ายแล้ว จะมีเงิน 100 บาทหรือมีเงิน 100 ล้าน กินข้าวจานเดียวก็อิ่มเท่ากัน เพราะสิ่งที่เรา need นั้นจริงๆ มีไม่มากหรอก แต่สิ่งที่เรา want นั้นมีไม่จำกัด

แต่ยิ่ง want เท่าไหร่ โอกาสที่เราจะ “รู้สึกสำเร็จ” ยิ่งน้อยลงเท่านั้นนะครับ

และถ้าเราไปแขวนความสุขความสำเร็จไว้กับการพิชิตเป้าหมายอะไรบางอย่าง นั่นอาจหมายความว่าเราจะไม่รู้สึกสำเร็จเลยจนกว่าจะพิชิตเป้าหมายนั้นในอนาคต ซึ่งก็ดูจะใจร้ายกับตัวเองไปหน่อย

สู้กลับมาถามตัวเองตอนนี้เลยดีกว่าว่าเราชอบตัวเองรึเปล่า

ถ้าชอบก็สำเร็จทันที

ถ้าไม่ชอบ ก็ต้องลุกขึ้นมาเปลี่ยนอะไรซักอย่างแล้ว

—–

Time Management Workshop วันอาทิตย์ที่ 6 สิงหาคม ยังมีที่ว่างอีก 5 ที่ ดูรายละเอียดการสมัครได้ที่ https://goo.gl/wF7mS2

facebook.com/anontawongblog
anontawong.com/archives