เบื้องลึกเบื้องหลังสงครามยูเครน

เมื่อสัปดาห์ที่แล้วผมเขียนบทความ “สงครามยูเครนอาจเปลี่ยนแปลงทุกอย่าง” – Yuval Noah Harari ผู้เขียนหนังสือ Sapiens ซึ่งก็ได้รับความสนใจพอสมควร

กระนั้นก็มีเสียงบ่นว่า Harari เข้าข้างยูเครนมากเกินไป สหรัฐต่างหากที่เป็นตัวร้าย และปูตินเองก็ไม่ได้ขออะไรมาก แค่ขอไม่ให้ยูเครนเข้า NATO เท่านั้นเองเพราะมันเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัสเซีย

ในมุมมองของผม สำหรับความขัดแย้งระดับนี้ ถ้าเรื่องราวมันเป็นแค่ขาวกับดำ มีพระเอกและตัวร้ายที่ชัดเจนเหมือนละครไทย มันคงแก้ไขได้ไปนานแล้ว

แต่เพราะมันถูกทั้งคู่และผิดทั้งคู่ มันถึงไม่มีทางออกและนำเรามาสู่สงครามครั้งนี้

จุดประสงค์ของบทความนี้ ก็เพื่อให้เราเข้าใจประวัติศาสตร์และบริบทว่าเรามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร โดยไม่ด่วนตัดสิน และโดยเผื่อใจไว้ว่าไม่มีฝ่ายไหนเป็นเจ้าของความจริงและความถูกต้องแต่เพียงฝ่ายเดียว

เนื้อหาในบทความนี้นำมาจาก Youtube Channel ของ RealLifeLore

ผมไม่รู้ชื่อเสียงเรียงนามว่าคนสร้างเป็นใคร แต่ Channel นี้ได้จัดทำวีดีโอเรื่องราวทางประวัติศาสตร์มามากกว่า 200 ตอน และคลิป Why Russia is invading Ukraine ที่โพสต์เมื่อวันที่ 26 กุมภา (สองวันหลังรัสเซียบุกยูเครน) ก็มียอดรับชมถึงเกือบ 15 ล้านวิวหลังจากผ่านมาเพียง 2 สัปดาห์

ผมได้ดูแล้วเนื้อหาน่าสนใจมาก เลยขอนำบางส่วนมาเล่าให้ฟังไว้ในบทความนี้นะครับ [ส่วนไหนที่ผมขยายความเอง ผมจะใส่วงเล็บสี่เหลี่ยมไว้แบบนี้นะครับ]

อ้อ ตอนอ่านบทความ ผมแนะนำว่าควรดูแผนที่ประกอบไปด้วย โดยผมได้ปักหมุดสถานที่ยุทธศาสตร์เอาไว้ใน Google Maps เรียบร้อยแล้ว ดูได้ในลิงค์นี้ครับ https://goo.gl/maps/NmV64siN81dYNiNe7


เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2022 ปูตินได้ส่งกองกำลังรบประมาณ 200,000 นาย ไปตามชายแดนของยูเครน และส่วนหนึ่งก็ไปตั้งฐานที่มั่นในเบลารุส [ซึ่งโปรรัสเซีย] กำลังรบระดับนี้มีจำนวนพอๆ กับกำลังรบทั้งหมดของยูเครน และเท่ากับจำนวนทหารที่อเมริกาส่งไปรบที่อิรักในปี 2003 [เปรียบเทียบให้เห็นภาพ – ประเทศไทยมีกำลังรบ 245,000 นาย อ้างอิงจาก Wikipedia]

นอกจากนั้น ปูตินยังสั่งการให้ทหารรัสเซียเคลื่อนทัพเข้าไปใน โดเนตสค์ (Donetsk) และลูฮานสค์ (Luhansk) สองแคว้นทางตะวันออกสุดของยูเครน ซึ่งเป็นฐานที่มั่นสำคัญของกลุ่มกบฏแบ่งแยกดินแดน และปูตินก็ได้ประกาศรับรองให้ทั้งสองเป็นรัฐเอกราชเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

เมื่อคำนึงว่ารัสเซียเองก็มีกองกำลังรบอยู่ในแหลมไครเมียอยู่แล้ว (Crimean Peninsula) ก็จะเห็นได้ชัดว่ารัสเซียได้เคลื่อนพลล้อมกรอบยูเครนไว้เกือบทั้งประเทศ และนั่นหมายความว่าเรากำลังเผชิญวิกฤติความขัดแย้งครั้งใหญ่ที่สุดในยุโรปนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา


ย้อนกลับไปเมื่อหลายสิบปีก่อน สหภาพโซเวียตคือหนึ่งในประเทศที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก แต่ในเดือนธันวาคมปี 1991 โซเวียตก็ล่มสลายและแตกออกเป็น 15 สาธารณรัฐ โดยตอนนี้รัสเซียมีประชากรเพียงครึ่งหนึ่งเมื่อเทียบกับครั้งที่ยังเป็นโซเวียต และมีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่กว่าสเปนเพียงเล็กน้อย

ในยุคสงครามเย็น (1947-1989) มีพันธมิตรด้านการทหารในยุโรปอยู่สององค์กร คือนาโต้ (NATO) ของยุโรปตะวันตก และ กติกาสัญญาวอร์ซอ (Warsaw Pact) ของยุโรปตะวันออก โดยที่ประเทศใน Warsaw Pact นั้นอยู่ภายใต้อิทธิพลของมอสโก และนับเป็น buffer ชั้นดีของรัสเซียสำหรับการป้องกันการรุกรานจากประเทศในกลุ่มนาโต้

แต่ 30 ปีที่ผ่านมามีอะไรเปลี่ยนไปมากมาย กลุ่มประเทศที่เคยอยู่ใน Warsaw Pact อย่างเยอรมันตะวันออก โปแลนด์ เชคโกสโลวาเกีย ฮังการี โรมาเนียและบัลกาเรียได้กลายไปเป็นสมาชิกของนาโต้ และประเทศที่เคยอยู่ในสหภาพโซเวียตอย่างลิทูเนีย แลตเวีย และเอสโตเนียก็เข้าร่วมนาโต้ด้วยเช่นกัน ถ้าคุณนั่งอยู่ในมอสโกและเชื่อว่านาโต้นั้นเป็นศัตรูก็ย่อมต้องไม่สบายใจเป็นธรรมดา

ในอีกฝั่งหนึ่ง ตอนที่โซเวียตล่มสลาย สาธารณรัฐที่เกิดใหม่ก็ได้สร้าง “องค์การสนธิสัญญาความมั่นคงร่วมกัน” (Collective Security Treaty Organization หรือ CSTO) ซึ่งมีสมาชิกอย่างรัสเซีย เบลารุส และอาร์เมเนีย

แต่ยูเครนไม่ได้เข้าร่วมทั้งนาโต้และ CSTO ดังนั้นหากยูเครนอยู่ภายใต้อิทธิพลของรัสเซีย รัสเซียก็จะขยายแนวป้องกัน (defensive lines) ไปได้ถึงเทือกเขาคาเพเธี่ยน (Carpathian Mountains) แต่ถ้ายูเครนเข้าเป็นสมาชิกของนาโต้ จะทำให้แนวป้องกันถอยร่นลงมาทางตะวันออกซึ่งเป็นพื้นที่ราบขนาดใหญ่ที่เรียกว่า North European Plain ซึ่งป้องกันการรุกรานทางบกได้ยาก และจะทำให้อาณาเขตของนาโต้ห่างจากเมือง Volgograd เพียง 300 กิโลเมตร

ถ้า Volgograd ถูกนาโต้ยึด แม่น้ำ Volga River ก็อาจถูกปิดเส้นทางลำเลียงน้ำมันและก๊าซธรรมชาติจากทะเลแคสเปียน (Caspian Sea) ทางตอนใต้ของรัสเซีย ซึ่งเหตุการณ์นี้เคยเกือบเกิดขึ้นในสงครามโลกครั้งที่ 2 สมัยที่ Volgograd ยังถูกเรียกว่า Stalingrad

[The Battle of Stalingrad – เยอรมนีและประเทศพันธมิตรได้สู้รบกับสหภาพโซเวียตในการเข้าควบคุมเมืองสตาลินกราด เป็นการต่อสู้ในระยะประชิดที่รุนแรงและมีการโจมตีพลเรือน ถือเป็นการสู้รบที่ร้ายแรงมากที่สุดที่เกิดขึ้นในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง]

อีกประเด็นก็คือ หากยูเครนเข้าร่วมกับนาโต้ ประเทศเบลารุสที่เป็นเหมือนแขนขาของรัสเซียก็จะถูกล้อมรอบไปด้วยประเทศสมาชิกนาโต้ จนแทบจะไม่สามารถป้องกันตัวเองได้ ดังนั้นรัสเซียจึงจำเป็นต้องให้ยูเครนอยู่ภายใต้การกำกับของรัสเซีย หรืออย่างน้อยที่สุดก็ต้องเป็นกลาง ไม่เข้ากับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

ดูจะเป็นเรื่องการทหารและความมั่นคงของประเทศล้วนๆ แต่เบื้องลึกเบื้องหลังอาจมีมากกว่านั้น


แม้ขนาดเศรษฐกิจของรัสเซียจะใหญ่กว่าสเปนเพียงเล็กน้อย แต่เมื่อมองในมิติด้านพลังงานแล้ว รัสเซียก็ยังคงเป็นประเทศมหาอำนาจ รัสเซียเป็นผู้ผลิตน้ำมันดิบรายใหญ่เป็นอันดับสองของโลก ใหญ่กว่าซาอุดิอาระเบียด้วยซ้ำไป

และรัสเซียเองก็มีแหล่งก๊าซธรรมชาติใหญ่ที่สุดในโลกในไซบีเรีย ทำให้รัสเซียเป็นผู้ส่งออกก๊าซธรรมชาติอันดับหนึ่งของโลก รายได้จากการขายน้ำมันและก๊าซธรรมชาตินั้นมีมูลค่าสูงถึง 50% ของงบประมาณรัฐบาลรัสเซีย และคิดเป็น 30% ของ GDP ประเทศ

รัสเซียนำรายได้จากการขายน้ำมันและก๊าซธรรมชาติมาใช้สนับสนุนกองทัพ จ่ายหนี้ และฟื้นฟูตัวเองเพื่อจะกลับมาเป็นมหาอำนาจอีกครั้ง รัสเซียจึงเป็น Petrostate (ประเทศที่ขับเคลื่อนด้วยน้ำมัน) ไม่ต่างอะไรจากซาอุหรืออิหร่าน และเป็น Petrostate เพียงแห่งเดียวในยุโรป – อย่างน้อยก็ในตอนนี้

ลูกค้ารายใหญ่ของรัสเซียคือยุโรป โดย 35% ของก๊าซธรรมชาติทั้งหมดที่ยุโรปใช้นั้นนำเข้าจากรัสเซีย โดยมีเยอรมันนีที่มีขนาดเศรษฐกิจเป็นอันดับ 4 ของโลกเป็นลูกค้ารายใหญ่ที่สุด ดังนั้นหากมี disruption อะไรในการค้าขายพลังงานระหว่างรัสเซียกับยุโรป รัสเซียจะได้รับผลกระทบอย่างหนัก

และ disruption ที่ว่าก็อาจเกิดจากยูเครนนี่แหละ

ในสมัยที่รัสเซียและยูเครนยังเป็นประเทศเดียวกันภายใต้ร่มสหภาพโซเวียต ก๊าซธรรมชาติจากไซบีเรียจะถูกลำเลียงไปขายที่ยุโรปผ่านท่อส่งก๊าซในยูเครน แต่เมื่อโซเวียตล่มสลาย ยูเครนก็เริ่มเรียกเก็บภาษีศุลกากร (tarif) ปีละหลายพันล้านดอลลาร์จากรัสเซีย ซึ่งรัสเซียก็ไม่มีทางเลือก จำใจต้องจ่ายเพื่อจะส่งน้ำมันและก๊าซไปขายให้ยุโรป

แต่ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา รัสเซียก็เริ่มสร้างท่อส่งก๊าซเส้นทางอื่นๆ เช่น ท่อ Yamal-Europe ผ่านเบลารุส, ท่อ Nord Stream ใต้ทะเลบอลติก (Baltic Sea) และท่อ South Stream ใต้ทะเลดำ (Black Sea) ซึ่งรัสเซียวางแผนไว้ว่าภายในปี 2024 จะเลิกส่งก๊าซผ่านท่อของยูเครนโดยถาวร จะได้ไม่ต้องโดนยูเครนหักค่าหัวคิวอีกต่อไป

แต่จุดพลิกผันก็คือ ในช่วงต้นปี 2012 ยูเครนได้ค้นพบแหล่งก๊าซธรรมชาติมากถึง 2 ล้านล้านลูกบาศก์เมตร (2 trillion cubic meters) ในเขตเศรษฐกิจจำเพาะ [Exclusive Economic Zone – EEZ – คืออนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล เป็นพื้นที่ทะเลซึ่งรัฐมีสิทธิพิเศษเหนือเขตดังกล่าวในการสำรวจและใช้ทรัพยากรทางทะเล โดย EEZ จะครอบคลุมพื้นที่ถัดจากอาณาเขตบนฝั่งไปสองร้อยไมล์ทะเล]

โดยแหล่งก๊าซที่เพิ่งค้นพบนี้มีจุดศูนย์กลางอยู่ใกล้กับแหลมไครเมีย

ยิ่งกว่านั้น ด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่เกิดขึ้นในทศวรรษที่ผ่านมา ทำให้เมือง Donetsk ทางตะวันออก และเทือกเขาคาร์เพเธี่ยนทางตะวันตกของยูเครนอาจกลายเป็นแหล่ง shale gas ขนาดใหญ่ของยูเครนได้ [shale gas คือก๊าซธรรมชาติที่ถูกกักอยู่ในชั้นหินดินดานลึกลงไปใต้เปลือกโลก ต้องอาศัยเทคโนโลยีการขุดเจาะที่ซับซ้อนกว่าการขุดเจาะแบบดั้งเดิม]

ซึ่งหากยูเครนสามารถขุดเจาะก๊าซเหล่านี้มาขายได้ จะทำให้ยูเครนเป็นแหล่งก๊าซธรรมชาติอันดับที่ 14 ของโลกทันที (ตามหลังออสเตรเลียและอิรัก)

ด้วยความที่รัฐบาลยูเครนไม่ได้มีงบมากนัก จึงให้สัมปทานกับ Shell และ Exxon เข้ามาช่วยสร้างแท่นขุดเจาะและดำเนินการ ซึ่งหากทำสำเร็จยูเครนอาจได้เป็น Petrostate แห่งที่สองของยุโรป และก้าวขึ้นมาเป็นคู่แข่งของรัสเซียด้านผู้ส่งออกพลังงาน แถมยังเพิ่มโอกาสให้ยูเครนได้เข้าร่วม EU กับ NATO ได้ง่ายขึ้นอีกด้วย

และนี่แหละคือสิ่งที่ RealLifeLore ผู้จัดทำวีดีโอนี้ เชื่อว่าเป็นเหตุผลที่แท้จริงของความขัดแย้งระหว่างยูเครนกับรัสเซีย


ในปี 2012 ที่ยูเครนค้นพบแหล่งก๊าซธรรมชาติแห่งใหม่ ผู้นำของยูเครนในตอนนั้นคือ วิกเตอร์ ยานูโควิช (Viktor Yunukovych) ซึ่งโปรรัสเซียอยู่แล้ว จึงไม่มีปัญหาอะไร

แต่ในเดือนกุมภาพันธ์ปี 2014 เกิดการปฏิวัติและยูเครนได้รัฐบาลที่โอนเอียงไปทางฝั่งยุโรป รัสเซียจึงไม่มีรีรอที่จะส่งกำลังทหารไปยึดแหลมไครเมีย และผนวกไครเมียเข้าเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซียโดยอ้างเรื่องประวัติศาสตร์และชนชาติ

การยึดแหลมไครเมีย ทำให้รัสเซียได้แนวชายฝั่งที่เคยเป็นของยูเครนไปถึง 2 ใน 3 จึงได้พื้นที่ EEZ หรือเขตเศรษฐกิจจำเพาะตรงนั้นไปโดยปริยาย ที่สำคัญที่สุดคือ 80% ของก๊าซธรรมชาติที่เคยอยู่ใน EEZ ของยูเครนก็จะตกเป็นของรัสเซียด้วย เครื่องไม้เครื่องมือการขุดเจาะทั้งหมดก็ถูกรัฐบาลรัสเซียยึดเอาไว้ ไม่นานเชลล์และเอ็กซ์ซอนก็ถอนตัว แทบจะเป็นการปิดโอกาสที่ยูเครนจะได้ขึ้นมาเป็น Petrostate กับเขาบ้าง

ส่วนพื้นที่ที่มี shale gas ทางตะวันออกอย่าง Donesk ก็มีกลุ่มก่อกบฎที่ต้องการแบ่งแยกดินแดน ซึ่งกลุ่มนี้ก็ได้รับการสนับสนุนจากรัสเซีย และพื้นที่ shale gas ทางตะวันตกอย่างเทือกเขาคาร์เพเธี่ยน ก็มีกลุ่มแบ่งแยกดินแดนเกิดขึ้นในเมือง Transnistria ของประเทศมอลโดวา ซึ่งนี่ไม่น่าจะเป็นเรื่องบังเอิญ

รัสเซียไม่น่าจะคืนแหลมไครเมียให้ยูเครนง่ายๆ เพราะนอกจากจะเสียพื้นที่ EEZ แล้ว ยังจะเสียเมืองท่าสำคัญอย่าง Sevastopol ซึ่งเป็นท่าเรือเพียงไม่กี่แห่งที่ปราศจากการปกคลุมของน้ำแข็งตลอดทั้งปี รัสเซียจึงสามารถปฏิบัติการในทะเลดำและทะเลเมดิเตอเรเนียนได้อย่างเต็มที่

อย่างไรก็ตาม แหลมไครเมียนั้นมีภูมิประเทศคล้ายกับเกาะ มีส่วนเชื่อมกับยุโรปแค่นิดเดียว จึงแทบไม่มีแหล่งน้ำจืดเลย

ก่อนที่รัสเซียจะผนวกไครเมียนั้น 85% ของน้ำจืดในไครเมียถูกลำเลียงมาจากทางตอนเหนือผ่านคลองที่ขุดไว้ตั้งแต่สมัยที่ยังเป็นสหภาพโซเวียต

แต่หลังจากที่รัสเซียยึดไครเมีย ยูเครนก็แก้เผ็ดด้วยการเอาปูนซิเมนต์ไปถมเพื่อปิดกั้นคลองส่งน้ำ ไครเมียจึงขาดแคลนน้ำจืดอย่างรุ่นแรง แถมภาวะโลกร้อนยังซ้ำเติม โดยในปี 2020 เป็นปีที่แล้งที่สุดในประวัติศาสตร์ของไครเมียนับตั้งแต่เก็บสถิติมา 150 ปี และอ่างเก็บน้ำในไครเมียก็เหลือน้ำอยู่เพียง 7% ของความจุ ประชาชนชาวไครเมีย 2 ล้านคนจึงลำบากเป็นอย่างยิ่ง

รัสเซียแก้ปัญหาด้วยการทุ่มงบหลายพันล้านดอลลาร์เพื่อสร้างสะพานข้ามช่องแคบเคียร์ช (Kerch Strait) ให้สามารถขนส่งน้ำจืดจากรัสเซียแผ่นดินใหญ่มาที่แหลมไครเมียได้

แน่นอนว่ายูเครนย่อมอยากได้แหลมไครเมียคืนจากรัสเซีย แต่ตัวเองไม่ได้มีกำลังพอที่จะทำอะไรรัสเซียได้ แต่หากยูเครนได้เข้าเป็นสมาชิกของนาโต้ และเกิดการสู้รบกันระหว่างยูเครนกับรัสเซียในพื้นที่ที่เป็นปัญหา ยูเครนอาจขอใช้สิทธิ์ Article 5 ในสนธิสัญญาที่ระบุไว้ว่า

“If a NATO Ally is the victim of an armed attack, each and every other member of the Alliance will consider this act of violence as an armed attack against all members and will take the actions it deems necessary to assist the Ally attacked”

แปลความง่ายๆ คือถ้าใครมารุกรานประเทศใดประเทศหนึ่งในกลุ่มพันธมิตรนาโต้ จะถือว่าเป็นการรุกรานทุกประเทศในกลุ่มพันธมิตร และพันธมิตรจะร่วมมือกันสู้กับประเทศนั้น

ซึ่งหากเกิดสถานการณ์เช่นนั้นจริง รัสเซียน่าจะต้านทานลำบากอยู่เหมือนกัน

แถมรัสเซียเองก็มีปัญหาภายในที่สำคัญ นั่นคือการลดลงของประชากรอย่างต่อเนื่อง โดยอัตราเด็กเกิดใหม่ในรัสเซียอยู่ในกลุ่มรั้งท้ายของประเทศทั่วโลก และการมาของโควิดก็ยิ่งทำให้สถานการณ์แย่ลงไปอีก

ตอนนี้รัสเซียมีผู้ชายวัยเกณฑ์ทหารราว 25 ล้านคน ถ้าปล่อยให้เวลาผ่านเลย จำนวนชายฉกรรจ์ย่อมลดลงไปรื่อยๆ หากรัสเซียไม่รีบจัดการเรื่องยูเครน รัสเซียก็จะยิ่งเสียเปรียบ

นับตั้งแต่การยึดแหลมไครเมียในปี 2014 รัสเซียจึงได้สนับสนุนกองกำลังแบ่งแยกดินแดนในดอนบาส (Donbas region) ในรัฐ Donetsk และ Luhansk ซึ่งกลุ่มแบ่งแยกดินแดนก็ประกาศตัวเป็นเอกราชจากยูเครนไปเมื่อ 8 ปีที่แล้ว

แน่นอนว่ารัฐบาลยูเครนไม่ยอมและส่งกองกำลังไปปราบปรามกลุ่มกบฏ การสู้รบในเขตดอนบาสทำให้มีผู้สังเวยชีวิตไปแล้วกว่า 14,000 ศพ

เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ปูตินได้ลงนามรับรองเอกราชของโดเนตสค์และลูฮานสค์ และส่งทหารไปรักษาการในพื้นที่เหล่านี้ ซึ่งอนาคตก็มีความเป็นไปได้ที่ปูตินจะเดินตามรอยแหลมไครเมีย คือผนวกโดเนตสก์และลูฮานสค์ให้เป็นส่วนหนึ่งของรัสเซีย และปูตินอาจจะส่งกองกำลังไปทางด้านเหนือของแหลมไครเมียเพื่อจัดการกับการขัดขวางเส้นทางน้ำจืดที่ยูเครนสร้างเอาไว้ รวมถึงอาจจะยึดครองพื้นที่ชายฝั่งทะเลของยูเครนทั้งหมด เพื่อให้ยูเครนกลายเป็นประเทศที่ไม่มีทางออกทะเล (land-locked)

หรือไม่อย่างนั้น รัสเซียอาจยึดครองยูเครนทั้งประเทศ เพื่อเพิ่มแนวป้องกัน (defensive line) ให้กับกลุ่มประเทศใน CSTO ก็ได้

หากยึดครองยูเครนได้สำเร็จ เป้าหมายถัดไปน่าจะไม่พ้นมอลโดวา ซึ่งเคยเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียต ตอนนี้มอลโดวายังไม่ได้เป็นสมาชิกของนาโต้ และมีรัฐที่ต้องการแบ่งแยกดินแดนอย่าง Transnistria รอต้อนรับรัสเซียอยู่แล้ว

ซึ่งทั้งหมดนี้น่าจะเป็นส่วนหนึ่งของแผนการที่ปูตินย้ำเสมอว่าเขาอยากนำโซเวียตกลับคืนมา และต้องการสร้างจักรวรรดิรัสเซียสำหรับศตวรรษที่ 21

แม้ตอนนี้เรายังไม่รู้ว่าปูตินจะทำอะไรต่อ แต่สิ่งที่ชัดเจนคือปูตินได้เรียกร้องชาติตะวันตก 3 ข้อด้วยกัน

  1. ห้ามนาโต้รับยูเครนเข้าเป็นสมาชิก
  2. ให้อเมริกาและสมาชิกนาโต้ถอนฐานทัพออกจากยุโรปตะวันออก และถอยกลับไปอยู่ที่เยอรมันเหมือนช่วงก่อนปี 1997
  3. ไม่ให้นาโต้รับสมาชิกเพิ่มไปกว่านี้ และห้ามมีการซ้อมรบในยุโรปตะวันออกหากไม่ได้รับการยินยอมจากรัสเซีย

โอกาสที่อเมริกาและยุโรปจะยอมทำตามข้อเรียกร้องนั้นน้อยมาก และปูตินก็เก๋าเกมพอที่จะรู้อยู่แล้วว่านาโต้คงไม่ยอม

เวลาเท่านั้นที่จะบอกได้ว่าปูตินจะทำอะไรต่อไป แต่หากเราดูยุทธวิธีที่ปูตินใช้อยู่ตอนนี้ ก็ดูจะคล้ายคลึงกับสิ่งที่ปูตินเคยทำไว้กับจอร์เจียเมื่อ 14 ปีที่แล้ว

ในเดือนสิงหาคมปี 2008 รัสเซียส่งกำลังรบเข้าไปในรัฐที่ต้องการแบ่งแยกดินแดนจากจอร์เจีย คือรัฐอับคาเซียและรัฐเซาท์ออสซีเชีย (Abkhazia & South Ossetia) และรับรองเอกราชของทั้งสองรัฐ

หลังจากนั้นรัสเซียก็ส่งกองกำลังรบทั้งทางบก ทางอากาศ และทางน้ำเข้าปะทะกับรัฐบาลของจอร์เจีย [อ่านเพิ่มเติมได้ในวิกิพีเดีย – Russo-Georgian War] โดยสงครามกินเวลา 12 วันถึงจะมีการสงบศึก ผลลัพธ์คือทั้งอับคาเซียและเซาท์ออสซีเซียตกอยู่ภายใต้การควบคุมของรัสเซีย และประชาชน 200,000 คนในจอร์เจียต้องอพยพ

แม้จอร์เจียจะตัดความสัมพันธ์ทางการฑูตกับรัสเซีย แต่ท้ายที่สุดแล้วปูตินได้ประโยชน์จากสงครามครั้งนี้ เพราะจอร์เจียตัดสินใจไม่เข้าร่วมกับนาโต้ และ ณ ช่วงเวลานั้นนาโต้กับชาติตะวันตกก็กำลังวุ่นวายกับเรื่องสงครามในอิรักและอัฟกานิสถาน จึงไม่ค่อยมีใครให้ความสำคัญหรือออกมาประณามสงครามระหว่างรัสเซียกับจอร์เจีย

2014 หรือในอีก 6 ปีถัดมา ปูตินก็ใช้ท่าเดียวกันกับแหลมไครเมีย

และ ณ วันนี้ ในปี 2022 ก็ดูเหมือนว่าประวัติศาสตร์จะซ้ำรอยอีกครั้งในโดเนตสค์และลูฮานสค์

เรื่องราวจะเป็นอย่างไร เราทำได้แค่ติดตามตอนต่อไปครับ


ขอบคุณข้อมูลจาก RealLifeLore: Why Russia is Invading Ukraine

ติดตาม Anontawong’s Musings ได้หลากหลายช่องทางที่ https://linktr.ee/anontawong

“สงครามยูเครนอาจเปลี่ยนแปลงทุกอย่าง” – Yuval Noah Harari ผู้เขียนหนังสือ Sapiens

เมื่อวันอังคารที่ 1 มีนาคมที่ผ่านมา TED ได้สัมภาษณ์ Yuval Noah Harari ผู้เขียนหนังสือ Sapiens: A Brief History of Humankind เกี่ยวกับมุมมองที่เขามีต่อสงครามยูเครนในตอนนี้

หากใครอยากฟังยูวาลเต็มๆ ก็เข้ายูทูบแล้วค้นหา The War in Ukraine Could Change Everything ได้เลย

ส่วนผมเองได้แปลบางช่วงตอนมาฝากไว้ตรงนี้ครับ [ส่วนที่ผมขยายความ จะใส่ไว้ในวงเล็บสี่เหลี่ยมแบบนี้นะครับ]

.

[ถาม] อะไรคือสิ่งที่เราจำเป็นต้องรู้เกี่ยวกับยูเครนเพื่อจะได้เข้าใจว่าสงครามครั้งนี้มีเดิมพันอะไรบ้าง?

สิ่งสำคัญที่สุดที่คุณต้องรู้ก็คือชาวยูเครนไม่ใช่ชาวรัสเซีย และยูเครนคือประเทศอธิปไตยที่มีมาตั้งแต่โบราณ

ยูเครนมีประวัติศาสตร์ยาวนานกว่าพันปี เคียฟ [Kyiv เมืองหลวงของยูเครน] เป็นมหานครและศูนย์กลางวัฒนธรรมมาตั้งแต่ตอนที่มอสโกยังไม่ได้เป็นหมู่บ้านด้วยซ้ำ

ในประวัติศาสตร์อันยาวนาน เคียฟไม่ได้อยู่ในการปกครองของมอสโก เป็นเวลาหลายศตวรรษที่เคียฟมีสัมพันธ์กับโลกตะวันตกและเป็นสหภาพเดียวกับลิทูเนียและโปแลนด์ก่อนจะถูกยึดครองโดยอาณาจักรซาร์ของรัสเซีย

แต่ความเป็นชนชาติของยูเครนก็ยังคงอยู่ตลอดมา และเราจำเป็นต้องเข้าใจประเด็นนี้ เพราะนี่แหละคือสิ่งที่เป็นเดิมพันในสงครามครั้งนี้

ประเด็นสำคัญของการทำสงคราม อย่างน้อยก็ในมุมของปูติน คือยูเครนเป็นประเทศเอกราชหรือไม่ หรือแม้กระทั่งว่ายูเครนเป็น “ประเทศ” รึเปล่า เพราะปูตินมีจินตภาพ (fantasy) ว่ายูเครนไม่ใช่ประเทศ แต่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของรัสเซีย และชาวยูเครนก็คือชาวรัสเซีย

ในจินตภาพของปูติน ชาวยูเครนอยากกลับสู่อ้อมอกแม่ที่มีนามว่ารัสเซีย และอุปสรรคเพียงอย่างเดียวก็คือแก๊งค์เล็กๆ ที่กุมอำนาจสูงสุดของที่ปูตินสร้างภาพว่าเป็นพวกนาซี ทั้งๆ ที่ประธานาธิบดีของยูเครนนั้นเป็นยิว…คนยิวที่เป็นนาซี…เอาอย่างนั้นก็ได้

และสิ่งที่ปูตินเชื่อก็คือ ถ้าเพียงรัสเซียบุกเข้ายูเครน เซเลนสกี้ [ประธานาธิบดีของยูเครน] ก็จะลี้ภัย รัฐบาลจะล้ม ทหารจะวางอาวุธ และชาวยูเครนจะโปรยดอกไม้ให้เหล่าทหารรัสเซียผู้มาปลดแอก

แต่จินตภาพนั้นก็ถูกทำลายลงไปเรียบร้อย เซเลนสกี้ไม่ได้หนีไปไหน กองทัพยูเครนยังคงสู้รบ และชาวยูเครนไม่ได้โปรยดอกไม้ให้รถถังของรัสเซีย แต่ปาระเบิดขวดให้แทน

.

[ถาม] ในหนังสือเล่มล่าสุดที่คุณเขียน [21 Lessons for the 21st Century] คุณบอกว่ารัสเซียไม่ได้ถูกนำทางด้วยอุดมการณ์ทางการเมือง มันเป็นเพียงการรวบอำนาจและความมั่งคั่งไว้ที่คนเพียงกลุ่มเดียว แต่ดูจากสิ่งที่ปูตินทำกับยูเครนแล้ว เหมือนเขากำลังใช้อุดมการณ์การสร้างอาณาจักรรัสเซีย ด้วยการปฏิเสธความมีตัวตนของประเทศยูเครน อะไรคือสิ่งที่เปลี่ยนไปใน 4 ปีที่ผ่านมาหลังจากที่คุณเขียนหนังสือเล่มนั้น?

ความฝันในการสร้างจักรวรรดินั้นมีมาโดยตลอด แต่คุณก็รู้ว่าจักรวรรดินั้นถูกสร้างโดยแก๊งค์ของคนไม่กี่คนที่กุมอำนาจสูงสุด ผมไม่คิดว่าประชาชนชาวรัสเซียสนใจอยากทำสงครามนี้ ผมไม่คิดว่าพวกเขาอยากจะยึดครองยูเครน หรืออยากจะเข่นฆ่าประชาชนในเคียฟ ทุกอย่างถูกขับเคลื่อนมาจากกลุ่มผู้นำสูงสุดเท่านั้น

เมื่อเปรียบกับตอนที่เป็นสหภาพโซเวียต อย่างน้อยตอนนั้นก็มีอุดมการณ์บางอย่างที่ผู้คนในสหภาพยึดถือร่วมกัน แต่ตอนนี้มันไม่มีแล้ว

คุณก็รู้ว่ารัสเซียเป็นประเทศที่ร่ำรวยไปด้วยทรัพยากร แต่ผู้คนส่วนใหญ่กลับยากจน มีคุณภาพชีวิตที่ต่ำมาก เพราะอำนาจและความมั่งคั่งถูกดูดไปที่ส่วนบนหมดเลย

นี่จึงเป็นสภาพการณ์ที่ไม่ต่างจากจักรวรรดิภายใต้จักรพรรดิที่กุมอำนาจประเทศที่ใหญ่ที่สุดในโลกที่พูดว่า “เฮ่ย แค่นี้มันไม่พอนะ ข้ายังต้องการมากกว่านี้” ว่าแล้วก็เลยส่งกองทัพมาเพื่อขยายอาณาจักร

.

[ถาม] เมื่อวานนี้คุณเขียนบทความลง The Guardian ว่า เหตุใดปูตินจึงแพ้สงครามครั้งนี้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ช่วยขยายความหน่อย

เพื่อความชัดเจน ผมไม่ได้หมายความว่ารัสเซียจะแพ้ในทันที ปูตินมีกองทัพที่สามารถยึดครองเคียฟได้ และเผลอๆ จะยึดครองยูเครนทั้งประเทศได้ แต่เป้าหมายระยะยาวของปูตินคือการปฏิเสธความเป็นชาติของยูเครน และผนวกยูเครนเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซีย ซึ่งหากจะทำอย่างนั้น แค่ยึดครองเคียฟยังไม่พอ แต่ต้องรักษาเคียฟเอาไว้ให้ได้ด้วย

ซึ่งทุกอย่างตั้งอยู่บนจินตภาพหรือการเดิมพันที่ว่าชาวยูเครนส่วนใหญ่จะเห็นด้วย หรือแม้กระทั่งยินดีกับการกระทำของรัสเซีย แต่ตอนนี้เราก็ได้รู้แล้วว่ามันไม่จริง ชาวยูเครนเป็นชนชาติที่หวงแหนเอกราชของตัวเองมาก พวกเขาไม่ได้ต้องการเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซีย และพวกเขาพร้อมจะสู้ตาย

คุณอาจจะยึดครองประเทศได้ แต่อย่างที่รัสเซียได้เรียนรู้จากอัฟกานิสถาน และอย่างที่อเมริกาได้เรียนรู้จากอัฟกานิสถานและอิรัก การยึดครองนั้นง่ายกว่าการรักษาประเทศเอาไว้มากนัก

ก่อนสงครามจะเริ่ม เรารู้อะไรหลายอย่างอยู่แล้ว ทุกคนรู้ว่ากองทัพของรัสเซียนั้นแข็งแกร่งกว่ากองทัพของยูเครนหลายเท่า ทุกคนรู้ว่านาโต้ (NATO) จะไม่ส่งกองกำลังมาในยูเครน ทุกคนรู้ว่าอเมริกาและยุโรปจะไม่กล้าคว่ำบาตรรัสเซียรุนแรงเกินไปเพราะมันจะส่งเสียต่อตัวเอง เหล่านี้ล้วนเป็นส่วนประกอบสำคัญในแผนสงครามของปูติน

มีเพียงประเด็นเดียวที่ไม่มีใครแน่ใจ ก็คือชาวยูเครนจะมีปฏิกิริยาอย่างไร มันยังมีความเป็นไปได้ที่จินตภาพของปูตินจะเกิดขึ้นจริง เมื่อรัสเซียบุกเข้ามา เซเลนสกี้อาจจะหนี กองทัพยูเครนอาจจะล่ม และชาวยูเครนอาจจะปล่อยเลยตามเลย

แต่ตอนนี้เราได้รู้แล้วว่ามันเป็นเพียงเรื่องเพ้อเจ้อ ชาวยูเครนกำลังสู้และจะสู้ต่อไป และความจริงข้อนี้ก็ลดความชอบธรรมในการทำสงครามของปูติน เพราะแม้คุณจะเอาชนะได้ แต่คุณไม่สามารถจะผนวกยูเครนให้เป็นส่วนหนึ่งของรัสเซียได้

สิ่งเดียวที่ปูตินจะบรรลุคือการปลูกเมล็ดพันธุ์แห่งความแค้นในใจของชาวยูเครน แต่ละศพของชาวยูเครนที่ต้องสังเวยในสงครามคือเมล็ดพันธุ์แห่งความเกลียดชังที่จะคงอยู่ไปอีกหลายชั่วอายุคน

ก่อนเกิดสงคราม ชาวยูเครนกับชาวรัสเซียไม่ได้โกรธเกลียดกัน พวกเขาคือบ้านพี่เมืองน้อง แต่ปูตินกำลังทำให้ทั้งสองฝ่ายกลายเป็นศัตรู และถ้าปูตินยังไม่หยุด นี่จะกลายเป็นมรดกบาปของเขา

ผมอยากให้สงครามคราวนี้ยุติลงโดยเร็วที่สุด เพราะหากมันไม่จบ คนที่เดือดร้อนจะไม่ใช่แค่ยูเครนหรือรัสเซียเท่านั้น ทุกคน ทุกประเทศจะได้รับผลกระทบอย่างเลวร้าย

.

[ถาม] ช่วยขยายความหน่อยว่าเพราะอะไร

ขอเริ่มจาก “บรรทัดสุดท้าย” ก็แล้วกัน นั่นก็คือเรื่องงบประมาณ พวกเราได้อยู่ในช่วงเวลาที่โลกสงบสุขอย่างไม่น่าเชื่อในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา ในยุโรปงบประมาณกลาโหมนั้นเป็นเพียง 3% ของงบประมาณทั้งหมด นี่แทบจะเป็นปาฎิหาริย์ เพราะตลอดประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา งบประมาณ 50%-80% ของจักรพรรรดิและสุลต่านนั้นถูกใช้ไปกับการสงครามและการเลี้ยงกองทัพ แต่ตอนนี้ในยุโรปใช้งบประมาณแค่ 3% เท่านั้น ส่วนค่าเฉลี่ยทั่วโลกน่าจะอยู่ที่ประมาณ 6% ฝากเช็คข้อมูลนี้เพื่อความถูกต้องด้วย แต่ 6% คือตัวเลขที่ผมจำได้

สิ่งที่เราได้เห็นภายในไม่กี่วันที่ผ่านมาก็คือเยอรมันนีเพิ่มงบกลาโหมเป็นสองเท่า ซึ่งผมไม่ได้ต่อต้านนะ เพราะเมื่อคำนึงถึงสิ่งที่ต้องเผชิญมันก็เป็นเรื่องที่สมเหตุสมผลที่เยอรมันนี โปแลนด์ และทุกประเทศในยุโรปจะเพิ่มงบประมาณกลาโหมเป็นเท่าตัว แต่นี่คือเกมที่ทุกคนจะแพ้ (race to the bottom)

เพราะเมื่อคุณเห็นประเทศอื่นๆ เพิ่มงบประมาณการทหาร คุณก็จะเริ่มรู้สึกไม่ปลอดภัย ดังนั้นประเทศของคุณก็ต้องเพิ่มงบกลาโหมเช่นกัน และแทนที่งบเหล่านี้จะไปลงที่สาธารณสุข การศึกษา หรือการสู้กับโลกร้อน มันกลับถูกนำไปซื้อรถถัง มิสไซล์ และใช้ในการสู้รบ

ประชาชนจะได้รับสวัสดิการสุขภาพที่แย่ลง และเราจะไม่มีทางออกสำหรับภาวะโลกร้อน ดังนั้นทุกคนจะได้รับผลกระทบแม้ว่าคุณจะอยู่ที่บราซิลหรือออสเตรเลียก็ตาม

.

[ถาม] ถ้าหนึ่งในเป้าหมายของปูตินคือการแบ่งแยกยุโรป คือการลดทอนกำลังของนาโต้ และระเบียบเสรีโลก (global liberal order) ก็ดูเหมือนว่าปูตินจะทำให้กลุ่มเหล่านี้แข็งแกร่งขึ้นมายิ่งกว่าเดิมเสียอีก

ถ้าเป้าหมายคือการแบ่งแยกยุโรปและนาโต้ สิ่งที่เขาทำกลับให้ผลตรงกันข้ามเลย ผมเองก็แปลกใจว่าทำไมยุโรปถึงตอบโต้ได้อย่างรวดเร็วและเป็นเอกภาพขนาดนี้ ผมว่าแม้แต่ยุโรปก็ยังแปลกใจตัวเอง แม้กระทั่งฟินแลนด์หรือสวีเดนยังส่งอาวุธไปให้ยูเครน เรื่องเหล่านี้ไม่เคยเกิดขึ้นในสมัยสงครามเย็นเลย

.

[ถาม] คุณได้เขียนบทความลง The Economist ไว้ด้วยว่า สิ่งที่เป็นเดิมพันอยู่ในตอนนี้คือ “ทิศทางของประวัติศาสตร์ เพราะเรากำลังทำลายความสำเร็จที่สำคัญที่สุดของมนุษยชาติในยุคสมัยใหม่ นั่นก็คือการลดลงของสงคราม”

ตั้งแต่ปี 1945 เป็นต้นมา ไม่เคยมีการสู้รบกันระหว่างประเทศมหาอำนาจ ในขณะที่ก่อนหน้านั้นมันเป็นเรื่องปกติธรรมดามาก

และตั้งแต่ 1945 เป็นต้นมา ไม่เคยมีประเทศใดถูกทำให้หายไปจากแผนที่โลกเพราะการรุกรานจากประเทศอื่น

นี่เป็นความสำเร็จที่สุดยอดมาก และมันคือพื้นฐานของทุกสิ่งทุกอย่างที่เรามีอยู่ตอนนี้ ไม่ว่าจะเป็นความก้าวหน้าทางการแพทย์หรือการศึกษา แต่เรื่องเหล่านี้กำลังตกอยู่ในอันตราย

สันติภาพไม่ได้เกิดจากปาฏิหาริย์ใดๆ ไม่ได้เกิดจากการเปลี่ยนไปของกฎธรรมชาติ แต่เกิดจาการที่มนุษย์เลือกทางที่ถูกต้องมากขึ้นและสร้างองค์การ (institutions) ที่ดีขึ้น

ซึ่งนั่นก็ย่อมหมายความว่า ไม่มีอะไรจะการันตีได้ว่าความสงบสุขนี้จะคงอยู่ตลอดไป หากมีใครบางคนตัดสินใจโง่ๆ และทำลายองค์การที่ช่วยสร้างสันติภาพให้โลก เราก็จะกลับไปอยู่ในยุคของสงครามอีกครั้ง ในวันนั้นงบกระทรวงกลาโหมอาจจะคิดเป็น 20% 30% หรือ 40% ของงบประมาณทั้งหมดก็ได้

เราจึงควรเข้าใจว่าสงครามในยูเครนไม่ใช่ภัยพิบัติทางธรรมชาติ แต่เป็นภัยพิบัติที่เกิดจากมนุษย์เพียงคนเดียว ชาวรัสเซียไม่ได้ต้องการสงครามนี้ แค่การตัดสินใจของคนเพียงคนเดียวก่อให้เกิดโศกนาฏกรรมครั้งนี้ขึ้น

.

[ถาม] สิ่งหนึ่งที่เริ่มถูกหยิบยกขึ้นมาก็คือโอกาสในการใช้อาวุธนิวเคลียร์ ซึ่งปูตินก็พูดถึงมันอยู่หลายครั้ง เขาสั่งให้ฐานทัพอาวุธนิวเคลียร์เพิ่มระดับความระมัดระวัง และประธานาธิบดีเซเลนสกี้ก็ยอมรับว่ายูเครนพลาดไปที่ปลดอาวุธนิวเคลียร์ที่ได้มาตั้งแต่สมัยเป็นสหภาพโซเวียต คุณคิดอย่างไรบ้างเกี่ยวกับความเสี่ยงนี้

ผมว่ามันน่ากลัวสุดๆ ไปเลย เราเคยคิดว่าอาวุธนิวเคลียร์เป็นเพียงเรื่องของยุค 60s ที่ผ่านพ้นไปแล้ว แต่ตอนนี้มันกลับมาแล้ว ตอนนี้คุณเริ่มเห็นผู้เชี่ยวชาญออกมาอธิบายว่าอาวุธนิวเคลียร์แต่ละชนิดจะสร้างความเสียหายให้กับเมืองเมืองหนึ่งได้ในระดับไหน

ในทางหนึ่ง อาวุธนิวเคลียร์ได้รักษาสันติภาพของโลกเอาไว้ ผมอยู่ในกลุ่มคนที่เชื่อว่าถ้าเราไม่ได้มีอาวุธนิวเคลียร์ เราน่าจะมีสงครามโลกครั้งที่สามไปนานแล้ว นั่นก็คือสงครามระหว่างสหภาพโซเวียต อเมริกา และนาโต้ในนยุค 50s หรือ 60s

เพราะมีอาวุธนิวเคลียร์ เราจึงไม่มีการปะทะกันของมหาอำนาจ เพราะมันจะเป็นการฆ่าตัวตายหมู่ของทุกคน (collective suicide) แต่ความเสี่ยงก็ยังคงอยู่ตลอดมา หากมีการคาดการณ์หรือประเมินผิดพลาด ผลลัพธ์จะเลวร้ายเป็นอย่างยิ่ง

.

[ถาม] ในยุค 70s เราเริ่มสร้างองค์การนานาชาติเพื่อลดความเสี่ยงของการปะทะกันด้วยอาวุธนิวเคลียร์ และเราก็มีการร่างสนธิสัญญาเรื่องการควบคุมอาวุธ แต่ในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมาเราปล่อยปละละเลยเรื่องเหล่านี้ สถานการณ์ตอนนี้จึงน่าเป็นห่วงยิ่งกว่าตอนขึ้นสหัสวรรษใหม่เสียอีก

นี่คือวิบากจากความประมาทตลอดหลายปีที่ผ่านมา ไม่ใช่แค่เรื่องอาวุธนิวเคลียร์ แต่รวมไปถึงองค์การนานาชาติและความร่วมมือกันระดับโลก (international institutions and global cooperation)

ในช่วงปลายศตวรรษที่ 20 เราได้สร้างบ้านของมนุษยชาติที่วางอยู่บนรากฐานของความร่วมมือและความเข้าใจกัน เพราะเรารู้ดีว่าอนาคตตของเราขึ้นอยู่กับความสามารถในการร่วมมือกัน ไม่อย่างนั้นเราจะทำลายล้างกันเองจนสูญพันธุ์

และเราทุกคนก็อยู่ในบ้านหลังนี้ แต่หลายปีที่ผ่านมาเราไม่ได้ใส่ใจ เราไม่ได้ซ่อมแซมบ้าน เราปล่อยให้มันทรุดโทรม และสุดท้ายบ้านก็จะพังครืนลงมา ผมเลยหวังว่าผู้คนจะเข้าใจเรื่องนี้ก่อนที่มันจะสายเกินแก้ ว่าเราจำเป็นต้องหยุดสงครามครั้งนี้ และเราต้องกลับมาให้ความสำคัญกับองค์การนานาชาติ เราต้องซ่อมบ้านหลังใหญ่หลังนี้ เพราะถ้ามันพังลงมา พวกเราจะตายกันหมด

.

[ถาม] คุณเขียนไว้ในบทความเดียวกันว่าสุดท้ายแล้วประเทศชาตินั้นถูกสร้างขึ้นจากเรื่องราวที่แต่งขึ้น (nations are ultimately built on stories) ดังนั้นเมล็ดที่เรากำลังหว่านอยู่ตอนนี้คือเรื่องราวใหม่ๆ ที่เรากำลังแต่งขึ้น ซึ่งมันจะมีผลต่ออนาคตอย่างนั้นใช่มั้ย

ใช่ เมล็ดพันธุ์ของสงครามในยูเครนถูกหว่านเอาไว้ตั้งแต่การล้อมเลนินกราด [Siege of Leningrad ที่นาซีทำกับโซเวียตช่วงปี 1941-1944] ผลของมันคือการบุกรุกเคียฟในวันนี้ ซึ่งก็จะเป็นการหว่านเมล็ดที่อาจส่งผลอันเลวร้ายอีกครั้งใน 50 ปีข้างหน้า เราจึงต้องหยุดวงจรนี้ให้ได้

ในฐานะนักประวัติศาสตร์ บางทีผมก็รู้สึกผิดเหมือนกันเมื่อเห็นว่าประวัติศาสตร์ได้ทำอะไรกับผู้คนบ้าง หลายสัปดาห์ที่ผ่านมาผมเห็นผู้นำประเทศเข้าพบและพูดคุยกับปูติน และหลายครั้งปูตินก็ใช้เวลาเหล่านั้นไปกับการเทศนาเรื่องประวัติศาสตร์ ตอนที่มาครง [Emmanuel Macron ปธน.ฝรั่งเศส] เข้าพบปูตินนั้น พวกเขาคุยกันถึง 5 ชั่วโมง และมาครงก็ให้สัมภาษณ์ภายหลังว่าปูตินใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการสั่งสอนเขาเรื่องประวัติศาสตร์

ผมก็เลยรู้สึกผิดที่วิชาชีพของผมอาจะมีส่วนให้เกิดปัญหาเหล่านี้ อย่างประเทศอิสราเอลของผมเอง ผมก็รู้สึกว่าเรากำลังทุกข์ทนเพราะประวัติศาสตร์มากเกินไป ผมเชื่อว่าคนเราควรจะได้รับการปลดปล่อยจากอดีต ไม่ใช่ย้อนรอยอดีตซ้ำๆ ทุกคนควรจะละทิ้งความทรงจำของสงครามโลกครั้งที่สอง ไม่ว่าจะเป็นชาวรัสเซียหรือชาวเยอรมันก็ตามที

สิ่งที่ผมอยากจะบอกกับชาวเยอรมันที่รับชมอยู่ตอนนี้ก็คือ พวกเรารู้ว่าพวกคุณไม่ใช่นาซี ดังนั้นคุณไม่จำเป็นต้องพิสูจน์ตัวเองซ้ำแล้วซ้ำเล่าหรอก สิ่งที่เราต้องการจากเยอรมันนีในตอนนี้คือการก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำทัพในการต่อสู้เพื่อเสรีภาพ

แต่ดูเหมือนเยอรมันนียังห่วงสายตาประชาคมโลก ยังกลัวว่าถ้าพวกเขาพูดจาขึงขังหรือจับอาวุธขึ้นมา พวกเขาจะถูกประณามว่า “นี่ไง พวกนาซีมาอีกแล้ว” ผมจะบอกว่าผมไม่เคยคิดอย่างนั้นเลย

ตอนนี้เยอรมันนีเป็นผู้นำของยุโรปแล้ว โดยเฉพาะหลังเหตุการณ์ Brexit ผมจึงอยากเห็นเยอรมันนีที่ปล่อยวางอดีตและอยู่กับปัจจุบัน

พูดในฐานะที่ผมเป็นชาวยิว เป็นชาวอิสราเอล และเป็นนักประวัติศาสตร์นะ ถ้าจะมีประเทศไหนที่ผมมั่นใจว่าจะไม่ซ้ำรอยสิ่งที่นาซีเคยได้ทำเอาไว้ ประเทศนั้นคือเยอรมันนี

.

[ถาม] มีคำถามจากในห้องแชทเกี่ยวกับจีน ซึ่งแน่นอนว่าเป็นตัวละครที่สำคัญ และจีนเองก็มีนโยบายที่ต่อต้านการรุกล้ำอาณาเขตของชาติอื่น แต่จีนเองก็สนิทสนมกับรัสเซีย สี จิ้นผิงกับปูตินก็ได้พบกันก่อนงานโอลิมปิกที่ปักกิ่ง และเป็นภาพที่ทำให้ทั่วโลกรับรู้ว่าทั้งสองเป็นมิตรกัน คุณมองยังไงเกี่ยวกับบทบาทของจีนในความขัดแย้งครั้งนี้

ผมไม่รู้ เพราะผมไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญด้านประเทศจีน การอ่านข่าวไม่ได้ทำให้คุณเข้าใจวิธีคิดและความคิดเห็นของกลุ่มผู้นำในจีนได้

จีนใกล้ชิดกับรัสเซีย จึงน่าจะโน้มน้าวรัสเซียได้ไม่น้อย ผมจึงหวังว่าจีนจะทำตัวเหมือนผู้ใหญ่ที่ช่วยไกล่เกลี่ยและช่วยรดน้ำเพื่อดับไฟสงครามครั้งนี้

จีนจะสูญเสียประโยชน์ไม่น้อยหากระเบียบโลกพังทลายลง (they have a lot to lose from a breakdown of the global order) และถ้าสันติภาพกลับคืนมา จีนก็จะได้ประโยชน์มากมาย ซึ่งรวมไปถึงความรู้สึกขอบคุณจากนานาชาติด้วย

ผมไม่อาจรู้ได้ว่าจีนจะทำรึเปล่า แต่ผมหวังว่าจะเป็นอย่างนั้น

.

[ถาม] ถ้าไม่นับเรื่องโอกาสในการใช้อาวุธนิวเคลียร์ อะไรที่ทำให้สงครามยูเครนครั้งนี้แตกต่างจากสงครามอื่นๆ ที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ทั่วโลก

อย่างที่ได้กล่าวไป นี่เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 1945 ที่เราได้เห็นประเทศมหาอำนาจพยายามที่จะลบประเทศเอกราชให้หายไปจากแผนที่โลก

ตอนที่อเมริกาบุกยึดครองอัฟกานิสถานหรืออิรัก คุณอาจจะวิจารณ์อเมริกาได้มากมาย แต่เรารู้ว่าอเมริกาไม่เคยคิดจะผนวกอิรักหรือตั้งอิรักเป็นรัฐที่ 51 ของสหรัฐอเมริกา

แต่นี่คือสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นกับยูเครน เป้าหมายที่แท้จริงคือการผนวกยูเครนให้เป็นส่วนหนึ่งของรัสเซีย ซึ่งถ้ารัสเซียทำสำเร็จ ยุคสมัยแห่งสงครามอาจจะกลับมา

ผมยังจำได้ไม่ลืมกับสิ่งที่ตัวแทนจากประเทศเคนยาเคยกล่าวกับคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติและตัวแทนจากหลากหลายประเทศในแอฟริกา เขาบอกว่า “เราเองก็เป็นผลผลิตที่ตกค้างจากยุคสมัยแห่งการล่าอาณานิคม การที่โซเวียตล่มสลายและแตกเป็นประเทศต่างๆ ฉันใด ประเทศในแอฟริกาเองก็เกิดจากการล่มสลายของจักรวรรดิยุโรปฉันนั้น

และหลักการสำคัญที่ชาติแอฟริกายึดถือนับแต่นั้นมาก็คือ ไม่ว่าเราจะไม่เห็นด้วยกับชายแดนประเทศที่ถูกขีดเอาไว้มากแค่ไหน แต่เราจำเป็นต้องรักษาชายแดนเหล่านั้นเอาไว้ อย่าไปแตะต้องมัน เพราะถ้าเราเริ่มรุกล้ำประเทศเพื่อนบ้านเพราะเราเอาแต่คิดว่า “เฮ้ย จริงๆ แล้วนี่คือแผ่นดินของฉัน” เราจะทะเลาะกันอย่างไม่มีวันจบสิ้น

และถ้ารัสเซียบุกยูเครนได้สำเร็จ มันอาจจะกลายเป็นเยี่ยงอย่างให้ชาติอื่นๆ ทั่วโลกเริ่มทำแบบนั้นบ้าง

อีกสิ่งหนึ่งที่สงครามนี้ต่างออกไป ก็คือเรากำลังพูดถึงการปะทะกันของประเทศมหาอำนาจ นี่ไม่ใช่สงครามระหว่างอิสราเอลกับฮิซบุลลอฮ์ (มุสลิมชีอะห์ในเลบานอน) สงครามครั้งนี้อาจขยายตัวไปเป็นสงครามระหว่างรัสเซียกับนาโต้ และต่อให้ไม่มีการใช้อาวุธนิวเคลียร์ มันก็ยังทำให้สันติภาพทั่วโลกสั่นคลอนอยู่ดี

ผมจึงขอย้ำเรื่องงบประมาณอีกครั้ง ถ้าเยอรมันนีเพิ่มงบประมาณกลาโหมเป็นสองเท่า และโปแลนด์ก็ทำอย่างนั้นบ้าง สุดท้ายทุกประเทศก็จะทำตาม และนี่จะเป็นข่าวร้ายอย่างยิ่ง

.

[ถาม] หลายประเทศในยุโรปพึ่งพาพลังงานจากรัสเซีย คุณคิดว่าสงครามครั้งนี้จะส่งผลให้ยุโรปหันมาสนใจพลังงานสะอาดมากขึ้นมั้ย

ผมก็หวังว่ายุโรปจะเข้าใจความเสี่ยงนี้แล้ว และเริ่มต้น “โปรเจคแมนฮัตตันสีเขียว” (a green Manhattan project) [Manhattan คือชื่อโปรเจ็คลับในการสร้างอาวุธนิวเคลียร์สมัยสงครามโลกครั้งที่สอง] เพื่อเร่งเครื่องพัฒนาแหล่งพลังงานที่ดีกว่านี้ ยุโรปจะได้ไม่ต้องพึ่งพาน้ำมันและก๊าซธรรมชาติมากเท่าแต่ก่อน

ซึ่งนั่นย่อมลดอำนาจของระบอบบปูตินและกองทัพของเขา เพราะรัสเซียมีแค่น้ำมันกับก๊าซ ไม่มีอะไรมากไปกว่านั้นแล้ว จำได้มั้ยว่าคุณซื้อของที่ Made in Russia ครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่?

ทุกคนก็รู้ว่าน้ำมันนั้นเหมือนมีคำสาป มันคือขุมทรัพย์แห่งความมั่งคั่ง แต่มันก็มักจะถูกใช้เพื่อรักษาอำนาจของเผด็จการเอาไว้ด้วยเช่นกัน เพราะการจะได้ประโยชน์จากน้ำมัน คุณไม่จำเป็นต้องแบ่งอะไรให้ประชาชน คุณไม่จำเป็นต้องมีสังคมที่เปิดกว้าง คุณไม่ต้องให้การศึกษา คุณก็แค่ต้องขุดเจาะน้ำมันเท่านั้น

หากน้ำมันและก๊าซราคาตก นอกจากจะทำให้การเงินและการทหารของรัสเซียสั่นคลอนแล้ว ยังอาจส่งผลให้รัสเซียต้องผลัดใบระบอบการเมืองด้วย

.

[ถาม] ขอพูดถึงอีกหนึ่งตัวละคร ที่หลายคนในห้องแชทรูมรู้สึกว่าเป็นวีรบุรุษ นั่นก็คือเซเลนสกี้ ซึ่งเคยเป็นนักแสดงตลก ก่อนจะมาเป็นประธานาธิบดีแบบงงๆ และตอนนี้ก็กลายเป็นประธานาธิบดีท่ามกลางศึกสงคราม และเขาก็แสดงบทบาทได้อย่างน่าชื่นชม โดยเฉพาะในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา ตอนที่อเมริกาเสนอให้เขาลี้ภัยและตั้งรัฐบาลพลัดถิ่น เซเลนสกี้ตอบไปว่า ‘ผม่ได้ไม่ต้องการตั๋วเครื่องบิน ผมต้องการกระสุนเพิ่ม’ (‘I don’t need a ride, I need more ammunition’)

สิ่งที่เซเลนสกี้ทำนั้นน่าชื่นชมจริงๆ และมันได้ปลุกเร้าความกล้าหาญและสร้างแรงบันดาลใจ ไม่ใช่เฉพาะแค่ชาวยูเครนแต่มันยังส่งผลไปทั่วโลก ปฏิกิริยาของยุโรป ทั้งการคว่ำบาตรและการสนับสนุนอาวุธยุทโธปกรณ์นั้น ผมคิดว่าเซเลนสกี้มีส่วนสำคัญอย่างมากที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์เหล่านี้

เพราะนักการเมืองก็เป็นมนุษย์คนหนึ่งเหมือนกัน ผู้นำหลายคนเคยได้เจอหน้ากับเซเลนสกี้ และเข้าใจว่าเขาต้องเผชิญกับอะไรบ้าง ซึ่งไม่ใช่แค่เขาเพียงคนเดียว แต่ครอบครัวเขาด้วยเช่นกัน [ครอบครัวของเซเลนสกี้ไม่มีใครหนีไปไหน] เขาจะพูดเสมอว่า นี่อาจเป็นครั้งสุดท้ายที่เราจะได้คุยกัน เพราะวันนี้หรือพรุ่งนี้เขาอาจจะตายจากการโดนลอบสังหารหรือถูกระเบิดถล่มก็ได้


ขอบคุณข้อมูลจาก The War in Ukraine Could Change Everything | Yuval Noah Harari | TED