แก้วมันแตกอยู่แล้ว

ผมอ่านเจอย่อหน้าหนึ่งในหนังสือ Master of Change ของ Brad Stulberg ซึ่งผมรู้สึกว่างดงามมาก จึงอยากนำมาแปลไว้ตรงนี้ครับ


There is a story of a wise Thai Forest elder named Achaan Chaa who held up his favorite glass in front of his students and said, “You see this goblet? For me this glass is already broken. I enjoy it; I drink out of it. It holds my water admirably, sometimes even reflecting the sun in beautiful patterns. If I should tap it, it has a lovely ring to it.

But when I put this glass on the shelf and the wind knocks it over or my elbow brushes it off the table and it falls to the ground and shatters, I say, ‘Of course.’

When I understand that the glass is already broken, every moment with it is precious.”

มีเรื่องเล่าของปราชญ์ผู้เฒ่าป่าชาวไทยนามอาจารย์ชา

ท่านยกแก้วใบโปรดขึ้นมาต่อหน้าลูกศิษย์แล้วกล่าวว่า

“เห็นแก้วใบนี้ไหม สำหรับเรา แก้วใบนี้มันแตกอยู่แล้ว เราเพลิดเพลินไปกับมัน เราดื่มน้ำจากแก้วใบนี้ มันเก็บน้ำได้เป็นอย่างดี บางทีก็สะท้อนแสงแวววับจับตา ถ้าเราดีดแก้วเบาๆ มันก็ส่งเสียงเสนาะหู

แต่ถ้าเราวางมันไว้บนชั้น แล้วลมพัดมันตกลงมา หรือถ้าเราวางมันไว้บนโต๊ะแล้วข้อศอกของเราไปโดนจนมันตกพื้นแตกละเอียด เราย่อมพูดว่า ‘ก็แหงอยู่แล้ว’

เมื่อเราเข้าใจว่าแก้วมันแตกอยู่แล้ว ทุกชั่วขณะที่เราได้อยู่กับแก้วใบนี้ย่อมมีความหมาย”


Brad Stulberg ผู้เขียนหนังสือเรียกผู้เล่าเรื่องว่า a wise Thai Forest elder named Achaan Chaa ซึ่งจริงๆ แล้วไม่ใช่ปราชญ์ผู้เฒ่าป่าที่ไหน แต่คือหลวงปู่ชา สุภทฺโท แห่งวัดหนองป่าพง ที่มี “พระอินเตอร์” จากอเมริกา เยอรมนี ฝรั่งเศส และอีกหลายประเทศมาฝากตัวเป็นลูกศิษย์ จนคำสอนของท่านได้รับการบอกเล่า (และอาจเพี้ยนไป) ในหลายภาษานั่นเอง

ผมลองกูเกิ้ลหาเรื่องแก้วแตกของหลวงปู่ชาในภาษาไทยก็เจออยู่บ้าง แต่ผมยังชอบเวอร์ชั่นนี้มากที่สุดอยู่ดี

การเข้าใจว่า the glass is already broken มันเตือนให้เราเห็นคุณค่าของสิ่งที่เรามี ไม่เห็นอะไรเป็นของตาย (to not take things for granted) และไม่เสียใจในวันที่เราจะต้องเสียแก้วไปซึ่งย่อมเกิดขึ้นอย่างแน่นอน

เมื่ออยู่กับคนที่เรารัก ขอให้ตระหนักว่าแก้วมันแตกอยู่แล้วครับ

ความหรูหราที่มีเวลาจำกัด

เมื่อวานนี้ผมกับภรรยาพาพ่อกับแม่ไปกินข้าวเที่ยงเนื่องในโอกาสที่พ่อเพิ่งอายุครบ 75 ปีในสัปดาห์ที่ผ่านมา

เราถ่ายรูปเป็นที่ระลึกไว้หลายช็อต แต่ช็อตที่ชอบที่สุดคือรูปที่ลูกๆ “ปรายฝน” และ “ใกล้รุ่ง” ถ่ายกับคุณปู่คุณย่า

นานๆ จะได้เห็น baby boomers กับ Gen Alpha อยู่ในภาพเดียวกันโดยไม่มีเจนอื่นคั่นกลาง

เมื่อมองดูภาพถ่ายผมก็ตระหนักได้ว่า การที่พ่อแม่ของผมได้กินข้าวพร้อมหน้าพร้อมตากับหลานๆ ถือเป็น luxury อย่างหนึ่ง

เพราะไม่ใช่ทุกคนในวัยผมจะมีโอกาสแบบนี้ บางคนพ่อแม่ไม่อยู่แล้ว บางคนอยากมีลูกแต่มีไม่ได้

กลับถึงบ้านตอนบ่ายๆ ผมนอนอ่านหนังสือแป๊บนึงแล้วผลอยหลับไป ตื่นมาเย็นๆ มองเห็นใกล้รุ่ง เลยเล่นต่อสู้กันเล็กน้อย

มีช่วงหนึ่งที่ผมนอนหงาย ใช้มือและเท้ายกใกล้รุ่งขึ้นทำท่าเครื่องบิน ใกล้รุ่งหัวเราะชอบใจ

ชั่วขณะที่ผมพินิจหน้าใกล้รุ่งที่กำลังเบิกบาน ผมก็ตระหนักได้อีกอย่างหนึ่งว่าช่วงเวลาที่เราจะได้เล่นกันแบบนี้เหลืออีกไม่มากนัก ปลายปีใกล้รุ่งจะอายุครบ 6 ขวบ อีกสามปีเขาก็คงตัวโตเกินกว่าที่ผมจะจับเขาทำท่าเครื่องบินได้ หรือแม้ผมจะยังพอทำไหว ก็ไม่รู้ว่าใกล้รุ่งจะยังอยากเล่นอะไรแบบนี้อยู่รึเปล่า

ผมเคยเขียนเอาไว้ว่า เราจะอยากได้แต่สิ่งที่เรายังไม่มี พอเรามีมันแล้ว เราจะเห็นคุณค่ามันน้อยลง เราจะ take it for granted เพราะคิดว่าจะทำเมื่อไหร่ก็ได้ ขอเอาเวลาไปไล่ล่าสิ่งอื่นก่อน

แต่ของบางอย่างผ่านแล้วผ่านเลย ทั้งพ่อแม่ที่ยังแข็งแรง ทั้งลูกเล็กที่ยังสนุกกับการเล่นกับเรา เมื่อถึงวันที่พ่อแม่ไม่อยู่ หรือวันที่ลูกมีโลกของตัวเอง ต่อให้เรามีเงินเดือนเท่าไหร่ หรือมีทรัพย์สินมากขนาดไหนก็ไม่อาจหาซื้อมันได้อีก

มองดูให้ดีว่าเรามีอะไรเป็นความหรูหราที่แม้คนรวยกว่าเราก็ไม่อาจเข้าถึง

หากเราเห็นคุณค่าและใช้โอกาสอย่างเต็มที่ ก็คงไม่มีอะไรที่ค้างคา และไม่มีอะไรให้เสียดายครับ

ฝากถึงคนที่ชอบใช้เวลาให้คุ้มค่าที่สุด

ฝากถึงคนที่ชอบใช้เวลาให้คุ้มค่าที่สุด

เมื่อสัปดาห์ก่อน ผมมีโอกาสได้สอนคลาสออนไลน์เรื่อง Time Management ให้กับพนักงานในองค์กรใหญ่แห่งหนึ่ง

มีคำถามในคลาสที่ผมติดใจเป็นพิเศษ:

“ถ้าอยากประชุมไปและทำงานไปด้วย เราควรจัดการตัวเองอย่างไรดี”

ผมนิ่งไปครู่หนึ่งเพราะปกติไม่ค่อยได้ทำอย่างนั้น แล้วก็ตอบไปว่าถ้าเราเป็นคนที่ต้องพูดบ่อยๆ หรือเป็นเรื่องที่ต้องตั้งใจฟัง ก็ไม่ควรทำงานอื่นไปด้วยในระหว่างการประชุม

แต่ถ้าการประชุมนี้เราไม่มีบทบาทอะไร แค่เข้ามารับฟังเฉยๆ และบางช่วงเนื้อหาไม่เกี่ยวกับเรา เราก็คงพอที่จะทำงานอื่นไปด้วยได้ แต่ถ้าเป็นแบบนี้บ่อยๆ เราก็ควรขอไม่เข้าร่วมประชุมนี้ดีกว่า

สิ่งที่อยู่ลึกกว่าการประชุมไปทำงานไป ก็คือความพยายาม multi-tasking เพื่อจะได้ใช้เวลาให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งเป็นเรื่องปกติของคนทำงานที่ไม่เคยมีเวลาพอ


Oliver Burkeman บอกไว้ในหนังสือ Four Thousand Weeks ว่า “ความฝันสูงสุด” ของคนทำงานจำนวนไม่น้อย คือการพยายามไปให้ถึงจุดที่เรา “เอาอยู่ทุกอย่าง” ทำงานเสร็จเรียบร้อย ตอบเมลครบทุกฉบับ อ่านครบทุกข้อความ แถมยังมีเวลาเหลือมากพอที่จะทำทุกสิ่งที่เราอยากทำ

เราเลยชอบเสาะหาเครื่องมือใหม่ๆ แอปใหม่ๆ วิธีการทำงานใหม่ๆ ด้วยความหวังลึกๆ ว่ามันจะช่วยพาเราเข้าใกล้วันที่เราจะเอาอยู่จริงๆ เสียที

แต่เราก็ต้องผิดหวังซ้ำแล้วซ้ำเล่า เพราะวันนั้นไม่เคยมาถึง เป็นเหมือนบ่อน้ำกลางทะเลทรายที่เมื่อเดินเข้าไปใกล้ถึงได้รู้ว่ามันเป็นเพียงภาพมายา


เมื่อกลางสัปดาห์ ผมมีโอกาสได้นั่งสนทนากับพี่ที่เคารพนับถือท่านหนึ่ง ผมบอกเขาว่าสิ่งที่กำลังขบคิดอยู่ตอนนี้ คือแม้หน้าที่การงานจะไปได้ดี แต่ก็รู้สึกผิดที่ไม่เคยมีเวลาพอให้กับลูกสาวและลูกชายที่กำลังจะอายุครบ 8 ขวบและ 6 ขวบ

เมื่อเกือบสิบปีที่แล้ว ตัวพี่เขาเองก็เคยทำงานหนักมาก ไม่เว้นแม้กระทั่งเสาร์-อาทิตย์ แต่ทุกครั้งที่มีเวลาอยู่กับลูกสาวที่กำลังก้าวเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น พี่เขาจะไม่ทำอย่างอื่นเลย จะอยู่กับลูกร้อยเปอร์เซ็นต์

คืนนั้น ผมส่งข้อความไปขอบคุณ และได้รับข้อความตอบกลับมาว่า

“การเลี้ยงลูก เป็นงานที่จะให้คุณค่ากับเรามากกว่างานไหนในชีวิต

เมื่ออายุมากขึ้น เราจะเข้าใจสิ่งนี้ครับ”


การประชุมไปทำงานไป เป็นเพียง “อาการ” อย่างหนึ่งของคนที่ต้องการใช้เวลาให้คุ้มค่าที่สุด

เราต้องการเค้นทุกหยาดหยดของเวลาเพื่อให้ได้ผลลัพธ์กลับมามากเท่าที่จะทำได้

ผมจึงรู้สึกว่า หาก multi-task เป็นอาจิณ เราอาจนำความเคยชินติดกลับมาที่บ้าน

หากตอนทำงานเราชอบประชุมไปทำงานไป ก็มีความเป็นไปได้สูงเหลือเกินว่าเวลาที่เราอยู่กับลูก หรืออยู่กับพ่อแม่ เราก็จะพยายามทำอย่างอื่นไปด้วยเช่นกัน

เมื่ออยู่ด้วยกันดีๆ แล้วมีคนหนึ่งหยิบมือถือขึ้นมาเช็ค อีกคนย่อมรู้สึกอึดอัดจนต้องหาอะไรทำ

ตัวอยู่ด้วยกัน แต่ใจเตลิดกันไปคนละทาง

เวลาที่เราอยู่กับคนสำคัญ เราจึงต้องหัดละวางความคิดเรื่องความคุ้มค่าของการใช้เวลา เพราะคุ้มค่ากับคุณค่าเป็นคนละอย่าง

เมื่อต่างคนต่างมีเวลาน้อย เรามาใช้เวลานั้นเพื่อที่จะอยู่ด้วยกันอย่างแท้จริงกันนะครับ

เมื่อเราไม่ไว้ใจใคร เราจะคิดถึงเขาตลอดเวลา

Tobias Lütke ผู้ก่อตั้งและซีอีโอ Shopify บอกว่าความไว้ใจนั้นเป็นเหมือนแบตเตอรี่มือถือ

เมื่อเราเจอใครครั้งแรก ความไว้เนื้อเชื่อใจจะมีค่าประมาณ 50%

หลังจากนั้น ถ้าเขาทำให้เราไว้ใจได้ ด้วยการทำในสิ่งที่พูด ด้วยความสม่ำเสมอ ความไว้ใจก็จะค่อยๆ เพิ่มขึ้น

กลับกัน ถ้าเขาผิดคำพูดเป็นประจำ ความไว้ใจก็จะค่อยๆ ลดลงจนอาจเหลือ 15% หรือ 10%

ถ้าแบตเตอรี่มือถือจะหมด เราจะพะวงถึงมันตลอดเวลา เช่นเดียวกับคนที่เราไม่ไว้ใจ ที่เราจะคอยพะวงถึงเขาเช่นกัน

แต่ถ้าแบตเตอรี่มือถือเกือบเต็ม เราจะสบายใจและใช้ชีวิตของเราได้โดยแทบไม่ต้องชำเลืองดูแบตเลย

ดังนั้น เราควรตั้งเป้าเป็นคนที่ไว้ใจได้อย่างน้อยซัก 80%

หากหัวหน้าไว้ใจเราระดับนี้ หากแฟนไว้ใจเราระดับนี้ เราก็จะทำงานและใช้ชีวิตได้อย่างมีอิสระ ไม่โดน micromanage และไม่โดนโทรตามครับ


ขอบคุณเนื้อหาจากหนังสือ Hidden Genius by Polina Marinova Pompliano

คนเป็นผู้นำไม่สนใจเรื่องความสัมพันธ์ไม่ได้

พี่อ้น วรรณิภา ภักดีบุตร CEO ของโอสถสภาว่า เคยให้นิยาม Leadership ว่าคือการ get things done through others and with others – ทำงานให้สำเร็จผ่านคนอื่นและร่วมกับคนอื่น

คนเราพอได้เป็นหัวหน้า ผู้จัดการ หรือผู้บริหารแล้ว 90% ของงานเราไม่สามารถทำสำเร็จได้ด้วยตัวคนเดียว เราต้องพึ่งพาผู้อื่นเสมอ โดยเฉพาะลูกทีม

ความฝันของหัวหน้าหลายๆ คนจึงเป็นการมีลูกน้องที่พึ่งพาได้

แต่กว่าจะมีลูกน้องที่พึ่งพาได้ เราก็ต้องเป็นคนที่เขาพึ่งพาได้ก่อน

และสิ่งที่มาก่อนความพึ่งพาได้ คือความเชื่อใจ

หากหัวหน้ากับลูกน้องเชื่อใจกัน อะไรก็ง่าย หากไม่เชื่อใจกัน อะไรก็ยากไปหมด

หัวหน้าบางคนอาจจะมองว่าตัวเองไม่มีความจำเป็นต้องสร้างความสัมพันธ์กับลูกน้อง เพราะเขาไม่ได้มาหาสังคม เขามาที่นี่เพื่อจะ get things done

แต่อย่างที่นิยามกันไปข้างต้น ว่าผู้นำไม่สามารถ get things done ได้ด้วยตัวคนเดียว เราต้องพึ่งพาคนอื่นเสมอ

ดังนั้นการสร้างความสัมพันธ์ ความไว้เนื้อเชื่อใจ จึงเป็นทักษะที่สำคัญอย่างมากสำหรับการเป็นหัวหน้าที่ดี และสำคัญอย่างยิ่งที่จะเป็นหัวหน้าที่ไม่ต้องแบกรับทุกอย่างจนเกินตัว

สำหรับคนที่เป็นผู้นำ ถ้ารู้สึกว่าตัวเองยังต้องทำอะไรเองเยอะแยะ ยังไม่สามารถไว้ใจใครได้ ก็คงต้องกลับมาถามตัวเองเช่นกันว่าเราได้ลงทุนกับความสัมพันธ์กับทีมงานและเพื่อนร่วมงานมากพอหรือยัง

ถ้ารู้ตัว – และยอมรับ – ว่ายังไม่พอ วิธีง่ายๆ ที่ทำได้เลยคือชวนไปดื่มกาแฟ* และนัดคุย 1 on 1 อย่างสม่ำเสมอ

เพราะคนเป็นผู้นำไม่สนใจเรื่องความสัมพันธ์ไม่ได้ครับ


* หัวหน้าบางคนอาจจะบอกว่าตัวเองไม่ดื่มกาแฟ ผมเองก็ไม่ดื่มกาแฟ ก็เลยสั่งอย่างอื่นครับ